Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

‘ท็อป’ ยก ‘ดิจิทัล-กรีน’ เสียงสะท้อนหลักจากเวทีดาวอส หาก ‘ไทย’ ไม่อยากตกขบวน ต้องพัฒนา ‘คน-กลยุทธ์’ ด่วน

ไม่นานมานี้ ‘ท็อป’ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เป็นมันสมองหลักของ ‘Bitkub’ ได้เปิดเผยผ่านรายการ Deep talk ว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของจีดีพีของโลกแล้ว

ท็อป เผยว่า โจทย์สำคัญต่อจากนี้ คือ โลกจะทำยังไงให้ ‘ความเชื่อใจ’ กลับมาได้ โดยหากอ้างถึงคำกล่าวของ ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรีจีน จะเห็นถึง 6 โซลูชัน ที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ระดับโลก’ ด้วยการกลับมาเริ่มต้นผ่าน...

1.ผู้นำโลกต้องพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อแชร์มายเซ็ตในการขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน

2.แต่ละประเทศไม่ควรออกนโยบายระดับมหภาคระดับประเทศที่ขัดแข้งขัดขา เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ซึ่งควรต้องคำนึงถึงว่า จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.สร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก เพื่อทำให้เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

4.ภาคพลังงานต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิต ให้เป็น ‘สีเขียว’ โดยด่วนและต้องทำให้กรีนฮับที่ตอนนี้กระจุกตัวอยู่ในยุโรปกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปสู่กรีนซัพพลายเชนอย่างราบรื่นที่สุด

5.โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ‘ดิจิทัล’ หรือ 4th Industrial Revolution ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะทำยังไงให้ไม่เกิดการแย่งชิงและร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาด

สุดท้ายคือ 6.สร้างความเท่าเทียมระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง Global North รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ Global South ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียม จาก Climate Tech เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระจุกตัวอยู่ใน Global North รวมไปถึงตัวเลขการลงทุนทิ้งห่าง แล้วจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในเมื่อโลกที่แตกเป็นเศษส่วนและกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกันอย่างมหาศาล

ท็อป กล่าวอีกว่า ผู้นำทุกคนในเวทีดาวอสเห็นตรงกันว่า ในปี 2567 จะเป็นปีที่โลกจะเข้าสู่จุด ‘สมดุล’ มากขึ้น เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ตามด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก ทั้งการกระจายขั้วอำนาจ และ ‘เทรดแพทเทิร์น’ ที่จะเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ท็อป กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาธีมของ ‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ และ ‘กรีน’ มีการเติบโตอย่างเร็ว ยิ่ง ‘กรีน’ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น สัดส่วนของจีดีพีจะมีโอกาสเติบโตนับต่อจากนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการซื้อขายผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กรีนโปรเจกต์’ จะทำให้เกิดกฎใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เข้ามาบีบเค้นให้บริษัทที่ไม่คำนึงถึง ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้ไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้า ธนาคารไม่ปล่อยกู้ หรือถึงขั้นโดนแซงก์ชัน ทำให้เม็ดเงินกลุ่มเก่าเข้าสู่กลุ่มใหม่ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องกรีนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ‘กรีนซัพพลายเชน’ นั้น ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันที่ต้องอาศัยเงินทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ไปจนถึงปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 5% ของจีดีพีโลกเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ในเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกพูดถึง โดย ท็อป เผยว่า ในปี 2566 คือ ปีแห่งการทดลองเล่น AI แต่ปีนี้เป็นปีของการใช้จริง และ AI จะเป็นจุดกำเนิดของจริงสำหรับ Future of Job และ Future of Growth เพราะตลอดปีที่ผ่านมาโลกของเราอยู่กับที่ ไม่มีใครเป็น Growth Engine หรือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ เว้นแต่อินเดียที่เติบโตเป็น The new winner ปีนี้จึงต้องมี Growth Engine ใหม่ที่จะปลดล็อก

ฉะนั้น ทุกเสียงในที่ประชุมดาวอส จึงมองว่า AI เป็น The most powerful of technology หรือ ที่สุดของเทคโนโลยีอันทรงพลังที่ไม่ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อก Productivity ใหม่ให้กับโลก และจะเป็น The New Driver สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกต่อไป

