Tuesday, 13 May 2025
Econbiz

ขบวนรถไฟขนส่งระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ออกขบวนแล้ว!! ช่วยลดต้นทุน ยกระดับการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการค้า

เมื่อไม่นานนี้ การรถไฟฯ ได้เดินรถไฟขนส่งสินค้าขบวนทดลอง มาบตาพุด - ด่านคลองลึก (ฝั่งไทย) - ด่านปอยเปต (ฝั่งกัมพูชา) - พนมเปญ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาเส้นทางเชื่อมระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา

ซึ่งประเทศไทยมีส่วนในการสนับสนุน ร่วมกับหลายๆ ประเทศ ในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศนี้ ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อีกครั้ง หลังจากถูกทำลายไปในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

ซึ่งถ้าการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่ม ปตท. ก็มีการวางแผนขบวนขนส่งสินค้า ทั้งคอนเทนเนอร์ทั่วไป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี จากมาบตาพุด ไปส่งกัมพูชาทางรถไฟอีกด้วย

ทราบหรือไม่ว่า เส้นทางรถไฟไทย-กัมพูชา มีอายุมากกว่า 68 ปี เปิดให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2498 แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง จากปัญหาควาามขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่สงบในกัมพูชาไปกว่า 45 ปี

จนกระทั่งกลับมาเปิดด่านและสถานีรถไฟ ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก และด่านปอยเปต ในปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ ไทยมีเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เป็นจุดที่ 3 ต่อจาก ปาดังเบซาร์ และ หนองคาย

เส้นทางรถไฟระหว่างประเทศ สำคัญอย่างไร?
แน่นอนว่าหลายๆ คน อาจทราบอยู่บ้างว่า รถไฟเป็นระบบขนส่งทางบกที่ถูกที่สุด และมีความสามารถในการขนส่งต่อขบวนในปริมาณมาก ทำให้ช่วยลดการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ได้มาก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้า ซึ่งประเทศไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปกัมพูชาในกลายกลุ่ม เช่น
- วัตถุดิบในการก่อสร้าง (ปูน กระเบื้อง สุขภัณฑ์) ซึ่งไทยเราเป็นผู้นำในระดับโลก
- กลุ่มปิโตรเคมี น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ
- อาหาร สิ่งอุปโภค บริโภค

โดยการเปลี่ยนมาขนส่งผ่านระบบรถไฟ จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้มาก ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น (ถนนไทย-กัมพูชา ยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์) ที่สำคัญคือ การเปิดด่านเหล่านี้ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปิดการเพิ่มผู้ให้บริการ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าข้ามชายแดนได้สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์ ผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ เชื่อ!! บีบไทยขึ้นตาม ในยาม ‘ส่งออกดิ่ง-ท่องเที่ยวทรง-ลงทุนเสี่ยง’

หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นั้น ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นของผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านรายการ ‘Meet THE STATES TIMES’ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า…

การที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มอีก 0.25% นี้ ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ไม่ดี 

‘ในแง่ดี’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนนี้ ไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นการขึ้น ‘ครั้งสุดท้าย’ แล้ว หลังจากเฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 จนถึงวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 จากที่ระดับ 0% จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.25% ส่วนที่ว่าครั้งสุดท้ายนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้จากการที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ ดัชนี SME-Chinext 500 เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจของตลาดการเงินสหรัฐฯ ว่า เฟดเริ่มจัดการกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดี มักมีข่าวร้ายแฝงอยู่เสมอ!!

‘ในแง่ร้าย’ ผมคิดว่า แม้ว่า ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ (Headline Inflation) ที่เราพูดถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้เป็นดัชนีในการทำนโยบาย เราเรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน และราคาอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของเฟด เนื่องจากเฟดพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในอยู่ภายในระดับ 2%...

