Monday, 20 May 2024
SAVECMClear

‘รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่’ ยกวิกฤตหมอกควัน เป็นปัญหาเร่งด่วน หวังคลี่คลายได้ยั่งยืน ภายใต้ภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาที่เกาะกินจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขแต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นทุกปี

นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่มายาวนานกว่า 10 ปี แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ นั่นเพราะเชียงใหม่มีพื้นที่กว่า 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 9 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 70% ของพื้นที่ทั้งหมด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

จากข้อมูลในปีที่ผ่านมานั้น พบว่า พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดฮอตสปอต ในพื้นที่ราว 13,000 ไร่ ส่งผลให้มีฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ยาวนานกว่า 70 วัน และมีหลายครั้งที่ขึ้นไปอยู่อันดับหนึ่งของโลก แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบล้วนไม่สบายใจและต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาที่เกิดไฟป่านั้น ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดชุดเข้าไปดับไฟ และการประสานงานเครื่องบิน เพื่อปฏิบัติการดับไฟป่าทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ 

ขณะเดียวกัน ยังได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าไปช่วยดับไฟ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ระดมรถฉีดน้ำ เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมือง ลองทำมาแล้วทุกวิถีทาง แต่ก็แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสําเร็จเท่าที่ควร

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้ำว่า ไฟป่าหมอกควันเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ที่ต้องช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของสุขภาพ เรื่องของปัญหาสังคม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เชียงใหม่นั้นเป็นจังหวัดที่มีรายได้เกือบ 80% มาจากภาคท่องเที่ยวบริการ หากเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน สุดท้ายใครจะอยากมาเที่ยว 

ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ต้นตอของไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่มาจากคนทั้งนั้น โดยสาเหตุประการแรกมาจากการเผาที่เพื่อเพาะปลูก ประการที่สอง เผาเพื่อหาของป่า และประการที่สาม เผาป่าล่าสัตว์ ซึ่งทั้งสามส่วนที่เป็นต้นตอของไฟป่า ทางภาครัฐได้พยายามดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ เริ่มมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในเรื่องการรับซื้อเศษวัชพืช และตอซังข้าวโพด จากเกษตรกร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดวิธีหนึ่งที่ เพราะการทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายเศษตอซัง หวังว่าจะช่วยลดการเผาตอซังและเผาป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม

แน่นนอนว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหานี้จะคลี่คลายได้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งการมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมแรงร่วมใจอย่างทรงพลัง จะสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สําเร็จอย่างยั่งยืน

‘วิชัย ทองแตง’ นำทัพขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมพลิกฟื้น ‘เชียงใหม่’ ไร้ฝุ่นอย่างสมดุลและยั่งยืน

กว่า 10 ปีที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือตอนบน ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 แม้ว่าหลายภาคส่วนจะพยายามแก้ปัญหา แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นทุกปี

ล่าสุดได้มีความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษที่สั่งสมมานานอีกครั้ง ผ่านโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 50 องค์กร โดยมี ‘วิชัย ทองแตง’ นักธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย ที่มีแรงบันดาลใจมุ่งหวังให้เชียงใหม่และภาคเหนือปลอดจากฝุ่น PM2.5 ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

วิชัย ทองแตง บอกว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันช่วยเหลือชาวเชียงใหม่ เพราะทนไม่ได้ที่ต้องเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีมลพิษสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อภาพพจน์ของประเทศด้วย 

แน่นอนว่า ทุกองค์กรที่ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ล้วนตระหนักดีว่า เรื่องปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นทุกปีนั้น จะแก้ไขได้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ จะรอคอยอีกไม่ได้ เพราะลมหายใจของเชียงใหม่รวยริน และแผ่วเบามากแล้ว 

“แม้ว่าชาวเชียงใหม่จะได้รับข่าวดี หลังศาลได้ตัดสินให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ชนะคดี กรณีได้ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีละเลยการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใส่ใจปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิด 2.5 ไมครอน ไม่มีความจริงใจห่วงใยประชาชนในภาคเหนือที่ต้องสูดดมควันหรือฝุ่นละออง เมื่อวัน 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แต่การบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องใช้เวลาอีกนาน ขณะที่ปัญหาหมอกควันนั้นรออีกไม่ได้แล้ว วันนี้เราต้องสร้างแนวทางใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หวังให้ลมหายใจดแห่งขุนเขาจะพัดกลับมา ให้คนเชียงใหม่จะกลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ ตามวิถีของชาวเชียงใหม่ และวิถีล้านนา ซึ่งเป็นวิถีที่งดงามให้กลับมาเป็นเช่นเดิม”

‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top