Friday, 4 July 2025
เมียนมา

ลุยปราบแก๊งคอลไม่ยั้ง จับมือจีนสกัดอาชญากรรมข้ามชาติ

แถลงการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา ระบุว่าจีนและเมียนมาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายและความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนและเมียนมา และร่วมกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ และการค้ามนุษย์

เมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ. 68) หม่าเจีย เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา และหลิวจงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ร่วมหารือกับอู ตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา และพลโท ทุน ทุน หน่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของเมียนมา ซึ่งฝ่ายเมียนมาเผยว่าให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปราบปรามอาชญากรรมผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม

ฝ่ายเมียนมานำเสนอมาตรการที่รัฐบาลเมียนมาจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้เพื่อปราบการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม โดยจะเสริมสร้างการประสานงานกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ตลอดจนสำรวจการจัดตั้งกลไกความร่วมมือประจำเพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การพนันออนไลน์ และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม

ขณะที่ฝ่ายจีนมีมุมมองเชิงบวกต่อความมุ่งมั่นและความพยายามของเมียนมาในการปกป้องความปลอดภัยของพลเมืองจีน พร้อมชี้ว่าการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

จีนพร้อมดำเนินความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและไทยผ่านการใช้มาตรการรอบด้าน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง เพื่อร่วมกันยับยั้งอาชญากรรมในประเทศที่เกี่ยวข้อง กำจัดเนื้อร้ายของการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค

ทหารพม่าบุกเผาชุมชนสิงขร อ้างกะเหรี่ยงหลบซ่อน ชาวบ้านร่ำไห้ลี้ภัยหลบเข้ามาพึ่งญาติฝั่งไทย

(18 ก.พ. 68) ทหารเมียนมาบุกเผาทำลายบ้านเรือนหลายหลังในหมู่บ้านสิงขร เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยพลัดถิ่นต้องอพยพหนีตาย บางส่วนลี้ภัยเข้ามาฝั่งไทยอย่างหวาดกลัว ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทหารเมียนมาเชื่อว่าหมู่บ้านสิงขรเป็นที่หลบซ่อนของกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังประชาชน PDF ก่อนหน้านี้เพียงสามวัน ทหารเมียนมาได้บุกโจมตีและเผาทำลายบ้านเรือนไปแล้ว 4-5 หลัง พร้อมใช้โดรนและเครื่องบินโจมตี ส่งผลให้วัดสิงขรวราราม ซึ่งเป็นวัดไทยโบราณในพื้นที่ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

สำนักข่าวชายขอบรายงานว่า “ทหารเมียนมาบุกเข้ามาตั้งแต่ช่วงเช้า เผาบ้านหลายหลังจนชาวบ้านต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอด โชคดีที่พระและชาวบ้านบางส่วนหลบหนีออกมาได้ก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้ทุกคนต่างไร้ที่อยู่อาศัย”

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวไทยพลัดถิ่นกว่า 100 ครอบครัวจำเป็นต้องละทิ้งบ้านเรือนของตน หลายคนพยายามลี้ภัยเข้ามายังฝั่งไทยผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน เนื่องจากไม่มีเอกสารที่สามารถยืนยันสถานะทางกฎหมายในประเทศไทยได้ หากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบก็อาจถูกจับกุมและส่งกลับไปยังเมียนมา ซึ่งสถานการณ์ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

“พวกเขาไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร และเด็กๆ ก็นอนไม่ได้เรียนหนังสือ ทุกคนกอดคอกันร้องไห้เมื่อเห็นภาพบ้านของตัวเองกลายเป็นเถ้าถ่าน” แหล่งข่าวกล่าวเสริม

หมู่บ้านสิงขรเคยเป็นส่วนหนึ่งของสยามมาก่อน แต่ต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษในยุคล่าอาณานิคม ปัจจุบันแม้ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมา แต่คนไทยในหมู่บ้านยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาไทยไว้อย่างเหนียวแน่น วัดสิงขรวรารามเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเป็นหลักฐานของรากเหง้าไทยในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มต่อต้านทำให้ชาวบ้านต้องตกอยู่ในความเสี่ยง แม้พวกเขาจะพยายามใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกลูกหลงจากสงครามได้

ขณะที่สถานการณ์ยังคงเลวร้าย ไม่มีรายงานว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว มีเพียงกองกำลังทหารของไทยที่รับทราบสถานการณ์เท่านั้น

“คนไทยที่นี่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนต่างแดน พวกเขายังมีญาติพี่น้องในไทย มีสายเลือดและวัฒนธรรมร่วมกัน ถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองคนไทยที่ถูกลืมเหล่านี้” แหล่งข่าวตั้งคำถาม

สถานการณ์ในหมู่บ้านสิงขรสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของชาวไทยพลัดถิ่นที่ยังคงยึดมั่นในอัตลักษณ์ของตนเอง แต่กลับต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไร้ที่พึ่ง การช่วยเหลือจากภาครัฐจะเป็นความหวังเดียวที่พวกเขามี เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง

ไต่สวนแก๊งสแกมเมอร์เมียนมา เสียหายหมื่นล้าน พบเหยื่อดับ 14 ราย เร่งล่าผู้ก่อเหตุอีกนับพัน

(20 ก.พ. 68) ศาลท้องถิ่นเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้ดำเนินการพิจารณาคดีความกับจำเลยทั้งหมด 23 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มฉ้อโกงทางโทรคมนาคมขนาดใหญ่หลายกลุ่มในภาคเหนือของเมียนมา ระหว่างวันที่ 14-19 ก.พ. โดยมีการพิจารณาหลายข้อหา รวมถึงอาชญากรรมที่ทำให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย

จำเลยส่วนหนึ่ง ได้แก่ เมียง มยิ่น ชอน พยิ่น และมะ ทิริ เมียง หัวหน้าแก๊งอาชญากรรมที่นำโดยครอบครัวของพวกเขา รวมถึงสมาชิกหลักของแก๊งและสมาชิกแก๊งอื่นๆ ที่เป็น “ผู้สนับสนุน” การก่ออาชญากรรม โดยพวกเขาถูกตั้งข้อหาทางอาญา 11 กระทง เช่น ฉ้อโกง เจตนาฆ่า เจตนาทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฎหมาย เปิดกาสิโน ค้ายาเสพติดและประเวณี

คณะอัยการกล่าวว่าจำเลยเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของครอบครัวในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา จัดตั้งแหล่งซ่องสุมแก๊งอาชญากรรมหลายแก๊ง ให้การคุ้มกันด้วยอาวุธแก่ปฏิบัติการของ “ผู้สนับสนุน” และสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น แผนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่มีเป้าหมายเป็นประชาชนในจีน

คำฟ้องร้องระบุว่าอาชญากรรมการพนันและการฉ้อโกงเกี่ยวพันกับเงินทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5 หมื่นล้านบาท) และส่งผลให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย

เหตุการณ์ที่เป็นกรณีสำคัญเกิดขึ้นวันที่ 20 ต.ค. 2023 แก๊งอาชญากรรมร่วมมือกับ “ผู้สนับสนุน” จัดการคุ้มกันด้วยอาวุธระหว่างโยกย้ายคนที่ทำงานให้แก๊งของพวกเขาเพื่อหลีกหนีการปราบปราม โดยบางคนพยายามหลบหนีแต่ถูกทีมคุ้มกันยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย

คณะอัยการได้แสดงหลักฐานให้จำเลยแต่ละรายและทนายความของพวกเขาตรวจสอบระหว่างการพิจารณาคดีความ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้อธิบายโต้แย้งตามลำดับและจำเลยให้การครั้งสุดท้าย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ปรึกษาทางการเมือง นักข่าว สมาชิกครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนรวมมากกว่า 100 คน

อนึ่ง ศาลจะประกาศผลการพิจารณาคดีความครั้งนี้ใน

นอกจากการพิจารณาคดีความครั้งนี้ มีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมอีกหลายพันราย เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อมโยงกับคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมมากกว่า 10,000 คดี โดยการจัดการคดีความเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายของชาติและพลเมือง

แหล่งข่าวอัยการระบุว่าอาชญากรรมบางส่วนเกิดขึ้นภายในพรมแดนจีน มุ่งเป้าที่พลเมืองจีนเป็นพิเศษ และสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ร่วมของประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้จีนมีอำนาจการพิจารณาคดีความภายใต้กฎหมายอาญาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

‘โฆษก ก.ต่างประเทศจีน’ แถลง!! กรณีมีการส่งตัวชาวจีนจากประเทศ ‘เมียนมา’ เผย!! กำลังเดินหน้า ความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อปราบ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’

(22 ก.พ. 68) Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้โพสต์คลิป โดยมีใจความว่า ...