… ดังนั้น ระดับ 4.8% ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงมาก ในเรทของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานทั่วโลก ในขณะนี้มีความตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ปิดตัวไปหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนในตลาด ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะในภาคงานบริการที่มีปัญหาในเรื่องของความตึงตัวของแรงงานที่ค่อนข้างสูง… 

… เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างแรงงาน มีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องมีการปรับให้สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ทีนี้มองดู ‘ประเทศไทย’ เราเองนั้น ยังมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยถือว่าประสบปัญหาพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการเมืองแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยมีอัตราติดลบ พร้อม ๆ ไปกับอัตราการเติบโตที่ติดลบตามเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความคาดหวังว่า จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น จากที่จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งนึง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้นัก โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรก ๆ ของปี แต่พอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีการชะลอลง ซึ่งผมคิดว่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเองนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยไม่น้อย เนื่องจากสภาพของหนี้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังไม่มีการฟื้นตัว และยังมีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก…

… ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และส่งนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยอยู่

ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เพราะฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ย่อมสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะตลาดอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่การฟันธงอย่างแน่ชัดว่าจะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่

และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะสงครามในยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้ออยู่ อีกทั้ง ราคาพลังงาน และราคาพืชพันธุ์อาหารต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการกระโดดขึ้นราคาอีกเมื่อไหร่

นายพงษ์ภาณุ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่มีต่อตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตอีกด้วยว่า…

แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่การอุปโภค-บริโภค และภาคธุรกิจที่มีการลงทุนนั้น เกิดการหยุดชะงัก เพราะฉะนั้น การบริโภคและการลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง นักลงทุนเองก็คงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักมากขึ้นในการลงทุนแต่ละครั้ง ว่า เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น ก็ย่อมต้องมีการคาดการณ์ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ต้องมีการตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการลงทุนในโครงการใดก็ตาม มีระยะเวลายาวนาน ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจาก ‘อัตราคิดลด’ (Discount Rate) นั้นสูงขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วก็จะเกิดการลดลง อีกทั้ง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนพึงที่จะต้องคงสภาพคล่องทางการเงินไว้มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ต้องเตรียม ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ (Economic Stimulus Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นทั้งในภาคของการบริโภค และภาคการลงทุน ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้อ่อนแอลงไปมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่สถานการณ์ตลาดคริปโตแล้ว ก็ร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากทุกตลาดมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันหมดอีกด้วย

‘นายกสมาคมโรงแรมไทย’ เผย อัตราเข้าพักพุ่ง 85-90% อานิสงส์หยุดยาว หนุนท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง

(29 ก.ค. 66) นายสรรเพ็ชร ศุภบวรเสถียร นายกสมาคมโรงแรมไทย ภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การมีวันหยุดยาวต่อเนื่องถึง 6 วัน ถือเป็นส่วนช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ดีมาก เนื่องจากจะมีวันเที่ยวมากกว่าเดิม และยังแบ่งวันพักผ่อนได้ด้วย โดยแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวระยะใกล้กรุงเทพฯ ถือว่าได้รับอานิสงส์เชิงบวกสูงกว่าในภาพรวม อาทิ พัทยา ที่มียอดจองเข้ามาหนาตามากในวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ ส่วนวันที่เหลือก็เป็นการจองด่วนที่ปรับขึ้นได้ดี คือ เป็นการเข้าพักวันนี้และจองวันนี้ทันที ไม่ได้เป็นการจองล่วงหน้าเหมือนเดิมแล้ว สาเหตุก็เป็นเพราะการประกาศวันหยุดที่มีเวลาเตรียมตัวไม่นาน ทำให้ประชาชนที่ต้องการเที่ยวต้องตัดสินใจแบบเร่งด่วนกว่าเดิม

“เดิมช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ถือเป็นวันหยุดยาวอยู่แล้ว แต่พอมีการประกาศวันหยุดเพิ่มเป็นวันที่ 31 กรกฎาคมเข้ามา ก็ทำให้มีวันหยุดยาวมากขึ้นไปอีก จากที่อัตราการเข้าพักก็วิ่งกันอยู่ประมาณ 60-70% พอมีวันหยุดเพิ่มก็ดันอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นถึง 85-90% แต่วันที่ 30 กรกฎาคม ก็จะปรับลดลงบ้าง เพราะมีการทยอยกลับในกลุ่มที่บริษัทไม่ได้นับวันที่ 31 กรกฎาคม เป็นวันหยุดพิเศษเพิ่มให้ โดยในกลุ่มจังหวัดระยะใกล้ก็ได้อานิสงส์มากขึ้นกว่าภาพรวม เพราะใกล้กรุงเทพฯ พฤติกรรมของคนในจังหวัดนี้จะตัดสินใจเร็ว อย่างตอนเช้าอยากเที่ยว ก็ออกเดินทางทันที” นายสรรเพ็ชร กล่าว

