Saturday, 19 April 2025
เมียนมา

เลือกตั้ง ‘ประธานาธิบดี’ ทำสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป เมื่ออเมริกาเปลี่ยนมือ กระทบ!! นโยบาย ‘เมียนมา’ ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อาจเดินหน้า สานสัมพันธ์

เมื่อไม่นานมานี้ ยูเครนได้ทำการโจมตีที่มั่นทางการทหารในรัสเซียตามที่อเมริกาส่งสัญญาณใช้อาวุธที่ทางนาโต้มอบให้จู่โจมรัสเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินได้เคยประกาศกร้าวแล้วว่าใครทำแบบนี้จะถือว่าเป็นศัตรูกับรัสเซียและรัสเซียจะตอบโต้กลับอย่างไม่ปรานี

นี่เป็นคำสั่งท้าย ๆ ของประธานาธิบดี โจ ไบเดนก่อนที่เขาจะหมดวาระในวันที่ 20 มกราคม 2568 นี้  ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่าการที่โจเลือกที่จะสั่งให้ยูเครนทำแบบนี้ก็เพราะต้องการสร้างความยากลำบากให้แก่โดนัลด์ ทรัมป์

แต่ยูเครนไม่ใช่สงครามเดียวที่อเมริกาชักใยอยู่เบื้องหลัง เพราะยังมีสมรภูมิอื่นที่ยังเดือดอยู่เช่นกัน แต่ 1 ในสมรภูมิเหล่านั้นคือสมรภูมิในเมียนมา

เป็นที่แน่ชัดเสียยิ่งกว่าชัดจากการที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนทั้งเงินทุน อาวุธรวมถึงการฝึกทางยุทธวิธีให้แก่กองกำลังชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณชายแดนไทยและใช้ไทยเป็นที่มั่นในการนำเงินเข้ามาผ่านตัวแทนนายหน้ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในไทย รวมถึงผ่านองค์กร NGO ต่างๆ รวมทั้งองค์กรที่มีการโฆษณาเปิดเผยว่าฝึกกองกำลังชาติพันธุ์ไว้ต่อต้านกองทัพรัฐบาลกลางของเมียนมาอย่าง Free Burma Ranger เป็นต้น นี่ยังไม่นับรวมพวกท่านทูตหัวทองที่ผลัดกันมาเยี่ยมเยียนเมืองชายแดนไทยติดเมียนมากันอย่างมิได้ขาดสายจนคนย่านนั้นเขารู้กันไปทั่ว

ประเด็นคือโจ ไบเดนจะปั่นให้ฝั่งเมียนมาลุกเป็นไฟอีกไหม เพราะดูจากนโยบายที่ทรัมป์ออกมาน่าจะส่งผลดีต่อเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินที่อเมริกาในยุคของโจ ไบเดน หยอดเข้ามาให้ทำสงครามก็ไม่สามารถพิชิตกองทัพเมียนมาได้อย่างเด็ดขาด จนบางทีไบเดนอาจจะไม่รู้ว่า กองกำลังชาติพันธุ์ในพม่าทำสงครามเป็นธุรกิจเช่นเดียวกัน

หากสถานการณ์ในเมียนมาสงบไปจนถึงวันที่ทรัมป์รับตำแหน่งมีความเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะพยายามกลับมารักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมียนมาเพื่อเป็นการสกัดกั้นการขยายอำนาจของจีนมาสู่อ่าวเบงกอลมากกว่าเลือกที่จะสนับสนุนสงครามตัวแทนที่เห็นผลอยู่แล้วว่าไม่มีผลดีต่อสหรัฐเลยไม่ว่าด้านใด

เช่นเดียวกันหากปราศจากการอัดฉีดจากอเมริกาอำนาจของพรรคการเมืองในไทยบางพรรคที่ใช้ทุนจากตะวันตก หรือเหล่านายหน้าต่างด้าวที่เคยเป็นนายหน้าตัวกลางไซฟ่อนเงินก็อาจจะตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกัน

ยิ่งคนไทยตื่นรู้จักภัยคุกคามจากคนต่างด้าวกลุ่มนี้แล้วด้วย เราก็จะได้เห็นการแฉออกมาเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับฝ่ายการเมืองและกองทัพที่จะรักษาเสถียรภาพคนไทยอย่างไร

ศาลอาญาโลกเล็งเอาผิด "มิน อ่อง หล่าย" ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

