Thursday, 16 May 2024
เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์

เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (2527) ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์'

"ผมพร้อมที่จะตายแล้วครับ" ใจความที่ถูกเอื้อนเอ่ยออกมาจาก 'เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ในวันที่ได้ลุล่วงภารกิจงานวาดรูปที่วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน

สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์แรงบันดาลใจดีๆ ในการใช้ชีวิตผ่านเรื่องราวของ 'อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ซึ่งปรากฏอยู่ในบทความจากหนังสือ : 'ผมวาดชีวิตผม เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์' ผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ เรื่องเล่าจากกรุงลอนดอน ณ วัดพุทธปทีป (พ.ศ.2527) ว่า...

"บางช่วงท้อแท้ที่สุด รู้สึกว่า กูไม่เอาแล้ว จะเอาสีไปราดรูปแล้วก็เลิกไปเลย แต่ปัญญาและสุวรรณมันมาห้ามเอาไว้ 2 ครั้ง แต่เชื่อมั้ยตอนหลังพี่ก็พลัดไปห้ามปัญญาบ้าง คิดดูขนาดคนอย่างปัญญายังจะเอาเลย มันแย่ถึงขนาดนั้น"

แต่ความที่เป็นคนยอมแพ้ไม่ได้ ดูจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่รั้งเขาอยู่ วันที่ความรู้สึกตกต่ำที่สุด เฉลิมชัยนั่งอยู่หน้าโบสถ์เขาจ้องหน้าหลวงพ่อดำในจิต กล่าวอธิษฐานในใจว่า...

"หลวงพ่อครับ ปัญหามันเยอะเหลือเกิน ผมเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ผมขอให้หลวงพ่อช่วยให้เขียนรูปเสร็จเสียที แล้วหลวงพ่อก็มาเอาชีวิตผมไปเลย..ผมยอมตาย"

นั้นคือการเดิมพันชีวิต ด้วยชีวิตของคนที่รักที่จะใช้ชีวิตอย่างที่สุด!!

เขาเล่าว่าราวกับปาฏิหาริย์เกิด เพราะหลังจากนั้นก็มีข่าวว่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจะเดินทางมาพบกับคนไทยในกรุงลอนดอน เฉลิมชัยไม่รอช้า เขาเห็นโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือจากท่านนายกฯ เพื่อทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ

ในวันที่มีงานเลี้ยงในสถานทูตไทย เฉลิมชัยซึ่งแต่งตัวง่ายๆ มาตลอด ก็ทำเอาพวกตาค้าง เพราะชุดแปลกออกทาง เวอร์สุดติสท์ของเขาเล่นเอาคนในงานมองด้วยความงุงงงว่ามันเป็นใครกัน แถมยังไปยืนอยู่ในแถวเดียวกับบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่ยืนรอรับป๋าเปรม...ในสายตาของทุกคนจึงมองไอ้หนุ่มคนนี้ว่าเป็นบุคคลที่ไร้กาละเทศะอย่างที่สุด
 

อ.เฉลิมชัย ประกาศเลิกวาดภาพจริงจัง หวังใช้ชีวิตบั้นปลายแสวงหาความสุขให้ตัวเอง

อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อัดคลิปเปิดใจประกาศชัดไม่วาดภาพแล้ว หลังจากปีก่อนประกาศวางมือทั้งหมด บอกเมียกับลูกแล้ว ย้ำ “วัดร่องขุ่น” อยู่ได้แล้ว ขอขี่ จยย.เที่ยวก่อนตาย

วันนี้ (22 ก.ย. 65) เฟซบุ๊กส่วนตัวของ "นรินทร ทามาส" หรือ "เอ็ม-เมืองพาน" ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสนิทของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วัย 68 ปี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างสรรค์ศิลปะที่วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย จ.เชียงราย ได้เผยแพร่คลิปอาจารย์เฉลิมชัยตอบคำถามที่ลูกศิษย์ลูกหาสอบถามว่าตอนนี้ไม่ได้วาดภาพแล้วใช่หรือไม่ เพราะเห็นขี่รถจักรยานยนต์ท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อยู่เป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่ภาพแต่ละใบมีราคาแพงอย่างมาก