ในแง่ของ AI กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคตนั้น ท็อป เผยว่า การทำงานที่จะถูก Automated หรือควบคุมโดยขบวนการอัตโนมัติด้วย AI มากขึ้น ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อคนที่ทำงานด้วย ‘สมอง’

ยกตัวอย่างกลุ่ม White-Collar Worker หรือคนที่ทำงานโดยที่ใช้มันสมองเป็นหลักนั้น น่าห่วงเพราะอีก 5 ปี ข้างหน้า 44% ของทักษะมนุษย์จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่ AI จะสามารถทำแทนมนุษย์ และอาจมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ AI จะขยายวงมากขึ้น จะมีการใส่ ‘ศีลธรรม’ ลงไปใน AI เพื่อดีไซน์ให้ AI มีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการป้องกันเทคโนโลยีที่กำลังพลุ่งพล่านแล้ว ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในแง่ของการถูกนำมาใช้ในด้านลบ จึงต้องมีการกำหนดกรอบว่าอะไรไม่ควรล้ำเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ของ AI

ในด้าน ‘รูปแบบการค้าใหม่’ (New Trade Pattern) ท็อป เผยว่า จะมีความน่าสนใจโดยอาเซียนเป็นจุดโฟกัส ซึ่งอาเซียนกำลังจะมี 3 สิ่งใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ได้แก่...

1.One Asian Strong ทำให้การหมุนเวียนเม็ดเงินผ่านระบบชำระเงินในอาเซียนเกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดคุยเป็นภาษากฎหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกของภูมิภาค ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกนั้นไหลลื่น

3.ความลื่นไหลของคน ด้วย ‘One Visa’ หรือพาสพอร์ตเล่มเดียว จะทำให้ผู้คนไปได้ทั่วทั้งอาเซียน

คำถาม คือ จะทำยังไงให้อาเซียนจับมือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และชนะไปด้วยกันทั้งอาเซียน เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมุ่งเป้ามาที่อาเซียนมากขึ้น ขณะที่ที่จีนก็มองเอเชียเป็น Growth Engine ใหม่ ซึ่งมิตินี้ ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ‘อาเซียนกำลังเข้าสู่ปีทอง’ และกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ภายใต้มุมมอง อาทิ เศรษฐกิจใต้น้ำที่ถูกค้นพบแค่ 16%, กลุ่มคนทำงานที่อยู่ในวัยกลางคน, การเป็นแหล่งแร่หายาก และที่สำคัญที่สุดคือ ภายในภูมิภาคไม่ทะเลาะกับใคร มีแต่ความสงบสุข

จุดนี้เองจะทำให้บทบาทของอาเซียนบนเวทีโลกเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับ ‘ไทย’ ที่ถูกส่องแสงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ทำให้ประเทศไทยกลับมามีแสงส่องสว่างบนเวทีโลก ด้วยการเรียกนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้จุดขายใหม่ จากการเป็นพื้นที่ที่มีความสามัคคี ผู้นำในกลุ่มอาเซียนสื่อสารกัน นอกเหนือจากการเป็นแค่กลุ่มประเทศแรงงานราคาถูก

ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่ใหญ่มากของไทย เพียงแต่ต้องปรับทัพขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่บริษัทเล็กระดับ, SME ไปถึงบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องมุ่งสู่ ‘กรีนซัพพลายเชน’ มากขึ้น

ท็อป สรุปตอนท้ายอีกด้วยว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เป็น 2 คำที่ภาคธุรกิจไทยต้องเริ่มพูดถึงในทุก ๆ หมุดหมายในการดำเนินการ เพื่อคว้าเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Tech ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญมาก...เศรษฐกิจดิจิทัลและกรีน จะเป็นตัวชูโรง GDP ไทยในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาบุคลากรและเตรียมกลยุทธ์ใหม่ ๆ ไว้เพื่อคว้าโอกาส

‘Anya Meditec’ ชี้!! คนไทยรู้ภัยนอนกรนน้อย แนะ!! ผู้มีภาวะเสี่ยง ‘อ้วน-ภูมิแพ้’ ควรทำ Sleep Test

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 3 ก.พ. 67 ได้พูดคุยกับ นายแพทย์ชาญสิริ เสกสรรวิริยะ แพทย์ด้านหู คอ จมูก และเวชศาสตร์การนอนหลับ Anya Meditec ถึงปัญหาการนอนกรนของคนไทย ระบุว่า…

