Thursday, 3 July 2025
เมียนมา

สงครามกลางเมืองปะทะภัยธรรมชาติ ประชาชนเผชิญความสิ้นหวัง หายนะที่ยังไร้จุดจบ

(30 มี.ค. 68) เมียนมาเผชิญกับอนาคตที่มืดมนยิ่งขึ้น หลังจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตามรายงานของ เดลิเมล สื่ออังกฤษ

ขอบเขตของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังไม่แน่ชัด โดยเฉพาะในเมียนมา ซึ่งกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมืองและการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย ในเมียนมา และอีกอย่างน้อย 10 รายในกรุงเทพฯ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่ายอดผู้เสียชีวิตสุดท้ายอาจแตะระดับหลายพันคน

ก่อนเกิดแผ่นดินไหว สถานการณ์ในเมียนมาก็เลวร้ายอยู่แล้ว ประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน และอีกหลายแสนคนถูกตัดขาดจากโครงการช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ผลจากสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปี โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลทหารว่าใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า

เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จุดชนวนให้เกิดการต่อต้านทั่วประเทศ การประท้วงที่เริ่มต้นอย่างสันติถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องจับอาวุธต่อต้าน ส่งผลให้ความขัดแย้งกระจายไปทั่วประเทศ

หลังเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ขอรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ โดยระบุว่าต้องการโลหิตเป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

เทเลกราฟ รายงานโดยอ้างแพทย์คนหนึ่งในเมียนมาว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศอ่อนแออยู่แล้ว และไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรทางการแพทย์เพียงพอรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ ขณะที่ ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ ไทม์เรดิโอ ว่า

“นี่อาจเป็นหายนะซ้อนหายนะ ประชาชน 20 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตั้งแต่ก่อนแผ่นดินไหวแล้ว มีผู้พลัดถิ่น 3 ล้านคน และมากกว่าครึ่งของประชากรเมียนมาดำดิ่งสู่ความยากจนขั้นรุนแรง”

โจ ฟรีแลนด์ นักวิจัยด้านเมียนมาของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของเมียนมา ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงอยู่แล้ว”

แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อไทย โดยมีรายงานว่ากรุงเทพฯได้รับแรงสั่นสะเทือนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ามาตรการตัดลดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศระงับโครงการช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยเฉพาะในแคมป์ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในไทยที่มีผู้พักพิงมากกว่า 100,000 คน

โครงการอาหารโลก (WFP) รายงานว่าการปันส่วนอาหารในเมียนมาจะถูกตัดขาดเกือบทั้งหมดในเดือนเมษายน แม้ว่าประเทศกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรง

ปัจจุบัน มีประชากร 15.2 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ไม่มีอาหารเพียงพอ และราว 2.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยระดับฉุกเฉิน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 10,000 - 100,000 ราย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์เมียนมาว่า “ยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้”

รัฐบาลทหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 5 ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ มัณฑะเลย์, สะกาย, มะกเว, ฉาน และบะโก ด้านองค์การสหประชาชาติจัดสรรงบประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจากพื้นที่ภัยพิบัติแสดงให้เห็นถนนแตกร้าว สะพานถล่ม และเขื่อนแตก สร้างความกังวลว่าทีมกู้ภัยจะเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ยาก ในประเทศที่กำลังจมดิ่งสู่ภาวะวิกฤติอยู่แล้ว

หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานว่า เมืองและหมู่บ้าน 5 แห่ง พบเห็นอาคารพังถล่ม และมีสะพานพัง 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสะพานหลักที่เชื่อมไปยัง มัณฑะเลย์ โดย โมฮัมเหมด ริยาส ผู้อำนวยการด้านเมียนมาของ คณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ (IRC) ระบุว่า

"อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทราบถึงขอบเขตความเสียหายที่แท้จริง และอาจมีผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้"

จากสงครามกลางเมืองที่ยังไม่มีจุดจบ สู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่ซ้ำเติม เมียนมาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากยิ่งขึ้น ความช่วยเหลือจากนานาชาติจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในประเทศที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

