Monday, 2 December 2024
Central

ราชบุรี - ชิมเมนูเด็ดที่เจษฎาฟาร์ม ชมแสดงช้างแสนรู้แบบถึงโต๊ะ ในห้องอาหารที่เดียวในโลก

สุดปัง!! ชิมอาหารเมนูเด็ด จิบกาแฟคุณภาพเยี่ยม แถมยังฝึกขี่ม้า ดารา และชมฟรีการแสดงของช้างน้อยแสนรู้แบบถึงโต๊ะในห้องอาหารที่เดียวในโลก

(20 เม.ย. 64) พาไปกันที่เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ ตำบลพิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกการขี่ม้าของบรรดาดารานักแสดงต่าง ๆ อีกทั้งม้าทุกตัวยังอยู่ในละครและภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง อย่าง ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำ ละคร และ ภาพยนตร์อีกด้วย ปัจจุบัน เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ได้มีการต่อยอดเปิดเป็น เจษฎาฟาร์มคาเฟ่เปิดครัวจำหน่ายอาหารสไตล์พื้นบ้าน และ สเต๊กแบรงกัสนำเข้า เป็นสเต็กเนื้อพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ รวมไปถึง เมนูสเต็กแบบไทย ๆ ในราคาเบา ๆ สามารถจับต้องได้ นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ทั้งกาแฟสด เมนูน้ำผลไม้ และ เมนูน้ำกัญชาเพื่อสุขภาพ ในสไตล์ร้านแบบเวิสเทริ์นคาวบอย

แต่ที่โดนใจและไม่เหมือนใคร คือ การโชว์การแสดงของเจ้าช้างน้อย “ราชาบุรี” ช้างน้อยวัยเพียง 5 ขวบ ที่แสดงลีลาการเต้นตามจังหวะเพลง แถมยังส่ายตูดแบบน่านัก ไม่ว่าจะยืน 2 ขา นั่งชู 2 ขา นอน และ การควงฮูลาฮูป ภายในร้านอาหาร แบบถึงโต๊ะอาหารให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้ชมกันอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญชมฟรีแบบไม่คิดเงินเพิ่มจากค่าอาหาร หรือ ค่ากาแฟ

ส่วนเมนูเด็ดของทางร้าน ข้าวผัดกระเพราสูตรเด็ดแบบโบราณที่ขายมานานกว่า 20 ปี เมนู สปาเก็ตตี้ผัดขี้เมารสเด็ด มีทั้งเมนูทะเล เมนูหมูและไก่ และเมนูส้มตำ ราคาเริ่มตัน 50 - 150 บาท ส่วนเมนู สเต๊กแบรงกัสนำเข้า เป็นเสต็กเนื้อนำเข้าราคา 859 บาท สเต็ก หมู-ไก่ เริ่มที่ 259 – 559 บาท สำหรับเมนูเครื่องดื่ม กาแฟสด เริ่มต้นที่ 45 – 60 บาท ส่วนเมนูเครื่องดื่มผสมใบกัญชา ราคาแก้วละ 95 บาท เป็นเครื่องดื่มกัญชาเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ทางเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ยังมีกิจกรรม นั่งช้างชมธรรมชาติ ไหว้พระถวายสังฆทานในอุโบสถเก่าแก่กว่าสองร้อยปี ที่วัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งมีที่เดี่ยวในโลก นอกจากนี้ยังมีบริการขี่ม้า ทั้งม้าใหญ่และม้าแคะ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมธรรมชาติ โดยรอบฟาร์ม หรือจะไปไหว้พระที่วัด ส่วนราคา 300 – 500 บาท ต่อครั้ง สำหรับคนที่ต้องการฝึกขี่ม้าทางเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ก็บริการสอนจนสามารถขี่ม้าเป็นด้วย

นายเจษฎา สิงห์โต อายุ 39 ปี หรือ คุณอาร์ม เจ้าของเจษฎาฟาร์ม ราชบุรี เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองเปิดคอกเลี้ยงวัวเพื่อจำหน่าย พอได้อายุ 20 ปีเริ่มมาเลี้ยงม้าแห่นาค โดยไปบริการ ม้าแห่นาคตามงานบวชต่าง ๆ จากนั้นหันมาเริ่มเลี้ยงมาอย่างจริงจัง จนกลายมาเลี้ยงม้าถ่ายละคร จนเกิดความชำนาญ และเปิดเป็นสถานที่ฝึกสอน ดารานักแสดงในการขี่ม้า นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และ ละคร เรื่องต่าง ๆ ตนจึงได้ต่อยอด มาขายอาหาร ซึ่งคุณแม่ขายอาหารตามสั่งมาก่อน จึงไห้มาทำที่ร้าน ตกแต่งในสไตล์ คาวบอย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มต้นราคา 50 - 150 บาท  และ เมนูสเต็กเนื้อนำเข้าราคา 859 บาท