(28 พ.ย. 67) อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ได้ยื่นคำร้องออกหมายจับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากกรณีการประหัตประหารชาวโรฮีนจาที่นับถือศาสนาอิสลาม ตามรายงานของรอยเตอร์  

รัฐบาลทหารเมียนมาตอบโต้ผ่านแถลงการณ์ว่า เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิก ICC และไม่ยอมรับอำนาจศาลหรือคำแถลงใดๆ ของ ICC  

ชาวโรฮีนจากว่าล้านคนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ ตั้งแต่ปฏิบัติการโจมตีของกองทัพเมียนมาเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุว่าเป็น "ตัวอย่างชัดเจนของการล้างเผ่าพันธุ์" โดยรายงานยังชี้ว่าทหาร ตำรวจ และประชาชนบางกลุ่มในเมียนมามีส่วนร่วมในการทำลายหมู่บ้าน ทรมาน สังหารหมู่ และข่มขืนชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่  

เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีเจ้าหน้าที่

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในค่ายที่แออัดและขาดแคลนในบังกลาเทศ โดยโมฮัมเหม็ด ซูแบร์ นักวิจัยด้านโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัย ระบุว่า มิน อ่อง หล่าย คือผู้สั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาผู้บริสุทธิ์ และกองทัพภายใต้การบัญชาของเขาได้สังหารชาวโรฮีนจาหลายพันคน รวมถึงทำร้ายทางเพศผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างนับไม่ถ้วน  

นิโคลัส คูมจิอัน หัวหน้าคณะสอบสวนอิสระของสหประชาชาติ กล่าวว่า การร้องขอหมายจับนี้แสดงให้เห็นว่า "ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย" โดยขณะนี้คณะตุลาการ 3 คนของ ICC จะพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการออกหมายจับมิน อ่อง หล่าย  

กระบวนการพิจารณามักใช้เวลาราว 3 เดือน แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจในกรณีนี้ 

การขอหมายจับดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองต่อ ICC หลังการออกหมายจับผู้นำระดับสูงของอิสราเอล ซึ่งเป็นอีกกรณีที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติ

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฎข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘อาจารย์อุ๋ย’ ชี้!! ‘เมียนมาร์’ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ยิงเรือประมงไทย ละเมิด!! หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จี้!! รัฐบาลดำเนินการตอบโต้

(1 ธ.ค. 67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊กว่า

กรณีที่เรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย 3 ลำ จนทำให้ลูกเรือบาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 คน และจับกุมเรือประมงไทย 1 ลำพร้อมลูกเรือ 31 ไว้นั้น กฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) มาตรา 51 ให้สิทธิแก่รัฐสมาชิกในการใช้กำลังป้องกันตนเองโดยใช้อาวุธ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการรุกล้ำน่านน้ำหรือไม่ ด้วยหลักจารีตประเพณีและคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea) ซึ่งได้เคยวางหลักไว้ในคดี SAINT VINCENT AND THE GRENADINES V. GUINEA ว่า การใช้กำลังอาวุธด้วยการยิงเข้าใส่เรือประมงจนเกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของลูกเรือ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ 

ทั้งนี้ ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐทุกรัฐจักต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อทำการเข้าจับกุมเรือ แม้ว่าจะเป็นเรือที่ทำผิดกฎหมายก็ตาม เพราะการใช้กำลังอาวุธจะทำให้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้คนของชาติอื่นต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ซึ่งวิธีที่ยึดถือปฏิบัติกันมาในทางระหว่างประเทศเมื่อพบเรือต่างชาติที่ต้องสงสัย คือการเตือนด้วยเสียงหรืออาณัติสัญญาณในรูปแบบที่เห็นได้ชัดให้เรือต้องสงสัยนั้นหยุด และหากเรือต้องสงสัยนั้นไม่ตอบสนองหรือไม่หยุด เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าขึ้นเรือและใช้กำลังเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยได้ หรือหากเรือต้องสงสัยนั้นมีการใช้กำลังอาวุธยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้อาวุธยิงตอบโต้ได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่เมียนมายิงเข้าใส่เรือประมงไทยโดยไม่มีการเตือนหรือแจ้งล่วงหน้าให้หยุดเรือจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งรัฐบาลไทยต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเยียวยาความเสียหาย และปล่อยตัวลูกเรือที่ถูกจับโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินมาตรการตอบโต้ (retortion/reprisal) เช่น ส่งทูตกลับประเทศ ปิดน่านน้ำ ปิดชายแดน จำกัดการนำเข้าสินค้า บอยคอตสินค้า ตัดความช่วยเหลือต่าง ๆ กับประเทศเมียนมา ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของประเทศไทยและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนไทยที่ประสบเหตุ อย่างเต็มที่ ด้วยความปรารถนาดี 