คนไทยมีปัญหาการนอนกรนเยอะมาก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะการนอนถือเป็น 1 ใน 3 ของชีวิตประจำวันของเรากันเลยทีเดียว แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ มันเป็นปัญหาใกล้ตัวที่หลายคนกลับมองข้ามไป

แน่นอนว่า โดยปกติปัญหาด้านการนอนของมนุษย์มักจะมีอยู่หลายแบบ ทั้งการนอนไม่หลับ นอนกรน นอนละเมอ หรือแม้แต่นอนกัดฟัน เป็นต้น แต่กับปัญหาการกรน เป็นอะไรที่จะส่งผลกระทบไปสู่หลายโรค

ทั้งนี้ สาเหตุของการกรน เกิดจากทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น โดยในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณช่องคอส่วนบน ได้แก่ ลิ้นไก่, เพดานอ่อน, คอหอย, โคนลิ้น และฝาปิดกล่องเสียง จะหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อลมเคลื่อนที่ผ่านบริเวณดังกล่าวจึงเกิดเสียงดังขึ้น กลายเป็นเสียงกรนเจ้าปัญหาในที่สุด โดยปัญหานี้ ส่วนใหญ่มักจะเจอกับผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ และคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ 

คำถาม คือ เมื่อไรที่เราต้องรีบรักษา? ก็ต้องบอกว่า ถ้าสังเกตได้ว่ามีอาการกรนเสียงดังมาก จนแทบไม่อาจนอนได้ตลอดทั้งคืน หรือร่วมกับอาการกรนที่ทำให้เกิดอาการหยุดหายใจ หรือมีอาการง่วงระหว่างวัน นี่บ่งบอกถึงคุณภาพในการนอนที่ย่ำแย่จากการกรนแล้ว และต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที 

เพราะอะไร? เพราะการกรนเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดหัวใจตีบง่าย, เส้นเลือดสมองตีบง่าย, หัวใจวาย และสมองเสื่อมได้ไวขึ้นจากการหลับที่ไม่ดี

ปัจจุบันมีการรักษาที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างชัดเจน แต่ก็ต้องทำการตรวจ Sleep Test ก่อน เพื่อตรวจดูคลื่นสมองว่าหลับลึกตื้นแค่ไหน เป็นการตรวจการนอนหลับ เพื่อบันทึกลักษณะความผิดปกติขณะนอนหลับ ซึ่งแพทย์จะนำผลไปวินิจฉัย เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับต่อไป 

โดยในขณะที่ทำ Sleep test นักเทคนิคการแพทย์จะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น…

- การตรวจวัดระดับความลึกของการนอนหลับ
- การตรวจวัดระดับออกซิเจน ลมหายใจ และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อทรวงอกและหน้าท้อง
- การตรวจวัดการทำงานกล้ามเนื้อตา การกัดฟัน และกระตุกของขาขณะหลับ
- ท่านอนและเสียงกรน
- การตรวจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

หลังจากนั้น จะนำข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกได้ พร้อมกับผลการตรวจร่างกาย มาวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากทำ Sleep Test เรียบร้อย ก็จะเข้าสู่วิธีรักษา ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ใช้เครื่องอัดอากาศเป่าลมเบาๆ เพื่อพยุงโครงสร้างในช่องคอให้โล่งขึ้น หรือการผ่าตัดแก้ไข หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ขณะที่การลดน้ำหนักก็ช่วยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดอาการภูมิแพ้ ลดจมูกบวม จมูกตัน ซึ่งการล้างจมูกส่งผลดีต่อการนอนกรนเช่นกันด้วย

อย่าปล่อยปัญหาให้เนิ่นนาน ทุกท่านสามารถมาปรึกษาและตรวจ Sleep Test ที่ Anya Meditec ได้ง่ายๆ ซึ่งผลการวัดมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับโรงพยาบาลชั้นนำ สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ facebook.com/AnyaMeditec

‘ยูเนสโก’ มอบประกาศนียบัตร ‘ประเพณีสงกรานต์’ ของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ยูเนสโกได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้ สวธ.เตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน

“สงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทยที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่างๆ เป็นต้น

“การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งโดย ในปี 2567 จะมีจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานมหาสงกรานต์ คงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเตรียมจัดโครงการ ‘World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก’ ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567” นายโกวิทกล่าว

อธิบดี สวธ.กล่าวต่อว่า โอกาสนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของไทยให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศต่อไป