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวว่า สำหรับคนที่ถามก็คงจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับตนแล้วถือว่ารู้จักพอและตนไม่ชอบการวาดภาพแบบเอาจริงเอาจัง หรือซีเรียสมากเกินไปจนวันตาย เพราะที่ผ่านมาถือว่าตนได้ทำมามากแล้ว และตอนนี้ไม่ทำแล้วเนื่องจากอยากพักผ่อนและอยากใช้ชีวิตที่มีความสุขก่อนที่จะตาย

ดังนั้นจึงปล่อยวางทั้งหมด เริ่มตั้งแต่อายุได้ 55 ปีก็เริ่มเบางาน เมื่ออายุถึง 60 ปีก็เริ่มปล่อยวางมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานที่วัดร่องขุ่นอันยิ่งใหญ่ก็เริ่มปล่อยวางลงอีก กระทั่งอายุถึง 65 ปีก็ปล่อยทิ้งเลย จนตอนนี้มีการบริหารงานกันเองได้แล้ว เพราะทุกอย่างถือว่าสำเร็จแล้ว ตนจึงมีหน้าที่เหลืออย่างเดียวคือ ท่องเที่ยวเพื่อหาความสุขเพราะพอแล้วทุกอย่าง ซึ่งได้บอกกับภรรยากับลูกว่า..ตนพอแล้วและให้ลูกพึ่งตัวเอง ตนไม่เติมเงินให้อีกแล้ว

อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ชีวิตของแต่ละคนต้องแสวงหาความสุขของตัวเอง ขณะที่ตนมีความปรารถนาตั้งแต่ยังเด็กว่าหากอายุถึง 65 ปี และยังมีชีวิตอยู่ ก็จะท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ อย่างเดียวเพื่อพักผ่อนตามที่ตัวเองชอบ ซึ่งก็คือการขับขี่รถจักรยานยนต์ท่องเที่ยวพร้อมกับลูกศิษย์ลูกหาที่ชื่นชอบการขับขี่แบบนี้ด้วยกัน แล้วจากนั้นก็ป่วยตายไป เพราะตนไม่มีอะไรอีกแล้ว ชีวิตตอนนี้ก็ออกกำลังกายให้แข็งแรงเพื่อจะได้ขับขี่ได้ และมีการนั่งสมาธิภาวนาเพื่อให้จิตใจยอมรับกับทุกเรื่องและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งก็คือความตาย

พาเที่ยว ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย’ ชมงานศิลป์ชิ้นเอก ที่ประเมินค่ามิได้

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA)  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความหลงใหลในงานศิลปะของ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ได้สะสมมาตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา 

การเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และก็เพื่อเชิดชูเกียรติของบิดาแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย อย่าง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยนั้น จะมีการออกแบบอย่างสวยงามและอาร์ทสุดๆ สมกับที่เป็นพิพิภัณฑ์ศิลปะมาก ที่ด้านนอกของอาคารแห่งนี้ ก็ได้มีการนำเอาหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตให้กลายเป็นลายก้านมะลิ ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และมีลายฉลุเพื่อให้แสงแดดสามารถส่องทะลุลงมา โดยแสงที่ส่องลงมานั้น ในแต่ละช่วงเวลาก็จะให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

อาคารของพิพิธภัณฑ์ที่ขาวนวล ดูสะอาดตา มีพลังอันยิ่งใหญ่ที่เรารู้สึกได้ทันที เมื่อได้เดินทางมาถึงที่นี่ ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยแห่งนี้ ก็จะมีการจัดแสดงผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินแห่งชาติหลายๆ ท่าน อาทิเช่น อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นต้น 

เมื่อเดินเข้ามาที่ ชั้น G ที่นี่จะเป็นบริเวณของห้องนิทรรศการถาวร ที่จะจัดแสดงผลงานประติมากรรม ของ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ และ ห้องนิทรรศการถาวรงานจิตรกรรม ของ ศาสตราจารย์ชะลูด นิ่มเสมอ

