Monday, 12 May 2025
Econbiz

'นายกฯ' ถก!! ปตท. 'หารือ-หนุน' การลงทุนในต่างประเทศ  แนะ!! ลุย 'โซลาร์ลอยน้ำ-ผลักดันสตาร์ตอัปไทย' ในศรีลังกา

(5 ก.พ.67) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าได้หารือกับนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และนายคงกระพัน อินทรแจ้ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

ทั้งนี้นายเศรษฐาได้เปิดเผยว่าการหารือกับประธานบอร์ด ปตท. และ ซีอีโอ ปตท. โดยหารือถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และมีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะในโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (Solar Floating) รวมทั้งการขยายการลงทุนไปยังศรีลังกา ซึ่งต้องการการลงทุนจากประเทศไทยอย่างมาก

“หลังจากผมได้กลับมาจากการเดินทางที่ประเทศศรีลังกา ผมได้เชิญประธานกรรมการ ปตท. เพื่อมาพูดคุยถึงโอกาสในการลงทุนของ ปตท.ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการขยายธุรกิจ และถือว่ามีโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงานสะอาด (Solar Floating) ซึ่งประเทศศรีลังกา พร้อมเปิดรับการลงทุนจากไทยด้วย”

นอกจากนั้นได้ให้นโยบายด้วยว่าอยากให้ ปตท.เข้ามาส่งเสริมธุรกิจ Start-up และการส่งเสริมผลักดันสมาคมกีฬาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากทาง ปตท.ด้วย

"เชื่อมั่นว่าจะเป็นการยกระดับของปตท. ไม่ใช่เป็นเพียงแค่บริษัทพลังงานในประเทศไทย แต่ยังเสริมสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับประชาชนในประเทศอีกด้วยครับ" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยเสน่ห์ท่องเที่ยวไทย คือไมตรีของคนทุกท้องถิ่น

ไม่นานมานี้ สำนักข่าว บีบีซี (ภาคภาษาเวียดนาม) ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง 'ไทย แชมป์ อาเซียนด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ : เมื่อไหร่จะถึงคิวเวียดนามบ้าง?' โดยสืบเนื่องจากปี 2023 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเวียดนามแห่ไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และใช้จ่ายไปถึง 11,000 ล้านด่อง 

นักข่าวบีบีซีท่านนี้ที่ชื่อ Tran Vo ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย โดยนายวีระศักดิ์ ได้กล่าวชี้ชัดสั้น ๆ ไว้ว่า “เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย คือความเป็นมิตรไมตรีของคนไทยในทุกท้องถิ่น และรัฐช่วยอีกแรงด้วยการผ่อนคลายด้านวีซ่า”

ก่อนหน้านี้ เหงียน วัน มาย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามยอมรับด้วยว่า “ไทยเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวแม้ไม่ต้องมีนโยบายเปิดคาสิโนอย่างที่เวียดนามทำ เพราะไทยสามารถเปลี่ยน 'เรื่องพื้น ๆ' ให้เป็นเรื่องน่าเที่ยว และเมื่อบวกกับความต้อนรับขับสู้ในการให้บริการ ก็สามารถได้ความประทับใจโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย”

นอกจากนี้ ยังได้เอ่ยชื่นชม ททท.ไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมคุณค่าให้ของพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น น้ำหวานดอกมะพร้าวให้กลายเป็นสินค้าน่าประทับใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการพาชมหิ่งห้อยอัมพวา การใช้ผลไม้ที่เผาเป็นถ่านใช้ไล่ยุงในรีสอร์ต ว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเสน่ห์ที่แม้แต่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจยังยอมรับแบบหมดใจ 

ท่องเที่ยวไทย เสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็หลงใหล

สำหรับบทความเต็ม ติดตามอ่านต่อได้ใน >> https://www.bbc.com/vietnamese/articles/cxem54drekpo

‘ก.อุตฯ’ เดินหน้า!! เพิ่มโอกาส SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมหนุนความรู้ สร้างธุรกิจแกร่งอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน

(6 ก.พ. 67) ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ระบุว่า ปัจจุบันทางกระทรวงฯ ได้เดินหน้านโยบายในการสนับสนุน และขับเคลื่อนศักยภาพผู้ประกอบการ SME แบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนแหล่งเงินทุน การลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน การวิเคราะห์ตลาดอย่างรอบคอบ การบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยใช้กลไกของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME สู่ การเป็น Smart SMEs และ Global SMEs รวมถึงการยื่นรับรองมาตรฐาน อย่าง ฮาลาล GMP ตลอดจนการยกระดับด้วยเทคโนโลยี และ Ecosystem เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม มีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนให้ SME เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม ‘อุตสาหกรรมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน’

ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีการถอดบทเรียน พัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเจ้าหน้าที่ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ จำนวน 2,138 ราย วงเงินรวมที่ขอ 2,833 ล้านบาท โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้ขอรับสินเชื่อจากโครงการฯ มากที่สุด จำนวน 545 ราย คิดเป็น 25% รวมเป็นจำนวนเงิน 587.17 ล้านบาท

‘มิว สเปซ’ ผนึก ‘ispace’ ลงนามบันทึกความเข้าใจ เดินหน้าภารกิจบน ‘ดวงจันทร์’ ภายในปี 2028

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ประกาศการลงนามบันทึกความเข้าใจสองฉบับเกี่ยวกับบริการเพย์โหลดและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท ispace inc. (ispace) บริษัทสำรวจดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์ภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 โดยที่การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่ภารกิจดวงจันทร์ในอนาคตระหว่างสองบริษัท

ตามข้อตกลงทั้งสองบริษัทได้เข้าสู่การเจรจาสำหรับบริการเพย์โหลดในอนาคตเพื่อไปยังวงโคจรและพื้นผิวดวงจันทร์ และตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดดาวเทียมดวงจันทร์ โดยการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการขนส่งและการปล่อยเพย์โหลดดาวเทียมดวงจันทร์และการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ในส่วนหนึ่งของข้อตกลง มิวสเปซ และ ispace จะดำเนินการพัฒนาตลาดร่วมกันในญี่ปุ่นและไทยเพื่อเร่งจำนวนภารกิจดาวเทียมวงโคจรดวงจันทร์ รวมถึงเพย์โหลดดาวเทียมขนาดเล็กและเพย์โหลดสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม

มิว สเปซ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยภารกิจ sub-orbital ที่ประสบความสำเร็จ 4 ภารกิจตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 มิว สเปซ ในปัจจุบันมีแผนที่จะจัดหาดาวเทียมและอุปกรณ์ให้กับภารกิจที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ispace ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โดเกี๊ยวได้กลายเป็นผู้ให้บริการขนส่งไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกที่สามารถส่งลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2022 และในขณะมีภารกิจที่กำหนดไว้สำหรับปี 2024, 2026 และ 2027

เจมส์ เย็นบำรุง ผู้บริหารระดับสูงและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของมิว สเปซ กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีที่จะแบ่งปันข่าวของความร่วมมือระหว่าง มิว สเปซ กับ ispace นี่ถือเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งแรกของเรา แสดงถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของเราในการเป้าหมายบนดวงจันทร์ภายในปี 2028" 

"เราพร้อมที่จะพิสูจน์เทคโนโลยีสำคัญและสร้างฐานสำหรับการพยายามบนดวงจันทร์ในอนาคตในร่วมมือกับทุนของ ispace และความร่วมมือนี้ยังเป็นการยืนยันถึงการยกระดับเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียอีกด้วย" 

ด้าน ทาเคชิ ฮาคามาดะ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ispace กล่าวว่า "การใช้ดาวเทียมดวงจันทร์ที่มีความคล่องตัวสูงสำหรับเครือข่ายการสื่อสาร การวิจัยวิทยาศาสตร์ และการใช้งานอื่นๆ อีกมากมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีอยู่ของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว"

"ผมยินดีที่จะประกาศข้อตกลงกับมิวสเปซที่จะสร้างตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกสำหรับภารกิจดาวเทียมดวงจันทร์เพื่อเป็นการสร้างเศรษฐกิจดวงจันทร์-โลก นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้วิสัยทัศน์ของ ispace ที่ว่า 'ขยายดาวเคราะห์ของเรา ขยายอนาคตของเรา' เป็นจริง"

‘รมว.ปุ้ย’ เข้าหารือ ‘เจ้าการกระทรวงกลาโหม’ ส่งเสริม ‘อุตฯ ฮาลาล’ ใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้

เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67) นางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยถึงสาระสำคัญในการเยือนกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมฮาลาล’ กับ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำข้อราชการสำคัญเข้าหารือกับเจ้ากระทรวงกลาโหม ในประเด็นการเร่งผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่ภาคใต้ 