ส่วนตนเองก็เป็นนักแสดง ได้รับบทเป็นสมเด็จพระนเรศวร จึงได้ซึมซับ ในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงได้ไปซื้อช้างและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยถ่ายทอดความรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมภายในฟาร์มด้วย

สำหรับนักเที่ยวที่ต้องเดินทางมาเที่ยวที่เจษฎาฟาร์ม ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ด้านหลังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพิกุลทอง (อนามัยพิกุลทอง) ต.พิกุลทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี โทร 081-2906-753 หรือ แฟนเพจ เจษฏา ฟาร์ม ราชบุรี


ภาพ/ข่าว  ตาเป้ จ.ราชบุรี

สมุทรสาคร - ผู้ว่าฯ ปู กลับมาแล้ว...นำทีมสู้โควิดระลอกใหม่ ประเดิมสนามแรกหารือร่วม รพ.เอกชน ดูแลผู้ติดเชื้อ

เมื่อเวลา 14.30 น. ของวันที่ 19 เมษายน 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร ได้เดินทางกลับมาบริหารงานที่จังหวัดสมุทรสาคร อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลศิริราชแล้วได้กลับพักฟื้นรักษาสุขภาพที่บ้านพักในจังหวัดอ่างทอง นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา

โดยการเดินทางกลับมาในวันนี้ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครนั้น ก็เดินทางกลับมาแบบเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มีพิธีการต้อนรับแต่อย่างใดทั้งสิ้น  เมื่อมาถึงที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้แวะทักทายกับเจ้าหน้าที่ อส.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด จากนั้นก็เข้าไปตรวจงานในห้องทำงานของผู้ว่าฯ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้พูดคุยสัมภาษณ์ในบางเรื่องบางประเด็น เช่น ความตั้งใจแรกที่อยากจะทำเมื่อกลับมาในครั้งนี้,การนำทีมสู้โควิด – 19 ในสถานการณ์ปัจจุบัน,โควิดวันนั้น(ก่อนเข้าโรงพยาบาล) กับ โควิดวันนี้(หลังออกจากโรงพยาบาล) ต่างกันอย่างไร,ความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม, และอะไรคือสิ่งที่อยากจะบอกกับพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสู้โควิดไปด้วยกัน เป็นต้น

ส่วนการประเดิมภารกิจแรกแบบเบา ๆ เมื่อกลับมาทำงานในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดของจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นหัวเรือใหญ่หรือแม่ทัพในการสู้กับสถานการณ์โควิดระลอกใหม่อีกครั้ง ก็คือ การประชุมร่วมกับ นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนทั้ง 8 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาชัย 1 , รพ.มหาชัย 2 , รพ.มหาชัย 3 , รพ.เอกชัย , รพ.วิชัยเวชสมุทรสาคร, รพ.วิชัยอ้อมน้อย,รพ.วิภาราม และ รพ.เจษฎาเวชการ เพื่อรับทราบถึงการให้บริการตรวจรักษาและรับผู้ติดเชื้อโควิด เข้าสู่กระบวนการดูแลของโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ตนเองก็ได้ปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องแต่เป็นในรูปแบบของ Work From Home และก็ได้ติดตามข่าวสารของจังหวัดสมุทรสาครมาตลอด โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ตั้งใจจะกลับมาทำงานที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่หมอทราบข่าวเสียก่อนเลยรีบสั่งห้ามไว้ สำหรับสิ่งที่ต้องการและอยากจะให้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรสาครอันดับแรกในขณะนี้ก็คือ คนสมุทรสาครมีความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับการปรับพื้นที่จากสีส้มเป็นสีแดง โดยมีคนสมุทรสาครหลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะสถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ แต่คนสมุทรสาครหลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมสมุทรสาครถูกเปลี่ยนสีจากส้มเป็นแดง และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งก็อยากจะบอกทุกคนว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีนั้น ก็ด้วยที่สมุทรสาครเป็นเขตปริมณฑล และไม่อยากให้เอาพื้นที่สีมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตอนนี้ทั้งประเทศก็ล้วนแต่เป็นพื้นที่ๆ เกิดการระบาดของโรคเหมือนกัน และถ้าสังเกตดูจะพบว่า ในหลักการปฏิบัติไม่ว่าจะสีแดงหรือสีส้ม ก็มีข้อบังคับการปฏิบัติที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย เพราะฉะนั้นถ้าคนสมุทรสาครมีความเข้าใจในส่วนตรงนี้ร่วมกันแล้ว ก็จะเข้าใจว่าสีไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร” ดังนั้นความตั้งใจสิ่งแรกที่อยากจะทำก็คือ อยากสร้างความเข้าใจให้เกิดกับคนจังหวัดสมุทรสาครทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องดังกล่าวและเดินหน้าสู้โควิดร่วมกัน

