เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (2527) ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์'
"ผมพร้อมที่จะตายแล้วครับ" ใจความที่ถูกเอื้อนเอ่ยออกมาจาก 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ในวันที่ได้ลุล่วงภารกิจงานวาดรูปที่วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน
สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์แรงบันดาลใจดีๆ ในการใช้ชีวิตผ่านเรื่องราวของ 'อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ซึ่งปรากฏอยู่ในบทความจากหนังสือ : 'ผมวาดชีวิตผม เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (พ.ศ.2527) ว่า...
"บางช่วงท้อแท้ที่สุด รู้สึกว่า กูไม่เอาแล้ว จะเอาสีไปราดรูปแล้วก็เลิกไปเลย แต่ปัญญาและสุวรรณมันมาห้ามเอาไว้ 2 ครั้ง แต่เชื่อมั้ยตอนหลังพี่ก็พลัดไปห้ามปัญญาบ้าง คิดดูขนาดคนอย่างปัญญายังจะเอาเลย มันแย่ถึงขนาดนั้น"
แต่ความที่เป็นคนยอมแพ้ไม่ได้ ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่รั้งเขาอยู่ วันที่ความรู้สึกตกต่ำที่สุด เฉลิมชัยนั่งอยู่หน้าโบสถ์เขาจ้องหน้าหลวงพ่อดำในจิต กล่าวอธิษฐานในใจว่า...
"หลวงพ่อครับ ปัญหามันเยอะเหลือเกิน ผมเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ผมขอให้หลวงพ่อช่วยให้เขียนรูปเสร็จเสียที แล้วหลวงพ่อก็มาเอาชีวิตผมไปเลย..ผมยอมตาย"
นั้นคือการเดิมพันชีวิต ด้วยชีวิตของคนที่รักที่จะใช้ชีวิตอย่างที่สุด!!
เขาเล่าว่าราวกับปาฏิหาริย์เกิด เพราะหลังจากนั้นก็มีข่าวว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะเดินทางมาพบกับคนไทยในกรุงลอนดอน เฉลิมชัยไม่รอช้า เขาเห็นโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านนายกฯ เพื่อทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ
ในวันที่มีงานเลี้ยงในสถานทูตไทย เฉลิมชัยซึ่งแต่งตัวง่ายๆ มาตลอด ก็ทำเอาพวกตาค้าง เพราะชุดแปลกออกทาง เวอร์สุดติสท์ของเขาเล่นเอาคนในงานมองด้วยความงุงงงว่ามันเป็นใครกัน แถมยังไปยืนอยู่ในแถวเดียวกับบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ยืนรอรับป๋าเปรม...ในสายตาของทุกคนจึงมองไอ้หนุ่มคนนี้ว่าเป็นบุคคลที่ไร้กาละเทศะอย่างที่สุด
"พี่ก็รู้อยู่ว่า ถ้าจะทำให้ป๋าสนใจ ต้องทำให้ท่านสะดุดตามองเราก่อน ทำยังไงก็ได้ ก็เลยแต่งมันซะอย่างนั้น ซึ่งก็จริง พอป๋าเดินเข้ามา เราก็หวัดดีครับป๋า ป๋าก็ถามว่า มาจากไหน? ก็บอกกับท่านไปตรงๆชัดเจนว่า ผมเป็นศิลปินไทยครับ ผมกับเพื่อนและน้องๆ กลุ่มหนึ่งมาร่วมกันวาดรูปจิตกรรมฝาผนังที่วัดพุทธปทีปถวายเป็นพุทธบูชา โดยไม่คิดค่าจ้างครับ แต่ตอนนี้เราไม่มีเงินเลยครับป๋า ว่าแล้วก็เอารูปถ่ายภาพวาดที่เราทำอยู่ให้ป๋าดู คุยกันอยู่เกือบครึ่งชั่วโมง ป๋าก็บอกกับเราทิ้งท้ายว่า พรุ่งนี้ป๋าจะไปดู"
หลังจากนั้นป๋ากล่าวกับคนไทยในสถานฑูตว่า ขอให้ทุกคนช่วยเหลือเด็กหนุ่มที่นำโดยเฉลิมชัยและปัญญา ให้ทำงานให้เสร็จ เพราะทั้งกลุ่มนี้มาทำโดยไม่หวังอะไรตอบแทน เป็นการช่วยเหลือและบำรุงศาสนาและศิลปะของชาติที่เราทุกคนต้องช่วยรักษาไว้ ทำไมคนไทยเราเองกลับไม่ช่วยเหลือเกื้อกูล ผมนับถือน้ำใจของเด็กกลุ่มนี้มาก เฉลิมชัยเล่าว่า รุ่งขึ้น ทส.ป๋าโทรมาเลย บอกว่า ป๋าจะไปดูวัด ก็รีบต้อนรับกันใหญ่ คนไทยบางส่วนที่ไม่เคยมาก็ตามมาดูบ้าง หลังจากนั้นทุกอย่างก็ราบรื่นหมด
ป๋าไม่บอกแค่ปากเปล่า เพราะเมื่อถึงกรุงเทพฯ พลเอกเปรม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอมติ ครม.อนุมัติเงินด่วน 1 ล้าน 8 แสนบาทเข้ามูลนิธิวัดฯ เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทุกอย่างจึงราบรื่น ขณะที่คนไทยในกรุงลอนดอนก็เปลี่ยนไป ความขัดแย้งระหว่างพระและคนของวัดกับกลุ่มศิลปินก็หายไปด้วย เฉลิมชัยมั่นใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะบารมีของหลวงพ่อดำท่านช่วยเหลืออย่างแน่นอน
27 พฤศจิกายน เฉลิมชัยบอกน้องๆ และพรรคพวกว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการวาดรูป วางพู่กัน รื้อนั่งร้าน เพราะทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว ภารกิจที่เขาตั้งใจเสร็จหมดแล้ว ทุกคนเฮกันลั่นอย่างมีความสุข เฉลิมชัยเดินระโหยโรยแรงไปหน้าทางขึ้นโบสถ์ เขาหันหน้าไปทางหลวงพ่อดำ พนมมือกล่าวว่า
"หลวงพ่อครับ งานเสร็จลงแล้วครับ หลวงพ่อมาเอาชีวิตของผมไปได้เลย ผมพร้อมที่จะตายแล้วครับ"
จากนั้นก็นั่งหลับตาคอยอยู่ ชั่วโมงก็แล้ว สองชั่วโมงก็แล้ว จนพลบค่ำก็ไม่มีใครมาเอาชีวิต
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ยังคงไม่ตายจนถึงปัจจุบัน
"งานวาดรูปที่วัดพุทธปทีปเป็นเสมือนการทดสอบตัวเองขั้นสูงสุด จากเดิมที่ตั้งใจจะเอาชนะคำสบประมาทของคนอื่น หรืออยากที่จะทำให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงนั้นกลายเป็นเรื่องรองลงไป เพราะแท้ที่จริงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การเอาชนะตัวเอง การเอาชนะความท้อแท้ อ่อนล้า และทุกสิ่ง ทุกอย่างที่บั่นทอนเรา อันนั้นต่างหากที่พี่มานึกว่า มันถึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับตัวพี่"
ที่มา: บทความจากหนังสือ : "ผมวาดชีวิตผม เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์"