Tuesday, 1 July 2025
Econbiz

กรมธุรกิจพลังงาน ตุนสต็อกน้ำมันเพียงพอ 60 วัน ยันพร้อมรับมือสงครามตะวันออกกลาง

กรมธุรกิจพลังงานเตรียมพร้อมรับมือสงครามตะวันออกกลาง ย้ำไทยมีปริมาณสำรองน้ำมัน ในสต็อกเพียงพอใช้ได้ 60 วัน ขอประชาชนไม่ต้องกังวล 

(13 มิ.ย. 68) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า หลังเกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะสถานการณ์การโจมตีเป้าหมายทางทหารและโครงการเกี่ยวกับนิวเคลียร์ในอิหร่าน โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกน้ำมันจากพื้นที่ตะวันออกกลางมายังประเทศไทย กรมธุรกิจพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อม หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศอย่างแน่นอน

ปัจจุบันมีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,104 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 23 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,597 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 20 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 1,886 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 17 วัน รวมปริมาณน้ำมันคงเหลือที่สามารถใช้ได้ 60 วัน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล และขอให้ติดตามข่าวสารที่เป็นทางการจากทางราชการ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน จะบริหารจัดการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด

‘คิงเพาเวอร์’ อ้างโควิด เศรษฐกิจแย่ นทท. จีนหาย ขอยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรีดอนเมือง-ภูเก็ต-เชียงใหม่

‘คิงเพาเวอร์’ ยื่นหนังสือถึงทอท. ขอยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรี สนามบินดอนเมือง-ภูเก็ต-เชียงใหม่ อ้างผลกระทบโควิด เศรษฐกิจตกต่ำ สงคราม กำแพงภาษี รัฐขาดมาตรการเชิงรุกทำนักท่องเที่ยวจีนหาย รวมถึงขอคืนพื้นที่ทำยอดขายลด ขาดทุน จ่ายผลตอบแทนที่กำหนดสูงเกินไปไม่ไหว ชี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้เกิดจากบริษัทฯ จี้เจรจายุติใน 45 วัน

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. โดยขอหารือแนวทางในการพิจารณายกเลิกสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งบ.คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับสัญญาประกอบกิจการ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2576 นับจากสถานการณ์โควิด-19 ทอท.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ เป็นผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing Per Head) จำนวน 127.30 บาท โดยเรียกเก็บจากผู้โดยสารขาออกผู้โดยสารผ่านและผู้โดยสารขาเข้า ผลกระทบโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ก็มีเหตุสงครามในหลายภูมิภาค สงครามการค้า และการกีดกันทางการค้า กำแพงภาษี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้โดยสารจีนที่มีกำลังซื้อสูงลดลง ทำให้ยอดขายลดลง

โดยบริษัทฯ อ้างสาเหตุถึง 7 ประเด็น ที่เป็นเหตุสุดวิสัย ส่งผลต่อยอดจำหน่ายและการประกอบการของบริษัทฯ และส่งผลทำให้ค่าตอบแทนที่บริษัทฯต้องชำระให้แก่ทอท.อยู่ในเกณฑ์ที่สูงผิดปกติกว่าที่ควรจะเป็นและที่ได้เสนอไว้ ซึ่งผลกระทบต่างๆ เป็นผลให้บริษัทฯ ประสบกับภาวะขาดทุนจากแบกรับภาระ อัตราค่าตอบแทนที่สูงผิดปกติและไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์จนส่งผลให้บริษัทฯ มีความจำเป็นที่ต้องเลื่อนชำระค่าภาระต่าง ๆ มาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์อันส่งผลกระทบเหล่านั้นเป็นเหตุสุดวิสัยอันมิได้เกิดจากการกระทำหรือความผิดจากบริษัทฯ แต่ประการใดทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกัน ทอท. กลับพิจารณาและดำเนินการตามที่ ทอท.เห็นสมควรเพียงลำพังและเป็นประโยชน์แก่ ทอท. เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้หารือบริษัทฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อทั้งสองฝ่าย หรือมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกันกับบริษัทฯ ที่มีมากกว่าผลกระทบด้านค่าตอบแทน