‘เมียนมา’ พร้อมช่วยเหลือ ‘ไทย’ เจรจากับ ‘ว้า’ ชี้!! ต้องแสดงความจริงใจ ไม่ใช่เล่นปาหี่

มาวันนี้เอย่ามีข่าวล่าสุดที่หลุดมาจากแหล่งข่าวไทใหญ่ว่าล่าสุดมีการเจรจาทางลับที่เชียงใหม่กับทางกองทัพเมียนมาล่ม โดยฝั่งเมียนมากล่าวว่า

1. การแก้ปัญหาชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมามีการคุยมานานแล้ว แต่ประเด็นคือไทยกับเมียนมาถือแผนที่คนละฉบับกับเมียนมาทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนและตลอดมามีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยกันแต่ความไม่สงบในประเทศทั้งฝั่งไทยและเมียนมาเองที่เราสงบเขามีปัญหา พอเขาสงบทางเราเกิดความวุ่นวาย นั่นทำให้ยังสามารถปักปันเขตแดนให้แล้วเสร็จได้

2. ฝั่งเมียนมาพร้อมช่วยเหลือไทยฝ่ายไทยในการเจรจากับว้า แต่แหล่งข่าวระดับสูงของเมียนมาบอกว่าถ้าให้เมียนมาขยับ 9 จุดที่มีการล้ำเขตแดนบริเวณฐานทหารว้ามา ไทยก็มีจุดที่ล้ำกว่า 20 จุด ที่มีการรุกล้ำเขตแดนฝั่งเมียนมาด้วยเช่นกัน

3. ฝั่งเมียนมาบอกว่าการแก้ปัญหาชายแดนต้องแสดงความจริงใจ จริงจังไม่เล่นปาหี่  ต้องมีการคุยในระดับคณะกรรมการชายแดนและการทูตควบคู่กันไป ไม่ใช่จบกันแค่พูดคุยทางลับเท่านั้น

4. ฝั่งไทยต้องส่งเสริมสนับสนุนความเป็นมิตรกับฝั่งเมียนมา ในด้านการช่วยจัดการรักษาเสถียรภาพให้เมียนมาด้วย ไม่ใช่หลับหูหลับตาไม่รับรู้ให้ปล่อยให้กลุ่มต่างๆใช้ไทยเป็นแหล่งฟอกเงินและส่งทรัพยากรและยุทโธปกรณ์ให้แก่ฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมา

ฝั่งไทยเองก็ใช่ย่อยล่าสุดมีข่าวหลุดออกมาจากแหล่งข่าวจากกลุ่ม NGO สามนิ้วว่ากองทัพไทยมีการติดต่อผ่านนักวิชาการที่มีสายสัมพันธ์ดีกับกลุ่ม NGO ที่ต่อต้านกองทัพเมียนมาเพื่อจะหาทางเข้าไปคุยกับว้า เอย่าจึงแค่อยากตั้งคำถามว่าตลอดเวลากลุ่มสามนิ้วด้อยค่าทหาร ด้อยค่าสถาบันมาตลอด แต่ทำไมถึงเรียกใช้คนเหล่านี้เป็นคนกลาง หรือกองทัพไทยยังถูกกลุ่มนี้ด้อยค่าไม่พออีกหรือ

สุดท้ายเอย่ามาวิเคราะห์ว่าจุดเริ่มต้นในการกระพือข่าวครั้งนี้ใครคือผู้ได้รับผลประโยชน์และกระสุนนัดแรกมาจากใคร จากแหล่งข่าวทั้งกูรูกองทัพฝั่งไทยเอง ฝั่งว้าเองรวมกระทั่งแหล่งข่าวระดับสูงจากฝั่งเมียนมาก็มองตรงกันว่า ศึกนี้คนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ไทยและเมียนมาแต่เป็นกองกำลัง RCSS ของเจ้ายอดศึกนั่นเอง

ที่ผ่านมาว้าเปิดศึกกับ RCSS หลายครั้งจะด้วยเหตุผลที่เป็นชนักติดหลังว้ามาตลอดที่ RCSS อ้างว่าทำศึกกับว้าเพราะกำจัดยาเสพติดหรืออะไรก็ตาม อย่าลืมว่ามันมีอะไรอยู่เบื้องหลังที่เราไม่รู้เสมอ และหากพิจารณาแล้ว สงครามระหว่างไทยกับว้าครั้งนี้ คนที่ไม่ได้เกี่ยวแต่มีการปล่อยข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องคือฝั่งกองทัพไทใหญ่นั่นเอง ดังนั้นไทยเองต้องควรจับตาเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไม่กะพริบตา กระสุนนัดแรกแน่นอนว่าไม่ได้มาจากฝั่งไทยแน่ และว้าก็คงไม่หาญกล้าที่จะเป็นคนเปิดก่อนแน่นอน ดังนั้นศึกนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสงครามจากมือที่ 3 ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเข้าสู่สงครามกับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มว้าที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับจีน และพยายามจะออกสื่อเสนอตัวเป็นผู้ช่วยกองทัพไทยในการรบครั้งนี้ด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วศักยภาพของกลุ่ม RCSS ไม่สามารถเทียบว้าได้ เพียงแต่อยู่ในชัยภูมิที่ดีและหากศึกดอยหัวม้าไทยชนะ RCSS ก็หวังว่าจะได้ฐานที่ดอยหัวม้านี้กลับมาใช้ประโยชน์กับกลุ่มของตนอีกครั้ง เหมือนสมัยครั้งที่ฐานนี้เป็นของขุนส่าซึ่งตอนนั้นขุนส่าอยู่กับเจ้ายอดศึกนั่นเอง

คนไทยเองก็ควรที่จะเพลาๆ ความคลั่งชาติลงบ้าง เรารักชาติได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทะเลาะกับใครจนคู่กรณีตัวจริงเอาเราไปชนกับคู่ปรับของเขาแทน สุดท้ายเอย่าหวังว่ากองทัพไทยก็น่าจะมีวิธีในการติดต่อกองทัพว้าโดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพากลุ่มที่ด้อยค่ากองทัพนะคะ

ว่าไปแล้วว้าก็ไม่ใช่ผู้ผลิตยาเสพติดกลุ่มเดียวอย่างที่เราคิดเสมอไป ล่าสุดกลุ่ม PDF ได้ตั้งโรงงานในบ่อนตรงข้ามบ้านช่องแคบ อ. พบพระ จ. ตาก อาศัยพื้นที่อิทธิพลของ พันเอก ไซ จอ ละ หรือ โกไซ ผลิตยาและขนเป็นกองทัพมดเข้ามาในไทยเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าเงินสนับสนุนจากตะวันตกลดลง และรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางไม่พอเพราะด่านจากที่เคยเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำกลับมีด่านลอยเพิ่มขึ้นมา 10 เท่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่มีสงครามที่เมียวดี นั่นทำให้รายได้ที่จัดเก็บในแต่ละด่านลดลงอย่างชัดเจน งานนี้ทหารไทยก็เหนื่อยหน่อยนะคะ แต่เอย่าและคนไทยอีกจำนวนมากเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ตัวเลขบ่งชัด!! ‘แรงงานต่างด้าว’ แห่ทะลักเข้าไทยฉ่ำ เหตุสวัสดิการเย้ายวนทั้งรักษาพยาบาล - การศึกษา

เอย่าเห็นคนมักพูดกันตอนนี้ว่าต่างด้าวครองเมืองแล้ว เพราะไปที่ไหนก็เจอแต่ต่างด้าวโดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่คนไทยผู้รับบริการรู้สึกเหมือนกลายเป็นบุคคลชั้นสองไปแล้ว  มาดูจากข้อมูลย้อนหลังสิบปีจะพบว่าในปี พ.ศ. 2557 มีแรงงานต่างด้าวที่ลงในระบบอยู่ 1,444,747 คน แต่มาถึงปี 2567 พบว่าขนาดยังไม่ครบปีเรามีแรงงานต่างด้าวในระบบอยู่ถึง 3,289,536 คน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนเมียนมานั่นเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้แล้วอีกเรื่องที่ต้องกล่าวถึงคือการให้สวัสดิการกับแรงงานต่างด้าวเหล่านี้โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้จะสามารถซื้อบัตรประกันสังคมได้  โดยราคาบัตรรักษาพยาบาลจะมีราคาตั้งแต่ 365 บาทต่อปีจนถึงราคา 3,200 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อมาดูจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนบัตรประชากรต่างด้าวแล้วพบว่า ในปีงบประมาณ 2564-65 มีจำนวน 541,905 รายในขณะที่ปีงบประมาณ 2566-67 มีผู้ขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 551,662 ราย จากสถิติพบว่าเพิ่มขึ้น 1.8% โดยบัตรที่มีการขึ้นทะเบียนมากที่สุดคือบัตรราคา 3,200 บาทต่อปี ซึ่งมีอัตราผู้ขึ้นทะเบียนสูงสุดเป็นร้อยละ 30 ของทั้งกลุ่ม โดยจากผู้ขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาถึง 68% ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงได้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมชาวเมียนมาถึงมาทำบัตรสวัสดิการนี้ได้มากมายเหลือเกิน จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยยังเผยอีกว่าจำนวนคนต่างด้าวที่มาแห่ทำบัตรสวัสดิการดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่และกรุงเทพ เป็นหลัก

