Wednesday, 24 April 2024
ขึ้นดอกเบี้ย

ศ.สุชาติ! แบงค์ชาติ​ควรค่อยๆ​ ขึ้นดอกเบี้ย​ ไม่ทำให้เงินบาทแข็งค่ามากไป​ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของการส่งออกและรายได้ประชาชาติ

ศ​าสตราจารย์​ ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงการคลัง​ และอดีตหัวหน้าพรรค​เพื่อ​ไทย​ ให้ความเห็นว่า​

1. แบงค์ชา​ติ​ อาจขึ้นดอกเบี้ย​ 0.25% เพื่อทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง​ (ดอกเบี้ยหักด้วยเงินเฟ้อ)​ ไม่ติดลบมากนัก​ โดยดอกเบี้ยไม่ต้องสูงเท่าดอกเบี้ยสหรัฐ​ เพราะเศรษฐกิจ​สหรัฐ​เติบโตเกินกำลังการผลิต​ จึงเกิดเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากพิมพ์​เงินดอลลา​ร์​ มาใช้มากเกินไป​ แต่ไทยเป็นเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนนำเข้า​ เศรษฐกิจ​ไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัว​ การผลิตและการจ้างงาน​ยังต่ำอยู่มาก

2. การขึ้นดอกเบี้ย​ ไม่ควรทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าเงินประเทศอื่น ๆ​ ที่อ่อนค่าลง​ทั่วโลก​ อันเนื่องมาจากเงินสหรัฐ​ แข็งค่าขึ้นอย่างมาก

3. การส่งเสริมการส่งออกสินค้าบริการ​ รวมต่างชาติมาท่องเที่ยว (Exports-E)​ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ​การส่งออกคือ​ "ร​ายได้​ " แต่​เราไม่ควรส่งเสริมการนำเข้า (Imports-M)​ โดยไม่มีเป้าหมาย​ เพราะ​การนำเข้า คือรายจ่าย​ "เราส่งเสริมให้​ เพิ่มรายได้​ ลดรายจ่าย​ ขยายโอกาส" 

4. หาก​รัฐบาล​ไปทำให้ค่าเงินบาทแข็ง​เกินไป การนำเข้าก็จะเพิ่มขึ้น​ ซึ่งจะไปลด​รายได้ประชาชาติ​ (GDP)​ เพราะ​ใน​สมการ GDP​=C+I+G+E-M ตัว​ M จะไปหักออกจาก​ GDP 

5. เราจึงต้องรักษาค่าเงินบาทให้อ่อนเล็กน้อย​ เพื่อ​ให้การส่งออกสามารถแข็งขันได้​ดี เพื่อเพิ่มรายได้​ และทำให้ราคานำเข้าแพงขึ้นเล็กน้อย​ ทำให้ลดการนำเข้า​ เพื่อลดรายจ่าย​ จะเป็นการ​เพิ่ม​ GDP​ ทั้ง 2 ด้าน

6. การทำค่าเงินบาทให้อ่อน​ลงเล็กน้อย เพื่อเพิ่ม​การส่งออกทั้งปริมาณและมูลค่า จะให้ผลบวกเกือบทุกคนในประเทศ เพราะผู้ส่งออกที่แท้จริงคือ​ กรรมกรและชาวนา​ชาวสวน ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้น​ โดยส่งผ่านมาจากบริษัทส่งออก และทำให้แม่ค้าข้าวแกง​ขายได้มากขึ้น​ด้วย การส่งออกจึงทำให้เกือบทุกคนในประเทศ​ มีรายได้และฐานะดีขึ้น​ และเนื่องจากการส่งออกก็คือผลผลิต​ (GDP​)​ ถึง​ 70% จึงจะทำให้อัตราความเติบโตของประเทศ (GDP​ growth rates) สูงขึ้น​ด้วย

ศ.สุชาติ! ไม่เห็นด้วยที่มีผู้เสนอให้ขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ๆ​ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ​ เพราะไทยยังอยู่ในวัฏจักร​เศรษฐกิจ​ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