ดังนั้น ด้วยเหตุต่าง ๆ ที่ยังไม่คลี่คลายในขณะนี้ และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ รวมถึงความไม่มั่นใจในการให้ความเป็นธรรมต่อคู่สัญญาของ ทอท. บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะร้องขอให้เกิดการหารือเพื่อหาแนวทางและข้อยุติอื่นๆ รวมถึงแนวทางในการพิจารณายกเลิกสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติภายใน 45 วัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ ในระหว่างการพิจารณาของ ทอท. บริษัทฯ ขอนำส่งค่าตอบแทนตามสัญญาประมูลในอัตราร้อยละ 20 ของยอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในแต่ละเดือน ซึ่งภายหลังสิ้นเดือน เมื่อทราบยอดจำหน่าย บริษัทฯ จะคำนวณค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 20 และชำระค่าตอบแทนดังกล่าวภายในวันสุดท้ายของเดือนถัดไป โดยเริ่มจากยอดจำหน่ายเดือนกรกฎาคม 2568 (เนื่องจาก บริษัทฯ ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมเวลาชำระเงินสำหรับค่าตอบแทนขั้นต่ำ เดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนมิถุนายน 2568) ซึ่งจะทราบยอดจำหน่ายภายหลังสิ้นเดือนกรกฎาคม 2568 และจะชำระค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 20ให้แก่ ทอท. ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2568 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องชำระค่าตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งเดิมบริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ ทอท. ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 และขอให้ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระ โดยขอให้แนวทางการนำส่งค่าตอบแทนข้างต้นมีผลต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้ข้อยุติจากการเจรจา

สำหรับสถานการณ์ที่ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ระบุเป็นเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยมิได้เกิดจากการกระทำของบริษัทฯ โดยเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบการและปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้ได้ ดังนี้

1. การหยุดดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าจากนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 กระทบต่อวิธีการคำนวณจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ลดลงจากการหยุดประกอบการร้านค้าปลอดภาษีขาเข้าอย่างไม่เป็นธรรม และแตกต่างจากเจตนาของ TOR และสัญญาฯอย่างมีนัยสำคัญ

2. การลดภาษีสินค้าประเภทไวน์อันส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายภายในร้านค้าปลอดอากร ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ.2530 (ฉบับที่ 7 ) ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ยกเว้นอากรสินค้าไวน์ที่ระบุไว้ในประกาศฯ (จากเดิมอัตราอากรอยู่ที่ร้อนยละ 60) ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่าย

3. การขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของทอท. บางส่วน(เนื้อที่ประมาณ 491.220 ตารางเมตร) ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งทอท.ใช้วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ต้องชำระให้แก่ทอท.ที่ปรับลดลงตามสัดส่วนของพื้นที่ขอคืนมีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าลดลง

4. การขาดมาตรการเชิงรุกของภาครัฐในการบริหารจัดการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้การลดลงของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยสูงสุด

5. สถานการณ์ภายในประเทศอันส่งผลทางลบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนผู้โดยสาร เช่น การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ การปิดตัวของบริษัทในหลายอุตสาหกรรม อาชญากรรมทางไซเบอร์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) หรือการถล่มของตึก สตง.จากแผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศ

6. สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังมีผลกระทบต่อธุรกิจ

7. สถานการณ์สงครามและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ บริษัทฯอ้างสัญญาข้อ 7.9 ระบุว่า ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องหรือมีเหตุจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากความผิดของคู่สัญญาฝ่ายใด คู่สัญญาจะเจรจาเพื่อหาทางแก้ไข

ข้อ7.7 ในกรณีที่ข้อกำหนดของสัญญาข้อใดข้อหนึ่งตกเป็นโมฆะไม่สมบูรณ์ หรือใช้บังคับไม่ได้ตามกฎหมาย คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงในข้อกำหนดอื่นยังมีผลบังคับกันได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสัญญาที่มีผลในทางพาณิชย์

