Friday, 26 April 2024
EducationNewsAgencyforAll

กำหนดการรับสมัครสอบนักเรียนเตรียมทหาร เหล่าตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2564

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร (ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ประจำปีการศึกษา 2564

ดูรายละเอียดและสมัครทางอินเตอร์เน็ต

????ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 มีนาคม 2564 ????


สมัครได้ทาง http://admission.rpca.ac.th/register/

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ ภาค ก. แบบ Paper & Pencil ประจำปี 2564

คุณสมบัติผู้สมัคร

- ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2564 ในระดับ ปวช. , ปวท. , ปวส. , ปริญญาตรี และปริญญาโท

สมัครสอบระหว่างวันที่ 3 - 24 กุมภาพันธ์ 2564 ที่

https://ocsc9.thaijobjob.com

ชำระค่าธรรมเนียมสอบระหว่างวันที่ 3 - 25 กุมภาพันธ์ 2564

จำนวน 800,000 ที่นั่งสอบ

สอบ 20 มิถุนายน และ 4 กรกฎาคม 2564

เตรียมผนึกกำลังหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ วางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนออกแบบชีวิตก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โมเดลธุรกิจในภาคการศึกษายุคดิจิทัลกำลังถูกจับจ้องเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบุคลากรด้านการวางแผนนโยบาย การปรับเปลี่ยนแผนงานเชิงรุกตลอดจนทิศทางการศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นแบบไหน ซึ่งตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้ คือ นักเรียนมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะเรียนออนไลน์ แม้โครงสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศจะยังไม่พร้อมในทุกจังหวัดก็ตาม

‘ไหมฟ้า คำมุงคุณ’ จากเด็กนักเรียนแถวหน้าดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สู่การเป็นผู้บริหารสถาบันวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศกับไอเดียโมเดลธุรกิจการศึกษาในยุคที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ Digital Disruption อย่างรวดเร็ว ซึ่งมองแล้วว่าการเรียนรู้ของนักเรียนในอนาคตไม่ใช่นั่งเรียนในห้องแบบเดิมๆ และเชื่อว่านักเรียนทุกคนต้องเตรียมรับมือกับโลกของการศึกษาในศตวรรษหน้า เผยเตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 กลางปีนี้

น.ส.ไหมฟ้า คำมุงคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิสดอม วี กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจการศึกษา เปิดเผยว่า จากที่คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษามากว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงคือมุมมองของเด็กนักเรียนในปัจจุบันหันเหไปทางสายธุรกิจมากกว่าการเรียนในสายวิชาการ เช่น สนใจในสายเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) โปรแกรมเมอร์ นักบัญชี ครีเอทีฟ โดยมองหากิจกรรมเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งในปัจจุบันจะเห็นว่าหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัวในการจัดหลักสูตร เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนไปอย่างมาก

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ต้องมีเครื่องมือหรือโมเดลธุรกิจเพื่อมารองรับธุรกิจภาคการศึกษาที่คาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าไป ซึ่งอาจจะต้องฉีกกฎการนั่งเรียนเดิมๆ ในห้องเรียน ขณะที่ครูผู้สอนสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนในยุคดิจิทัลได้หลากหลาย พร้อมที่จะแนะแนวและให้คำปรึกษา หาคำตอบ สำคัญที่สุดต้องให้ความมั่นใจกับนักเรียน/นักศึกษาในสาขาวิชาชีพใหม่ๆ

โดยวิสดอม วี กรุ๊ป เตรียมผนึกกำลังร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศวางแผนร่วมจัดงาน ‘World Education & University Expo’ 2021 ในช่วงกลางปีนี้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ แนะแนวให้ความรู้กับนักเรียนที่สามารถนำประสบการณ์ตรงจากผู้รู้ไปใช้ได้จริง ชี้ให้นักเรียนได้เห็นถึงความยาก-ง่ายของการเรียนในสาขานั้นๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนหรือออกแบบชีวิตก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“สิ่งสำคัญนักเรียนต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมายต้องการเป็นอะไร อยากทำอะไร” น.ส.ไหมฟ้ากล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5954284