ศ​าสตราจารย์​ ดร.สุชาติ​ ​ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ กล่าวว่า

1. เราต้องแยกแยะ​เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นว่า​ เป็นด้านพิมพ์เงินมาใช้มากเกินไป​แบบสหรัฐ​ฯ (Demand​ pull inflation) หรือด้านต้นทุนนำเข้า (Cost push inflation) ออกจากกัน ประเทศไทยเป็น​ Cost push inflation หากขึ้นดอกเบี้ย​ ก็จะลดเงินเฟ้อได้น้อยมาก​ ราคาน้ำมัน, ราคาปุ๋ยก็คงไม่ลดลง​ แต่จะทำเศรษฐกิจ​ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว​กลับไปถดถอย​ ทำให้ประชาชนยากจนลงเพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น​ เศรษฐกิจ​ไทยจะแย่ลง​ คนตกงานและรายได้ประชาชนลดลง​

2. รัฐบาลต้องดูแลประชาชนให้มีงานทำ​ มีรายได้​​เพิ่มขึ้นเร็วกว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น​ การแนะนำให้ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ​ เพื่อ (ก) เพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของประชาชน​ ลดการบริโภค​ ลดการลงทุน​ ลดรายได้ภาษี​รัฐบาล​ (ข)​ เพื่อทำค่าเงินบาทให้แข็ง​ขึ้น เพื่อลดความสามารถในการส่งออกและในการดึงดูดคนต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว​ ทั้ง​ 2 ประการจะทำให้​เศรษฐกิจ​จริง (GDP)​ ลดลง​ ทำให้ประเทศไม่พัฒนา​ ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้​ และยากจนลงมากขึ้น

รัฐบาลให้ความมั่นใจ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่กระทบหนี้สาธารณะ สิ้นปีคาด 61.3% ต่อจีดีพี ธนาคารรัฐพร้อมตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

เมื่อวันที่ 14 ส.ค.น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และออกมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จาก 0.25% เป็น 0.75% ต่อปี ว่า ธนาคารของรัฐหลายแห่ง ได้ออกประกาศเบื้องต้น ที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด คาดว่าจะถึงสิ้นปี2565  ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาด เพื่อรักษาสภาพคล่องให้กับธนาคารในการนำเงินไปปล่อยสินเชื่อ แต่ละธนาคารจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป ขณะนี้ ธนาคารออมสิน ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน6 เดือน 0.15% เงินฝากประจำ 12 เดือน 0.20% และเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน  0.30% ช่วยส่งเสริมการออม และให้ประชาชนได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่กำลังเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งมีบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้บสย.ไปถึงสิ้นปี 2565 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน ให้ลูกหนี้สามารถประคองกิจการต่อไปได้  โดยให้ชำระหนี้ 3 ระดับ ตามความสามารถในการชำระ คือ 1.ยืดหยุ่น ตัดเงินต้น  20% และตัดดอกเบี้ย 80% ผ่อนชำระ 5 ปี  2.ผ่อนน้อย เบาแรง หนี้ลดหมดแน่นอน เริ่มต้นชำระครั้งแรกเพียง 1% ของยอดหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนวงเงินที่เหลือ ผ่อนชำระ 5 ปี 3. ดอกเบี้ย 0% ชำระครั้งแรก 10% ซึ่งจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ผ่อนชำระ 7 ปี โดยมีลูกหนี้ลงทะเบียนร่วมโครงการ 6,856 ราย มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว วงเงินกว่า 1,117 ล้านบาท 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ภาพรวมการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลสูงขึ้น แต่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล โดยดำเนินการเปลี่ยนการกู้เงินระยะสั้นที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว (Float Rate) มาเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate)มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 82% ส่วนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่มี เพราะรัฐบาลมีหนี้ต่างประเทศแค่ 1.8% และได้ทำการปิดความเสี่ยงไปหมดแล้ว ขณะที่ ปีงบประมาณ 2566 แผนการบริหารจัดการต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาล จะเน้นกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรระยะยาว จากปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 45% ปรับเพิ่มเป็น 48% การออกตั๋วสัญญาใช้เงินจะอยู่เท่าเดิมที่ 25% ขณะที่การออกตั๋วเงินคลังและการกู้เงินระยะสั้นจากตลาด จะลดลงมาอยู่ที่ 14% จากเดิมที่ 18%

เฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ตามคาด ขึ้นครั้งที่ 3 ในรอบปี หวังกดเงินเฟ้อให้ลงตามเป้า

เฟด ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี หวังกดเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้า

(22 ก.ย. 2565) สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% อยู่ที่ 3.00-3.25% โดยปรับไปตามคาดการณ์ของตลาด

ทั้งนี้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 3.00-3.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

พร้อมกันนี้เฟดส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดยคาดการณ์ใหม่ของเฟด จะทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปีนี้อยู่ที่ 4.25%-4.50% และสิ้นปีหน้า อยู่ที่4.50%-4.75%

‘กนง.’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มีผลทันที แตะระดับ 1% ต่อปี

‘กนง.’ เอกฉันท์ ปรับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มีผลทันที ส่งผลดอกเบี้ยล่าสุดแตะระดับ 1% ต่อปี พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีโต 3.3% ส่วนเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 6.3% ส่วนปีหน้า 2.6%

เมื่อวันที่ 28 กันยายน นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2565 ในวันที่ 28 กันยายน 2565 ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที และคงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 3.3% และคาดว่าปีหน้าจะขยายตัวที่ 3.8% เป็นไปตามการคาดการณ์เดิมตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคของเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกชะลอตัวลง แต่ไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าเพิ่มขึ้นที่ 6.3% และ 2.6% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2565 และ 2566 คาดว่าอยู่ที่ 2.6% และ 2.4% ตามลำดับ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทต่อเงินเหรียญสหรัฐปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค โดยคณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดอย่างใกล้ชิด

ธนาคารกลางยุโรป เมินวิกฤตแบงก์ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สู้เงินเฟ้อ

เพจ World Maker โพสต์ข้อความระบุว่า  ถือว่าผิดคาดนักลงทุนหลายคนไม่น้อย !!! เพราะแม้ว่าจะมีวิกฤต Bank Run ของ SVB เกิดขึ้นและยังเสริมกับความตึงเครียดของ Credit Suisse แต่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ยังตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง +0.5% จากเดิม 2.5% กลายเป็น 3% ตามหลัง FED มาติด ๆ เลยทีเดียว !

นั่นทำให้นักลงทุนหลายคนต้องจับตามองว่าทาง FED ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยมาถึง 4.75% ในตอนนี้จะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกหรือไม่ ? เพราะถ้าขึ้นต่อไปอีก +0.25% ก็จะอยู่ที่ 5% แล้ว ! โดยนักลงทุนในตลาดต่างพากันคาดการณ์ว่า FED จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหรือแม้แต่ปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ ! เพราะว่าระดับปัจจุบันเริ่มทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้วไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของ ECB ล่าสุดนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะ Focus ไปยังเป้าหมายหลักคือการควบคุมเงินเฟ้อ มากกว่าที่จะอุ้มตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มมีคนไม่แน่ใจแล้วเช่นกันว่า FED จะหยุดหรือลดดอกเบี้ยในปีนี้จริงหรือไม่ ?

