Saturday, 20 April 2024
EducationNewsAgencyforAll

สิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ คือการเว้นพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพในพื้นที่ส่วนตัว และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีที่ว่างอย่างเหมาะสม

จงเติมถ้วยของกันและกัน แต่อย่าดื่มจากถ้วยเดียวกัน

จงให้ขนมปังแก่กัน แต่อย่ากัดกินจากก้อนเดียวกัน

จงร้องและเริงรำด้วยกัน และจงมีความบันเทิง

แต่ขอให้แต่ละคนได้มีโอกาสอยู่โดดเดี่ยว

ดังเช่นสายพิณนั้นต่างอยู่โดดเดี่ยว

แต่ว่าสั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน

-- คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) --

บทกวีข้างต้นมาจากหนังสือ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ของคาลิล ยิบราน เขาเป็นทั้งกวี นักเขียน และศิลปิน บทประพันธ์ของเขาทุกชิ้น ล้วนงดงาม สะเทือนอารมณ์ ลึกซึ้ง ไพเราะ แต่เข้าใจง่าย

ไม่แปลกใจเลยที่บทกวีข้างต้นถูกจัดอยู่ในบทว่าด้วยการแต่งงาน เพราะนับเป็นสิ่งสำคัญที่ชีวิตคู่ควรจะมี หรืออีกนัยคือจำเป็นต้องมีเพื่อชีวิตรักที่ยืนยาว แต่ในบริบทนี้อาจไม่ต้องมองไปถึงขั้นแต่งงานก็ได้ ความรักในแต่ละวัยย่อมแตกต่างไปในแต่ละช่วงอายุ เมื่อก่อนในช่วงวัยรุ่น เราเริ่มตกหลุมรัก หลงใหล ได้ใช้เวลาศึกษาดูใจ กินข้าว ดูหนัง เดินเล่น โทรคุยกันก่อนนอน แบ่งปันเรื่องราว รายงานชีวิตประจำวัน ไปไหนทำอะไร เท่านั้นก็คงเพียงพอ แต่เมื่อก้าวขึ้นมาอีกวัยหนึ่งที่โตขึ้น นอกจากความรักและเวลา พื้นที่ส่วนตัวก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความสัมพันธ์

บทกวีดังกล่าวหากมองให้ลึกลงไป ความหมายนั้นก็ชัดเจนและสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว ความรักเกิดขึ้นโดยคนสองคนที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงเรื่องราวและเส้นทางชีวิตเข้าด้วยกัน การหลงใหล ตกหลุมรักในช่วงแรกอาจเป็นความลุ่มหลัง คะนึงหาเพียงชั่วครู่ แต่สิ่งที่บทกวีนนี้กำลังจะบอกคือ การประคับประคองความรักนั้น ต้องรู้จักความเกื้อกูล การมีพื้นที่ว่างตรงกลางให้แก่กัน เคารพพื้นที่ส่วนตัว และอย่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของกันและกัน

เมื่อความรักเป็นสิ่งที่สร้างความสุขในความสัมพันธ์ แต่บางครั้งในชีวิตของคนเราย่อมต้องการพื้นที่ที่จะมีแค่ตัวเรา มีพื้นที่ในการคิดทบทวน ทำในสิ่งที่ชอบ ได้ใช้เวลาเพื่อตัวเอง เราอาจต้องการเวลาที่จะได้อ่านหนังสือที่ชอบ ดูซีรีย์เรื่องโปรด นอนฟังเพลง นั่งทำงาน เดินห้างช้อปปิ้งคนเดียว เพราะฉะนั้น ในความสัมพันธ์คนสองคนอาจไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือรับรู้เรื่องราวในชีวิตกันและกันทุกเรื่อง ไม่ต้องพยายามมีบทบาทและตัวตนในชีวิตของอีกฝ่าย ไม่ต้องดิ้นรนครอบครอง

การเปรียบเทียบของ คาลิล ยิบราน ที่กล่าวว่า สายพิณนั้นต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่สั่นสะเทือนด้วยทำนองดนตรีเดียวกัน หมายความได้ว่า สายพิณไม่ได้แตะกัน หรือต้องยึดโยงเกี่ยวพันกัน เพียงเรียงเส้นทีละสายอย่างมั่นคง แต่เมื่อมีผู้เริ่มบรรเลง ทุกสายต่างบรรเลงตัวโน้ตของตัวเอง สอดประสานออกมาเป็นบทเพลงที่แสนไพเราะ เปรียบได้กับความรัก คู่รักอาจไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงชีวิตหรือเหนี่ยวรั้งกันไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา อาจมีบางเวลาที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวด้วยตัวเอง แต่ชีวิตที่ดำเนินไปจะรับรู้ได้ว่ามีความรักนั้นประคับประคองไปในทิศทางเดียวกันเสมอ สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร ความรักจะมั่นคงได้ เพราะมีพื้นที่ว่างอย่างเหมาะสม

‘จงรักกัน แต่อย่าสร้างพันธะแห่งรัก’


เขียนโดย เพลิน ภารวี สุภามาลา Content Editor THE STUDY TIMES

มหาวิทยาลัยเฮียวโก๊ะ ประเทศญี่ปุ่น มอบทุนการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี ประจำปี 2564 ทั้งทุน 50% ระยะเวลา 4 ปี และเพิ่มทุนเต็มจำนวน 100% พร้อมตั๋วเครื่องบิน อีกจำนวน 8 ทุน

