Monday, 12 May 2025
Econbiz

‘ผู้แทนการค้าไทย’ บุก ‘อินเดีย’ ดึงภาคเอกชน ร่วมลงทุนใน EEC ชูจุดเด่นทักษะแรงงาน-สิทธิพิเศษ พร้อมเร่งผลักดันการค้าทั้ง 2 ฝ่าย

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 67 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ตนพร้อม นายดนย์วิศว์ พูลสวัสดิ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ และทีมประเทศไทย ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท TATA ในภาคส่วนของยานยนต์ และเหล็ก โดย TATA เป็นบริษัทชั้นนำในอินเดีย มีมูลค่าตลาด กว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท โดยเชิญชวนให้จัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ในพื้นที่อีอีซี และใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังประเทศอื่น ในอาเซียน ชูจุดเด่นด้านทักษะแรงงาน สถานที่ตั้งและสิทธิพิเศษด้านการลงทุน

ในขณะที่การหารือกับผู้บริหารบริษัท Mahindra ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การให้บริการด้านไอที และเป็นบริษัทที่จัดจำหน่ายรถเทรคเตอร์มากที่สุดในโลก ซึ่งทางบริษัทจะเริ่มนำรถแทรกเตอร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยภายในกลางปีนี้ และหากยอดขายเป็นไปตามเป้า ทางบริษัทจะพิจารณาการจัดตั้งโรงงานในไทย เพื่อจัดจำหน่ายในไทย และส่งไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ โดยตนพร้อมจะสนับสนุนและประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นางนลินี กล่าวว่า นอกจากนั้น ได้หารือประธาน IMC Chamber of Commerce and Industry ซึ่งเป็นหอการค้าที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1907 และมีสมาชิกกว่า 5,000 คน โดยได้เสนอให้พัฒนาความร่วมมือระหว่าง IMC Youth และผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) เนื่องจากคนรุ่นใหม่ของ 2 ประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และผลักดันความสัมพันธ์ทางการค้าต่อไป

นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ใช้อีอีซี เป็นฐานในการผลิตไฟฟ้าอีวี และยาและเวชภัณฑ์เพื่อขายในภูมิภาค สำหรับการหารือกับ Confederation of Indian Industry (CII) ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญด้านการเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทางการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ตนยังได้เชิญชวนให้ผู้ประกอบการชาวอินเดียลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรม เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของนักท่องเที่ยวอินเดียในไทย

เคาะแล้ว!! ฟรีวีซ่า ‘ไทย-จีน’ ดีเดย์ 1 มีนาคม 67 ‘ไทย-จีน’ ไปมาสะดวก อยู่ได้ต่อเที่ยว 30 วัน

(28 ม.ค. 67) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมลงนามความตกลง และเอกสารสำคัญ กับนายหวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

สาระสำคัญของการลงนามในครั้งนี้ คือ ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ หรือ ‘วีซ่าฟรี’ ให้กับชาวไทยเดินทางไปยังประเทศจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น

โดยมาตรการฟรีวีซ่าจีน ครั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาพำนักแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน

สำหรับนโยบายฟรีวีซ่าไทยจีน จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะยอดนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้นในไทย ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการจองเข้ามามากขึ้น แต่ประเด็นที่ให้ความสำคัญมากกว่า คือ จำนวนวันที่อยู่ในไทย กับการใช้จ่ายต่อคน เพราะหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การเดินทางก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ที่คิดว่าจะเข้ามาเยอะมาก ก็ไม่ได้เข้ามาเยอะขนาดนั้น ดังนั้นนโยบายฟรีวีซ่า ก็จะมีโอกาสช่วยให้เกิดการจับจ่ายที่มากขึ้นจากนักท่องเที่ยวตามจำนวนวันที่อยู่ได้นานมากขึ้นไปด้วย เช่นเดียวกันกับคนไทยที่จะไปเที่ยวจีน รวมถึงการหาโอกาสทางธุรกิจ