‘ดร.สมคิด’ ชี้!! สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ เพราะปมปัญหาทางการเมืองฝังลึก พร้อมฉุดทุกความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘จับชีพจรชีวิตประเทศไทย’ จากงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’

โดยครั้งนี้ถือเป็นการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งกลางปี 66 ซึ่งช่วงหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ดร.สมคิด ได้พูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นพระเอกของอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับเดินช้าและอ่อนแอลง เพราะปัญหาที่สะสมมานาน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามากว่า 20 ปี และไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมอีก เป็นปัญหาสั่งสมมายาวนาน วันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ประเทศอื่นเติบโตเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็สามารถที่จะกลับมาใช้นโยบาย Multi Corridor เดินหน้าเศรษฐกิจ ส่วนอินเดียนั้นมีประชากรและแรงงานมาก มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และประชากรลดลงเรื่อยๆ”

ดร.สมคิด ระบุอีกว่า หากดูตัวเลข GDP ย้อนหลังของไทย 20 ปี โตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินตัวเลข GDP โต 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำมาเรื่อยๆ 2% กว่า และในปีนี้ที่ผ่านมาก็ยังไม่รู้ว่าจะไปจบอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์

“ตัวเลขจาก กระทรวงการคลัง วางไว้ว่า 1.8% ซึ่งถ้าจีดีพีโต 1.8% คุณต้องเอาน้ำแข็งประคบหัวเลย เพราะโตต่ำมาก ไทยได้เข้าสู่ยุคของ Low Growth แทบจะ 20 ปีแล้ว ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เราไม่รู้ตัวเหรอ แต่จริงๆ ผมว่าเรารู้ตัวนะ”

เมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ? ดร.สมคิด กล่าวว่า ก็เพราะปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียง การออกนโยบายระยะสั้น เพื่อหาเสียง ไม่ได้กำหนดนโยบายระยะยาว และหลายเรื่อง รอการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย ถือว่าเสียเวลาไปมาก และไม่ใช่ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลแต่ละช่วงเวลาอาจจะรู้ว่าต้องทำนโยบายอะไร แต่ว่าการเมืองไม่สนับสนุนให้ทำได้ เพราะการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน แบ่งสี แบ่งค่าย เพื่อเอาฐานเสียงทุกรูปแบบ สุดท้ายก็นำไปสู่การหาเสบียง หาเงิน ดัชนีคอร์รัปชันก็เลยพุ่งสูง เปิดโอกาสให้ทุนทางการเมืองเข้ามากลายเป็นรูปแบบธุรกิจ นโยบายจึงออกมาเป็นควิกวิน (Quick Win) ระยะสั้น ไม่สามารถทำนโยบายระยะยาวได้ เรื่องที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ กฎหมายสำคัญๆ ที่จะออกจากสภาฯ ก็ไม่ทำ การเมืองก็ใช้วิธีการปรองดองกันเพื่อผลประโยชน์เท่าที่ทำได้”

เมื่อพูดถึงนโยบายระยะยาว? ดร.สมคิด ให้มุมมองว่า รัฐบาลต้องหันกลับมามองการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ รวมไปถึงต้องกลับมาโฟกัสการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้า หากของเก่ายังทำไม่ได้ แลนด์บริจด์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็อาจจะไปไม่รอด

“ถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังอะไรกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะความเชื่อมั่นไม่เหลืออยู่แล้ว” ดร.สมคิด กล่าวและเสริมอีกว่า “วันนี้ไทยจึงต้องเร่งฟื้นฟู ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ และความเชื่อถือ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฟื้นหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปต่อยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นตก เศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่ปัจจัยอื่น หากยังไม่ช่วยกันแก้ไข ก็จะพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงที่เรารู้แน่นอนว่าเราจะเดินไปสู่อะไร ตรงนี้ต้องคิดกันให้ดี”

เมื่อพูดถึงข้อแนะนำที่จะทำให้ตัวเลข GDP โตขึ้นได้ ต้องโฟกัสที่จุดใดเป็นสำคัญ? ดร.สมคิด แนะว่า หากจะให้ตัวเลข GDP โตขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