ข้อ7.5 ภายใต้บังคับของกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับทอท. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญานี้ไม่อาจทำได้ เว้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะได้ทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา

ทอท.ทำสัญญากับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด สำหรับกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ สัญญาที่ ทอท.DF-1-02/2562 ลงวันที่ 4 ก.ค. 2562 มีอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 2,331 ล้านบาท ต่อมาแก้ไขสัญญา 2 ครั้ง คือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ล่าสุดปรับอายุสัญญาเป็นระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2576

‘นิพนธ์’ เปิดบ้าน!! ต้อนรับกงสุลใหญ่จีนประจำสงขลา เดินหน้า!! ส่งเสริมความร่วมมือเศรษฐกิจ ‘ไทย–จีน’

(14 มิ.ย. 68) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย เปิดบ้านพักที่เขารูปช้าง ให้การต้อนรับ นายวัง จื้อเจียน กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสมาคมจีนสงขลา หาดใหญ่ และผู้นำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา

การพบปะครั้งนี้เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างไทย–จีน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงในการเป็นฐานอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการเตรียมการต้อนรับ คณะนักธุรกิจจากมณฑลเสฉวน ที่จะเดินทางมาศึกษาดูงานในจังหวัดสงขลา โดยจะเยี่ยมชมพื้นที่เป้าหมายสำคัญ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมยางพารา อำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ศักยภาพการลงทุนในอำเภอสะเดา ใกล้ชายแดนไทย–มาเลเซีย 

นายนิพนธ์กล่าวว่า “สงขลามีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน และทำเลที่ตั้ง ซึ่งสามารถรองรับการลงทุนจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการพัฒนาและวางแผนร่วมกันอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน”

บรรยากาศของการพบปะเป็นไปอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร โดยทั้งสองฝ่ายได้มอบของที่ระลึก และแสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือไทย–จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

ศาลล้มละลายกลาง ให้ ‘การบินไทย’ พ้นแผนฟื้นฟู เตรียมขอกลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสิงหาคมนี้

ศาลล้มละลายกลาง ให้ การบินไทย ออกแผนฟื้นฟู เตรียมกลับสู่ตลาดหุ้น ส.ค.นี้

(16 มิ.ย. 68) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการและอดีตประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังรับฟังการไต่สวนของศาลล้มละลายกลางในวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ว่า ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

สืบเนื่องมาจากการบินไทยปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการครบทั้งหมด 4 ข้อ โดยหลังจากนี้ บริษัทฯ จะเดินหน้าขออนุญาตหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2568

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากมูลหนี้ที่เจ้าหนี้จำนวนกว่าหนึ่งหมื่นรายยื่นขอรับชำระหนี้ ณ วันที่บริษัทฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีมูลหนี้รวมกว่าสี่แสนล้านบาทนั้น ปัจจุบัน การบินไทยมีภาระหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ ประมาณ 189,578 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้ทยอยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้รับคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จนถึงไตรมาส 1 ของปี 2568 บริษัทฯ ได้ชำระหนี้ไปแล้วทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 94,080ล้าน บาทโดยมีมูลหนี้คงเหลือที่ยังต้องชำระจนถึงปี 2579 ประมาณ 95,498 ล้านบาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการปฏิบัติตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนที่ ระบุไว้ครบถ้วนแล้ว เห็นควรที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้

อนึ่ง ศาลล้มละลายกลาง พิเคราะห์คำร้องของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ และพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว เห็นว่า แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดผลสำเร็จของแผนว่าการ ดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ให้ถือว่าเป็นผลสำเร็จตามแผนเมื่อ (1) จดทะเบียนเพิ่มทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (2) ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่มีเหตุผิดนัด (3) มีกำไร ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานตามจำนวนที่แผนกำหนด และมีส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเป็นบวก และ (4) มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในแผน ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องของลูกหนี้และรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ว่าลูกหนี้ได้ปฏิบัติครบถ้วนทุกข้อที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่าง ใด กรณีจึงรับฟังได้ว่า ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนอันจะถือว่าการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ตามแผนแล้ว ต้องด้วยเงื่อนไขแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 วรรคหนึ่ง ที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้

ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 วรรคหนึ่ง โดยผู้บริหารแผนหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ ยังคงมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกหนี้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ จนกว่าผู้บริหารของลูกหนี้จะเข้าจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

กบน. ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ กว่าวันละ 74 ล้านบาท ลดผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์ตะวันออกกลาง

(16 มิ.ย. 68) คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2568 เป็นต้นไป เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ทวีความรุนแรง และส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า “การประชุม กบน. วันนี้ได้มีการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 72.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 85.44 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 88.02 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล   ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง 

เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น และไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพในช่วงที่สถานการณ์วิกฤตพลังงานกำลังเกิดขึ้น กบน. จึงมีมติให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยใช้กลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพ และพยุงราคาน้ำมันในประเทศ ไม่ให้กระทบกับความต่อเนื่องในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว” ดังนี้ (ข้อมูลในตาราง)

สำหรับการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว จะทำให้รายรับของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันทุกชนิด (รวมถึงน้ำมันเตา) ลดลงประมาณวันละ 74.41 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายรับประมาณวันละ 241.64 ล้านบาท เหลือประมาณวันละ 167.23 ล้านบาท โดยปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2568 ติดลบอยู่ที่ 36,268 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันบวกอยู่ที่ 8,244 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบอยู่ที่ 44,512 ล้านบาท

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินมาตรการครั้งนี้เป็นไปตามบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาพลังงานของประเทศเมื่อเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 โดยยึดหลักการ “เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้” พร้อมยืนยันว่า กบน.จะติดตามสถานการณ์น้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เหมาะสม เพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้มากที่สุด

ก.พลังงาน เกาะติดสถานการณ์อิสราเอล - อิหร่าน เตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านราคา - ปริมาณสำรอง

กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ โดยได้ดำเนินมาตรการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมทั้งเตรียมแผนเพิ่มปริมาณสำรองภายในประเทศ หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

(17 มิ.ย. 68) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากที่เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลและอิหร่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีรายงานข่าวเมื่อคืนวันจันทร์ว่า อิหร่านพร้อมกลับมาเจรจาเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์กับสหรัฐหลังจากที่อิหร่านได้ยกเลิกการเจรจาไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การสู้รบก็ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้หลายประเทศเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ โดยนักวิเคราะห์จากหลายหน่วยงานรายงานถึงการคาดการณ์หากการสู้รบขยายวงกว้างขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งอาจจะมีการปิดกั้นเส้นทางในการขนส่งน้ำมันอย่างช่องแคบฮอร์มุช ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ

กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในด้านราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 72.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นเดือนมิถุนายนที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการดูแลด้านราคาขายปลีกภายในประเทศเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ได้มีมติเมื่อวานนี้ ให้ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยใช้กลไกอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพ และพยุงราคาน้ำมันในประเทศ ไม่ให้กระทบกับความต่อเนื่องในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ในระยะยาว

ส่วนในด้านปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศ ปัจจุบันมีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,337 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 25 วัน น้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,457 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 19 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 1,874 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน รวมปริมาณน้ำมันคงเหลือที่สามารถใช้ได้ 60 วัน ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จะมีการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบด้านราคาให้มากที่สุด

“ขอย้ำว่า กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านอย่างใกล้ชิด ได้เตรียมพร้อมในเรื่องของปริมาณสำรองพลังงาน ซึ่งมีข้อกำหนดและมาตรการในการสำรองปริมาณน้ำมันและก๊าซหุงต้มอยู่แล้ว รวมถึงการเตรียมแนวทางการบริหารจัดการด้านราคาหากการสู้รบรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อ โดยไทยเองเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านราคาได้ ซึ่งเมื่อวานนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการหากราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอีก  จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์และดำเนินทุกมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและปริมาณสำรองน้ำมัน และขอให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดเพื่อลดการนำเข้า ก็จะช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ด้วย” นายวีรพัฒน์ กล่าว