คุณสมบัติ 

1. เป็นนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลสังกัด สพฐ. กำลังศึกษาชั้นม.6 ปีการศึกษา 2563 GPA ไม่ต่ำกว่า 3.00

2. มีความตั้งใจที่จะศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ภาค Business of Administration จนจบการศึกษา

3. มีความรู้ภาษาอังกฤษดี เกรดเฉลี่ยภาษาอังกฤษ 3.5 ขึ้นไป (แสดงผลคะแนน TOEFL,TOEIC , IELTS ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด) หากไม่มี ทาง สพฐ. หรือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษของโรงเรียน สามารถกรอกแบบฟอร์ม “Recommendation of English Proficiency” แนบเป็นหลักฐานได้

4. สามารถดูแลค่าใช้จ่าย อีก 50% ที่มหาวิทยาลัยไม่ครอบคลุม

การรับสมัคร

1. ขอรับใบสมัครด้วยตนเอง ที่ [email protected] (ขั้นตอนการสมัคร ตามเอกสารที่แนบ) ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564

2. ส่งเอกสารต้นฉบับของใบสมัครตัวจริงพร้อมเอกสารประกอบ ทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS ให้ถึง สพฐ. ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2564

"กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 8 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กระทรวงศึกษาธิการ ถ.ราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

รายละเอียดเพิ่มเติม

https://www.obec.go.th/wp-content/uploads/2021/02/รายละเอียดทุนการศึกษาหลักสูตรนานาชาติ-มหาวิทยาลัยเฮียวโก๊ะ-ประเทศญี่ปุ่น.pdf


ที่มา: https://www.obec.go.th/archives/391014

สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาใน Clubhouse หัวข้อ เรียนจบมหาวิทยาลัย ยังจำเป็นอยู่ไหม? ในยุคนี้ ที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาไทยยังต้องได้รับการแก้ไข

เมื่อวันพุธที่ผ่านมาเวลาสองทุ่มโดยประมาณ ผู้เขียนตัดสินใจเปิดห้องเสวนาใน Clubhouse ในหัวข้อ เรียนในมหาวิทยาลัย จำเป็นอยู่ไหม ? ในยุคนี้ โดยที่ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  Moderator และได้เชิญชวนเพื่อนพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อ และทำงานที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไทยมาร่วมเป็นผู้ร่วมเสวนา ( Speaker) มีทั้งอาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการ Start up ด้านการศึกษา รวมถึงผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการศึกษา

การเสวนาในช่วงเนื้อหาใช้เวลาร่วมชั่วโมง Speaker แต่ละท่านได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนแบบเลี่ยงไม่ได้อย่างน่าสนใจ แต่โดยสรุปแล้ว Speaker ทุกท่านยังเห็นว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยยังคงมีความจำเป็น แต่รูปแบบและบทบาทของมหาวิทยาลัยในยุคใหม่นี้ คงต้องปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ทักษะการสอนของอาจารย์ และบทบาทของมหาวิทยาลัยว่าจริงๆแล้ว “คุณค่าของมหาวิทยาลัย” คืออะไรกันแน่ อาจจะเปลี่ยนเป็นฐานการเรียนรู้ แทนการเรียนแบบ Lecture หรือเป็น Mentor ให้กับนักศึกษาในการเรียนที่สามารถนำไปปฏิบัติและสร้างรายได้ได้จริง ซึ่งการเสวนาใน Clubhouse ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของผู้เขียนด้วย มีผู้ร่วมฟังเท่าที่พอจะนับได้เห็นจะเป็น 120 คนโดยประมาณ

นอกจากเนื้อหาที่น่าสนใจในประเด็นการศึกษาในระบบแล้ว ในช่วงท้าย ได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่เข้าฟังถามคำถามประมาณ 30 นาที ผู้เขียนในฐานะ Moderator นอกจากต้องควบคุมการพูดคุยให้อยู่ในประเด็นแล้ว สิ่งที่ท้าท้ายมากกว่านั้นก็คือการควบคุมเวลาและประเด็นคำถามของผู้ร่วมเสวนา ไม่ให้ไปไกลกว่าประเด็นที่เสวนากัน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมได้ทั้งหมด เพราะธรรมชาติของ Clubhouse เราจะได้ยินแค่เสียง และไม่สามารถกรองได้ว่าคำถามที่ผู้ถาม ที่ทางผู้เขียนที่ทำหน้าที่ Moderator กดอนุญาตให้ถามจะถามเรื่องอะไร แล้วไปในทิศทางไหน ผู้เขียนยอมรับตรงๆ ว่าจังหวะนั้นก็ตื่นเต้นปนหวั่นใจว่าจะมีคำถามอะไรที่ทำให้การเสวนาหลุดประเด็นและไม่ราบรื่นหรือไม่

แต่พอเปิดโอกาสให้ถามจริงก็พบว่าผู้ร่วมเสวนามีมารยาทในการขึ้นมาแสดงความเห็นมากทีเดียว แม้จะมีเรื่องที่นอกประเด็นไปบ้าง แต่การเสวนาก็ราบรื่น  Speaker ทุกท่านก็พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างดี