หุ้นสหรัฐฯ และกลุ่มธนาคารในยุโรปเปิดตลาดมาอยู่ในโซนเขียวคืนนี้ หลังมีข่าวว่าหน่วยงานของรัฐบาลและธนาคารกลางกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และยังมีการประสานงานกันเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามเหมือนมะเร็งร้าย

โดยรัฐบาลและธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ก็ประกาศว่ากำลังหารือกับ Credit Suisse, UBS Group ซึ่งเป็น 2 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของยุโรป พร้อมกับกล่าวว่าสภาพคล่อง 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (2 ล้านล้านบาท) ที่มอบให้ Credit Suisse ไปนั้นยังไม่จำเป็นต้องใช้ด้วยซ้ำ เพราะธนาคารยังมีสภาพคล่องเพียงพอ เพียงแต่เป็นการมอบให้เพื่อรับประกันความเสี่ยงไม่ให้ตลาด Panic !

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสี่ยงและแรง Panic ยังครอบคลุมตลาดอยู่ไม่น้อย และทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่แห่เทขายหุ้นกลุ่มธนาคารไปเป็นจำนวนมาก โดยทาง Financial Times รายงานว่านักลงทุนเทหุ้น Bank ทิ้งไปเป็นมูลค่าสูงถึง 1.65 แสนล้านดอลลาร์หรือ -5.7 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้วนับตั้งแต่เกิดวิกฤต Bank Run ที่ทำให้มีการ Panic Selling ตามมา

ทางด้าน Janet Yellen ขุนคลังสหรัฐฯ พยายามออกมาสร้างความมั่นใจว่าระบบธนาคารของสหรัฐฯ โดยรวมยังคงแข็งแกร่ง แม้จะมีแบงก์ล้มไป 3 แห่งในเวลาไม่ถึง 1 เดือนก็ตาม ซึ่งเธอกล่าวว่าลูกค้าและชาวอเมริกันสามารถมั่นใจได้ว่าเงินฝากจะยังอยู่ดีและสามารถถอนได้เมื่อต้องการ

แต่ก็มีฝ่ายที่ไม่เชื่อคำกล่าวของเธอ ! โดยเฉพาะกลุ่มที่โปรจีน-รัสเซีย ซึ่งกำลังมองว่าระบบการธนาคารของสหรัฐฯ-ตะวันตกจะล่มสลายและเกิดเป็นวิกฤตใหญ่ โดยมีการโหมข่าวโจมตีอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตอนนี้

ปธ. FED ย้ำ!! เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด แม้ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก ก็จะทำ!!

(23 มี.ค.66) World Maker เผย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ย้ำว่าถ้า FED จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีกเขาก็จะทำ !!! เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด !

⚠️ ถือเป็นที่ชัดเจนมาก ๆ ว่าเป้าหมายหลักของ FED คือการควบคุม #เงินเฟ้อ ! แม้ Powell จะกล่าวว่าเขาสอดส่องดูแลเศรษฐกิจอยู่ แต่ยังไม่เห็นภัยคุกคามระดับร้ายแรงที่จะทำให้ตลาดทรุดหนักจน FED ต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยกะทันหัน !

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า FED ยังไม่ได้ตัดสินใจไปถึงการประชุมรอบหน้าว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ? แต่ก็ได้กล่าวว่า “การลดดอกเบี้ยยังไม่ใช่ Base Case ของ FED ในตอนนี้”

และคณะกรรมการ #FOMC ก็ยังไม่ได้พูดถึงการประชุมเรื่องยกเลิก QT ด้วย แม้ว่าจะต้องอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินไปให้ธนาคารเล็ก ๆ แต่มันเป็นคนละเรื่องกับการ QT เพื่อดึงเงินออกจากระบบ ! ดังนั้น FED จะยังเทขายตราสารหนี้และ MBS ต่อไปอีกสักระยะเป็นอย่างน้อย !

