Sunday, 11 May 2025
Econbiz

'สว.วีรศักดิ์' กระตุกมุมคิดด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเวที 'Finance for Biodiversity' ชี้!! ไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่ไปต่อได้ หากระบบนิเวศ 'ล่มสลาย-ขาดตอนลง'

เมื่อไม่นานมานี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษสรุป ก่อนพิธีปิดการเสวนา ในหัวข้อ 'Finance for Biodiversity: Towards a Nature-Positive Pathway' ณ อาคาร C-ASEAN ถนนพระราม 4 มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงได้รับเชิญมาร่วมเวทีมากมาย ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ

โดยเวทีนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กองทุน AFD แห่งรัฐบาลฝรั่งเศส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนของ IUCN UN ESCAP / ธนาคารแห่งประเทศไทย / กลต. / BOI / ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย / สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย / สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย / สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง / สำนักสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ / Global Compact Thailand / ธนาคารกรุงไทย / BEDO เป็นต้น 

ทั้งนี้ เวที Finance for Biodiversity นับเป็นเวทีที่วงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและวงการการเงินการคลังทั้งในและระหว่างประเทศได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวคิดกัน เพื่อระดมพลังเตรียมตัวสำหรับประกอบท่าทีไทยในการเข้าร่วมประชุมอนุสัญญาคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ COP 16 ที่จะมีขึ้นในปีนี้ที่ประเทศ โคลัมเบีย

สาระสำคัญหนึ่งจาก นายวีระศักดิ์ ในเวทีนี้ ระบุว่า ความจำเป็นที่ภาคส่วนอื่น นอกเหนือจากวงการอนุรักษ์ โดยเฉพาะภาคการเงินและธุรกิจควรจะเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน เพื่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ให้ได้ เพราะไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ที่สามารถดำเนินต่อได้ ถ้าวงจรของระบบนิเวศจะล่มสลายหรือขาดตอนลง

"เราอาจใช้ดาวเทียมตรวจจับอุณหภูมิ ตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจก ไฟป่า หรือการใช้ผิวดิน สำรวจทรัพยากรใต้ดินได้ แต่ดาวเทียมไม่อาจตรวจจับการขาดตอนลงของระบบนิเวศ การพึ่งพากันของเผ่าพันธุ์พืช หรือเผ่าพันธุ์สัตว์ใดๆ ได้ ดังนั้นเราจึงไม่อาจรู้เลยว่า Tipping Points ของปัญหาการสูญเสียเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในธรรมชาติจะอยู่ที่จุดไหน...

"หากผึ้งหายไปหมด สัตว์และมนุษย์แทบจะสูญพันธุ์ตามไปในเวลาไม่ถึง 6 ปี เพราะทุกชีวิตบนแผ่นดินทุกทวีปอาศัยแกล่งอาหารจากพืชมาเป็นจุดเริ่มทั้งสิ้น..

"ถ้าวาฬในมหาสมุทรสูญพันธุ์ไปจากที่เหลือล้านตัวสุดท้าย แพลงตอนพืชที่ได้ปุ๋ยจากมูลวาฬอันอุดมด้วยแร่ธาตุที่แพลงตอนต้องใช้ประกอบการสังเคราะห์แสง แปลงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาเป็นออกซิเจนกว่า 65% บนโลกใบนี้ก็จะหายไป แล้วสัตว์และมนุษย์จะหายใจได้อย่างไร" นายวีระศักดิ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวที่เรียกเสียงปรบมืออย่างยาวนานก่อนจบการปาฐกถาว่า...

"...How do you put a price on saving the earth 
We are putting trillions of dollars to rescue our economies 
Our countries 
Our communities 

But healthy proporous communities also depend on a healthy planet 
The food we eat
The water we drink
The air we breathe 

They all depend on 
Nature 

So how do we ensure the investments we make now
Are good for the future 

If we dug into the numbers creatively and bravely,
We can have great thriving economies and a thriving planet 
But we need some changes 
We will have to stop investing in ways that degrade the planet 
Get creative with new investments 
from both the public and private sectors 
And we have to spend the money we have more efficiently 
Putting our money to work for People and Nature 
We can’t return to business as usual 

It’s time to do better 
It’s time to be better 
It’s time for nature  

And the time is Now…"