เกริ่นมายืดยาว ประเด็นของเรื่องอยู่ที่คำถามของผู้ฟังนั่นเอง ผู้ฟังหลายคนที่ยกมือถาม อายุน่าจะยังไม่ถึง 20 ปี แต่ที่แน่คืออยู่ในระบบการศึกษา บางคนเรียนสายอาชีพ ครอบครัวฐานะไม่ได้ดี ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย กำลังชั่งใจว่าจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยดีไหม ใจหนึ่งก็อยากเรียนเพราะเป็นคนใฝ่รู้และคิดว่าถ้าจบแค่สายอาชีพ โอกาสในการทำงานที่ดีกว่านี้จะน้อยกว่าคนที่เรียนจบมีใบปริญญา แต่ก็กังวลเพราะเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแบบเต็มรูปแบบ นอกจากค่าเล่าเรียนแล้ว เวลาในการทำงานไปด้วย

หรือบางคนเข้ามาแชร์เรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งไว้ แต่กล่าวถึงความเจ็บปวดต่อระบบการศึกษาไทย ที่เห็นว่าคนใกล้ชิดที่ฐานะไม่ดี แต่เรียนดี แต่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี รวมไปถึงบางคนได้มาแชร์เรื่องอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เงินเดือนที่ไม่พอกิน ของการเป็นอาจารย์ในระบบ ทุกวันนี้ก็ต้องออกจากระบบการศึกษาไป แล้วไปสานต่ออุดมการณ์นอกระบบแทน และทั้งพูดกล่าวด้วยน้ำเสียงที่จริงจังปนเจ็บปวด ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกแบบนั้นจริงๆ 

ผู้เขียนปิดห้องเสวนานี้เวลาเกือบสี่ทุ่ม หลังจากปิดห้องผู้เขียนก็ส่งข้อความไปขอบคุณผู้ร่วมเสวนา (Speaker) แต่ละท่านที่สละเวลามาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นที่ตั้งขึ้น แต่กว่าผู้เขียนจะหลับลงก็เกือบตีสอง ผู้เขียนครุ่นคิด ผสมปนเปไปกับความรู้สึกที่ได้ฟังน้ำเสียงของผู้ร่วมฟังเสวนาและถามคำถามต่างๆขึ้นมาว่า นี่เราได้สัมผัสความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่าน Technology ก็ในวันนี้ สัมผัสผ่านเสียง เสียงที่ไม่ได้ปั้นแต่ง ความรู้สึกที่อัดอั้นผ่านน้ำเสียงที่ออกมา มันกระแทกใจผู้เขียนอย่างมาก

ผู้เขียนไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เหล่าผู้มีอำนาจทำการสำรวจความคิดเห็นหรือเสียงของประชาชน หรือเยาวชนผ่านช่องทางไหนบ้าง แต่ Clubhouse เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ส่งเสียง ที่เป็นเสียงของเขาจริงๆ เป็นความรู้สึกผ่านเสียง ที่วันนี้ท่านๆ ทั้งหลายสามารถเข้ามาฟังได้ และผู้เขียนคิดว่าท่านทั้งหลายก็ควรฟัง ฟังว่าประชาชนของท่านรู้สึกอย่างไรกับนโยบายและการแก้ปัญหาของท่าน ฟังอย่างเข้าใจ

ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเองมีแรงฮึดในการทำงานผลิตสื่อต่อไป โดยเฉพาะสื่อด้านการศึกษาที่ผู้เขียนมีความปรารถนาที่จะเป็นฟันเฟืองในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการผลิตสื่อต่อไป อย่างตั้งใจฟังเสียงของผู้คน


เขียนโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Head of  content editor THE STUDY TIMES

โลกแห่งเทคโนโลยี ส่งให้ความรู้ด้านดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมาก รวบรวม 9 คอร์สเรียนออนไลน์ด้านดิจิทัล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่เปิดสอนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

วิทยาการข้อมูล (Data Science)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU014+2020/about

เป็นคอร์สกระบวนการของวิทยาการข้อมูล ภาษาโปรแกรมและกรอบความคิดในการวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยข้อมูล การทำความสะอาดข้อมูล การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางสถิติและการเรียนรู้ของเครื่อง คอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 45 ชั่วโมงเรียนรู้ (จำนวนชั่วโมงสื่อวีดิทัศน์ 15 ชั่วโมง)

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2020 – 30 กันยายน 2021

การหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Fusion of modern technology)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU005+2018/about

คอร์สนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้เรียนสามารถบอกความหมาย ความสำคัญ และหลักการหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถอธิบายแนวทางในการประยุกต์ใช้สื่อใหม่ในงานประเภทต่างๆ และผลกระทบที่เกิดจากการใช้สื่อใหม่ได้ รวมถึงสามารถเลือกใช้สื่อใหม่นำเสนอเนื้อหาได้อย่างสร้างสรรค์ สำหรับคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2021 – 5 มกราคม 2022

เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (Technology for Creative Learning)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU002+2018/about

คอร์สนี้จะเรียนรู้ถึงความหมาย ขอบข่าย ความสำคัญ และลักษณะของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร ระบบของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ประเภทสื่อการเรียนการสอน การเลือก การจัดหา การออกแบบ การผลิต การใช้ การเก็บรักษา เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้และประเมินสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2021 – 4 มกราคม 2022

ระบบสมองกลฝังตัวและเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Embedded System and Internet of Things Technology)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU015+2019/about