นายวีระศักดิ์ฯ เปิดใจอีกว่า ส่วนความพร้อมที่จะกลับมานำทีมบริหารเพื่อสู้กับโควิดอีกครั้งนั้น วันนี้ตนเองก็คิดว่าพร้อมสู้แล้ว แต่ก็ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะวันนี้เราไม่ได้ทำงานอยู่เพียงลำพัง เรามีทีมงานที่คอยช่วยเหลือกัน ทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ที่จะต้องคอยประคับประคองช่วยกันให้งานเป็นไปตามที่วางแผนไว้ รวมถึงพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ได้ร่วมกันเดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

ด้านสถานการณ์โควิด-19 ในวันก่อนที่ผู้ว่าจะเข้าโรงพยาบาล กับ สถานการณ์ในวันนี้ ในความรู้สึกของท่านผู้ว่าสมุทรสาครมีความแตกต่างกันมากน้อยอย่างไรนั้น นายวีระศักดิ์ฯ ก็บอกว่า ถ้าถามผมแล้ว สำหรับสมุทรสาครนั้น สถานการณ์โควิดในวันนี้ดีกว่าในวันนั้นมาก เพราะวันก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาลมีคนที่ติดเชื้อโควิดในจังหวัดสมุทรสาครแต่ละวันเพิ่มจากหลักสิบ เป็นหลักร้อย จนกระทั่งมียอดรวมเป็นหลักหมื่น  แต่วันนี้ผู้ติดเชื้อรายวันมีแค่หลักสิบและส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างจังหวัด ส่วนคนสมุทรสาครก็จะติดเชื้อมาจากข้างนอก ซึ่งวันนี้สามารถพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า สมุทรสาครเป็นโมเดล ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเห็นว่า เราสามารถต่อสู้เอาชนะสถานการณ์โควิด ที่เคยมีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก จนวันนี้เหลือน้อยลง จนกระทั่งเกือบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นวันนี้สถานการณ์ของสมุทรสาครดีขึ้นมากจริง ๆ

ส่วนเรื่องของความหนักใจเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาซึ่งเกิดกับแรงงานต่างด้าว กับ สถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่ติดเชื้อใจกลุ่มคนไทยนั้น หากจะให้บอกว่าไม่หนักใจก็คงจะไม่ใช่ ก็คงต้องหนักใจบ้าง แต่วันนี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดเรื่องของความหนักใจกันแล้ว แต่ต้องพูดกันถึงเรื่องของ “ความรับผิดชอบ” ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบในฐานะคนไทยคนหนึ่ง และรับผิดชอบในฐานะคนสมุทรสาครคนหนึ่ง  ทุกคนต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน เพราะปัญหานี้คงไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้โดยง่ายและรวดเร็ว ปัญหานี้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักใหญ่กว่าที่จะผ่านพ้นไปได้

