ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการควบคุมกำกับดูแลชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอาศัยหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. มอบหมายให้ สตม.ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีหมายจับตำรวจสากล หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นลักษณะการกระทำผิดเข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.สิทธิชัย โล่กันภัย รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ปิติ นิธินนทเศรษฐ์ ผบก.ตม.1,พ.ต.อ.ศุภณัฎฐ์ เจริญเรืองสกุล,พ.ต.อ.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, พ.ต.อ.ยศเอก รักษาสุวรรณ รอง ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ ผกก.สส.บก.ตม.1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมคดีที่น่าสนใจ ดังนี้
กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 นำโดย พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ ผกก.สส.บก.ตม.1, พ.ต.ท.พลสิทธิ์ สุทธิอาจ รอง ผกก.สส.บก.ตม.1 พ.ต.ท.ทรงพันธุ์ กุลดิลก, พ.ต.ท.ปัฐน์ แสนอินอำนาจ สว.กก.สส.บก.สส.สตม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.1 ได้ร่วมกันจับกุม 1.นายเบิร์ด (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี สัญชาติไทย 2.นายบังซอด (นามสมมุติ) อายุ 36 ปี สัญชาติไทย 3.นายเชียงฯ อายุ 20 ปี สัญชาติกัมพูชา 4.นางใหม่ฯ อายุ 18 ปี สัญชาติกัมพูชา 5.นายพานุฯ อายุ 40 ปี สัญชาติกัมพูชา 6.MR.SALON (นายซาลอนฯ) อายุ 29 ปี สัญชาติกัมพูชา 7.MISS.SREYROTH (นางซาไลลอทฯ) อายุ 28 ปี สัญชาติกัมพูชา
พร้อมด้วยของกลาง รถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียนกรุงเทพมหานคร สีชมพู, รถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า ทะเบียน กรุงเทพมหานคร สีชมพู, โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ OPPO รุ่น A15s สีน้ำเงิน
โดยกล่าวหา ผู้ถูกจับกุมที่ 1 และ 2 ฐานเป็นตัวการร่วมตาม ป.อาญา ม.83 ตาม ม.64 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ “ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม” และ “ฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558”
ผู้ถูกจับกุมที่ 3-5 ฐานความผิดตาม ม.11, ม.18 และ ม.81 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ “บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง ด่านตรวจคนเข้าเมือง”, “บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมือง” และ “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ผู้ถูกจับกุมที่ 6-7 ฐานความผิดตาม ม.81 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด”
พฤติการณ์ในการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.1 ได้รับแจ้งจากสายลับทราบว่า จะมีขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว (แก๊งค์ป้ายเอียง) ตระเวนรับบุคคลต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา บริเวณปากซอยรามคำแหง 65 เพื่อจะนำหลบหนีออกไปยังประเทศกัมพูชา ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ โดยใช้รถตู้โดยสาร ทะเบียน กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.1 จึงได้วางกำลังเฝ้าสังเกตการณ์ จนกระทั่งพบรถยนต์ตู้เป้าหมาย ได้มาจอดรับแรงงานต่างด้าวและมุ่งหน้าไปยังถนนรามอินทรา เจ้าหน้าที่ฯ ได้ขับรถติดตามเพื่อดูพฤติการณ์ และเมื่อถึงบริเวณสถานที่จับกุมบริเวณถนนรามคำแหง ขาออก ตรงข้ามซอยรามคำแหง 110 แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ใช้รถยนต์ตรวจการณ์อัจฉริยะ สตม. แสดงตัว ให้สัญญาณเพื่อหยุดรถคันดังกล่าว และทำการแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ
จากการตรวจสอบคนขับพบว่าคือ นายเบิร์ดฯ (นามสมมุติ) หรือผู้ถูกจับกุมที่ 1 เป็นคนขับรถตู้ และพบแรงงานต่างด้าวจำนวน 8 คน นั่งอยู่ในรถ โดยตรวจพบว่าเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ไม่มีเอกสารหนังสือเดินทาง จำนวน 3 คน, การอนุญาตสิ้นสุด จำนวน 2 คน มีเอกสารหนังสือเดินทางถูกต้อง 3 คน จึงได้จับกุมตัวนายเบิร์ดฯ ผู้ขับรถตู้และแจ้งข้อหาตาม ม.64 พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ “ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม” และ “ฝ่าฝืนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558” โดยนายเบิร์ดฯรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นจึงควบคุมตัวนายเบิร์ดฯมาที่ กก.สส.บก.ตม.1 เพื่อสืบสวนขยายผลจากการ
สอบปากคำนายเบิร์ดฯ (นามสมมุติ) ให้การว่ากลุ่มรถตู้ของพวกตนจะใช้สีสันฉูดฉาดเช่น สีชมพู, สีส้ม, สีเขียว และจะติดป้ายทะเบียนลักษณะเอียง 45 องศา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้นำโทรศัพท์ของนายเบิร์ดฯ ยี่ห้อ OPPO รุ่น A15s สีน้ำเงิน มาทำการตรวจสอบกับเครื่องมือตรวจพิสูจน์หลักฐานทางโทรศัพท์ (CELEBRITE) เพื่อค้นหาเครือข่ายผู้ร่วมขบวนการซึ่งนายเบิร์ดฯ ให้การว่า ตนได้รับการว่างจ้างจากนายบังซอดฯ (นามสมมุติ) หรือผู้ถูกจับกุมที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างตนให้ไปตระเวนรับแรงงานต่างด้าวในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในราคาต่อเที่ยวครั้งละ 6,500 บาท เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.1 จึงได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดนำส่ง พงส.สน.บางชัน จากนั้นชุดสืบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจากคำให้การและข้อมูลการเชื่อมโยงทางโทรศัพท์ เพื่อขอศาลอนุมัติออกหมายจับ นายบังซอดฯ
ต่อมาศาลอาญามีนบุรีได้อนุมัติออกหมายจับนายบังซอดฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจึงได้วางกำลังไว้เฝ้าสังเกตการณ์บริเวณบ้านของนายบังซอดฯ จนกระทั่งพบตัวนายบังซอดฯ จึงได้แสดงหมายจับและทำการจับกุมตัว โดยนายบังซอดฯ (นามสมมุติ) ได้ให้การรับสารภาพว่าตนเป็นคนจัดหาแรงงานต่างด้าวและว่าจ้างให้นายเบิร์ดฯ ตระเวนรับแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเพื่อไปส่งบริเวณช่องทางธรรมชาติเขตติดต่อ ไทย-กัมพูชา โดยตนหาลูกค้าโดยการติดต่อกับนายบอย (นามสมมุติ) ชาวกัมพูชาซึ่งตนได้รู้จักกันมาก่อนหน้า นายบอยเป็นนายหน้าคอยหาลูกค้าผ่านแอพพลิเคชั่น FACEBOOK ในลักษณะการ LIVE สด และนอกจากนั้นบังซอดฯ ยังได้ให้การซัดทอดไปยัง นายใหญ่ฯ (นามสมมุติ) สัญชาติไทย ว่าเป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งทาง กก.สส.บก.ตม.1 อยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผลเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป
สตม. จึงขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหรือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หากประชาชนท่านใดพบเบาะแสในการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขที่ 507 ซ.สวนพลู แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง