Wednesday, 7 May 2025
CoolLife

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เสด็จสู่สวรรคาลัย

30 พ.ค. ของทุกปี เป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ น้อมรำลึกวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 กษัตริย์นักประชาธิปไตย 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาในระดับมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ

จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อพ.ศ. 2461 เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช 2467 

ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2469) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) เนื่องด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองบางประการ

หลังจากนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ปราศจากพิธีการใด ๆ ที่สุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green)

กระทั่งในในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี

หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
 

รู้จัก มูลนิธิพลเอก เปรม ฯ กรมดุริยางค์ทหารบก แหล่งปั้น ‘นักดนตรีทหาร’ มรดกจาก ‘รัฐบุรุษศิลปิน’

จะเป็นการดีแค่ไหน? หากได้เรียนดนตรี แล้วยังมีโอกาสได้ประดับยศบนบ่า!! 

แน่นอนว่า เรื่องเหล่านี้จะมิมีวันเป็นไปได้ หากปราศจากการสนับสนุนของ ‘มูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กรมดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่คู่กรมดุริยางค์มายาวนาน และคอยสรรสร้างนักเรียน รวมถึงนักดนตรีทหาร มานับไม่ถ้วน 

มูลนิธิแห่งนี้เกิดขึ้นภายใต้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือ ‘ป๋าเปรม’ ที่คนไทยเรียกกันติดปาก ซึ่งเดิมท่านถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ให้ความรักต่อเสียงดนตรีมาอย่างยาวนาน และนั่นก็เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง ‘มูลนิธิ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กรมดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี’ ขึ้นมา

สำหรับมูลนิธิฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกิจการดนตรีของกองทัพบก ให้มีความทันสมัย ทั้งทางด้านบุคลากรนักดนตรี และอุปกรณ์เครื่องดนตรี รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ ด้านเสียงเพลง อีกทั้งยังมีการผลักดันให้เกิดมาตรฐานของห้องแสดงดนตรีที่มีระบบเสียงสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้ในการแสดงดนตรี หรือฝึกซ้อมการแสดงต่างๆ ตลอดจนห้องบันทึกเสียงที่มีคุณภาพระดับสากล สามารถผลิตผลงานทางดนตรีที่มีคุณภาพได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความรักในเสียงดนตรีของ ‘ป่าเปรม’ ทำให้ท่านมีส่วนในการประพันธ์บทเพลงไว้มากถึง 200 บทเพลง ซึ่งทางมูลนิธิก็เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ต้องการใช้บทเพลง สามารถทำหนังสือขออนุญาตได้อีกด้วย

นอกจากบทบาทของการผลักดันโลกแห่งดนตรีผ่านกองทัพแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังมีความประสงค์เป็นตัวแทนภาคสังคมในการสนับสนุนเพื่อให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ จนถึงการจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อยอดให้เยาวชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง

31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนางเรือล่ม พระนางผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง

31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ย้อนรอยโศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม อัครมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)

ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจก็เกิดขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้นนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระราชธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระราชธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ท่านก็ทรงครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้ 

ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา 2 โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน 2 โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย

เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า

“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า 5 โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก 

เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น 

เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (2527) ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์'

"ผมพร้อมที่จะตายแล้วครับ" ใจความที่ถูกเอื้อนเอ่ยออกมาจาก 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ในวันที่ได้ลุล่วงภารกิจงานวาดรูปที่วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน

สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์แรงบันดาลใจดีๆ ในการใช้ชีวิตผ่านเรื่องราวของ 'อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ซึ่งปรากฏอยู่ในบทความจากหนังสือ : 'ผมวาดชีวิตผม เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (พ.ศ.2527) ว่า...

"บางช่วงท้อแท้ที่สุด รู้สึกว่า กูไม่เอาแล้ว จะเอาสีไปราดรูปแล้วก็เลิกไปเลย แต่ปัญญาและสุวรรณมันมาห้ามเอาไว้ 2 ครั้ง แต่เชื่อมั้ยตอนหลังพี่ก็พลัดไปห้ามปัญญาบ้าง คิดดูขนาดคนอย่างปัญญายังจะเอาเลย มันแย่ถึงขนาดนั้น"

แต่ความที่เป็นคนยอมแพ้ไม่ได้ ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่รั้งเขาอยู่ วันที่ความรู้สึกตกต่ำที่สุด เฉลิมชัยนั่งอยู่หน้าโบสถ์เขาจ้องหน้าหลวงพ่อดำในจิต กล่าวอธิษฐานในใจว่า...

