Friday, 9 May 2025
Econbiz

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าสอยยกแก๊งลอบนำเข้า ‘ฝุ่นแดง’ ส่งทีมบุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังพบเส้นเงินโยง ‘ซินเคอหยวน’

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ บุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังเจอเส้นทางการเงินจ่ายค่า ‘ฝุ่นแดง’ โผล่ ‘ซิน เคอ หยวน’ ยอดเกิน 111.8 ล้านบาท พบโยง ‘เค เอ็ม ซี’ บริษัทนำเข้ากากอุตฯ รายใหญ่ที่เคยพบการปลอมเอกสาร ผลกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกแล้ว ฮึ่ม! ขรก. มีเอี่ยวฟันไม่เลี้ยงแน่ ‘ฐิติภัสร์’ เผยเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิด บริษัทหัวจงฯ เตรียมรับโทษจำคุก คาด ‘แก๊งศูนย์เหรียญ’ ทำเป็นขบวนการ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นำหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น บริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ ลักษณะเป็นขบวนการในเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

“ปฏิบัติการตรวจสุดซอยครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่มีการขายฝุ่นแดงไปยังบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด และจากการตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ พบการจ่ายเงินเกินกว่ารายการจริงมากถึง 111.8 ล้านบาท และยังพบเอกสารข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการ เชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด จ.ปทุมธานี ผู้ประกอบกิจการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงก่อนหน้านี้ด้วย” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า หลังจากช่วงเดือนมีนาคม 68 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบหลักฐานเอกสารประกอบการนำเข้าฝุ่นแดงของ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด ถึง กรมศุลกากรนั้น เป็นเอกสารที่ออกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานกลับมายังตนเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีข้าราชการบางรายเข้าไปมีส่วนร่วมการกระทำผิดจริง จึงได้สั่งให้สอบทางวินัยอย่างเด็ดขาดและจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญากับข้าราชการที่กระทำความผิดต่อไป

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่สืบค้นได้จากคอมพิวเตอร์ฝ่ายบัญชีของบริษัท หัวจงฯ พบว่า มีรายการชำระค่าฝุ่นแดงให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ซึ่งมีความผิดปกติ เพราะยอดชำระเกินไปจากมูลค่าจริงถึง 111,862,833.30 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดอายัดเอกสาร คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ ของบริษัท หัว จงฯ  เพื่อนำไปตรวจสอบและขยายผลเครือข่าย รวมถึงเส้นทางการเงินที่อาจมีความเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ 

นอกจากนี้ยังพบเอกสารและข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการเชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซีฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งความเอาผิด โดยทีมสุดซอยได้เข้าตรวจค้น หลังพบการกระทำผิดปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงเข้ามาภายในประเทศกว่า 10,262 ตัน ในช่วงเดือน ส.ค. 67 ถึงช่วงต้นปี 68 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดฝุ่นแดงจำนวน 7,000 ตัน และอายัดวัตถุอันตรายต้องสงสัยอีก 200 ตัน นำส่งกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรอ. เพื่อตรวจสอบและเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัท หัวจงฯ และ นายยี่หัน หวัง ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ฐานครอบครองวัตถุอันตราย และตรวจสอบความผิดฐานลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายเพิ่มเติมอีกด้วย

“ความเชื่อมโยงลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศกับบริษัท เค เอ็ม ซีฯ รวมไปถึงธุรกรรมที่ผิดปกติกับบริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ชี้ให้เห็นว่า ทำกันเป็นขบวนการในกลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เข็ดหลาบ แม้จะอยู่ระหว่างถูกลงโทษระงับการประกอบกิจการไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองด้วย” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

เจาะเบื้องลึก ‘กกพ.’ ยอมลดค่าไฟจากมติเดิม 4.15 บาท/หน่วย เหตุถูก ‘รมว.พลังงาน’ กดดันหลังพบกอดเงิน Claw Back 2 หมื่นลบ.