เมื่อพูดถึงความเสี่ยงหลักที่จะมีโอกาสฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยต้องรับมืออย่างไร? ดร.สมคิด เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาโลกได้ผ่านสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมากมาย ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก การทำนายอนาคตให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังต้องมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2 ครั้งซึ่งบ่งบอกว่าความไม่แน่นอนมีสูงมาก 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัท องค์กรเอกชนจะต้องเผชิญ คือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.1% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบหลายปีซึ่งค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8% 

เศรษฐกิจในภาพรวมเหมือนจะฟื้นตัวและมีปัจจัยบวกรออยู่ เช่น เศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวได้เพิ่มเติมที่ประมาณ 4.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียฟื้นตัวและเติบโตได้ดี โดยสาเหตุที่ IMF คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มาจากความเสี่ยงหลักในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด (Top Risk) ของโลกในปัจจุบัน 

ยิ่งไปกว่านั้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้งจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่น นโยบายที่ทรัมป์จะหยุดสงครามยูเครนภายใน 1 วัน โดยการไปผูกไมตรีกับรัสเซีย หรือทรัมป์อาจประกาศให้อเมริกาถอนตัวจากสมาชิกป้องกันภัยแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งก็จะทำให้ NATO อ่อนแอลงไปได้ ขณะที่การกลับมาของทรัมป์จะทำให้จีนและสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี

“การจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย จะต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆ กันในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระหว่าง ‘จีน’ กับ ‘สหรัฐฯ’ ให้ดี” ดร.สมคิด ฝากทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ลุยใต้ เสริมแกร่งเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม หนุนผู้ค้ารายย่อย กระจายรายได้สู่ชุมชน ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้’ ในงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 : SITE 2024’ พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม, นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เข้าร่วม และมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผศ.ดร.นิคม สุวรรณวร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายภูริพันธ์ บุนนาค รองผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB), ผศ.ดร.คํารณ พิทักษ์ ผู้อํานวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้จัดงานทั้งภาครัฐและเอกชน ให้การต้อนรับ ณ ห้อง Convention Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทุกคนต้องเร่งปรับตัวเพื่อตามให้ทันอนาคต การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย รัฐบาลได้เร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเพื่อเอื้อต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว อาทิ โครงข่ายการคมนาคม สร้างระบบรางรถไฟที่พาดผ่านเมืองรอง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและมีการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทั้งทางทะเลและทางบกในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ การสร้างท่าเรือน้ำลึก มอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมต่อการค้าจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาทางฝั่งอันดามัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับการแปรรูปวัตถุดิบในพื้นที่สู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์แปรรูปและเคมีภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นอนาคตของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยจะส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาด้านการผลิตและมาตรฐาน ส่งเสริมอุตสาหกรรม Soft power เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดกากของเสียของโรงงาน ตลอดจนการมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้มีผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการตาม BCG โมเดล

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะและสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SME และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

สำหรับงาน ‘Southern Innovation and Technology Expo 2024 (SITE 2024)’ จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการในภาคใต้ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคม และผู้ประกอบการอื่นๆ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในภาคใต้ ภายใต้แนวคิด ‘Advancing the Southern Frontier : Unleashing Innovation for Sustainable Growth’ เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมเส้นทางสู่ความสำเร็จสำหรับนักลงทุน SME และนักวิจัยผ่านการออกบูธและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำทางด้านพลังงาน ดิจิทัล อาหารและการเกษตร สุขภาพแบบครบวงจร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าร่วมเรียนรู้ในกิจกรรม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

‘นายกฯ’ ยินดี!! ‘ไทย-ศรีลังกา’ ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA พร้อมร่วมมือพัฒนาอัญมณี-หนุนการยกเว้นวีซ่าระหว่าง 2 ชาติ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแสดงความดีใจ ที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปี ของศรีลังกา โดยระบุว่า…

“ดีใจที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปีของศรีลังกา ขณะที่การหารือก็มีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA ซึ่งครอบคลุมเรื่องอัญมณี ซึ่งมี MOU ด้านความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ”

นายกรัฐมนตรี ยังระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงด้านบริการการเดินอากาศระหว่างกัน และผลักดันการยกเว้น Visa ให้ชาวไทย-ศรีลังกา เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศพัฒนาไปได้เร็วขึ้นด้วย โดยบริษัทการบินไทยจะเริ่มเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ในวันที่ 31 มี.ค. 67 นี้