สวัสดิการที่ต่างด้าวได้รับหากมีประกันสังคมคือ การประกันสุขภาพจะครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ การรักษา พยาบาล การควบคุมและป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพและ การฟื้นฟูสภาพร่างกายอันรวมถึงการฉีดวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กด้วย โดยจะไม่ครอบคลุมในรายการดังต่อไปนี้

1) โรคจิต 
2) การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด 
3) ผู้ประสบภัยจากรถที่สามารถใช้สิทธิตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 
4) ผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ที่สามารถใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 
5) การรักษาภาวะมีบุตรยาก 
6) การผสมเทียม 
7) การผ่าตัดแปลงเพศ 
8) การกระทำใด ๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

ก็เพราะสวัสดิการประเทศไทยมันดีอย่างนี้นี่เอง ต่างด้าวโดยเฉพาะชาวเมียนมาที่มีพวกหัวโจกเป็นพวกมาก่อนและสมอ้างว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แล้วได้บัตรสัญชาติไทยจึงพยายามแห่แหนกันมาเมืองไทยพร้อมกับตั้งตนเป็นตัวตั้งตัวตีนายหน้าทำบัตรพวกนี้ให้ด้วย สังเกตได้จากตามโซเชียลมีเดียจะเห็นได้ว่ามีการโฆษณากันอย่างโจ๋งครึ่มยังไม่พอแถมรู้อีกว่าหากถือบัตรไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาฟรีของ สปสช. ยิ่งทำให้คนพวกนี้กระเหี้ยนกระหือรืออยากเป็นคนไทยถึงขั้นยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ได้เป็นชาวชาติพันธุ์เพื่อสักวันหนึ่งจะมีโอกาสได้บัตรประชาชน

อีกอย่างที่ดังในกลุ่มคนพม่าก็คือเรื่องการได้รับการศึกษาภาคบังคับฟรี และหากลูกพวกเขาโตจนอายุ 20 ปีบริบูรณ์คนเหล่านี้จะขอสัญชาติไทยได้ ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ และนั่นทำให้เป็นแผนระยะยาวที่พ่อแม่ชาวเมียนมาฝากความหวังไว้กับรุ่นลูกของเขา

เอย่าไม่ได้เป็นคนที่ต่อต้านการที่ต่างชาติอยากได้สัญชาติไทยแต่เราควรมีการคัดเลือกเอาแต่บุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพทั้งทางด้านการศึกษาและการเงินไม่ใช่เอาแค่คนที่มีเงินจ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะอย่าลืมว่าเราได้พิสูจน์แล้วว่าคนเหล่านี้พอเวลาไทยเกิดปัญหากับชาวชาติพันธุ์เขา เขาเลือกชาวชาติพันธุ์ด้วยกันเองนะไม่ได้เลือกอยากเป็นคนไทย ดังนั้นการเป็นคนไทยเหล่านี้คือประตูแห่งความสะดวกสบายของพวกเขาเท่านั้น ผู้ที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ควรตรึกตรองไว้บ้างก็ดีนะคะ

‘ผู้ประกอบการไทย’ ไม่ต้องกังวลขาดแคลนแรงงาน แม้รัสเซียเซ็น MOU ให้เมียนมาส่งแรงงานถึง 5 ล้านคน

มีรายงานไม่นานมานี้ว่า ทางรัสเซียได้ตกลงเซ็นต์ MOU กับเมียนมาในการที่จะส่งแรงงานให้แก่รัสเซียจำนวน 5 ล้านคน