นายวีระศักดิ์ฯ ยังกล่าวถึงโรงพยาบาลสนามด้วยว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามนั้น ในวันที่ผมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนหนึ่งที่เป็นความกังวลใจก็คือ การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ทำอย่างไรจะให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะสิ่งนี้คือ จุดแตกหักที่จะแยกคนที่ติดเชื้อให้ออกมาจากคนปกติ ถ้าไม่มีโรงพยาบาลสนามก็ไม่มีวันนี้ ซึ่งก็เชื่อว่าคนสมุทรสาครคงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า โรงพยาบาลสนามเป็นจุดที่ทำให้จังหวัดสมุทรสาครดีขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก จึงเป็นคำตอบโดยปริยายแล้วว่า “โรงพยาบาลสนามเป็นหัวใจหลักในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด” นั่นคือ การแยกคนที่ติดเชื้อออกมา และสิ่งที่ต้องยอมรับกันก็คือ โรงพยาบาลสนามไม่ใช่สถานที่สุขสบาย มีหลายคนกล่าวถึงโรงพยาบาลสนามในด้านลบหลาย ๆ อย่าง จึงอยากให้เข้าใจร่วมกันว่า แม้โรงพยาบาลสนามจะไม่สะดวกสบายแบบอยู่บ้าน แต่ขอให้เข้าใจว่าโรงพยาบาลสนามจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้เราทุกคนสู้กับสถานการณ์โควิดได้อย่างทันท่วงที

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนขอขอบพระคุณคนไทยทั้งประเทศ ขอบพระคุณคนสมุทรสาคร สำหรับกำลังใจที่ส่งไปให้ขณะที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการสู้กับโรคโควิด 19 นั้นก็คือ “กำลังใจ” ซึ่งที่ผ่านมาตนเองยังไม่อยากจะเชื่อเลยว่า จะสามารถมีชีวิตรอดกลับมาตรงนี้ได้อีกครั้ง แต่เพราะได้สิ่งสำคัญที่สุดมาช่วยพยุงนั่นก็คือ กำลังใจ ที่แม้จะเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้แต่ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล ฉะนั้นกำลังใจที่แต่ละคนมอบให้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันนี้ เพราะทุกคนต้องการกำลังใจเป็นอย่างสูง เพื่อการยืนหยัดต่อไปให้ได้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะผ่อนคลาย หรือผ่านพ้นไปในที่สุด วันนี้กำลังใจที่ทุกคนมีให้แก่กันและกัน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้สมุทรสาครเดินหน้าต่อไป ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป ผมไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะประสบปัญหาเพิ่มมากขึ้น หรือน้อยลง  แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า “วันที่เรายังมีลมหายใจ ยังมีกำลังใจที่ดี แม้จะมีอุปสรรคที่ท้าทายให้เราก้าวข้ามไป เมื่อเราผ่านพ้นไปได้ ความสำเร็จจะรอเราอยู่ข้างหน้าอย่างแน่นอน”


ภาพ/ข่าว ชูชาตแดพยนต์ ทีมข่าวสมุทรสาคร

สุโขทัย - Sukhothai Crafts and Folk Art “เค้กสีนิลสังคโลก” ต่อยอดงานศิลปสังคโลกสุโขทัย

“เครื่องสังคโลก” เครื่องเคลือบดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์จากยุคสุโขทัยกว่า 700 ปี ช่างจะเขียนลวดลายอย่างวิจิตร ที่สะท้อนถึง สภาวะแวดล้อม ความเป็นอยู่ และความเชื่อในสมัยสุโขทัย จากนั้นเคลือบด้วยน้ำยาที่ทำจากเถ้าไม้ผสมดินผิวนา แล้วนำไปเผาในอุณหภูมิสูงจนได้ชื้นงานที่มีเนื้อแกร่ง

สุขเสมอ Coffee and Bakery House คาเฟ่ของคนรุ่นใหม่ โดยคุณศิลป์ไทย สินอำพล และคุณศุภลักษณ์ คงรุ่ง 2 เจ้าของกิจการ ได้ดึงเอาลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ มาประยุกต์ใช้เป็นลวดลายบนหน้าเค้ก พร้อมปรับส่วนผสมของตัวเค้กโดยใช้แป้งจากข้าวหอมนิลออร์แกนิกส์ ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีอยู่มากในพื้นที่มาเป็นส่วนประกอบในวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มความเป็นสุโขทัยมากยิ่งขึ้น จนได้เป็น “เค้กสีนิลสังคโลก” ของฝากขึ้นชื่อของร้าน

จุดเด่นของเค้กสีนิลสังคโลก คือลวดลายรูปปลาและพรรณพฤกษา ที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ในอดีตของกรุงสุโขทัย และยังได้นำลาย ”สิบสองหน่วยตัด” 1 ใน 9 ลายของผ้าตีนจกอันขึ้นชื่อของสุโขทัยมาตกแต่งบนหน้าเค้กอีกด้วย ในส่วนของเนื้อเค้กจะมีความเหนียวหนึบ ต่างจากเค้กทั่วไป เพราะใช้แป้งจากข้าวหอมนิลออร์แกนิกส์ ทำให้มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากข้าว ใช้น้ำมันรำข้าวที่มีไขมันต่ำกว่าแทนเนยและมาการีน เนื้อครีมเป็นสีเขียวไข่กา ซึ่งเป็นสีบนเครื่องสังคโลก

