Monday, 12 May 2025
Econbiz

‘BDMS’ ครองอันดับหนึ่ง ดัชนี DJSI ปี 2023 ผู้นำด้านความยั่งยืน กลุ่มการบริการทางการแพทย์

ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ส่งผลให้ BDMS ขึ้นที่ 1 ผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก ปี 2023 ในกลุ่มการบริการทางการแพทย์ (Health Care Providers & Services) ทั้งในระดับโลก (DJSI World) เป็นปีแรก และกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วยคะแนนอันดับ 1 มิติด้านสังคม ของกลุ่มธุรกิจการบริการทางการแพทย์ จากการประเมินของ S&P Global 

ดัชนี DJSI นี้ เน้นการประเมินความยั่งยืนของธุรกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ การรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคม และการกำกับดูแลบนหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักดำเนินธุรกิจที่ BDMS ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตามกลยุทธ์ขององค์กรที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง (BDMS Innovative Healthcare) การบริการแพทย์ทางไกลเพื่อสุขภาพใจ (BeDee Tele Mental Health) และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (BDMS Green Healthcare) เป็นต้น

กลยุทธ์ BDMS Innovative Healthcare ที่นับเป็นความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจนั้น ได้แก่ การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ด้วยเทคนิคใหม่ที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ หรือ Direct Anterior Approach Hip Replacement (DAA) วิธีใหม่นี้ช่วยลดระยะเวลาฟื้นตัวของผู้ป่วยได้มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้เข้ารับการรักษา 

ทั้งนี้ BDMS ได้จัดตั้งโครงการอบรมเทคนิคนวัตกรรมการผ่าตัดดังกล่าว โดยมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมแล้วกว่า 180 ราย ใน 170 โรงพยาบาล พร้อมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปสู่เวทีวิชาการในระดับนานาชาติ 

สำหรับนวัตกรรมการบริการการแพทย์ทางไกล BDMS ได้พัฒนา BeDee Tele Mental Health เพื่อดูแลสุขภาพใจ โดยร่วมกับมูลนิธิเวชดุสิตฯ ขยายโอกาสในการดูแลสุขภาพให้กับพนักงานในเครือ ฯ และ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาการสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมบริการการแพทย์ในอนาคต 

ในส่วนของ BDMS Green Healthcare นั้น เป็นการตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดําเนินงานสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 (BDMS Net Zero 2050)  

BDMS มีพันธกิจสำคัญคือ “ผู้นำบริการด้านสุขภาพที่ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีบนวิถีแห่งความยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจยั่งยืนตามแนวทาง ESG ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อีกทั้งมุ่งเน้นสร้างประสบการณ์อย่างมีคุณค่าแก่ผู้ใช้บริการด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพได้ด้วยมาตรฐานที่ทัดเทียมระดับสากล โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนเป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

‘KTC’ ร่วมส่งท้ายมาตรการ ‘Easy E-Receipt’ มอบสิทธิพิเศษ เอาใจนักช็อปออนไลน์สินค้าไอที

เคทีซีมอบสิทธิพิเศษแก่สมาชิกบัตรเคทีซี ที่ช็อปสินค้าไอทีผ่านร้านค้าพันธมิตรออนไลน์ชั้นนำ รับสิทธิพิเศษลดหย่อนภาษีจากการเข้าร่วมมาตรการ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ (Easy E-Receipt) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซี พร้อมรับความคุ้มค่า 2 ต่อ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567

(9 ก.พ. 67) นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐออกมาตรการ ‘อีซี่ อี-รีซีท’ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาลดหย่อนภาษีออนไลน์สูงสุดถึง 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า การใช้บัตรเครดิตเคทีซีในการซื้อสินค้าในหมวดไอทีเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการดังกล่าวที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน รวมถึงโปรโมชันที่สนับสนุนให้สมาชิกได้รับความคุ้มค่าจากสิทธิพิเศษควบคู่กันไปถึง 2 คุ้ม 