รัฐบาลทหารเมียนมา ไม่สนประกาศหยุดยิงกู้ภัยแผ่นดินไหว ระดมเครื่องบินทิ้งระเบิด โจมตีกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ต่อเนื่อง

(4 เม.ย. 68) แม้ว่า กองทัพเมียนมา ได้ประกาศหยุดยิงชั่วคราววันที่ 2-22 เม.ย.นี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการกู้ภัยผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว แต่ในความเป็นจริงการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลเมียนมายังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่มีท่าทีหยุดยั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการควบคุมโดยกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งขัดแย้งกับการประกาศหยุดยิงอย่างชัดเจน

การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมาในพื้นที่รัฐคะฉิ่นและเขตสะกาย ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศจะประสบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมากเช่นกัน

เจ้าหน้าที่จากองค์กรช่วยเหลือในพื้นที่กล่าวว่า “การโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา ทำให้การดำเนินงานของหน่วยกู้ภัย ถูกขัดขวางอย่างรุนแรง เพราะอากาศยานทหารยังคงบินโจมตีไปทั่วเมืองพะโม และเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มเอกราชชาติพันธุ์ โดยไม่สนใจการหยุดยิงที่ได้รับการประกาศเอาไว้”

พล.ท. กุน มอว์ รองผู้บัญชาการกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ได้โพสต์แผนที่สงครามบนเฟซบุ๊กเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาโดยเผยว่า รัฐบาลเมียนมาได้เปิดฉาก โจมตีฐานที่มั่นของกองทัพ KIA ในเมือง เวียงหม่อ หลังจากที่ได้ทำการโจมตีทางอากาศเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) โดยกล่าวว่า การโจมตีครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่ไม่สนคำประกาศหยุดยิงจากฝ่ายต่อต้าน

ตามรายงานจากสื่อท้องถิ่นในรัฐคะฉิ่น โดยอ้างอิงข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาใช้การยิงถล่มและโดรนโจมตี บริเวณพื้นที่ที่ควบคุมโดย KIA ในเมืองเวียงหม่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่มีการควบคุมของกลุ่มชาติพันธุ์

รายงานเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อเช้าวันพุธที่ 3 เม.ย. เครื่องบิน Y12 ของกองทัพเมียนมาได้ ทิ้งระเบิด 30 ลูก ที่เมืองพะโม และ 45 ลูก ที่เมืองอินดอว์ ในภูมิภาคสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ KIA และพันธมิตร

พ.อ. นอว์ บู โฆษกของ KIA โฆษกของกองทัพกล่าวว่า “เราเห็นพวกเขาออกแถลงการณ์หยุดยิง อย่างไรก็ตามการสู้รบยังไม่หยุดลง หากพวกเขาโจมตี แน่นอนว่าเราจะป้องกันตัวเองด้วยการสู้กลับ ดังนั้นเราคาดว่าจะมีการสู้รบมากขึ้น”

ก่อนหน้านี้ มิน อ่อง ไหล่ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาได้ปฏิเสธการหยุดยิงจากฝ่ายตรงข้าม รวมถึงกลุ่ม กองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ที่ภักดีต่อ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และ องค์กรติดอาวุธอื่น ๆ โดยมิน อ่อง ไหล่ได้ให้คำมั่นว่า จะยังคงปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มฝ่ายค้านต่อไป

ทั้งนี้ การโจมตีดังกล่าวได้ยกระดับความรุนแรงในพื้นที่ที่กำลังเกิดการต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังคงประสบกับความยากลำบากจากการโจมตีที่ไม่หยุดยั้ง

เปิด 2 เรื่องที่น่ากลัวกว่าเกิด ‘แผ่นดินไหว’ ไทย-เมียนมา เฟกนิวส์-มิจฉาชีพระบาด พอๆ กับความเกลียดชังที่ไร้เหตุผล

เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครประกาศยกเลิกการเป็นเขตธรณีพิบัติภัยแล้วยกเว้นแค่จุดอาคารถล่มเพียงเท่านั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีธรณีพิบัติภัยครั้งนี้ที่เอย่ามองว่า นี่มันช่างน่ากลัวเสียยิ่งกว่าแผ่นดินไหว วันนี้เอย่าจะหยิบยกมาให้รู้กัน

1. เฟกนิวส์และมิจฉาชีพที่มาในรูป AI ตามที่เราเห็นตามสื่อสังคมออนไลน์ตอนนี้ที่ยังพบได้คือภาพ VDO เฟกนิวส์ที่อ้างว่าเป็นภาพธรณีพิบัติภัยในเมียนมาและประเทศไทยสร้างภาพความเสียหายที่ดูรุนแรงจนเข้าใจผิด แต่ที่หนักกว่านั้นที่เอย่าพบตอนนี้คือการพบว่ามีการนำวิดีโอที่สร้างจาก AI มาใช้เรียกร้องขอเงินบริจาคของพวกกลุ่มมิจฉาชีพและสแกมเมอร์แล้ว

2. ความเกลียดชังที่ไร้เหตุผล จากเหตุธรณีพิบัติภัยครั้งนี้เราจะเห็นได้ถึงน้ำใจของเหล่าประเทศที่ส่งทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยเมียนมาในวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ตั้งธงทำร้ายเมียนมามาตลอดอย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศที่ตั้งโต๊ะแถลงคว่ำบาตรอย่างเกาหลีใต้ก็ยังบริจาคเงิน 2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐช่วยเหตุการณ์นี้ 

และเช่นกัน เราก็ได้เห็นบางประเทศอ้างว่ายกเลิกส่งทีมช่วยเหลือไปเพราะเมียนมาไม่ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้มีประกาศยุติสงครามทั่วประเทศเพราะความเดือดร้อนของประชาชนต้องมาก่อนและดูเหมือนกลุ่มติดอาวุธก็ยอมปฏิบัติตามข้อเสนอนี้เสียด้วย

อย่างไรก็ดีก็มีคนบางกลุ่มและสื่อบางสื่อพยายามอ้างว่าการที่ผู้นำทหารเมียนมาได้เข้าร่วมประชุม BIMSTEC เป็นการที่ไทยฟอกขาวให้เขา ทั้งที่อีกมุมที่หลายคนไม่รู้คือ หลังเหตุการณ์รัฐประหารไทยแทบจะปิดประตูความช่วยเหลือให้แก่เมียนมา 

ยังไม่พอ ไทยคือฐานนอกประเทศของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่เมียนมา อีกทั้งการที่เมียนมาเริ่มตีตัวออกห่างจากไทย นั่นก็เพราะหลายครั้งที่ไทยละเลยคำขอของเพื่อนบ้าน หลายคนคงไม่ทราบว่า ทางการไทยพยายามร้องขอการปล่อยตัวของลูกเรือ 4 คนมาตลอด จนล่าสุดที่ ‘ลุงป้อม’ ไปขอผ่านเจ้ายอดศึกให้คุยกับนายพล มินอ่องหล่ายให้ เขาก็ยอมปล่อยตัวออกมา ทางรัฐบาลเมียนมาขอน้ำมันวันละ 5,000 ลิตรเพื่อมาใช้ปั่นไฟในโรงพยาบาลในเมืองเมียวดี เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากกลุ่มจีนเทา ไทยกลับเพิกเฉย 

ดังนั้นเอย่าถามว่าการประชุม BIMSTEC ครั้งนี้เป็นการฟอกขาวหรือการกลับมาสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศอีกครั้งกันแน่

กลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมายในไทยพยายามอ้างตลอดว่า เขาหนีเข้าไทยเพราะรัฐประหารในเมียนมา แต่ทุกคนควรทราบก่อนว่า เหตุผลใหญ่ในตอนนั้นที่กองทัพต้องทำรัฐประหารนอกจากเรื่องการตรวจสอบการเลือกตั้งไม่ได้แล้ว ยังมีเรื่องการยกหมู่เกาะโคโต่ให้เป็นฐานนอกประเทศของอเมริกาด้วย ซึ่งนั่นหากมีการเกิดสงครามจริง อเมริกาสามารถยิงขีปนาวุธเข้ามาที่เมืองย่างกุ้งหรือเนปิดอว์ได้เลย โดยใช้หมู่เกาะโคโต่เป็นฐาน