"หลวงพ่อครับ ปัญหามันเยอะเหลือเกิน ผมเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ผมขอให้หลวงพ่อช่วยให้เขียนรูปเสร็จเสียที แล้วหลวงพ่อก็มาเอาชีวิตผมไปเลย..ผมยอมตาย"

นั้นคือการเดิมพันชีวิต ด้วยชีวิตของคนที่รักที่จะใช้ชีวิตอย่างที่สุด!!

เขาเล่าว่าราวกับปาฏิหาริย์เกิด เพราะหลังจากนั้นก็มีข่าวว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะเดินทางมาพบกับคนไทยในกรุงลอนดอน เฉลิมชัยไม่รอช้า เขาเห็นโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านนายกฯ เพื่อทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ

ในวันที่มีงานเลี้ยงในสถานทูตไทย เฉลิมชัยซึ่งแต่งตัวง่ายๆ มาตลอด ก็ทำเอาพวกตาค้าง เพราะชุดแปลกออกทาง เวอร์สุดติสท์ของเขาเล่นเอาคนในงานมองด้วยความงุงงงว่ามันเป็นใครกัน แถมยังไปยืนอยู่ในแถวเดียวกับบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ยืนรอรับป๋าเปรม...ในสายตาของทุกคนจึงมองไอ้หนุ่มคนนี้ว่าเป็นบุคคลที่ไร้กาละเทศะอย่างที่สุด
 

1 มิถุนายน พ.ศ.2544 ย้อนอดีต 21 ปี ตำนานล็อกหวย ‘113311’ เหตุการณ์ทุจริตออกสลากฯ สุดลือลั่น

ย้อนอดีตเมื่อ 21 ปีก่อน เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขที่ออก ‘113311’

วันนี้ในอดีต 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ได้เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ปรับปรุงการออกรางวัลใหม่

เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อปี 2544 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 มิถุนายน 2544  ซึ่งกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คนที่ยืนอยู่ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้ผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดดังกล่าว คือ 113311 ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไป สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฎว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมกระทำการทุจริตการออกรางวัลแต่อย่างใด คงมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัลในงวดดังกล่าว 

ต่อมา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองปราบปราม ได้ร่วมตรวจสอบเทปการออกรางวัลในงวดดังกล่าวและได้ข้อสรุปว่า มีการซ้อมการทุจริตการออกรางวัล โดยการตักลูกบอล และบ้วนของเหลวโดยการกัดหลอดพลาสติก ณ ไร่กุสุมารีสอร์ต อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจที่ไร่ดังกล่าว พบว่า มีหลอดพลาสติก ซึ่งบรรจุสารเคมีสีขาวเป็นจำนวนมากฝังไว้ในดินบริเวณโดยรอบบ้านพักหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากการสังเกตของประชาชน ส่วนใหญ่ถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน แต่มีบางส่วนที่ไม่ถูกเผาและยังพบหลอดบรรจุสารดังกล่าวบริเวณกองขยะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใหญ่กว่าหลอดกาแฟเล็กน้อย ปะปนอยู่กับเศษฝ้าเพดาน มีรอยถูกฟันกัดบริเวณปลายหลอด อีกด้านเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อให้สารเคมีไหลออก จึงเก็บหลอดบรรจุสารทั้งหมดให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ 

นอกจากนี้ยังพบคราบสารเคมีบนผนังห้องโถงของบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทรายหนึ่งให้การว่า คนกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเช่าบ้านพักถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จากนั้นจะนำกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก 20 คน เข้ารับการฝึกซ้อม โดยมีผู้ฝึกสอน 2 คน สอนกลวิธีต่างๆ ในการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดเทปการออกรางวัลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมรับชมประกอบการฝึกซ้อมด้วย ซึ่งมีการฝึกซ้อมทั้งวันทั้งคืน จนกว่าผู้ฝึกสอนจะพอใจ