-คุ้มที่ 1 ผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 10 เดือน พร้อมรับเครดิตเงินคืน/ส่วนลด เมื่อมียอดผ่อน
ชำระ 3 เดือนขึ้นไป 

-คุ้มที่ 2 ใช้คะแนน KTC FOREVER ตั้งแต่ 1,000 คะแนนขึ้นไป เพื่อแลกรับเครดิตเงินคืน เพิ่มสูงสุดอีก 20% เมื่อชำระเต็มจำนวนหรือผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตเคทีซีตามยอดใช้จ่ายที่กำหนด ณ ร้านค้าไอทีชั้นนำที่ร่วมรายการ ได้แก่ Advice, J.I.B., IT City, Asus, HP, Lenovo, Acer, BaNANA, Studio7, iStudio by Copperwired, .life, iStudio by SPVI และ iStudio by Uficon หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ktc.promo/itonline

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ KTC PHONE 02 123 5000 สำหรับผู้สนใจสมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท คลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อ KTC PHONE โทร. 0-2123-5000 หรือศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี 

‘รมว.ปุ้ย’ เยือนญี่ปุ่น กระชับความร่วมมือ ‘METI’ ลุ้น 800 เอกชนญี่ปุ่นลงทุนอุตฯ ฮาลาลในไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67 ที่นครโตเกียว นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น มุ่งต่อยอดความร่วมมือแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Cooperation Framework) กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (METI) มุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมเข้าร่วมประชุมหารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาล ของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อชักจูงการลงทุนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย คาดว่ามีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมลงทุนราว 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น ถือเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกันและกันมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าการลงทุนในประเทศเป็นอันดับ 1 ดังนั้น จึงต้องการเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งทั้งสองประเทศ เพื่อรองรับและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม เป้าหมายที่กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ 

ล่าสุด เพื่อเป็นการร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและก้าวทันยุคสมัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงานระหว่างกัน 2 ฉบับ ในปี 2018 และ 2022 ที่มุ่งเน้นการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย และต่อยอดการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย รวมถึงกระตุ้นการเติบโต และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่น

โดยการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายไซโตะ เคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือ พร้อมแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน ฉบับใหม่ระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย...

1.) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวในภาคการผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

2.) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรวมทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตและในนิคมอุตสาหกรรม

3.) การเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการส่งเสริมมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณของเสียหรือชิ้นส่วนจากยานยนต์ (End-of –Life Vehicle)

และ 4.) การพัฒนาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์สมัยใหม่แห่งภูมิภาค

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือกับ 2 องค์กรพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย - ญี่ปุ่น รวมทั้งยกระดับการบ่มเพาะ พัฒนาสร้างเครือข่ายสตาร์ตอัป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และอวกาศ นอกจากนี้ ยังได้เข้าหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO) 

โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางความร่วมมือไว้ 4 กิจกรรม คือ…

1.) โครงการการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
2.) โครงการพัฒนารถบัส รถบรรทุก และรถฟอล์คลิฟต์ ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมตามนิคมอุตสาหกรรม
3.) โครงการ CCUS หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และ 4.) โครงการรีไซเคิลมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานฮาลาลของประเทศญี่ปุ่น (JAHADEP) เพื่อการขยายความร่วมมือกับอุตสาหกรรมฮาลาลของญี่ปุ่นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยและใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบของไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารญี่ปุ่นฮาลาล ไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพ ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก คาดว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนในประเทศไม่ต่ำกว่า 800 ราย และจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท 

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้วยการต่อยอดและขยายผลกรอบการทำงาน (Framework) ฉบับใหม่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือและสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยภายังใต้แนวนโยบาย DIPROM Connection 

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เน้นให้อุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่างๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้ของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เช่น Robotic, IoT, Automation เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการจัดการ รวมทั้งการยกระดับกระบวนการผลิตทั้งระบบสู่แนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนำกลับมาใช้ใหม่ และการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ การรีไซเคิล - อัปไซเคิล วัสดุต่างๆ อย่างครบวงจร โดยเฉพาะซากยานยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นโดยตลอด ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และเปรียบได้กับบัตรผ่านทางสู่เวทีโลกในอนาคต” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘สุริยะ’ ลุย ‘ทสภ.’ กำชับทุกหน่วยเตรียมพร้อมช่วงตรุษจีน เน้นย้ำ!! การให้บริการ นทท.ต้องสะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย

(10 ก.พ. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางตรวจติดตามความคืบหน้า ตามข้อสั่งการในการเตรียมพร้อมการให้บริการผู้โดยสาร ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และการแก้ไขปัญหาความหนาแน่นในการรอคิวตรวจหนังสือเดินทาง รองรับผู้โดยสารช่วงเทศกาลตรุษจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)

โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 ระหว่างวันที่ 4-16 กุมภาพันธ์ 2567 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ ทอท. ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในทุกมิติ โดยให้มีการจัดเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริการผู้โดยสารในภาพรวมเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากที่ได้เริ่ม มาตรการ Visa Free ขณะนี้ได้มีเที่ยวบินขาเข้าสูงถึง 1,040 เที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน เตรียมแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดเหตุขัดข้อง และให้ใช้เทคโนโลยีทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพ รองรับและสนับสนุนนโยบายการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ยังได้ให้ทาง ตม.2 เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการจุดตรวจคนเข้าเมืองทุกช่องบริการให้เพียงพอในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสารในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยได้มีการเสริมเจ้าหน้าที่เวรปฏิบัติงานนอกเวลา และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตม. จากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาช่วยปฏิบัติงานที่ ทสภ. รวมถึงยังได้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกหน่วยปฏิบัติงานมาเป็นเจ้าหน้าที่ ตม.2 กว่า 60 นาย นอกจากนี้ ตม.2 ได้มีการบรรจุเจ้าหน้าที่ใหม่แล้วจำนวน 200 อัตรา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอบรมภาคทฤษฎีคาดว่าจะสามารถ เริ่มปฏิบัติงานได้จริงตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ รวมทั้งยังมีแผนที่จะขอบรรจุอัตรากำลังเพิ่มอีก 400 อัตรา รวมเป็น 600 อัตราในอนาคต

รวมถึงให้ตรวจสอบความพร้อมของช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ หรือ ‘Automatic channels’ โดยวางมาตรการในการป้องกันการขัดข้องของระบบ Biometric พร้อมให้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบตลอด 24 ชม. รวมถึงได้มีการเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายหน้าช่องตรวจทุกช่องทั้งขาเข้า ขาออก ทำให้ระบบการทำงานดีขึ้น และในระยะยาวทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จะได้จัดหาระบบใหม่ทดแทนเป็นระบบเดียว คือ ‘ระบบ TIS’ (Thailand Immigration System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจลงตราซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 นั้น เตรียมเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. จากเดิม 67 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบิน/ชั่วโมง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพของท่าอากาศยานหลักของไทยในการรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยตามแผนยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาคหรือ Aviation Upgrade ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค

“ในช่วง 20 ปีก่อน สนามบินสุวรรณภูมิ เคยติดอันดับ 7 ของโลก แต่ในปัจจุบันนี้ตกไปอยู่อันดับที่ 76 ของโลก สาเหตุจากการถดถอยของการให้บริการ ดังนั้นผมได้ให้นโยบายต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต้องเร่งปรับเปลี่ยนโดยเร็ว เพื่อให้สนามบินสุวรรณภูมิ เลื่อนอันดับขึ้นมาติด 1 ใน 20 ของโลกให้ได้” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 หรือ อาคาร SAT 1 ขณะนี้มีสายการบินหลายสายได้ย้ายไปให้บริการที่อาคาร SAT 1 เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยต่อวันกว่า 86 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์จะมีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 112 เที่ยวบิน และจะมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขี้นเป็น 16 สายการบินจากเดิม 13 สายการบิน