สืบเนื่องจากคุณลักษณะความเหมาะสมเชิงพื้นที่ มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัตถุดิบ ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซีย ตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่สำคัญพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของไทย มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงสุดได้ถึง 8 ปี ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมการส่งเสริมการลงทุนอย่างมาก ทางกระทรวงฯ จึงได้เข้าหารือเพื่อขอรับความร่วมมือจากเจ้ากระทรวงกลาโหมในการสนับสนุนพัฒนาและความมั่นคงในเชิงพื้นที่ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จแก่เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

ทั้งนี้ รมว.ได้เผยอีกว่า “ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดี เพราะนอกจากจะได้เข้าพบกับท่านสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ก่อนหน้าไปพบท่านสุทินปุ้ยก็ได้ถือโอกาสเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ที่คู่มากับกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเข้าไปสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นไปสักการะหอเทพารักษ์ทั้ง 5 ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเทพารักษ์ทั้ง 5 เป็นเทพยดาผู้ปกป้องป้องบ้านเมืองของเรา อันมีพระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, เจ้าพ่อเจตคุปต์, พระกาฬไชยศรี, เจ้าหอกลอง โดยได้สักการะตามขั้นตอนประเพณีที่สืบกันมาอย่างครบครัน รวม 5 ขั้นตอน อานิสงส์ทั้งหลายที่ได้กระทำการมงคลนี้ ขอสำเร็จ สัมฤทธิ์ผลแด่พ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาทุกๆ ท่าน”

Thai SELECT หมุดเอกลักษณ์แห่งอาหารไทยแท้ที่ต่างชาติต้องปลื้ม แค่พบเห็น ก็การันตี 'รสชาติ-สุขภาพ-พิถีพิถัน-สะอาด'

ไม่นานมานี้ เอกอัครราชทูตอุรษา มงคลนาวิน และนางเมทินี ศิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงวอร์ซอ ได้เดินทางไปมอบเกียรติบัตรตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่เมือง Wroclaw ให้แก่ร้านอาหารไทย 'Chai Thai' ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการว่าเป็นร้านอาหารไทยที่มีการขายอาหารที่มีความเป็นไทยแท้ รสชาติอาหารอร่อย มีบริการตามแบบฉบับไทย และมีบรรยากาศภายในร้านสะอาดสวยงามสะท้อนความเป็นไทย

ร้านอาหาร Chai Thai ตั้งอยู่ที่ถนน Waclawa Berenta 68/LU3 เมือง Wroclaw ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโปแลนด์ ห่างจากกรุงวอร์ซอไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศโปแลนด์ มีบริการอาหารไทยหลากหลายรูปแบบ ที่มาพร้อมกับรสชาติที่เข้มข้นและหอมสมุนไพรไทย ทุกเมนูมาจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน โดยใช้เทคนิคและเคล็ดลับอย่างพิถีพิถันจากเชฟไทย ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การกินอาหารไทยที่สนุกสนานและอร่อยที่สุด

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้มีการระบุเพิ่มเติม ว่า...

1. ปัจจุบัน มีร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์จำนวน 13 แห่ง โดยอยู่ในกรุงวอร์ซอจำนวน 5 แห่ง และกระจายอยู่ตามเมืองหลักของโปแลนด์ โดยในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารไทยในโปแลนด์ให้ความสนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีร้านอาหารไทยในโปแลนด์ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ อีกไม่ต่ำกว่า 2 ร้านภายในปี 2567 นี้

2. ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคอาหารไทยว่า จะได้รับบริการอาหารไทย ซึ่งเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว มีส่วนผสมและวัตถุดิบในการปรุงที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีความหลากหลาย จะทำให้ร้านอาหารไทยเป็นที่ยอมรับ ตลอดจน ส่งเสริมให้เกิดความนิยมบริโภคอาหารไทยอย่างยั่งยืน จึงควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องปรุงรสไทยในสื่อประเภทต่างๆ ของโปแลนด์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้อาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของผู้บริโภคโปแลนด์ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน 'เอสเอ็มอีไทย' เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ชูโครงการ ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ เข้าช่วย

(6 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเข้าถึงหลักประกันและแหล่งเงินทุน ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนากลไกสนับสนุน SMEs ให้มีโอกาสได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินผ่านการช่วยค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

รมว.พิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจได้อย่างเต็มกำลัง โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สู่ความยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปให้มีความเข้มแข็งภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และความท้าทายรอบด้าน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญต่อการก้าวข้ามปัญหา และความท้าทายดังกล่าว คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ทำได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รัฐบาลโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ออกกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกันได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการเพื่อค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และทำให้เอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินมากเกินความจำเป็นจากการใช้สินเชื่อผิดประเภท