และเมื่อถึงวันก่อนวันออกรางวัล 1 วัน ได้มีการว่าจ้างคน 50-100 คน เพื่อซ้อมการทุจริต โดยสับเปลี่ยนหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล ตักลูกบอล และบ้วนของเหลว ซึ่งมีการใช้ลูกบอลหมายเลขที่ใช้ในการออกรางวัลของสำนักงานฯ มาซ้อมตักลูกบอล รวมทั้งเข้าชมการออกรางวัลในงวดดังกล่าว โดยเช่าโรงแรมใกล้ที่ทำการของสำนักงานฯ เป็นที่ซ้อมการทุจริตดังกล่าว โดยจะได้รับค่าจ้าง คนละ 200 บาท และหากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการออกรางวัล จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 500 บาท และเมื่อสามารถทุจริตได้ตามแผนการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้า จะมีรางวัลตอบแทนเป็นเงินรางวัลที่ได้รับจากการซื้อสลากกินรวบตามเลขดังกล่าว

2 มิถุนายน ของทุกปี วันส้มตำสากล – International Somtum Day เมนูแซ่บของไทยที่นานาชาติยอมรับ

วันที่ 2 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันส้มตำสากล (International Somtum Day) วันที่นานาชาติให้การยอมรับว่าส้มตำไทยอร่อย และยกย่องให้ส้มตำเป็นอาหารสากล

รู้หรือไม่ วันที่ 2 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันส้มตำสากล” (International Somtum Day) เป็นวันที่นานาชาติให้การยอมรับว่าส้มตำไทยอร่อย และยกย่องให้ส้มตำเป็นอาหารสากล

“ส้มตำ” เป็นอาหารปรุงมาจากการทำตำส้ม คือการทำให้เปรี้ยว ในลาวเรียกว่า “ตำหมากหุ่ง” โดยนำมะละกอดิบที่สับแล้วฝานหรือขูดเป็นเส้นมาตำในครกเป็นหลัก พร้อมด้วยวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น มะเขือเทศลูกเล็ก,มะเขือสีดา,มะเขือเปราะ,พริกสดหรือพริกแห้ง,ถั่วฝักยาวมกระเทียม และปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำปลา และมะนาว

โดยส่วนผสมและเครื่องปรุงต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ส้มตำมีรสเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว โดยในภาคอีสานนิยมส้มตำรสเผ็ดเค็ม ส่วนไทยภาคกลางนิยมรสเปรี้ยวหวาน ซึ่งนิยมรับประทานกับข้าวเหนียวและไก่ย่าง โดยในบางครั้งรับประทานกับขนมจีน เส้นเล็กลวก เส้นหมี่ และแคบหมู 
 

๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

พลเอกหญิง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีพระนามเดิมว่า สุทิดา ติดใจ ครอบครัวของพระองค์เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ทรงเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จนจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2543

หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงเข้าเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท แจลเวย์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2546 และทรงเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2551 ทรงใช้ชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป

ต่อมาทรงเข้ารับราชการทหารในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตรา พลเอกพิเศษ) ทั้งยังทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ย้อนกลับไปในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ (ในเวลานั้นคือพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์) ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ได้ตามเสด็จในพิธีสังเวยพระป้ายในเทศกาลตรุษจีน ณ พระที่นั่งอัมพรสถานฯ และปรากฏตัวอีกครั้งในวันประสูติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ในปีเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางกองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้เผยแพร่รายงานการเสด็จพระราชดำเนินที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติไปทอดพระเนตรพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเพิ่มเติมเป็น วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา (มีหมายกำหนดการระบุชื่อสกุลดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน)

4 มิถุนายน พ.ศ.2532 เหตุการณ์นองเลือด ‘จัตุรัสเทียนอันเหมิน’ เรื่องเศร้าในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศจีน

เหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในปีค.ศ. 1989 ที่เพิ่งครบรอบ 30 ปีไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2019 นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ผู้ประท้วง และผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ในวันนั้นทุกคนต่างยังจำโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้อย่างไม่ลืมเลือน จนทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่รายกันแน่ เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่เคยออกมาเปิดเผย รวมถึงมาตรการที่มุ่งเซนเซอร์ทุกอย่างที่กล่าวถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในโลกไซเบอร์ทั้งหมด ไม่เคยมีการจัดงานรำลึกอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ในวันนั้นถูกตัดออกจากหนังสือประวัติศาสตร์ในจีนโดยสิ้นเชิง และใครก็ตามที่ถูกมองว่าพยายายามปลุกปั่น ประท้วง และรื้อฟื้นเหตุการณ์นี้ขึ้นมา ก็สามารถถูกจับไปจำคุกได้ถึง 3 ปีครึ่ง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ จัตุรัสเทียนอันเหมิน - ช่วงปี 1988 ประเทศจีนประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงกว่า 30% ในหลายเมือง ผู้คนต่างไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก ถัดมาอีก 1 ปี หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ถือได้ว่าเป็นนักปฏิรูปในพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรมไปวันที่ 15 เม.ย. 1989 กลุ่มผู้สนับสนุนเขาจึงพร้อมใจกันออกมาไว้อาลัย และประท้วงการปฏิรูปในจีนที่เป็นไปอย่างล่าช้า

พร้อม ๆ กันกับที่นักศึกษาจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพออกมาชุมนุมพร้อมกันใจกลางกรุงปักกิ่งในวันนี้
การชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินที่เริ่มขยายวงกว้าง

การประท้วงเริ่มขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ มีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้นในเมืองซีอาน และฉางซา รวมถึงนักศึกษาจากกว่า 20 มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งประกาศชุมนุมต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนด และเริ่มมีการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้น

โดยหลักแล้วการชุมนุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน เรียกร้องประชาธิปไตย ยุติอำนาจเผด็จการ นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสภาพเงินเฟ้อ การปรับค่าจ้างแรงงาน และการปฏิรูปที่อยู่อาศัยประชาชน จนถึงจุดที่มีประชาชนกว่า 1 ล้านคน ชุมนุมกันใจกลางกรุงปักกิ่ง

วันนี้เมื่อ 78 ปีก่อน โลกได้จารึกปฏิบัติการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตร เปิดฉากบุกยึดคืนฝรั่งเศส จากนาซี จนนำไปสู่การชนะศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด

6 มิถุนายน พ.ศ. 2487 วันดี เดย์ (D Day) เป็นวันที่ทหารกองกำลังสัมพันธมิตร 156,000 นาย ส่วนใหญ่เป็นทหารอเมริกัน อังกฤษ และแคนาดา ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีเพื่อเริ่มปฏิบัติการปลดปล่อยประเทศที่ถูกนาซียึดครอง จึงเรียกว่าวันดีเดย์ (D-Day) ย่อมาจาก Deliverance Day ถือเป็นปฏิบัติการโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เฉพาะวันแรกวันเดียวมีทหารล้มตายถึง 4,400 นาย

ยุทธการนี้ใช้เรือถึง 7,000 ลำ ลำเลียงกำลังพล 156,000 นาย และยานพาหนะ 10,000 คัน ไปยังหาดทั้ง 5 แห่งตามแนวชายฝั่งนอร์มังดี รวมถึงมีการสนับสนุนกองกำลังทางอากาศและทางเรือซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเอาชัยชนะมาได้

แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 7 ทศวรรษแล้ว แต่ “การรบที่นอร์มังดี” (The Battle of Normandy) ยังเป็นมรดกของประวัติศาสตร์สงครามที่นักการทหารยังต้องเรียนรู้เสมอ อีกทั้งยังปรากฏในรูปของภาพยนตร์ให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน และอย่างน้อยก็ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “ดี เดย์” นั่นเอง

วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ร่วมเชิดชูเกียรติเกษตรกรไทย

ทุกวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี กำหนดให้เป็น วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องด้วยข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย

ตามมติคณะรัฐมนตรีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วันที่ 23 มิถุนายน 2552 เห็นชอบกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ทั้งนี้ การกำหนดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศและสังคมไทยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ข้าวยังมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งเป็นความมั่นคงทางอาหารดังนั้น นโยบายหรือมาตรการใดที่เกี่ยวกับข้าวย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top