Saturday, 12 October 2024
Econbiz

‘AOT’ นำร่อง ‘TAXI EV’ พร้อมสถานีชาร์จ ให้บริการผู้โดยสาร ขานรับนโยบายคมนาคม มุ่งสู่ Green Airport แห่งแรกของไทย

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ปัจจุบันรถยนต์ 1 คันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตันต่อปี ซึ่งในประเทศไทยมีรถยนต์มากกว่า 10 ล้านคัน ในส่วนของ AOT ซึ่งบริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ มุ่งสนองนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการผลักดันความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

AOT จึงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งขับเคลื่อน ทสภ.สู่การเป็นต้นแบบ ‘Green Airport’ หรือ ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนรถยนต์ที่ให้บริการ ณ ทสภ.ให้เป็นรถไฟฟ้า (EV) ได้ จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 50 ล้านตันต่อปี

ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างสาธารณะ (EV Taxi) นั้น ปัจจุบันมีสมาชิกผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ เริ่มให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ EV Taxi เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงแรก AOT ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีให้บริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายโดยการอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge) ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 40 kW ต่อเครื่อง จำนวน 16 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง บริเวณลานจอดรถระยะยาวโซน E ทสภ. สำหรับรองรับการให้บริการแก่รถแท็กซี่ที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ ทสภ.อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่อง DC Fast Charge ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าในการอัดประจุ 360 kW ต่อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง และ 150 kW ต่อเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการให้บริการแก่รถบริการรับ – ส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) รถบริการสาธารณะ รถส่วนกลาง และรถส่วนงานของ AOT ภายในพื้นที่ Support Facilities บริเวณตรงข้ามศูนย์บริหารการขนส่งสาธารณะ

ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มีความมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักธรรมาภิบาล และมุ่งสู่การเป็น ‘ท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘Green Airport’ เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคง และยั่งยืน

สำหรับบริษัทพันธมิตรที่นำแท็กซี่อีวีมาให้บริการ คือ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด ส่วนสถานีชาร์จเป็นของค่าย EAANYWHERE ในเครือ EA

‘รมว.ปุ้ย’ นำร่องเปิด ‘ศูนย์แปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เมืองคอน เดินหน้าแปลงโฉมพื้นที่ ปั้นชุมชนต้นแบบ ยกระดับ ศก.ฐานราก

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้านโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ โมเดลต้นแบบชุมชนเปลี่ยน ผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Reshape The Area) พร้อมเร่งขยายผลครอบคลุมชุมชนทุกภูมิภาคภายในปีนี้ คาดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี  

(18 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งยกระดับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมรับมือกับรูปแบบเศรษฐกิจแห่งอนาคต ส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศเพื่อสร้างรายได้ผ่านการสนับสนุน Soft Power จูงใจนานาประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุน การเปิดตลาดประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มความสามารถ จึงจำเป็นต้องยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และเติมเต็มโอกาสในการสร้างรายได้จากต้นทุนที่มีในท้องที่ต่างๆ  

ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งขับเคลื่อนการเสริมศักยภาพและพัฒนาชุมชนด้วยการผลักดันให้ธุรกิจชุมชนเติบโตตามบริบทอุตสาหกรรมใน 2 มิติ ได้แก่ การพัฒนาคน ให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้เติบโตไปพร้อมกัน และการพัฒนาผู้นำทางธุรกิจที่เข้มแข็งเพื่อเชื่อมโยงกับธุรกิจในชุมชน ซึ่งได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกรในชุมชน ให้เกิดการดำเนินงานทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นชุมชนเปลี่ยน (Community Transformation) และสามารถต่อยอดสู่การเป็นชุมชนดีพร้อม ที่มีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจากชุมชน และพัฒนาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งชุมชนมิใช่เพียงเฉพาะราย ตลอดจนเชื่อมโยง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) ในรูปแบบพี่ช่วยน้อง หรือ ‘Big Brother’ โดยเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการเปลี่ยนชุมชน ด้วยเครื่องมือ กระบวนการ หรือเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับระดับศักยภาพ ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ต่อไป โดยกำหนดเป้าหมายสร้างต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภายในปี 2567

“ดิฉันมีความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางการพัฒนาชุมชนให้เป็น ‘ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม’ ซึ่งจะเป็นโมเดลในการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะทำให้เกิดการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนของชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต และมีความเข้มแข็ง เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ เป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนเปลี่ยน ซึ่งเกิดจากการทำงานสอดประสานกันระหว่างด้านเทคโนโลยี โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงในด้านการยกระดับทักษะธุรกิจชุมชน โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตามนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต’ ในบริบทปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งยึดศักยภาพชุมชนที่ฐานการพัฒนา ส่งเสริมทักษะด้านอุตสาหกรรมที่จำเป็น อาทิ การพัฒนาทักษะการประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมมาตรฐานการผลิต/ผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี การส่งเสริมการตลาด การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการชุมชน สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการและชุมชนมีส่วนร่วมในโซ่อุปทาน ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึงธุรกิจ คิดถึงดีพร้อม’

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ ‘การแปรรูปสมุนไพรยาเส้น’ ณ กลุ่มพัฒนาอาชีพสมุนไพรยาเส้นบ้านเขาทราย ตำบลเปลี่ยน อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งคาดว่าการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการดำเนินการได้ไม่น้อยกว่า 4.8 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ ยังได้มีการดำเนินกิจกรรม ‘การพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์’ ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เป็นการนำร่องชุมชนที่ 2 หลังจากที่ได้มีการนำร่องที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นที่แรก เพื่อเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจฐานรากและอุตสาหกรรมชุมชน ให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ด้วยการสร้างองค์ความรู้ ทักษะ แนวคิด และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ซึ่งจะเป็นการนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชนผนวกเข้ากับแนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ มาประยุกต์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ รวมถึงสามารถใช้ทรัพยากรภายในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้วางเป้าหมายในการนำร่องพัฒนา ขีดความสามารถผู้ประกอบการด้วยแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในปี 2567 จำนวน 20 ชุมชนทั่วประเทศ

ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล 

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย

จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล

นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?

ยกระดับ ‘ขบวน 133/134’ สู่ขบวนระหว่างประเทศ ‘ไทย-ลาว’ เชื่อมการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ท้องถิ่น หนุนเศรษฐกิจชายแดน

(18 ก.พ.67) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์รายงานแผนความคืบหน้าขยายการเดินทาง และการยกระดับขบวนรถไฟ 133/134 เพื่อเชื่อมต่อท้องถิ่น ‘ไทย-ลาว’ โดยระบุว่า…

ยกระดับขบวน 133/134 สู่ขบวนระหว่างประเทศ ไทย-ลาว พร้อมเพิ่มขบวนรถไฟท้องถิ่นระหว่างประเทศ ‘อุดรธานี-เวียงจันทน์’ สนับสนุนการค้าขายชายแดน

***เริ่มให้บริการ กลางเดือนพฤษภาคม 2567 นี้!!

วันนี้ขอมา Update แผนความคืบหน้าในการเชื่อมต่อ ‘ไทย-ลาว’

ซึ่งจะขยายการเดินรถไฟจากเดิมที่สิ้นสุดที่ท่านาแล้ง ไปที่สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งเป็นสถานีหลักของทางรถไฟขนาด 1 เมตร ที่ไทยช่วยสนับสนุนในการก่อสร้าง จาก NEDA 
ใครยังไม่รู้จักสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ดูได้จากลิงก์นี้ 
>> https://www.facebook.com/100067967885448/posts/593470202928571/

แต่ที่ผ่านมาหลังจากก่อสร้างเสร็จตั้งแต่กลางปี 2566 ก็ยังติดปัญหาเปิดเดินรถไม่ได้ จากหลายส่วน ตั้งแต่…

- พนักงานขับรถไฟไทย ไม่ต้องการจะเดินรถไฟฝั่งลาว เนื่องจากเกรงปัญหาทางกฏหมาย หากเกิดอุบัติเหตุ
- เส้นทางรถไฟยังไม่ปลอดภัย จุดตัดต่างๆ ยังไม่มีอุปกรณ์กั้น และไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล้ว
- กฏระเบียบ ในการให้บริการรถไฟในฝั่งลาว