และการที่ประชาชนในประเทศเขาหนีส่วนใหญ่ เพราะไปเชื่อตามข่าวลือของกลุ่มต่อต้านที่ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังและอีกส่วนคือหนีสงครามที่เริ่มต้นโดยกลุ่มชาติพันธุ์นั่นเอง 

ส่วนในไทยสิ่งที่น่ากลัวคือการที่คนไทยผู้มีอำนาจเพิกเฉยและให้คนเหล่านี้เข้ามามีสิทธิ์มีเสียงในสังคมต่างหาก นั่นแหละที่เรียกว่าฟอกขาวที่แท้จริง

ทีมกู้ภัยยูนนาน เดินทางกลับจีน หลังเสร็จสิ้น!! ภารกิจ ในเมียนมา

(7 เม.ย. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จำนวน 37 คน ได้เดินทางกลับจากเมียนมาเมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

เมียนมาประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.9 ตามมาตราแมกนิจูด เมื่อวันที่ 28 มี.ค. และทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา ได้เดินทางจากเมืองคุนหมิงสู่พื้นที่ประสบภัยในวันที่ 29 มี.ค. พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณชีพ ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว โทรศัพท์ดาวเทียมแบบพกพา และโดรน

ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนานในฐานะทีมกู้ภัยจากจีนชุดแรกที่เดินทางถึงเมียนมาได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยกู้ภัยท้องถิ่นทันที เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและรักษาพยาบาลนานกว่า 150 ชั่วโมงในกรุงเนปิดอว์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง

ทั้งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคลากรการแพทย์จากมณฑลอวิ๋นหนานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุรายหนึ่งที่ติดค้างอยู่ข้างใต้ซากปรักหักพังจากแผ่นดินไหวนานเกือบ 40 ชั่วโมงสำเร็จ ตอน 05.00 น. ของวันที่ 30 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น

เมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (CMG) รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากจีนมากกว่า 500 คน ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา และสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตได้ 9 ราย เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) ที่ผ่านมา

กองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพไทย จัดชุดปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เมียนมา

พลเรือโท วัชระ พัฒนรัฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ กล่าวให้โอวาทเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับ ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูงในภาวะภัยพิบัติ (Medical Emergency Response Team : MERT) ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนหน่วยแพทย์ กองบัญชาการกองทัพไทย ประสานผ่านกรมแพทย์ทหารเรือ​ ได้ให้โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์​ ฐานทัพเรือสัตหีบ​ จัดชุดปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งพร้อมเดินทางปฏิบัติภารกิจ​เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม​ ในวันที่​ 11 เมษายน​ 2568 

โดยได้ทำพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุมกฤษณจันทร์ กิจการสโมสรโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568

‘อันวาร์’ โพสต์ภาพคุย ‘ทักษิณ’ ที่กรุงเทพฯ ถกแนวทางสร้างสันติภาพเมียนมา ย้ำอาเซียนต้องเดินหน้าต่อ

ดาโต๊ะ เสรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เผยผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เขาได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกลุ่มที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ซึ่งรวมถึงการพบปะกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ในโพสต์ดังกล่าว อันวาร์ได้เผยแพร่ภาพขณะหารือกับ ดร.ทักษิณ พร้อมระบุว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะวิกฤตในประเทศเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรมและสันติภาพ

“การอภิปรายเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราหารือถึงหนทางสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในเมียนมา รวมถึงการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพแก่พลเมืองของตน” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุ

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 18 เมษายน อันวาร์ยังได้ประชุมทางไกลเป็นเวลา 40 นาที กับอูมาน วิน ไข ตาน ตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) เพื่อหารือถึงความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารอย่างต่อเนื่อง