“ไทยยินดีสนับสนุนการพัฒนาการประมงของศรีลังกาที่มุ่งสู่ความทันสมัย เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและจะจับมือกันเพิ่มศักยภาพด้านการเดินทะเล ความมั่นคงทางทะเล และการป้องกันประเทศด้วย” นายเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย

‘JKN’ ขายหุ้น ‘มิสยูนิเวิร์ส’ ยังวุ่นไม่จบ หลัง ตลท. ให้แจงข้อเท็จจริง ชี้!! อาจมีคนซวย

‘ตลท.’ จี้!! ‘JKN’ แจงรายละเอียดปรับโครงสร้าง JKN Legacy ก่อนขายหุ้น ส่อปกปิดข้อมูลดีลขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) หลังหลงเชื่อทนายศรีธนญชัย ให้ความเห็นการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ ชี้!! งานนี้อาจมีหลายคนซวย

จากกรณีที่ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ได้ทำการขายและโอนหุ้น ใน JKN Legacy ในสัดส่วนร้อยละ 100% ของหุ้นทั้งหมด ให้กับ JKN Global Content ก่อนที่จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization : MUO)  ในสัดส่วน 50% ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตหลายจุด

ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) ชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญกรณีบริษัทปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy ก่อนขายหุ้น และต่อมายื่นขอฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งกรณีเปิดเผยสารสนเทศเมื่อปรากฏข่าวลือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายในวันที่ 6 ก.พ. 67 และสำหรับความเห็นของคณะกรรมการบริษัทภายในวันที่ 15 ก.พ. 67

ตลท.ระบุว่า JKN ได้แจ้งข้อมูลการปรับโครงสร้างถือหุ้น JKN Legacy, Inc. การขายหุ้นดังกล่าว การผิดนัดชำระหนี้ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ และการเปิดเผยข้อมูล

สรุปลำดับเหตุการณ์

- 1 ก.ย. 66 JKN ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 452 ล้านบาท

- 11 ต.ค. 66 JKN ปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากบริษัทย่อยโดยตรง 100% เป็นบริษัทย่อยทางอ้อม 100% ผ่าน JKN Global Content Pte. Ltd.

- 20 ต.ค. 66 คณะกรรมการบริหารของ JKN มีมติให้ JKN Global Content ขายหุ้น JKN Legacy 50% และได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นในวันดังกล่าว

- 7 พ.ย. 66 คณะกรรมการมีมติให้ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

- 9 พ.ย. 66 ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องการขอฟื้นฟูกิจการ

- 22 ม.ค. 67 JKN ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อข้อสอบถามของตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีปรากฏในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการองค์กรนางงามจักรวาล (MUO) ว่า บริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวในเวลาต่อไป
.
- 23 ม.ค. 67 JKN แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 67 คณะกรรมการ JKN มีมติรับทราบ มติอนุมัติของคณะกรรมการบริหารเกี่ยวกับการขายหุ้น 50% ของ JKN Legacy ในราคา 16 ล้านเหรียญสหรัฐ (582 ล้านบาท) โดยแบ่งรับชำระ 3 งวด ภายในเดือน ธ.ค.66 เดือน พ.ค.และเดือน ก.ย. 67 กำหนดการโอนหุ้นเมื่อชำระเงินงวดสุดท้าย

- 29 ม.ค.67 JKN ชี้แจงเพิ่มเติมว่า JKN Global Content สามารถโอนหุ้นที่ซื้อขายได้เนื่องจากข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นการต้องห้ามเฉพาะตัวของ JKN และการอนุมัติการขาย JKN Legacy เป็นไปตามขอบเขตอำนาจดำเนินการ และขนาดรายการน้อยกว่า 15% จึงไม่จำเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ JKN มีแผนนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น JKN Legacy เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยและเพื่อสนับสนุนแผนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

ตลท.จึงขอให้ JKN ชี้แจง 1.) เหตุผลและความจำเป็นในการปรับโครงสร้างการถือหุ้น JKN Legacy จากการถือหุ้นทางตรงเป็นการถือหุ้นทางอ้อม ก่อนยื่นฟื้นฟูผ่านศาลในเวลาไม่นาน รวมทั้งกรณีหากไม่เปลี่ยนโครงสร้าง JKN จะเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายที่จะต้องอยู่ในข้อห้ามตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ อย่างไร