ทำให้ต้องมีการจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนจะเริ่มบริการให้เดินรถ ได้แก่…

- ช่วยฝึกอบรม และซ้อมขับรถไฟไทย ให้กับพนักงานขับรถไฟลาว ในช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์
- ลงนามในข้อตกลงด้านเทคนิค และการซ่อมบำรุงระหว่างไทย-ลาว
- ตรวจสอบทางรถไฟในช่วง ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ก่อนเปิดให้บริการ

ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จภายในต้นเดือน พฤษภาคม 2567 และจะเปิดให้บริการ ภายในกลางเดือน พฤษภาคม 2567

ซึ่งจะมีการจัดการเดินรถใหม่ เพื่อเชื่อมโยง กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีการปรับการเดินรถใหม่ ได้แก่…

- ขบวนรถเร็วระหว่างประเทศ 133/134 กรุงเทพฯ-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
- ขบวนรถท้องถิ่นระหว่างประเทศ 481/482 อุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

โดยช่วง หนองคาย-ท่านาแล้ง จะมีการปรับริ้วขบวนแบ่งเป็นตู้โดยสารและตู้สินค้า ดังนี้…

ตู้โดยสาร แบ่งเป็น
- ตู้ชั้น 2 ปรับอากาศ 2 ตู้
- ตู้ชั้น 3 พัดลม 2 ตู้

ตู้สินค้า 20 คัน

โดยตู้สินค้าจะถูกตัดที่สถานีท่านาแล้ง เพื่อเปลี่ยนถ่ายในย่านสินค้าท่านาแล้ง ส่วนตู้โดยสารมุ่งหน้าต่อไปสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)

ซึ่งถ้าเปิดให้บริการในช่วง อุดรธานี-เวียงจันทน์ จะช่วยสนับสนุนการเดินทาง และจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่อุดรธานีของพี่ๆ น้องๆ จากฝั่งลาว มาจับจ่ายใช้สอยฝั่งไทยได้มากเลย

‘EA’ ร่วมมือ ‘สภาอุตฯ จ.ภูเก็ต’ ลงนามความร่วมมือ สร้างต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เซ็นเอ็มโอยูสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมสนับสนุนสร้างเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ ซีอีโอ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประกาศเดินหน้าร่วมมือทุกภาคส่วน ผลักดันภูเก็ตเป็นต้นแบบเมืองท่องเที่ยวรักษ์โลกระดับเวิลด์คลาส พร้อมนำ Green Business Platform ที่ใช้ไปประยุกต์ในจังหวัดอื่น หวังดันไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral เร็วกว่ากำหนด

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท EA ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ในความร่วมมือ ‘สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island : Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ต’ เพื่อให้เมืองภูเก็ตเป็นเกาะสีเขียว เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในทุกมิติ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

โดยกลุ่ม EA มีความตั้งใจที่จะช่วยประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และเล็งเห็นว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ดังนั้น ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดแรกและเป็นจังหวัดต้นแบบที่ EA จะสนับสนุนส่งเสริม Carbon Neutral อย่างครบวงจร   

สำหรับแนวทางสนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City นั้น กลุ่ม EA พร้อมร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ในเกาะภูเก็ต ประกอบด้วย 

1. ส่งเสริมสนามบินนานาชาติภูเก็ตลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ Green Electricity ผลิตไฟฟ้าจากไฮบริดโซล่าร์และแบตเตอรี่, เปลี่ยนรถใช้ในสนามบินเป็นอีวี และ ติดตั้งชาร์จเจอร์ในสนามบิน ส่งเสริมการใช้อีวีสาธารณะในสนามบิน โดยร่วมกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยาน พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด

2. ส่งเสริมการขายการใช้รถอีวีเพื่อการพาณิชย์และสาธารณะในภูเก็ตร่วมกับบริษัทเอกชนท้องถิ่น ผ่านบริษัท Nex Point PCL 

3. การติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า EA Anywhere ทั้งระบบ AC และ DC ตามจุดคมนาคมสำคัญของภูเก็ต