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีมติลดค่าไฟเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ครม. ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลทันทีในรอบบิลพ.ค.-ส.ค. 68

ทั้งนี้ เดิมทีเมื่อวันที่ (1 เม.ย. 68) คณะรัฐมนตรี มีมติ โดยได้มีการอนุมัติเป้าหมายการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2568 นี้ ลงเหลืออัตราไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท โดยไม่มีการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ 

พร้อมมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล คณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ทาง กกพ. ได้เสนอ 3 ทางเลือกเปิดประชาพิจารณ์ค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 โดยกำหนดราคาเอาไว้ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย 

จากนั้นทาง กกพ. ได้สรุปการประชาพิจารณ์โดยตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ไว้ที่ 4.15 เท่าเดิมจากค่าไฟงวดปัจจุบัน

และถึงแม้ว่า ทาง ครม. ได้วางกรอบเป้าหมายให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามที่นายพีระพันธุ์ ได้นำเสนอต่อ ครม. ก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ทาง กกพ. ยืนยัน จะคงอัตราเท่าเดิม คือ 4.15 บาทต่อหน่วย ไม่สามารถลดได้อีก

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ทาง รมว.พลังงาน ได้เจรจาให้ทาง กกพ.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หาแนวทางลดค่าไฟตามกรอบที่ ครม.ให้ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ แต่ทาง กกพ. ก็ยังยืนยันเช่นเดิม คือ ทำได้แค่ตรึงไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้น ทาง รมว.พลังงาน ได้ตรวจพบว่า ทาง กกพ. มีเงินที่เรียกว่า Claw Back ซึ่งเป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อยู่ราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

และจากการตรวจพบเงินจำนวนดังกล่าวที่ กกพ. เก็บไว้นั้น ทำให้ทาง กกพ. จำต้องยอมลดค่าไฟในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าที่ ครม. กำหนดไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แบบเสียมิได้ โดยใช้เงิน Claw Back จำนวน 12,200 ล้านเข้ามาอุดหนุน

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หาก รมว. พลังงาน ไม่ไปตรวจสอบพบเงินจำนวน 20,000 ล้านดังกล่าว ทาง กกพ. จะยอมลดค่าไฟลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ตามที่ได้ออกมาประกาศในวันนี้หรือไม่...

ส่องโซเชียลจีน หาคำตอบว่าทำไมถึงไม่มาเที่ยวไทย ชี้ ส่วนใหญ่หวั่นความปลอดภัย - ที่พักแพง - ไร้แหล่งท่องเที่ยวใหม่

เพจเฟซบุ๊ก ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้บริหาร ดีแทค ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่มาเดินทางมาเที่ยวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องว่า ...

ไปส่องโซเชียลจีนว่าทำไมถึงไม่มาไทย

ผมมีร้านชาบูที่หุ้นกับน้อง ๆ อยู่แถวราชประสงค์ ตั้งแต่วาเลนไทน์มา นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นเกือบครึ่งของลูกค้าร้านโดยปกตินั้น หายไปอย่างน่าใจหาย สวนทางกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ไปญี่ปุ่นมากขึ้นมาก เหมือนกับว่าเขาเลิกเห่อไทยไปแล้ว สงกรานต์ก็ยังไม่กลับมา แน่นอนว่าหลายคนก็บอกว่าเราไม่ง้อก็ได้ ไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา แต่ร้านผมเดือดร้อน ก็เลยสงสัยว่าทำไมเขาไม่มาไทย  

ผมเลยวานน้องเฟิร์น น้องสาวคนเก่งที่ทำธุรกิจที่จีน ช่วยธุรกิจไทยไปจีน และวางแผนเรื่องการตลาดนักท่องเที่ยวจีนไปส่องดูตามโซเชียลหน่อยว่าที่จีนเขาพูดถึงการมาเที่ยวไทยว่าอย่างไรบ้าง ถ้าดูแล้วหมดหวังก็จะได้ทำใจ หาทางแก้ปัญหาร้านในทางอื่นไป

เฟิร์นก็ใจดี ช่วยให้ลูกทีมจีนไปส่องแบบคร่าว ๆ อาจจะพอได้ feeling บ้าง แต่หน่วยงานที่สนใจอาจจะต้องทำการบ้านหนักกว่านี้ถ้าจะได้ข้อมูลเชิงลึก เท่าที่เขาสรุปมาให้หลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนน้อยลงก็มีอยู่หลายประเด็น  หลายเรื่องก็เป็นเรื่องจริง หลายเรื่องก็เข้าใจผิด  

ต้องเริ่มก่อนว่า เราคุยกันถึงนักท่องเที่ยวจีนทั่วไปที่มีกำลังซื้อ มาราชประสงค์ มากินชาบูนะครับ  จีนใหญ่มาก เราไม่พูดถึงทัวร์ศูนย์เหรียญหรือจีนเทา ซึ่งก็คงไม่ได้มาเมนต์อะไรแบบนี้  ..
…….
ประเด็นแรกที่เขาไม่อยากมาคือความไม่ปลอดภัย มีข่าวลือเรื่องการถูกลักพาตัว ขโมยอวัยวะ และมีข่าวฆาตกรรม มีคนจีนที่ไม่ดี (สีเทา) อยู่จีนไม่ได้เลยเลือกมาตั้งรกรากที่ไทยจำนวนมาก มีปัญหาอะไรขึ้นมา ตำรวจไทยแทบจะช่วยอะไรไม่ได้ ระบบ city security ล้าหลัง กล้อง CCTV น้อยมากซึ่งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย (เมืองจีน cctv เต็มเมือง เขาชินกับความอุ่นใจแบบนั้น) 