‘ดีพร้อม’ ยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น-วิสาหกิจชุมชน หนุนใช้นวัตกรรมต่อยอดสร้างรายได้ ตามนโยบาย ‘รมว.เอกนัฏ‘

เมื่อวันที่ (11 มิ.ย. 68) นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเผยแพร่ผลสำเร็จของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้กิจกรรมยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนประจำถิ่นโดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร นวัตกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ประจำถิ่น (ภาคตะวันออก) โครงการยกระดับศุนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ร่วมด้วย นางสาวศิริลักษณ์ วิศวรุ่งโรจน์ อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นายสุริวัฒน์ เริ่มกิจการ สภาชิกสภาเมืองพัทยา นายจิตรเทพ เนื่องจำนงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โดยมี นางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ (DIPROM) ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา

การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จจากการส่งเสริมวิสาหกิจให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรูปวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิด Soft Power ด้านอาหาร โดยการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตลาดเนื้อหา (Content Marketing) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกจำนวน 10 ราย ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญตลอด 12 Man/day ซึ่งจะไม่ใช่เพียงการส่งเสริมและพัฒนาในตัวของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการพัฒนาคนในชุมชน ผ่านการฝึกฝนและสร้างอาชีพให้เกิดการสร้างรายได้ ผ่านการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาต่อยอด เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนออกมาในผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ตามนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของ นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงการนำกลไก Soft Power มาใช้ในการสร้างเรื่องราว บอกต่อ และโน้มน้าวให้เกิดการเผยแพร่เข้าสู่ตลาด สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในเกิดยอดขาย มีการกระจายรายได้ในชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

โดย “อธิบดีณัฏฐิญา” ได้ให้เกียรติมอบวุฒิบัตรและโล่รางวัลให้กับ 10 กิจการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว พร้อมเยี่ยมชมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนา ซึ่งนำมาจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ผลสำเร็จ รวมถึงเป็นการทดสอบตลาด จัดจำหน่าย และรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดรับตามนโยบายของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยการเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยสู่สากล

‘พีระพันธุ์’ หวั่นสถานการณ์สู้รบอิสราเอล-อิหร่านยืดเยื้อ เร่งวางแผนบริหารจัดการราคาน้ำมัน - สำรองเชื้อเพลิง

‘พีระพันธุ์’ เตรียมความพร้อม ก.พลังงาน วางแผนบริหารจัดการราคาน้ำมันและปริมาณสำรองเชื้อเพลิง รับมือสถานการณ์สู้รบอิสราเอล-อิหร่าน ลดผลกระทบราคาพลังงานในประเทศให้มากที่สุด

(17 มิ.ย. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและประเมินผลกระทบด้านพลังงานจากสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน  และเตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ โดยทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมวางแผนบริหารจัดการด้านราคาน้ำมันและด้านปริมาณสำรองพลังงานในแนวทางต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบด้านราคาให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบดูไบซื้อขายที่ 72.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 65  ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จึงมีการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพและพยุงราคาน้ำมันในประเทศ

สำหรับปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศของไทยนั้น ปัจจุบันมีน้ำมันดิบคงเหลือประมาณ 3,337 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 25 วัน มีน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่ง 2,457 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 19 วัน และมีน้ำมันสำเร็จรูป 1,874 ล้านลิตร เพียงพอต่อความต้องการใช้ 16 วัน รวมปริมาณน้ำมันคงเหลือที่สามารถใช้ได้ 60 วัน ซึ่งหากสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันภายในประเทศ เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด

‘เอกนัฏ’ ส่ง 'สุดซอย' บุกรง. ลอบซุกขยะพิษ 8 พันตัน ปฏิบัติการชักปลั๊กทลายอาณาจักรรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

