Friday, 4 July 2025
Econbiz

‘สุริยะ’ กำชับ ทอท. เตรียมรับมือช่วงตรุษจีน  คาดนักท่องเที่ยวจีนทะลักเพิ่มขึ้น 200% 

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลตรุษจีน นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free 

(1 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. กว่า 3.52 ล้านคน จึงสั่งการให้ ทอท. เตรียมความพร้อมทั้งด้านความปลอดภัยและบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับผู้โดยสารและปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้น และได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการการให้บริการภาคพื้นให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก รวดเร็ว สำหรับจุดตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งการให้ตรวจเช็กความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ Automatic channels รวมทั้งเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการ และเตรียมพร้อมในกรณีระบบตรวจคนเข้าเมืองเกิดขัดข้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ 

นอกจากนี้ ทอท. ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดรับกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของรัฐบาลและมาตรการ Visa Free ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน 

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารและผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารประมาณ 3,523,929 คน เฉลี่ย 352,393 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 20% และมีเที่ยวบิน 21,115 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,112 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดย ทสภ. จะมีการเดินทางมากที่สุด 1,735,885 คน เฉลี่ย 173,588 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.3% และมีเที่ยวบิน 9,439 เที่ยวบิน เฉลี่ย 944 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.6% รองลงมา คือ ทดม. 842,251 คน เฉลี่ย 84,225 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 19.2% และมี 6,104 เที่ยวบิน เฉลี่ย 610 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 24.7%, ทชม. 284,123 คน เฉลี่ย 28,412 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 12.7% และมี 1,679 เที่ยวบิน เฉลี่ย 168 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.3%, ทภก. 523,988 คน เฉลี่ย 52,399 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.7% และมี 3,005 เที่ยวบิน เฉลี่ย 300 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 21.5%, ทหญ. 78,974 คน เฉลี่ย 7,897 คนต่อวัน ลดลง 9.2% และมี 529 เที่ยวบิน เฉลี่ย 53 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.8% และ ทชร. 58,709 คน เฉลี่ย 5,871 คนต่อวัน ลดลง 7% และมี 360 เที่ยวบิน เฉลี่ย 36 เที่ยวบินต่อวัน ลดลง 8.6%

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมีสายการบินเฉพาะเส้นทางจีนแจ้งขอทำการบิน ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. รวมกว่า 3,086 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 202.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณผู้โดยสาร 458,813 คน เพิ่มขึ้น 220.2% โดยท่าอากาศยานที่แจ้งขอทำการบินมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ทสภ. 1,799 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 193.4% ผู้โดยสาร 282,982 คน เพิ่มขึ้น 224.6% รองลงมา คือ ทดม. 662 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 366.5% ผู้โดยสาร 88,074 คน เพิ่มขึ้น 328.5% และ ทภก. 497 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 167.3% ผู้โดยสาร 69,342 คน เพิ่มขึ้น 170.1% 

นอกจากนี้ ทอท. เตรียมพร้อมรองรับผู้โดยสารชาวจีนจากนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางจีนและคาซัคสถาน (Visa Free) เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ และจัดแคมเปญกระตุ้นตลาดด้านการบิน อาทิ ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ส่วนลดค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน (Landing Charges, Parking Charges และ Boarding Bridge Charges) ซึ่งในปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน

ทั้งนี้ ทอท. ได้จัดกิจกรรมสร้างความสุขและอวยพรนักท่องเที่ยวเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 5 - 14 กุมภาพันธ์ 2567 ในทุกท่าอากาศยาน และขอความร่วมมือผู้โดยสารเผื่อเวลาเดินทางล่วงหน้า 2 - 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AOT Contact Center โทร. 1722 ตลอด 24 ชั่วโมง

‘BIG-BGC’ ผนึกกำลัง ดันนวัตกรรม Climate Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘แก้ว-พลาสติก’

(1 ก.พ. 67) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและพลาสติกของบีจีซี โดยจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และตอบรับเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของบีจีซีในปี 2593

“การดำเนินดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเกิดมูลค่า (Value)”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า บริษัทตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Accounting Platform เพื่อมอนิเตอร์การใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำไปวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากกระบวนการผลิตโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมแก้วเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและนำมาทดลองใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าในการร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่บีไอจีและบีจีซีต่างให้ความสำคัญร่วมกัน และมีส่วนช่วยตอบเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งสองบริษัท อีกทั้งช่วยยกระดับและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สามารถนำไปใช้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม

ส่งออกข้าวไทย 66 ทะลุ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี ผลจากความต้องการในตลาดโลกพุ่ง-อินเดียชะลอส่งออก

(1 ก.พ.67) นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ส่งออกในปี 2566 ส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 13.62% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา เป็นการส่งออกเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 178,136 ล้านบาท หรือประมาณ 5,144 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.43% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกสูง การชะลอส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาโลกร้อน

ขณะที่เป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ สรุปร่วมกันว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน

ล่าสุดข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-30 มกราคม 2567 มีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้น 43.96% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน

>>ปัจจัยหนุนส่งออกข้าว 2567

โดยปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ คือผลผลิตข้าวของไทยที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.87% ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกที่อาจเผชิญกับการแข่งขันและความท้าทายหลายประการ เช่น ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของการบริโภคข้าวลดลง อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น

ขณะที่ไทยยังมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย

>>อินโดนีเซียซื้อข้าวลดลง อินเดียกลับมาส่งออก

นอกจากนี้ มีสัญญาณว่าอินโดนีเซียอาจซื้อข้าวน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากปี 2566 ค่อนข้างมาก ขณะที่จีนมีการผลิตข้าวมากขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำเข้าข้าวให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรและอาจส่งออกในอนาคต

นอกจากนี้ อินเดียอาจประกาศยกเลิกการระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้เสรีตามปกติ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นความท้าทายต่อการส่งออกข้าวไทย

>>แผนรับมือส่งออกข้าว

นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกราย เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง

ดังนั้น จึงจำเป็นที่ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกโดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงไม่ควรน้อยไปกว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศผู้ส่งออกอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลงเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและการกำจัดแมลง

ทั้งนี้ หากไทยไม่มุ่งเน้นพัฒนาปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้าข้าวในตลาดโลกในที่สุด

>>อัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออกข้าว

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมเดินหน้าทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมและผลักดันการส่งออกข้าวไทย ตามนโยบาย ‘รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ในการส่งออกไปต่างประเทศ’

โดยกิจกรรมหลักที่จะจัดขึ้นในปีนี้ ประกอบด้วย การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ ‘Thailand Rice Convention (TRC) 2024’ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน

รวมทั้งจะมีการจัดงาน TRC สัญจร ลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมมีแผนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และขยายตลาดข้าวกับแอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย รวมทั้งการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซียและจีน รวมถึงประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัด Thai Rice Roadshow ประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดจีนด้วย

เปิดตัว!! ‘รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ’ คันแรกของไทย พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อวานนี้ (31 ม.ค.67) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G คันแรกของไทย ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการนี้ดำเนินการ โดย ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี 5G รอบบึงพระราม ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน และมีผู้บริหารของหน่วยงานร่วมดำเนินการและหน่วยงานเครือข่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการวิจัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ.

โดยการสาธิตการใช้งานรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้ เป็นกิจกรรมของโครงการสร้างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันระหว่างรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับกับประชาชนและนักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี 5G ในเขตโบราณสถาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบ ระดับ 3 ร่วมกับการสื่อสารด้วยโมบายแอปพลิเคชันผ่านเครือข่าย 5G เพื่อให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวบริเวณรอบบึงพระราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถบัสไฟฟ้าไร้คนขับต้นแบบคันนี้นับเป็นรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับของคนไทย 100% เนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการต่อยอดพัฒนายานยนต์ไร้คนขับในระดับที่สูงขึ้น และขยายผลไปยังพื้นที่การใช้งานอื่นในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการให้บริการ ทางโครงการจะให้บริการรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยไม่มีค่าใช้จ่ายระหว่างวันศุกร์-วันอังคาร เวลา 09.00-17.00 น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถจองที่นั่งผ่านทางแอปพลิเคชันชื่อ ‘5G Auto Bus’ และขึ้นรถได้จากจุดจอดทั้ง 4 จุด ได้แก่

1. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นเมืองพระนครศรีอยุธยา
2. วัดมหาธาตุ
3. วัดธรรมิกราช และ
4. วัดพระราม

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

‘อ.พงษ์ภาณุ’ สรุปสาระสำคัญงาน CES 2024 แนะ ‘เศรษฐกิจไทย’ ควรเร่งจับ AI มาประยุกต์

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจ' เมื่อวันที่ 4 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เทคโนโลยี AI กำลังมาแรงและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทุกสาขาที่มีการประยุกต์ใช้ โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI หากรัฐบาลส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวและเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร ฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Consumer Electronics Show (CES) ที่ Las Vegas รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา CES เป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดเป็นประจำทุกปีที่ Las Vegas ปีนี้ CES มีความยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพราะมีผู้แสดงสินค้ากว่า 4,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และกิจการ Start Up ที่คิดค้นนวัตกรรมที่เตรียมเข้าสู่ตลาดและมีผู้เข้าชมกว่า 130,000 คน ตลอดระยะเวลา 4 วันของการแสดงสินค้า 

นอกจากนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผู้แสดงสินค้าในนามของประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย อาทิเช่น ไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอิสราเอล ซึ่งนำนวัตกรรมไปแสดงอย่างน่าภาคภูมิใจ น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนวัตกรรมจากประเทศไทยแม้แต่พื้นที่เดียว ผลลัพธ์ที่ได้อยู่ในรูปของการสั่งซื้อสินค้า การร่วมลงทุน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในระดับ B2C และ B2B

ผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของงาน CES ในปีนี้ หนีไม่พ้นสินค้าและบริการที่เป็น Applications ของ AI ในสาขาต่าง ๆ ในด้านสุขภาพและสาธารณสุข เครื่องสวมใส่ (Wearables) เช่น แหวนและกำไร ที่ทำหน้าที่ตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพของผู้สวมใส่แบบ real time ทั้งในเรื่องไขมันในเลือด ความดันโลหิต ระดับน้ำตาล ตลอดจนสภาพจิตใจและประสาท

ในเรื่อง Smart Home ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็น AI applications จำนวนมากมาแสดง ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการการใช้พลังงานในบ้านเพื่อลดโหลดและสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ EV การใช้แสงสว่าง การใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

ในสาขาการคมนาคมขนส่ง Taxi Drones และรถแท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous Taxis) เป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและมีการนำมาใช้จริงในหลายเมืองทั่วโลก เครื่องมือติดตั้งรถยนต์ EV เพื่อใช้ควบคุมและพยากรณ์วิสัย (Range) การขับขี่ต่อการชาร์จแบตเตอรี่อย่างแม่นยำ ที่ได้คำนึงถึงสภาพอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ และสภาพถนนหนทาง เทคโนโลยี AI ยังนำมาใช้ในระบบบริหารจัดการการจราจรที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสาขาที่ AI Applications ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการ การประมาณการ และการตัดสินใจอย่างถูกต้องแม่นยำ สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ภาคการเกษตร, การศึกษา, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แน่นอน นวัตกรรมเทคโนโลยีย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี (Tech Giants) ของสหรัฐฯ สามารถตักตวงผลประโยชน์ทางการเงินได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทย ก็อยู่ในวิสัยที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่นี้เช่นกัน…

- ประการแรกเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหลายสาขา 

- ประการที่สอง AI สามารถใช้ได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่อิงกับ Smart Phone เป็นหลัก ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ไม่แพ้ใคร และไทยมีสัดส่วน Smart Phones ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อประชากรสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก 