สหราชอาณาจักรยังเปิดประตูรับนักศึกษาต่างชาติ ย้ำนักเรียนต่างชาติมีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยปีนี้เพิ่มทุนให้เปล่าสำหรับนักศึกษาปริญญาโทของไทยเป็น 28 ทุน ชี้ปีก่อนมีนักเรียนไทยราว 30% เลื่อนการเรียนต่อ แต่ยังคงมุ่งมั่นเข้าเรียนที่ ‘อังกฤษ’

สถานการณ์ COVID-19 ป่วนวงการการศึกษาเช่นกัน เนื่องจากนักเรียน-นักศึกษาอาจไม่สบายใจที่จะเข้าเรียนต่อในต่างประเทศตามแผนที่ได้วางไว้

อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ชี้แจงถึงสถานการณ์ที่อังกฤษซึ่งยังคงเปิดประตูต้อนรับนักเรียนต่างชาติ ปัจจุบัน นักเรียน - นักศึกษาที่ยังคงศึกษาอยู่ โดยอยู่ในภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิปี 2020/21 มีการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ล็อกดาวน์ คือเน้นเรียนออนไลน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นคลาสที่จำเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ส่วนในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง 2021/22 ที่กำลังจะเริ่มต้นในเดือนกันยายนนี้ อเล็กซานดรากล่าวว่า อังกฤษมีการเตรียมแผนไว้ทั้งการเรียนแบบปกติในห้องเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ โดยจะปรับใช้ตามสถานการณ์ แต่จากแนวโน้มที่อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้คาดว่าจะเป็นการเรียนแบบผสมผสานออฟไลน์-ออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าคุณภาพการศึกษาที่อังกฤษยังคงคุณภาพระดับโลกเช่นเดิม

สำหรับข้อกังวลของนักเรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข อเล็กซานดราชี้แจงว่า นักเรียนนักศึกษาที่ได้วีซ่าเพื่อศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จะอยู่ในระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ ทำให้นักเรียนต่างชาติทุกคนมีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตามลำดับความจำเป็นก่อนหลัง รวมถึงได้รับการตรวจ COVID-19 กรณีที่มีความเสี่ยง

นอกจากจะยืนยันเพื่อคลายข้อกังวลด้านสุขภาพและการรับเข้าเรียน เธอยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าด้วยว่า สำหรับนักศึกษาที่จบระดับชั้นปริญญาโทและปริญญาเอกแล้วต้องการทำงานต่อในสหราชอาณาจักร ยังคงขอวีซ่าที่เรียกว่า The Graduate Route ได้เช่นเดิม คือบัณฑิตป.โทสามารถใช้เวลาหางานได้ 2 ปีหลังเรียนจบ และบัณฑิตป.เอกสามารถหางานทำได้ถึง 3 ปี

ด้าน อุไรวรรณ สะโมลี หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาต่อสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวถึงความพิเศษของทุนจากบริติช เคานซิลคือ The Great Scholarships ปี 2021 มีการเพิ่มจำนวนทุนเป็น 28 ทุนจากสถาบันการศึกษา 22 แห่ง ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วที่มีเพียง 9 ทุนเท่านั้น

โดยทุนทั้งหมดจัดสรรให้กับนักเรียนไทยที่ต้องการศึกษาต่อปริญญาโทที่อังกฤษ มีหลากหลายสาขาวิชาที่ให้ทุนมูลค่าต่อทุนขั้นต่ำ 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 4 แสนบาท) ซึ่งครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมดได้ และเป็นทุนให้เปล่าอีกด้วย (https://www.britishcouncil.or.th/study-uk/great-scholarships)

นอกจากนี้ยังมีทุน Women in STEM เป็นทุนที่ให้แบบเต็มจำนวนรวมทั้งค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และตั๋วเดินทางไปกลับ แก่ผู้หญิงที่ต้องการเรียนปริญญาโทในสาขาวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม หรือคณิตศาสตร์สำหรับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไม่รวมสิงคโปร์และบรูไน) ได้รับจัดสรรทั้งหมด 15 ทุน ปีนี้เปิดสาขาที่อนุญาตขอทุน คือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและโลกร้อน, วิทยาศาสตร์ชีวิตและสุขภาพ และ เกษตรกรรม (https://www.britishcouncil.org/study-work-abroad/in-uk/scholarship-women-stem?_ga=2.125457545.263787490.1613449442-1351125984.1613449442)