ประการที่สอง เมืองไทยมีภาพว่าถ้ามาอยู่ยาว ๆ มาอาศัยเลยนั้น 'ถูก' แต่ถ้ามาเที่ยวคือ 'แพง' บ้านถูกที่ไทยแต่โรงแรมแพง อาหารในห้างไทยเทียบกับอาหารในห้างญี่ปุ่นราคาเท่ากัน ญี่ปุ่นเลยน่าไปกว่า

ประการที่สาม ไทยไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรพัฒนามา 10 ปีแล้ว 10 ปีก่อนเป็นแบบไหนก็ยังเป็นแบบเดิม ที่เที่ยวเดิม ๆ ไม่ดึงดูด การเดินทางถ้าอยู่นอกเส้นรถไฟฟ้าไปมาลำบากมาก

ประการที่สี่ คือตัวอย่างข่าวร้าย ๆ ที่ไทย ไม่มีข่าวดีเลย ทำให้มีภาพว่าระบบจัดการไทยไม่ดี ไม่ปลอดภัย ผมยกข่าวที่เขาไปเจอมาดื้อ ๆ เลยละกัน  

1.รถบรรทุกชนรถที่จอดอยู่ในเลนส์ฉุกเฉินบนทางด่วน
Link 泰国高速路应急车道换尿布引发惨剧:10 人乘车 8 人遇难
2. ถนนในประเทศไทยเกิดหลุมยุบลึก 3 เมตรกะทันหัน คู่รักที่กำลังเดินเล่นพลัดตกลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งถนนเส้นนี้เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนก่อนเท่านั้น
Link 泰国街道突现3米天坑,情侣散步意外坠落,道路一个月前才翻新
3. นักท่องเที่ยวจีนถูกต้นไม้ทับขณะกำลังจะเดินไปเล่นเครื่องเล่น
Link 泰国特色旅游项目突发意外致中国游客一死一伤!警惕,该项目已多次发生事故
4. นักท่องเที่ยวจีนก่อเหตุ kill สาวประเภทสองในประเทศไทย
Link 中国游客泰国杀害变性人,残忍分尸啖脏
5. โรงงานสารเคมีระเบิดใกล้กับอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ
Link 泰国一化工厂发生爆炸,已致20多人受伤,附近机场候机楼震感明显
6. เด็กอายุ 14 ยิงกราดที่พารากอน หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีคนจีน 1 คน
Link 曼谷购物中心枪击案造成中国公民1死1伤 泰总理发文哀悼,国际,国际社会,好看视频
7. คนชาวจีนถูกตำรวจไทยและอดีตตำรวจ ร่วมกันก่อเหตุลักพาตัวและเรียกค่าไถ่
Link 泰国警方:5名在泰中国公民遭绑架勒索,多名泰国警察涉案
8. นั่งท่องเที่ยวชาวจีนพลัดตกจากชั้น 4 ของโรงแรมดังที่พัทยา
Link 芭提雅某酒店内一中国女游客意外坠楼 - 泰国头条新闻
9.ตึกถล่มที่ประเทศไทยหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เหตุเกิดจากโครงสร้างบางส่วนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
Link 泰工业部:国家审计署大楼坍塌 部分钢材样品不达标 | 联合早报
10. หญิงชาวจีนถูกลักพาตัวในประเทศไทย 
Link 女子遭绑架遇车祸跳车自救,与嫌犯认识约10天,最新消息→

ประการที่ห้าที่ช่วงสงกรานต์คนจีนน้อยลงก็เพราะมณฑลทางตอนใต้ของจีนจัดเทศกาลสาดน้ำกันเอง เป็นเทศกาลประจำปี ปลอดภัยกว่าและไม่ต้องบินออกนอกประเทศด้วย   แต่มีกลุ่มหนึ่งที่อยากมาเมืองไทยเพิ่มขึ้นก็คือ LGBTQ (ซึ่งน่าจะต้องชม S2O ของวู้ดดี้ที่เป็น destination ใหม่ของไทยในปีที่ผ่านมา)  

