Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

'รมว.ปุ้ย' สวมหมวก 'กรรมการสภานโยบายฯ' ขับเคลื่อนผลึก 'วิจัย-นวัตกรรม' เพื่อชาติ

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา แนวทางการขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา กรณีครบวาระการดำรงตำแหน่ง หลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่สามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 

การแต่งตั้งประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กรรมการผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ (ร่าง) ระเบียบสภานโยบาย ว่าด้วยการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ….

"ปัจจุบันหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยตำแหน่งแล้วต้องมีหน้าที่ราชการที่ไม่ใช่เฉพาะการบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่กรรมการในองค์กรสำคัญของประเทศไทย อีกหลายหน้าที่ด้วยเช่นกัน...

"โดยในส่วนของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภานโยบายแล้วนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีหน้าที่เป็นกรรมการ ในกรอบหน้าที่เพื่อมุ่งพัฒนาการอุดมศึกษา ค้นคว้าสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยด้วย...

"ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมุ่งหวังที่จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านการวิจัย และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ โดยมิได้ผูกหรือยึดติดอยู่กับวิธีการ กระบวนการ แบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว เนื่องจากทุกประเทศมีการแข่งขันพัฒนาองค์ความรู้ เร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ว่ากันอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างมากในทุกมิติไม่มีสิ้นสุด ภายใต้ 'ผลึกสำคัญ' ของการวิจัย องค์ความรู้ การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะต้องถูกพัฒนาที่นำไปสู่การใช้ได้จริง ไม่ใช่เฉพาะงานวิจัยอยู่ในเอกสาร เพื่อสร้างประโยชน์ในเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย อันจะก่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่แก่คนไทยต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘มาคาเลียส’ จัดโปรฯ ‘Makalius Early Bird’ ลดค่าที่พัก-ที่เที่ยวสูงสุด 50% เริ่ม 31 ม.ค.นี้

(30 ม.ค. 67) มาคาเลียส แหล่งรวมอี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย จัดหนักเอาใจเหล่าทราเวลเลอร์ต้อนรับต้นปีกับโปรโมชั่น ‘Makalius Early Bird’ ที่พักที่เที่ยวลดสุงสุด 50% ฉลองปีใหม่ยาว ๆ ได้แก่ 

-IP Plus Pool Villa Pattaya พัทยา พูลวิลล่าสไตล์บาหลี พร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัว จากราคา 1,999 บาท/คืน ลดเหลือ 999 บาท/คืน 
-Espana Resort Pattaya Jomtien พัทยา จากราคา 1,219 บาท/คืน ลดเหลือ 609 บาท/คืน 

-Hotel Kuretakeso Thailand Sriracha ที่พักสไตล์ณี่ปุ่น จากราคา 2,199 บาท/คืน ลดเหลือ 1,099 บาท/คืน 

-บัตรสวนน้ำ Vana nava หัวหิน จากราคา 1,190 บาท/ท่าน ลดเหลือ 595 บาท/ท่าน 

-Beach Walk Boutique Resort ที่พักติดทะเลบางแสน จากราคา 3,799 บาท/คืน ลดเหลือ 1,899 บาท/คืน

ด่วน!!! วอร์เชอร์มีจำนวนจำกัด จองก่อนรับสิทธิ์ก่อนเฉพาะที่มาคาเลียสเท่านั้น (www.makalius.co.th) เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2024 หรือจนครบสิทธิ์ตามจำนวน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. 02 821 5215 หรือ Line Official @makalius

การประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ที่ ณ ประเทศไทย 500 บุคลากรระดับหัวกะทิ ร่วมถก 'นวัตกรรม-วิจัย' เพื่ออนาคตคึกคัก

ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 ( The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงเทพมหานคร คาดมีสมาชิกเครือข่าย APAN, องค์กรตัวแทนของสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, นักวิชาการ  และนักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ กว่า 500 คน เข้าร่วมประชุม

