

ประเด็น ‘ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด’ กลายเป็นข่าวใหญ่ของสื่อหลายสำนัก เป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง และถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีของนักเคลื่อนไหว โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นคือจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ใช้โจมตีว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรองกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก เป็นพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน กระทั่งมีคนบางพวกบางกลุ่มกล่าวหาว่า มีการสมรู้กันทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติและฉ้อโกงประชาชนด้วยการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองมากจนล้นเกิน

ทำไมประเทศไทยจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก? เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนย่อมต้องทราบดีว่าแต่ละปี แต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องเตรียมกระแสไฟฟ้าปริมาณเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ของผู้บริโภคในทุกฤดูกาล เมื่อประเทศจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าและจำเป็นต้องมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้สอยโดยไม่ขัดสน ซึ่งปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้สติปัญญาความสามารถและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบจึงจะสามารถรักษาประโยชน์แห่งรัฐและองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนได้

เพราะหากการสำรองกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้แล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะกลายความเสียหายมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะทุกจำนวนที่มีการสำรองกระแสไฟฟ้านั้นจะต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้จำหน่าย ไม่ว่าจะมีการใช้กระแสไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม เพราะปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว เพราะสถิติบันทึก จึงสามารถประมาณการความต้องการกระแสไฟฟ้าได้

‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท
2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)
-สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 100% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 80% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 180%
-อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 55% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 136%
-โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 65% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%
-เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 32% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%
-เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 13% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบอีก 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%
-เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 28% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%
-สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 11% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิต ที่มากกว่าความต้องการ 92%
-จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 68% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 23% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 91%
-ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 44% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%
-สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 36% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%
-มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 47% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 4% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 51%
-ไทย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 22% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 17% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 39%
(ที่มา : The Bangkok Insight)