‘นายกฯ’ ชี้!! ‘ฟรีวีซ่า’ ก้าวสำคัญสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ‘เศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุน’

(28 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ไทยกับจีน ได้ลงนามในความตกลงฟรีวีซ่าสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา และหนังสือเดินทางกึ่งราชการ เมื่อเช้าวันที่ 28 ม.ค.ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67 

“ผมมองว่าเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ ไทย - จีน และจะมีผลอย่างมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน แต่ยังรวมถึงการค้า การลงทุนด้วย อย่างแน่นอน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 ม.ค.นี้ นายหวัง อี้ (H.E.Mr.Wang Yi) สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรมว.ต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ยกเคส SHEIN แบรนด์แฟชันจีนสุดแรงแซงทุกโค้ง สะท้อนโลกธุรกิจยุคใหม่ อยากคว้าชัยเร็ว ก็ต้อง 'ปรับตัวไวและโคตรไว'

(29 ม.ค.67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ในหัวข้อ 'ผู้ชนะวงการ Fashion' ระบุว่า...

ยุค 90 Giordano, Esprit, Mango, Benetton
ยุค 2000 Zara, H&M, Topshop, Uniqlo 
Today Is Shein

วงการเสื้อผ้ายุคดั้งเดิม เขาจะมีเสื้อขายปีละ 3-4 Seasons Summer, Spring, Autumn,Winter 1 ฤดูกาลจะมีเสื้อวางขายในร้าน 90 วัน+/- ของเข้าร้านใหม่ New Arrival ผ่านไปสักเดือนนิด ๆ ก็ Sale และก่อนปิดฤดูก็จะมี Final sale พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเดินเข้าไปเจอเสื้อเดิม ๆ 3 ตัว 

แต่คนเดินห้างเขาชอบเข้าร้านพวกนี้จนกระทั่ง...

ZARA ส่งเสื้อใหม่เข้าร้านทุก 2 สัปดาห์และเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็น Fast fashion 

UNIQLO เองแม้จะไม่ถึงกับเป็น Fast fashion แต่เขาก็ตั้งบริษัทชื่อ Fast retail ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจแฟชั่นจนร้านค้าเดิม ๆ เซไปเลย

วันนี้ SHIEN เข้ามาเปลี่ยนโลก Fast Fashion เป็น Ultra fast fashion ด้วยการใช้ internet, AI และ Online platform ส่งเสื้อเข้ามาสู่สายตาลูกค้าไวกว่าเดิม ผลิตไวกว่า ใช้ AI ส่องแฟชันตาม Social media และออกแบบทันที ผลิตไว และมีจำนวนสินค้าผลิตตาม Data Analysis วันนี้บริษัทนี้เป็นผู้ชนะแล้วครับ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไว
พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
มือเศรษฐกิจจุลภาค

‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ เดินแผนปลดระวางรถเมล์ NGV 350 คัน แล้วเสร็จ ผันตัวเป็น ‘ขนส่งไร้มลพิษ’ ให้บริการ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เต็มรูปแบบ 

(29 ม.ค. 67) นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นควันพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้คนซึ่งบริษัทได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ก่อนหน้านี้ได้ทำการประกาศนโยบายพัฒนาระบบขนส่งของไทยให้ก้าวสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า 100% ด้วยการปลดประจำการรถเมล์ NGV ทั้งหมด 350 คัน จะต้องถูกยกเลิกการใช้งานทั้งหมดภายในเดือน ม.ค.นี้

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ยกเลิกการใช้งานรถ NGV คันสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นส่วนสำคัญในภาคการขนส่งที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ทั้งยังเตรียมตัวสู่ยุค Net Zero Carbon ที่สอดคล้องกับแนวคิดขององค์กร “เดินทางด้วยรอยยิ้ม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

