Sunday, 15 December 2024
Central

อำเภอศรีสัชนาลัย เชิญชวนเที่ยวงานประเพณี ‘แห่ช้างบวชนาค ชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ปีที่ 176’

ประชาชนชาวไทยพวนหาดเสี้ยวส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ และนิยมบรรพชาอุปสมบทบุตรหลานของตน โดยการแห่นาคด้วยขบวนช้างซึ่งเป็นประเพณีที่มีการสืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษแต่โบราณ ถือปฏิบัติกันมาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 176 ตามคติความเชื่อเรื่องพระเวชสันดรชาดก โดยเรียกการบรรพชาอุปสมบทแห่นาคด้วยขบวนช้างหรือขี่ช้างแห่นาคว่า “บวชช้าง” อันหมายถึงการจัดงานบวชซึ่งเรียกว่า “นาคขี่คอช้าง” พร้อมด้วยญาติมิตรนำอัฐบริขารขี่บนหลังช้าง แห่เป็นริ้วขบวนของชาวไทยพวนหาดเสี้ยวนั่นเอง

อำเภอศรีสัชนาลัยและเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคน จึงได้จัดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน อีกทั้งเพื่อเป็น การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลและจังหวัดสุโขทัยตลอดจนรวมไปถึงการสร้าง   การมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความสามัคคีของประชาชนในพื้นที่
นายนิรันดร์  พรมละ ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอศรสีชนาลัย จ.สุโขทัย เปิดเผยว่า งานประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2564 กำหนดจัดขึ้น ณ วัดหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2564 นักท่องเที่ยว และประชาชนผู้เข้าร่วมชมงาน จะได้รับชมพิธีทำขวัญนาคแบบไทยพวนหาดเสี้ยว ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการแสดงการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยพวน รวมถึงพิธีบวงสรวงศาลเจ้าวัด (เจ้าปู่กื้อ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยพวนหาดเสี้ยวเคารพบูชา 


นอกจากนี้จะได้ชมริ้วขบวนแห่ช้างอันยิ่งใหญ่ตระการตา นำหน้าขบวนด้วยหญิงชายเต้นรำวงนำขบวนแตรวงหรือกลองยาว ถือเทียนเอก เทียนอนุศาสน์ กรวยอุปัชฌาย์ ผ้าไตร อัฐบริขาร และเครื่องไทยธรรม เดินนำหน้าขบวนช้าง และมีอาสาสมัครพี่เลี้ยงร่วมขบวน ทำหน้าที่พยาบาลคอยให้ความช่วยเหลือและบริการน้ำดื่มแก่ผู้ร่วมขบวน ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่บ้านเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง 


อำเภอศรีสัชนาลัยจึงขอเชิญทุกท่านเที่ยวชมงาน ประเพณีแห่ช้างบวชนาคของชาวไทยพวน   บ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 6 - 7 เมษายน 2564 ณ วัดหาดเสี้ยว ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอ ศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ที่ทำการปกครองอำเภอศรีสัชนาลัยโทร. 0 - 5567 - 1466 


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร (สุโขทัย)
 

Sukhothai Crafts and Folk Art “สังคโลกอาร์ต” แหล่งเรียนรู้การทำสังคโลกของคนรุ่นใหม่

สังคโลกของจังหวัดสุโขทัย ได้สืบทอดศิลปะและภูมิปัญญาการทำเครื่องสังคโลกมานานมากกว่า 700 ปี และยังเป็นสื่อของการบอกเล่าเรื่องราวในอดีต ถึงความเจริญและความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรสุโขทัยที่รุ่งเรือง จวบจนทุกวันนี้ การตกแต่งลวดลายบนสังคโลกเฉพาะของสุโขทัยคือเป็นรูปปลากา กงจักร และดอกไม้ จะเป็นสีเขียวและสีคราม เป็นสีนิยมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีต ในสีของเครื่องสังคโลกของสุโขทัย