คอร์สนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน สามารถวิเคราะห์ในทฤษฎีและหลักการของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้นได้ และมีความรู้ความเข้าใจในหลักการของบอร์ด IoT ต่างๆ เพื่อให้สามารถประยุกต์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวและเทคโนโลยี IoT ในการแก้ปัญหาได้ โดยคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 30 ชั่วโมงเรียนรู้ (จำนวนชั่วโมงสื่อวีดิทัศน์ 20 ชั่วโมง)

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2021 – 8 มกราคม 2022

การสร้างคลังสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ (Creating Online Learning Resources)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU009+2018/about

คอร์สนี้จะเรียนรู้ถึงความหมาย ประเภทของทรัพยากรการเรียนรู้ ตัวอย่างคลังสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ การเตรียมสื่อประเภทต่าง ๆ สำหรับคลังสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ และการใช้เทคโนโลยีในการสร้างคลังสื่อการเรียนรู้ออนไลน์

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2020 – 10 ธันวาคม 2021

การพัฒนาสมรรถนะครูในยุคดิจิทัล (Competency for teacher in digital age)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU006+2017/about

คอร์สนี้มุ่งเน้นพัฒนานิสิต/นักศึกษาครู ครู/อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีความรู้ เจตคติ และทักษะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อที่ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น อาทิ ทักษะการคิด ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2020 – 30 กันยายน 2021

การใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนางานวิจัย (Use of technology for research development)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU010+2018/about

คอร์สนี้จะศึกษาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิจัย รูปแบบและประเภทของเทคโนโลยีที่ใช้ในการสืบค้นและรวบรวมสารสนเทศสำหรับการกำหนดกรอบความคิด สารสนเทศเกี่ยวกับเนื้อหาที่กำลังวิจัย สารสนเทศเกี่ยวกับแหล่งเผยแพร่งานวิจัย การนำข้อมูลมาประมวลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสรุปทางสถิติ การเปรียบเทียบ การจำแนก หรือ จัดกลุ่ม รวมถึงความรู้เกี่ยวกับแหล่งสารสนเทศด้านการวิจัย ที่ช่วยให้การดำเนินงานวิจัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2020 – 9 ธันวาคม 2021

การสร้างเครือข่ายด้วยการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Network Creating with Communication in Social Media)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU004+2018/about

คอร์สนี้จะเรียนรู้ถึงความหมายและองค์ประกอบของเครือข่าย ลักษณะของเครือข่าย การสร้างและการก่อเกิดเครือข่าย ข้อเสนอแนะในการสร้างเครือข่าย ความหมายและองค์กรกอบของการสื่อสาร องค์ประกอบของระบบเครือข่ายเบื้องต้น อิทธิพลและการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงวิธีการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ โดยคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2020 – 9 ธันวาคม 2021

Online Classroom ห้องเรียนยุคใหม่ (Online Classroom in the 21st century)

https://lms.thaimooc.org/courses/course-v1:SWU+SWU008+2017/about

คอร์สนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับห้องเรียนออนไลน์ สามารถใช้งานห้องเรียนออนไลน์ได้และสามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรือในการใช้ชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ โดยคอร์สนี้มีจำนวนชั่วโมงเรียนรู้ทั้งหมด 6 ชั่วโมงเรียนรู้

โดยเปิดให้เรียนได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2020 – 9 ธันวาคม 2021

สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาคอร์สอื่นๆ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่ >>> https://lms.thaimooc.org/courses


ขอบคุณข้อมูลจาก

thaimooc.org

ขอบคุณที่มา

 https://www.eduzones.com/2021/02/21/9-course-digital-swu/?fbclid=IwAR3Co4c-l9LTnbUvqxWHgb2FDDHiEEb-gIIwnjXCdpZiDCSx-rP3aN_eGsI

กฟผ. ขยายเวลารับสมัคร จ้างงานเด็กจบใหม่กว่า 1,000 คน เพิ่ม 7 วัน ปิดการรับสมัครในวันที่ 3 มี.ค. 64 เวลา 16.00 น. หวังช่วยลดปัญหาการว่างงาน

นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ ภายใต้ “โครงการพลังงานร่วมใจ สร้างงาน พัฒนาชุมชน” ครั้งที่ 2 จำนวนมากกว่า 1,000 อัตรา ว่า กฟผ. ได้พิจารณาขยายระยะเวลารับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากเดิมเปิดรับสมัครออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15 ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2564

ทั้งนี้ ปิดการรับสมัครในวันที่ 3 มีนาคม 2564 เวลา 16.00 น. เพื่อขยายโอกาสในการสมัครเข้าร่วมโครงการให้แก่นักศึกษาจบใหม่ที่สนใจ และพร้อมมีส่วนร่วมลดปัญหาการว่างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ของโรคโควิด-19 (COVID-19) ตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน

ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษาที่จบใหม่ ครั้งที่ 2 จำนวน 1,052 อัตรา ระยะเวลาการจ้างงาน 12 เดือน ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาจ้าง จนถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สมัครจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่สมัคร สำเร็จการศึกษาคุณวุฒิระดับ ปวส. หรือ ปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขาวิชาในปี พ.ศ. 2562 – 2563 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้สมัคร หรือบิดา หรือมารดา จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามพื้นที่ที่ กฟผ. กำหนด ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันที่สมัคร เพื่อร่วมทำงานเก็บข้อมูลชุมชน สำหรับนำไปเป็นฐานข้อมูล ในการวางแผนดำเนินงานส่งเสริมกิจการชุมชนได้ตรงตามความต้องการ และศักยภาพของชุมชนมากที่สุด อันมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่ง และสร้างรายได้ให้แต่ละชุมชนอย่างยั่งยืน

“ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลและรายละเอียดเกณฑ์การรับสมัครเพิ่มเติม พร้อมสมัครออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.egat.co.th/newjobber หรือแสกน QR Code”


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/470056?as=

วิทยาศาสตร์พัฒนาชาติ Part.1 เส้นทางการคัดเลือกนักเรียนหัวกะทิ สู่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนในฝันสำหรับ 72 คนผู้เป็นเลิศ (KVIS)

6,000 - 8,000 คน ในแต่ละปี มีนักเรียนทั่วประเทศ ม.3 ระดับหัวกะทิ ที่ผ่านเงื่อนไขการรับสมัครสอบแข่งขันชิงทุนเข้าเรียน ม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ วังจันทร์ ระยอง ในกำกับดูแลของบริษัทไทยใหญ่ระดับโลก ปตท. มูลค่าทุน ต่อคน ปีละ 880,000 บาท ตลอดหลักสูตร ม.ปลาย เป็นเวลา 3 ปีแค่ 72 คนต่อรุ่น ผลสำเร็จที่ได้ และ คัดนักเรียนระดับไหน อย่างไร มาทำความเข้าใจกันครับ

จากความสำเร็จตามเป้าหมาย ของรุ่นพี่รุ่นที่ 1 - 3 ที่ผ่านมา เป็นตัววัดความสำเร็จในการสร้างคนระดับหัวกะทิ แนวหน้าวิทยาศาสตร์มารับใช้ชาติทุกแขนงวิชา ตามสถิติที่นำมาแสดง

“สรุปผลการศึกษาต่อของนักเรียนโรงเรียนกําเนิดวิทย์ รุ่นที่ 1 - 3”

ปัจจุบันโรงเรียนกำเนิดวิทย์มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 3 รุ่น และเป็นที่น่ายินดีว่าทางโรงเรียนได้เอาใจใส่นักเรียนเป็นรายบุคคล จนแต่ละคนได้ค้นพบ ความชอบ ความรัก ความถนัด และได้ศึกษาต่อในสาขาตามความสนใจของตนเอง

มักมีคำถามอยู่เสมอว่านักเรียนของโรงเรียนหลังจบการศึกษาไปแล้ว จะเข้าศึกษาต่อในสาขาใดได้บ้าง ได้ไปต่างประเทศ หรือรับทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งคุณครูไพลิน ลิ้มวัฒนชัย (คุณครูหยกฟ้า) งานแนะแนว ของโรงเรียน ได้อนุญาตให้นำข้อมูลมาเผยแพร่ คงจะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า หากนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์อยากจะศึกษาต่อที่ใด หรือต้องการประสบความสำเร็จในการคว้าทุนใด ขอเพียงตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่นักเรียนอยู่ในโรงเรียน นักเรียนมีความตั้งใจเรียนและหมั่นพัฒนาศักยภาพของตัวเองตามแนวทางที่โรงเรียนได้จัดไว้ และฝึกทักษะตนเองในด้านที่สนใจแล้ว โอกาสที่นักเรียนจะเดินไปตามเส้นทางฝัน ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ข้อมูลคณะที่เรียน ทุนที่ได้ เรียนไทย หรือต่างประเทศ ติดตามเพิ่มเติมใน

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2951106925163065&id=1830931710513931&sfnsn=mo

นักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์มีโอกาสดี ๆ จากการได้โควตาและทุนการศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“นักเรียน KVIS กับสิทธิ์การได้โควตาเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย”

สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้ให้โควตาแก่นักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ในการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย บางแห่งก็ให้เฉพาะโควตาหรือทุน ดังนี้

1.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโควตาให้ 2 ที่

2.) SIIT สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้โควตา 5 ที่ พร้อมทุนเต็มจำนวน

3.) Harbour Space University มอบทุนการศึกษาจำนวน 20 ทุนให้กับนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดยเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 2 ปี และเรียนที่ประเทศสเปน 1 ปี

4.) ทุน PTT-VISTEC 18 ทุน

5.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทุน 5 ทุน

“เส้นทางสู่ KVIS”

เส้นทางสู่การเป็นนักเรียน KVIS มีดังต่อไปนี้

1.) นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้มีคุณสมบัติตามประกาศการรับสมัคร ฯ สมัครเข้าสอบเพื่อเป็นนักเรียนของโรงเรียนรอบที่หนึ่งในช่วงปลายปีของแต่ละปี ผ่านทางเว็บไซต์ของโรงเรียน KVIS

2.) นักเรียนที่สมัครสอบรอบที่หนึ่งเข้าสอบในศูนย์สอบที่โรงเรียนจัดทั่วประเทศตามประกาศในแต่ละปี

3.) ประกาศรายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านในรอบที่หนึ่ง

4.) นักเรียนที่สอบผ่านรอบที่หนึ่ง เข้าสอบรอบที่สองซึ่งเป็นการสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และส่งแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) มายังโรงเรียน