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายกัว เจียคุณ ได้กล่าวแถลง กรณี การส่งตัวชาวจีน จาก ‘เมียวดี’ ในประเทศ ‘เมียนมา’ ว่าประเทศจีน กำลังร่วมมือกับไทย เมียนมา และประเทศอื่น ๆ ผ่านความร่วมมือ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยใช้มาตรการที่ครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและในระยะยาว เพื่อปิดกั้นช่องทาง ใช้ก่ออาชญากรรม ในประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปราบปราม แก๊งฉ้อโกงและการพนันออนไลน์ ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย ในการติดต่อแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างประเทศในภูมิภาค

หนีไม่รอด!! หนุ่มเมียนมาค้ายา มุดกลับมาหวังหางานทำ หนีไม่พ้นระบบ Biometrics

(6 มี.ค.68) เวลา 13.00 น. ที่ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสมุทรสาคร  ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร, พ.ต.ท.เศรษฐพงศ์ ชูเมือง รอง ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร ,พ.ต.ท.ปิยะพงษ์ องอาจ รอง ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร ,พ.ต.ต.จิรายุ เชิดฉาย สว.ตม.จว.สมุทรสาคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าฝ่ายสืบสวน ตม.จว.สมุทรสาคร 

พ.ต.อ.ปกฉัตร กล่าวว่าในห้วงหลังจากการมีผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. ให้ขึ้นทะเบียนบุคคลต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฏหมาย  จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ตม.จว.สมุทรสาคร เพิ่มความเข้มงวดในการสอบตรวจสอบเอกสาร ต่อมาได้มี MR.MAUNG MAUNG หรือ นายเมา เมา อายุ 33 ปี สัญชาติเมียนมา ได้มาติดต่อขอรับการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สมุทรสาคร ได้ตรวจสอบพบประวัติเคยถูกจับกุมดำเนินคดี ในข้อหา จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่ายโดยกระทำเพื่อการค้า ศาลจังหวัดสมุทรสาคร พิพากษาจำคุก 2 ปี  สตม.ได้มีคำสั่งเพิกถอนการอยู่ในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 พ.ย.67 และ ลงประวัติเป็นบุคคลต้องห้าม (Blacklist) ห้ามเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และไม่อยู่ในเงื่อนไขการผ่อนผัน ตาม มติ ครม. จึงได้ทำการจับกุม ในข้อหาเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่ง พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย  

ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร กล่าวต่อว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดย พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.ชัยฤทธิ์ อนุฤทธิ์ ผบก.ตม.3 ได้มีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเอกสารของคนต่างด้าวในการขอรับการจัดเก็บอัตลักษณ์ เพื่อขึ้นทะเบียนใหม่ และขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพหลอกลวงว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนบุคคลต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ผ่านการตรวจสอบประวัติ หากประชาชนพบเห็นหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
📍 ที่อยู่: อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120
📞 โทรศัพท์: ติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่
🌐 เว็บไซต์: www.immigration.go.th

‘อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์’ เผย!! ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ที่ ‘รัสเซีย’ จะสร้างให้ ‘เมียนมา’ ชี้!! ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR เล็ก ทันสมัย ไม่กระจายกัมมันตรังสี มาที่ไทย

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า …

"โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่รัสเซียจะสร้างให้เมียนมา น่าจะเป็นแบบนี้ครับ"

ตอนนี้ กำลังเป็นข่าวฮอตเลย กับเรื่องที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ของประเทศเมียนมา และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ลงนามร่วมกันที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดกาญจนบุรีแค่ 132 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ แค่ 300 กิโลเมตร ทำเอาหลายต่อหลายคนกังวลว่า จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือเปล่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น ?

ปัญหาคือตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง มีเพียงแค่บอกว่า จะมีขนาดกำลังการผลิต 110 เมกะวัตต์ และใช้เทคโนโลยีของรัสเซียเอง ตามบันทึก MOU เพื่อพัฒนาการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้อย่างสันติ ที่ลงนามไปตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

ผมก็ได้สอบถามไปทางผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานนิวเคลียร์ ของจุฬาฯ คือ อาจารย์ดิว (ผศ. ดร. พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์) ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ .. 