และคุณครูผู้รักการเขียนลายสังคโลกด้วยมือ และผลิตชิ้นงานสังคโลก เซรามิคที่ชำนาญงานในด้านศิลปะลวดลายสังคโลก งานปั้น ขึ้นรูป จากงานดิน “ครูสาว” จันทรา อ่วมพรม อดีตอาจารย์แผนกศิลปกรรมเซรามิค ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัยมีลูกศิษย์มากมาย หลายต่อหลายรุ่น ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของร้าน "สังคโลกอาร์ต" อย่างเต็มตัวแทนการเป็นครูประจำ ด้วยความหลงไหลงานด้านศิลป์สังคโลกแบบลายโบราณ ก็ได้ประยุกต์ลวดลายที่สวยงาม วาดไว้บนชิ้นงานสังคโลก เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและร้านค้า ที่มาเป็นลูกค้าของร้าน "สังคโลกอาร์ต"

“ครูสาว” กล่าวว่า “สังคโลกอาร์ต เรามีความชำนาญและความชื่นชอบในการปั้นและการวาดลวดลายสังคโลก มีนักท่องเที่ยว และลูกค้าให้ความสนใจ จึงได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างหัตถศิลป์ด้วยตัวเอง โดยให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจงานศิลปะด้านนี้ ได้ร่วมกิจกรรมลงมือปั้นและวาดลวดลายเฉพาะของสุโขทัย ลงบนสังคโลก ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนกับกิจกรรมของทางร้าน 

และกิจกรรมการมีส่วนร่วมนี้ของนักท่องเที่ยว นักเรียน และผู้ที่สนใจ ทำให้ได้ร่วม อนุรักษ์ และสืบสานงานหัตถศิลป์ ให้คงอยู่สืบคู่สุโขทัย คนไทย เยาวชนและคนรุ่นใหม่ต่อไป และเรายังออกบูธกิจกรรม ออกร้าน เรียนรู้ทางกิจกรรมต่าง ๆ ของงานศิลป์และงานอีเวนท์ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ ด้านฝึกวิชาชีพตามงานสำคัญต่าง ๆ ด้วยเพื่อเผยแพร่งานศิลปะของงานช่างของของคนสุโขทัย”

ภาพ/ข่าว  เสนิศชนันต์ สุขกสิกร
 

หลวงพ่อพัฒน์ (ปุญญกาโม) บริจาคเงินจำนวน 8,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และ รถพยาบาลVIP จำนวน 1 คัน มอบให้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

วันนี้ 12.30 น.  หลวงพ่อพัฒน์ (ปุญญกาโม) และดร.เสมอ งิ้วงาม (ป๋อง สุพรรณ) บริจาคเงินจำนวน 8,000,000 บาท(แปดล้านบาทถ้วน) เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลVIP จำนวน 1 คัน มอบให้โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โดยมีนายแพทย์โชติ ภาวศุทธิกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์รับมอบ ในพิธีมหาพุทธามังคลาภิเษกวัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ (ปุญฺญกาโม) รุ่น พยัคฆ์แสนล้านและรุ่น ราชาพยัคฆ์ ณ วัดธารทหาร (ห้วยด้วน) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

ท่านที่ประสงค์จะทำบุญในโอกาสพิเศษต่างๆ ติดต่อได้ที่ ประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลฯ 056-001555 และ 089-8584102 หรือโอนเงินธนาคารกรุงไทย เลขที่ 633-0-41531-5 ส่งหลักฐานที่ inbox เพจ Facebook โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์


ภาพ/ข่าว  ตอริก (ปัตตานี)

สุโขทัยเขียนลายสังคโลกบนผืนผ้า งานอาร์ตเวิร์คช้อป สร้างรายได้แก่คนรักงานศิล์ปที่“บ้านปรีดาภิรมย์”