‘เอกนัฏ’ ทลายอาณาจักรรีไซเคิลศูนย์เหรียญปราจีนบุรี พบลอบประกอบกิจการ ซุกขยะพิษ-วัตถุอันตรายกว่า 8,000 ตัน ปล่อยเช่าที่ตั้งโกดังแบบผิด กม.รัวๆ แจ้งความดำเนินคดีเด็ดขาด พร้อมชงเรื่อง 'ดีเอสไอ' รับเป็นคดีพิเศษ

(18 มิ.ย.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ ทีมสุดซอย กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัท เซ็ตเมทอล จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 301 หมู่ที่ 3 ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบกิจการหลอมหล่อโลหะ เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ซึ่งก่อนหน้านี้โรงงานถูกคำสั่งให้ปิดปรับปรุงชั่วคราว เนื่องจากประกอบกิจการไม่ตรงตามใบอนุญาต แต่มีรายงานว่ายังคงลักลอบประกอบกิจการ จึงให้ทีมสุดซอยเข้าตรวจสอบ 

“จากการตรวจสอบภายในบริษัท เซ็ตเมทอลฯ พบการกระทำความผิดหลายกรณี ทั้งลักลอบประกอบกิจการเดินเครื่องรีไซเคิลสายไฟ ครอบครองวัตถุที่เข้าข่ายวัตถุอันตรายถึงกว่า 8 พันตัน ทั้งยังมีพฤติกรรมตั้งตนเป็นนิคมศูนย์เหรียญ ซึ่งได้สั่งให้ปิดกิจการและดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทันที” นายเอกนัฏ ระบุ 

นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า ภายในพื้นที่ บริษัท เซ็ตเมทอลฯ ที่มีนางจันจิรา สุขสถิต และนายหยู-ลี่ หยาง จดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัทฯ มีการแบ่งโกดังรวม 7 หลัง ทั้งส่วนที่มีใบอนุญาตโรงงานและส่วนที่ไม่พบใบอนุญาต ขณะเข้าตรวจสอบ พบว่ามีคนงานจำนวนหนึ่งกำลังเดินเครื่องรีไซเคิลสายไฟ ซึ่งถือว่าฝ่าฝืนคำสั่งระงับกิจการชั่วคราว และพบเศษสายไฟ ชิ้นส่วนระบบไฟฟ้ารถยนต์ เศษโลหะปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งหมดเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย รวมกว่า 8 พันตัน ถือเป็นการครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีข้อมูลด้วยว่า มีรถบรรทุกขนย้ายเศษอิเล็กทรอนิกส์เข้า-ออกโรงงานเฉลี่ยเดือนละกว่า 230 คัน 

“ตามลักษณะถือเป็นนิคมศูนย์เหรียญอย่างชัดเจน มีการแบ่งพื้นที่ให้เอกชน 7 ราย ซึ่งเป็นชาวจีนและชาวไต้หวัน เช่าประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย เจ้าหน้าที่จึงแจ้งดำเนินคดีในข้อหาประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต, การขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต การครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ พร้อมให้มีการยึดอายัดของกลางทั้งหมดไว้” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว 

บริษัท เซ็ตเมทอลฯ มีการเช่าพื้นที่ของ บริษัท พีทีเอส โกลเด้น เมทัล จำกัด ที่ไม่ได้มีการประกอบกิจการแล้ว จัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ให้ชาวจีน 2 บริษัทเช่าช่วงเพื่อประกอบกิจการคัดแยกเศษโลหะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้รับอนุญาต ได้แก่ เศษโลหะ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เศษสายไฟ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย รวมกว่า 8 พันตัน สอจ.ปราจีนบุรี ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนในส่วนขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และทำการยึดอายัดเครื่องจักร วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ และกากของเสียไว้ทั้งหมด พร้อมดำเนินคดีข้อหาตั้งประกอบกิจการและครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และเนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่มีการครอบครองวัตถุอันตรายเกิน 50 ตัน ซึ่งเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ที่จะนำส่งไปให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณาต่อไป 