นายอันวาร์กล่าวว่า การเจรจากับทั้ง NUG และสภาบริหารแห่งชาติเมียนมา (SAC) ได้รับการตอบรับโดยไม่มีการคัดค้าน ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกในความพยายามสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทุกฝ่าย

“ความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญ กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน เราจะเจรจาต่อรองกับทุกฝ่ายเพื่อสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมียนมา” อันวาร์ระบุ

ทั้งนี้ การพบปะกับ ดร.ทักษิณ ถือเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญของผู้นำมาเลเซีย ในการใช้บทบาทผู้นำอาเซียนเพื่อผลักดันทางออกจากวิกฤตเมียนมา โดยมีแนวโน้มว่าการเจรจาเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะนี้จะเดินหน้าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของวาระประธานอาเซียนปี 2568

‘ชาวเมียนมา’ กับการเสพสื่อโซเชียลเชื่อแบบฝังหัว สุดท้ายอาจกลายเป็นเหยื่อถูกปั่นหัวด้วยข้อมูลเท็จ

ผ่านมากว่า 24 ชั่วโมงแล้วที่คำทำนายลวงโลกของหมอดูชาวเมียนมารายหนึ่งที่โพสต์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายนนี้

คำทำนายของเขาบนแอปพลิเคชัน Tiktok ได้รับการแชร์อย่างแพร่หลายสร้างความตระหนกให้แก่ชาวเมียนมาทั่วประเทศ 

มีรายงานว่าในวันนี้ชาวเมียนมาจำนวนมากทิ้งบ้านไปอยู่ตามสนามหรือสวนสาธารณะเพราะหวั่นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามคำทำนายของหมอดูดังกล่าว

แต่แล้วจนถึงเวลาที่เอย่าเขียนบทความนี้ก็ผ่านมากว่า 24 ชั่วโมงแล้วก็ไม่ได้มีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างไร จนสร้างความโกรธแค้นในสังคมโซเชียลของคนพม่าไปตามๆ กัน
และนี่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า คนเมียนมาอ่อนไหวต่อโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าเลือกที่จะเชื่อข่าวสารจากภาครัฐ

ถ้ามาดูเรื่องที่คนเมียนมาเลือกจะเชื่อโฆษณาชวนเชื่อจนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเมียนมา เรื่องแรกคือ

เรื่องที่มีการปล่อยข่าวว่ากองทัพเกณฑ์ทหาร เพราะขาดทหารไปรบจนทำให้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรวยและคนชั้นกลางส่งลูกหลานไปต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ความจริงคือกองทัพเมียนมาต้องการจัดตั้งกองเสริม และอีกนัยหนึ่งคือการที่กองทัพเมียนมาต้องการผลักดันกลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มต่อต้านให้ออกจากประเทศ ซึ่งสุดท้ายวิธีนี้ก็ได้ผลเสียด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการปล่อยข่าวที่แม้เอย่าได้ฟังมายังขำกลิ้งแถมแพร่หลายทั้งในหมู่คนพม่าทั้งในเมียนมาและในไทย ที่สำคัญคือในคนไทยบางคนก็เชื่อคือ เรื่องที่กลุ่มต่อต้านกองทัพออกมาปล่อยข่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ทำลายเมืองเนปิดอว์ไปแล้ว ทำให้ทหารและมินอ่องหล่ายไม่มีที่อยู่ สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเทวดาลงโทษกองทัพเมียนมา

สิ้นเสียงหัวเราะ เอย่าถามกลับว่า งั้นที่กะเหรี่ยงทำสงครามมา 75 ปี ไม่ชนะเสียทีก็เพราะเทวดาไม่ช่วยเหมือนกันละสิ และการที่ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวก็เพราะประเทศไทยมีผู้นำไม่ดีนะสิ สงสัยเพราะคนพม่าหนีมาอยู่ในไทยเยอะเทวดาเลยพิโรธมาลงโทษคนพม่าในไทยด้วยใช่ไหม....