และที่โดดเด่นคือทางร้านมีกิจกรรมให้ลูกค้าสามารถเรียนรู้ ลงมือทำ แต่งหน้าเค้กเอง โดยจะสอนทั้งลายสังคโลกและลายผ้าตีนจก อันเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย นอกจากจะได้ความอิ่มเอมในรสชาติอร่อย แล้วยังจะได้ความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  เสนิศชนันต์ สุขกสิกร

อยุธยา - วัดตะโก ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้กับประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้หลวงพ่อรวย

เมื่อเวลา 16.00น.วันนี้ 19 เมษายน 2564  ที่ วัดตะโก อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังทางวัดตะโกได้ทำการปิดวัดในวันที่ 17-19 เมษายน 2564 เพื่อที่จะทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิด-19 หลังมีประชาชนได้เข้ามาทำบุญกราบไหว้หลวงพ่อรวยช่วงเทศกาลจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะเดินทางมา และจะเปิดให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้หลวงพ่อรวยอีกครั้งเร็ว ๆ นี้

วันนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่ ร่วมกันทำความสะอาดภายในวัด โดยได้รับความร่วมมือจากเอกชน นำน้ำยาฆ่าเชื้อ มาฉีดพ้นภายในพระมหาธาตุเจดีย์ โบสถ์ วิหาร อาคารสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่ รวมจำนวนคนมากในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพุทธศาสนิกชน ที่จะเดินทางมาวัดตะโก  ส่วนทำความสะอาดทั่วไป วัดเองทำทุกวัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้กับพุทธศาสนิกชนที่จะเดินทางมาวัดตะโก

หลังจากที่เปิดแล้วขอความร่วมมือทุกคนที่เดินทางมาที่วัดตะโก ขอให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย มีการเว้นระยะห่าง ผ่านจุดคัดกรอง ลงทะเบียนตามคำแนะนำ  ซึ่งจะเปิดให้เข้าเพียงแค่ประตูเดียวเพื่อความเข้มในการคัดกรองเช่นเดิมไว้ตามระเบียบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่จะเดินทางมา กราบไหว้หลวงพ่อรวย ต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุจินดา  อุ่นขาว  รายงานจากอยุธยา

สุโขทัย – โควิดระบาดหนัก จัดเรียบง่ายงานประเพณี ‘แห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งง’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ได้จัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งขึ้น โดยภายในงานจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบวงสรวงสักการะเจ้าหมื่นด้ง การปักตุงตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในตำบลบ้านตึก เช่น ศาลหลักเมือง กู่พระครูคีรีบรรพต ศาลเจ้าเขามุ้ง ศาลเจ้าเมืองด้ง และอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง จัดพิธีทำขวัญช้างและอาหารช้าง จำนวน 5 เชือก แต่ปีนี้ไม่มีขบวนอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของดี จำนวน 14 หมู่บ้าน ไม่มีการแสดงแสง สี เสียง ยกย่องเชิดชูเกียรติเจ้าหมื่นด้งนครเหมือนทุกปี มีเพียงขบวนช้างของผู้นำจำนวน 5 เชือก และขบวนแห่น้ำอบน้ำหอมที่จะนำไปถวายเจ้าหมื่นด้งของคณะเจ้าหน้าที่และสมาชิกสภาฯจำนวน 20 คนเท่านั้น เพนาะเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังลุกลามอย่างหนักจึงไม่สามารถจัดให้ยิ่งใหญ่ให้เหมือนทุกปีได้

นายวินนท์  รุ่งโรจน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตึกเปิดเผยว่า การจัดงานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง ได้จัดติดต่อกันมานานกว่า 547 ปีแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ  ความศรัทธาและแสดงความนับถือเจ้าหมื่นด้ง ผู้สร้างเมืองด้ง ซึงมีความเก่งกล้าทางด้านการสู้รบ เชี่ยวชาญในการใช้ช้างศึก การจัดงานในครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะจัดได้ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนทุกปีเพราะสถานการณ์โรคร้ายโควิด-19กลับมาระบาดหนักอีกระลอก แต่ก็ยังคงวัตถุประสงค์เดิมไว้คือการส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮงสรงน้ำเจ้าหมื่นด้งให้คงอยู่สืบไป เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดสุโขทัยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนในตำบลบ้านตึก ได้มีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีฯและระดมทรัพยากรที่มีอยู่เกิดรายได้เป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งได้ต่อไป