ถ้าเอ่ยคำว่า ‘ลายสังโลก’ หลายคนน่าจะนึกถึงเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เซรามิก เท่านั้น ที่สุโขทัยลายสังคโลกสวยๆ จากงานบรรจงฝีมือลงบนผืนผ้า ก็มีให้ชม ให้ใช้ ให้เลือกหา บ่งบอกถึงสุโขทัยเช่นกัน ‘ลายสังโลก’ ถือเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นงานจากเครื่องปั้นสังคโลก หรือจะเป็นลวดลายบนผืนผ้าที่เรานำมาใช้ประจำวัน เช่นเสื้อ หมวก ร่ม โคมไฟ  ย่าม กระเป๋า พัด กรอบภาพโชว์ และงานจากการสร้างขึ้นมาอื่น ๆ จากผ้า ที่มีความหมายสำคัญในชีวิตและวัฒนธรรมของสุโขทัย ‘ลายสังโลก’ก็ยังมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสุโขทัยและคนไทย โดยลวดลายที่ถูกเขียนลงบนผืนผ้าสามารถบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาได้ ในยุคหลายร้อยปี   

งานศิลปะไม่ใกล้ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในเขตชุมชนเมืองเก่า จ.สุโขทัย มีบ้านไม้หลังหนึ่ง รอให้ทุกคนได้มาสร้างสรรค์ลวดลายสังคโลกผ่านผืนผ้าที่ “บ้านปรีดาภิรมย์” ที่นี่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับรูปแบบและความหมายของลวดลายสังคโลก ซึ่งถือเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของสุโขทัยมาช้านาน โดยปกติแล้วเรามักจะเห็นลวดลายสังคโลกอยู่บนเซรามิก หรือเครื่องปั้นสังคโลก ที่เมืองเก่าแห่งนี้คือต้นกำเนิดของสุโขทัยทุกวันนี้ มีหญิงสาวท่านหนึ่งที่ถูกปลูกฝังในความเป็นคนสุโขทัยที่มีเอกลักษณ์และศิลปะในตัวเธอ คุณธารารัตน์ ปรีดาภิรมย์ “หรือฝน” ตัวเธอและครอบครัว และชาวบ้านชุมชนเมืองเก่าต้องการที่จะอนุรักษ์ สืบสานลวดลายบนเครื่องสังคโลกเอาไว้ไม่ให้หายไปตามกาลเวลา จึงเกิดเป็นกิจกรรมเวิร์คช้อปดี ๆ ให้นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการหัดเขียนลวดลายสังคโลก

คุณธารารัตน์ ปรีดาภิรมย์  เอ่ยไว้น่าสนใจว่า การลงมือวาดลวดลายต่างๆ ของ‘ลายสังโลก’ ลงบนผืนผ้า เสื้อยืด กระเป๋าหรือโคมไฟ ไม่ว่าจะเป็น ลวดลายสัตว์ (ลายปลา ลายนกคุ้ม) ลวดลายพืชพรรณ (ลายดอกบัว ต้นไม้) และลวดลายเรขาคณิตแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต สังคม ความเชื่อและรูปแบบศิลปะเฉพาะของสุโขทัย จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในคุณค่าของ “จิตวิญญาณของวัฒนธรรม” เมืองสุโขทัย และเข้าใจอัตลักษณ์ของความเป็นสุโขทัยมากขึ้น และผู้ที่มาเรียนรู้เพื่อขยายคนสร้างงานศิล ใจรัก หรือ ทำเป็นอาชีพเสริม อาชีพหลัก ก็ล้วนแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนที่สนใจ ส่วนตัวฝนและครอบครัว ก็ยังใช้งานที่รักนี้มาเป็นงานสร้างรายได้ สร้างผลงาน เพิ่มความรู้และแบ่งปันความรู้สู่ผู้อื่นมาทั้งชีวิตเช่นกัน


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา (จ.สุโขทัย)

"ราชทัณฑ์" จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโมเดล"

วันพฤหัสบดีที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฝ่ายบริหาร ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโมเดล" เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรี" ด้านการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูลการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ ณ เรือนจำจังหวัดนนทบุรีโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุทางอากาศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต้นแบบ "เรือนจำจังหวัดนนทบุรี"เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กรมราชทัณฑ์ โดย เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดย สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุ ม.ก. ด้วยการเปิดรับสมัครผู้ต้องขังสูงอายุในเรือนจำจังหวัดนนทบุรี จำนวน 30 คน เพื่อร่วมอบรมเกี่ยวกับการจัดกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังสูงอายุทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ

โดยมุ่งเน้นให้ผู้ต้องขังสูงอายุมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ แข็งแรง คลายความวิตกกังวลในขณะที่อยู่ภายในเรือนจำ มีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมนำไปต่อยอดให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำรุ่นต่อไป ซึ่งจะช่วยเหลือผู้ต้องขังสูงวัยให้ดำรงตนอย่างมีคุณค่า  ทางสถานีวิทยุ ม.ก. จะให้การสนับสนุนการพัฒนาความรู้ เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงองค์ความรู้ในแขนงวิชาต่าง ๆ อาทิ ความรู้ด้านกฎหมาย ๒,ด้านสุขภาพ ๓.ด้านโภชนาการ๔.ด้านเศรษฐกิจและสังคม ๕.ด้านพระพุทธศาสนา ๖.ด้านการใช้ภาษาและการสื่อสาร ๗.ด้านการออม และ ๘.การจัดกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังสูงวัย ให้มีสุขภาพใจและร่างกายแข็งแรงสามารถสร้างผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ "Active Aging"

พร้อมต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ต้องขังสูงวัยในรุ่นต่อไป  ผ่านเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. โดยมีเนื้อหาหลักสูตรใน ๕ มิติ ได้แก่ ด้านร่างกาย เน้นในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเอง ด้านจิตใจ เน้นการรู้จักบริหารสุขภาพจิต ด้านสังคม เน้นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย การเปลี่ยนแปลงของสังคม สิทธิและสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ด้านเศรษฐกิจและกิจกรรมสันทนาการ การฝึกทักษะอาชีพ การให้ความรู้เรื่องการออมในผู้สูงวัย และด้านจิตปัญญา การส่งเสริมให้เข้าถึงธรรมชาติและสัจธรรมพร้อมกันนี้ ยังเป็นต้นแบบให้กับเรือนจำอื่น ๆ ในการต่อยอดองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ต้องขังสูงอายุ

ตามมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ โดยมีแนวทางและรูปแบบการให้การศึกษาผ่านทางเครือข่ายสถานีวิทยุ ม.ก. เป็นหลัก โดยออกอากาศ ทั้ง ๔ ภูมิภาค ในระบบ เอ.เอ็ม. สเตอริโอและผู้ต้องขังสูงอายุ ยังสามารถรับชม-รับฟัง ทั้งภาพและเสียงผ่านทางเครือข่ายของสถานีวิทยุ ม.ก. ณ สถานที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรีได้กำหนดไว้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 30 คน ต้องติดตามรับฟังรายการวิทยุอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร ๑ เดือน ๒ สัปดาห์ ออกอากาศเนื้อหาหลักสูตรเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน - ๑๒ พฤษภาคม๒๕๖๔ รวม ๒๙ หลักสูตร จึงจะได้รับประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อยุธยา – นาย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดการใช้ความเร็วรถยนต์สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน - ต่างระดับอ่างทอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยมี นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงฯ องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมในพิธี ในวันที่ 1 เมษายน 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เตรียมการนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง และได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 สำหรับเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยกระทรวงฯ ได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน หรือ Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว

โดยเส้นทางนี้ถือเป็นต้นแบบของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ  260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง - สิงห์บุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทาง - มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว - อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่ - ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 


ภาพ/ข่าว  เดชา  อุ่นขาว

อุทัยธานี - แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตร อำเภอทัพทัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อลงกต วรกี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  จังหวัดอุทัยธานี พร้อมหน่วยข้าราชการและผู้อำนวยการ  ศูนย์อำนวยการ จิตอาสาพระราชทาน จังหวัดอุทัยธานี ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2564 ร่วมกับ พันโท ผดุงศักดิ์ ปิ่นเกตุ หัวหน้าชุดประเมินผลภัยแล้งที่ 9​ และคณะ สถานที่ ณ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร  บ้านสวนขวัญ ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ บ้านสวนขวัญ หมู่ที่ 13 ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 