ขณะเดียวกัน TSB ได้ประกาศเป็นนโยบายให้รถทุกคันเปิดรับชำระค่าโดยสารทั้ง 2 ระบบ ผู้เดินทางสามารถใช้ ‘เงินสด’  จ่ายผ่านบัสโฮสเตส (พนักงานเก็บค่าโดยสาร) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกที่มากขึ้น ด้วยอัตราค่าโดยสารเริ่มเพียง 15-20-25 บาท ตามระยะทาง

นอกจากนี้ ยังมีบริการรองรับสำหรับคนใช้งานประจำ ในการใช้บัตร HOP Card เพื่อรับสิทธิประโยชน์ ‘เดลิ แมกซ์ แฟร์’ Daily Max Fare เดินทางกี่ต่อ กี่สาย กี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดจำนวนภายในหนึ่งวัน ด้วยการชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวันเท่านั้น หรือจะนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาซื้อบัตรได้ง่าย ๆ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Shopee

‘มล.ชโยทิต’ ชี้!! ก.พ.67 ‘อัตราภาษีสีเขียว’ ใกล้คลอด เสริมนิเวศการลงทุนไทยยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ทุนยุโรป

(29 ม.ค.67) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เป็นอีกกำลังหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การลงทุนโดยตรงสุทธิจากสหภาพยุโรป (EU) ในไทยในปี 2565 มีมูลค่า 49,220.33 ล้านบาท และประเทศที่ลงทุนเป็นอันดับ 2 จาก EU คือ เยอรมนี มูลค่า 15,530.07 ล้านบาท

ทั้งนี้ ศักยภาพการลงทุนจากเยอรมนี ยังสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าให้มากขึ้นไปอีก แต่ในอนาคตเงื่อนไขทางการค้าของนักลงทุนจากยุโรปไม่ใช่แค่ ‘กำไร-ขาดทุน’ แต่คือโจทย์ด้านความยั่งยืน

ฉะนั้นในโอกาสที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับ นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีสาระสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่อย่างชัดเจน

โดย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมนี ที่ได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่... 

1. การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2. การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ในประเทศไทย

3. การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4. การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5. การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือน ก.พ. 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

6. ด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ EU และของฝ่ายไทยครั้งที่ 15 (15th Senior Officials' Meeting) เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศ สมาชิก EU เห็นควรให้ EU เริ่มต้นการเจรจา FTA กับประเทศไทยอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงเจตจำนงยกระดับความร่วมมือทวิภาคี กับฝ่ายไทย ในการนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ EU จะนำประเด็นเรื่องการปล่อยคาร์บอนมาเป็นเงื่อนไข อย่างหนึ่งในการเจรจาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า เชื่อมั่นในการร่วมกันพัฒนาอนาคตที่สดใสร่วมกัน รวมถึงชื่นชมการมีเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งสะท้อนว่า ไทยพร้อมเปิดกว้างสำหรับการทำธุรกิจ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะยกระดับทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมี Roadmap ที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

สำหรับผู้แทนเอกชนเยอรมนีมาจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการ ดิจิทัลและการศึกษา และ 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือน มี.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นช่วงที่นิเวศด้านความยั่งยืนของไทยโดยเฉพาะด้านภาษีสีเขียวน่าจะแล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นอีกผลงานอวดโลกได้ว่า ไทยพร้อมตอบโจทย์เงื่อนไขการลงทุนที่มีความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ

'ดร.วชิรศักดิ์' มั่นใจ!! ไทยขึ้นแท่นมหาอำนาจในเร็ววัน ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

(29 ม.ค. 67) เพจ 'Bangkok I Love You' โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ก้าวย่างอย่างมั่นคงสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มหาอำนาจตัวจริง' ระบุว่า...

"คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ"

ประเทศไทยเป็น Corridor

Corridor คืออะไร?

