อยุธยา – นาย ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดการใช้ความเร็วรถยนต์สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน - ต่างระดับอ่างทอง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยมี นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหารกระทรวงฯ องค์กรปกครองท้องถิ่น และสื่อมวลชนร่วมในพิธี ในวันที่ 1 เมษายน 2564

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เตรียมการนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผลสำเร็จเพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง และได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 สำหรับเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน - ทางต่างระดับอ่างทอง โดยกระทรวงฯ ได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน หรือ Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว

โดยเส้นทางนี้ถือเป็นต้นแบบของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท นอกจากนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ  260 กิโลเมตร เช่น ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง - สิงห์บุรี ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม - นครสวรรค์ ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทาง - มอจะบก และทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ เป็นต้น พร้อมทั้งดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติมบนทางหลวงสายหลัก เช่น ทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 2 มิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 24 สีคิ้ว - อุบลราชธานี ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง - สุพรรณบุรี และทางหลวงหมายเลข 44 กระบี่ - ขนอม อีกประมาณ 1,760 กิโลเมตร ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

 


ภาพ/ข่าว  เดชา  อุ่นขาว