บล็อกเชนช่วยดัน!! 'ไทย' ซื้อขายทองคำยืนหนึ่งในอาเซียน-แตะอันดับ 7 โลก พบ!! สัดส่วนซื้อขายออนไลน์ 65% ปริมาณเทรดทะลุ 5 ล้านล้านบาท

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.67) พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) เปิดเผยถึงการซื้อขายทองคำผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยระบบบล็อกเชน ทำให้การซื้อขายในตลาดทองคำไทยทะลุไปถึง 5 ล้านล้านบาท ยืนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และไต่ไปถึงอันดับ 7 ของโลก

- การซื้อขายทางกายภาพอยู่ที่ 35% การซื้อขายทองคำดิจิทัลผ่านบล็อกเชนอยู่ที่ 65%

- ตลาดทองคำได้พัฒนาระบบการซื้อ-ขายบนบล็อกเชน ทำให้สามารถเกิดความคล่องตัวในการซื้อในหน่วยที่เล็กมากเพียง 0.0001 กรัม หรือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 100 บาท

- การซื้อขายทองคำในระบบออนไลน์ยังมาจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดล่วงหน้า (ฟิวเจอร์ส) โดยมีมูลค่าการซื้อขายต่อวันประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท

- ตลาดฟิวเจอร์สเป็นการเข้าถึงการเทรดในตลาดระดับโลก เช่น การซื้อขายผ่าน Tradingview ด้วยบัญชี YLG Futures ที่นักลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนฟิวเจอร์สในตลาด CME Group ตลาดฟิวเจอร์สอันดับหนึ่งของโลกจากสหรัฐฯ สามารถเทรดได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดของประเทศไทย 

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดทองคำในปีนี้...

ระยะสั้น มองว่ายังเป็นการแกว่งตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดเดิมของเดือน ธ.ค.2566 ที่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเริ่มมีสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายช้าลง จากไตรมาสแรกเป็นไตรมาสสอง ทำให้ทองคำได้รับแรงกดดัน  

ระยะยาว ในปี 2567 มองแนวรับแรกไว้ที่โซน 1,902-1,884 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.ค. 2566 และเดือนก.ย. 2566 ตามลำดับ)  และแนวรับถัดไปในโซน 1,804-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวรับแรกราคามีโอกาสยืนได้ 

โดยมองว่าช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก และหากราคาปรับตัวผ่านระดับ 2,080 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปได้ มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,144 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากทำระดับสูงสุดใหม่ขึ้นไปได้ รอบนี้แนวต้านถัดไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปถึงบริเวณ 2,200-2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์

'รมว.ปุ้ย' เผย!! ครม. เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 65/66 ที่ 1,197.53 บาท/ตัน  ราคาอ้อยขั้นต้น ปี 66/67 ที่ 1,420 บาท/ตัน ช่วยดันรายได้ชาวไร่อ้อย

(21 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศในอัตราที่ 1,197.53 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 513.23 บาท/ตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้น 117.53 บาท/ตัน จากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาท/ตัน ซึ่งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 ในอัตรา 1,420 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 608.57 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 และราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 สอน. จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ถือว่าไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

สอน. ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบและเฝ้าระวังการเผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2566/67 นับตั้งแต่วันเปิดหีบ (10 ธันวาคม 2566) ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 72 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 68.41 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณอ้อยสด 48.86 ล้านตัน ปริมาณอ้อยถูกลักลอบเผา 19.55 ล้านตัน และมีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,159 จุด หรือคิดเป็น 6.45% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ 33,448 จุด จะเห็นได้ว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมนอกพื้นที่ปลูกอ้อยสูงถึง 31,289 จุด หรือคิดเป็น 93.55% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ

'ค่าครองชีพ' พุ่ง!! ทำคนซื้อบ้านต่ำ 3 ล้าน เริ่มผ่อนไม่ไหว พบ!! หนี้เสียสินเชื่อบ้านทะลัก 1.2 แสนล้านบาท

(21 ก.พ.67) ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามที่คาด อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือนและกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริโภคชะลอแผนซื้อบ้านออกไปก่อน ทำให้ภาพรวมความต้องการซื้อทั่วประเทศในไตรมาสล่าสุดลดลง 14% และลดลงทุกประเภทที่อยู่อาศัย สวนทางภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศที่ปรับขึ้นตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 4 ปี 2562) พบว่า ภาพรวมความต้องการซื้อในระยะยาวยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยความต้องการซื้อคอนโดฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด 12% ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 10% และบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 2%