ในแง่สถิติการเข้าเรียนต่อต่างประเทศของนักเรียนไทย ภาคการศึกษาปี 2561/62 อยู่ที่ 15,457 คน ในจำนวนนี้เลือกเรียนต่อที่ "สหราชอาณาจักร" มากเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 45% รองมาอันดับ 2 คือ "สหรัฐอเมริกา" 35% และอันดับ 3 คือ "ออสเตรเลีย" 16%

สาขาวิชาที่นักเรียนไทยนิยมมากที่สุดที่อังกฤษ (เฉพาะระดับปริญญาตรีขึ้นไป) ยังคงเป็น "บริหารธุรกิจ" ซึ่งคิดเป็น 60% ของนักเรียนทั้งหมดเพราะเป็นสาขาที่มีแหล่งงานรองรับมากในไทย ตามด้วยสาขา "กฎหมาย" ซึ่งมาแรงขึ้นมากโดยมีสัดส่วน 10% ที่เหลือเป็นสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี 6% สาขาสังคมศาสตร์ 5% และ สาขาการออกแบบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 3%

ดังที่เห็นว่าสถิติดังกล่าวเป็นข้อมูลปี 2561/62 ก่อนจะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น อุไรวรรณกล่าวว่า เมื่อปีก่อนหลังเกิดโรคระบาด บริติช เคานซิลมีการจัดสำรวจเมื่อเดือนเมษายน 2563 พบว่านักเรียนเกือบ 30% มีความกังวลที่จะเข้าเรียนต่อต่างประเทศ และตัดสินใจจะเลื่อนแผนการศึกษาต่อออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หลังพูดคุยกับนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนที่ประเทศอังกฤษมากกว่าจะเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศอื่น และเชื่อว่าแนวโน้มปัจจัยบวกจากวัคซีน COVID-19 น่าจะจูงใจให้นักเรียนที่เลื่อนแผนออกไป กลับมาศึกษาต่อกันในปีนี้


ที่มา: https://positioningmag.com/1319555

ทำไมเด็กไทยส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ซักที?

เป็นที่รู้กันดีว่าทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่อันดับที่ 89 จาก 100 ประเทศทั่วโลก เกือบรั้งท้ายประเทศอาเซียนทั้งหมด เหตุใดปัญหานี้จึงยังแก้ไขไม่ได้ซักที? ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาษาอังกฤษที่สอนกันในโรงเรียนไทยไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาทักษะให้ใช้ภาษาในการสื่อสารได้จริง และหากจะหาเรียนเองนอกโรงเรียน ค่าเล่าเรียนก็อยู่ในราคาที่สูงเกินกว่าที่ทุกคนจะมีกำลังจ่าย

การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนไทย มักเน้นไปที่คำศัพท์และไวยากรณ์เพราะวัดผลได้ง่าย แต่การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะทำได้ยากกว่า ขยายผลไปทั่วประเทศได้ยากกว่า และยังไม่มีเครื่องมือวัดผลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมากมุ่งไปที่การ “เรียนเพื่อสอบ” แทนที่จะ “เรียนเพื่อพัฒนาทักษะ” ส่งผลให้นักเรียนไทยกว่า 6-7 ล้านคนทั่วประเทศสามารถทำข้อสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ย้อนกลับมาแก้กันตั้งแต่จุดนี้ ก็จะยากที่จะแก้ไขเพราะการเรียนภาษามักเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

“จุดประสงค์ของการเรียนภาษาอังกฤษควรที่จะเป็นการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะ ให้สามารถรับข้อมูลและใช้ภาษาในการสื่อสารได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อทำคะแนนสอบอย่างเดียว” Derek Hopper - อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Academic Director ของ Edsy (สตาร์ทอัพด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ) กล่าว

การมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดี กลายเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญในโลกทุกวันนี้ ที่มีการเชื่อมโยงอย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน ไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนต่อ ทำงาน หรือใช้ชีวิตในต่างประเทศ แต่เป็นการเปิดมุมมอง เปิดโอกาสในการเข้าถึงสื่อ ข้อมูล และความรู้อีกมากมายมหาศาลจากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม...นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ (ค่าเทอมสูงได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี) หรือการเรียนพิเศษในโรงเรียนสอนภาษาชื่อดัง (ค่าเรียนสูงเป็นหลักแสนบาทต่อปี)

สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงมาก เป็นเพราะโรงเรียนเหล่านี้เน้นใช้ครูต่างชาติเจ้าของภาษาในการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% ซึ่งไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจสูงสุด จากการวิจัยของ University of Cambridge พบว่าการเรียนการสอนด้วยเจ้าของภาษาโดยใช้ภาษาอังกฤษ 100% ไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ดีที่สุดเสมอไป นอกจากนี้ ผู้เรียนยังควรที่จะมุ่งเป้าที่จะพัฒนาทักษะให้สามารถสื่อสารได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมุ่งเป้าให้มีสำเนียงเหมือนกับเจ้าของภาษา

เพื่อให้นักเรียนไทยส่วนใหญ่ในประเทศสามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ เราจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสอนภาษาที่แสนแพง และการเรียนในโรงเรียนไทยหรือการเรียนพิเศษกวดวิชา ที่อยู่ในราคาที่นักเรียนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง แต่ไม่ได้ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก เช่น Liulishuo สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านการศึกษาในประเทศจีนที่ช่วยนักเรียนจีนกว่า 50 ล้านคนแล้วในการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ

Edsy ต้องการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งพื้นฐานคำศัพท์และไวยากรณ์ที่สำคัญในการเรียนรู้ และเข้าใจวิชาภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน เราจึงเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่จะชักชวนให้คนไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีเยี่ยม ที่อาจจะได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษา โปรแกรมอินเตอร์ หรือกระทั่งในต่างประเทศ ให้หันกลับมาช่วยกันแบ่งปัน ถ่ายทอดทักษะภาษาอังกฤษแก่นักเรียนไทยอีกกว่า 6-7 ล้านคน ความฝันของเราคือการสร้างรูปแบบการเรียนการสอนภาษาภาษาอังกฤษแบบใหม่ที่คล้ายกับในโรงเรียนนานาชาติ เปี่ยมด้วยคุณภาพ แต่อยู่ในราคาและรูปแบบออนไลน์ที่ทำให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึง

เขียนโดย พริษฐ์ เที่ยงธรรม อดีตที่ปรึกษาธุรกิจที่ผันตัวมาก่อตั้งสตาร์ทอัพด้านการศึกษา Edsy หลังจากจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา

Facebook: @edsythailand

Line ID: @edsy.th


อ้างอิงข้อมูล

https://thestandard.co/ef-epi-2020-ef-english-proficiency/

Kerr, P. (2019) The use of L1 in English language teaching. Part of the Cambridge Papers in ELT series.

Cambridge: Cambridge University Press

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สร้างห้องเรียนอาชีพ มุ่งเปิดหลักสูตรต่อยอดอาชีพ เก็บหน่วยกิตประกอบการเรียนต่อปวช. ปวส.

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เตรียมการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ตามนโยบายนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิต

และให้ประชาชนในทุกจังหวัดมีรายได้ โดยมีการนำนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองมาต่อยอด เพื่อที่จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

นายอัมพรกล่าวต่อว่า สพฐ. กับอาชีวศึกษา ได้ตกลงกันว่าจะมีการทำห้องเรียนอาชีพร่วมกัน โดยจะมีการดำเนินการ 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การจัดหลักสูตรอาชีพระยะสั้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้แล้วสามารถทำได้ หรือเป็นอาชีพได้ เช่น การประกอบอาหาร การทำขนม เป็นต้น และ 2 การจัดการเรียนการสอนอาชีพที่จัดเป็นหน่วยการเรียน โดยกำหนดให้เรียนในวิชาพื้นฐาน หรือวิชาเลือก ซึ่งผู้เรียนสามารถนับและเก็บหน่วยกิตตั้งแต่มัธยม หากต้องการศึกษาต่อด้านสายอาชีพ ก็สามารถนำหน่วยกิตไปนับรวมได้