ประเทศแต่ละประเทศก็มียุครุ่งเรือง มียุคตกต่ำ เหมือนห้างสรรพสินค้า สวนสนุก หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เหมือนแต่ก่อน CBD ไทยก็คือวังบูรพา แล้วค่อยๆย้ายมาเป็นปทุมวัน ในแต่ละปีก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีสถานที่ที่ดึงดูดใจมากขึ้น ใครปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัยก็จะพออยู่รอดได้ แต่ถ้าปรับไม่ทันก็จะเจอสภาพเหมือนไทยเจออยู่ตอนนี้   

และในความย้อนแย้งก็คือ เมืองจีนตอนนี้น่าเที่ยวมาก ราคาถูก โรงแรมดี สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ทันสมัย ไฮเทค เริ่มมี tax refund มีหลากหลายที่ให้สำรวจ ค้นหา วีซ่าก็ฟรี  คนไทยก็ทะลักไปจีนกันอยู่ตอนนี้ น้องที่ทำทัวร์เพิ่งเล่าให้ฟัง…

ความเห็นต่างๆพวกนี้ไปค้นไม่ยากเลยด้วยโซเชียล แต่ค้นมาแล้ว เข้าใจแล้วว่าเขาเข้าใจผิดอะไร หรือเราต้องปรับปรุงอะไร เราจะทำอะไรต่อดีนั้นน่าตั้งคำถามมากกว่า หรือช่างจีนเขา เราไปหาคนรวยประเทศอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรมแบบเดิมอยู่ดีเพราะคู่แข่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก  

ญี่ปุ่นทั้งสวยและถูกเพราะค่าเงิน จีนก็พัฒนาไปไกล ไปง่ายสวยถูก ใกล้ ๆ เวียดนาม กัมพูชาก็ปรับตัวมาเยอะ สิงคโปร์ก็ทำ man made destination จนติดตลาด .. เมืองไทยจะสร้างอะไรใหม่ จะมีอะไรต่อ ก็ต้องไปลุ้นกัน

ส่วนผมตัวเล็กๆที่เป็นเจ้าของร้านชาบูที่พึ่งนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 50% ก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่  เหมือนแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศไปแล้ว ไม่ใช่แม่น้ำที่เคยขึ้นและลง พอลงอดทนสักพักเดี๋ยวก็ขึ้น แต่พอเปลี่ยนทิศไป  

ถ้ายืนอยู่กับที่ก็คงไม่มีปลาเหมือนเดิม ถ้าไม่ย้ายตามแม่น้ำใหม่ ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีทำมาหากินกันต่อไปนั่นเอง…

อีกหนึ่งเครื่องมือกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม เงินที่ ‘กกพ.’ เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้า ใช้เยียวยาดูแล ปชช.

(30 เม.ย. 68) อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า บทบาทสำคัญของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  คือ การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบว่า กกพ. ดำเนินการอย่างไรและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดวิกฤตต่างๆ และประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพง

สำหรับเครื่องมือหนึ่งที่ กกพ. นำมาใช้ในกรณีที่เกิดผลกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย นั่นคือ “เงิน Claw Back” ที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

Claw Back เป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. ) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยคิดตามอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financial Ratio: SFR) ในอัตราร้อยละ 25 และค่าเสียโอกาสทางการเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตราไม่น้อยกว่า MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 5 ลำดับแรกของประเทศไทย บวกสอง

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ปกติรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้รับ จะมีการบวกรวมต้นทุนโครงการลงทุนต่างๆ และผลตอบแทนการลงทุนตามแผนที่ได้แจ้งกับทาง กกพ. ไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าไปแล้ว แต่ในกรณีที่เมื่อถึงเวลาตามที่แจ้งในแผน ทั้ง 3 การไฟฟ้า ยังไม่ได้ลงทุนในโครงการนั้นๆ หรือโครงการนั้นๆ ถูกชะลอออกไป กกพ. ก็จะสามารถเรียกเงินส่วนที่คิดคำนวณไว้เกิน ซึ่งรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่ประเมินการลงทุนต่างๆ ไปด้วยแล้วดังที่กล่าว กลับคืนมา พร้อมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคือเงิน แ นั่นเอง

ตัวอย่างของการนำเงิน Claw Back มาใช้เมื่อครั้งเกิดการระบาดของโควิด – 19 โดยทาง กกพ. เห็นชอบใช้เงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน หรือ นี้ จาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. บวกเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน มาใช้เยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย รวม 22 ล้านครัวเรือน ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่ให้ กกพ. หาแนวทางเยียวยาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว

ที่ผ่านมา กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลและเรียกคืนเงิน Claw Back เป็นรายปี เพื่อนำมาบริหารจัดการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหากค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามต้นทุน โดย กกพ. มักจะนำเงินส่วนนี้มาใช้ในการพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ราคาค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงิน Claw Back ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่รวมอยู่ในกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมีสะสมอยู่ตามมาตรา 97 (1) ประมาณ 20,000 ล้านบาท

Claw Back จึงเป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญ สำหรับเติมเต็มบทบาทและภารกิจของ กกพ. ในการดูแลอัตราค่าไฟฟ้า ให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า

และจากการประกาศลดค่าไฟ งวด พ.ค. - ส.ค. 68 จากเดิมที่ กกพ. กำหนดไว้ 4.15 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยนั้น ส่วนสำคัญคือการนำเงิน Claw Back จำนวน 12,200 ล้านบาทออกมาอุดหนุนนั่นเอง 

‘กรณ์’ วิเคราะห์!! ภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจโลก โดยรวมแย่ลง แต่ดุลการค้าสหรัฐดีขึ้น กังวล!! หากเพื่อนบ้าน เจรจาภาษีได้ต่ำกว่าเรา ฐานการผลิต อาจต้องย้ายไปจากไทย

(1 พ.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

เมื่อวานนั่งคุยกับผู้ส่งออกอาหารไปอเมริการายหนึ่ง เขาเล่าว่าปัจจุบันลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อขนาดใหญ่เจรจาขอให้เขาแบกรับภาระภาษีนำเข้า 10% (ซึ่งเขาพอทำได้) ในขณะที่ผู้ซื้อรายเล็กยังคงซื้อในราคาเดิม 

แต่หากอัตราภาษีกลับไปเป็น 36% ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้ แน่นอนจะเป็นภาระที่เขาในฐานะผู้ส่งออกแบกรับไม่ได้ ต้องแบ่งภาระกับผู้ซื้อ ซึ่งก็คงต้องผลักภาระต่อไปให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่มากก็น้อย

และหากประเทศคู่แข่งเราเจรจาลดภาษีได้ แต่เราเจรจาไม่สำเร็จ – นั่นคือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ในแง่ของทรัมป์ ที่อ้างตลอดว่าคนอเมริกันจะไม่เป็นผู้ต้องเสียภาษี ตอนนี้มีส่วนเป็นเช่นนั้นจริง แต่ถ้าอัตราภาษีสูงเกินไป ผู้บริโภคอเมริกันจะหลีกเลี่ยงภาระภาษีนี้ยาก หรือไม่ก็จะไม่สามารถซื้อสินค้าบางประเภทได้เลย ในสถานการณ์นี้ ทางใดทางหนึ่ง ชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศน้อยลง ซึ่งหากสมมุติว่าประเทศอย่างเรายังซื้อของจากอเมริกาเท่าเดิม ดุลการค้าอเมริกันจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะแย่ลง

ในแง่ของไทย ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองยังเอาตัวรอดได้ แต่รายเล็กหน่อยเหนื่อยมาก ผู้ส่งออก(รายปานกลาง) ที่ผมคุยด้วย เขาบอกว่าสำคัญมากที่จะต้องเจรจาให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่เรายังค้าขายกับอเมริกาได้ แต่ก็ชัดเจนว่ากำไรเราจะลดลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงต้องเจาะตลาดอื่น และพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษา ‘มาจิ้น’

เลวร้ายที่สุดคือหากอัตราภาษีประเทศเพื่อนบ้านเจรจาได้ตํ่ากว่าเรามาก อาจต้องพิจารณาย้ายการผลิตไปจากไทย

เผยภาพร่างเทอร์มินัลทิศใต้ ‘สุวรรณภูมิ’ พื้นที่ 1 ล้าน ตร.ม. เมกะโปรเจกต์ 1.7 แสนล้าน รองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี

เพจ Progressive Thailand โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า ...ยานแม่มาแล้ว !!! รายละเอียดเบื้องต้นเทอร์มินัลยักษ์ทิศใต้ พื้นที่ 1 ล้าน ตร.ม. ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ปรับแผนการลงทุนในโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 140,000 ล้านบาท เป็น 170,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1. อาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศใต้ (South terminal) 
• พื้นที่อาคารรวม 1,000,000 ตร.ม. 
• รองรับผู้โดยสารได้ 70 ล้านคนต่อปี 
• มี 81 หลุมจอดประชิดอาคาร
• ชานชาลา/พื้นที่รับส่งผู้โดยสารยาว 1,200 เมตร รวม 2 ชั้นความยาวรวม 2,400 เมตร
• รองรับไฟล์ทได้เพิ่มขึ้น 26 ไฟล์ทต่อชั่วโมง
• คาดเป็นอาคารผู้โดยสารหลังเดี่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานอิสตันบูล

2. Sky complex ประกอบด้วย 
• พื้นที่เชิงพาณิชย์ 120,000 ตร.ม. 
• อาคารจอดรถรองรับ 10,000 คัน

3. รันเวย์ที่ 4 

4. อาคารผู้โดยสาร (GA terminal) พื้นที่รวม 100,000 ตร.ม.

5. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)

6. ศูนย์ขนส่งสินค้า (Air Cargo)

7. VIP Terminal พื้นที่รวม 80,000 ตร.ม. บริเวณปลาย concourse A

8. เมืองการบิน (Airport city) ขนาด 550 ไร่

หากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ทั้งหมด 150 ล้านคนต่อปี หากรวมพื้นที่รองรับผู้โดยสารทั้ง 3 อาคาร จะมีขนาด 1,597,000 ตร.ม. ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากท่าอากาศยานดูไบ โดยโครงการนี้มีกำหนดการเริ่มก่อสร้างในปี 70 และเปิดให้บริการภายในปี 2575

ตำรวจบุกทลายแก๊งฝุ่นแดง ลักลอบนำเข้าฝุ่นแร่ แปรรูปเป็นซิงค์ออกไซด์ส่งออก..ขายโกยกำไร!! ทิ้งมลพิษให้ไทย

(2 พ.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปทส. บุกตรวจค้นบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท จินฮุ้ย นอนเฟอรัส เมทัล จำกัด จ.สมุทรสาคร หลังพบลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ รับช่วงจากเครือข่ายชาติเดียวกัน ก่อนนำไปแปรรูปเป็นซิงค์ออกไซด์เพื่อส่งออกขายในราคาสูง ทิ้งไว้เพียงฝุ่นและมลพิษในประเทศไทย

แม้มีการเคลื่อนไหวหลบหนีล่วงหน้า ย้ายเอกสาร-คอมพิวเตอร์หนี แต่ไม่รอดการติดตามของเจ้าหน้าที่ที่ตามยึดของกลางได้ครบ ทั้งโทรศัพท์ เอกสารการเงิน คอมพิวเตอร์ และกล้องวงจรปิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดี

ทั้งนี้ ตำรวจเตือนโอกาสเปลี่ยนใจทำธุรกิจถูกต้องยังพอมี แต่หากยังดื้อดึงไม่เลิกพฤติกรรมผิดกฎหมาย ไม่ว่าใครก็เตรียมรับผลจากกระบวนการยุติธรรมได้เลย

‘กระทรวงการคลัง’ เตรียมเสนอ!! ‘อารีย์ สกอร์’ เข้าครม. กลางปี 68 หวังช่วยปชช. เข้าถึงสินเชื่อ!! ผ่านแบงก์รัฐ ไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ

(3 พ.ค. 68) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย หัวข้อ Ari Score Sandbox ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำ Ari Score ( อารีย์ สกอร์ )

ซึ่งเป็นนวัตกรรมการทำเครดิตสกอริ่ง ( คะแนนเครดิต ) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเครดิตหรือข้อมูลเครดิตที่สามารถใช้ในการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ที่มักจะมีรายได้ไม่แน่นอน มีเงินออมและสินทรัพย์น้อย รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ อารีย์ สกอร์ ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น ข้อมูลจากสวัสดิการแห่งรัฐ,ข้อมูลภาษี,หนี้สิน,เงินฝาก และข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้และวินัยทางการเงินของผู้ใช้บริการ มุ่งหวังที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ คาดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลางปีนี้หรือไม่เกินมิ.ย.2568

“อารีย์ สกอร์ จะช่วยให้ประชาชนตัวเล็ก เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อ เพื่อใช้ประกอบอาชีพหรือการดํารงชีวิต เพื่อจะไม่ได้เกิดเรื่องของสุญญากาศทางการเงินของครอบครัวต่อไป”

นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันคลังมีข้อมูลคนไทย จาก 3 แหล่งมาพัฒนาเวอร์ชันแรกเป็นอารีย์สกอร์ Gen 0-0.5 เช่น ทรัพย์สิน รายได้ และการรับสวัสดิการของรัฐ ซึ่งรวบรวมมาจากเครดิตบูโร สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และกรมภาษีทั้งหมด

ซึ่งมีข้อมูลจากประชาชนที่มาลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจนถึงปี 2565 ประมาณ 19 ล้านคน รวมทั้งดูความสามารถประชาชนจากประวัติการชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เพื่อมาจัดทำเป็นคะแนนเครดิต