สุดท้ายไม่มีสุรเสียงใดตอบกลับ...เอย่าจึงกล่าวกับคนที่คุยด้วยว่า อุบัติภัยไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่ดีก็ควรมีจิตใจที่สูงในการที่จะมีไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์เพราะสุดท้ายไม่มีใครทำร้ายเราได้หากเราคิดดี คิดอย่างมีเหตุผล เชื่ออย่างมีเหตุผล และไม่ฟังความด้านเดียว

เอย่าพูดทั้งหมดนี้ไม่ใช่หมายถึงแค่คนเมียนมานะคะ คนไทยก็เช่นกัน ไม่มีข่าวสารหรือโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ทำร้ายเราได้ถ้าเราไม่เลือกข้างที่จะฟังและหาข้อมูลรอบด้าน แล้วจึงตัดสินใจ เพราะอย่าลืมว่าสุดท้าย คนที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นตัวเราเอง

‘มิน อ่อง หล่าย’ อาจวางมือ…ปิดฉากยุคกองทัพคุมประเทศ วิเคราะห์เบื้องหลัง? คาดเจอแรงกดดันหนักจากแผ่นดินไหวและเกมของมหาอำนาจ

(1 พ.ค. 68) มีข่าวสะพัดออกมาในช่วงที่เอย่าเดินทางไปมัณฑะเลย์ เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่คนไทยที่เข้าไปช่วยกู้ภัยในเมียนมา ซึ่งข่าวนี้ทำให้เอย่าต้องหูผึ่ง จนต้องเขียนบทความในครั้งนี้ เพราะเป็นข่าวลือที่ว่า 'นายพล มิน อ่อง หล่าย' จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำกองทัพเมียนมา

แต่ก่อนที่เราจะมาคุยเรื่องนี้ เอย่าขอเล่าให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจบริบทในเมียนมาก่อน เพราะมีสื่อโซเชียลบางส่วนพยายามโจมตีภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาว่าไม่เหลียวแลประชาชนเลย ซึ่งคนอ่านก็ด่าตามโดยไม่ไตร่ตรอง

เอาแบบนี้… มาตั้งสติแล้วคิดตามเอย่าสักนิดนะคะ

หลังเกิดแผ่นดินไหว ประเทศไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเมียนมา ได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายเท่า ยังต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อซ่อมแซมบ้าน ดูแลผู้ประสบภัย และจัดการอาคารที่เสียหาย แล้วถามกลับว่า รัฐบาลเมียนมาชุดนี้ ที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ และยังถูกบางกลุ่มในไทยใส่ร้าย สนับสนุนกลุ่มต่อต้าน ทั้งเรื่องที่พักพิง อาวุธ และแหล่งเงินทุน พวกเขาจะมีทรัพยากรพอแค่ไหน? ขนาดไทยยังแจกค่าซ่อมบ้านแค่หลักร้อยหลักพัน แล้วจะให้เมียนมาทำได้ขนาดไหน?

คนเมียนมาที่ให้ข้อมูลกับเอย่าบอกว่า เขาอยากทำแบบไทยมาก แต่ก็ทำได้เท่าที่งบประมาณมี ดังนั้น หากใครเป็นสื่อแต่ไม่เข้าใจคำว่า 'จรรยาบรรณ' แล้วอ้างคำว่า 'เสรีภาพสื่อ' เพื่อทำข่าวตามใจผู้จ่ายเงิน ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าสื่อ และควรเลิกอ้างว่ารักประเทศเมียนมา เพราะหากรักจริง ต้องช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่ซ้ำเติมประเทศของเขา

ว่าแล้ว… มาต่อเรื่องข่าวของเราดีกว่าค่ะ ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวลือหนาหูว่า 'มิน อ่อง หล่าย' อยากจะลาออก โดยแหล่งข่าวของเอย่าระบุว่า ครั้งนี้เขาเสียใจจริง ๆ จนสภาพจิตใจย่ำแย่ ส่งผลต่อสุขภาพที่แย่ลง และมีข่าวว่าอาจลาออกถาวรหลังการเลือกตั้ง และจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ อีก