"การจัดการเรียนสอนดังกล่าว นอกจากทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้แล้ว ยังสามารถใช้ประกอบการเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีแรงจูงใจมากขึ้น คาดว่าประมาณสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการ และจะเริ่มดำเนินการปีการศึกษา 2564 ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่มีความพร้อม" นายอัมพรกล่าว


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2582666

รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูชาวต่างชาติไม่มีใบอนุญาตทำงาน พร้อมสร้างการรับรู้ ตั้งเป้าสถานศึกษารัฐ - เอกชน ทราบแนวปฏิบัติ การขอใบอนุญาตทำงานให้ครูต่างชาติ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน ตรวจสอบครูต่างชาติในโรงเรียนและสถานศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เป็นหน้าด่านประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานกฎ ระเบียบ และโทษหากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบครูต่างชาติในตำแหน่งครูผู้สอนและการขอรับใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน มอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้แก่สถานศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายได้ถูกต้อง รวมทั้งตรวจสอบและควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวในพื้นที่รับผิดชอบ

จากผลการตรวจสอบโรงเรียน และสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 922 แห่ง พบว่ามีครูต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย จำนวน 6,129 คน โดยสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.) ฟิลิปปินส์ 2,667 คน 2.) อังกฤษ 558 คน 3.) สหรัฐอเมริกา 465 คน 4.) จีน 237 คน 5.) แอฟริกาใต้ 160 คน และอื่น ๆ 2,042 คน และพบสถานศึกษาและครูต่างชาติกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

1.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 8 คน

2.) ครูต่างชาติกระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงผู้เป็นนายจ้าง สถานที่ทำงานของนายจ้าง และลักษณะงานหลักที่ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าทำงานและต้องแจ้งทุกครั้งที่เปลี่ยนนายจ้าง จำนวน 3 คน

3.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหารับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จำนวน 1 แห่ง

4.) โรงเรียนและสถานศึกษากระทำความผิดข้อหาไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงชื่อและสัญชาติของคนต่างด้าว และลักษณะงานที่ให้ทำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จ้างและไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ เมื่อคนต่างด้าวนั้นออกจากงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน จำนวน 20 แห่ง (ข้อมูลจากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2563 - 25 มกราคม 2564)

“ สำหรับคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งครูผู้สอนในสถานศึกษา ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (NON-IMMIGRANT VISA) ไม่ใช่เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน (TOURIST/TRANSIT VISA)

โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานพร้อมเอกสารการประกอบวิชาชีพครูและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษา ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบครูชาวต่างชาติทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกผลักดันกลับประเทศ

ส่วนโรงเรียนหรือสถานศึกษาจะถูกดำเนินคดีในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และถ้ายังพบกระทำผิดซ้ำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือที่ไลน์ @)Service_Workpermit และสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามภาษาอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร แนะนำวิธีการทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

ตามที่ได้มีการประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อบริหารและจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเกิดประโยชน์สูงสุดของทางราชการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2545 และมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษาเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

จึงยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ประกาศ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 62 เขต ดังต่อไปนี้


อ่านประกาศเพิ่มเติม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/038/T_0004.PDF

Apple สนับสนุนการศึกษาในไทยเปิดตัว 2 เว็บไซต์สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษาและเว็บไซต์ให้ข้อมูลกับนักศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของ Apple

Apple เดินหน้าสนับสนุนการศึกษาในประเทศไทยเปิดตัว 2 เว็บไซต์สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเว็บไซต์แรกเป็นเว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มของ Apple เพื่อการสอน สร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจในระดับอุดมศึกษา รวมถึงกรณีศึกษาการนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก

ส่วนอีกหนึ่งเว็บไซต์มุ่งเน้นให้ข้อมูลกับนักศึกษาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของ Apple รวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษาระดับอุดมศึกษาประสบความสำเร็จในการเรียน ไม่ว่าจะเรียนในสาขาใดก็ตาม นำเสนอเทคนิคดีๆ ในการใช้งานเพื่อการเรียน รวมถึงคำแนะนำ และประสบการณ์การใช้งานที่น่าสนใจจากนักศึกษาทั่วโลก

