‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ยกวิกฤตหมอกควัน เป็นปัญหาเร่งด่วน หวังคลี่คลายได้ยั่งยืน ภายใต้ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาที่เกาะกินจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นทุกปี

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่มายาวนานกว่า 10 ปี แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ นั่นเพราะเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 9 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

จากข้อมูลในปีที่ผ่านมานั้น พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดฮอตสปอต ในพื้นที่ราว 13,000 ไร่ ส่งผลให้มีฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ยาวนานกว่า 70 วัน และมีหลายครั้งที่ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบล้วนไม่สบายใจและต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่เกิดไฟป่านั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดชุดเข้าไปดับไฟ และการประสานงานเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ 

ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าไปช่วยดับไฟ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ระดมรถฉีดน้ำ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมือง ลองทำมาแล้วทุกวิถีทาง แต่ก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า ไฟป่าหมอกควันเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของปัญหาสังคม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้เกือบ 80% มาจากภาคท่องเที่ยวบริการ หากเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน สุดท้ายใครจะอยากมาเที่ยว 

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ต้นตอของไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มาจากคนทั้งนั้น โดยสาเหตุประการแรกมาจากการเผาที่เพื่อเพาะปลูก ประการที่สอง เผาเพื่อหาของป่า และประการที่สาม เผาป่าล่าสัตว์ ซึ่งทั้งสามส่วนที่เป็นต้นตอของไฟป่า ทางภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องการรับซื้อเศษวัชพืช และตอซังข้าวโพด จากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดวิธีหนึ่งที่ เพราะการทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเศษตอซัง หวังว่าจะช่วยลดการเผาตอซังและเผาป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

แน่นนอนว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหานี้จะคลี่คลายได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมแรงร่วมใจอย่างทรงพลัง จะสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สําเร็จอย่างยั่งยืน