‘ดร.สมคิด’ ชี้!! สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอ่อนแอ เพราะปมปัญหาทางการเมืองฝังลึก พร้อมฉุดทุกความเชื่อมั่น
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 ศาสตราจารย์ภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘จับชีพจรชีวิตประเทศไทย’ จากงานสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี 2567 โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อใหญ่ ‘ฝ่าเศรษฐกิจ ปีงูใหญ่ ชวนสร้างไทยให้ยั่งยืน’
โดยครั้งนี้ถือเป็นการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งกลางปี 66 ซึ่งช่วงหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษ ดร.สมคิด ได้พูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา ที่ถือว่าเป็นพระเอกของอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับเดินช้าและอ่อนแอลง เพราะปัญหาที่สะสมมานาน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด
“สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามากว่า 20 ปี และไม่ได้เติบโตเหมือนเดิมอีก เป็นปัญหาสั่งสมมายาวนาน วันนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ประเทศอื่นเติบโตเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือมาเลเซียก็สามารถที่จะกลับมาใช้นโยบาย Multi Corridor เดินหน้าเศรษฐกิจ ส่วนอินเดียนั้นมีประชากรและแรงงานมาก มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แต่ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด และประชากรลดลงเรื่อยๆ”
ดร.สมคิด ระบุอีกว่า หากดูตัวเลข GDP ย้อนหลังของไทย 20 ปี โตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลง โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดรัฐประหาร เจอวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประเมินตัวเลข GDP โต 1.8% สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ยุคเติบโตต่ำมาเรื่อยๆ 2% กว่า และในปีนี้ที่ผ่านมาก็ยังไม่รู้ว่าจะไปจบอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์
“ตัวเลขจาก กระทรวงการคลัง วางไว้ว่า 1.8% ซึ่งถ้าจีดีพีโต 1.8% คุณต้องเอาน้ำแข็งประคบหัวเลย เพราะโตต่ำมาก ไทยได้เข้าสู่ยุคของ Low Growth แทบจะ 20 ปีแล้ว ถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น เราไม่รู้ตัวเหรอ แต่จริงๆ ผมว่าเรารู้ตัวนะ”
เมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ? ดร.สมคิด กล่าวว่า ก็เพราะปัญหาการเมือง การแบ่งสี แบ่งค่าย มุ่งยึดฐานเสียง การออกนโยบายระยะสั้น เพื่อหาเสียง ไม่ได้กำหนดนโยบายระยะยาว และหลายเรื่อง รอการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทย ถือว่าเสียเวลาไปมาก และไม่ใช่ปัจจัยปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นปัญหาทางการเมือง รัฐบาลแต่ละช่วงเวลาอาจจะรู้ว่าต้องทำนโยบายอะไร แต่ว่าการเมืองไม่สนับสนุนให้ทำได้ เพราะการเมืองมุ่งแต่จะเอาชนะกัน แบ่งสี แบ่งค่าย เพื่อเอาฐานเสียงทุกรูปแบบ สุดท้ายก็นำไปสู่การหาเสบียง หาเงิน ดัชนีคอร์รัปชันก็เลยพุ่งสูง เปิดโอกาสให้ทุนทางการเมืองเข้ามากลายเป็นรูปแบบธุรกิจ นโยบายจึงออกมาเป็นควิกวิน (Quick Win) ระยะสั้น ไม่สามารถทำนโยบายระยะยาวได้ เรื่องที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ กฎหมายสำคัญๆ ที่จะออกจากสภาฯ ก็ไม่ทำ การเมืองก็ใช้วิธีการปรองดองกันเพื่อผลประโยชน์เท่าที่ทำได้”
เมื่อพูดถึงนโยบายระยะยาว? ดร.สมคิด ให้มุมมองว่า รัฐบาลต้องหันกลับมามองการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ รวมไปถึงต้องกลับมาโฟกัสการลงทุนขนาดใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เดินหน้า หากของเก่ายังทำไม่ได้ แลนด์บริจด์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็อาจจะไปไม่รอด
“ถ้าโครงการอีอีซีเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่ต้องหวังอะไรกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะความเชื่อมั่นไม่เหลืออยู่แล้ว” ดร.สมคิด กล่าวและเสริมอีกว่า “วันนี้ไทยจึงต้องเร่งฟื้นฟู ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ และความเชื่อถือ ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งฟื้นหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไปต่อยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นตก เศรษฐกิจถดถอย ไม่ใช่ปัจจัยอื่น หากยังไม่ช่วยกันแก้ไข ก็จะพาประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงที่เรารู้แน่นอนว่าเราจะเดินไปสู่อะไร ตรงนี้ต้องคิดกันให้ดี”
เมื่อพูดถึงข้อแนะนำที่จะทำให้ตัวเลข GDP โตขึ้นได้ ต้องโฟกัสที่จุดใดเป็นสำคัญ? ดร.สมคิด แนะว่า หากจะให้ตัวเลข GDP โตขึ้น ต้องเร่งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเครื่องยนต์เดิมที่ใช้เก่าแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงหลักที่จะมีโอกาสฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยต้องรับมืออย่างไร? ดร.สมคิด เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาโลกได้ผ่านสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมากมาย ทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก การทำนายอนาคตให้แม่นยำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังต้องมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจแล้ว 2 ครั้งซึ่งบ่งบอกว่าความไม่แน่นอนมีสูงมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งบริษัท องค์กรเอกชนจะต้องเผชิญ คือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือภาวะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวที่ 3.1% ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยในรอบหลายปีซึ่งค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นอยู่ที่ประมาณ 3.8%
เศรษฐกิจในภาพรวมเหมือนจะฟื้นตัวและมีปัจจัยบวกรออยู่ เช่น เศรษฐกิจจีนที่จะขยายตัวได้เพิ่มเติมที่ประมาณ 4.5% เศรษฐกิจญี่ปุ่นและอินเดียฟื้นตัวและเติบโตได้ดี โดยสาเหตุที่ IMF คาดการณ์จีดีพีโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ควร มาจากความเสี่ยงหลักในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงระดับสูงสุด (Top Risk) ของโลกในปัจจุบัน
ยิ่งไปกว่านั้น หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้งจะมีความเสี่ยงต่อเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่น นโยบายที่ทรัมป์จะหยุดสงครามยูเครนภายใน 1 วัน โดยการไปผูกไมตรีกับรัสเซีย หรือทรัมป์อาจประกาศให้อเมริกาถอนตัวจากสมาชิกป้องกันภัยแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งก็จะทำให้ NATO อ่อนแอลงไปได้ ขณะที่การกลับมาของทรัมป์จะทำให้จีนและสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมรับมือให้ดี
“การจะพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไทย จะต้องมองภาพรวมเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆ กันในสถานการณ์ที่ทั่วโลกมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการรักษาสมดุลความสัมพันธ์ ระหว่าง ‘จีน’ กับ ‘สหรัฐฯ’ ให้ดี” ดร.สมคิด ฝากทิ้งท้าย
ที่มา : https://fb.watch/pYxCt4MA2r/