ต่างชาติแห่เข้าไทยกว่า 1 แสนคนในวันเดียว รับ ‘ตรุษจีน-ฟรีวีซ่า’ คาด ยอดสะสมปี 67 แตะ 4 ล้านคน ‘นทท.จีน’ ครองอันดับหนึ่ง

(10 ก.พ. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยช่วงตรุษจีน ซึ่งมีตัวเลขเดินทางเข้าไทยวันเดียวมากกว่า 1 แสนคน (ยอดของวันที่ 8 ก.พ.) ทำให้นักท่องเที่ยวยอดสะสมของปี 2567 เกือบแตะ 4 ล้านคน (เดินทางเข้าไทยแล้วมากกว่า 3,963,744 ล้านคน)

โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุด ตามมาด้วยชาวมาเลเซีย นับเป็นผลจากมิตรภาพ ความร่วมมือ และการดำเนินนโยบายของบนายกรัฐมนตรีที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

จากการสำรวจเชิงลึกของบริษัทจัดจำหน่ายการเดินทางระดับโลก Dida Travel ของจีน พบว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนของชาวจีนปีนี้ ระหว่างวันที่ 10-17 ก.พ. 2567 มีจำนวนการจองโรงแรมในไทยเพิ่มขึ้นถึงกว่า 243% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยไทยยังเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางชาวจีนขาออกในช่วงเวลานี้

“คาดว่าน่าจะเป็นผลพวงจากความต้องการเดินทาง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด และจากผลมาตรการวีซ่าฟรี (Visa Free) ไทย - จีน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป” นายชัยกล่าว

นอกจากนี้ จากการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยมิตรภาพ ความสัมพันธ์ และความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ได้เห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันภายใต้แนวคิด ‘หกประเทศ หนึ่งจุดหมาย’ (ไทย, กัมพูชา, มาเลเซีย, เวียดนาม, ลาว และเมียนมา) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันในภูมิภาค สร้างหมุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวให้เป็น ‘One Destination’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียเดินทางมาไทยจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นรายได้ประเทศ อำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยว กระตุ้นอุตสาหกรรม กิจกรรมด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเดินทางนำเสนอนโยบายปรับนโยบายดึงดูดการลงทุน หาตลาดเพิ่มมูลค่าการค้า รวมทั้งดำเนินนโยบายด้านต่างประเทศด้วยความเป็นมิตรกับทุกประเทศ เพิ่มโอกาส เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในประเทศ ตลอดช่วงเวลาของการรับตำแหน่งที่ผ่านมา

“เห็นผลเป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดการคาดการณ์เม็ดเงินเข้าประเทศมหาศาลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งส่วนที่เห็นดอกออกผล ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ยังมีอีกหลายส่วนของการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่แน่นอนว่าจะนำมาซึ่งการพัฒนา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนไทย” นายชัยกล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ดึง ‘อุตฯ พลังงานสะอาดญี่ปุ่น’ ลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรม เสริมบริการสาธารณูปโภคสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

(11 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2567 ตนเองพร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เลขานุการรัฐมนตรีฯ ประธานกรรมการ กนอ. ผู้ว่าการ (กนอ.) และรองผู้ว่าการ กนอ. อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และคณะสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน (โรดโชว์) ในนิคมอุตสาหกรรมไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันของพื้นที่การลงทุนในประเทศไทย ศักยภาพ และความพร้อมในการรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการลงทุน ในพื้นที่ อีอีซี และพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้พบกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำด้านเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น 3 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าปัจจุบันในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงการขยายการลงทุนในอนาคต โดยมีโอกาสในการขยายการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในหลายด้าน ได้แก่ เพิ่มมูลค่าการส่งออก เพิ่มการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งทำให้เกิดความเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศได้อีกด้วย 

