30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 เสด็จสู่สวรรคาลัย

30 พ.ค. ของทุกปี เป็น ‘วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ น้อมรำลึกวันสวรรคตของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 กษัตริย์นักประชาธิปไตย 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้องในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาในระดับมัธยมที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ

จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช และทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อพ.ศ. 2461 เสด็จขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบพระราชสันตติวงศ์เมื่อพุทธศักราช 2467 

ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบัน คือ พ.ศ. 2469) และทรงสละราชสมบัติขณะประทับที่ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (พ.ศ. 2478 ตามปฏิทินปัจจุบัน) เนื่องด้วยความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองบางประการ

หลังจากนั้นได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์อย่างเรียบง่าย ปราศจากพิธีการใด ๆ ที่สุสานโกลเดอร์ส กรีน (Golders Green)

กระทั่งในในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่ประเทศไทย เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีทักษิณานุปทานอุทิศถวายตามพระราชประเพณี

หลังจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิ ซึ่งอยู่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมสรีรางคารนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุไว้ที่พระพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
 

พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ การฉลองพระนครครบ 150 ปี รัชกาลที่ 7 เสด็จฯเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสะพานพุทธฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ยังทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และศาสนา

พระราชดำริที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การพัฒนาการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยทรงพระกรุณาให้มีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานแก่ชาวไทยทั้งมวล แม้จะยังมิได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปลายปีพ.ศ. 2544

สถาบันพระปกเกล้าจึงมีความเห็นว่า สมควรที่จะเสนอให้มี วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้น สถาบันฯ จึงแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยมี นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เป็นประธาน คณะทำงานชุดดังกล่าวนี้ มีมติว่า สมควรกำหนดให้วันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 7 คือ วันที่ 30 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”


ที่มา : https://d.dailynews.co.th/article/777150/