ทั้งนี้ในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาเป็น อารีย์สกอร์ Gen 1 โดยใช้ข้อมูลจาก Data Lake ที่มีอยู่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ข้อมูลจากไปรษณีย์ ข้อมูลนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจะมีการขอข้อมูลจากทางกองทุนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มาใช้ประกอบด้วย

สำหรับโดยสถาบันการเงินที่จะนำอารีย์ สกอร์ ไปใช้ในการอนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรก คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

‘ศุภชัย’ ชู!! WTO เวทีกลาง เจรจา ประเทศมหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ - จีน’ แนะ!! ไทย รักษาพื้นที่การคลัง เร่งเจรจาตลาดใหม่ รับมือความไม่แน่นอน

(3 พ.ค. 68) ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNTCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'New World Order รับมือระเบียบโลกใหม่' ว่าปัจจุบันโลกมีความไม่แน่นอนมีสูงมากในขณะนี้เรากำลังมี 'new world order' ใหม่ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งบางคนมองว่าอาจจะเป็นภาวะที่เรียก new word disorder ที่มีความสับสนเพราะว่าโลกแบ่งออกเป็นหลายขั้วจึงต้องมีการเจรจาต่อรองโดยในโลกสมัยนี้เป็นโลกที่มีหลายขั้ว (multi polar world) สหรัฐ จีนรัสเซีย และยังมีขั้วของโลกเกิดใหม่อย่างเช่นอินเดีย อาเซียน อินโดนีเซีย เป็นอำนาจที่ไม่ได้มีใครเหนือใครแต่ต้องมาแบ่งปันและแชร์กัน

การที่มีความระส่ำระสายในระดับโลกนั้นเกิดขึ้นจากการที่ระเบียบและการค้าโลกแบบเดิมถูกสั่นคลอน สหรัฐฯเคยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนที่ดูแลระบบโลกทั้งหมดได้แต่ในขณะนี้ไม่ใช่แล้ว ในเรื่องทางเศรษฐกิจนั้นก็ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯนั้นถดถอยลงไปมาก จุดเริ่มต้นนี้มาจากการที่ประเทศอย่างจีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) สัดส่วนการค้าของสหรัฐฯโลกลดลงอย่างมาก ปัจจุบันสหรัฐฯมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่จีนขึ้นมาเป็น 15-16% จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกใหญ่ที่สุดของโลกสหรัฐกลายมาเป็นเบอร์ 2

สหรัฐยังมีปัญหาในเรื่องของระบบการเงิน โดยเห็นได้จากวิกฤตซับไพรม์หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่จะสะท้อนว่ามีปัญหาระดับวิกฤตในระบบการเงินของสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายวิกฤตที่ทำให้เกิดคำถามถึงความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การยึดไครเมียจากยูเครนในปี 2014 การเปิดเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI)ของจีน ในปี 2016  ที่จีนสามารถค้าขายไปยุโรปและทั่วโลก การระบาดของโควิด 19 ในช่วงปี 2019 -2022 ซึ่งประเทศที่มีการลงทุนในสาธารณสุขมากมายมหาศาลอย่างสหรัฐฯมีความเสียหายเกิดขึ้นมาก

และในปี 2025 ในปัจจุบัน ที่เริ่มสงคราม AI  เมื่อจีนมีการเปิดตัว deep seeks ที่เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ที่สำคัญของจีน ลงมา ลงทุนน้อยกว่าสหรัฐฯมากแต่ว่ามีประสิทธิภาพกว่า

ดร.ศุภชัย กล่าวว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเวทีพหุภาคีทั้งหลายยังคงต้องเป็นความหวังให้การพูดคุยกันระหว่างประเทศต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพื่อประคับประคองระบบต่างๆของโลกให้กลับไปสู่ภาวะปกติมากที่สุด ต้องเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องพวกนี้พยายามลดอุณหภูมิไม่ให้ร้อนแรงไปมากกว่านี้ 

ทั้งนี้ได้มีการหารือกันในเวที WTO ว่าบทบาทของ WTO ในการเข้ามาเป็นเวทีในการพูดจาเรื่องนี้ ซึ่ง WTO ควรจะมีบทบาทในการเป็นเวทีกลางในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้เราเคยมีวาระที่คุยกันเป็นรอบๆ ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมรอบเคนเนดี (Kennedy round) หรือว่าการประชุมรอบอุรุกวัย (Uruguay round) ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะเป็นเวทีที่เป็นรอบที่เป็นการพูดคุยกันเรื่องนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trump round) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของภาษีอากร ที่สำคัญเมื่อเราคุยกับอเมริกาแล้วเราก็ต้องคุยกับจีนได้ด้วยจะต้องคุยกับทั้งสองฝ่าย