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ตนยังได้เป็นประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ บริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัท ไอเอชไอ เอเชีย แปซิฟิค (ประเทศไทย) จำกัด ว่าด้วยความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ของการให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว (Green Utility) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและพัฒนาระบบการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่สำหรับ ‘การให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียว’ โดยคาดว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียวต่อไปในอนาคต 

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทน ที่ กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับให้บริการสาธารณูปโภคสีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ…

ระยะที่ 1 : ศึกษาความเป็นไปได้ (1 ปี) 
ระยะที่ 2 : ตั้งโรงงานต้นแบบ 
และระยะที่3 : ร่วมธุรกิจเชิงพาณิชย์ (หากผลการศึกษาเป็นไปได้) 

ความร่วมมือนี้ จะช่วยบูรณาการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคสีเขียว กับพลังงานทดแทนภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และยกระดับกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าประชุมเจรจาความร่วมมือร่วมกับนายไซโต เค็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และคณะ เพื่อหารือร่วมกันถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสีเขียว เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีอนาคต (Next generation automobiles) และเสริมสร้างระบบการผลิตยานยนต์ ซึ่งถือเป็นแนวนโยบายที่ไปในทิศทางเดียวกันของทั้ง 2 ประเทศ

สำหรับการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่นและหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่ายต่อไป 

ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,973 ราย คิดเป็น 29% มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมฯ มูลค่า 2.85 ล้านล้านบาท จากการลงทุนรวมทั้งหมด 13.20 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ ม.ค.67) โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใน EEC จำนวน 1,451 ราย มูลค่าการลงทุน 2.07 ล้านล้านบาท และนิคมฯ ที่อยู่นอก EEC จำนวน 522 ราย มูลค่าการลงทุน 0.77 ล้านล้านบาท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยาง

‘ไก่ย่างห้าดาว’ จัดโปรฯ หลังต้นทุนวัตถุดิบปรับราคาลง ประกาศลดราคาสินค้า 4-10 บาท สานฝันคนชอบกินไก่

(11 ก.พ. 67) แม้เปิดปีมังกรมา ผู้บริโภคจะเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพง เพราะสินค้าจำนวนหลายรายการตบเท้าขึ้นราคา หรือหากแบรนด์ไหนไม่ขยับขึ้น ก็มีการใช้กลยุทธ์การ ‘ลดไซส์’ เพื่อคงราคาขายเดิมไว้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่ในไทยแต่เป็นทั่วโลก จนมีกระแส ‘Shrinkflation’

ท่ามกลางของแพง ‘ธุรกิจห้าดาว’ หรือที่คนรู้จักกันในชื่อเล่น ‘ไก่ย่างห้าดาว’ ได้ประกาศปรับลดราคาสินค้าลง 4-10 บาท โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้ ธุรกิจห้าดาวระบุว่า บริษัท ขอแจ้งการปรับลดราคาจำหน่ายผู้บริโภค โดยโครงสร้างราคาใหม่นี้ผู้ประกอบการยังคงได้รับ ‘กำไรเท่าเดิม’ ซึ่งการปรับลดราคาต้นทุนวัตถุดิบมีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567

พร้อมกันนี้ บริษัทได้ยืนยันในเรื่องของการพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพและความคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเป้าหมายของครอบครัวห้าดาวมาโดยตลอด

สำหรับรายการสินค้าที่ปรับลดราคามีทั้งสิ้น 9 รายการ ลดตั้งแต่ 4-10 บาท เช่น ไก่ย่างพริกไทยดำ (ตัว) ราคาใหม่175 บาท ลดลง 10 บาท จากราคาเดิม 185 บาท, ไก่ย่างสูตรต้นตำรับ (ตัว) ราคาใหม่ 165 บาท ลดลง 10 บาท จากราคาเดิม 175 บาท, ไก่กรอบห้าดาว (ชิ้น) ราคาใหม่ 29 บาท ลดลง 6 บาท จากราคาเดิม 35 บาท, ไก่ทอดเกลือ(ครึ่งตัว) ราคาใหม่ 75 บาท ลดลง 4 บาท จากราคาเดิม 79 บาท และไก่จ๊อสามสี (ไม้) ราคาใหม่ 25 บาท ลดลง 5 บาท จากราคาเดิม 30 บาท เป็นต้น