ผมว่าหลายคนยังไม่ทราบ คนในวงการก่อสร้าง Infrastructure หรือ Mega project การลงทุนระหว่างประเทศจะใช้คำนี้เสมอ เราก็ไม่เข้าใจเพราะเรามองไม่ไกลขนาดนั้น ตอน Ford มาตั้งโรงงานในบ้านเรา ผมได้มีโอกาสเจอ First team ก็เลยถามตรง ๆ ว่า มาทำไมเพราะคู่แข่งแต่ละรายแกร่งยิ่งนัก เขาตอบว่า Corridor ช่วง 10 ปีแรก ขายในประเทศ อีก 20 ปี ไปขายเพื่อนบ้าน ตอนนี้เขมรขับ Ford กันแล้ว อีก 30 ปี ไปขายพม่าได้ Vision 20 ปี มันเป็นแบบนี้นี่เอง

มือถือสองค่ายแย่งกันขาย รายที่สามมาทำไม เขาตอบว่า อัตราส่วนเมื่อเทียบกับที่อื่นทั่วโลกถือว่า ตึงเต็มที่ Reserve ratio มันต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว อนาคตยอดเพิ่มแน่นอน มีตัวเลขต่างประเทศมายืนยัน มันเป็นแบบนี้นี่เองการค้าระดับโลกมันมีฐานข้อมูลอ้างอิง เรามองแค่ในบ้านเราถึงไม่เข้าใจว่าเขามาลงทุนทำไม ตัวเลขสำคัญคือจำนวนประชากรต่อ ???

เห็นสิงคโปร์ CNA ทำรายงานเรื่อง การลงทุนของญี่ปุ่นใน AEC มีภาพหนึ่ง Corridor ชัดเจนมาก ทำเลทอง EEC มันเป็นทางผ่านชัด ๆ นี่ไม่รวมรถไฟจากจีน คุณหมิง ผ่านลาว ลงมาอ่าวไทย แบบนี้เรียกว่า Center point วัยรุ่นคงเข้าใจ คนตจว. อาจจะเรียกว่าโคราช อนาคตประเทศเราจะเป็นทางผ่านแบบโคราช แปลว่า แน่นทั้งปี

ไม่แปลก...อะไรที่ถนนบ้านเราโดยเฉพาะในต่างจังหวัดพัฒนาขึ้นดีมาก คนต่างจังหวัดคงเข้าใจไม่ต้องอธิบาย Logistic ต่างชาติแห่กันมาหา Hub คนลาว คนเวียดนาม มาเห็นถนนสาย ตจว. บ้านเราถึงกับร้อง ทำไมมันดีกว่าบ้านเขามาก ถนนสายจากน่านไปออกหลวงพระบางเคยเห็นหรือยัง อนาคตบ้านเราเก็บค่าต๋ง ค่าผ่านทางก็รวยแล้วครับ

บทความจาก ดร.วชิรศักดิ์ จึงสถาพร

'สว.วีระศักดิ์' กล่าวเปิดเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days  ความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 'ไทย-รัสเซีย'

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทย ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับ รัฐมนตรี ด้านวัฒนธรรมของนครมอสโก และคณะ ในความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย จับมือร่วมกับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศที่มีวงการภาพยนตร์ที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่อีกแห่งของโลก ที่จัดให้มีงานเทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days เป็นครั้งแรกในไทย ที่โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์

โดยมีเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยและคณะทูตจากต่างประเทศพร้อมคู่สมรส ผู้แทนการค้าไทย รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะผู้บริหารสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติของไทยที่มาร่วมแสดงความยินดี

ในพิธีเดินพรมแดง มีการจัดถ่ายทอด live สด การสนทนาสัมภาษณ์กับนักบินอวกาศที่ร่วมแสดงในฉากจริงของภาพยนตร์ ‘The Challenge’ จากนั้นเป็นกิจกรรมขึ้นกล่าวก่อนเปิดฉายภาพยนตร์ ‘The Challenge’ ที่เป็นภาพยนตร์กวาดรายได้สูงสุด 1 ใน 5 เรื่องที่ฝ่ายรัสเซียนำมาทยอยเข้าฉายในไทยนับจากนี้ไปถึงเดือนเมษายน 

