‘ชีวมวลอัดเม็ด’ จากเศษพืช - ตอซังข้าวโพด ตอบโจทย์ลดเผาป่า ฟื้นเชียงใหม่จากฝุ่นพิษ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพของคนในพื้นที่

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ทะยานขึ้นติดอันดับต้น ๆ เมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ในช่วงหน้าแล้ง แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะร่วมกันแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ และปัญหาจะวนกลับมาเป็นวัฏจักรทุกปี

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน หลังจากเกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชน กว่า 50 องค์กร ดำเนินโครงการที่เรียกว่า ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาป่าและตอซังข้าวโพด ซึ่งเป็นต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าว

ผศ.วีระชัย ลิ้มพรชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวมวล และ Black Pellets ที่ปรึกษาโครงการบริษัท ชีวมวลอัดเม็ด จอมทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อตอซังข้าวโพด เพื่อนำไปผลิตเป็นชีวมวลอัดเม็ด กล่าวว่า ปัญหา PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาแล้ว อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเกิดจากฝุ่นควันไฟป่า และการเผาป่าทำการเกษตร จึงเกิดการร่วมแรงร่วมใจภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ร่วมใจ ขจัด PM2.5 และลดโลกร้อน ในโครงการ หยุดเผา เรารับซื้อ 

ทั้งนี้ ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะนำองค์ความรู้จากประสบการณ์การผลิตชีวมวลอัดเม็ดกว่า 12 ปี เข้ามาร่วมแก้ปัญหา PM2.5 โดยเริ่มจากตัวเชียงใหม่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวหนักที่สุด

โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ทางชีวมวลอัดเม็ดจอมทอง จะรับซื้อเศษตอซังข้าวโพดและเศษฟางข้าว เพื่อนำมาผ่านกรรมวิธีอัดเม็ด จากนั้นนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อไป

“ปัญหาการเผาป่านั้น เกิดจากคนมักจะนำไม้ไปเป็นเชื้อเพลิงอย่างเดียว ส่วนเศษตอซังข้าวโพด ฟางข้าว หรือแม้กระทั่งพวกใบอ้อยต่าง ๆ จะไม่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะมีความหนาแน่นไม่มากพอและมีความชื้นสูง ดังนั้น วิธีที่จะจัดการกับเศษพืชที่ง่ายสุดคือการเผา จึงทําให้ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มกิจกรรมการเพาะปลูกใหม่ จึงเกิดการเผาป่ากันเป็นวงกว้าง สุดท้ายปัญหาที่ตามมาก็คือฝุ่นควัน PM2.5 อย่างที่เราเห็นกันทุก ๆ ปี”

สำหรับ โครงการหยุดเผา เรารับซื้อ เชื่อว่าจะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกษตรกรลดการเผาป่าน้อยลง เพราะสามารถนำเศษตอซังข้าวโพดและเศษพืชอื่น ๆ มาขายเข้าโครงการ เป็นการเพิ่มรายได้จากเศษซากพืชที่เหลือใช้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรวบรวมชีวมวลเพื่อนำไปสู่กระบวนการผลิตที่โรงงานจอมทองนั้น จะต้องเปิดจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่จะนำมาขาย เพราะหากว่าจุดรับซื้ออยู่ระยะไกลมาเกินไปจะไม่คุ้มกับค่าขนส่ง และจะไม่มีแรงจูงใจให้รวบรวมเศษตอซังมาขาย ดังนั้น ในเบื้องต้นได้เปิดจุดรับซื้อทั้งหมด 6 จุดในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบ ๆ โรงงานที่จอมทอง และในอนาคตจะกระจายจุดรับซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงได้มากขึ้น