พลันที่แบรนด์ประกาศลดราคาสินค้า ทำให้ค่อนข้างได้ใจ และได้รับคำชมจากผู้บริโภค เพราะหลายคนมองเป็นเรื่องราวดีๆ ท่ามกลางผู้ประกอบการ หรือธุรกิจอาหารไม่น้อยที่มีการปรับขึ้นราคาขาย รับกับภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตวัตถุดิบอยู่ในช่วงขาขึ้น

ทั้งนี้ การปรับราคาสินค้า ส่วนใหญ่เมื่อขยับขึ้นแล้ว การหั่นราคาลงค่อนข้างน้อย

‘ธุรกิจห้าดาาว’ เป็นธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ดำเนินการภายใต้ ‘ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน’ ซึ่งพอร์ตโฟลิโอของบริษัทยังมีแบรนด์ธุรกิจอาหารอื่นๆ รวม 6 แบรนด์ ได้แก่ ไก่ห้าดาว แฟรนไชส์ไก่ย่าง ไก่ทอดที่เป็นตำนานของธุรกิจห้าดาว, ไฮพอร์ค แฟรนไชส์หมูพรีเมียม ราคาสุดคุ้ม, เป็ดเจ้าสัว แฟรนไชส์เป็ดพะโล้ เป็ดย่าง ที่มีซอสสูตรลับชูรสชาติความอร่อย

ข้าวมันไก่ไห่หนาน แฟรนไชส์ข้าวมันไก่พรีเมียม ต่อยอดจากไก่ห้าดาว, กระทะเหล็ก แฟรนไชส์อาหารตามสั่งต้นตำรับรสชาติไทย และสตาร์คอฟฟี่ แฟรนไชส์เครื่องดื่มที่ต่อจิ๊กซอว์ความครบครันให้ธุรกิจห้าดาวนั่นเอง

 

‘รมว.ปุ้ย’ สั่ง ‘สมอ.’ เร่งแก้ไข-ปรับปรุง ‘สุราพื้นบ้าน’ เน้นคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หนุนเป็น Soft Power

(12 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น ๆ และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เป็น 0 % รวมทั้งให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านด้วย

“นโยบายดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก และผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน ที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และ เมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว จำนวน 66 ราย กระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องดำเนินการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องตามประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งตามมาตรฐาน มอก. สุรากลั่นและสุราแช่ ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วย โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน เช่น  มาตรฐานสุรากลั่นชุมชน แก้ไขข้อกำหนดวัตถุเจือปนอาหาร กรดเบนโซอิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย จากเดิม ‘ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานไวน์สมุนไพร แก้ไขข้อกำหนดสารปนเปื้อน ตะกั่ว จากเดิม ‘ไม่เกิน 0.2 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร’ มาตรฐานเมรัย แก้ไขเกณฑ์ข้อกำหนดสารเอทิลคาร์บาเมต (กรณีผสมสุรากลั่น) จากเดิม ‘ไม่เกิน 400 ไมโครกรัมต่อลิตร’ แก้เป็น ‘ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อลิตร’ เนื่องจากสารดังกล่าวหากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้แก้ไขข้อกำหนดในด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว

ASEAN Foundation ผนึกกำลัง 'TikTok-SAP' เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ 'ASEAN Social Enterprises Development Programme: SEDP 3.0'

(13 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความถึงโครงการที่น่าสนใจเพื่อ SME ระบุว่า...