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย

ลพบุรี – หนุ่มผู้โชคดีเล่านาทีระทึก พายุหมุนกระหน่ำพังพินาศ ต้นไม้ใหญ่หักโค่นทับทุกเส้นทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุ

เวลา 16.55  น. วันที่ 20 เม.ย.2564 มูลนิธิสว่างอริโยธรรมสถาน รุดเดินทางไปยังโกดังเก็บน้ำมันเพื่อการเกษตร  ของบริษัทอิทธิพระพรเทรดดิ้ง หมู่ที่ 5 ต.หนองเต่า หลังจากพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง หลังคาบริษัทปลิวไปตามลมไกกว่า 400 เมตร และมีผู้ที่ถูกหลังคาทับภายในรถยังไม่สามารถนำตัวออกมาได้ จึงได้รุดเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ แต่ต้องพบกับอุปสรรค ที่ต้นไม้ใหญ่หักโค่นทับทุกเส้นทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ต้องระดมพลช่วยกันตัดต้นไม้ออกนอกเส้นทางก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุได้

ที่เกิดเหตุพบมีโครงหลังคาหลุดหาย พื้นที่เกิดเหตุพบถังน้ำมันเครื่อง ที่ตกกระจายเกลื่อน สอบถามนางมณีรัตน์ ปัญญา อาย 56 ปี ผู้ดูแลเล่าว่า ก่อนที่ฝนจะตกพายุหมุนได้พัดมาอย่างรุนแรง อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ต่างวิ่งหนีเข้าไปภายในบ้านเพื่อเอาชีวิตรอด แต่ก็ยังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากโครงหลังคาอีก 2 คน เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันรื้อซาก เร่งเข้าช่วยเหลือพบนอนหลบอยู่ภายในรถกระบะ ออกมาได้อย่างปลอดภัย

นายคุณากร แจ่มโพกุล อายุ 34 ปี คนงานที่ติดอยู่ในซากเล่าว่าช่วงเกิดเหตุพายุหมุน เสียงลั่นของโครงหลังคาดังสนั่นไปทั่วบริเวณ ตกใจมากตนเองไม่รู้ว่าจะวิ่งไปหลบที่ไหนดี เพราะมีแต่เศษสิ่งของปลิวกระจายเกลื่อน ก่อนที่จะถูกหลังคาทับเพื่อนคนงานได้ตะโกนเรียกให้เข้าไปหลบในรถยนต์กระบะ ก่อนที่โครงหลังคาหล่นโครมลงมาใส่รถจนมองไม่เห็นอะไร โชคดีที่ไม่ได้รับอันตราย แต่ยอมรับว่าตกใจสุดขีด ไม่เคยเห็นพายุพัดรุนแรงขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ทั้งนี้จากการประเมินความเสียหายในเบื้องต้นคาดไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท  


ภาพ/ข่าว  กฤษณ์ สนใจ ลพบุรี  

ปทุมธานี – ผู้ว่าฯปทุมธานี รับมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า อัตโนมัติ (AED) จำนวน 11 เครื่อง

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ประธานพิธีรับมอบเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า อัตโนมัติ (AED)  โดยมี นางจินดา สิงหเดช รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานีนายสุรินทร์  สืบซึ้ง  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี  นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นางพรอัปสร นิลจินดา ประชาสัมพันธ์จังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม สภากาชาดไทย กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการบริจาคเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ระหว่าง สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563  และได้พิจารณาเลือกสถานที่ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) ใน 76 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งจังหวัดปทุมธานี พิจารณาจัดสถานที่ติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) จำนวน 11 เครื่อง ครอบคลุม ทั้ง 7 อำเภอ  สถานที่ที่คัดเลือกพิจารณาจากพื้นที่ที่มีประชาชนมาใช้บริการสาธารณะเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่ที่ติดตั้งหยิบใช้ได้สะดวก และมีโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบบำรุงรักษา โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรมเตรียมการรับมอบเครื่อง AED รับมอบอุปกรณ์การสอน Basic Life Support พร้อมกับทบทวนกระบวนการจัดการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนในโครงการจิตอาสา CPR เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทั้งนี้ นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี นายสุรินทร์  สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี นางสมลักษณ์  ลาภเจริญ กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี  ได้ร่วมลงนามเป็นพยานในเอกสารเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) กับ บริษัท อินโนเวชั่นส์ จำกัด โดยกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย การให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการช่วยฟื้นคืนชีพ และความรู้ในการใช้เครื่อง กระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED) พร้อมการสอนสาธิต และแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ การช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อเป็นประโยชน์และนำกลับไปใช้ได้ในชีวิตจริงสำหรับทุกคน  หากเกิดเหตุการณ์สามารถทราบจุดที่เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ(AED)ติดตั้งและช่วยผู้เกิดเหตุได้ทันเวลา


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

สมุทรปราการ - “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์” ประธานเปิดอาคารเรียน หลังที่ 18 ณ โรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง

ที่บริเวณลานโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมตตาเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน”พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ” โรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง เนื่องในโอกาสฉลองอายุวัฒนมงคล 59 ปี ของท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ประธานดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนหลังที่ 18 เพื่อมอบให้กับทางโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง โดยอาคารหลังดังกล่าวมีชื่ออาคารว่า”พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ”

โดยในพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนครั้งนี้ ยังได้รับความเมตตาจากพระพรหมเสนาบดี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เดินทางมาร่วมในพิธี พร้อมคณะสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์จากวัดต่าง ๆ ตลอดจนพระราชาคณะเข้าร่วมในพิธี และร่วมเจริญพระพุทธมนต์ คณะสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง โดยพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ให้การต้อนรับ มีนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายอำเภอบางพลีข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการ ผอ.โรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง และแขกผู้มีเกียรติร่วมให้การต้อนรับและร่วมในพิธี

สำหรับการจัดสร้างอาคารเรียนหลังใหม่นี้ เป็นอาคารเรียนหลังที่ 18 ที่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ที่ได้เมตตาจัดสร้างขึ้นเพื่อมอบให้กับทางโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง อีกทั้งยังมีความเมตตาต่อนักเรียนโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง จึงได้จัดสร้างอาคารหลังดังกล่าวขึ้น และท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ ยังได้ให้การอุปถัมภ์ทางโรงเรียนมาโดยตลอด

โดยวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้ทำพิธีตอกเสาเข็ม และในวันที่ 9 กันยายน 2563 ถือฤกษ์ดีวันที่ 9 เดือน 9 ประกอบพิธียกเสาเอก เสาโท และด้วยความอุตสาหะ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเมตตาที่มีต่อนักเรียน กระทั่งดำเนินการแล้วเสร็จ เป็นอาคาร 3 ชั้น ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ชั้นที่ 1 ประกอบไปด้วยห้องประชุมขนาดใหญ่ ชื่อว่า”ห้องประชุมศีลคุณ” มีบันไดซ้าย ขวา ส่วนชั้นที่2 และชั้นที่ 3 มีห้องเรียนจำนวน 6 ห้อง พร้อมด้วยโต๊ะหนังสือและเก้าอี้ สำหรับนักเรียน ไว้สำหรับจัดการเรียนการสอน ซึ่งอาคารหลังใหม่นี้ที่มีการจัดสร้าง นับเป็นอาคารหลังที่ 18 ที่ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เมตตาจัดสร้างขึ้น พร้อมทั้งกำกับ ดูแล ควบคุมการก่อสร้างมาโดยตลอด ดั่งคำปณิธานของท่านคือ”ชีวิตนี้เพื่อการศึกษา”


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ

สุโขทัย – โควิดพ่นพิษ โยมนำกระต่ายกว่า 300 ตัว ถวายวัด เพื่อให้คนอยากเลี้ยงนำไปดูแลต่อ

เมื่อเวลา11.30น.วันที่ 22เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ได้แพร่ระบาดไปทุกจังหวัด เช่นเดียวกับจังหวัดสุโขทัยมีผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องล่าสุดพบผู้ป่วยแล้ว 39 ราย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากไม่ว่าทั้งประชาชนและสัตว์เลี้ยง ต้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19 เช่นเดียวกับชาวบ้านที่เพาะเลี้ยงกระต่ายขายต้องประสบกับปัญหาเนื่องจากกระต่ายที่เพาะเลี้ยงขายไม่ได้และต้องแบกรับค่าอาหารจึงตัดสินใจนำมาถวายให้กับพระครูปลัดธนะโรจน์ ปัญญาวชิโร (พระอาจารย์หมู) เจ้าอาวาสวัดหนองทอง หมู่11 ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย นำมาเลี้ยงและแจกให้กับชาวบ้านที่สนใจอยากจะเลี้ยงกระต่าย