‘The Challenge เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ถ่ายทำในสถานที่จริงในอวกาศ ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) โดยเป็นเรื่องราวของ ศัลยแพทย์ (นำแสดงโดย ยูเลีย พีริซีลด์ ดารานักแสดงสาวของรัสเซีย) ถูกส่งขึ้นโดยการตัดใจของหน่วยกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติของรัสเซีย มุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรเหนือพื้นโลกที่อยู่เหนือขึ้นไปกว่า 400 กิโลเมตรเป็นการเร่งด่วน เพื่อไปผ่าตัดช่องอกให้นักบินอวกาศที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุในอวกาศ เพื่อหวังให้สามารถกลับลงสู่พื้นโลกได้ปลอดภัย

การถ่ายทำจริงใช้เวลา 12 วันบนอวกาศ ผ่านการเตรียมงานและฝึกฝนนักแสดงและผู้กำกับให้ขึ้นไปทำภารกิจในสภาพไร้น้ำหนักและปราศจากแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่นับเดือน นับเป็นมิติใหม่ที่ผู้ชมจะได้ชมภาพยนตร์สนุกจากบรรยากาศในยานอวกาศจริง

ในการนี้ นายเยฟกินี โธมีคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยขึ้นกล่าวว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสะท้อนแนวคิดวิถีชีวิต ของคนในแต่ละสังคม เพื่อให้ผู้ชมจากอีกสังคมสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ง่าย

นายอเล็กเซย์ ฟูซินด์ รัฐมนตรีด้านวัฒนธรรมของมอสโก ขึ้นกล่าวว่าเป็นความภาคภูมิใจของรัสเซียที่ชาวไทยให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมในเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างไทยกับรัสเซียอย่างอบอุ่นคับคั่ง รวมทั้งภาคธุรกิจภาพยนตร์และคอนเทนต์ของไทยก็เข้าชื่อมาร่วมพบเจรจา Business Matching กับคณะเดินทางภาคเอกชนด้าน ภาพยนตร์และคอนเทนต์ของรัสเซียกันอย่างหนาแน่นด้วย นับเป็นการเปิดมิติความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และหวังจะได้เห็นการร่วมมือผลิตภาพยนตร์แบบ Co-Production ระหว่างรัสเซียและไทยในอนาคตอันใกล้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ขึ้นกล่าวว่า ในรัสเซียมีการใช้วัฒนธรรมภาพยนตร์ในการขับเคลื่อนสังคมมายาวนาน มีภาพยนตร์สำหรับเข้าโรงฉายในรัสเซียถึงปีละ เฉลี่ย 2 พันเรื่อง และมีกิจการโรงภาพยนตร์ที่กระจายตัวอยู่มากถึง 2 หมื่นแห่งทั่วรัสเซีย ดังนั้นการร่วมมือระหว่างวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกับรัสเซียจึงนับเป็นมิติที่ดีในการเสริมพลังทั้งทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ภาคประชาชนของทั้งสองประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

รัสเซียและไทยเริ่มมีความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางระหว่างกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และต่อมาขยายเพิ่มเติมใน พ.ศ. 2548

ปัจจุบัน รัสเซียสร้างเมืองภาพยนตร์ (Movie Town) และสวนภาพยนตร์ (Film Park) ขึ้นในกรุงมอสโก จากหมู่โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เลิกใช้งานแล้ว เพื่อช่วยให้กองถ่ายรัสเซียและนานาชาติ สามารถเช่าถ่ายทำฉากต่าง ๆ ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถจำลองเป็นเมืองใด ๆ ในโลกก็ได้ สามารถมีฉากแปลกตาท้าทาย ทั้งบนบก ฉากใต้น้ำจากการใช้ทะเลสาบขุดขนาดใหญ่ในพื้นที่พร้อมทีมนักดำน้ำสนับสนุน เพื่อให้ผู้กำกับภาพยนตร์สร้างงานตามจินตนาการได้อย่างสะดวก เพราะอยู่ในเขตใกล้เมืองที่มีระบบบริการและสาธารณูปโภคที่เข้าถึงง่ายจากนครหลวงมอสโกเพียง 25 นาทีทางรถยนต์