4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำโดยใช้ E-Ferry ร่วมกับภาคเอกชนท้องถิ่น การขนส่งและท่องเที่ยวระหว่างเกาะ

5. ร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขยะประสิทธิภาพสูง กำลังการผลิต 9.9 MW ในโครงการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 500 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครภูเก็ต 

6. การปรึกษาและลงทุนใน Smart City, เมืองใหม่, หรือ กลุ่มมิกซ์ยูสที่อยู่อาศัยใหญ่ ส่งเสริม Green Logistics และ Green Electricity

โดยกลุ่ม EA สามารถเริ่มโครงการ Carbon Neutral หลายโครงการพร้อมกันภายในปีนี้ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนของจังหวัดภูเก็ตให้การสนับสนุนการส่งเสริมการปฏิบัติการจริง เพื่อผลักดันให้เมืองภูเก็ต มีสิ่งแวดล้อมที่ดี นำไปสู่จุดหมายการท่องเที่ยวสีเขียว Green Traveling in Green Island. และกลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้จังหวัดอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด

“กลุ่ม EA สนับสนุนเมืองภูเก็ตเป็น Green Island; Low Carbon City เพื่อส่งเสริมการขยายการเติบโตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจในภูเก็ตในระดับ World Class เราพร้อมร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนและลงทุน Green Logistics และ Green Electricity ทุกมิติในเกาะภูเก็ต และ กลุ่ม EA คาดหวังว่าจะสามารถนำ Green Business Platform ที่ดำเนินการในภูเก็ต ไปประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นในโลกที่เข้าสู่ Carbon Neutral ได้เร็วกว่ากำหนด” นายสมโภชน์ กล่าวในที่สุด

‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ เผย 3 ปัจจัยทุเรียนไทยครองใจคนจีน คาด!! ปี 2567 สดใส ส่งออกทุเรียนไปจีน โต +10%

(19 ก.พ. 67) ศูนย์วิจัยกสิกร เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกลายเป็นดาวเด่นบนเวทีการส่งออกสินค้าไทยไปจีน โดยมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.2% ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมที่หดตัวเล็กน้อย -0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากมองเฉพาะกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่รวมผลไม้ สถิติการส่งออกไปจีนจะหดตัวลงถึง -5.3%

ขณะที่ทุเรียนสดถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก

1.ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม
2.ปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก
3.ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนมีแนวโน้มแตะ 4,500 ล้านดอลลาร์ เติบโต +12% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งการเติบโตจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น +10% เมื่อเทียบกับปี 2566 แต่การเติบโตจะชะลอลงเนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

ในส่วนของราคาส่งออกคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย +2% เมื่อเทียบกับปี 2566 แม้ความต้องการทุเรียนไทยในจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทุเรียนจากคู่แข่งก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

'พลังงาน' จ่อหารือสรรพสามิต หวังใช้กลไกภาษีช่วยอุ้มราคาดีเซล หลังกองทุนน้ำมันรับภาระอ่วม ยืนราคา 30 บาทได้แค่สิ้น มี.ค.นี้

(20 ก.พ. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมทบทวนมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ในส่วนของน้ำมันดีเซลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญก็คือ การหารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตในการช่วยสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.30 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยอุดหนุนในอัตราไม่ถึง 5 บาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าจากการอุดหนุนดังกล่าว กองทุนน้ำมันฯน่าจะบริหารจัดการตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีเงินกู้เหลืออยู่ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท เพื่อการบริหารดูแลราคาดีเซล

“เชื่อว่ากองทุนน้ำมันฯ จะบริหารจัดการเงินจนสามารถตรึงราคาน้ำมันในประเทศให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตนถึง 31 มี.ค. 67 แน่นอน แต่หลังจากนั้นคงต้องทบทวนรายละเอียดกันใหม่ หากต้องการต่ออายุมาตรการออกไปอีก” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเฉพาะดีเซลวันละประมาณ 375 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อหักลบกับรายได้จากกลุ่มเบนซินและชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อีกราว 1,700 ล้านบาทต่อเดือนทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกวันละประมาณ 320 ล้านบาทหรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีทิศทางผันผวนในระดับเฉลี่ย 105-110 เหรียญต่อบาร์เรลคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะติดลบประมาณ 100,000 ล้านบาทภายในเม.ย.นี้

