Tuesday, 1 July 2025
Econbiz

‘พีระพันธุ์’ เคาะมติ กบง. ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม 423 บาท/ถัง 15 กก. ถึง 30 ก.ย. 68

เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 1/2568 เพื่อพิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โดยประชุมได้มีมติเห็นชอบให้คงราคาขายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG หน้าโรงกลั่นที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้เพื่อให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับ ถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ประมาณ 423 บาท โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2568 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) บริหารจัดการเงินกองทุนให้สอดคล้องกับแนวทางการดูแลราคาก๊าซ LPG ต่อไป

ทั้งนี้  นับตั้งแต่ที่นายพีระพันธุ์เข้ามารับหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศยังคงตรึงราคาเดิมมาตลอดเพื่อไม่ให้เป็นภาระเพิ่มขึ้นของประชาชน

‘บีโอไอ’ เคาะ!! มาตรการหนุน Local Content ประเดิม!! กลุ่มอุตสาหกรรม EV และเครื่องใช้ไฟฟ้า

(28 มิ.ย. 68) บอร์ดบีโอไอ หนุนผู้ประกอบการไทย เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) จับมือ ส.อ.ท. สนับสนุนสินค้า Made in Thailand กำหนดสัดส่วนร้อยละ 40 สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและ BEV ร้อยละ 45 สำหรับ PHEV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 15 ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain โลก พร้อมเดินหน้าตั้ง 'ทีมตรวจสอบพิเศษ' เร่งตรวจกลุ่มอุตสาหกรรมเสี่ยง พร้อมอนุมัติส่งเสริมลงทุน 2 โครงการ มูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content)” เพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าซื้อวัตถุดิบในประเทศมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Supply Chain ระดับโลก โดยมาตรการนี้ ถือเป็นหนึ่งในชุดมาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการปกป้องอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบาง รักษาระดับการแข่งขันให้เหมาะสม พร้อมลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งก่อน ได้ออกมาตรการต่างๆ แล้ว ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

2. การงดส่งเสริมกิจการที่มีภาวะสินค้าล้นตลาด (Oversupply) เช่น เหล็กทรงยาว เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็ก และกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ เช่น การผลิตแผงโซลาร์

3. การเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของโครงการที่จะขอรับการส่งเสริม เพื่อป้องกันการสวมสิทธิและให้มีมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

4. การกำหนดสัดส่วนการจ้างงานบุคลากรไทยมากกว่าร้อยละ 70 ในกิจการผลิต และกำหนดเงื่อนไขเงินเดือนขั้นต่ำ 50,000-150,000 บาท สำหรับบุคลากรต่างชาติ เพื่อคัดกรองเฉพาะต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญสูง  

หนุนใช้วัตถุดิบในประเทศ MiT สำหรับ “มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย” (Local Content) ที่บอร์ดบีโอไอ ได้เห็นชอบเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะใช้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า BEV, PHEV, ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดสัดส่วน ดังนี้ หากโครงการยานยนต์ไฟฟ้า BEV และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 40, PHEV ที่มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 45 และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 2 ปี 

“ที่ผ่านมา บีโอไอได้สนับสนุนให้บริษัทที่เข้ามาลงทุนใช้ชิ้นส่วนจากผู้ประกอบการในประเทศผ่านการจัดกิจกรรม Subcon Thailand และ Sourcing Day อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตจากต่างประเทศเริ่มมีการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น แต่เพื่อเร่งรัดให้เกิดการใช้ Local Content สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า บีโอไอจึงได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ สถาบันยานยนต์ และสถาบันไฟฟ้าฯ เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการใช้ Local Content ที่จะช่วยกระตุ้นให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศตามที่บอร์ดบีโอไอกำหนด จึงจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ กระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านเม็ดเงินลงทุน การจ้างงาน การส่งออก การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนในประเทศ โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2568 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมทั้งสิ้น 65 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 96,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีจำนวน 68 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 96,800 ล้านบาท

คุมเข้มกิจการเสี่ยง - ตรวจสอบเข้มข้น ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาปรับปรุงประเภทกิจการเพิ่มเติม เพื่อปรับสมดุลการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและไทย และลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน การผลิตกระเป๋า และการผลิตสิ่งพิมพ์ ต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ยกเว้นโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ทั้งนี้ กิจการที่อาจมีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น กิจการรีด ดึง หล่อ หรือทุบโลหะ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมและชิ้นส่วน มีการปรับปรุงเงื่อนไข โดยจะงดให้สิทธิถือครองที่ดินเพื่อประกอบการ เพื่อให้กิจการเหล่านี้ต้องตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและได้รับการกำกับดูแลที่รัดกุมมากขึ้น โดยให้มีผลสำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2568 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ บีโอไอได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโครงการที่ได้รับการส่งเสริม โดยจัดตั้ง 'ทีมตรวจสอบพิเศษ' เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมที่มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบัตรส่งเสริม หรือมีการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด โดยอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ การผลิตยางล้อ เซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน กระเป๋า และเฟอร์นิเจอร์ 

“บีโอไอจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อสนับสนุนการติดตามและตรวจสอบโครงการที่ได้รับการส่งเสริม ทั้งระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ Traffy Fondue และระบบ Social Listening รวมถึงการนำระบบ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงาน และการประเมินความเสี่ยงในการทำผิดเงื่อนไข เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงาน และเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการตรวจสอบข้อสงสัยและข้อร้องเรียนต่าง ๆ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที” นายนฤตม์ กล่าว

อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 2.8 หมื่นล้าน

ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติส่งเสริมลงทุน 2 โครงการใหญ่ รวมมูลค่า 28,644 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ Data Center ของบริษัท สตราตัส เทคโนโลยี จำกัด มูลค่าลงทุน 23,688 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จังหวัดระยอง ให้บริการ Data Center ระดับ Tier 3 รองรับกำลังผลิตไฟฟ้า 203 เมกะวัตต์ 

อีกโครงการเป็นกิจการขนส่งทางอากาศ ของบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด มูลค่าลงทุน 4,956 ล้านบาท ให้บริการขนส่งทางอากาศสำหรับเส้นทางทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เครื่องบินโดยสารใหม่ จำนวน 6 ลำ ขนาดบริการรวม 1,134 ที่นั่ง ทั้งนี้ เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจท่องเที่ยว ขนส่ง และบริการต่าง ๆ ที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต

‘วัน แชมเปียนชิพ’ ย้ายศูนย์กลางการผลิตสู่กรุงเทพฯ หลังสร้างมูลค่าทางศก.ในไทยกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

วัน แชมเปียนชิพ™ (ONE) องค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศย้ายศูนย์กลางการผลิตจากสิงคโปร์มายังกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อรวมศูนย์การผลิต และสนับสนุนการดำเนินงานด้านคอนเทนต์ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานของ ONE เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดรายการ ONE ลุมพินี ณ สนามมวยเวทีลุมพินีทุกสัปดาห์ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกถึง 195 ประเทศ ในช่วงไพรม์ไทม์ของเอเชีย ด้วยขนาดและความสม่ำเสมอของอีเวนต์นี้ การรวมฐานการผลิตทั้งหมดไว้ที่ประเทศไทยจึงถือเป็นก้าวสำคัญและมีความเหมาะสมในเชิงปฏิบัติการ

นอกจากนี้บริษัทยังได้มีการนำเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้กับระบบการผลิตคอนเทนต์ระดับโลกในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ พร้อมกับทำให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

นายชาตรี ศิษย์ยอดธง ประธานและซีอีโอของ ONE กล่าวว่า “ตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตคอนเทนต์ระดับโลกของเรา เมื่อเราขยายการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถรวมศูนย์การผลิตและพัฒนาการประสานงานได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถด้านการผลิตอีเวนต์และคอนเทนต์ของเราต่อไป”

ผลการศึกษาล่าสุดจาก Nielsen รายงานว่า ONE มีส่วนสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยกว่า 470 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งตอกย้ำถึงคุณค่ามหาศาลในภาพรวมของอีเวนต์ ที่มีต่อภาคกีฬาและการท่องเที่ยวของประเทศ

ทั้งนี้ สิงคโปร์จะยังคงเป็นสำนักงานใหญ่ของ ONE ตามเดิม ในฐานะที่ตั้งของฝ่ายบริหารระดับสูง, ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ และฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงมีสถานะทางนิติบุคคลในหมู่เกาะเคย์แมน ซึ่งเป็นสถานที่ที่บริษัทย้ายที่จดทะเบียนไปเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนด้านเงินทุนระยะยาว และการจัดโครงสร้างองค์กรโดยรวม

“นี่เป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาในฐานะองค์กรสื่อกีฬาชั้นนำระดับโลก เรายังคงยึดถือในความมุ่งมั่นที่มีต่อสิงคโปร์ ไปพร้อม ๆ กับการจัดสรรทรัพยากรไปยังสถานที่ที่มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานมากที่สุด”

ONE ยังคงมุ่งเน้นการสร้างแพลตฟอร์มสื่อกีฬาระดับโลก โดยมีกรุงเทพฯ ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการส่งมอบคอนเทนต์สู่ผู้ชมทั่วโลกนับจากนี้

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าจัดการ ‘ซิน เคอ หยวน’ ต่อ แม้ผลสอบตึก สตง.ถล่ม ระบุไม่เกี่ยวกับเหล็ก

วันนี้ (30 มิ.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กถึงกรณีผลตรวจตึก สตง.ของกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า ไม่ว่า ‘เหล็กตํ่ามาตรฐาน’ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตึกถล่มลงมาหรือไม่ก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของประชาชนคนไทย

ซึ่งผมได้ดำเนินการตรวจสอบ จัดการกับผู้ผลิตเหล็กที่ตัวโรงงานและผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานมาตั้งแต่ ธ.ค. 2567 เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าตรวจและปิด บริษัท BNSS สตีล กรุ๊ป ต่อด้วย บริษัท ซิน เคอ หยวน และบริษัทอื่นๆตามมาอีกรวม 10 บริษัท

กรณี บริษัท ซิน เคอ หยวน ที่ผลิตเหล็กไปใช้ในตึกสตง.นั้น จนถึงปัจจุบันโรงงานก็ยังปิด การผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานถูกส่งให้ DSI ดำเนินคดี

ต่อจากนั้น ซิน เคอ หยวน ก็ถูกเพิกถอน BOI และ ดำเนินคดีในเรื่องอื่นๆที่สำคัญไม่น้อยกว่าตัวเหล็ก เช่น เรื่องฝุ่น ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดตั้งข้อหากับ ซิน เคอ หยวน และบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้ DSI ดำเนินคดี ทั้งหมด 1,016 ข้อหา 

ผมและทีม #สุดซอย ไม่หวั่นไหว ยึดหลักการบังคับใช้กฎหมายไทย เพื่อรักษามาตรฐาน ผดุงความเชื่อมั่น เซฟอุตสาหกรรมเหล็ก และชีวิตประชาชนให้ปลอดภัยเป็นสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top