Friday, 4 July 2025
Econbiz

‘รัฐบาล’ ชี้!! งบกลางใช้ฉุกเฉินมีเพียงพอ ยัน!! สำรองไว้แล้ว ไม่กระทบหน่วยงานรัฐฯ

(21 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีข้อห่วงใยต่อวงเงินการใช้จ่ายงบประมาณกลางคงเหลือ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่เพียงพอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการว่า ระบบการเงินการคลังของประเทศไทยมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินการใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนที่มีความจำเป็นของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม

นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน รัฐบาลมีงบกลาง หมวดเฉพาะ สำหรับการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐฯ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งไว้ 92,400 ล้านบาท และปัจจุบัน ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประมาณ 2 เดือนเศษ (ถึงเดือนกันยายน 2566) เช่น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง หรือภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังรายงานว่า งบกลางฉุกเฉินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นวงเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น

ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีการรายงานวงเงินคงเหลือ จำนวน 18,000 ล้านบาท นางสาวรัชดา กล่าวว่า เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งการใช้งบประมาณภายใต้มาตรา 28 นี้ รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐฯ ดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐฯ ต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด

“จึงขอยืนยันว่า วงเงินสองส่วนดังกล่าว ไม่กระทบกับการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐฯ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการของภาครัฐฯ รวมทั้งดำเนินการ ด้านต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และหากมีกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภัยพิบัติในช่วงนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม ยังสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้” นางสาวรัชดา ย้ำ

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ยกวิกฤตหมอกควัน เป็นปัญหาเร่งด่วน หวังคลี่คลายได้ยั่งยืน ภายใต้ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาที่เกาะกินจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นทุกปี

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่มายาวนานกว่า 10 ปี แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ นั่นเพราะเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 9 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

จากข้อมูลในปีที่ผ่านมานั้น พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดฮอตสปอต ในพื้นที่ราว 13,000 ไร่ ส่งผลให้มีฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ยาวนานกว่า 70 วัน และมีหลายครั้งที่ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบล้วนไม่สบายใจและต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่เกิดไฟป่านั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดชุดเข้าไปดับไฟ และการประสานงานเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ 

ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าไปช่วยดับไฟ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ระดมรถฉีดน้ำ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมือง ลองทำมาแล้วทุกวิถีทาง แต่ก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า ไฟป่าหมอกควันเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของปัญหาสังคม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้เกือบ 80% มาจากภาคท่องเที่ยวบริการ หากเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน สุดท้ายใครจะอยากมาเที่ยว 

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ต้นตอของไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มาจากคนทั้งนั้น โดยสาเหตุประการแรกมาจากการเผาที่เพื่อเพาะปลูก ประการที่สอง เผาเพื่อหาของป่า และประการที่สาม เผาป่าล่าสัตว์ ซึ่งทั้งสามส่วนที่เป็นต้นตอของไฟป่า ทางภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องการรับซื้อเศษวัชพืช และตอซังข้าวโพด จากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดวิธีหนึ่งที่ เพราะการทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเศษตอซัง หวังว่าจะช่วยลดการเผาตอซังและเผาป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

แน่นนอนว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหานี้จะคลี่คลายได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมแรงร่วมใจอย่างทรงพลัง จะสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สําเร็จอย่างยั่งยืน

‘ไทย’ เตรียมผสานมือ ‘มาเลเซีย’ เสริมธุรกิจทางการค้า เชื่อ!! บรรลุเป้า 1.02 ล้านล้านบาท ภายในปี 2568