ทั้งนี้เทศกาลภาพยนตร์ Moscow Film Days มีกำหนดจะเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘The Challenge’ รอบปกติ ในเครือโรงภาพยนตร์ SF Cinema ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป และจะทยอยนำภาพยนตร์ที่คัดเลือกไว้เข้าฉายต่อเนื่องไปให้คนไทยได้ชมไปเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 5 เรื่องในกลางเดือนเมษายน

‘CPF’ ชูนวัตกรรม ‘โปรไบโอติกส์’ ในอาหารสัตว์ ส่งมอบ ‘หมู-ไก่-เป็ด-กุ้ง’ คุณภาพสู่ผู้บริโภค

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค. 67) กระบวนการเลี้ยงที่ใช้นวัตกรรมโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ตอบโจทย์ดีต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด พัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับจุลินทรีย์ในไบโอแก๊ส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในฟาร์มสุกร ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์ที่เรามุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ภายใต้หลักคิดอาหารที่ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติ ส่งผลให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี พร้อมส่งมอบสู่ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการแม่นยำ ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย ควบคู่กับกระบวนการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีการป้องกันโรค ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่สุขสบายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้สัตว์ไม่ป่วยและไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดสารตกค้าง ลดการปลดปล่อยสารอาหารส่วนเกินสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นต้น

นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ได้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ดี โดยคัดเลือกจากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ จนได้โปรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดเพียง 10 สายพันธุ์ ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด ได้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ CP อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ด และผลิตภัณฑ์กุ้ง CP Pacific ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงตามหลัก 3 สะอาด คือ ลูกกุ้งสะอาด น้ำสะอาด บ่อสะอาด ใส่ใจทุกขั้นตอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เน้นการเลี้ยงด้วยอาหารนวัตกรรมจากธรรมชาติ 100 % อาทิ หมูชีวา (Cheeva Pork) จากแบรนด์ U FARM เนื้อหมูที่อุดมด้วย โอเมก้า 3 มาจากการเลี้ยงสุกรด้วย Super Food เช่น Flax Seed น้ำมันปลา สาหร่ายทะเลลึก ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ปลอดสาร  ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยลดไนโตรเจนในมูลสุกร 20-30 % ผลิตภัณฑ์ไก่เบญจา (Benja Chicken) มาจากการเลี้ยงไก่ด้วย ข้าวกล้อง Flax Seed ทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้า 3 กลิ่นหอม เนื้อนุ่มและฉ่ำได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF เช่นกัน  ผลิตภัณฑ์เป็ดจักรพรรดิ (Chakkraphat Duck) แบรนด์ U FARM มาจากเป็ดที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เลี้ยงด้วยอาหารจากธัญพืชที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 ทำให้เป็ดเนื้อนุ่มฉ่ำกว่าเนื้อเป็ดทั่วไป  

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญสูงสุดในการส่งมอบเนื้อสัตว์คุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคแล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อไบโอแก๊ส ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เพิ่มผลผลิตแก๊สมีเทนเพิ่มความเข้มข้นแก๊สมีเทนสำหรับใช้ในการปั่นไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้คุณภาพน้ำเสียจากการบำบัดดีขึ้น โดยในปี 2566 นำไปใช้ในฟาร์มสุกรแล้วรวม 70 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นไฟ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในฟาร์ม และในอนาคตวางแผนวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในฟาร์มของซีพีเอฟและฟาร์มภายนอก

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top