Thursday, 15 May 2025
Econbiz

‘ดร.กอบศักดิ์’ ถอดรหัส 10% ‘ภาษีทรัมป์’ ชี้แค่ตั้ง ‘กำแพงภาษี’ รายได้สหรัฐฯพุ่งถึง 87.4%

(15 พ.ค.68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!” มีเนื้อหาว่า...

รายได้ศุลกากรสหรัฐเพิ่ม +87.4% !!!

หนึ่งในเป้าหมายของ President Trump ในการเข้าสู่สงครามการค้า คือ การหารายได้เพิ่มเข้ารัฐ

หลายคนถามว่า รายได้จะเพิ่มขึ้นจริงไหม จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะเป็นชิ้นเป็นอันหรือไม่

ล่าสุด WSJ รายงานจากข้อมูลกกระทรวงการคลังสหรัฐว่าสหรัฐเก็บภาษีอากรนำเข้าจากสินค้าต่างๆ เพิ่มเป็น 16.3 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากเดิมเก็บได้ 8.7 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม หรือเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง +87.4%

จากภาษี 25% ที่คิดกับเม็กซิโกและแคนาดา ภาษีเฉพาะ 25% สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมินัม ตลอดจน Reciprocal Tariffs ประมาณ 10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่เริ่มต้นคิดบ้างแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มเก็บกันอย่างจริงจัง รายได้จาก Tariffs จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

สำหรับในระยะยาว เริ่มมีผลการศึกษาที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน โดยการศึกษาของ Wharton มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเมินคร่าวๆ ว่า รายได้สหรัฐจาก Tariffs จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยประมาณ 4 - 5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 4.5 - 5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย เทียบกับการขาดดุลการคลังสหรัฐ 1.05 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว ก็จะช่วยปิด Gap เรื่องนี้ไปได้ประมาณ 50%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหนี้ภาครัฐของรัฐบาลสหรัฐที่มีอยู่ประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่ายังไม่มากพอจะช่วยชะลอไม่ให้หนี้เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนอดีต และช่วยให้มีช่องให้ท่าประธานาธิบดีไปลดภาษี No Tax on Tips, No Tax on Overtimes, No Tax on Social Securities ตามที่สัญญาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะออกมาประกาศใช้เร็วๆ นี้ รวมทั้ง ช่วยสร้างแรงจูงใจให้หลายบริษัทมาลงทุนผลิตในสหรัฐ ที่ล่าสุดมีตัวเลขแสดงความจำนงค์ประมาณ 5-6 ล้านล้านดอลลาร์

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม President Trump ถึงไม่ยอมยกเลิกเรื่อง Tariffs ไปเลย และไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ถึงมีตัวเลข 10% ออกมาตลอดเวลา

10% สำหรับทุกประเทศ ภายใต้ Reciprocal Tariffs แม้จะเป็นประเทศที่สหรัฐเกินดุลการค้าด้วย หรือเป็นประเทศที่เปิดกว้างทางการค้าเช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์

10% สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้ชะลอออกไป 90 วัน ภายใต้ Reciprocal Tariffs

10% สำหรับสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ทั้งๆ ที่เจรจากันแล้ว และอังกฤษก็ยอมไปหลายอย่างแล้ว

10% สำหรับสินค้าจีน ในช่วง PAUSE 90 วัน

โดยดีลต่อๆ ไปก็จะทำให้ภาพชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ท่านประธานาธิบดีคงขีดเส้นไว้สำหรับทีมเจรจาสหรัฐ สั่งให้ยอมได้หลายๆ อย่าง แต่ว่าต่ำสุดต้องคิด Tariffs ที่ 10% ให้ได้ !!!

มารอดูกันครับว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ถูกคิดเกิน 10% อัตราจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร และกรณีจีน หลัง 90 วัน จะไปจบที่อัตราอะไร

เพราะล่าสุด สินค้าชิ้นเล็กๆ จากจีน ที่ราคาต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ (ซึ่งใช้พื้นที่ถึง 90% ของเรือขนส่งสินค้าจากจีนที่เข้ามาที่ท่าเรือสหรัฐ) ไม่ได้รับการยกเว้นภายใต้สิ่งที่ตกลงกันที่เจนีวาให้เหลือ 10% แต่ต้องจ่ายภาษี 10+10+34 = 54% !!!

ทั้งหมด จะเป็นโครงสร้างภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐที่กำลังค่อยๆ เฉลยออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดอนาคตการส่งออกไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ว่าจะไปได้ไหม และเป็นตัวกำหนดว่า China Flooding จะเข้ามาที่เราแค่ไหน หมายความว่า เราคงต้องมีทีมเร่งหาตลาดใหม่ๆ ในช่วงที่เหลือ เตรียมไว้เป็นทางออกที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อเอาไว้ด้วยครับ

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐฯ สั่งแบงก์รัฐลดดอกเบี้ย-อัดงบช่วยเหลือผู้ประกอบการ

รัฐผุดมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ สั่งแบงก์รัฐลดกำไร-ใส่งบช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ลดดอกเบี้ย ตั้งเป้าช่วยธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐ ซัพพลายเชน ผู้ผลิตแข่งขันกับสินค้านำเข้า รับมือวิกฤตกำแพงภาษี 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายกระทรวงการคลังให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วนนั้น 

กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน โดยการลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 

สำหรับโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน ที่กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อ Soft Loan โครงการอื่น เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออกและธุรกิจ SMEs/Supply Chain อย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ภายใต้สภาวะความผันผวนที่ภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กล่าวได้ว่ากลไกสถาบันการเงินของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤต เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว 

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการในทันที คือ โครงการที่ลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ในอัตรา 2-3% คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 2-3 วันนี้ โดยลูกค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการจะต้องมาติดต่อกับธนาคารเท่านั้น จะไม่ได้เป็นการให้ลูกค้าเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นวงเงินใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ โดยโครงการดังกล่าวจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับ Soft Loan ที่จะดำเนินการนั้น จะมีลักษณะเดิมคือ ธนาคารออมสินปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และให้ธนาคารพาณิชย์ไปดำเนินการปล่อยต่อให้กับลูกค้าของธนาคารต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top