(24 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย-มาเลเซีย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นการค้าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท) ในปี 2568 รวมถึงจะมีการหารือเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีแผนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับกระทรวงการค้าภายในและค่าครองชีพมาเลเซีย (Secretary General of the Ministry of Domestic Trade and Cost of Living) และคณะ เพื่อหารือถึงความร่วมมือด้านการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ การกำกับดูแลการค้าภายในประเทศให้มีความเป็นธรรม และการฟื้นฟูการค้าชายแดน ซึ่งมาเลเซียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน อีกทั้งการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของการค้ารวมระหว่างสองประเทศ โดยปี 2565 มีตัวเลขการค้าชายแดนระหว่างกันอยู่ที่มูลค่า 336,118.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.05 โดยไทยมีสินค้าที่ส่งออกไปยังมาเลเซียที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีความสนใจที่จะร่วมมือเพื่อส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์กับไทย นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกประเด็นธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีการวางแผนที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของแต่ละฝ่ายเพื่อสร้างโอกาสขยายพันธมิตรทางการค้า การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องขั้นตอนและกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย โดยเฉพาะสาขาอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันแฟรนไชส์ของไทยที่อยู่ในตลาดมาเลเซีย จำนวน 6 ราย ได้แก่ อเมซอน แบล็คแคนยอน กาแฟดอยช้าง ตำมั่ว บาบีก้อน และสมาร์ทเบรน (Smart Brain) ขณะที่แฟรนไชส์ของมาเลเซียที่อยู่ในไทยมีประมาณ 6 ราย อาทิ Secret Recipe Laundry Bar และ Unisense 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทย ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การก่อสร้าง โดยรัฐบาลได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การขยายพันธมิตรการค้าไทย การสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทย และ กิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 

1.) การจัดโครงการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศมาเลเซียภายใต้ชื่องาน 'I Love Thailand Fair' 
2.) การจัดตั้ง Thailand Pavilion ในงานแสดงสินค้า Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) ซึ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้บริโภคในมาเลเซียต่อสินค้าฮาลาลจากไทย 
3.) การจัดกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยและธุรกิจบริการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ซึ่งมุ่งประชาสัมพันธ์สินค้าและร้านที่ได้รับตรา THAI SELECT ในมาเลเซีย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
4.) เชื่อมโยงสมาคมการค้า/ผู้ประกอบการมาเลเซียกับกลุ่มผู้ประกอบการไทย อาทิ สมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์แห่งรัฐสลังงอร์ (The Selangor And Federal Territory Engineering And Motor Parts Traders Association: EMPTA) กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น 

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่ทำให้การค้าระหว่างไทย-มาเลเซียเติบโต โดยเฉพาะการเปิดตลาดธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้นักธุรกิจทั้งสองประเทศ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซียในทุกมิติ และทุกระดับ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและเพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” น.ส.รัชดากล่าว

รฟท. เคาะศิริราชจ่ายค่าเช่าที่ 161 ล้านบาท สร้างอาคารรักษาพยาบาลเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า

บอร์ด รฟท.เคาะเพิ่มทางเลือกให้ รพ.ศิริราชจ่ายค่าเช่าที่ดิน ‘สถานีธนบุรี’ จากรายปีเป็นงวดเดียว คิดมูลค่าที่ 161 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาอาคารรักษาพยาบาลและสถานีเชื่อมรถไฟฟ้า ‘สีแดง-สีส้ม’ คาดลงนามสัญญาเช่าได้ในก.ย. 66

นางสาวมณฑกาญจน์ ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ได้มีมติเห็นชอบการปรับวิธีจ่ายค่าเช่าที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณสถานีธนบุรี ซึ่งเป็นการทบทวนมติบอร์ดรฟท.เดิม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 จากเดิม รฟท.คิดค่าเช่าที่ดินเป็นรายปี ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ รฟท. และได้ตกลงร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ต่อมามีการประชุมร่วมกัน โดยรพ.ศิริราชขอปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าเช่าที่ดินจากรายปีเป็นงวดเดียว เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อใช้ในการไปดำเนินการจัดทำงบประมาณของ รพ.ศิริราช

ทั้งนี้ รพ.ศิริราชจะเช่าที่ดินของ รฟท.บริเวณสถานีธนบุรี จำนวน 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) เพื่อดำเนินโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี อัตราค่าเช่า 50 ล้านบาทต่อปี ปรับขึ้น 3% ต่อปี โดยคิดมูลค่าปัจจุบัน กรณีชำระครั้งเดียวเป็นเงินประมาณ 161 ล้านบาท