จริงๆ แล้วข่าวลือเรื่องลาออกนั้นมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว โดยมีรายงานว่าจีนเคยกดดันให้ 'มิน อ่อง หล่าย' ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แลกกับการที่จีนจะช่วยคืนเมืองล่าเสี้ยวและอีก 2 เมืองที่ถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดไว้ แต่สุดท้าย แทนที่จะทำตาม จู่ ๆ ผู้นำเมียนมากลับไปร่วมมือกับปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำให้จีนต้องหันกลับมาง้อ พร้อมอาสาจัดการคืนเมืองต่าง ๆ แทนแบบที่เมียนมาไม่ต้องออกแรงเลย

แต่ข่าวลาออกรอบนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์มาเป็นสามสาย

อันแรกคือเป็นไปได้ที่ผู้นำเมียนมาจะลาออกแล้วลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว

อันที่ 2 คือลาออกแล้วมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ SAC เดี่ยวๆเลย เพื่อควบคุมรัฐบาลที่เลือกตั้งมาอีกที

อันสุดท้ายที่มีคนพม่าจำนวนไม่มากเชื่อว่ารอบนี้อาจจะลาออกจริงเพื่อไปพักแล้ว เพราะจากสถานการณ์แผ่นดินไหวนี้ได้สร้างความบอบช้ำในจิตใจของนายพล มิน อ่อง หล่าย ไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่ลงจากตำแหน่ง

มีคนพม่าในไทยบางคนเปรียบเปรยว่า 'มิน อ่อง หล่าย' คล้ายกับ 'ลุงตู่' ที่ขณะดำรงตำแหน่งก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่หากวันหนึ่งไม่มีเขา คนอาจกลับมาคิดถึง และนั่นอาจเป็นบทเรียนของเมียนมาก็ได้... ดั่งเสียงเรียกร้องให้ลุงตู่กลับมาในโลกโซเชียลที่ดังขึ้นทุกวัน — แต่วันนั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะเราไม่เห็นค่าของเขาในวันที่เขายังอยู่

กองทัพอากาศส่ง F-16 สกัดเครื่องบินเมียนมา หลังพบบินเข้าใกล้ชายแดนกาญจนบุรี ยันไม่มีการล้ำอธิปไตย

(6 พ.ค. 68) พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า หน่วยควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศตรวจพบเครื่องบินลักษณะคล้าย K-8 จากเมียนมา บินเข้าใกล้เขตแดนไทยบริเวณตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เวลาประมาณ 12.45 น. กองทัพอากาศจึงสั่งการให้ F-16 จำนวน 2 ลำ จากกองบิน 4 จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นบินพิสูจน์ฝ่ายและแสดงท่าทีทางอากาศ

F-16 ทั้งสองลำได้ทำการบินลาดตระเวนรบในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งไม่พบการล้ำอธิปไตยหรือท่าทีคุกคามเพิ่มเติมจากเครื่องบินดังกล่าว

ทั้งนี้ กองทัพอากาศยืนยันความพร้อมในการสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย โดยจะดำเนินการตามมาตรการอย่างมืออาชีพ เพื่อปกป้องน่านฟ้าไทยและอธิปไตยของประเทศตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

เปิดเบื้องลึก!! หลัง KNU ร่อนประกาศชัยชนะ ถึงฝั่งไทย ตีค่ายแตกปุ๊บ!! กองทหารเมียนมา ร่วม 200 หนีทัพมาฝั่งไทย

(11 พ.ค. 68) เหมือนอาทิตย์ที่ผ่านมาสื่อต่างๆรีบงับข่าวประกาศที่ทาง KNU ที่เมืองมะริดและทวายประกาศยึดฐานได้ อย่างครึกโครม แต่สำหรับเอย่าที่อยู่ในวงการข่าวเมียนมานั้น  ประกาศนั้นเหมือนเป็นการส่งสัญญาณเยาะเย้ยไทยเสียมากกว่า เอามาเป็นว่าวันนี้เอย่าจะมาวิเคราะห์ให้ผู้อ่านลองคิดเล่นๆกัน