อาจารย์ดิว ให้ความเห็นว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายงานถึงชนิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมียนมาจะใช้ แต่ก็น่าจะเป็นเครื่อง RITM-200N จำนวน 2 เครื่อง (เครื่องละ 55 เมกะวัตต์) ตามแบบที่รัสเซียไปเซ็นสัญญาสร้างให้กับประเทศอุซเบกิสถาน เมื่อปีที่แล้ว (มิถุนายน 2024) เพราะปรกติจะไม่ค่อยมีการออกแบบดีไซน์เครื่องกันใหม่บ่อยๆ อย่างมากก็เอาแบบเดิมนี้ไปปรับขยายกำลังการผลิต

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะอยู่ในกลุ่มของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ชุดโมดุลาร์ ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า SMR (small modular reactor) คล้ายกับที่ผมเคยติดตามคณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไปดูงานที่เกาะไหหลำ ประเทศจีนมาแล้ว และไทยเรากำลังสนใจอย่างยิ่งที่จะนำเอามาใช้ผลิตไฟฟ้าบ้าง

โรงงานไฟฟ้าที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ SMR นี้ มีขนาดเล็กและทันสมัยมาก อุปกรณ์หลักทุกอย่างอยู่ในชุดโมดุลเดียวกัน และติดตั้งอยู่ภายใต้อาคารหลังเดียวได้ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่ได้สูงมากนัก (เช่น เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าในกับเมืองๆ เดียว หรือกับพวกศูนย์เดต้าเซนเตอร์ ของบริษัทเทค ) ทำให้สามารถควบคุมความปลอดภัยได้ง่ายและในวงแคบ แค่ระดับไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น .. จึงมั่นใจได้ว่า ไม่ได้จะเกิดอันตรายในวงกว้าง เหมือนอย่างโรงไฟฟ้าโบราณ แบบเชอร์โนบิล ที่จะแพร่กระจายกัมมันตรังสีมาถึงไทยเราได้

(แต่ๆๆ อันนี้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างโดยรัสเซีย และให้เมียนมาดูแลต่อ ซึ่งก็ยังมีสงครามกลางเมืองกันอยู่ .. ถึงจะมีหน่วยงานสากล อย่าง IAEA มากำกับ ผมก็รับประกันความปลอดภัยไม่ได้เต็มปากเต็มคำนะครับ ฮะๆ)

เอาข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ RITM-200N ที่รัสเซียขายและติดตั้งให้กับอุซเบกิสถาน มาให้อ่านด้านล่างนี้ครับ

- ภายหลังจากที่มีการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียไปยังอุซเบกิสถานแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 หน่วยงานกลางว่าด้วยพลังงานปรมาณู (หรือ Rosatom) ของประเทศรัสเซีย ได้ลงนามสัญญาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (small modular reactor nuclear power plant หรือ SNPP) ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ในประเทศอุซเบกิสถาน นับเป็นการส่งออกโรงไฟฟ้า SNPP ขั้นสูงเป็นครั้งแรกของโลก และจะลงมือสร้างโดยทันที โครงการนี้จะใช้เงินจากอุซเบกิสถาน โดยไม่กู้จากรัฐบาลรัสเซีย

- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะสร้างขึ้นในอุซเบกิสถาน จะกลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าพื้นฐาน สำหรับระบบพลังงานของประเทศ โดยเครื่องปฏิกรณ์หน่วยแรก มีกำหนดจะเริ่มทำงานในปลายปี 2029 และเครื่องต่อไปจะค่อยๆ ถูกเปิดใช้งานทีละหน่วย ตามประมาณการความต้องการพลังงานของอุซเบกิสถาน ที่จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2050 โดยอุชเบกิสถานสนใจทั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กนี้ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