“ยังมีทางเดินไปสู่ Soft Landing” Powell กล่าว พร้อมเสริมว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าวิกฤต BankRun จะส่งผลกระทบต่อการทำ Soft Landing ของ FED

นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่า “มันมีราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อให้เงินเฟ้อระยะยาวลดลงสู่ 2% อีกครั้ง และยังพูดถึงสถานการณ์ของ Credit Suisse ว่าเป็นเรื่องที่จบลงค่อนข้างดี แม้ตลาดจะมีความกังวลว่ามันจะเลวร้าย

ส่วนในเรื่องของการคุ้มครองเงินฝากผู้บริโภค #Powell กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า “เรามีเครื่องมือในการปกป้องผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจหรือระบบการเงิน” และแน่นอนว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะใช้เครื่องมือเหล่านั้น

📌 นี่เป็นไปตามหลัก #เศรษฐศาสตร์เคนส์ ที่ World Maker เคยอธิบายเอาไว้ ว่าหลักสำคัญคือการก้าวเข้ามาช่วยเหลือบริษัทอย่างไม่ต้องลังเลและไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างมาก กลับกัน หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งลุกลามเสียหายหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น !

หุ้นกลุ่ม Big Bank ใน Wall Street ติดลบเกือบยกแผงอีกครั้งในตอนนี้ ขระที่หุ้นเทคโนโลยีตัวใหญ่ ๆ ส่วนมากยังดีดเขียวสดใส ส่วนราคา #ทองคำ แกว่งตัวไปมาระหว่าง 1950-1970 $/Oz ขณะที่ #Bitcoin ร่วง -2% หลุดมา 27,500 ดอลลาร์อีกครั้ง

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์ ผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ เชื่อ!! บีบไทยขึ้นตาม ในยาม ‘ส่งออกดิ่ง-ท่องเที่ยวทรง-ลงทุนเสี่ยง’

หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นั้น ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี 

แน่นอนว่าคำถามที่ตามมา คงหนีไม่พ้นประเด็นของผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย...

เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ทำการวิเคราะห์และให้มุมมองต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านรายการ ‘Meet THE STATES TIMES’ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 โดยระบุว่า…

การที่เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มอีก 0.25% นี้ ถือว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ซึ่งมีทั้งในแง่ดีและแง่ที่ไม่ดี 

‘ในแง่ดี’ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนนี้ ไม่ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ และน่าจะเป็นการขึ้น ‘ครั้งสุดท้าย’ แล้ว หลังจากเฟดได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 จนถึงวันนี้ นับเป็นครั้งที่ 11 จากที่ระดับ 0% จนกระทั่งขึ้นมาอยู่ที่ 5.25% ส่วนที่ว่าครั้งสุดท้ายนั้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาได้ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สังเกตได้จากการที่ตลาดเงินและตลาดหุ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้น ดัชนีดาวโจนส์ ดัชนี SME-Chinext 500 เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจของตลาดการเงินสหรัฐฯ ว่า เฟดเริ่มจัดการกับภาวะเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในข่าวดี มักมีข่าวร้ายแฝงอยู่เสมอ!!

‘ในแง่ร้าย’ ผมคิดว่า แม้ว่า ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ (Headline Inflation) ที่เราพูดถึงจะเริ่มดีขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่เฟดใช้เป็นดัชนีในการทำนโยบาย เราเรียกว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมราคาพลังงาน และราคาอาหาร ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 4.8% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของเฟด เนื่องจากเฟดพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อในอยู่ภายในระดับ 2%...

… ดังนั้น ระดับ 4.8% ยังถือว่าเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงมาก ในเรทของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานและอาหาร

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานทั่วโลก ในขณะนี้มีความตึงตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากที่ปิดตัวไปหลายปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานบางส่วนในตลาด ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ แทน โดยเฉพาะในภาคงานบริการที่มีปัญหาในเรื่องของความตึงตัวของแรงงานที่ค่อนข้างสูง… 

… เพราะฉะนั้น อัตราค่าจ้างแรงงาน มีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องมีการปรับให้สูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไปได้

ทีนี้มองดู ‘ประเทศไทย’ เราเองนั้น ยังมีความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดอยู่ โดยเศรษฐกิจไทยถือว่าประสบปัญหาพอสมควร นอกเหนือจากปัญหาทางด้านการเมืองแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการส่งออกของไทยมีอัตราติดลบ พร้อม ๆ ไปกับอัตราการเติบโตที่ติดลบตามเช่นกัน