นอกจากนี้ยังพบว่าที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากที่สุดในตลาดด้วยสัดส่วน 30% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคระดับล่าง ยังคงไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะดูดซับอุปทานเหล่านี้

สอดคล้องกับข้อมูลของเครดิตบูโรที่พบว่าหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ผู้ซื้อระดับล่างเริ่มผ่อนบ้านไม่ไหวจากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น โดยประมาณ 60-70% ของหนี้ที่กำลังจะเสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีปัญหามาจากคนที่ผ่อนบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง

สำหรับภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับภาพรวมของทั้งประเทศ พบว่าดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้น 4% เทียบปีก่อน โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบที่อยู่อาศัย ส่วนคอนโดฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดเพิ่มขึ้น 5% เทียบปีก่อน ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อนและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 3% เทียบปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการก่อสร้างโครงการใหม่ที่กลายเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการต้องวางกลยุทธ์เพื่อปรับราคาให้สอดคล้องกับทั้งต้นทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภค

ทั้งนี้ราคาบ้านที่แพงขึ้นในยุคที่อัตราดอกเบี้ยสูงกลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ทำให้ความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างมาก โดยภาพรวมความต้องการซื้อลดลง 15% เทียบไตรมาสก่อนและลดลง 27% เมื่อเทียบปีก่อน 

อย่างไรก็ดี หากมองในระยะยาวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ภาพรวมความต้องการซื้อในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก โดยความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น 8% ซึ่งบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 10% สวนทางกับความต้องการระยะสั้น ตามมาด้วยคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 8% และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 5%

สำหรับทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกรุงเทพฯ ในไตรมาสล่าสุด ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ และกรุงเทพฯ รอบนอก อันดับ 1 ได้แก่ เขตบางเขน เพิ่มขึ้น 16% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 10% เทียบปีก่อนด้วยทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และยังอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองจึงเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก ตามมาด้วยเขตบางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้น 15% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 24% เทียบปีก่อน, เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 13% เทียบไตรมาสก่อน ลดลง 5% เทียบปีก่อน , เขตบางขุนเทียน เพิ่มขึ้น 9% เทียบไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 1% เทียบปีก่อน และเขตประเวศ เพิ่มขึ้น 6% เทียบไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้น 10% เทียบกับปีก่อน

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า หากมองภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้อาจไม่ได้สดใสเท่าใดนัก ยังมีปัจจัยท้าทายที่สืบเนื่องมาจากปีก่อนหน้า ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวไม่มากนัก อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง ปัจจัยเหล่านี้กำลังผลักให้กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ต้องชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน

'สุกี้ตี๋น้อย' แจกโบนัสพนักงาน 2.5 เดือน ขวัญถุงอีกคนละ 5,000 บาท หลังปี 66 โกย 5 พันล้าน อานิสงส์ 'ขยายสาขา-ข้าวแกง-Express' ช่วยโต

(21 ก.พ. 67) บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ได้ประกาศรายได้ปี 2566 ว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.244 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น +31.9% จากปี 2565 และกำไรปี 2566 อยู่ที่ 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +54.5% จากปี 2565 ซึ่งกำไรนี้ยังทำให้บริษัทใหญ่อย่าง Jay Mart ที่ถือหุ้น 30% ของสุกี้ตี๋น้อย ได้อานิสงค์ในกำไรไปถึง 247 ล้านบาท

สำหรับ รายได้ กำไรของสุกี้ตี๋น้อยย้อนหลัง 5 ปี…

- ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 1.223 พันล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 1.572 พันล้านบาท กำไร 147 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 3.976 พันล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 5.244 พันล้านบาท กำไร 913 ล้านบาท

จากอานิสงค์ความปังดังกล่าว ได้ส่งต่อไปยังพนักงานสุกี้ตี๋น้อยทุกคน ด้วยการประกาศทุ่มเงินจำนวน 110 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแจกเงินโบนัสให้กับพนักงานทุกคนจำนวน 2.5 เท่าของเงินเดือน และแจกเงินขวัญถุงไว้สำรองให้แก่พนักงานอีก 5,000 บาท ให้กับพนักงานมากกว่า 2,500 ชีวิต

คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของกิจการร้านสุกี้ตี๋น้อย เล็งเห็นว่า พนักงานมีส่วนสำคัญที่สุดในการเติบโตของบริษัท เพราะถ้าไม่มีพวกเขา เราก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยได้เพิ่มสาขามากขึ้นในต่างจังหวัดถึง +12 สาขา อีกทั้งยังมีการเพิ่มพอร์ตธุรกิจด้วยการแตกไลน์ไปที่ ข้าวแกงตี๋น้อยปันสุข และธุรกิจตี๋น้อย Express ซึ่งเป็นการชิงตลาดของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมากขึ้น

อีกทั้งยังตั้งเป้าจะสาขาไปที่ภาคเหนือและอีสานโดยเน้นหัวเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่, ขอนแก่น และอุดรธานี ปัจจุบัน สุกี้ตี๋น้อยมีสาขาทั้งหมด 57 สาขา

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ยัน!! ศก.ไทย 'ไม่วิกฤติ' ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามคำขอ ด้านสื่อญี่ปุ่นมอง 'เศรษฐา' ต้องการอ้างตัวเลขวิกฤติ ดัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ. 67) สำนักข่าวนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งนี้ ระบุว่า ธปท.ได้คัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกกลับของนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวนิกเกอิ ว่า ธนาคารกลางจะ 'ไม่ดันทุรัง' ต่อสถานการณ์ดอกเบี้ยในขณะนี้ซึ่งอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นด้วย และนี่คือปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ส่งถึงธนาคารกลางกำลังมีมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องถึง 4 เดือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการหดตัวของการส่งออก แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายเศรษฐาได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่อ่อนแอลง และเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมหารือเป็นการฉุกเฉินก่อนการประชุมทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายเศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยยืนยันว่า นายเศรษฐา มีความเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ 'แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต' แม้ว่านายเศรษฐาได้พยายามชี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอด เพื่ออ้างว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ได้ง่ายขึ้น

“การฟื้นตัวแม้จะมีความอ่อนแอ แต่มันก็มีความต่อเนื่อง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

นิกเกอิรายงานต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุ หลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี 

“มีความตึงเครียดแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทํางานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่า เรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางได้ฝ่าฟันกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีข้อวิจารณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) จำนวน 2 คนลงมติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเกอิว่า เสียงส่วนน้อยมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากรและผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว คณะกรรมการฯยังเห็นถึงความกังวลที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี

“สิ่งที่เราเห็น คือ การทดแทนการนําเข้ามากขึ้นในประเทศจีน...ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขา (จีน) ที่ผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีการนำเข้า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ในขณะที่การเข้าพักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากอันเป็นผลมาจากโควิด” ผู้ว่าการธนาคารฯกล่าว และระบุว่า “มันเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะสรุปว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วยความล่าช้า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณต้องการได้ตัวเลขนั้น”

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่แทรกแซงธนาคารกลางแต่จะพยายามโน้มน้าวให้ "เห็นใจคนที่กำลังทรมาน”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำกับนิกเกอิว่า “พวกเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะว่ารายได้ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เราก็รู้สึกถึงวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา คือ การออกมาตรการที่ตรงเป้าหมาย และมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะต้องมาแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกๆคน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลา มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่ของการพยายามทําให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

'เครดิตบูโร' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 91% ต่อ GDP หวั่น!! ครัวเรือนผ่อนบ้านรถไม่ไหว เสี่ยงถูกยึด

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศสถิติหนี้ครัวเรือนออกมาด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยผลออกมาว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% นับว่ายังอยู่ช่วงอันตรายมาตลอดตั้งไตรมาสแรกที่ +90.7 และเพิ่มขึ้นมาสู่ +90.8% ในไตรมาสที่ 2 

(22 ก.พ. 67) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้กล่าวบน Facebook ว่าหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว +91% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากมองย้อนหลังลงไป หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่โซนอันตรายหรือมากกว่า +80% ตั้งแต่ปี 2556 และพุ่งสูงขึ้นมาตลอดจนแตะ +85.9% ในปี 2558 จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งต่อภาระไปแก่ครัวเรือน แม้หลังปี 2558 หนี้จะหมดและทยอยลดลง แต่ในปี 2019 - 2020 หนี้ได้ก่อตัวขึ้นจนดีดขึ้นสูงถึง +94.7% อีกทั้งนโยบายพักหนี้นั้นทำให้หนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบ แม้จะหนี้จะลดลงมาในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับอันตราย

นายสุรพล เสริมว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ...

- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
- สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) 
- สินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายสุรพล ยังย้ำว่า หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านน่าเป็นห่วง ลูกหนี้หลายรายผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย สินเชื่อบ้านก็เช่นกัน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% เท่ากับมีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลังหากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทำให้ SMEs ขนาดเล็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะต้องจับตาดูไว้

‘กฤษฎา-รมช.คลัง’ คิกออฟ ‘โครงการ บสย. Business School’ ดึง ‘บสย.- ธปท.’ ให้ความรู้นักศึกษาเพื่อก้าวสู่ SMEs รุ่นใหม่

ไม่นานมานี้ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาล และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง สนับสนุนให้หน่วยงานจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา และภาคการพัฒนาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังที่สำคัญด้านการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ล่าสุด ตนพร้อมด้วยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จัด ‘โครงการ บสย. Business School’ โดยเริ่ม Kick Off โครงการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว บสย. และธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือร่วมกันเป็นวิทยากรให้ความรู้ในหลักสูตรทางด้านการเงิน เพื่อเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การตั้งธุรกิจ และผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้กับนักศึกษา โดยเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความรู้พื้นฐานทางด้านการเงิน สำหรับนำไปใช้กับครอบครัว และนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต 

นักวิจัยจุฬาฯ เจ๋ง!! ใช้เศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้ง ผลิต 'เซลโลกัม' ช่วยลดการนำเข้าสารเติมแต่งต่อปีได้กว่าหมื่นล้านบาท

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ.67) ‘เซลโลกัม’ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากความร่วมมือระหว่างทีมนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ที่ดัดแปลงเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้งนับเป็นตัน ๆ ต่อวัน ให้กลายเป็นสารเติมแต่ง ประสิทธิภาพสูง นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่จะเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อสังคม zero waste ลดการกำจัดขยะด้วยการเผา

โดยทีมนักวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) และอาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด (BioNext) สตาร์ตอัพภายใต้ชายคา CU Enterprise พร้อมทีมวิจัย ได้แก่ รศ.ดร.ศรุต อำมาตย์โยธิน คุณวรุณ วารัญญานนท์ คุณปิยะวัฒน์ สาธิตวงศ์กุล และ ดร.พงษ์พัฒน์ ศุขวัฒนะกุล

ทั้งนี้ โครงการวิจัยนี้เป็น 1 ใน 12 โครงการที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายโครงการปั้นดาวของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างโรงงานนำร่อง (pilot plant) เพื่อนำเอาเศษวุ้นมะพร้าวมาผลิตเป็นสารเติมแต่งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง

>> Cello-gum คืออะไร

เซลโลกัม คือผลิตภัณฑ์นาโนเซลลูโลสจากเศษวุ้นมะพร้าว ที่ทำขึ้นมานี้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัย และมีตลาดรองรับ เซลโลกัมจึงเป็นตัวอย่างนวัตกรรมซึ่งมีศักยภาพมากในการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้เป็นสารเติมแต่งในอาหาร ยา และเครื่องสำอาง เพื่อควบคุมความข้นหนืดและทำให้เกิดความคงตัวในอาหารเหลว หรือ food stabilizer

เช่น ในผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวต้องเติม food stabilizer เพื่อรักษาความเป็นคอลลอยด์ ไม่ให้น้ำนมเกิดการแยกชั้น และช่วยเพิ่มเนื้อให้มีลักษณะเหมือนมีเนื้อข้าวอยู่ในผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับน้ำผลไม้ ที่มักใช้สารเติมแต่งจากเซลลูโลสเป็นสารเพิ่มเนื้อ” ศ.ดร.หทัยกานต์อธิบาย

ศ.ดร.หทัยกานต์ เล่าว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ในการนำเอาแบคทีเรียเซลลูโลส มาเข้าสู่กระบวนการทางเคมี โดยใช้โบโอเทคโนโลยีและผลิตเป็นสารเติมแต่ง ที่ผ่านมาทีมวิจัยมักใช้แบคทีเรียเซลลูโลสมาขึ้นรูปเป็นเมมเบรน เป็นฟิล์มถนอมอาหาร หรือฉลากต่าง ๆ