- โครงการนี้ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 330 เมกะวัตต์ ในภูมิภาค Jizzakh ของอุซเบกิสถาน และโรงไฟฟ้าจะใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ 6 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลัง 55 เมกะวัตต์ (รวมเป็น 330 เมกะวัตต์) โดยมีบริษัท AtomStroyExport (ASE) ของรัสเซียเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก และให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศเมียนมา เข้าร่วมโครงการก่อสร้างนิวเคลียร์อย่างกว้างขวางด้วย
(บริษัท AtomStroyExport เป็นบริษัทรับเหมาหลักของรัสเซีย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Rosatom มีประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งทั่วโลก เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kudankulam ในอินเดีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Bushehr ในอิหร่าน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี และมีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงไฟฟ้า SNPP ในอุซเบกิสถาน ซึ่งเป็นโครงการส่งออก SNPP แห่งแรกของโลก )

- ได้มีการสำรวจทางวิศวกรรมบนบริเวณที่จะสร้าง เพื่อยืนยันความเหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่ง ASE กล่าวว่างานก่อสร้างบนสถานที่ จะเริ่มในเดือนกันยายน 2024 โดยเริ่มจากการสำรวจที่ดิน และการจัดตั้งค่ายก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน 

- สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ตามข้อตกลง จะใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 60 ปี งานออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เริ่มขึ้นในปี 2001 โดยบริษัทวิศวกรรมนิวเคลียร์ OKBM Afrikantov ในเครือของ Rosatom 

- ข้อดีสำคัญที่สุดของ RITM-200 คือ มีการติดตั้งหน่วยผลิตไอน้ำขนาดเล็ก รวมเอาไว้อยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ (ไม่ได้แยกส่วน เหมือนพวกเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอันตรายลง) มีแกนเครื่องปฏิกรณ์ที่มีพลังงานสูง และมีเครื่องกำเนิดไอน้ำ ที่มีพื้นผิวแลกเปลี่ยนความร้อน ขนาดกะทัดรัด นอกจากนี้ ระบบความปลอดภัยและควบคุมของเครื่องนั้น เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุด ด้านความปลอดภัยโดยธรรมชาติและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และใช้งานง่าย

- ตั้งแต่ปี 2012 มีเครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 จำนวน 10 เครื่อง ได้ถูกผลิตขึ้นสำหรับเรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์อเนกประสงค์ ห้าลำของรัสเซีย ตาม Project 22220 โดยเครื่องปฏิกรณ์ 6 เครื่อง ได้ติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Arktika, Sibir และ Ural ซึ่งใช้งานอยู่ ขณะที่มีการก่อสร้างอีก 2 ลำ คือเรือ Yakutia และ Chukotka ที่กำลังจะเสร็จสิ้น

- เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 ยังจะถูกติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำ เพื่อจ่ายพลังงานให้กับเหมือง Baimsky GOK ใน Chukotka อีกด้วย และมีการดัดแปลงการออกแบบของเครื่องปฏิกรณ์รุ่นนี้ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ของโรงไฟฟ้า SNPP ของสาธารณรัฐ Yakutian หนึ่งในเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย 

- โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ชนิด SNPP นั้นกำลังเป็นที่ต้องการ โดยมีหลายประเทศที่มีความสนใจในเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ ที่ออกแบบโดยรัสเซีย ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2024 รัฐบาลรัสเซียได้อนุมัติร่างข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในเมียนมา ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสร้าง SNPP ที่มีกำลังไฟฟ้าขั้นต่ำ 110 เมกะวัตต์ในประเทศนี้ และโรงไฟฟ้านี้จะติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์แบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ของรัสเซีย

- โรงไฟฟ้า SNPP ที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์ RITM-200 นั้น ไม่ใช่เทคโนโลยีเดียวที่ประเทศอื่นๆ สนใจ ปลายเดือนพฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา อเล็กซีย์ ลิคาเชฟ ได้จัดการประชุมตามปกติกับ อจิต คุมาร โมฮันตี้ ประธานคณะกรรมการพลังงานปรมาณูของอินเดียและเลขานุการของรัฐบาลอินเดีย กระทรวงพลังงานปรมาณู พวกเขาได้พบกันที่ Seversk ณ สถานที่ก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานสาธิตที่จะประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์ BREST-300-OD แบบนิวตรอนเร็ว ระบายความร้อนด้วยตะกั่ว และหน่วยแปรรูปเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและการผลิตเชื้อเพลิงใหม่/การผลิตเชื้อเพลิงใหม่ บนสถานที่ ซึ่งสร้างขึ้นภายใต้โครงการ Proryv (ภาษารัสเซีย แปลว่า 'การพัฒนา') ซึ่งตามการจำแนกประเภทของ IAEA เครื่อง BREST-OD-300 นี้ ถูกจัดประเภทเป็นเครื่องปฏิกรณ์กำลังต่ำ (สูงสุด 300 เมกะวัตต์)