- และประการสุดท้าย ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยี AI จะเข้ามาเสริมทักษะแรงงานไทยทั้งในภาครัฐและเอกชนให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความเพียงพอมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการนำ AI มาใช้ ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐ เราได้ยินนโยบาย Thailand 4.0 และการผลักดันให้เกิด Big Data ในทุกภาคส่วน มาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จนแล้วจนรอดสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่บังเกิดผลเป็นรูปธรรมเสียที ถึงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังได้แล้ว ก่อนที่ไทยจะตกรถด่วนขบวนสุดท้าย

'อีอีซี' ร่วม 'CtrlS' ทุนบิ๊กอินเดีย ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกใน EECd เชื่อ!! ช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าไทย

(2 ก.พ. 67) ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ภายในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd จังหวัดชลบุรี ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ บริษัท CtrlS Datacenters จากประเทศอินเดีย เพื่อตั้งโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ (Hyperscale Datacenter) ในประเทศไทย โดยมี ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี และ Mr.Siddharth Singh รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาด (Senior Vice President, Marketing) บริษัท CtrlS Datacenters เป็นผู้ลงนามสัญญา

การลงนามสัญญาฯ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงความสำเร็จรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของพื้นที่อีอีซี โดยบริษัท CtrlS ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์ชั้นนำระดับโลก (Hyperscale Tier4) จากประเทศอินเดีย และรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้เช่าพื้นที่ภายในเขต EECd ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจากอีอีซี จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี ลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านดิจิทัลได้สูงสุด และถือเป็นการขยายฐานการลงทุนนอกประเทศครั้งแรก รับกลุ่มลูกค้าด้านบริการข้อมูลชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 15,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ให้อีอีซี ประมาณ 1,300 ล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 อัตรา เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับ บริการระบบข้อมูล (Cloud Service) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน ตามนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับการแข่งขันของประเทศ 

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการไฮเปอร์สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ จะใช้เทคโนโลยีจัดการพลังงาน และพลังงานสะอาดรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 150 เมกะวัตต์ รวมทั้งที่ตั้งจะอยู่ใกล้สถานีเคเบิลใต้น้ำชลี 3 จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อที่มีความพร้อมทั้งโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำและภาคพื้นดิน สามารถเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และไต้หวัน ด้วยระบบเคเบิลใต้น้ำประสิทธิภาพสูง และเชื่อมต่อไปยังดาต้าเซ็นเตอร์ และนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2568 และจะเป็นโครงการสำคัญ ให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค รองรับนักลงทุนในและต่างประเทศในธุรกิจดิจิทัลขั้นสูง เช่น 5G ระบบ AI, Cloud, IoT, Smart City และสามารถดึงดูดผู้ประกอบการด้านบริการข้อมูลระดับโลกให้เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

‘ILINK’ ดันยอด ‘ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ’ เดือนม.ค. แตะ 331 ลบ. ทะลุเป้าที่ตั้งไว้

(2 ก.พ. 67) สมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า ‘INTERLINK’ เปิดแคมเปน ‘LINK AMERICAN & GERNAN RACK EVERY WHERE’ สามารถทำยอดขาย ‘ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ’ เดือนมกราคม ทะลุเป้า จากที่ตั้งเป้าหมาย ยอดขาย 250 ล้านบาท/เดือน ในขณะนี้สามารถทำยอดขายทะลุเป้าเดือน มกราคม ด้วยยอดขาย 331 ล้านบาท

“ซึ่งถือเป็นข่าวดีปีใหม่ต้อนรับตรุษจีน ของผู้ถือหุ้น ILINK กันอย่างถ้วนทั่วหน้า” นายสมบัติ กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เปิดงาน Thailand Green and Smart Mining Forum 2024 'เหมืองแร่ไทยใต้หลักธรรมาภิบาลและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่จะดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีธรรมาภิบาล ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยทั่วกัน

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า กิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' เป็นกิจกรรมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน เพื่อให้การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็น 'เหมืองแร่ของประชาชน' ลดความขัดแย้งในการพัฒนาแร่ เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและชุมชน 

โดยกิจกรรมวันนี้ ได้นำมาตรการทางสังคมเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่และมาตรการทางกฎหมาย อาทิ เวทีให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้ร่วมแสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบและหลักธรรมาภิบาลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การมอบรางวัล Thailand Green and Smart Mining Awards ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการร่วมกันประกาศและลงนามในเจตนารมณ์การเป็นเหมืองแร่ที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการเหมืองแร่