“หลังจากนี้จะแจ้งมติบอร์ด รฟท.ให้ศิริราชฯ รับทราบว่าเปิดทางเลือกให้สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินงวดเดียวได้ด้วย ซึ่งทางศิริราชฯ จะสรุปเพื่อดำเนินการลงนามสัญญาร่วมกันต่อไป ซึ่ง รฟท.คาดว่าจะเร่งทำร่างสัญญา และลงนามการเช่าที่ดินได้ภายในเดือน ก.ย. 2566 เพื่อให้ทางศิริราชฯ นำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.ไปใช้ประกอบการเสนอของบประมาณประจำปี 2568” นางสาวมณฑกาญจน์กล่าว

สำหรับโครงการอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 งบประมาณรวม 3,851.27 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบฯ บุคลากร 113.01 ล้านบาท 

ก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1. พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2. พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ3. พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือนรวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี

มีการพัฒนาจุดเชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 2 สถานี คือ สถานีศิริราชรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. และสถานีธนบุรี-ศิริราช รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของ รฟท. เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

กรมรางฯ สรุปแผนรถไฟฟ้า M-MAP 2 เคาะ 33 เส้นทาง เพิ่มทั้งสายใหม่ - ส่วนต่อขยาย

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 -  ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 “โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน M-MAP 2 และการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทาง ด้วยระบบราง 

โดยงานสัมมนาดังกล่าวจะจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2566 เป็นการสัมมนา ในรูปแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง ได้ดำเนินการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง หรือ Railway Demand Forecast Model แล้วเสร็จ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์แนวเส้นทางและความต้องการในการเดินทาง ซึ่งนำมาสู่ช่วงของการพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 โดยได้ดำเนินการศึกษาแนวเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งจากการทบทวนแผน M-MAP เดิม แผน M-MAP 2 Blueprint ซึ่งทาง JICA เคยศึกษาไว้ ร่วมกับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและประชาชนในเขตจังหวัดปริมณฑลที่ไปรับฟังความคิดเห็นมา และที่ปรึกษานำเสนอเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนา ทำให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) โดยนำมาคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นหัวใจของการสัมมนาในครั้งนี้ และในวันนี้นอกจากคณะผู้ศึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากฝั่งไทยแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น

ดร.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาโครงการ ได้สรุปแผนการพัฒนา M-MAP 2 : แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) มีทั้งสิ้น 33 เส้นทาง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.เส้นทาง M-MAP 1 ที่ยังไม่ดำเนินการมีจำนวน 8 เส้นทาง (M) ส่วนเส้นทางใหม่จำนวน 14 เส้นทาง (N.) เสนอต่อขยาย จำนวน 11 เส้นทาง (E) ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2 สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 

A1 : เส้นทางที่มีความจำเป็น / มีความพร้อม 'ดำเนินการทันที' จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ A1-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต – ธรรมศาสตร์ (Commuter) 
A1-2) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศาลายา (Commuter) 
A1-3) รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน – ศิริราช (Commuter) 
A1-4) รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย – บึงกุ่ม (Light Rail)

A2 : เส้นทางที่มีความจำเป็น / แต่ต้องเตรียมความพร้อมก่อน 'คาดว่าดำเนินการภายในปีพ.ศ. 2572' จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ 
A2-1) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ – หัวลำโพง (Commuter) 
A2-2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สนามกีฬาแห่งชาติ – ยศเส (Heavy Rail) 
A2-3) รถไฟฟ้าสายสีเขียว บางหว้า – ตลิ่งชัน (Heavy Rail) 
A2-4) รถไฟฟ้าสายสีแดง วงเวียนใหญ่ – บางบอน (Commuter) 
A2-5) รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา – สุวรรณภูมิ (Light Rail) 
A2-6) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ (Light Rail) 