“เราได้เล็งเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว และนำมาเป็นโจทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข อย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งหากลไกการค้ำประกันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ได้รับวงเงินสินเชื่อธุรกิจที่เพียงพอกับความต้องการในการต่อยอดธุรกิจ เป็นกลไกหมุนเวียนรายได้และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคต่างๆ จนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในประเทศ จนส่งผลให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในระดับประเทศและสากลได้”

ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ อาจมีข้อจำกัด ดังนั้น โครงการนี้ จึงหวังที่จะช่วยเอสเอ็มอีได้ยื่นขอเงินสนับสนุนได้ง่ายขึ้น เบื้องต้นคาดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับสิทธิ์ราว 1,000 ราย วงเงินสนับสนุนขั้นต่ำระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท อีกทั้ง ยังจะช่วยให้เอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมียอดการกู้เงินนอกระบบหลักหลายแสนล้านบาท ลดลงด้วย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดีพร้อม ตอบรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. พัฒนากลไกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นโดยใช้หนังสือค้ำประกันแทนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่าน โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’

ทั้งนี้ มี 4 พันธมิตรสถาบันการเงิน เข้าร่วมสนับสนุนสอดรับกับนโยบาย Reshape the Future: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคตผ่านกลยุทธ์การปรับตัวเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (Reshape the accessibility) ภายใต้นโยบาย DIPROM Connection เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ สร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม กับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 5 ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องผ่านดีพร้อมเพื่อขอรับการพิจารณาการค้ำประกันและส่งต่อให้กับทางสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 โดย ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้นภายใน 7 วันทำการ ซึ่งคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท

ด้าน นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้กระทรวงการคลัง รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. โดย ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ‘บสย. F.A. Center’ จะช่วยให้ SMEs ที่มีมากกว่า 3.2 ล้านราย โดยเฉพาะรายที่ขาดหลักประกันสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ร่วมกับธนาคารพันธมิตรทั้ง 4 สถาบันการเงิน ภายใต้แนวนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DPROM Connection เชื่อมโยงกับทิศทางการเป็น Digital SMEs Gateway ของ บสย. กับบทบาทการเป็นตัวกลางทางการเงิน (Credit Mediator) เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อพร้อมการค้ำประกันและการให้คำปรึกษาทางการเงิน การปรับแผนธุรกิจ และการแก้หนี้ให้กับ SMEs ในลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ โดย บสย. F.A. Center

ทั้งนี้ บสย. ได้เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่สมัครและผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สามารถลงทะเบียน Online เข้าร่วมโครงการผ่าน LINE Official Account @tcgfirst ได้ โดยผู้ประกอบการที่สมัครภายใน 30 วันหลังจากวันที่เปิดรับสมัครและได้รับอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินค้ำประกัน 100 รายแรก จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันหรือค่าออกหนังสือค้ำประกันทันที

เปิดภารกิจ WHA ใต้ธงเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้อง ‘ใช้ซ้ำ-แบ่งปัน-แลกเปลี่ยน-ซ่อมแซม’

(6 ก.พ.67) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสร้างนวัตกรรมบนห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การนำวัสดุรีไซเคิลหรือพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิต (Circular Supplies) การออกแบบให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Design) การเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการสูญเสียในการผลิต (Circular Manufacturing) ตลอดจนการใช้ของที่ผลิตขึ้นมาแล้วให้คุ้มค่าที่สุด ให้เกิด Utilization สูงที่สุดไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน หรือซ่อมแซม (Circular Consumption)

ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้พัฒนาโมเดลธุรกิจจากแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปแทรกในแต่ละหน่วยธุรกิจได้ตลอดซัพพลายเชน รวมถึงบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ได้ริเริ่มสร้างโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก 

นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ที่มุ่งสร้างอนาคตอันยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

WHA เรามีภารกิจ Mission to the Sun ซึ่งเป็นโครงการที่รวมยุทธศาสตร์ และโครงการที่สำคัญๆ ไว้ ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่มบริษัท และยกระดับองค์กรสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยมีการเริ่มโครงการ Circular Economy ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ไปแล้วถึง 3 โครงการ ดังนี้