5.) ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4

6.) ผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาต่อจะมีสิทธิ์ได้เข้าค่ายเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก่อนเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงเรียน www.kvis.ac.th

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ นักเรียน และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์”

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เกิดจากองค์ประกอบ 5 อย่าง ดังต่อไปนี้

1.) กระบวนการสรรหานักเรียนที่มีประสิทธิภาพ การคัดทั้งรอบแรกและรอบสอง

2.) หลักสูตรที่เน้นการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล เหมาะตามความสนใจและส่งเสริมในความถนัด

3.) ครูที่มีคุณภาพสูง ในแต่ละด้านแต่ละวิชา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

4.) อาคาร สถานที่ สื่อ เครื่องมือ อุปกรณ์ดีเยี่ยม ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน

5.) บิดา มารดา และผู้ปกครองนักเรียน ที่มองเห็นถึงโอกาส และให้การสนับสุนการศึกษาของบุตรหลานตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบันและมุ่งมั่นต่อไปในอนาคต

รายละเอียดประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2817667358507023&id=1830931710513931&sfnsn=mo

ขั้นตอนการสมัครสอบคัดเลือก เพื่อเข้าเป็นนักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประจำปีการศึกษา 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2845012105772548&id=1830931710513931&sfnsn=mo

สถิติการสอบรอบแรก (รอบแรกปกติจะสอบ วันเสาร์สัปดาที่ 3 ของเดือน พฤษจิกายน) เข้าเรียนปี 2564

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2932232033717221&id=1830931710513931&sfnsn=mo

เกณฑ์การพิจารณารอบสอง

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2931947967078961&id=1830931710513931&sfnsn=mo

จากความสำเร็จแต่ละขั้นตอน ของนักเรียนกำเนิดวิทย์ จึงเป็นความหวังหนึ่งว่า ประเทศไทย จะมีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มารับใช้ชาติในวันและโอกาสข้างหน้า

เครดิต ข้อมูลและบทความจาก เวปไซด์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และเพจ โรงเรียน KVIS Today

ตอนที่ 2 จะเป็นอีกโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าไทย และแนวหน้าโลกอีกโรงเรียนนึงครับ...มหิดลวิทยานุสรณ์ นครปฐม (MWIT)


เขียน และรวบรวมข้อมูลโดย AodDekTai คุณพ่อผู้สนใจการศึกษาไทยและต่างประเทศ

ศบค.จับตาสอบใหญ่เข้าเรียนม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมฯ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันเสารที่ 6 มี.ค.นี้ มีนักเรียนเข้าสอบกว่า 13,000 คน รวมผู้ปกครองคาดมากถึง 3 หมื่นคน จัดมาตรการคุมเข้ม จังหวัดกลุ่มเสี่ยงสอบแยกฮอลล์

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดประจำวันว่า ในวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2564 นี้ จะมีการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับชั้น ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2564 โดยโรงเรียนและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มานำเสนอมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า การดำเนินการสอบคัดเลือกดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องมาแจ้งให้ประชาชนทุกคนได้ทราบ เพราะว่าคนที่จะมาสอบเป็นนักเรียนประมณ 13,000 คน ใช้อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม จำนวน 6,624 ที่นั่ง และอาคาร ฮอลล์ 5 - ฮอลล์ 8 จำนวน 6,624 ที่นั่ง จากเดิมเคยสอบใช้อาคารเดียว ตอนนี้แบ่งเป็น 2 อาคาร เพราะต้องมีการจัดระยะห่างถึงเท่าตัว

ทั้งนี้โดยปกติเด็กสอบประมาณ 13,000 คน พ่อแม่ต้องไปคู่กัน เท่ากับเป็น 3 คน หรือเท่ากับ 3 หมื่นกว่าคนจะต้องไปอยู่ที่นั่น ซึ่งแน่นอนจะต้องมีความแออัด ก็จะต้องบอกกันไว้ก่อนว่าทางทีมของสพฐ. ได้คิดกันอย่างรอบคอบ โดยดำเนินมาตรการดังนี้

1.) แยกที่นั่งสอบให้ห่างกันไว้

2.) แยกจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงเป็นพื้นที่ควบคุมสูง พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่เข้มงวดทั้งหลาย จะให้มาอยู่ในฮอลล์ที่ 4 โดยเฉพาะ

“ที่ทำอย่างนี้ไม่ได้ต้องการให้รังเกียจกัน แต่เป็นการให้คนที่มาจากจังหวัดคล้ายกัน ใกล้เคียงกัน อยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

ส่วนพื้นที่อื่นๆ จังหวัดอื่นๆ หรือ 54 จังหวัดก็จะอยู่ในอาคารฮอลล์ 5 - 8 ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองที่มาจาก 54 จังหวัด หรือพูดง่าย ๆ อยู่ในจังหวัดกลุ่มสีเขียว จะได้มีความสบายใจ แต่ทุกคนจะต้องดูแลสุขอนามัยส่วนตัว ซึ่งจะต้องมีการคัดกรอง วัดไข้ตั้งแต่แรก

“ถ้าไข้สูงก็แยกออกไปเลย รวมถึงได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองให้มากันน้อยหน่อย มาส่งเสร็จก็กลับเลย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวย้ำ