ในส่วนของชั้นที่ 2 ก็จะเป็นห้องนิทรรศการถาวรงานศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งก็จะแบ่งเป็นศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตของแต่ละยุคแต่ละสมัยจากรุ่นสู่รุ่น จัดแสดงความหลากหลายในปัจเจกภาพทางความคิด ผลงานศิลปะล้วนสะท้อนวิถีชีวิตของยุคสมัย ทัศนะ ความคิด อุดมคติ และความเป็นไปของเหตุการณ์ในสังคม อาทิ ผลงานสื่อผสมของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรมและสื่อผสม ในส่วนของห้องนิทรรศการผลงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย ค่านิยมทางสังคม เช่น ผลงานของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ, ปรีชา ปั้นกล่ำ, วุฒิกร คงคา, ทวี รัชนีกร, วีรศักดิ์ สัสดี, ลำพู กันเสนาะ, เด่นพงษ์ วงศาโรจน์ รวมถึงงานจิตรกรรมเชิงพุทธปรัชญา โดยศิลปิน รุ่นใหญ่อีกหลายท่าน อาทิอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร และ อาจารย์ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ เป็นต้น

ชั้น 3 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย แห่งนี้ได้จัดแสดงงาน ที่เน้นศิลปะเชิงความคิดฝันและจินตนาการภายใต้คติและความเชื่อของคนไทย  หลายๆภาพในห้องจัดแสดงห้องนี้ ก็จะเล่าเรื่องผ่านภาพเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติ  อย่างภาพ “นางผมหอม” นางในวรรณคดีโดยถ่ายทอดออกมาจาก จากศิลปินไทยคนสำคัญ สุภร พรินทรากุล  นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยไม้สัก “เรือนนางพิม” ซึ่งจัดแสดงงานจิตรกรรมสองยุคสมัย ที่เล่าเรื่องราวของนางพิมพิลาไลย สตรีจากวรรณกรรมไทยที่ถูกกล่าวขานใน 2 บริบท ผ่านเรื่อง “ขุนช้าง-ขุนแผน” ใน 2 รูปแบบที่แตกต่างกันโดยเหม เวชกร และสุขี สมเงิน

ชั้น 4 ของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ก็ได้จัดแสดง ผลงานที่ถือเป็นสุดยอดแห่งมหากาพย์ของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ประกอบด้วยผลงานทุกประเภทของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม ปราชญ์ผู้เป็นตำนานแห่งวงการศิลปะไทยร่วมสมัย ทั้งสุดยอดแห่งผลงานวาดเส้นและผลงานที่แสดงออกถึงพลังการเคลื่อนไหวของอารมณ์ด้วยฝีแปรง

เดินต่อมาทางอีกฟากหนึ่งของอาคาร เดินทะลุสะพานข้ามจักรวาลมา ก็จะได้พบกับผลงานจิตรกรรมขนาดความสูง 7 เมตร จำนวน 3 ภาพในชุด “ไตรภูมิ” บอกเล่าการเวียนว่ายตายเกิด ของสรรพสัตว์ในสังสารวัฏตามคติความเชื่อในทางพุทธศาสนา

เมื่อเดินขึ้นมาถึงที่ชั้น 5 ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก็จะได้พบกับงานศิลปะร่วมสมัยจากหลายประเทศ เช่น จีน, เวียดนาม, มาเลเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ และห้องที่โดดเด่นที่สุดก็คือห้อง Richard Green ซึ่งจำลองห้องนิทรรศการจากพิพิธภัณฑ์ในแถบยุโรปที่มีหลังคากระจกโค้งรับแสงธรรมชาติ โดยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมจากศิลปินยุโรปฝีมืออันดับต้นๆ ในยุคพระนางเจ้าวิคตอเรียซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ของไทย ซึ่งผลงานทุกชิ้นถูกดูแลรักษาเก็บเอาไว้อย่างถะนุถนอมเป็นอย่างดี ผลงานบางชิ้นมีอายุตั้งเกือบ 300 ปี เก่าแก่และทรงคุณค่าทางด้านศิลปะที่มิอาจประเมินค่าได้เลย

ข้อมูลเพิ่มเติม
เปิดบริการ วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) 10.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/JU9BpESRmL2XhCkN7  
ค่าเข้าชม ราคา 280 บาท 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top