1. แปลกไหมตีค่ายแตกปุ๊บกองทหารเมียนมาร่วม 200 นายหนีทัพมาฝั่งไทย เพื่อต้องการให้ฝะ่งไทยผลักดันกลับแถมพร้อมกลับทันทีด้วยนะ  ฝั่งเมียนมาก็ไม่รอช้ารีบจัดแจงการรับกลับโดยมารับที่ด่านเกาะสองโดยให้ทั้งหมดเนรเทศออกจากไทยที่ด่านระนอง 

เอาให้ลึกกว่านี้ดีกว่าเผื่อยังไม่เข้าใจ ในเมียนมาโทษของการหนีทัพคือประหารชีวิต  แต่นี่คนกลับก็อยากกลับ ตกลงกลับไปตายหรือเป็นแผนที่ฝั่งเมียนมาต้องการจะทิ้งฐานเพื่อรักษาชีวิตทหารกันแน่

2. ฝั่งกองทัพกะเหรี่ยงอ้างถึงความไม่ปลอดภัยจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เอย่าอยากจะบอกนะคะ ไม่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าแบบไหนก็ตามเขามีวิศวกร และผู้ชำนาญงานมาควลคุมดูแล เขาไม่ใช่สร้างมั่วๆนะคะ  ถามหาความปลอดภัยจริงๆควรบอกพวกตนดีกว่าไหมคะ ไปทำอะไรไม่มีความรู้ตูมตามขึ้นมาอันตรายกว่าไม่รู้กี่เท่า  อีกเรื่องคือทวายห่างจากด่านพุน้ำร้อนไทยเกือบ 150 กิโลเมตร เส้นทางคดเคี้ยวเป็นป่าเขา ไม่ต้องห่วงจะกระทบถึงไทยคะ ห่วงพวกตัวเองเถอะไม่ต้องเอาไทยมาอ้าง เพราะไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้งของเมียนมา

3. ทางกะเหรี่ยงยึดได้แล้วประชาชนมีชีวิตดีขึ้นไหม  คนไทยทิ้งแผ่นดินที่อยู่ในบริเวณแถบนั้นมีความเป็นอยู่ดีขึ้นไหม ตลอด 75 ปีที่กะเหรี่ยงพยายามปลดแอกนั้น ประชาชนคนกะเหรี่ยงทะลักเข้าไทยนับล้านสร้างภาระให้แก่ไทย มีอะไรดีขึ้นมาบ้าง นั่นคือสิ่งที่ฝั่งกะเหรี่ยงควรตอบกับประชาชนของตนและนำพาคนของตนไปสร้างประเทศได้แล้ว

4. สุดท้ายสงครามนี้ให้ประโยชน์กับกองทัพไทยอย่างหนึ่งในขณะที่วัยรุ่นไทยไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์แต่พวกวัยรุ่นเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ได้บัตรไทยอยากเป็นทหารเกณฑ์เพราะเอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการรบจริงในกะเหรี่ยงได้ 

อีกทั้งล่าสุดมีคลิปว่อนโซเชียลเมียนมาที่มีคุณแม่ชาวกะเหรี่ยงพูดว่าคิดถึงลูกมากไม่ได้เจอนานเพราะลูกไปเป็นทหารเกณฑ์ฝั่งไทย  แหม...ดีใจแทนกองทัพไทยและกลาโหมจนน้ำตาไหลเลยคะ

อ้อเอย่าลืมบอกคนกะเหรี่ยงไปรบนี่ได้เงินนะคะ  หลายคนรบจนสร้างตัวได้ละก็หนีเข้าไทยมาซื้อบัตรไทยทั้งครอบครัวประกอบสัมมาอาชีพตามชายแดน  เดี๋ยวพูดไปข้าราชการแถวนั้นก็จะหากินยากอีกเอาเป็นว่าเอย่าไม่พูดละกัน 

วันนี้ก็ขอจบเรื่องราวเพียงเท่านี้ดีกว่าคะ ไว้ว่างๆเมื่อไหร่เอย่าคงได้เล่าเพิ่มเติมอีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top