‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์ ผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ เชื่อ!! บีบไทยขึ้นตาม ในยาม ‘ส่งออกดิ่ง-ท่องเที่ยวทรง-ลงทุนเสี่ยง’

หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นั้น ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นของผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านรายการ ‘Meet THE STATES TIMES’ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า…

การที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มอีก 0.25% นี้ ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ไม่ดี 

‘ในแง่ดี’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนนี้ ไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นการขึ้น ‘ครั้งสุดท้าย’ แล้ว หลังจากเฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 จนถึงวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 จากที่ระดับ 0% จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.25% ส่วนที่ว่าครั้งสุดท้ายนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้จากการที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ ดัชนี SME-Chinext 500 เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจของตลาดการเงินสหรัฐฯ ว่า เฟดเริ่มจัดการกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดี มักมีข่าวร้ายแฝงอยู่เสมอ!!

‘ในแง่ร้าย’ ผมคิดว่า แม้ว่า ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ (Headline Inflation) ที่เราพูดถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้เป็นดัชนีในการทำนโยบาย เราเรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน และราคาอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของเฟด เนื่องจากเฟดพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในอยู่ภายในระดับ 2%...

… ดังนั้น ระดับ 4.8% ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงมาก ในเรทของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานทั่วโลก ในขณะนี้มีความตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ปิดตัวไปหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนในตลาด ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะในภาคงานบริการที่มีปัญหาในเรื่องของความตึงตัวของแรงงานที่ค่อนข้างสูง… 

… เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างแรงงาน มีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องมีการปรับให้สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ทีนี้มองดู ‘ประเทศไทย’ เราเองนั้น ยังมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยถือว่าประสบปัญหาพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการเมืองแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยมีอัตราติดลบ พร้อม ๆ ไปกับอัตราการเติบโตที่ติดลบตามเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความคาดหวังว่า จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น จากที่จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งนึง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้นัก โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรก ๆ ของปี แต่พอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีการชะลอลง ซึ่งผมคิดว่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเองนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยไม่น้อย เนื่องจากสภาพของหนี้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังไม่มีการฟื้นตัว และยังมีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก…

… ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และส่งนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยอยู่

ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เพราะฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ย่อมสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะตลาดอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่การฟันธงอย่างแน่ชัดว่าจะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่

และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะสงครามในยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้ออยู่ อีกทั้ง ราคาพลังงาน และราคาพืชพันธุ์อาหารต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการกระโดดขึ้นราคาอีกเมื่อไหร่

นายพงษ์ภาณุ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่มีต่อตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตอีกด้วยว่า…

แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่การอุปโภค-บริโภค และภาคธุรกิจที่มีการลงทุนนั้น เกิดการหยุดชะงัก เพราะฉะนั้น การบริโภคและการลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง นักลงทุนเองก็คงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักมากขึ้นในการลงทุนแต่ละครั้ง ว่า เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น ก็ย่อมต้องมีการคาดการณ์ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ต้องมีการตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการลงทุนในโครงการใดก็ตาม มีระยะเวลายาวนาน ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจาก ‘อัตราคิดลด’ (Discount Rate) นั้นสูงขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วก็จะเกิดการลดลง อีกทั้ง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนพึงที่จะต้องคงสภาพคล่องทางการเงินไว้มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ต้องเตรียม ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ (Economic Stimulus Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นทั้งในภาคของการบริโภค และภาคการลงทุน ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้อ่อนแอลงไปมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่สถานการณ์ตลาดคริปโตแล้ว ก็ร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากทุกตลาดมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันหมดอีกด้วย