1.WHA Circular Innovation เป็นการวาง Roadmap ในการปฏิรูปทางธุรกิจ และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของกลุ่มดับบลิวเอชเอภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ของกลุ่มบริษัท

โดยเราได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Circular Business คือ การสร้างธุรกิจใหม่ และกลุ่ม Circular Process ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการต่างๆ ภายในของเราให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มศึกษาและดำเนินการไปแล้วกว่า 40 Initiatives

2.WHA Waste Management เป็นโครงการที่ชนะเลิศจากการประกวด Bootcamp ซึ่งเป็นการแข่งขันสร้างโมเดลธุรกิจในกลุ่มพนักงาน เพื่อเปลี่ยน DNA องค์กร และสร้าง Tech Mindset

โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยจำนวน 12  แห่ง มีวัสดุเหลือใช้ และของเสียจากกระบวนการผลิตปีละประมาณ 500,000 ตัน ที่จำเป็นต้องบำบัดและกำจัด โดยในจำนวนของเสียทั้งหมดนี้ มีสัดส่วนถึง 65% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น เศษโลหะ กระดาษ พลาสติก

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตของเสีย (Waste Generator) และผู้บริโภคของเสีย (Waste Consumer) หรือ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบของโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างลงตัว ทั้ง 2 ฝ่ายได้ขยะหรือวัตถุดิบที่ตัวเองต้องการ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำโมเดลธุรกิจที่ต้องหารือกับผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย และตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.WHA Emission Trading คือ โครงการสร้างแพลตฟอร์ม Emission Trading ที่มีหน่วยงานรับรองในลักษณะเดียวกับการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต ซึ่งน่าจะเห็นความเป็นรูปธรรมได้เร็ว เนื่องจากเป็นการต่อยอดจากโครงการ Peer-to-peer Energy Trading ที่เป็นแพลตฟอร์มเทรดพลังงานที่จะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในรูปแบบโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox Project) แล้ว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาให้เริ่มดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สำหรับแพลตฟอร์ม Emission Trading คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2567 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 

นอกจาก 3 โครงการ Circular Economy ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ยังมีอีก 2 โครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Net Zero 2050 ได้แก่ 

1.โครงการ Green Logistics ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการเปลี่ยนการใช้รถเชิงพาณิชย์ในการขนส่งจากรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจสีเขียวในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัท มีแผนที่จะจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอโดย ดับบลิวเอชเอ  ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับโครงการ Green Logistics ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม รับทราบข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเส้นทางขนส่งสินค้าที่ประหยัด และใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้เวลาน้อยที่สุด

2.โครงการ Carbon Footprint Platform ซึ่งเป็นระบบ Carbon Accounting ที่มีข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาได้เท่าไรเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีปริมาณการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX), ออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOX) จำนวนมาก และต้องการเข้าสู่ Zero Emission อาทิ ผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมิคอลในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง 

นายไกรลักขณ์ มองว่า “สำหรับเป้าหมาย Net Zero 2050 มีระยะเวลานานอีก 27 ปี จึงมองว่ามีโอกาสที่ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้อีกมาก และมองว่าการดำเนินการในปัจจุบันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยดับบลิวเอชเอ ยังจะมีโครงการในลักษณะดังกล่าวเปิดตัวออกมาอีกหลายโครงการ” 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการกำหนดมาตรการสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาทิ CBAM, RE100, Green Supply Chain, Digital Product ภาคธุรกิจเริ่มมีข้อกำหนดถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน ผู้นำเข้าสินค้าเพิ่มเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ไม่ลดการปล่อยคาร์บอน

ในประเทศไทยเอง เริ่มเห็นกระแสความต้องการบริการสีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิต จากผู้ผลิตสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องพลังงาน เช่น การผลิตพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ซึ่งผู้ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศยังไม่สามารถทำ RE100 ได้ แต่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน 100%  

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีแผนการขยายฐานการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย อาทิ บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแผนเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่สามารถช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาซึ่งภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมถึงสร้าง Business Model หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับกิจการไปพร้อมกับการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืน 

“WHA Circular Economy จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

‘รทสช.’ ดัน ‘กฎหมายประมง’ เข้าสภาฯ สัปดาห์นี้ หวังพลิกฟื้นประมงพื้นบ้าน-อุตสาหกรรมประมง

เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงภายหลังประชุมพรรคว่า พรรครวมไทยสร้างชาติจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประมงเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในสัปดาห์นี้ จุดประสงค์เพื่อพลิกฟื้นการทำอาชีพประมง โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมประมง ให้กลับมาเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ

นายอัครเดช กล่าวว่า "ที่ผ่านมาเรามีกฎหมายประมงที่ทำให้ชาวประมงเจอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพประมงเป็นอย่างมาก ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจึงต้องการเสนอกฎหมายนี้เพื่อแก้ปัญหาให้อาชีพประมงกลับมาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศอีกครั้ง ดังนั้นการเสนอ พ.ร.บ.ประมงในครั้งนี้จะทำให้สามารถพลิกฟื้นอุตสาหกรรมประมงและอาชีพของชาวประมงให้กลับมาเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ"

ทั้งนี้ การมีกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพประมงได้เข้าถึงการทำประมง ที่ถูกกฎหมาย เป็นกฎหมายที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบอาชีพประมง ลดอุปสรรคต่าง ๆ 

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ย้ำอีกว่า การประชุมสภาฯ ครั้งที่ผ่านมามีการยื่น พ.ร.บ.ประมงเข้าสภาฯ มาแล้ว แต่ไม่ผ่าน เนื่องจากยื่นในช่วงปลายของรัฐบาล ทำให้มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา แต่ครั้งนี้ยื่นให้พิจารณาต้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร คิดว่า กฎหมายฉบับนี้จะสำเร็จภายในรัฐบาลนี้แน่นอน ขอให้พี่น้องชาวประมงสบายใจได้เพราะเป็นกฎหมายที่ชาวประมงรอคอย

'สุริยะ' อัปเดต!! 'สะพานข้ามคลองตำมะลัง' เมืองสตูล คืบหน้า 75%  คาดเสร็จกลางปีนี้ ช่วยหนุน 'ศก.-ขนส่งสินค้าเกษตร-ประมง' ได้มาก

(7 ก.พ.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับพระราชทานพระราชานุมัติจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 75 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567 โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะตำมะลัง ประมาณ 2,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง ที่ผ่านมาการเดินทางต้องสัญจรด้วยเรือข้ามฟาก ต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนบนเกาะตำมะลัง และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเดินทางระหว่างเกาะตำมะลังและแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือการอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและประมงในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง จังหวัดสตูล ทช. ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่ของตำบลตำมะลัง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ทช. จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณานำเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ 

จากนั้น ทช. จึงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ และได้เริ่มก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง ในปี 2563 มีจุดเริ่มต้นจากแยก ทล.406 บริเวณ กม. ที่ 93+900 ด้านขวาทาง ขนาด 2 ช่องจราจร ตรงเข้าสู่ ท่าเทียบเรือประมงเอกชนริมคลองตำมะลัง จากนั้นสะพานจะข้ามไปยังฝั่งบ้านตำมะลังเหนือ หมู่ที่ 2 ผ่านพื้นที่เกษตรกรรมและถนนดินไปสิ้นสุดที่บริเวณถนนสาธารณะของหมู่บ้าน ใช้งบประมาณ 433.190 ล้านบาท 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างงานติดตั้งโครงสร้างราวกันตก งานพื้นสะพานช่วงกลางน้ำ งานติดตั้งชิ้นส่วนสำเร็จรูปพื้นสะพานและงานถนนคอนกรีตเสริมเหล็กฝั่งเกาะตำมะลัง โดยมีรายละเอียดการก่อสร้าง ดังนี้...

- ถนนต่อเชื่อมฝั่งแผ่นดิน บริเวณ กม. ที่ 0+000 - 0+690.500 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 660 เมตร

- สะพานข้ามคลองตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 0+690.500 - 1+491.500 เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นสะพานเป็นแบบคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า ความยาว 801 เมตร

- ถนนต่อเชื่อมสะพานฝั่งเกาะตำมะลัง บริเวณ กม. ที่ 1+491.500 - 2+750 เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทาง ความยาว 1,200 เมตร ในส่วนการก่อสร้างลานจอดรถฝั่งเกาะตำมะลัง สามารถรองรับรถยนต์ได้ประมาณ 80 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 126 คัน และก่อสร้างบันไดทางลาดขึ้นลงสะพาน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินข้ามคลองตำมะลังได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ระหว่างการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน กลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการ ลักษณะโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน ความคืบหน้าโครงการ พร้อมทั้งได้ตอบข้อซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่งได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ครั้งที่ 3 ไปเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ลานมัสยิดบ้านตำมะลังเหนือ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top