โอกาสสำหรับการพัฒนา SME สู่ SE: Social Enterprises

ASEAN Foundation ร่วมกับ TikTok และ SAP เปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 'ASEAN Social Enterprises Development Programme: SEDP 3.0'

20 ผู้ประกอบการจาก 10 ประเทศอาเซียน

ร่วม อบรมทั้ง Online และ On-site, ร่วมเรียนรู้จาก Mentors โดย SAP และ TikTok, เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และแหล่งเงินทุน  รวมทั้งการประกวดโครงการวิสาหกิจเพื่อสังคมชิงเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจกว่า 40,000 USD (1.43 ล้านบาท)

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ bit.ly/SEDP3_Info
สมัครเข้าร่วมโครงการที่ bit.ly/ASEANSEDP3

Calling all social enterprises in ASEAN to join the ASEAN Social Enterprise Development Programme 3.0 🥳 Embark on a transformative journey of your social enterprise’s growth by participating in tailored training and mentorship with experts, networking with investors and government and standing a chance to win seed grants of up to 40,000 USD 💸💰 

30 social enterprises from ASEAN countries will be selected to participate in this transformative programme. Secure your spot by applying through bit.ly/ASEANSEDP3 by 31 March 2024. 

Explore bit.ly/SEDP3_Info for further details ✅ 
Stay connected with us to follow the journey of #ASEANSEDP3  
#BeAsean #TikTokForGood #SAP4Good #ASEANSocialEnterprise #WeAreASEAN

‘บุญถาวร’ เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นไฟลิ่งขายหุ้น IPO ชูศักยภาพผู้นำธุรกิจค้าปลีกวัสดุ - อุปกรณ์ตกแต่งบ้านครบวงจร

เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.67) บมจ.บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น (บริษัทฯ หรือ ‘BOON’) ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ ชูศักยภาพผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของกลุ่มบริษัทฯ รวมทั้งรูปแบบแฟรนไชส์ที่ร่วมทุนกับกลุ่ม SCG รวม 50 สาขาในประเทศไทย เวียดนามและกัมพูชา รวมถึงการขายสินค้าโดยตรงแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ และช่องทางออนไลน์

นายสิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BOON เปิดเผยว่า ได้เตรียมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งแก่การดำเนินธุรกิจ โดยกลุ่มบริษัทฯ เป็น ‘ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร’ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีร้านค้าปลีกสมัยใหม่รวมทั้งสิ้น 50 สาขา ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic Location) และมีโอกาสในการเติบโตในอนาคต ประกอบด้วย

1.) ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของกลุ่มบริษัทฯ 15 สาขา แบ่งเป็น ร้านบุญถาวรที่เป็นรูปแบบ Stand-alone จำนวน 11 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีสินค้าที่หลากหลาย และแบ่งแยกเป็นโซนต่าง ๆ และโครงการ Design Village ซึ่งเป็น Community Living Mall  จำนวน 4 สาขาโดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยยกระดับการบริการของบุญถาวรให้เป็นมากกว่าร้านค้าวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่ผสานจุดเด่นของร้านค้าปลีกและพื้นที่ให้เช่าภายใต้แนวคิด ‘One Stop Happiness ครบจบในที่เดียว’ และ 2.) ร้านค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบแฟรนไชส์ที่ร่วมทุนกับ บริษัทเอสซีจี รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่ม SCG) ภายใต้ชื่อ ‘SCG HOME’ และ ‘SCG Home บุญถาวร’ จำนวน 35 สาขา ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย 33 สาขา และต่างประเทศอีก 2 สาขา ได้แก่ เวียดนามและกัมพูชา