“บริษัท อำพลฟู้ดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกวุ้นมะพร้าวในระดับโลก ทราบข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ออกไป ก็เกิดแนวคิดและความร่วมมือที่จะใช้องค์ความรู้แบคทีเรียเซลลูโลส ในการทำสารเติมแต่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษวุ้นมะพร้าวที่มีมูลค่าสูงได้

เพราะเศษวุ้นมะพร้าวที่เหลือจากการผลิตของบริษัทมีเป็นตัน ๆ ทุกวัน ปกติแล้วจะถูกกำจัดโดยการเผาทิ้ง ซึ่งหากนำมาทำเป็นสารเติมแต่งได้ ก็จะช่วยลดการนำเข้าสารเติมแต่งต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าปีละกว่าหมื่นล้านบาท”

>> เซลโลกัม โดดเด่นเหนือคู่แข่งในตลาด

ศ.ดร.หทัยกานต์ อธิบายว่า วุ้นมะพร้าว หรือ Nata de Coco เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีลักษณะโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์เป็นแบคทีเรียเซลลูโลส (bacterial cellulose, BC) ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ เช่น มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี รูพรุนมาก ดูดซับน้ำได้มาก ขึ้นรูปได้ง่าย ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และไม่มีความเป็นพิษ

“เมื่อนำวุ้นมะพร้าวมาใช้เป็นวัสดุผสมหรือสารเติมแต่ง จึงช่วยให้สามารถเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น ทำให้อะตอมหรือโมเลกุลของสารอื่น ๆ สามารถยึดเกาะได้ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย แบคทีเรียที่ใช้ในการผลิตวุ้นมะพร้าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะซิโตแบคเตอร์ ไซลินัม (acetobacter xylinum) ซึ่งสามารถเลี้ยงในห้องแล็บได้ โดยเลี้ยงด้วยน้ำตาล และ carbon source

ที่เรียกว่า วุ้นมะพร้าว เพราะใช้น้ำมะพร้าวเป็นอาหารสำหรับแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียได้รับอาหาร ก็จะขับถ่ายออกมาเป็นไฟเบอร์ ซึ่งไฟเบอร์ตัวนี้แหละที่เป็นเซลลูโลสอย่างดี และเมื่อเทียบกับสารเติมแต่งที่เราต้องนำเข้าจากต่างประเทศแล้ว เซลโลกัมมีความบริสุทธิ์กว่า มีประสิทธิภาพดีกว่า ประหยัดกว่าเพราะใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า และมาจากธรรมชาติ (bio resource)”

นอกจากวุ้นมะพร้าวแล้ว ศ.ดร.หทัยกานต์กล่าวว่า เศษวัสดุทางการเกษตรอื่น ๆ ก็นำมาใช้ทำเซลโลกัมได้เช่นกัน แม้จะให้เซลลูโลสในปริมาณที่น้อยกว่า

“วุ้นมะพร้าวให้เซลลูโลสมากกว่าเมื่อเทียบกับเซลลูโลสที่สกัดจากไม้หรือพืชอื่น ๆ เช่น ชานอ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งจะได้เซลลูโลสแค่ประมาณ 30% เท่านั้น แต่ก็สามารถเอาชานอ้อย ข้าวโพด สับปะรด มาเข้ากระบวนการผลิตเป็นเซลโลกัมได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะต้องมีการพลิกแพลงหรือเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย”

>> เส้นทางในอนาคตของ Cello-gum

นอกจากได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายโครงการปั้นดาวของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) ปี พ.ศ. 2563 โครงการวิจัยเซลโลกัมยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Angel Fund ประจำปี พ.ศ. 2566 ด้วย

จากความสำเร็จของ Pilot Plant ทีมวิจัยเห็นโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตในเชิงพาณิชย์ จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ไบโอเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ spin-off มาจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการบ่มเพาะของ CU Enterprise เพื่อทดลองพัฒนางานวิจัย และเสนอโครงการตามบริษัทใหญ่ ๆ ต่อไป

“เราอยากจะทำเป็นโมเดลเหมือนกันคือแทนที่แต่ละโรงงานหรือบริษัทต้องทิ้งหรือกำจัดของเสียทางการเกษตร เราอาจจะนำกลับมาเข้ากระบวนการเพื่อผลิตเป็นพรอดักต์อย่างเซลโลกัม หรืออื่น ๆ ก็จะก่อให้เกิด circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ด้วย” ศ.ดร.หทัยกานต์ กล่าว