“ราคาน้ำมันที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนสูงเดี๋ยวขึ้น ลง จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ทั้งจากการสู้รบในทะเลแดง และในช่วง 1-2 วัน รัสเซีย-ยูเครนมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นภายหลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 ก.พ. 2567 มีฐานะสุทธิ -87,828 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชี LPG ติดลบ 46,584 ล้านบาท บัญชีน้ำมัน ติดลบ 41,244 ล้านบาท

“หากดูจากวงเงินที่เหลือกองทุนน้ำมันฯอาจจะบริหารจัดการตรึงราคาดีเซลยืดได้ถึง เม.ย. เท่านั้น หลังจากจากนั้น พ.ค.ทุกอย่างจะเกิดปัญหากระทรวงพลังงานเองก็กำลังเร่งหาแนวทางที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องสรุปออกมาให้ชัดเจนในช่วง มี.ค. และต้นเม.ย. โดยเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ของกองทุนฯ ต่างจากอดีตที่เป็นวิกฤตราคาน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นวิกฤตสภาพคล่องกองทุนน้ำมันแล้ว ซึ่งการกู้เพิ่มนั้นแม้แต่สถาบันการเงินรัฐก็คงไม่สามารถดำเนินการให้ได้หากไม่มีแหล่งรายได้ไปการันตี” แหล่งข่าว กล่าว

ไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่!! ต้องแก้ด้วย ‘ยกระดับ-ปรับคุณภาพสินค้า’

(20 ก.พ. 67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีไทยขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้านบาท ไทยขาดดุลจีนมาโดยตลอดมากกว่า 2 ทศวรรษ และมีมูลค่าขาดดุลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยระบุว่า…

“ข้อมูลไทยขาดดุลจีนมหาศาล ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันคือ Wake-Up Call !! #ไฟลนก้น ไทยต้องยกระดับสินค้า/ปรับคุณภาพ #ไม่ง่ายแต่ต้องทำ”

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกไทยไปจีน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัตถุดิบ /กึ่งวัตถุดิบ /สินค้าเกษตร ผลไม้ ฯลฯ ล้วนมีมูลค่าเพิ่มต่ำ (เราส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย Final Product /Consumer Product ไปจีนน้อยมาก)

ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าทุน /เครื่องมือ/เครื่องจักรจากจีน จึงขาดดุลจีนมูลค่ามหาศาลมาโดยตลอด

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักของสินค้าไทยมาโดยตลอด โดยตัวเลขล่าสุด ปี 2566 จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย สัดส่วนสูงถึง 24.4% ทิ้งห่างแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก (10.8%)

สำหรับในปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 3,608,662 ล้านบาท  ไทยส่งออกไปจีน 1,174,558 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากจีน 2,434,104 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,259,546 ล้านบาท หรือเกือบ 1.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้น สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อความอยู่รอด และจำเป็นยกระดับอัพเกรดสินค้า ปรับคุณภาพ และพัฒนาสินค้านวัตกรรม เพื่อให้สินค้าไทยอยู่ในระดับกลาง/ระดับบนในสายตาของผู้บริโภค ผู้ผลิตไทยควรเน้นภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดีกว่า ในการแข่งขันกับสินค้าจีน  

อย่างไรก็ตาม ประเทศคู่ค้าจีน ส่วนใหญ่ก็ขาดดุลจีนถ้วนหน้า อย่างเช่น  เวียดนาม ก็ขาดดุลจีนมหาศาล (แถมเวียดนามขาดดุลจีนมากกว่าที่ไทยขาดดุลจีนเป็นเท่าตัว)

‘สุริยะ’ เผย ตั๋วเครื่องบินแพง เหตุคำนวณราคาอิงน้ำมันโลก ชี้!! ควรปรับสูตรคำนวณใหม่ ลดราคาให้ทันช่วงสงกรานต์