‘แผ่นดินไหว’ รุนแรงในเมียนมา สะเทือนหนักถึง ‘ไทย’ หลายพื้นที่ ‘สามนิ้วเมียนมา’ ฉวยโอกาสกุข่าว ‘กองทัพเมียนมา’ ทดลองอาวุธนิวเคลียร์

กลายเป็นเหตุการณ์ที่ช็อกคนไทยอย่างมาก โดนเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องพบกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้

โดยต้นเหตุแผ่นดินไหวอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์และเมืองสะกายในเมียนมาห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ไป 326 กิโลเมตร โดยความแรงที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมียนมามีความแรงถึง 8.2 ริกเตอร์ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในเมืองมัณฑะเลย์และสะกายได้รับความเสียหาย รวมถึงผู้คนตกอยู่ในความหวาดหวั่น รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำระหว่างเมืองมัณฑะเลย์และสะกายก็ถล่มจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ตัวเอย่าเองก็เป็น 1 ในผู้ประสบเหตุในครั้งนี้เช่นกัน จึงขอเล่าให้ฟัง…

หลังเกิดเหตุ 30 นาทีแรก เอย่ารู้สึกว่า ระบบโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเหมือนจะล่ม อาจจะเป็นเพราะทุกคนใช้โทรศัพท์ จากนั้นตามมาด้วยรถติดบนถนนอย่างกับศุกร์ปลายเดือนวันฝนตกอย่างไรอย่างนั้น รถติดชนิดที่ว่า ‘ทุกเส้นทางขนาด’ เส้นที่ไม่เคยรถติด ก็ยังติด

แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือทำไมประชาชนต้องต่อว่ารัฐบาลก่อนแทนที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจว่านี่คือ ‘พิบัติภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี’ ซึ่งเอย่าแน่ใจว่าจากนี้ประเทศไทยจะมีแผนรับมือเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์สึนามิถล่ม

แต่ในเหตุการณ์ร้ายนี้ก็มีเรื่องตลก เมื่อมีข่าวหลุดออกมาตามโซเชียลมีเดียของกลุ่มสามนิ้วในพม่าว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกองทัพเมียนมาและมินอ่องหล่าย ใช้เมียนมาเป็นสถานที่ทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ แถมเรื่องนี้กลายเป็น ‘Talk of the town’ ในกลุ่มพม่าสามนิ้วในไทยเสียด้วย ก็ไม่รู้สิว่าเอย่าจะพูดอะไรดี คงพูดได้แค่ว่า “เบิ่ดคำสิเว้า”

เอย่าก็หวังให้เสพสื่ออย่าง ‘มีสติ’ นะคะ ไม่ใช่ใช้ ‘อคติ’ บังตา ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนพม่า ในครั้งนี้ทุกคนคือผู้ประสบเหตุด้วยกันทุกคนทั้งนั้น

รัสเซีย-จีน-อินเดีย-มาเลเซีย ส่งทีมช่วยเหลือเมียนมา กองทัพว้า มอบเงินช่วยเหลือ 200 ล้านจั๊ต ขณะยอดเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น

(30 มี.ค. 68) นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 1,644 คน ผู้บาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหาย 139 คน ขณะที่ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางซากปรักหักพังและอาคารที่ยังคงถล่มในบางพื้นที่

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวในพื้นที่สำคัญ ในพื้นที่เขตเนปยีดอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหว มีผู้เสียชีวิตจำนวน 96 คน และได้รับบาดเจ็บ 432 คน ส่วนในภาคสะกายมีผู้เสียชีวิต 18 คน และบาดเจ็บ 300 คน ขณะที่ภาคมัณฑะเลย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดยมีผู้เสียชีวิต 30 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอาจเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากปฏิบัติการช่วยเหลือยังไม่สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้