นายสรรเพ็ชร กล่าวว่า ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลซ์ซีซัน) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน อัตราการเข้าพักวิ่งอยู่ประมาณ 40-50% แต่ก็มีบางโรงแรมที่มีฐานลูกค้าเฉพาะตัว อาทิ นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีงานเลี้ยง หรือเป็นลูกค้าหน่วยงานรัฐ ก็จะมีอัตราการเข้าพักวิ่งได้ดีกว่า ซึ่งหากประเมินในภาพรวมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบมากมายนัก ทั้งนี้ ยืนยันว่าราคาห้องพักในโรงแรมยังไม่มีการปรับตัวขึ้น เพราะไม่ใช่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากๆ มีความต้องการ (ดีมานด์) ฟื้นตัวแบบชัดเจน จึงยังไม่ได้ขายในราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นมาเหมือนช่วงหน้าหนาว ราคายังสามารถจับต้องได้อยู่

นายสรรเพ็ชร กล่าวว่า แนวโน้มตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นไป คาดการณ์อัตราการเข้าพักจะดีขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นช่วงที่เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวไทย ปะปนกับไทยเที่ยวไทยได้มากปกติ รวมถึงเป็นช่วงปิดภาคเรียนของหลายประเทศทั่วโลก และปิดงบหน่วยงานของรัฐ จึงจะมีฐานลูกค้าเหล่านี้เข้ามาท่องเที่ยวและใช้บริการโรงแรมในภาคตะวันออกได้มากกว่าเดิม อาทิ พัทยา หัวหิน โดยประเมินสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมากกว่าคนไทยในช่วงสิ้นปี 2566 ที่เป็นไฮซีซันของต่างชาติเที่ยวไทยแบบชัดเจน

สุดทันสมัย!! ‘รถไฟไทยทำ’ ผลสำเร็จโครงการพัฒนารถไฟต้นแบบ พลิกโฉมอุตสาหกรรมระบบราง ดันเศรษฐกิจโตก้าวกระโดด

(29 ก.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไม่เพียงแต่เดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อยกระดับเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมุ่งมั่นผลักดันนโยบาย ‘Thai First’ ของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศที่ต้องการให้มีตัวรถไฟที่จะมีการซื้อ-ขาย ในอนาคต โดยมีเป้าหมายให้ต้องมีส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนผลิตในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่า 40% จากเดิมที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทตัวรถไฟและส่วนประกอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง 2561 มีมูลค่าสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของสินค้าทุกประเภทในระบบราง

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ว่าต่อจากนี้ไปอีก 20 ปี จะมีความต้องการตู้รถไฟโดยสารไม่น้อยกว่า 2,425 ตู้ จากการเพิ่มขึ้นของทางรถไฟที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารถไฟต่อตู้ เฉลี่ยตู้ละ 50 ล้านบาท รวมมูลค่าสำหรับตลาดการผลิตตู้รถไฟโดยสารประมาณ 100,000 ล้านบาท

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เป็นการสนับสนุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์

“โครงการวิจัยและพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) โดยสำนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพข. เพื่อพัฒนาตู้รถไฟโดยสารต้นแบบที่เน้นการวิจัยพัฒนาและรวบรวมเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีรายงานความคืบหน้าล่าสุดสามารถประกอบตัวรถไฟที่มีชิ้นส่วนภายในประเทศได้เป็นครั้งแรก คิดเป็น 44.1% ของมูลค่าสินค้ากรณีรวมแคร่รถไฟ และหากคิดเฉพาะตู้รถโดยสารพร้อมอุปกรณ์ประกอบไม่รวมแคร่รถไฟจะมีมูลค่า local content ถึง 76%” น.ส. ทิพานัน กล่าว

ทั้งนี้ ตัวรถออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากเครื่องบินชั้นธุรกิจและชั้นเฟิร์สคลาสในรถไฟความเร็วสูง มีที่นั่งจำนวน 25 ที่นั่ง ประกอบด้วยชั้น Super Luxury 8 ที่นั่ง และชั้น Luxury 17 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพส่วนตัวสำหรับให้บริการด้านความบันเทิงและสั่งอาหาร ซึ่งจะมีพนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์นำอาหารมาส่งถึงที่นั่ง จุดเด่นของรถขบวนชุดนี้ยังเป็นขบวนที่มีความเงียบ เนื่องจากไม่มีตัวเครื่องยนต์ปั่นไฟในตัวรถ

