31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนางเรือล่ม พระนางผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง

31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ย้อนรอยโศกนาฏกรรม พระนางเรือล่ม อัครมเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเรือล่ม มีพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ลำดับที่ 50 ในจำนวนทั้งหมด 82 พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระขนิษฐาอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง)

ครั้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระชนมายุได้ 19 พรรษา ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพชรรัตน์ และเสด็จทิวงคตพร้อมกันกับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ขณะนั้นทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 เหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจก็เกิดขึ้น ก่อนเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมขึ้นนั้น มีเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ได้ทรงพระสุบินว่า พระราชธิดาของพระองค์ตกลงไปในน้ำ ด้วยความตกพระทัยจึงรีบคว้าพระราชธิดาจนตกลงไปในน้ำด้วยกัน แล้วได้ตื่นจากบรรทม ท่านก็ทรงครุ่นคิดถึงการเสด็จฯ ไปพระราชวังบางปะอิน แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงชะตากรรมได้ 

ในวันเกิดเหตุวิปโยค เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่พระราชวังบางปะอิน ในเวลา 2 โมงเช้าทรงมีพระราชดำรัสให้ปล่อยขบวนเรือพระประเทียบ หรือเรือฝ่ายในล่วงหน้าไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตรการซ่อมบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จน 2 โมงเศษ จึงประทับเรือพระที่นั่งโสภณภควดี ซึ่งเป็นเรือกลไฟฝีจักรเร็วที่สุดในขณะนั้นตามไป เมื่อไปถึงบางตลาดจะเข้าปากเกร็ด ทอดพระเนตรเห็นเรือกลไฟราชสีห์ล่องแม่น้ำสวนมาอย่างรีบร้อนและเข้าเทียบเรือพระที่นั่ง กราบทูลว่า เรือพระประเทียบของพระนางเจ้าสุนันทาฯ ที่ล่วงหน้าไปแต่เช้าได้เกิดล่มขึ้นที่บางพูด ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์สิ้นพระชนม์ แต่ไม่ได้กราบทูลให้ทรงทราบว่าสมเด็จพระอัครมเหสีก็สิ้นพระชนม์ด้วย

เหตุการณ์นี้ปรากฏรายละเอียดอยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความตอนหนึ่งว่า

“...จึงรีบแล่นเรือพระที่นั่งไปถึงบางพูดเช้า 5 โมง เห็นเรือไฟและเรือพระประเทียบทอดอยู่กลางน้ำที่เขาดำทราย เหนือบ้านพระเกียรติหน่อย ประทับเรือพระที่นั่งเข้าที่เรือปานมารุต ไล่เลียงกรมอดิสรกับพระยามหามนตรีด้วยเรื่องเรือล่ม พระมหามนตรีทูลว่าเรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลนั้นไปหน้า ใกล้ฝั่งตะวันออก เรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาตามไปเป็นที่สองแนวเดียวกัน เรือยอร์ชสมเด็จกรมหลวงซึ่งจูงเรือกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกตรง แล่นตรงกับเรือราชสีห์ แล้วเรือปานมารุตแล่นขึ้นมาช่องกลางระหว่างเรือ ห่างเรือโสรวารสัก 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก 

เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นระลอกประทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง พระยามหามนตรีว่าได้ดำน้ำลงไปถึงในเก๋ง เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอออกมาก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว แต่กรมหมื่นอดิสรซัดพระยามหามนตรีว่า เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุเรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก ต่างคนต่างซัดกัน จึงโปรด้เกล้าฯให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงดูที่คนอื่นๆทีละคนสองคน แยกกันถามจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย กับแก้ว พระพี่เลี้ยงอีกคนหนึ่งตาย และคนที่อยู่ในเก๋งออกมาไม่ทันบ้าง ที่สลบก็แก้ฟื้นขึ้นได้หลายคน จึงไล่เลียงได้ความว่า เมื่อเรือล่มคว่ำนั้น พระองค์เจ้าสุนันทาอยู่ในเก๋งออกมาไม่ได้ จึงช่วยกันหงายเรือขึ้น 

การหงายนั้นช้าอยู่มากกว่าครึ่งชั่วโมงจึงได้เสียท่วงที เมื่อเชิญพระศพขึ้นมาที่เรือปานมารุตแล้วก็ช่วยแก้ไขกันมาก ครั้งนี้เผอิญให้หลวงราโชมาในเรือปานมารุตด้วย ได้ช่วยแก้เต็มกำลังก็ไม่ฟื้น ชาวบ้านที่แก้พวกข้าหลวงรอดหลายคนเอามาแก้ก็ไม่ฟื้นได้ เมื่อได้ความดังนี้แล้วจึงได้ทราบฝ่าละอองฯว่าพระองค์เจ้าสุนันทาสิ้นพระชนม์ด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งมาประทับไล่เลียงอยู่นั้นสัก 10 มินิตกว่าก็ไม่ทราบ ไม่มีใครกราบบังคมทูล และกรมสมเด็จพระสุดารัตน์กับเจ้านายก็มาประชุมพร้อมกันอยู่ในเรือปานมารุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นไปประทับบนเรือปานมารุตให้ช่วยกันแก้ไขด้วยพระองคยังร้อนๆอยู่ จนบ่าย 2 โมงก็ไม่ฟื้นขึ้นได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก...”

ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ แม้ว่าทรงว่ายน้ำได้ แต่เพราะความที่ทรงห่วงพระราชธิดา จึงทรงว่ายเข้าไปช่วย แต่ก็ต้องสิ้นพระชนม์ พร้อมกับพระพี่เลี้ยงอีก 1 คน ทั้งหมด 4 ศพ ซึ่งศพจมอยู่ใต้ท้องเรือ โดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เพราะติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร 

โศกนาฏกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นหน้าวัดกู้ กลางลำน้ำเจ้าพระยา จ.นนทบุรี ชาวบ้านละแวกนั้นจึงร่วมใจตั้งศาลพระนางเรือล่มขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่กู้พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยชาวบ้านได้เรียกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ว่า "พระนางเรือล่ม" มานับแต่นั้นเป็นต้นมา

ขณะที่ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระนางเจ้าฯ และพระราชธิดาแล้ว ก็ได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนขึ้น เพื่อเป็นที่รำลึกถึงด้วยความอาลัยรัก พร้อมทั้งจารึกคำไว้อาลัยที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ที่อนุสาวรีย์นั้นด้วย โดยมีข้อความดังนี้...

"ที่ระลึกถึงความรัก แห่ง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอรรคมเหสี อันเสด็จทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความสุขสบาย และเป็นที่เบิกบานใจ พร้อมด้วยผู้ซึ่งเป็นที่รัก และที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ"

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้น โดย จุฬาลงกรณ์ บรมราช ผู้เป็นสามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้นแทบจะถึงแก่ชีวิตถึงกระนั้นก็ยังมิได้หักหาย


จุลศักราช ๑๒๔๓

ที่มา : https://www.facebook.com/188583217968299/posts/617766368383313/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000051195