(20 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีผู้ใช้เครื่องบินโดยสารโพสต์ในโซเชียลมีเดียถึงราคาตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ - ภูเก็ต มีราคาแพงมาก ว่า ตนได้ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ดูแลเรื่องการกำหนดเพดานค่าโดยสาร เครื่องบินหลังจากตรวจสอบแล้ว ตั๋วเครื่องบินที่บอกว่ามีราคาเป็นหมื่น ไม่ใช่เพราะเป็นการเดินทางไป - กลับ แต่ถ้าเป็นสายการบินแบบ low cost ไม่น่าจะเกิน 5,000 บาท ต่อเที่ยวบิน แต่ในขณะเดียวกันตนได้ให้ ผู้อำนวยการ กพท. ไปดูการปรับสูตรเพื่อที่จะลดราคาตั๋วเครื่องบินลง เพราะในสูตรเดิมมีค่าน้ำมัน ที่อยู่ในสูตรการคำนวณราคา แต่เดิมราคาน้ำมัน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนี้น้ำมันถูกลงแล้ว จะต้องมีการปรับสูตร ทาง กพท. ก็จะชวนสายการบินต่าง ๆ มาพูดคุยกัน เพื่อหาทางลดภาระของผู้โดยสาร

เมื่อถามว่ามีราคาในใจที่คิดว่าเหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่ นายสุริยะกล่าวว่า มันคงจะต้องถูกกว่าเดิมแน่ แต่เท่าไหร่นั้นมันมีสูตรการคำนวณอยู่ และยืนยันว่าจะทันในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน

'กรมเจ้าท่า' เตรียมเผยโฉมใหม่ 'ท่าเรือท่าเตียน' มี.ค.นี้   พร้อมเร่งพัฒนาท่าเรืออื่นๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล 

(20 ก.พ.67) นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ท่าเรือท่าเตียนมีความสำคัญตั้งแต่ในอดีต เป็นท่าเรือสำคัญของพระนคร ในฐานะตลาดการค้าขนาดใหญ่ เป็นจุดขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้ และเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ปัจจุบันความสำคัญท่าเรือท่าเตียน มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง, วัดพระแก้ว, วัดโพธิ์, วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก และด้วยตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนในปัจจุบัน ที่อยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้เป็นอีกหนึ่งท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็น Landmark ให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาเช็กอิน และถ่ายภาพ มุมฝั่งตรงข้าม ที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก 

สำหรับ ท่าเรือท่าเตียน มีความสำคัญสำหรับการเดินทางคมนาคมทางน้ำ รองรับเรือต่างๆ ดังนี้ 1. เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี 2. เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า) 3. เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร อีกทั้งใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมออกแบบท่าเรือให้กลมกลืนกับ อาคารบริเวณใกล้เคียงโดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ซึ่งท่าเรือฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ให้บริการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ลานโล่ง รวม 1,320 ตารางเมตร มีอาคารพักคอย จำนวน 2 หลัง พร้อมทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เก้าอี้รองรับสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถวีลแชร์และการประชาสัมพันธ์ด้วยระบบภาพและเสียง สำหรับโป๊ะเทียบเรือ มีจำนวน 4 ลูก ประกอบด้วย ท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 2 ลูก และท่าเรือโดยสาร จำนวน 2 ลูก โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 39.047 ล้านบาท พร้อมเปิดใช้ในเดือนมีนาคม 2567 นี้

สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย...

1. แบ่งเป็นท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือพายัพ, ท่าบางโพ, ท่าช้าง, ท่าราชินี, ท่าเตียน, ท่าสาทร 

2. ท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง มีจำนวน 5 ท่า ได้แก่...

- ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 67
- ท่าพระราม 5 ผลงาน 45% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 67
- ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 67
- ท่าพระราม 7 ผลงาน 42% คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 67
- ท่าเกียกกาย ผลงาน 24% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 67

ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกันจึงมอบให้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อ)

3. ในปี พ.ศ. 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา

4. ในปี พ.ศ. 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าพิบูลสงคราม, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง

อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบาย 'คมนาคม เพื่อความอุดมสุข ของประชาชน' ซึ่งหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความปลอดภัย ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรอบแนวทางภายใต้นโยบายของรัฐบาลและทุกหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม จะต้องขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ สู่การปฏิบัติ เพื่อประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดความสะดวกและความปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top