นอกจากนี้ ยังมีระบบห้องน้ำสุญญากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาตัวรถให้มีน้ำหนักที่เบาลง จากการออกแบบด้วยระบบ Space Frame Modular Concept และแคร่รถไฟที่ทำความเร็วได้ถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากโครงการแล้วจำนวน 7 ผลงาน ขณะนี้อยู่ในขั้นของการทดสอบบนทางรถไฟจริง สำหรับการให้บริการ หากผ่านการทดสอบตรงนี้แล้วก็จะสามารถนำไปใช้จริงได้

“พล.อ.ประยุทธ์ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ผลักดันให้โครงการสำเร็จ ถือเป็นภาคภูมิใจในองค์ความรู้และความสามารถของคนไทยไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้จะช่วยให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ยกระดับการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ทันสมัยและปลอดภัยในระดับสากล รองรับการแข่งขันและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นผู้นำที่พลิกโฉมยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางของไทยในทุกมิติ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

‘EA’ ผนึก ‘EVE-Sunwoda’ ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตแบตเตอรี่  ร่วมศึกษา-จัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า EA ได้ลงนาม MoU กับ EVE Energy Co.,Ltd. (EVE) และ MoU กับ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ซึ่งเป็น 2 พันธมิตรผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน ที่สนใจการขยายตลาดแบตเตอรี่ในไทย เพื่อร่วมศึกษาและจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังผลิตเริ่มต้นที่ 6 GWh ในประเทศไทย โดยคาดว่าผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขั้นสูงด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS) เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัท EA รวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ EA จะนำเสนอ บริษัท Amita Technology (Thailand) Co.,Ltd เข้าร่วมการลงทุนกับพันธมิตรจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ แบบ Prismatic Battery Cell โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตระบบอัตโนมัติขั้นสูงและมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำจากพันธมิตรจีนที่มี Raw material supply chain ครบวงจร มีการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่สูง ซึ่งรวมถึงการต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่แพ็ค เพื่อให้มีต้นทุนรวมในการผลิตแบตเตอรี่ใกล้เคียงกับต้นทุนแบตเตอรี่ที่ผลิตจากจีน โรงงานนี้จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

โดยการวิจัยและพัฒนาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (ESS) โดยระยะเริ่มต้นดำเนินกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในประเทศไทย เพื่อตอบรับสนับสนุนนโยบาย 30@30 ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การดำเนินโครงการนี้มีความเป็นไปได้ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งรัดและผลักดันนโยบายนี้ออกมา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion และก้าวไปเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต

โดย EVE Energy Co.,Ltd. (EVE) ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของจีน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 360 GWh โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้าน Internet of Things (IoT), ยานยนต์ไฟฟ้า และด้าน Energy Storage System (ESS) ซึ่งให้บริการแก่แบรนด์รถยนต์ชั้นนำระดับโลก เช่น BMW, Daimler, Hyundai และ Jaguar Land Rover รากฐานการขายทั่วโลกของบริษัทได้ขยายไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย และภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลกในด้านการให้บริการติดตั้งแบตเตอรี่

ขณะที่ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ถือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับ EV อันดับ 5 ในประเทศจีนและอันดับ 9 ในตลาดโลก มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ต่อปีมากกว่า 100 GWh และจะเพิ่มเป็น 138 GWh ภายในปี 2568 ตลอดจนมีแผนในการเข้าสู่ตลาดยุโรปและการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในฮังการี โดย Sunwoda ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จเร็ว, แบตเตอรี่ PHEV/HEV ตลอดจนแบตเตอรี่ Super-Fast Charge SFC480 นอกจากนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 1 ของ Benchmark ในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ ได้แก่ Dongfeng Maxus, Geely, Li Auto, Huawei, XPeng, Renault และ Nissan เป็นต้น

‘รัฐบาล’ หนุน ‘ความร่วมมือไทย-กัมพูชา’ พัฒนารถไฟขนส่งสินค้า  เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายโลจิสติกส์ ให้เชื่อมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

(2 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมช่องทางการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ โดยชื่นชมความร่วมมือของพันธมิตรทุกฝ่ายจากไทย - กัมพูชา พัฒนาการขนส่งสินค้าทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มให้เป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา และถือเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยในอนาคต

น.ส.รัชดา กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและกัมพูชา ได้ร่วมกันเปิดตัวรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ ไทย - กัมพูชา ณ สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปแล้ว ซึ่งเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระบบรางที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศกัมพูชา ในเส้นทาง มาบตาพุด - คลองลึก - ปอยเปต - พนมเปญ โดยการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ได้ร่วมผลักดันการบริการขนส่งทางราง หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี ให้สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางระบบรางในประเทศไทย เข้ากับการขนส่งสินค้าทางระบบรางของภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มจากการขยายขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางระบบรางของ ไทย - กัมพูชา ผ่านการเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์ในครั้งนี้ ซึ่งรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ ไทย - กัมพูชา เกิดจากความร่วมมือที่ดีของพันธมิตรทุกฝ่าย ร่วมกันผลักดันการขนส่งสินค้าทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ราคาลดลง เกิดการพัฒนาการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางระหว่างกัน เชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงโครงสร้าง ในและระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเพิ่มทางเลือกในการขนส่ง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา และความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับกัมพูชาในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมระบบขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันสมัยขึ้น เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ

‘Geely’ ผู้ผลิตรายใหญ่ในจีน เตรียมลงทุน 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ภายใต้แบรนด์ Radar

(2 ส.ค. 66) หลังการบ่าไหลเข้ามาปักหลักลงทุนของบิ๊กรถยนต์จีนและกลุ่มคลัสเตอร์กว่าแสนล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน จนส่งให้ไทยกลายเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดนั้นจีลี่กรุ๊ป ซึ่งเป็นอีกค่ายที่ถูกจับตาว่าจะขยับแผนลงทุนอย่างไรได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดนั้น จีลี่กรุ๊ป (Geely Group) เตรียมเปิดแผนลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ณ นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก มีกำลังการผลิตต่อปีเบื้องต้น 100,000 คัน โดยรูปแบบการลงทุนจะสามารถสรุปรายละเอียดชัดเจนได้หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยเสร็จสิ้น เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

เบื้องต้นมีรายงานข่าวระบุว่า Geely เตรียมแผนรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์เรดาร์ (Radar)

“Geely Group มีแบรนด์ภายใต้การดูแลหลากหลายยี่ห้อ ดังนั้นการตัดสินใจอาจต้องใช้เวลาว่าจะเลือกรถรุ่นใดเข้าสู่ตลาดไทยเพื่อสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวก็ต้องรองรับการส่งออกได้อีกหลายประเทศ”

โดย Geely เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน 5 ราย ที่ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) และคณะ ได้จัดหารือ เมื่อเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา ส่วนอีก 4 รายที่เหลือคือ บีวายดี (BYD) ฉางอัน (Changan) จีเอซี มอเตอร์ส (JAC Motors) และเจียงหลิง มอเตอร์ส (Jiangling Motors) ซึ่งเกือบทุกรายได้ประกาศแผนลงทุนไปก่อนหน้านี้ จากความมั่นใจในนโยบายของไทยในการพัฒนาฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค และห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ

ปี 2022 ที่ผ่านมา Geely Group ประกาศยอดขายประจำปีรวมกว่า 2.3 ล้านคัน เติบโตโดยรวมกว่า 5 % มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 675,000 คัน คิดเป็น 29% ของยอดขายรวม

ในส่วนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย (Roadmap 30@30) มีเป้าหมายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ล่าสุดรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนรถอีวีเพิ่มเติม หรือมาตรการ EV 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3 ที่จะหมดอายุภายในสิ้นปี 2566 นี้  เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่ความเป็นฮับอีวีในภูมิภาค

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.ชุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ระบุว่ามาตรการส่งเสริม EV 3.5 เบื้องต้น คือ

1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 50,000-100,000 บาทต่อคัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2567-2578

พร้อมทั้งเปิดทางให้มีการนำเข้ารถ EV จากยุโรปให้สามารถ นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV  ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท แบตเตอรี่ 10kWh ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า ส่วนรถราคา 2 - 7 ล้านบาท แบตเตอรี่ 30kWh ขึ้นไป ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่นำเข้า กรณีผู้ขอรับสิทธินำเข้ารถรุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกัน แม้จะมีเลขซีรีส์ต่างกัน ถือว่าได้ผลิตชดเชยรถรุ่นเดียวกับที่ได้รับสิทธิ

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สุวรรณภูมิ เสร็จสมบูรณ์ คาดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเดือนกันยายนนี้

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘HFlight.net’ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า...