ทั้งนี้นาง ปรียารัตน์ ลานพลอย ท้องถิ่นอำเภอทัพทัน  นาย สุรศักดิ์ ภักดี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกระทุ่ม  และจิตอาสาพระราชทานจังหวัดอุทัยธานี​ รวมทั้งสิ้น 78 คน ดำเนินการร่วมตรวจประเมินผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ พร้อมการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ตำบลตลุกดู่  อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี 


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี  ศรีอนันต์

กรุงเทพฯ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน รณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก WORLD AUTISM AWARENESS DAY (WAAD)

วันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ อาคาร CP-True Autistic Thai Foundation Vocatationl Training Center มูลนิธิออทิสติกไทย กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  กล่าวให้โอวาทเรื่องการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานของบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในกรุงเทพฯ รวมถึงคนพิการ ครอบครัวคนพิการ กลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ให้มีโอกาสในการเข้าถึงการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวต่อไปในวันข้างหน้า

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายหน้าที่ให้ดิฉันมา ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และมุ่งเน้นดูแล การสนับสนุน และการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ. ศ. 2550 ในมาตรา 33 34 และ 35 ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการจ้างงานคนพิการ ซึ่งสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องจ้างงานคนพิการ 1 คน หรือในอัตราส่วน 100:1 คน

โดยการ สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ในการเข้าถึงกฎหมายการจ้างงานคนพิการให้กับสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ให้สามารถ เข้าถึงกับคนพิการได้อย่างสะดวกโดยไม่เป็นอุปสรรค พร้อมทั้งยังมีนโยบาย ในการที่จะเชิญชวนสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่ได้จ้างงานคนพิการในการจัดเวทีเสวนาร่วมกัน และทำความเข้าใจในการให้โอกาสของคนพิการมีงานทำร่วมกันเพื่อผลักดันให้คนพิการนั้นมีอาชีพต่อไปในวันข้างหน้า การจ้างงานคนพิการนั้น นอกจากจะมอบโอกาสที่ดีแล้วยังเป็นการช่วยรัฐบาล ที่จะช่วยเหลือ กลุ่มคนได้โอกาสรวมถึงครอบครัวของคนพิการมากกว่าหนึ่งชีวิตเพราะในหนึ่งครอบครัวนั้นจะต้องมีผู้เสียสละมาดูแลคนพิการจึงทำให้ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ในการต่อไป

ในการนี้ นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลักรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านบุคคลออทิสติกไทย ในปี 2564 รวมทั้งนโยบาย ของกรุงเทพฯ ที่จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวง ทบวง กรม  และ องค์การคนพิการทุกประเภท ที่จะร่วมกัน พัฒนาและเตรียมความพร้อมในเรื่องของวุฒิการศึกษาโดยการเตรียมสถานศึกษาให้คนพิการได้เล่าเรียนและมีวุฒิบัตร เป็นที่ยอมรับและสามารถไปสมัครงานได้เทียบเท่ากับบุคคลปกติต่อไปในภายหน้าอีกทั้งยังมีนโยบายให้สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จ้างงานคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานของกรุงเทพฯ

ในเวลาต่อมา นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวถึงบทบาทของการทำงาน ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยกระทรวงการส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ร่วมกับ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม(ไทย) และกับ สมาคม มูลนิธิ ต่าง ๆ ภาคีเครือข่ายของคนพิการ ที่จะร่วมกันยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในการเข้าถึงการมีงานทำ อย่างเต็มที่ พร้อมให้การสนับสนุนในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

จากนั้น อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์  นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิสซึม (ไทย) และ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ยังได้กล่าวขอบคุณ ภาครัฐและทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมงานในโครงการรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในวันนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบว่า คนพิการออทิสติก นั้นยังมีความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ เช่น การเป็นบาริสต้าชงกาแฟ และเป็นจิตรกรวาดภาพศิลปะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม

สุดท้ายนี้ นายสรสิช จรูญโรจน์ เลขานุการในหม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์  พร้อมด้วยนายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย รับมอบหมายหน้าที่ในการนำสาร์น จาก หม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ปกครอง และคนพิการออทิสติก ในการดูแลซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องในโอกาสสำคัญนี้ จึงส่งมอบกำลังใจให้กับทุกๆภาคส่วนที่จะได้ช่วยกันส่งเสริมให้คนพิการนั้น มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นที่ยอมรับในสังคมสืบต่อไป

กรุงเทพฯ - ‘มาดามแป้ง’ ลงพื้นที่เหตุเพลิงไหม้อาคารถล่ม พร้อมมอบเงินเยียวยาช่วยครอบครัวอาสาผู้เสียสละ

‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง รุดลงพื้นที่หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้จนอาคารถล่มที่หมู่บ้านกฤษดานคร 31 ในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมาเพื่อให้กำลังใจอาสาสมัครที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งเตรียมมอบเงินเยียวยาหรือทุนการศึกษาแก่ทายาทให้ความช่วยเหลือครอบครัวอาสาสมัครที่เสียชีวิตทั้ง 4 ราย นอกจากนี้ยังได้ตั้งครัวมาดามทำอาหารแจกเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ตามเจตนารมณ์สำคัญของการก่อตั้ง

‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิมาดามแป้ง ได้เดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุพร้อมทีมงาน เพื่อให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่กันตลอดคืน โดยยื่นมือให้ความช่วยเหลือครอบครัวของอาสาสมัครที่เสียชีวิตทุกราย พร้อมยกย่องงานอาสาคืองานที่ช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง และจัดตั้งครัวมาดาม เพื่อสนับสนุนด้านอาหารเครื่องดื่มแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกภาคส่วนที่เร่งปฎิบัติงานในพื้นที่จนกว่าภารกิจจะเรียบร้อยตลอดทั้งวัน

“ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต งานอาสาคืองานที่ต้องทำด้วยใจและต้องเสียสละอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ทุกท่านได้ทำงานเพื่อสังคมจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ขอยกย่องทุกท่านด้วยใจ ซึ่งแม้จะเป็นมูลนิธิเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา แต่ก็มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเยียวยาในยามเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

“วันนี้เราจึงขอมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยียวยาทางใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียสละ ด้วยทราบว่าทั้ง 4 ท่านมีลูกที่อยู่ในวัยเรียน และมีครอบครัวที่ต้องดูแล จึงหวังจะช่วยบรรเทาความลำบากดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจเล็กๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัวต่อไป” นางนวลพรรณ กล่าวปิดท้าย

 

อุทัยธานี - จัดงานเกษตรอินทรีย์ฯ ปี 2 ชูไฮไลต์ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่” ครั้งแรก เพื่อเกษตรกรและนักท่องเที่ยว

จังหวัดอุทัยธานี โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกันจัดงาน “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัย ปี 2… เกษตรปลอดภัย คือความภูมิใจของเรา” ระหว่างวันที่ 9 -10 เมษายนนี้ ณ ตรอกโรงยา อ.เมือง จ.อุทัยธานี พร้อมกระตุ้นและขับเคลื่อน “เกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งประชาชนในจังหวัด และนักท่องเที่ยว รวมทั้งชูไฮไลต์ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่” ผ่านนิทรรศการ และเสวนาเกี่ยวกับกัญชาในทุกมิติ เพื่อมุ่งให้ความรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งผู้ที่สนใจการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนการนำเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ใบ และราก ไปใช้ เพื่อให้นโยบาย "กัญชาเสรี" ถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่ประเทศไทยได้เริ่มเปิดกว้างในเรื่องกัญชาโดยมีหน่วยงานของรัฐกำกับ 