ศ.ดร.หทัยกานต์กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังเสริม ได้แก่ ผู้ร่วมงานหรือทีมวิจัยที่ดี การส่งเสริมจากพาร์ตเนอร์หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เราทำงานด้วย เพื่อให้เกิด eco system ที่ดี ให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และก็ต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

ปัจจุบัน เซลโลกัม อยู่ในช่วงของการหาผู้ร่วมทุน และความช่วยเหลือในด้านวิศวกรรม ทั้งเรื่องของการออกแบบเครื่องจักรและโรงงานเพื่อพัฒนากำลังการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรมเต็มตัวในอนาคต พร้อม ๆ กับการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากเซลโลกัมแล้ว ทีมวิจัยภายใต้การนำของ ศ.ดร.หทัยกานต์ยังมีแผนที่จะพัฒนาแบคทีเรียเซลลูโลสเพื่อใช้เป็น binder ในอุตสาหกรรมการตอกยาเม็ด สารเติมแต่งในอาหารเสริม และ hydrogel ในเครื่องสำอางด้วย

'พีระพันธุ์' หารือ 'ผู้ว่าฯ ยูนนาน' ยกระดับ 'ความสัมพันธ์-ร่วมมือ' ไปอีกขั้น เตรียมต่อยอด 'เศรษฐกิจ-พลังงานสะอาด-อุตสาหกรรมสีเขียว'

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ. 67) ณ ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายหวัง หยู่โป (H.E. Mr. Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน เข้าเยี่ยมคารวะ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีฯ ยินดีที่ได้พบผู้ว่าการมณฑลฯ อีกครั้ง ขอบคุณมณฑลยูนนานในความร่วมมือระหว่างกันที่ดีมาตลอด ซึ่งตั้งแต่จีนกลับมาเปิดประเทศในปี 2566 ได้มีคณะผู้แทนระดับสูงของไทยเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์และศึกษาดูงานที่มณฑลยูนนานอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่า หากทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันในทุกด้าน ทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทวีความสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นต่อไป 

ด้านผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสเยือนไทย การต้อนรับอย่างอบอุ่นจากไทย แสดงให้เห็นว่าไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างจีน-ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคารพและไว้วางใจร่วมกัน เอื้อประโยชน์แก่กันในทางเศรษฐกิจ เข้าใจซึ่งกันและกันในทางวัฒนธรรม ดังนั้น จีนและไทยจึงเปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกัน ที่ได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเยือนไทยของ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2565 ที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีความหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ สอดคล้องกับที่ได้ประกาศแถลงร่วมว่าด้วยการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย-จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมกัน

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เห็นพ้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจีนพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยจีนจะส่งเสริมแถบเส้นทาง R3A ไทย - ลาว - จีน ต่อเนื่อง ถือเป็นเส้นทางสำคัญในการนำเข้า - ส่งออกสินค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ ชื่นชมว่า หลังจากการเปิดแถบเส้นทาง R3A แล้ว ได้ประหยัดเวลาขนส่งสินค้าและลดต้นทุนทางธุรกิจได้มาก โดยเมื่อปี 2566 มีจำนวนการนำเข้าสินค้ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยพร้อมพัฒนา เส้นทางสายไหม (One Belt One Road) ให้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันส่งเสริมด้านการใช้พลังงานสะอาดในเส้นทางด้วย

ด้านการใช้พลังงานสะอาด เห็นพ้องที่จะผลักดันการใช้พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว ผ่านการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีของหน่วยงานที่ภาครัฐเกี่ยวข้องด้านพลังงาน โดยรองนายกรัฐมนตรีเห็นศักยภาพของมณฑลยูนนาน ที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จำนวนมาก ซึ่งผู้ว่าการมณฑลฯ เห็นพ้องที่จะนำศักยภาพด้านการใช้พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ของมณฑลยูนนานมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งสองพร้อมต่อยอดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและมณฑลยูนนาน โดยผู้ว่าการมณฑลฯ ยินดีกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยจำนวนกว่า 1,000 คน ศึกษาอยู่ ณ มณฑลยูนนาน

ด้านการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ ไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้งสองฝ่าย มีการไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากมณฑลยูนนานและให้ความสำคัญสูงสุดกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ว่าการมณฑลฯ เชื่อมั่นว่า จะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ขยายโอกาสและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top