(30 ม.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 (The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57) พร้อมกล่าวว่า ประเทศไทย โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือ UniNet สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 57 หรือ The Asia-Pacific Advanced Network : APAN 57 ภายใต้หัวข้อ Towards a Sustainable Future ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประเทศเจ้าภาพ ในปี ค.ศ. 2024 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ นี้ 

ทั้งนี้ APAN เป็นเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาแห่งชาติทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เป็นพื้นฐานในการให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายความเร็วสูงทั้งในและต่างประเทศ โดยร่วมกันพัฒนาเครือข่าย ส่งเสริมการใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่ออย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตัวแทนของผลประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไรของเครือข่ายการวิจัยและการศึกษาในประเทศเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิก 

สำหรับ การประชุม APAN ในครั้งนี้ มีบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในทุกศาสตร์ ทุกสาขาอาชีพ มารวมตัวกันจากการจัดในประเทศไทยกว่า 500 คน เพื่อร่วมกันแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ก้าวหน้า โดยเน้นความเป็นเลิศในเครือข่ายขั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาวิจัย เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกันจากทุกศาสตร์ในหมู่ประเทศสมาชิกทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยรุ่นเยาว์ใน APAN ได้มีโอกาสนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยในทุกศาสตร์

“การประชุมตลอด 5 วันนี้ ท่านจะได้พบกับการประชุมวิชาการในระดับ Technical Program การสัมมนา Workshops การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่มากกว่า 15 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายจากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ นำเสนอแนวคิดเจาะลึกในประเด็นเฉพาะด้าน เกี่ยวกับเครือข่ายกิจกรรมด้านวิชาการและสังคม เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมมือในการพัฒนาระหว่างกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากการประชุมในครั้งนี้ตามที่คาดหวัง” 

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทย มีนโยบายที่จะกระตุ้นและสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่คนไทย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งด้านทำให้เกิดความเจริญขึ้นหรือความเสื่อมถอย ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องรู้เท่าทันและปรับวิธีคิดตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ในมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทางเศรษฐกิจและสังคม เครือข่าย APAN จึงได้มีส่วนในการเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ผลักดันให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามนโยบายนี้

อนึ่งการประชุมเครือข่ายขั้นสูงแห่งเอเชียแปซิฟิก จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยในครั้งที่ 1 คือ APAN 13 จัดขึ้นที่ภูเก็ต เมื่อปี 2002, ครั้งที่ 2 APAN 19 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2005, ครั้งที่ 3 APAN 33 จัดขึ้นที่เชียงใหม่ ปี 2012 และล่าสุด ครั้งที่ 4 APAN 57 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมอิสติน แกรนด์ พญาไท 

'รมว.ปุ้ย' แจ้งข่าวดี!! 'รัสเซีย' ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย ยกระดับมาตรฐาน 'ส่งออก-นำเข้าสินค้า' ระหว่างไทย–รัสเซีย

(31 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบหารือกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่ประเทศจีน เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน โดยรัสเซียต้องการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านต่างๆ ทั้งพลังงาน การเงิน เทคโนโลยีดิจิทัล เคมีภัณฑ์ และการเกษตร 

สำหรับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของรัสเซีย เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ Start Up และ SMEs อำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย กับเขตประกอบการ Far East ของรัสเซีย ส่งเสริมให้เกิดการประชุม สัมมนา ระหว่างภาคธุรกิจไทยกับรัสเซีย แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละฝ่าย จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ MoU ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ล่าสุดคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย (The Trade Representation of the Russian Federation in the Kingdom of Thailand) ได้เข้าหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อรับทราบข้อมูล มาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าที่ สมอ. ควบคุมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 รายการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 37 ของไทย และอันดับที่ 1 ในสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน) มีการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มากเป็นอันดับ 1 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 30 - 40 รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตรและอาหาร แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ เช่น ถุงมือยางและถุงยางอนามัย เป็นต้น 