สำหรับข้อเสนอของประเทศไทยในการรับมือกับสถานการณ์ที่โลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงมี 5 เรื่อง ได้แก่

1.เจรจากับตลาดอาเซียน และหาโอกาสการค้าในตลาดเกิดใหม่ โดยในปัจจุบันสหรัฐฯนั้นมีสัดส่วนการค้าโลกประมาณ 8% ขณะที่อาเซียนเราอยู่ในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและมีตลาดที่รวมกันทั่วโลกมีขนาด 30 -40 % ของการค้าโลก ซึ่งตอนนี้ไทยและอาเซียนควรต้องคุยกัน หาจุดร่วมกัน ไม่ควรใช้การกีดกันการค้า หรือดัมพ์ตลาดสินค้าใส่กัน เพราะจะเป็นการแก้ปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐฯแต่ก็จะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา  

2.ในระยะยาวต้องมีการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิต เรื่องนี้ต้องไม่ละทิ้ง เพราะในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ได้มีการบอกว่าเราต้องทำอะไร ที่สำคัญมีเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเราเดินทางสายกลางและมีภูมิคุ้มกันในขณะนี้เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากในทางของเศรษฐกิจ เมื่อมีความไม่แน่นอน เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้ในการรักษาเนื้อรักษาตัวของเรา เราต้องลงทุนในภาคของเศรษฐกิจ สังคม เรื่องสุขอนามัย การศึกษา พลังงานทดแทน เศรษฐกิจสีเขียวซึ่งเป็นการลงทุนใหม่ๆ ที่จะสร้างความต้องการในประเทศ ดูแลเศรษฐกิจภายในและให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุ สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตโดยไม่ต้องไปทำโครงการขนาดใหญ่ทั้งนี้หากจะสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ควรจะเป็นคอมเพล็กซ์เพื่อสุขภาพ กระจายไปในภาคต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมากขึ้น

3.ประเทศไทยต้องมีการรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่อยู่ในมือของกระทรวงการคลังเป็นสิ่งที่เราต้องมี เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ได้พยายามอย่าให้มีการใช้จ่ายหรือกู้เงินในส่วนที่ไม่จำเป็น เพราะอีกไม่นานนี้อาจจะต้องมีโครงการที่เป็นการใช้เงินขนาดใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นทางการคลังก็ต้องมีการดูแลตรงนี้ให้มาก

4.แก้ปัญหาและอุปสรรคที่มาใช่ภาษี โดยในรายงานของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เขียนถึงประเทศไทยยาวมาก แต่เขียนเรื่องภาษีไว้นิดเดียว เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องของกฎระเบียบศุลกากร กฎระเบียบทางกฎหมาย กฎระเบียบตรวจสินค้า ที่ซับซ้อน เราต้องดูว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคกับคู่ค้า

5.แก้ปัญหาการลงทุนที่มีการสวมสิทธิ์ส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สหรัฐฯเพ่งเล็ง เพราะว่านโยบายของทรัมป์ในขณะนี้ต้องการให้เกิดแรงกระแทกมายังยุทธศาสตร์ China Plus1 ของจีนที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามการค้ารอบแรก เห็นได้จากการที่บริษัทผลิตโซลาร์เซลล์จากไทยที่ส่งไปขายสหรัฐฯเจอภาษีไป 300% เพราะเขารู้ว่าโรงงานนี้ย้ายจากจีนมาลงทุนเพื่อหลบภาษีที่เขาขึ้นกับจีนแล้วส่งสินค้าไปขยายยังสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ต้องฝากกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะมีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อป้องกันการผลิตที่สวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดจากไทยแล้วส่งออก

‘พิชัย-พีระพันธุ์’ ร่วมย้ำ ค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. เหลือ 3.99 บาท/หน่วย ไม่ใช้งบหลวง เว้นแต่ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงรุนแรง

(6 พ.ค. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2568 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบลดค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2568 จาก 4.15 บาท เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยย้ำว่ารัฐบาลมั่นใจจะควบคุมค่าไฟให้อยู่ในกรอบนี้จนถึงสิ้นปี เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ภายใต้แผนพลังงานสะอาดปี 2566–2573

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันผ่านเฟซบุ๊กว่า การกำหนดเพดานค่าไฟไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาภาระประชาชน พร้อมเฝ้าระวังต้นทุนพลังงานอย่างใกล้ชิด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top