กลุ่มบริษัทฯ คัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพจากทั้งในและต่างประเทศที่แตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ทั้งประเภท ดีไซน์ และคุณภาพที่เจาะกลุ่มลูกค้าทุกระดับและไลฟ์สไตล์ โดยปัจจุบันมีกลุ่มสินค้าที่จำหน่ายใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กระเบื้องและวัสดุปิดผิว เครื่องสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำที่เกี่ยวข้อง เครื่องครัว โคมไฟและอุปกรณ์ส่องสว่าง และสินค้าอื่น ๆ เกี่ยวกับบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ที่จำหน่ายภายใต้ร้านค้าปลีกของกลุ่มบริษัทฯ กว่า 90,000 SKUs ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ (Private Brand) ที่กลุ่มบริษัทฯ ผลิตเอง และว่าจ้างผู้ผลิตภายนอก และสินค้าภายใต้แบรนด์อื่น ๆ (Market Brand) ทำให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์การตกแต่งที่อยู่อาศัยอันหลากหลายของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ทั้งลูกค้ารายย่อย (B2C) และลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตชุดครัวสั่งทำและตู้ชุดครัวสำเร็จรูปของกลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตชุดครัวสั่งทำ 425 ยูนิตต่อเดือน และตู้ชุดครัวสำเร็จรูป 7,000 ตู้ต่อเดือน รวมถึงมีศูนย์กระจายสินค้าทั้งหมด 7 อาคาร ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อรับและกระจายสินค้าสู่ร้านค้าปลีกของกลุ่มบริษัทฯ ทั่วประเทศ สามารถจัดเก็บสินค้าได้มากกว่า 1 แสนตำแหน่ง บนเนื้อที่มากกว่า 90 ไร่

ขณะเดียวกัน ได้พัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จากการเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่จะมีแนวโน้มที่จะมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เว็บไซต์ของกลุ่มบริษัทฯ และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส อาทิ Shopee, Lazada, NocNoc ฯลฯ โดย ณ 30 กันยายน 2566 มีสมาชิก “บุญถาวร แฟมิลี่” มากกว่า 1,000,000 ราย และมีบริการลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดส่งสินค้า การออกแบบสามมิติ รวมถึงบริการติดตั้ง และซ่อมแซม เพื่อมอบประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบครบวงจร (One-stop Service) ให้แก่ลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มุ่งสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและการเติบโตอย่างมั่นคง โดยใช้จุดแข็งจากการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านระดับพรีเมียมที่มีส่วนแบ่งการตลาดยอดขายกระเบื้อง ร้อยละ 22.11 และส่วนแบ่งการตลาดยอดขายสุขภัณฑ์ ร้อยละ 33.51 ของประเทศไทยในปี 2565 พร้อมมุ่งเน้นในการขยายสาขาร้านบุญถาวร และปรับปรุงพื้นที่สาขาเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง และความสามารถที่จะคว้าโอกาสทางธุรกิจจากแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและเมกะเทรนด์ที่สำคัญ พร้อมทั้งประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนสินค้าและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน และประสบการณ์ของทีมผู้บริหารมืออาชีพในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์และของตกแต่งบ้านแบบครบวงจร

“เรามีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจกว่า 40 ปี พร้อมพนักงานและผู้บริหารมืออาชีพ ทำให้สามารถจัดหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าภายใต้แนวคิด ‘Ideas Come Alive’ และมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น ‘Live Good Ecosystem’ มุ่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านสินค้าและนวัตกรรมการอยู่อาศัยเพื่อโลกที่ดีขึ้นและสังคมที่ยั่งยืน ส่งผลให้เราเป็นหนึ่งในผู้นำ และศูนย์รวมสินค้าวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอย่างครบวงจรอันดับต้น ๆ ในใจของลูกค้า โดยมีส่วนแบ่งการตลาดยอดขายกระเบื้อง 22.1%  และมีส่วนแบ่งการตลาดยอดขายสุขภัณฑ์ 33.5%1 ในปี 2565 ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญหลักของกลุ่มบริษัทฯ” นายสิทธิศักดิ์ กล่าว

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวว่า บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,280,000,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,280,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.0 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 320,000,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจ ชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินร่วม กล่าวว่า บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจรที่มีศักยภาพเติบโตสูง จากจุดเด่นด้านความหลากหลายของสินค้าและบริการ มีช่องทางจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั้งหน้าร้านค้าปลีกทั่วทุกภาคของประเทศไทย เวียดนาม และกัมพูชา รวมทั้งการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ครอบคลุมแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงมีกลุ่ม SCG เป็นพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่ง โดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งแก่การดำเนินธุรกิจและแผนงานเติบโตในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top