นอกจากนี้ยังกำหนดเวลาสอบใหม่จากเดิมกำหนดสอบตั้งแต่เช้ายันเย็น 08.30 - 16.00 น. ก็เปลี่ยนมาเป็น 08.30 -14.00 น. ให้นักเรียนสอบครั้งเดียวจนเสร็จสิ้น โดยโรงเรียนมีบริการอาหารว่างให้แก่นักเรียนทุกคนที่เข้าสอบในช่วงเวลาพักที่โรงเรียนกำหนด เพื่อลดการสัมผัสและรวมกลุ่มกัน

“ตรงนี้จะกระชับเวลาให้สั้นลง ผู้ปกครองมาส่งตอนเช้าก็มารับเลยตอนบ่าย เมื่อเช้าทางกระทรวงสาธารณสุขยังพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่อาหารอย่างเดียว น้ำดื่มก็มีความสำคัญ เพราะมีความเป็นห่วง เป็นใยเรื่องสุขภาพ มีหมอ มีพยาบาล มาดูแลที่ศูนย์สอบด้วย”

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นขอแจ้งให้ทราบว่า ในวันเสาร์นี้คนที่จะไปแถวเมืองทองธานี หรือแถวๆ นั้น พยายามหลีกเลี่ยง ซึ่งในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับการศึกษามากๆ ในบางประเทศ อย่างเกาหลีใต้ เครื่องบินจะบินผ่าน ยังไม่ให้บินผ่านเลยในช่วงที่เด็กนั่งสอบ

“อยากจะให้พ่อแม่ ผู้ปกครองท่านอื่นที่ไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปแถวนั้นในวันเสาร์ที่ 6 มีนาคมนี้ การจราจรอาจจะติดขัดหน่อย” โฆษก ศบค.กล่าวในตอนท้าย


ที่มา: https://www.prachachat.net/education/news-621968

โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.6 เกรด 2.75 ขึ้นไป เข้าศึกษาต่อวิชาเอกการประถมศึกษา ระหว่างวันที่ 1 - 17 มีนาคม 64 เรียนจบบรรจุครูทันที!

ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2564

TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2564 TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกมหาวิทยลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเข้าศึกษาต่อวิชาเอกการประถมศึกษา หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (รหัสสขาวิชา 05005 รหัสกลุ่มสาขา 177) ตามโครงการความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงศึกษาธิการ

รับสมัครระหว่างวันที่ 1 – 17 มีนาคม 2564 โดยใช้ผลการสอบ GAT/PAT5 และวิชาสามัญ ประจำปีการศึกษา 2564 ที่จัดสอบโดยสถบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยจึงขอประกาศ รายละเอียดเกี่ยวกับการรับสมัครฯ ดังนี้

1. จำนวนนิสิตที่จะรับจำนวนรวมทั้งสิ้น 45 คน ดังนี้

1.1 กอ.รมน.ภาค 1 รับจำนวน 8 คน

1.2 กอ.รมน.ภาค 2 รับจำนวน 10 คน

1.3 กอ.รมน.ภาค 3 รับจำนวน 8 คน

1.4 กอ.รมน.ภาค 4 รับจำนวน 19 คน (4 + 15)

หมายเหตุ : 1. ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกการประถมศึกษา

กับวิชาเอกใดเอกหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขตามที่คณะกรรมการบริหารหลักสูตรกำหนด ดังนี้

1.วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย

2.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาไทย

3.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

4.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้สังคมศึกษา

5.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์

6.วิชาเอกการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

7.วิชาเอกคอมพิวเตอร์ศึกษา

อ่านประกาศฉบับเต็ม : https://admission.swu.ac.th/file_staff_upload/file_news/5420210225042927.pdf

รายละเอียดเพิ่มเติม https://admission.swu.ac.th/admissions2/news_content.php?nid=151

ความกล้าแสดงออก คุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก เปิดเทคนิคเปลี่ยนจากลูกขี้อาย เป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้ โดยไม่บังคับลูก

คุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเด็กเหมือนผ้าขาว และเมื่อเด็กลืมตาดูโลกและโตขึ้น จะถูกเติมแต้มสีลงไปในผ้าหรือไม่ หรือเชื่อว่าเด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับสีติดบนผืนผ้ามาแล้ว ครูพีช เจ้าของเพจ ครูพีช ที่ปรึกษาครอบครัว - Family Consultant เชื่อว่า เด็กคือผ้าสีพื้นที่มีหลายเฉด ผ้าที่พร้อมจะถูกเติมแต้มสีต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน วิธีส่งเสริมเด็กแต่ละเฉดก็ต่างกันตามสีพื้นของเค้า

หนึ่งในคุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก ก็คือความกล้าแสดงออก เพราะเป็นคุณสมบัติที่สนับสนุนอนาคตของลูก หากคุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริมให้เด็กที่มีเฉดสีไม่เท่ากันกล้าแสดงออก อาจต้องใช้วิธีต่างกัน ดังนั้น บทนี้เราได้นำเทคนิคของครูพีช ในการแสดงออกต่อลูกอย่างไรให้สามารถเปลี่ยนจากลูกขี้อายเป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้โดยไม่ไปบังคับลูกมาฝากกันค่ะ