2.) ความคืบหน้าการรับชำระเงินตามงวดรับชำระข้างต้น รายละเอียดของวัตถุประสงค์การใช้เงินที่แจ้งว่าเพื่อสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ความเห็นของคณะกรรมการ JKN ต่อวัตถุประสงค์การใช้เงินว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัทอย่างไร และมาตรการติดตามดูแลการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

3.) เหตุผลที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ ตลท.สอบถามไม่ตรงกับข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข้อมูลในสื่อต่างๆ ว่า JKN จะขายกิจการ MUO โดยเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 แจ้งว่าบริษัทคาดว่าจะมีข้อสรุปในเวลาต่อไป แต่วันถัดมาคือวันที่ 23 ม.ค. 67 บริษัทได้แจ้งว่า JKN Global Content ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกิจการดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 66
.
โดยก่อนหน้านี้ JKN ระบุว่า ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ได้ให้ความเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่บริษัทได้ดําเนินการทําธุรกรรมการขายและโอนหุ้นดังกล่าว บริษัทไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นของ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

- การขายและโอนหุ้นใน JKN Legacy ให้กับ JKN Global Content ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยบริษัทในสัดส่วน 100% ไม่ถือเป็นรายการได้มาหรือจําหน่ายไป เนื่องจากไม่ทําให้บริษัทได้มาหรือจําหน่ายออกไปซึ่งสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจําหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547

- ตามเอกสารระเบียบอํานาจอนุมัติรายการของบริษัท (ฉบับเริ่มใช้เมื่อช่วงปี 2561) ที่สํานักงานฯ ได้รับ การขายหุ้นที่บริษัทถือในบริษัทลูกและ/หรือบริษัทย่อยไม่จําเป็นต้องได้รับมติที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/29 ที่ระบุว่า การได้มาหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือบริษัทย่อย ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 

ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ซีอีโอ ของ JKN และคณะกรรมการบริหาร ยังอ่อนหัดกับการรับมือ และเชื่อมั่นในที่ปรึกษาที่อาจมีลีลาคล้ายศรีธนญชัยมากเกินไป วางใจให้คำปรึกษากับเคสดังระดับประเทศที่มีคนจับตามองแบบนี้ จึงเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ทำให้โดน ตลท. สั่งชี้แจงในความไม่ชอบมาพากล และอย่าคิดว่าจะทำเหมือนกรณี บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) มาปล้นกลางแดดกันง่าย ๆ สุดท้ายก็ไปไม่รอดขีดเส้นใต้ไว้ได้เลย

ส่วน คณะกรรมการบริษัท ที่เห็นชอบกับกฎบริษัทที่เขียนไว้แปลกๆ ว่า การจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นบริษัทในกลุ่มไม่ต้องขออนุมัติคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ทั้งที่จริง ตามกฎหมาย ต้องขอมติพิเศษจากผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน การที่สรุปออกมาแบบนี้ ถือว่าเร็วไปหน่อย ซึ่งกรรมการบริษัทอาจจะซวยเอาได้

ในมุมวิเคราะห์ของสื่อ จึงใคร่ขอเตือนสติกันอย่างตรงๆ ว่า ‘นักกฎหมายลีลาศรีธนญชัย’ นั้น อาจมีความเก่งกาจ จนไม่มีใครกล้าลอกเลียนแบบ เพราะอ่านและตีความกฎหมายด้านเดียว หาช่องให้คนหลงเชื่อ ซึ่งนักกฎหมายประเภทนี้น่าจะสูญพันธุ์ไปนานแล้ว ไม่คิดว่ายังมีเหลือให้ขำๆ เล่นในยุค 5G นี้อีก และเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ รอติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกได้เลย

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

‘กกพ.’ ยัน!! เชื้อเพลิงก๊าซฯ ยังสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่าน ในจังหวะพลังงานหมุนเวียนยังพึ่งพาไม่ได้ 100%

5 ก.พ. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100%  

แม้ภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตามในมิติด้านสังคมมองว่า ประเทศไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤตพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า

ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน การวางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว (Energy Transition) จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่รวดเร็ว (Disruptive Technology) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน

"อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม"

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนจะมีทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย 

-การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

-การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มา กที่สุดในราคาที่เหมาะสม

-การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่นๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย 

-การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

สำหรับความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป คือการสร้างความมั่นคงและความมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ 

และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) โดยมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และ เข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065 เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ (CBAM) เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top