ความกล้าแสดงออก คุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก เปิดเทคนิคเปลี่ยนจากลูกขี้อาย เป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้ โดยไม่บังคับลูก

คุณเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเด็กเหมือนผ้าขาว และเมื่อเด็กลืมตาดูโลกและโตขึ้น จะถูกเติมแต้มสีลงไปในผ้าหรือไม่ หรือเชื่อว่าเด็กนั้นเกิดมาพร้อมกับสีติดบนผืนผ้ามาแล้ว ครูพีช เจ้าของเพจ ครูพีช ที่ปรึกษาครอบครัว - Family Consultant เชื่อว่า เด็กคือผ้าสีพื้นที่มีหลายเฉด ผ้าที่พร้อมจะถูกเติมแต้มสีต่าง ๆ ได้ไม่เท่ากัน วิธีส่งเสริมเด็กแต่ละเฉดก็ต่างกันตามสีพื้นของเค้า

หนึ่งในคุณสมบัติที่พ่อแม่หลายคนอยากส่งเสริมลูก ก็คือความกล้าแสดงออก เพราะเป็นคุณสมบัติที่สนับสนุนอนาคตของลูก หากคุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริมให้เด็กที่มีเฉดสีไม่เท่ากันกล้าแสดงออก อาจต้องใช้วิธีต่างกัน ดังนั้น บทนี้เราได้นำเทคนิคของครูพีช ในการแสดงออกต่อลูกอย่างไรให้สามารถเปลี่ยนจากลูกขี้อายเป็นลูกที่กล้าแสดงออกได้โดยไม่ไปบังคับลูกมาฝากกันค่ะ

ครูพีชแบ่งเด็กออกเป็น 3 แบบค่ะ คือ

1.) Easy Child

2.) Slow to Warm up

3.) Difficult Child

Easy Child เป็นแบบที่เข้ากับคนเร็ว เปิดเผย เด็กแบบนี้จะไม่มีปัญหาในเรื่องกล้าแสดงออก เด็กแบบนี้จะง่ายกว่าแบบอื่นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่จำเป็นต้องฝึกลูกให้กล้าแสดงออก

Slow to Warm up เป็นเด็กที่ต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย เมื่อเค้าเปิดใจแล้ว เค้าคือเด็กที่กล้าแสดงออกคนหนึ่ง เพียงต้องให้เวลาเค้าเรียนรู้หรือฝึกซ้อมให้คุ้นชิน อย่าเพิ่งไปเร่งเค้า การเร่งจะยิ่งทำให้เค้ากลัวมากกว่าเดิมได้

และแบบสุดท้ายคือ Difficult Child เด็กแบบนี้ต้องใจเย็น ๆ ให้เวลาเค้าหน่อย เพราะเค้าเป็นคนชั่งคิดชั่งวางแผน สังเกตว่าเด็กแบบนี้จะเงียบไม่ค่อยพูดคุยและส่วนใหญ่จะเรียนเก่ง ดังนั้นเรื่องความกล้าแสดงออกแต่กำเนิดอาจจะยังสู้เด็ก 2 แบบแรกไม่ได้ หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็น Difficult Child ได้ให้เค้าฝึกความกล้าทีละนิดจะสมไป Difficult Child จะฉายแสงโดดเด่นกว่าเป็นไหน ๆ ได้ทีเดียวค่ะ

ต่อไปนี้เป็น เทคนิคฝึกลูกให้กล้าแสดงออก โดยครูพีชให้ชื่อวิธีนี้ว่า 2 ป. 1 บ.

ป. ที่ 1 ปลอดภัย

ความปลอดภัยในที่นี้หมายถึง ความปลอดภัยทางอารมณ์ของลูก โดยการให้ลูกได้เห็นอารมณ์ของพ่อแม่ เช่น เวลาที่พ่อแม่ตื่นเต้น กังวล ตกใจ สับสน การให้ลูกได้รับรู้อารมณ์เหล่านี้จากเรา ช่วยให้เค้ารู้สึกปลอดภัยได้ ฟังแล้วอาจจะขัดกับความคิดที่พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่าง ไม่แสดงความอ่อนแอออกมาให้ลูกเห็นใช่มั้ยคะ แท้จริงแล้ว การแสดงอารมณ์อ่อนไหวออกมาบ้างทำให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ก็มีอารมณ์ได้เหมือนกัน ลูกสามารถมีอารมณ์เหล่านี้ได้ รับรู้มันและแสดงออกมาได้เหมือนกันกับพ่อแม่ ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและกล้าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเองออกมา และนำไปสู่ความกล้าแสดงออกนั่นเอง

ป. ที่ 2 เปิดโอกาส

เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เค้าสนใจอยากทำด้วยตัวของเค้าเอง ถึงแม้สิ่งเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวกับการเรียนหรือไม่น่าจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ แต่การเปิดโอกาสให้เค้าได้ทำในสิ่งที่เด็กสนใจฝึกความกล้าแสดงออกได้ กิจกรรมเหล่านี้ มองเผิน ๆ ดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อเรามองให้ดี ทุกกิจกรรมนั้นล้วนมีประโยชน์แฝงอยู่ เด็กจะได้ฝึกใช้พลังภายในของตนเอง ก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เค้าต้องการ และยังฝึกให้ลูกรู้จักการวางแผน การประสานงาน ความมีวินัย ความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งงานเหล่านี้ สามารถกลายเป็นงานอดิเรกเพื่อคลายเครียดสำหรับตัวเค้าเองต่อไปได้

และสุดท้าย บ. บ่อย ๆ

ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความสามารถจากสิ่งที่เค้าชื่นชอบบ่อย ๆ ไม่เร่งรัดเค้า ปล่อยให้เด็กสะสมความเชื่อมั่น ลูกจะเลเวลอัพความกล้าแสดงออกของเค้าไปเรื่อย ๆ ได้ด้วยตนเอง

เสริมอีกนิดนึงว่า ให้คุณพ่อคุณแม่หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่พูดถึงความไม่กล้าแสดงออกของลูกกับคนอื่นฟัง เพราะลูกคุณอาจจะแอบฟังอยู่ และเค้าจะคิดไปได้ว่าแม้คนที่ใกล้ชิดเค้ามากที่สุดยังคิดกับเค้าแบบนั้น

เราขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนฝึกฝนให้ลูกเป็นคนกล้า และคุณพ่อคุณแม่จะภูมิใจในผลลัพธ์ที่ลูกเราเปลี่ยนจากคนขี้อายมาเป็นคนกล้าได้เพราะความอดทนของคุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ การทำให้ลูกเป็นเด็กกล้าแสดงออกและบุคลิกดี

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/467032571141109

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์