ทั้งนี้ ในปี 2566 ประเทศไทยกับรัสเซียมีมูลค่าการค้ารวม 53,441.29 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าไปรัสเซียมีมูลค่า 29,227.50 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากรัสเซียมีมูลค่า 24,213.79 ล้านบาท มีดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุลอยู่ที่ 5,013.72 ล้านบาท

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนข้อมูลทางเศรษฐกิจไทย-รัสเซีย และกิจกรรมความร่วมมือด้านมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของรัสเซีย ส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทย - รัสเซีย ได้เข้าหารือกับ สมอ. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย

โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม อาทิ สินค้ากลุ่มเหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องดับเพลิง ของเล่น และหมวกกันน็อก เป็นต้น โดยรัสเซียให้ความสนใจในการนำผลิตภัณฑ์เหล็กเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น 

การประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความร่วมมือระหว่าง สมอ. กับคณะผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำราชอาณาจักรไทย ในการเผยแพร่ข้อมูลมาตรฐานของ สมอ. รวมถึงการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย เพื่อขยายความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือและข้อตกลงการค้าเสรีในระบบพหุภาคีและทวิภาคี โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการนำเข้าให้แก่ประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย 

เอกชนญี่ปุ่น สนลงทุน BCG ใน ‘อีอีซี’ หนุนพัฒนา ‘เมืองน่าอยู่-พลังงานสะอาด’

(31 ม.ค. 67) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้นำคณะจากอีอีซี เยือนเมืองนาโกย่า และเมืองโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น ช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ดร.สุวิทย์ ธนณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร. นลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อชักจูงภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ร่วมลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานใหม่แห่งอนาคตภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นการลงทุนสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนให้พื้นที่อีอีซี และประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้พบกับ Mr. Yasuhiko Yamazaki, Executive Vice President และผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัท DENSO Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก และได้พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่อเนื่อง โดยหารือถึงโอกาสการขยายลงทุนจากบริษัทฯ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด และอีอีซี ได้นำเสนอถึงความก้าวหน้าของอีอีซี สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจการลงทุนดังกล่าวมายังประเทศไทย รวมทั้งเข้าพบผู้บริหาร บริษัท Toyota Motor Corporation เพื่อศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รูปแบบแบตเตอรี่ ไฮบริด และไฮโดรเจน ณ พิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan Museum พร้อมเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจน ที่ Toyota Eco ful Town ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้หารือถึงแนวทางการขยายผลนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ภาคขนส่งในพื้นที่อีอีซี 

นอกจากนี้ ยังได้พบกับ Mr. Yoshihiro Miwa กงศุลใหญ่กิตติมศักดิ์ เมืองนาโกย่า และผู้บริหารระดับสูงบริษัท Kowa ซึ่งสนใจจะลงทุนผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น โดยได้หารือถึงการขยายลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฮโดรเจน ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้การลงทุน BCG รวมทั้งคณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Hideyuki Yokoyama นายกเทศมนตรีนครโอซากา โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างเมือง (City-to-City) รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงธุรกิจ ร่วมกับเทศบาลนครโอซากา และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา (OCCI) เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการอีอีซี ตลอดจนสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG ให้แก่กลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งคณะฯ ยังได้เข้าหารือกับ Mr. Junichi Ohmori, Executive Officer และคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Daikin Industries ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศอันดับ 1 ของโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการ สิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือถึงโอกาสการขยายการลงทุนของบริษัทฯ มายังพื้นที่อีอีซีต่อไป

ดร.จุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยือนประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ อีอีซี ยังได้ร่วมกับธนาคาร Mizuho Bank จัดงานประชุมสัมมนารับฟังความเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ณ อาคาร Mizuho Bank Marunouchi Head Office กรุงโตเกียว โดยเป็นการพบปะนักลงทุนต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังจากโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงเป้าหมายการเป็นเมืองธุรกิจคู่กรุงเทพฯ (EEC Capital City) และเมืองน่าอยู่ระดับสากล รวมถึงการให้ข้อมูลกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในพื้นที่โครงการฯ โดยมีกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบบสาธารณูปโภค ธุรกิจการเงิน และเทคโนโลยี ให้ความสนใจ อาทิ Ministry of Land, Infrastructure, Transportation and Tourism (MLIT), Urban Renaissance Agency (UR), บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น, Tokyo Corporation และบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 39 หน่วยงาน 