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การเกษตร เทคโนโลยีชั้นสูง และพลังงานหมุนเวียน การผลักดันให้สถานประกอบการเหมืองแร่มีการดำเนินการที่เป็นมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำเหมืองสมัยใหม่มาใช้ในการทำเหมือง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามกรอบแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 โดยกิจกรรมที่จัดในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมแบบ Net Zero คือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วย

ด้าน นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงรายละเอียดของกิจกรรม 'Thailand Green and Smart Mining Forum 2024' ประกอบไปด้วย...

• การปาฐกถาหัวข้อ 'การบริหารจัดการแร่อย่างยั่งยืนภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2' โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• การมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์กิจกรรม Thailand Green and Smart Mining และรางวัล “Thailand Green & Smart Mining Awards 2023” ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 รางวัล ได้แก่...

1. ประเภทกิจการเหมืองแร่ จำนวน 5 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) จำกัด
(2) บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน)
(3) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด
(4) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด
(5) บริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด

2. ประเภทกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่...
(1) บริษัท ตรัง ยูซี จำกัด

• พิธีการประกาศเจตนารมณ์และลงนามการเป็นเหมืองแร่มีธรรมาภิบาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกิจการเหมืองแร่ไทย ครั้งที่ 3 ของผู้ประกอบการเหมืองแร่ จำนวน 10 ราย

• การจัดนิทรรศการของผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้รับรางวัล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 7 ราย

• การนำเสนอแนวทางการประกอบกิจการของผู้ที่ได้รับรางวัล Thailand Green & Smart Mining Awards 2023 

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย เรื่อง 'Net zero emissions' จากผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และการเสวนา เรื่อง 'การประกอบกิจการเหมืองแร่ไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ' โดย ผู้ประกอบการเหมืองแร่อีกด้วย

'สุริยะ' เดินหน้า!! พัฒนาถนนสายรองเชื่อมโยงสายหลัก นำร่องถนนสาย อย.3006 อยุธยา หนุนแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

(2 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการที่ได้มอบนโยบายกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาเส้นทาง นำความเจริญสู่ท้องถิ่น พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางทั่วทั้งประเทศให้เชื่อมถึงกัน โดยให้เน้นการดำเนินงานในด้านการพัฒนาถนนสายรอง เชื่อมโยงจากถนนสายหลักของกรมทางหลวงเข้าสู่พื้นที่การเกษตรเพื่อนำพืชผลการเกษตรของพี่น้องประชาชนไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวมถึงพัฒนาถนนสายรองเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทางและเป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

ทั้งนี้ ทช. โดยสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1 (ปทุมธานี) ได้รับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ดำเนินการก่อสร้างและยกระดับถนนทางหลวงชนบทสาย อย.3006 แยก ทล.340 - บ้านไม้ตรา อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้งบประมาณ 49.750 ล้านบาท โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร กว้าง 3.25 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 - 2 เมตร ขยายความกว้างสะพานคอนกรีต พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องหมายจราจร ตั้งแต่ช่วง กม. ที่ 4+650 - 5+650 ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อสนับสนุนการขนส่งพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวจะมีรถบรรทุกขนส่งพืชผลทางการเกษตรใช้เป็นเส้นทางขนส่งจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางเชื่อมต่อเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และสถานที่ราชการบริเวณใกล้เคียง เช่น วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้มีปริมาณการจราจรมากถึง 7,727 คัน/วัน ซึ่งถนนสายดังกล่าวมีสภาพชำรุดตามระยะเวลาการใช้งาน 

"โครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางให้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนขนส่งพืชผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างถนนสายหลัก ใช้เป็นทางลัด - ทางเลี่ยงเชื่อมการเดินทางจากอำเภอลาดบัวหลวง สู่อำเภอบางไทร และเข้าสู่แหล่งชุมชนให้มีความสมบูรณ์อีกด้ว" รมว.คมนาคม กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top