B : เส้นทางมีศักยภาพ เนื่องจากผ่านการศึกษาความคุ้มค่าในโครงการ M-MAP 1 หรือเป็นเส้นทางใหม่ที่มีปริมาณผู้โดยสารถึงเกณฑ์ที่จะพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้าได้ จำนวน 9 เส้นทาง ได้แก่ 
B-1) รถไฟฟ้าสายสีฟ้า พระโขนง – ท่าพระ (Light Rail) 
B-2) รถไฟฟ้าสายสีฟ้า สาทร – ดินแดง (Light Rail) 
B-3) รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล – ลำลูกกา (Light Rail) 
B-4) รถไฟฟ้าสายสีเขียว คูคต– วงแหวนรอบนอก (Heavy Rail) 
B-5) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลิ่งชัน - รัตนาธิเบศร์ (Heavy Rail) 
B-6) รถไฟฟ้าสายสีเขียว สมุทรปราการ – บางปู (Heavy Rail) 
B-7) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางแค – พุทธมณฑล สาย 4 (Heavy Rail) 
B-8) รถไฟฟ้าสายสีแดง บางบอน – มหาชัย – ปากท่อ (Commuter) 
B-9) รถไฟฟ้าสายสีแดง หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ (Commuter) 

C : เส้นทาง Feeder ดำเนินการเป็นระบบ Feeder เช่น Tram ล้อยาง, รถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 26 เส้นทาง ได้แก่ 
C-1) เส้นทาง ลาดพร้าว – รัชโยธิน – ท่าน้ำนนท์ 
C-2) เส้นทาง ดอนเมือง – ศรีสมาน 
C-3) เส้นทาง ศาลายา – มหาชัย 
C-4) เส้นทาง ศรีนครินทร์ – บางบ่อ 
C-5) เส้นทาง คลอง 6 – องค์รักษ์ 
C-6) เส้นทางรัตนาธิเบศร์ – แยกปากเกร็ด C-7) เส้นทาง คลองสาน - ศิริราช 
C-8) เส้นทาง บางซื่อ – พระราม 3 
C-9) เส้นทาง ราชพฤกษ์ – แคราย 
C-10) เส้นทาง พระโขนง – ศรีนครินทร์ C-11) เส้นทาง บางซื่อ – ปทุมธานี 
C-12) เส้นทาง เมืองทอง – ปทุมธานี 
C-13) เส้นทาง บางแค – สำโรง 
C-14) เส้นทาง แพรกษา – ตำหรุ 
C-15) เส้นทาง ธรรมศาสตร์ – นวนคร 
C-16) เส้นทาง บางนา – ช่องนนทรี 
C-17) เส้นทางสุวรรณภูมิ – บางบ่อ 
C-18) เส้นทาง บรมราชชนนี - ดินแดง – หลักสี่ 
C-19) เส้นทาง ธัญบุรี– ธรรมศาสตร์ 
C-20) เส้นทาง คลอง 3 – คูคต 
C-21) เส้นทาง มีนบุรี - สุวรรณภูมิ – แพรกษา - สุขุมวิท 
C-22) เส้นทาง เทพารักษ์ – สมุทรปราการ C-23) เส้นทาง บางใหญ่ – บางบัวทอง 
C-24) เส้นทาง บางปู - จักรีนฤบดินทร์ 
C-25) เส้นทาง ครุใน – สมุทรปราการ 
C-26) เส้นทาง ปทุมธานี– ธัญบุรี

โดยตลอดระยะเวลาการสัมมนาจะมีการเปิดเวทีให้ผู้ร่วมสัมมนาได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งแบบ onsite และผ่านระบบประชุมออนไลน์ และจะนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรมการขนส่งทางรางเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และแก้ปัญหาจราจร ได้อย่างยั่งยืน

‘ชัยวุฒิ’ วอน ปชช.ตระหนักรู้ภัยจากไซเบอร์ พร้อมแนะแหล่งเรียนรู้ผ่านโปรแกรมของ ‘สกมช.’

(25 ก.ค. 66) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วอนประชาชนตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมแนะนำให้เรียนรู้เพิ่มเติมถึงภัยร้ายที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยระบุว่า ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้การดำเนินชีวิตและการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือขโมยข้อมูลได้ง่ายขึ้นเช่นกัน หากไม่มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่ดีเพียงพอ 

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้ประชาชนตระหนักถึงอันตราย และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเกราะป้องกันและรู้เท่าทันภัยร้ายที่มาพร้อมความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

พร้อมกันนี้ รมว.ดีอีเอส ยังระบุด้วยว่า ยากจะแนะนำให้พี่น้องประชาชน ได้เข้าไปอัพเดตและเรียนรู้ด้านไซเบอร์ ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการการักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) หรือ สกมช่. ที่มีคอร์สการสอนมากมาย คนที่สนใจลองเข้าไปดูได้ที่ HTTPS://LINKTR.EE/THNCA ที่สำคัญสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ฟรี ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะเป็นการสร้างรากฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น

IMD เผยผลอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย 66  ภาพรวมขยับสูงขึ้นอยู่ในลำดับที่ 30 จาก 33 เมื่อปี 65

(25 ก.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มติคณะรัฐมนตรี รับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก ดีขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2565 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม ดีขึ้นในทุกด้าน...

- ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลำดับที่ 16 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปี 2565 จากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น หลังจากการชะลอตัวในช่วงโควิด-19 และการฟื้นตัวภาคการส่งออก ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 

- ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ลำดับที่ 24 ปรับดีขึ้นจากลำดับ 31 ในปี 2565 จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง 

- ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ลำดับที่ 23 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 30 ในปี 2565 จากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่ เนื่องจากความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ

และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลำดับที่ 43 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 44 ในปี 2565 จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา มีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรท างการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่าความสำเร็จนี้ เป็นผลงานร่วมกันของทุกคนในรัฐบาลรวมไปถึงส่วนราชการที่ช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย จนมีความก้าวหน้าในทุกมิติ ซึ่งหวังให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะได้พิจารณาดำเนินการต่อเนื่อง 

‘เบทาโกร’ ทุ่มงบ 100 ล้าน ปั้นแบรนด์ S-Pure  จับตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม วางเป้าโต 17% 

เบทาโกร ทุ่มงบ 100 ล้าน เปิดตัว S-Pure ด้วยแคมเปญการตลาด “ถ้าวิถีธรรมชาติ คือทางของคุณ S-Pure No.1 Brand” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ วางเป้าหมายยอดขายแบรนด์ S-Pure โต 17% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม

ดร.โอลิเวอร์ ก็อตชัลล์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า จากข้อมูลคาดการณ์ว่าในปี 2566 ตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียมจะมีมูลค่าอยู่ที่ 57,100 ล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กอปรกับแรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ เลือกอาหารที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยสูง จากแหล่งผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับและเชื่อถือได้ ทั้งยังตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน ดีต่อโลกและต่อตัวเอง

การเปิดตัวแคมเปญการตลาดใหม่ของ S-Pure ในครั้งนี้จึงมาพร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ "S-Pure Prime" เนื้อสัตว์แปรรูปสไตล์โฮมเมด ประกอบด้วย ไส้กรอกเวียนนา, เบคอนหมูรมควัน, พอร์คลอยน์แฮมรมควัน, โบโลญ่าหมู และโบโลญ่าไก่ ที่ถูกรังสรรค์ความอร่อยจากธรรมชาติอย่างพิถีพิถัน ปราศจากการแต่งเติมสารเคมี รวมถึงสารปรุงแต่ง สารกันบูด ผงชูรส วัตถุเจือปนอาหาร และยังใช้ช้วัตถุดิบจากเนื้อหมู เนื้อไก่ S-Pure 100% นับเป็นผลิตภัณฑ์ “อาหารฉลากสะอาด (Clean Label) รายแรกในประเทศไทย” อีกด้วย

ที่สำคัญ S-Pure ยังเป็นแบรนด์แรกของไทยที่นำบรรจุภัณฑ์ถาดกระดาษ (Paper Tray) มาใช้กับกลุ่มสินค้าอาหารสด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งถาดกระดาษผลิตจากต้นยูคาลิปตัสที่มาจากป่าปลูก 100% มีคุณสมบัติการใช้งานเทียบเท่าถาดพลาสติก (Forest Stewardship Council) สามารถลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80% พร้อมดีไซน์บรรจุภัณฑ์โฉมใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ทันสมัย สะท้อนถึงการเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สดใหม่ มีความปลอดภัย

“เบทาโกรมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอาหารที่มีคุณภาพมากกว่า ปลอดภัยสูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าและผู้บริโภคทุกกลุ่มในวงกว้าง เราภูมิใจที่ S-Pure ได้รับการรับรองจาก NSF สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นแบรนด์แรกและหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับการรับรองการเลี้ยงที่ไม่มียาปฏิชีวนะ (Raised Without Antibiotics – RWA) ครบทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ และจากผลวิจัยผู้บริโภค พบว่า S-Pure เป็นแบรนด์ที่สามารถครองใจผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานผู้บริโภคที่มีความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) มากกว่า 50% (Quality advocacy Index) สะท้อนถึงการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียมที่ผู้บริโภคไว้วางใจอีกด้วย”