พระครูปลัดธนะโรจน์ ปัญญาวชิโร (พระอาจารย์หมู) เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าก่อนหน้านี้ได้มีโยมโทรติดต่อมาว่าจะนำกระต่ายมาถวายให้กับพระอาจารย์จากนั้นได้มีรถหกล้อนำกระต่ายที่โยมนำมาถวายมาส่งให้กับพระอาจารย์ที่วัดถึง 300 ตัว ส่วนที่โยมนำกระต่ายมาถวายนั้นน่าจะเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในขณะนี้เนื่องจากค่าอาหารที่เลี้ยงกระต่ายมีราคาสูงกระสอบละ450บาทใช้ได้เพียง2วันทำให้ทางอาตมาต้องไปช่วยกันเก็บผักบุ้งและหญ้ามาให้กระต่ายกินด้วยเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนญาติโยมท่านใดที่อยากจะเลี้ยงกระต่ายสามารถมารับได้ที่วัดซึ่งทางอาตมาจะมอบให้ท่านละ 10 ตัว และถ้าใครไม่สะดวกที่จะนำกระต่ายไปเลี้ยงแต่อยากจะช่วยดูแลกระต่ายเหล่านี้สามารถส่งอาหารเม็ดมาให้ทางวัดได้ 


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย

ประจวบคีรีขันธ์ - ศรชล.ประสานช่วยเหลือลูกเรือบาดเจ็บสาหัสขณะทำประมงในทะเล ส่ง รพ. อย่างปลอดภัย

เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันนี้ 23 เม.ย.64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1)  โดย น.อ.ไกรพิชญ์ กรวีร์ปภาวิทย์ หน.ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศคท.จว.ปข.) ได้รับแจ้ง จากศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ประจวบคีรีขันธ์

(ศจร.ประจวบคีรีขันธ์) หรือศูนย์ Pi-Po ประจวบคีรีขันธ์ ว่า เรือประมง ส.โชคสงวนชัย 9 ขนาด 29.81 ตันกรอส ประเภทเรือประมงอวนลาก ที่ได้แจ้งออกจากท่าเรือเจริญลาภ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 มีลูกเรือ 5 คน มีนายบุญมี สาเกตุ เป็นผู้ควบคุมเรือ มีลูกเรือชื่อนายวงเดือน โนนทิง สัญชาติไทย อายุ 51 ปี ช่างเครื่อง ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัส ขณะทำการประมงถูกเชือกรัดขาขวาจนหักผิดรูปมีบาดแผลฉีกขาด เหตุเกิดบริเวณพิกัด Lat 11 องศา 58 ลิปดา 00 ลิปดา เหนือ Long 99 องศา 58 ลิปดา 00 ลิปดา ตะวันออก แบริ่ง 049 ระยะประมาณ 10 ไมล์ จากท่าเรือเจริญลาภ อ.เมือง จ.ประจวบคิรีขันธ์ จึงขอแจ้งเข้าท่าเรือเพื่อส่งตัวผู้บาดเจ็บ ณ ท่าเรือเจริญลาภ หลังทราบเหตุได้ประสานรถกู้ชีพฯ เข้าให้การช่วยเหลือ นำตัวผู้บาดเจ็บ ส่งเข้ารักษาตัวที่ รพ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างเร่งด่วน

จากการสอบถาม นายสมัย มานะดี ลูกเรือชาวไทยผู้เห็นเหตุการณ์ทราบว่า นายวงเดือน โนนทิง ลูกเรือ ได้ประสบอุบัติเหตุขณะวางอวน แล้วถูกเชือกอวนพันขาจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงแจ้งกับผู้ควบคุมเรือทราบ และช่วยกันปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนแจ้งเจ้าของเรือรีบนำเรือเข้าฝั่ง เพื่อส่งตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่ง รพ.ประจวบคิรีขันธ์ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศรชล.ภาค 1 โดย ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ศคท.จว.ปข.) และ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ประจวบคีรีขันธ์ หรือศูนย์ Pi-Po ประจวบคีรีขันธ์ ดูแลให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top