สำหรับไฮไลต์ในครั้งนี้ คือนิทรรศการ “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัย” และ “กัญชาพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เกษตรกรไทยต้องรู้” ครั้งแรกของจังหวัดอุทัยธานี โดยจะขนต้นกัญชาที่ปลูกได้จริงในจังหวัดอุทัยธานีมาจัดแสดง พร้อมฟังเสวนา “กัญชาทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยจริงหรือ” โดยเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา หน่วยงานภาครัฐ และกูรูด้านกัญชาที่จะมาร่วมพูดคุย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในทุกมิติเกี่ยวกับการปลูกกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า แม้จังหวัดอุทัยธานีจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ แต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นด้านการเกษตร และการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ถือว่ามีความสำคัญกับจังหวัดอุทัยธานีเป็นอย่างมาก เห็นได้จากทิศทางหรือนโยบายการพัฒนา รวมถึงการขับเคลื่อนด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้ “เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” ควบคู่กับพัฒนานวัตกรรมอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและสิ่งเหลือใช้จากภาคเกษตรให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

“ปีที่แล้วเราจัดงานเกษตรอินทรีย์วิถีอุทัยขึ้นเป็นครั้งแรก นับว่าได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้รณรงค์ ส่งเสริมเกษตรกร ให้หันมาผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เรายังพยายามผลักดันให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตไปสู่ “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสูงสุด ตามนโยบายภาครัฐ ตลอดจนพยายามเชื่อมโยงเรื่องเกษตรกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ที่สำคัญในขณะนี้มีกระแสพืชเศรษฐกิจใหม่อย่าง “กัญชา” เข้ามา ซึ่งกัญชาทางการแพทย์จะต้องปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น ทำให้เกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว สามารถต่อยอดไปปลูกพืชกัญชาซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้ง่ายขึ้น และคาดว่ากัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประชาชนในจังหวัดในอนาคต”

สำหรับงาน “เกษตรอินทรีย์ วิถีอุทัยปี 2” นอกจากความรู้ด้านการเกษตรแล้ว ผู้เข้าชมงานยังสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีอุทัย ที่จะนำสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขึ้นชื่อของจังหวัด ผลผลิตสด ๆ จากไร่มาให้นักท่องเที่ยวเลือกช้อป เลือกชิมอย่างจุใจในที่เดียว อาทิเช่น พืชผักสวนครัวพื้นบ้าน และผักสลัด, ข้าวอินทรีย์ และเห็ดอินทรีย์, ผลไม้ ได้แก่ ส้มโอ มะม่วง, ผลิตภัณฑ์จากปลาแรด GI จากแม่น้ำสะแกกรัง เช่น ปลาแรดทอดกระเทียม ปลาแรดแดดเดียว แหนมปลาแรด ไส้กรอกปลาแรด ปลาแรดหยอง ซาลาเปาไส้ปลาแรด, ข้าวเกรียบปลาแรด น้ำพริกปลาแรด ทอดมันปลาแรด ห่อหมกปลาแรด, ไข่ไก่ นมพาสเจอร์ไรซ์ 

พลาดไม่ได้กับเมนูสุดฮอตจากวิสาหกิจชุมชนสุขฤทัยเกษตรปลอดภัย และเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เช่น ยำผักกูดกัญชา ข้าวไข่เจียวกัญชา ขนมจีนกัญชา ก๋วยเตี๋ยวกัญชา ผัดกะเพราหมูป่า ชวนชิมน้ำชากัญ ขนมปังเฮฮา สังขยาหัวเราะ จมูกข้าวยิ้ม ขนมกงกัญ และคุ้กกี้สมายด์ ฯลฯ พร้อมไฮไลต์เด็ด การสาธิตเมนูสร้างสรรค์จากกัญชา มาให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองชิม อาทิ เมนูแรดอารมณ์ดี และเตี๋ยวรักกัญ (ชา) กิจกรรมแข่งขันกินข้าวเหนียวมะม่วง รวมทั้งกิจกรรมการแสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม ภายใต้มาตรการวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) รองรับสถานการณ์โควิด – 19 อย่างเคร่งครัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top