ครูพีชแบ่งเด็กออกเป็น 3 แบบค่ะ คือ

1.) Easy Child

2.) Slow to Warm up

3.) Difficult Child

Easy Child เป็นแบบที่เข้ากับคนเร็ว เปิดเผย เด็กแบบนี้จะไม่มีปัญหาในเรื่องกล้าแสดงออก เด็กแบบนี้จะง่ายกว่าแบบอื่นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่จำเป็นต้องฝึกลูกให้กล้าแสดงออก

Slow to Warm up เป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย เมื่อเค้าเปิดใจแล้ว เค้าคือเด็กที่กล้าแสดงออกคนหนึ่ง เพียงต้องให้เวลาเค้าเรียนรู้หรือฝึกซ้อมให้คุ้นชิน อย่าเพิ่งไปเร่งเค้า การเร่งจะยิ่งทำให้เค้ากลัวมากกว่าเดิมได้

และแบบสุดท้ายคือ Difficult Child เด็กแบบนี้ต้องใจเย็น ๆ ให้เวลาเค้าหน่อย เพราะเค้าเป็นคนชั่งคิดชั่งวางแผน สังเกตว่าเด็กแบบนี้จะเงียบไม่ค่อยพูดคุยและส่วนใหญ่จะเรียนเก่ง ดังนั้นเรื่องความกล้าแสดงออกแต่กำเนิดอาจจะยังสู้เด็ก 2 แบบแรกไม่ได้ หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็น Difficult Child ได้ให้เค้าฝึกความกล้าทีละนิดจะสมไป Difficult Child จะฉายแสงโดดเด่นกว่าเป็นไหน ๆ ได้ทีเดียวค่ะ

ต่อไปนี้เป็น เทคนิคฝึกลูกให้กล้าแสดงออก โดยครูพีชให้ชื่อวิธีนี้ว่า 2 ป. 1 บ.

ป. ที่ 1 ปลอดภัย

ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึง ความปลอดภัยทางอารมณ์ของลูก โดยการให้ลูกได้เห็นอารมณ์ของพ่อแม่ เช่น เวลาที่พ่อแม่ตื่นเต้น กังวล ตกใจ สับสน การให้ลูกได้รับรู้อารมณ์เหล่านี้จากเรา ช่วยให้เค้ารู้สึกปลอดภัยได้ ฟังแล้วอาจจะขัดกับความคิดที่พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่าง ไม่แสดงความอ่อนแอออกมาให้ลูกเห็นใช่มั้ยคะ แท้จริงแล้ว การแสดงอารมณ์อ่อนไหวออกมาบ้างทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ก็มีอารมณ์ได้เหมือนกัน ลูกสามารถมีอารมณ์เหล่านี้ได้ รับรู้มันและแสดงออกมาได้เหมือนกันกับพ่อแม่ ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและกล้าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา และนำไปสู่ความกล้าแสดงออกนั่นเอง

ป. ที่ 2 เปิดโอกาส

เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เค้าสนใจอยากทำด้วยตัวของเค้าเอง ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวกับการเรียนหรือไม่น่าจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ แต่การเปิดโอกาสให้เค้าได้ทำในสิ่งที่เด็กสนใจฝึกความกล้าแสดงออกได้ กิจกรรมเหล่านี้ มองเผิน ๆ ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเรามองให้ดี ทุกกิจกรรมนั้นล้วนมีประโยชน์แฝงอยู่ เด็กจะได้ฝึกใช้พลังภายในของตนเอง ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เค้าต้องการ และยังฝึกให้ลูกรู้จักการวางแผน การประสานงาน ความมีวินัย ความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งงานเหล่านี้ สามารถกลายเป็นงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดสำหรับตัวเค้าเองต่อไปได้

และสุดท้าย บ. บ่อย ๆ

ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถจากสิ่งที่เค้าชื่นชอบบ่อย ๆ ไม่เร่งรัดเค้า ปล่อยให้เด็กสะสมความเชื่อมั่น ลูกจะเลเวลอัพความกล้าแสดงออกของเค้าไปเรื่อย ๆ ได้ด้วยตนเอง

เสริมอีกนิดนึงว่า ให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่พูดถึงความไม่กล้าแสดงออกของลูกกับคนอื่นฟัง เพราะลูกคุณอาจจะแอบฟังอยู่ และเค้าจะคิดไปได้ว่าแม้คนที่ใกล้ชิดเค้ามากที่สุดยังคิดกับเค้าแบบนั้น

เราขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนฝึกฝนให้ลูกเป็นคนกล้า และคุณพ่อคุณแม่จะภูมิใจในผลลัพธ์ที่ลูกเราเปลี่ยนจากคนขี้อายมาเป็นคนกล้าได้เพราะความอดทนของคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ การทำให้ลูกเป็นเด็กกล้าแสดงออกและบุคลิกดี

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/467032571141109

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์

คำคมจาก ' Sally Ride ' มนุษย์อวกาศสตรีคนแรกของอเมริกา

“Studying whether there's life on Mars or studying how the universe began, there's something magical about pushing back the frontiers of knowledge. That's something that is almost part of being human, and I'm certain that will continue.”

“การเพิ่มพูนความรู้เป็นสิ่งที่มีมนต์ขลัง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรียนรู้เรื่องชีวิตบนดาวอังคารหรือการกำเนิดจักรวาล การเรียนรู้แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์เลยก็ว่าได้ และฉันก็เชื่อว่ามันจะยังคงดำเนินต่อไป” 

Sally Ride

มนุษย์อวกาศสตรีคนแรกของอเมริกา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top