นอกจากนี้ ในภาคการท่องเที่ยวที่มีความคาดหวังว่า จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น จากที่จีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งนึง แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้นัก โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสแรก ๆ ของปี แต่พอเข้าช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มมีการชะลอลง ซึ่งผมคิดว่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศจีนเองนั้นก็ยังมีปัญหาอยู่ด้วยไม่น้อย เนื่องจากสภาพของหนี้ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยังไม่มีการฟื้นตัว และยังมีหนี้เสียอยู่เป็นจำนวนมาก…

… ดังนั้น โอกาสที่จีนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และส่งนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่น้อยอยู่

ในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมานั้น ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2.5% เพราะฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็ย่อมสร้างแรงกดดันโดยเฉพาะตลาดอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีแนวโน้มที่จำเป็นจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่การฟันธงอย่างแน่ชัดว่าจะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่

และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้ ที่คาดว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างสูง ว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในภาวะสงครามในยุโรปที่ยังมีความยืดเยื้ออยู่ อีกทั้ง ราคาพลังงาน และราคาพืชพันธุ์อาหารต่างๆ ที่ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการกระโดดขึ้นราคาอีกเมื่อไหร่

นายพงษ์ภาณุ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่มีต่อตลาดหุ้นและตลาดการลงทุน โดยเฉพาะคริปโตอีกด้วยว่า…

แน่นอนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่การอุปโภค-บริโภค และภาคธุรกิจที่มีการลงทุนนั้น เกิดการหยุดชะงัก เพราะฉะนั้น การบริโภคและการลงทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง นักลงทุนเองก็คงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักมากขึ้นในการลงทุนแต่ละครั้ง ว่า เมื่อต้นทุนของเงินแพงขึ้น ก็ย่อมต้องมีการคาดการณ์ในเรื่องของผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ต้องมีการตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการลงทุนในโครงการใดก็ตาม มีระยะเวลายาวนาน ก็คงจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจาก ‘อัตราคิดลด’ (Discount Rate) นั้นสูงขึ้น ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันแล้วก็จะเกิดการลดลง อีกทั้ง ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น อาจทำให้นักลงทุนพึงที่จะต้องคงสภาพคล่องทางการเงินไว้มากเป็นพิเศษ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศนั้น ต้องเตรียม ‘มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ (Economic Stimulus Measures) ซึ่งเป็นมาตรการทางการคลังที่จะเข้ามากระตุ้นทั้งในภาคของการบริโภค และภาคการลงทุน ให้สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้อ่อนแอลงไปมากกว่านี้

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองไปที่สถานการณ์ตลาดคริปโตแล้ว ก็ร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เนื่องจากทุกตลาดมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมด จึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเท่าเทียมกันหมดอีกด้วย

‘นายกฯ เศรษฐา’ ย้ำ!! ไม่เห็นด้วย ‘แบงก์ชาติ’ ขึ้นดอกเบี้ย เหตุสวนทางเงินเฟ้อ - ห่วงกระทบราคาพืชผลการเกษตร

(8 ม.ค.67) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือน และหลังจากนี้จะไปพูดคุยอย่างไรบ้าง ว่า ความจริงแล้วเราก็พูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ และเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จุดยืนของตนก็ชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น ซึ่งนัยที่ตนได้โพสต์ข้อความไปเมื่อคืนนี้ มันเกี่ยวกับเรื่องสินค้าการเกษตร พืชผลต่างๆ ที่ตนอยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลไม่ให้ต่ำลงไป เพราะถ้าต่ำเกินไปก็จะลำบาก

เมื่อถามถึงการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำมาก นายกรัฐมนตรีมีความกังวลอย่างไรบ้าง นายเศรษฐา กล่าวว่า "บอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ตนก็ฝากไว้" เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "มีอยู่แล้วครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top