นอกจากนี้ ในแคมเปญการตลาดยังมีกิจกรรม “S-Pure The Natural Way” ที่พร้อมยกขบวนศิลปินดาราชื่อดังมาแชร์เคล็ดลับการดูแลสุขภาพและสาธิตการทำอาหาร รวมถึงกิจกรรมพริวิเลจ พิเศษ! สำหรับลูกค้า S-Pure เร็ว ๆ นี้ การเปิดตัวแคมเปญ S-Pure ในครั้งนี้จึงไม่เพียงตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดอาหารซูเปอร์พรีเมียม ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนดำเนินชีวิต ด้วยการดูแลสุขภาพด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ (Healthy Lifestyle Inspiration) เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ยั่งยืน ตอกย้ำจุดแข็งของเบทาโกรในฐานะผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยในระดับสูงสุด เราคาดว่ายอดขาย S-Pure จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดขายของเบทาโกรให้เติบโตตามเป้าหมายเพื่อก้าวสู่แบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำระดับโลกต่อไป” ดร.โอลิเวอร์ กล่าวทิ้งท้าย 

‘ครม.’ ไฟเขียว!! ขึ้นค่าบริการ ‘โบราณสถาน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ ชี้ ปรับเพิ่มเฉพาะตั๋วชาวต่างชาติ หลังไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 51

(25 ก.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ 72 แห่ง รวมถึงปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชมได้

การปรับปรุงดังกล่าวนี้ เนื่องจากอัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานได้ใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2551 โดยอัตราค่าเข้าชมที่กำหนดใหม่จะคงค่าเข้าชมและค่าบริการสำหรับคนสัญชาติไทยไว้ที่อัตราเดิม และปรับเพิ่มขึ้นเฉพาะกรณีของคนสัญชาติอื่น มีดังนี้ 

1.) โบราณสถานประเภทอุทยานประวัติศาสตร์ สำหรับคนสัญชาติไทย คนละ 20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 120-200 บาท (เดิม 100 บาท) 
2.) โบราณสถานประเภทแหล่งโบราณคดีหรือสถานที่สำคัญ สำหรับบุคคลสัญชาติไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 80-120 บาท (เดิม 50-100 บาท)

กำหนดอัตราค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ดังนี้ 

1.) พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขนาดเล็ก บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10 บาท บุคคลสัญชาติอื่น 80 บาท (เดิม 50 บาท)
2.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดกลาง บุคคลสัญชาติไทย คนละ 10-20 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 120 บาท (เดิม 50-100 บาท) 
3.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขนาดใหญ่ บุคคลสัญชาติไทย คนละ 20-30 บาท บุคคลสัญชาติอื่นคนละ 200 บาท (เดิม 100-150 บาท)

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ สำหรับบุคคลสัญชาติไทย คนละ 30 บาท บุคคลสัญชาติอื่น คนละ 240 บาท (เดิม 200 บาท)

ในร่างกฎกระทรวงฯ ยังมีการปรับปรุงบัญชีรายชื่อโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เรียกเก็บค่าเข้าชมได้ โดยเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย 

1.) โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธนม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว 
2.) โบราณสถานวัดกุฎีดาว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 
3.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก 
4.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์  จึงต้องมีการจัดทำร่างกฎกกระทรวงเพื่อกำหนดทั้งค่าเข้าชม ค่าบริการอื่น และบัญชีรายชื่อโบราณสถานข้างต้น  และให้ยกเลิกค่าเช่าหูฟังบรรยายภาษาต่างประเทศด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ แล้ว เห็นว่าการอนุมัติร่างกฎกระทรวงฯ นี้ เป็นการปฏิบัติราชการตามปกติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บทที่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ไม่ได้เป็นกรณีที่ ครม. กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการที่สร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (1) ดังนั้น ครม. สามารถพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงฯ นี้ได้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top