สำหรับ ภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 2561 – พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่า 183,702 ล้านบาท 

ทั้งนี้ อีอีซี ได้กำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 3 ปี (ปี 2567 - 2569) ให้เกิดมูลค่าการลงทุนจริง ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประมาณ 4 แสนล้านบาท 

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

‘ล็อกซเล่ย์’ ผนึก ‘AEL’ เปลี่ยน ‘เศษอาหาร’ เป็นพลังงาน หวังลดการสูญเสียทรัพยากร - ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(31 ม.ค.67) นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน ‘Thai-Hong Kong Business Forum’ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษ เผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่างๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ แนะ!! รัฐวิสาหกิจเร่งการลงทุน  คาดมีเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน กระตุ้น ศก.ได้มาก

(31 ม.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีสัดส่วนการลงทุนมาก โดยงบประมาณปี 2567 มีความล่าช้า แต่ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจช่วยเร่งในเรื่องของงบลงทุนและการใช้จ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ให้ลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ เรื่องกีฬา ให้ทุกรัฐวิสาหกิจเข้าไปช่วยเรื่องการเงินหรือการบริหารจัดการในแต่ละสมาคมกีฬา ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสนับสนุนอย่างไรบ้าง? นายกฤษฎากล่าวว่า “งบลงทุนให้เร่งลงทุนตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ ซึ่งบางรัฐวิสาหกิจจะเป็นปีงบประมาณแบบรัฐบาล บางรัฐวิสาหกิจเป็นปีปฏิทิน จะช่วยได้ในช่วงเวลาที่เงินลงทุนของรัฐยังไม่ได้ลงไป จะช่วยได้ในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ซึ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เงินงบลงทุนปี 2567 ก็เริ่มลงทุนได้แล้ว วันนี้กรมบัญชีกลาง ได้ผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบการใช้จ่ายเงินงบลงทุน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น และมีขั้นตอนต่าง ๆ ให้สั้นลง คาดการณ์ว่า ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 อาจมีเม็ดเงินงบลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และไตรมาสหลังจะมีเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อถามถึงความคืบหน้าโครงการพักหนี้นอกระบบ หลังเริ่มลงทะเบียน? นายกฤษฎา กล่าวว่า “กระทรวงมหาดไทย รายงานผลอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี จึงอยากเชิญชวนคนที่มีหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อรับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง ย้ำว่า โครงการพักหนี้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกรหรือเอสเอ็มอี หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด และเริ่มทำธุรกิจ ถือเป็นโครงการที่ดีในการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอี”

‘กบน.’ เห็นชอบใช้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาเบนซิน 1 บาท/ลิตร

(31 ม.ค.67) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบน. มีมติเห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสนับสนุนผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน 1 บาท/ลิตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนหลังสิ้นสุดมาตรการลดการจัดเก็บภาษีกรมสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซิน 1 บาท เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยราคาน้ำมันเบนซินวันที่ 1-30 มกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 95.72 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติภารกิจให้เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานยังมีความผันผวน

ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 28 มกราคม 2567 ติดลบ 84,349 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,875 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 46,474 ล้านบาท 

'กนอ.' พิสูจน์ชัด 'นโยบายธงขาวดาวเขียว' เป็นไปตามเป้า หลังคว้ารัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมฯ ปี 66 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1 ก.พ.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิด 'รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES' โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ที่ กนอ. ได้รับเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) ด้วย

"ผมรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงาน กนอ. ทุกคน เพราะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ ด้วยความจริงใจมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคร. และเชื่อมั่นว่าชาว กนอ. จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป" นายวีริศ กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top