“ขณะนี้ ทีมสุดซอย ได้สรุปข้อมูลการพิจารณาทบทวนการออกใบอนุญาตโรงงานประเภทรีไซเคิลที่อาจจะมีมากเกินความจำเป็น และเพื่อเป็นการกำจัดและป้องกันการสร้างอาณาจักรศูนย์เหรียญที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพกับชุมชนและประเทศไทย” นางสาวฐิติภัสร์กล่าว

สกพอ. ผนึก สวทช. และกนอ. โรดโชว์เนเธอร์แลนด์ ดึงบริษัทชั้นนำ ลงทุนอุตสาหกรรมสีเขียวพื้นที่อีอีซี

(18 มิ.ย.68) ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะ เดินทางไปราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 8 – 15 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อชักชวนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Bio-Circular-Green (BCG) โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อาหาร เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมหมุนเวียน โดยคณะฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัทชั้นนำด้านการเกษตรอัจฉริยะ ได้แก่ Rijk Zwaan, Priva, Van der Hoeven, Koppert Biologic และ Hydrosat กลุ่มบริษัทและองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ Unilever, Thai Union และ FoodX กลุ่มบริษัทชั้นนำด้านเคมีชีวภาพ ได้แก่ Corbion และ Avantium และกลุ่มบริษัทด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ Oryx Stainless  

ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมและพบปะบริษัทชั้นนำจากเนเธอร์แลนด์ดังกล่าว สกพอ. สวทช. และ กนอ. ได้ร่วมกันนำเสนอความพร้อมในการรองรับการลงทุน การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีและมิใช่ภาษีสำหรับการลงทุน การส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการลงทุน และการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา ตลอดจนโอกาสในการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสและพร้อมดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ สกพอ. และคณะฯ ได้มีโอกาสเข้าพบหารือกับบริษัทที่เข้าร่วมงาน GreenTech Amsterdam 2025 งานแสดงสินค้าและการประชุมระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นเวทีสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ สกพอ. ต้องการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ที่ออกแบบให้เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ และเป็นศูนย์รวมระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำ (Innovation Ecosystem) ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนไทย และภาคเอกชนจากต่างประเทศ 

พร้อมกันนี้ ได้มีโอกาสหารือกับบริษัทชั้นนำ เช่น Protix ที่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตแมลงเพื่อใช้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ VISCON Group บริษัทระบบ Automation สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และมีโอกาสหารือกับ Invest International Netherlands หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของเนเธอร์แลนด์ ที่มีภารกิจส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศผ่านการสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้งได้ทำให้ทราบว่าภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนในอนาคตต และเป็นโอกาสของพื้นที่อีอีซีและประเทศไทย ในการเป็นฐานการผลิตสำหรับภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน พลังงาน เป็นสาขาที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์สนับสนุน 

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ สกพอ. ยังได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงธุรกิจในหัวข้อ “Thailand Meets Netherlands: Forging Stronger Business Partnerships on Bio-Circular-Green Economy in the Eastern Economic Corridor of Thailand” ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ร่วมกับหอการค้าเนเธอร์แลนด์ – ไทย (Netherlands – Thai Chamber of Commerce: NTCC) และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐไทย และภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ที่ประกอบธุรกิจในพื้นที่อีอีซีเข้าร่วมเป็นวิทยากร อาทิ 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. นำเสนอโอกาสความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และโอกาสในการลงทุนในพื้นที่ EECi นางสาวนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการ (บริหาร) กนอ. นำเสนอพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต ดร. ชลจิต วรวังโส วีรกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สกพอ. นำเสนอโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ BCG และภาคเอกชนไทยและเนเธอร์แลนด์ร่วมนำเสนอประสบการณ์การลงทุนในพื้นที่อีอีซีและประเทศไทย โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาครัฐและภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมงานมากกว่า 70 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top