1 มิถุนายน พ.ศ.2544 ย้อนอดีต 21 ปี ตำนานล็อกหวย ‘113311’ เหตุการณ์ทุจริตออกสลากฯ สุดลือลั่น

ย้อนอดีตเมื่อ 21 ปีก่อน เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขที่ออก ‘113311’

วันนี้ในอดีต 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ได้เกิดการทุจริตในการออกรางวัลที่ 1 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ปรับปรุงการออกรางวัลใหม่

เหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อปี 2544 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 มิถุนายน 2544  ซึ่งกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน 3 คนที่ยืนอยู่ในตำแหน่งหลักหมื่น หลักสิบ และหลักหน่วย มีพิรุธขณะออกรางวัลที่ 1 ทำให้ผลการออกรางวัลที่ 1 ของการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลในงวดดังกล่าว คือ 113311 ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทั่วไป สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฎว่า ไม่พบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ร่วมกระทำการทุจริตการออกรางวัลแต่อย่างใด คงมีแต่ภาคประชาชนเท่านั้นที่พยายามกระทำการทุจริตการออกรางวัลในงวดดังกล่าว 

ต่อมา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองปราบปราม ได้ร่วมตรวจสอบเทปการออกรางวัลในงวดดังกล่าวและได้ข้อสรุปว่า มีการซ้อมการทุจริตการออกรางวัล โดยการตักลูกบอล และบ้วนของเหลวโดยการกัดหลอดพลาสติก ณ ไร่กุสุมารีสอร์ต อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจที่ไร่ดังกล่าว พบว่า มีหลอดพลาสติก ซึ่งบรรจุสารเคมีสีขาวเป็นจำนวนมากฝังไว้ในดินบริเวณโดยรอบบ้านพักหลังหนึ่งที่อยู่ห่างไกลจากการสังเกตของประชาชน ส่วนใหญ่ถูกเผาเพื่อทำลายหลักฐาน แต่มีบางส่วนที่ไม่ถูกเผาและยังพบหลอดบรรจุสารดังกล่าวบริเวณกองขยะ ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใหญ่กว่าหลอดกาแฟเล็กน้อย ปะปนอยู่กับเศษฝ้าเพดาน มีรอยถูกฟันกัดบริเวณปลายหลอด อีกด้านเป็นรูเล็ก ๆ เพื่อให้สารเคมีไหลออก จึงเก็บหลอดบรรจุสารทั้งหมดให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ 

นอกจากนี้ยังพบคราบสารเคมีบนผนังห้องโถงของบ้านพักดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทรายหนึ่งให้การว่า คนกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเช่าบ้านพักถึง 2 ครั้ง โดยอ้างว่าใช้เป็นสถานที่จัดประชุม จากนั้นจะนำกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก 20 คน เข้ารับการฝึกซ้อม โดยมีผู้ฝึกสอน 2 คน สอนกลวิธีต่างๆ ในการทุจริตดังกล่าว โดยเปิดเทปการออกรางวัลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ผู้เข้ารับการฝึกซ้อมรับชมประกอบการฝึกซ้อมด้วย ซึ่งมีการฝึกซ้อมทั้งวันทั้งคืน จนกว่าผู้ฝึกสอนจะพอใจ

และเมื่อถึงวันก่อนวันออกรางวัล 1 วัน ได้มีการว่าจ้างคน 50-100 คน เพื่อซ้อมการทุจริต โดยสับเปลี่ยนหางบัตรเข้าชมการออกรางวัล ตักลูกบอล และบ้วนของเหลว ซึ่งมีการใช้ลูกบอลหมายเลขที่ใช้ในการออกรางวัลของสำนักงานฯ มาซ้อมตักลูกบอล รวมทั้งเข้าชมการออกรางวัลในงวดดังกล่าว โดยเช่าโรงแรมใกล้ที่ทำการของสำนักงานฯ เป็นที่ซ้อมการทุจริตดังกล่าว โดยจะได้รับค่าจ้าง คนละ 200 บาท และหากได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการออกรางวัล จะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 500 บาท และเมื่อสามารถทุจริตได้ตามแผนการที่ได้ซักซ้อมเอาไว้ก่อนหน้า จะมีรางวัลตอบแทนเป็นเงินรางวัลที่ได้รับจากการซื้อสลากกินรวบตามเลขดังกล่าว

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขออายัดอุปกรณ์ออกรางวัลดังกล่าวทั้งหมดภายหลังการออกรางวัลเสร็จสิ้นและส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบซึ่งจากการตรวจสอบ พบคราบสีขาวคล้ายน้ำยาลบคำผิดหรือแป้งบนลูกบอลหมายเลข 1 จำนวน 3 ลูก และภาชนะบรรจุลูกบอลออกรางวัล จำนวน 3 ใบ โดยการสอบสวนเพิ่มเติมพบว่า ขณะเข้าสู่การออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว เลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ชาย 3 คน ซึ่งเป็นกรรมการภาคประชาชน ได้อมหลอดพลาสติกบรรจุสารสีขาวตั้งแต่ก่อนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล และเมื่อถึงการแสดงเลขหมายในลูกบอลก่อนออกรางวัลเลขท้ายฯ และรางวัลที่ 1 จะมีคนถือลูกโป่งยืนปะปนกับประชาชนที่มาชมการออกรางวัล แล้วใช้เข็มทิ่มเพื่อให้ลูกโป่งแตกเพื่อให้สัญญาณซึ่งเกิดขึ้นขณะเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 ในขณะเดียวกันชายทั้ง 3 คนดังกล่าวก็บ้วนหลอดบรรจุสารดังกล่าวลงไปหลังจากเจ้าหน้าที่หย่อนลูกบอลหมายเลข 1 ลงในภาชนะออกรางวัลแล้ว ซึ่งสารดังกล่าวจะแห้งภายใน 10 วินาที หลังจากบ้วนสารลงไป

พนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า มีการทุจริตการออกรางวัลที่ 1 ในงวดดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับชายดังกล่าวทั้ง 3  คนซึ่งขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัลภาคประชาชน คือ นายสมตระกูล จอบกระโทก ในตำแหน่งหลักหมื่น พันจ่าอากาศเอก กิตติชาติ กุลประดิษฐ์ ในตำแหน่งหลักสิบ และนายทองสุข ชนะการี ในตำแหน่งหลักหน่วย รวมทั้ง นายณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), นายสุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก) และนาย พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) ในฐานฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และซ่องโจร เนื่องจากเป็นการวางแผนหลอกเอาเงินรางวัลจากเจ้ามือสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) โดยพยายามให้เลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งเลขท้าย 3 ตัวของรางวัลที่ 1 ซึ่งถ้าเลข 1 ไปอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมากเพียงใด ก็จะได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งพบว่านาย พิชัย ได้มุ่งซื้อสลากกินรวบแบบเลขท้าย หมายเลข 11 กับเจ้ามือสลากกินรวบรายหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ทำให้เจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าว ต้องจ่ายเงินรางวัลเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทหลังการออกรางวัลงวดดังกล่าว โดยแต่ละรายถูกรางวัลเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ที่ถูกรางวัลกลับมีเพียงผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งนายณรงค์ พร้อมพวกได้ติดตามทวงหนี้เงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่ายจากเจ้ามือสลากกินรวบดังกล่าว พร้อมทั้งมีการข่มขู่เอาชีวิต หากไม่จ่ายเงินรางวัลดังกล่าวในคราวเดียว จนเจ้ามือสลากกินรวบรายดังกล่าวต้องขอกำลังตำรวจคุ้มครองตลอด 24 ชั่วโมง   โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ยกเว้นนายทองสุข ซึ่งถูกจับกุมได้ในภายหลังที่ให้การรับสารภาพ 

คดีนี้ได้มีการส่งให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยพนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมตระกูล จอบกระโทก, พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์, นายณรงค์ อุ่นแพทย์ หรือกลม บางกรวย ผู้กว้างขวางย่านบางกรวย, นายสุริยัน ดวงแก้ว หรือผู้ใหญ่หมึก และนายพิชัย เทพอารักษ์ หรือชัย โคกสำโรง เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และซ่องโจร

ต่อมา 29  ธ.ค. 2547 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่า การกระทำของพวกจำเลย เป็นความผิดต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่จะต้องปฏิบัติออกสลากด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ สร้างความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งห้า ในฐานฉ้อโกง 2 ปี และในฐานซ่องโจร 4 ปี รวมจำคุก 6 ปี

หลังจากนั้น จำเลยทั้งหมดได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2549 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกเว้นจำเลยที่ 5 นายพิชัย ศาลพิพากษาแก้ให้จำคุกเฉพาะกรณีฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นจำคุก 2 ปี เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่า นายพิชัย ร่วมในการฝึกซ้อมการล็อกเลขอุปกรณ์การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำงวดดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องในกรณีซ่องโจร

จนในที่สุดคดีนี้มาจนถึงศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ 28 ต.ค. 2556 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์  โดยในวันดังกล่าวมีเพียงนายสมตระกูล จำเลยที่ 1  และนายพิชัย จำเลยที่ 5  เท่านั้นที่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงได้ออกหมายจับนายณรงค์ หรือ กลม บางกรวย จำเลยที่ 3 นายสุริยัน จำเลยที่ 4  ให้มารับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนพันจ่าอากาศเอก กิตติชาติ จำเลยที่ 2  คดีถึงที่สุดตั้งแต่ชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องจาก พันจ่าอากาศเอกกิตติชาติ ไม่ได้ฎีกา 

ต่อมาในวันที่ 26  ธ.ค. 2556 นายณรงค์ หรือกลมบางกรวย ได้เข้ามอบตัวรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวไปคุมขังตามคำพิพากษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครทันที

ส่วนนายทองสุข ชนะการี ที่ถูกจับกุมในภายหลังนั้น  ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อ 30  ต.ค. 2549 ให้จำคุกเช่นเดียวกับจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาไปก่อนหน้า แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดการทุจริตในการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 1 มิ.ย.2544 นี้ ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องกอบกู้ความเชื่อมั่น โดยการจัดสร้างอุปกรณ์ออกรางวัลแบบใหม่ซึ่งป้องกันการทุจริตอย่างรัดกุมกว่าแบบเดิม รวมทั้งการยกเลิกการให้ประชาชนขึ้นเป็นกรรมการออกรางวัล


ที่มา : https://www.komchadluek.net/today-in-history/280158