ภาพ SAT-1 ล่าสุดวันนี้📷รอเปิดใช้งาน กันยายนนี้‼️

ภาพอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ถ่ายล่าสุดวันนี้ (2 สิงหาคม 2566)🛫

เห็นได้ว่าตัวโครงสร้างอาคารภายนอก รวมถึงพื้นที่โดยรอบ (ทางขับ/taxiway และลานจอด/apron) นั้นดำเนินการแล้วเสร็จเกือบ 100% แล้ว✅ และมีการติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง/aerobridge) แล้ว

ก่อนหน้านี้ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ได้เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จะมีการเปิดใช้งาน SAT-1 ในเดือนกันยายน 2566 หรือเดือนหน้านี้แล้ว (อ้างอิงจาก ไทยรัฐ วันที่ 10 มิถุนายน 2566)📰

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ‘กรุงเทพ’ ครองอันดับ 1 ปี 2023 เมืองที่ ‘นทท.ต่างชาติ’ มาเยือนมากที่สุดในโลก

(3 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 จากเว็บไซต์ travelness มีชาวต่างชาติเดินทางมาทั้งสิ้น 22.78 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 - 24 ก.ค. 66 สร้างรายได้รวม 1,125,072.88 ล้านบาท เฉพาะช่วง 24 - 30 กรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 563,882 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 80,555 คน

รวมทั้งยังมีผลสำรวจของ The Pew Research Center ของสหรัฐอเมริกา เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เผยว่าอาหารไทย ได้รับการโหวตเป็นอาหารยอดฮิตอันดับ 3 อาหารเอเชียที่ขายดีในอเมริกา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11 เป็นรองเพียงอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวของไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พร้อมชูซอฟพาวเวอร์ ‘อาหารไทย’ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ ‘Gastronomy Tourism’ ให้อยู่ในกระแสนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานความคืบหน้า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนว่า กรมฯ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น

เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและองค์กรปกครองท้องถิ่นในการบริหารจัดการเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย สอดคล้องมาตรฐานเมืองท่องเที่ยวของอาเซียน เช่น มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard) ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมในไทยให้ความสนใจ โดยปี 2566 นี้ มีผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการขอรับการตรวจประเมินมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน ถึง 27 แห่งจากทั่วประเทศ

"ประเทศไทยยังคงเป็นปลายทางการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวยังคงให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อน เชื่อว่าปี 2566 ทั้งปี การท่องเที่ยวไทยจะสามารถสร้างรายได้ราว 2.38 ล้านล้านบาท และมีสิทธิลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยไม่น้อยกว่า 25 ล้านคนตามเป้าหมาย" น.ส.รัชดากล่าว

ปตท. ติดอันดับ 110 ฟอร์จูนโกลบอล 500 นับเป็นหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดโผ

ฟอร์จูน (Fortune) ประกาศในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ 110 ของฟอร์จูนโกลบอล 500 (Fortune Global 500) ในปี 2566 โดยได้รับการจัดให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 110 ในโลกตามรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ด้วยรายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยและหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดอันดับบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปีนี้ โดย ปตท. ติดอันดับสองของบริษัทบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ในอาเซียน เป็นรองเพียงบริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) จากสิงคโปร์ แต่หากเทียบเฉพาะในภาคพลังงาน ปตท. รั้งอันดับหนึ่งในอาเซียน

ส่วนในระดับโลก ภาคพลังงานก็มาแรงเช่นกัน โดยซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) จากซาอุดีอาระเบีย รั้งอันดับสอง ไชน่า เนชันแนล ปิโตรเลียม (China National Petroleum) จากจีนคว้าอันดับห้า ซิโนเปก (Sinopec) จากจีน ติดอันดับ 6 เอ็กซ์ซอน โมบิล (Exxon Mobil) จากสหรัฐติดอันดับ 7 และเชลล์ (Shell) จากอังกฤษติดอันดับเก้า ส่วนอันดับหนึ่งได้แก่วอลมาร์ต (Walmart) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีก

สำหรับบริษัทอาเซียนที่ติดฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปี 2566 ประกอบด้วย

-บริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) สิงคโปร์ อันดับ 12 ภาคค้าส่ง รายได้ 3.185 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไทย อันดับ 110 ภาคพลังงาน รายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปิโตรนาส (Petronas) มาเลเซีย อันดับ 139 ภาคพลังงาน รายได้ 8.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทเปอร์ตามิน่า (Pertamina) อินโดนีเซีย อันดับ 141 ภาคพลังงาน รายได้ 8.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Wilmar International) สิงคโปร์ อันดับ 174 ภาคอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รายได้ 7.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top