การช่วยเหลือจากนานาชาติ จากสถานการณ์ที่รุนแรง รัฐบาลเมียนมาได้เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยขณะนี้ รัสเซีย จีน อินเดีย และมาเลเซียได้ส่งทีมกู้ภัยเข้าช่วยเหลือแล้ว ขณะที่ศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) ก็ได้เสนอความช่วยเหลือเพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ กองทัพสหรัฐพันธรัฐว้า (UWSA) ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 200 ล้านจั๊ต หรือประมาณ 15.3 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากภูมิภาค เมื่อวันที่ 9 มีนาคม มีรายงานว่า ทีมบรรเทาสาธารณภัยจากมณฑลยูนาน ประเทศจีน จำนวน 16 คน จะเดินทางเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เมืองหมูแจ่ รัฐฉานตอนเหนือ ในขณะที่ทีมกู้ภัยจากประเทศสิงคโปร์ก็กำลังมุ่งหน้าไปยังภาคมัณฑะเลย์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว

บทบาทของไทยและอเมริกา ประเทศไทยได้เตรียมส่งทีมกู้ภัยและค้นหาพร้อมทีมแพทย์และเวชภัณฑ์จากกองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 49 นาย เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และสำรวจความต้องการของรัฐบาลเมียนมาเพื่อส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามติดต่อเมียนมาเพื่อให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคบางประการ เนื่องจากในอดีต เมียนมาเคยมีสำนักงานของ USAID แต่ได้ถูกปิดไป ส่งผลให้การเข้าถึงความช่วยเหลือยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเป็นปัญหาสากลที่ควรได้รับการช่วยเหลือโดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมือง

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้ไม่เพียงแต่สร้างความสูญเสียให้กับชาวเมียนมา แต่ยังเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง บางประเทศได้แสดงออกถึงความเป็นมิตรอย่างชัดเจน ขณะที่บางประเทศอาจยังมีท่าทีที่ไม่แน่ชัด ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีอยู่ ภัยพิบัติในครั้งนี้อาจเป็นบททดสอบที่แสดงให้เห็นว่าใครคือพันธมิตรที่แท้จริงของเมียนมา

‘ภูมิธรรม’ นำทีม ส่งกำลังพลจากกองทัพไทย ออกปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวเมียนมา

(30 มี.ค.68) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทย เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในประเทศเมียนมา ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ผ่านมา พิธีดังกล่าวจัดขึ้นที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เขตดอนเมือง ท่ามกลางการร่วมเป็นสักขีพยานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและครอบครัวของกำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ

โดยมีพันเอกขจรศักดิ์ พูลลโพธิ์ทอง​ รองผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ​ พร้อมกำลังพลรวม 55 นาย แบ่งออกเป็น 8 ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม, ชุดงานต่างประเทศทหาร, ชุดค้นหาและกูภัยเขตเมือง, ชุดแพทย์ฉุกเฉิน, ชุดประเมินความเสียหาย, ชุดสื่อสาร, ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดส่งกำลังพลและทีมกู้ภัย พร้อมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อเข้าไปสนับสนุนการบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยจะประสานงานกับหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณภัยของเมียนมา รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่

ภายหลังจากนี้ รัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมส่งกำลังสนับสนุนเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ขณะที่ทีมช่วยเหลือของไทยจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นของเมียนมา เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ การเดินทางของกำลังพลไทยในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่สะท้อนถึงน้ำใจและความร่วมมือระหว่างประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งใหญ่

กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ประกาศหยุดสู้รบ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหว

(30 มี.ค. 68) กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศหยุดยิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยและองค์กรด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเนปิดอว์ ภาคซะไกง์ และภาคมัณฑะเลย์

แถลงการณ์จากแนวร่วมกลุ่มติดอาวุธระบุว่า การหยุดยิงชั่วคราวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคจากสถานการณ์สู้รบ และป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากทั้งภัยพิบัติและความขัดแย้งทางทหาร

“กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) จะหยุดดำเนินการปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นปฏิบัติการเชิงป้องกัน ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2568” รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นรัฐบาลเงาระบุในคำแถลง

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ความช่วยเหลือเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าการเมืองไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน

ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อแถลงการณ์หยุดยิงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าองค์กรกาชาดสากล และศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) กำลังเร่งประสานงานกับทั้งสองฝ่ายเพื่อส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ภัยพิบัติโดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top