ชมเว็บไซต์สำหรับสถาบันการศึกษาได้ที่ https://www.apple.com/th/education/higher-education/

ชมเว็บไซต์สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ที่ https://www.apple.com/th/education/college-students/

ในโอกาสเปิดตัวเป็นครั้งแรก Apple นำเสนอกรณีศึกษาภายใต้หัวข้อ Innovation in Action โดย ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาบอกเล่าการใช้ iPad Pro ในการสอนแนวคิดเชิงคำนวณ และช่วยนักศึกษาในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน สอนให้ทุกคนรู้จักวิธีใช้ Swift Playgrounds เพื่อออกแบบแอปที่ช่วยแก้โจทย์ความท้าทายในท้องถิ่นที่พวกเขาได้พบ

ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.apple.com/th/education/higher-education/innovation-in-action/


ที่มา: https://www.techoffside.com/2021/02/apple-website-education/

สพฐ.เตรียมรับแผนรมว.ศึกษาธิการ บูรณาการด้านการศึกษา เพิ่มศักยภาพและคุณภาพของโรงเรียน ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ มาประชุมหาข้อสรุป จัดทำแผนงบประมาณปี 65 หนุน บูรณาการโรงเรียน เสริมสร้างการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ภายหลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศแผนบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของโรงเรียนในทุกด้าน และให้สามารถบริหารการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นแผนครอบคลุมโรงเรียนทุกพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้ประกาศคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะผู้กำกับด้านนโยบาย คณะติดตามนโยบาย และผู้รับผิดชอบการดำเนินการในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการระดับ 9 - 10 จากทุกหน่วยงาน มาร่วมมือกันปฏิบัติ

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าแผนบูรณาการทางการศึกษาว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการนำเสนอแผนบูรณาการจากผู้รับผิดชอบจังหวัดขนาดเล็ก 15 จังหวัดเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจากนี้ไป ทาง สพฐ.จะนำแผนที่ได้รับมาประชุมหาข้อสรุป และตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยจะรวมกับแผนของจังหวัดขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อจัดทำแผนงบประมาณ โดยจะเริ่มบรรจุในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า แผนบูรณาการเบื้องต้น เท่าที่ได้ตรวจสอบพบว่า ในหลายจังหวัดผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง มีความยินดี และเห็นชอบกับการบูรณาการโรงเรียนเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นบุตรหลานของตนได้มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อม ทั้งทางกายภาพ รวมถึงงบการสนับสนุน เพราะจะเป็นโรงเรียนที่สามารถมีครูครบชั้น ครบวิชา นักเรียนจะได้รับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ บางจังหวัดสามารถนำเงินงบประมาณที่ให้กับโรงเรียนเล็กหลายแห่ง มาบริหารจัดการผ่านโรงเรียนคุณภาพชุมชนใหม่ โดยสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ และแตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนจะได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด

ทั้งนี้ แผนบูรณาการด้านการศึกษาทั่วประเทศ ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็กที่มีโรงเรียนไม่เกิน 200 โรงเรียนมี 15 จังหวัด กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง มีโรงเรียนระหว่าง 200 - 400 โรงเรียน มีจำนวน 36 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีจำนวน 400 โรงเรียนขึ้นไป มี 26 จังหวัด โดยมีเป้าหมายในการยกระดับโรงเรียนคุณภาพชุมชน การพัฒนาโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และการพัฒนาโรงเรียน Stand alone

นายอัมพร กล่าวว่า แผนบูรณาการนี้เป็นไปตามนโยบายการศึกษายกกำลังสอง ที่ชูเป้าหมายให้การศึกษาไทยพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในศตวรรษที่ 21 โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อ ที่ทำให้หลักสูตรต่างๆ มีความยืดหยุ่นและเข้าถึงผู้เรียนผู้สอนได้ง่ายขึ้น เป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/468981


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top