ประเด็นขาดแคลนแรงงานเป็นผลมาจากความยืดเยื้อของสงครามในยูเครนทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องออกไปเป็นทหาร 

ทางรัสเซียเผยว่าแรงงานดังกล่าวจะเข้ามารับผิดชอบในส่วนการกสิกรรมและปศุสัตว์ โดยแรงงานทั้งหมดทางรัสเซียจะสอนภาษารัสเซียให้เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร

ที่ผ่านมาทางการเมียนมามีการทำ MOU ส่งคนงานไปหลายประเทศทั้งไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่นหรือแม้กระทั่งลาว แต่หลายประเทศทางผู้สมัครจะต้องมีการออกค่าใช้จ่ายก่อนหรือต้องมีผลทดสอบทางภาษาจึงสามารถไปทำงานได้

จากประเด็นนี้หลายฝ่ายคิดว่าอาจจะกระทบต่อแรงงานในไทย แต่สำหรับเอย่ามองว่า หากรัฐบาลไทยที่พยายามออกหนทางฟอกขาวให้แรงงานที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวว่าประเทศเราจะขาดแคลนแรงงานแน่นอน อีกอย่างแรงงานที่สมัครใจไปทำงานรัสเซียเป้าหมายชีวิตเขาก็แตกต่างจากคนที่มาทำงานในไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยไม่ต้องกังวลอะไร เพราะอย่างไรก็ตามจำนวนคนที่ลักลอบเข้าประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลง แต่อย่างใด

สื่อนอกปูดรัฐบาลทหารเตรียมจัดเลือกตั้งปีหน้า ส่ง 'ตาน ฉ่วย' หารือคุยรัฐบาลไทยก่อนถกมาเลย์

(19 ธ.ค. 67) ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคมนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเมียนมาจำนวน 2 การประชุมด้วยกัน โดยการประชุมแรกมีชาติเพื่อนบ้านของเมียนมาเข้าร่วมรวมถึงจีน บังกลาเทศและอินเดีย ส่วนอีกการประชุมเป็นการประชุมในกรอบอาเซียน

รอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวรัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งนาย ตาน ฉ่วย มาเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯในวงการประชุมทั้งสองวัน โดยแหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า เมียนมามีแผนจะจัดการเลือกตั้งในประเทศขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลทหารผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้

ความคืบหน้าดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ปี 2025 มาเลเซียเตรียมรับตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งอาเซียนยังล้มเหลวในการผลักดันให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อลดความขัดแย้งภายในประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่กองทัพทำรัฐประหารในปี 2021 ส่งผลให้เกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

แม้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและแรงกดดันจากหลายฝ่าย แต่รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในปี 2025 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างภาพทางการเมือง

จีนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมา ได้แสดงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการเลือกตั้งปี 2025 ขณะที่ผู้นำไทยเรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้นกับเมียนมา

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือด้านความมั่นคงชายแดนและอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมาชิกอาเซียนจะพบกันเพื่อพิจารณาฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งถือเป็นแผนสันติภาพสำหรับวิกฤตเมียนมา

นอกจากนี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีหน้า ได้แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านอาเซียน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา ซึ่งถือเป็นความพยายามที่เมียนมาหารือกับรัฐบาลไทยก่อนที่จะหารือกับรัฐบาลมาเลเซียซึ่งจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน

ทั้งนี้ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียดและขาดความโปร่งใส เนื่องจากกลุ่มกบฏในเมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมวงหารือ ซึ่งอาจทำให้การเจรจาแก้ไขปัญหายุ่งยากมากขึ้น

รมว.กต.เผยเวที 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา-เวทีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการลุล่วงด้วยดี - ชี้เป็นเวทีสำคัญให้เมียนมาร่วมมือกับเพื่อนบ้านเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา - ย้ำทุกประเทศอาเซียนยึดฉันทามติ 5 ข้อ 

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6 ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา ทั้งไทย สปป.ลาว จีน อินเดีย และบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน และการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนซึ่ง สปป.ลาวเป็นประธาน และประเทศไทยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการหารือเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) ว่า การประชุมเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. เป็นโอกาสให้มีการหารือระหว่างเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศพร้อมกันเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงบริเวณชายแดน และอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงออนไลน์ เพื่อหาแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมความพยายามของอาเซียนใน การแก้ไขปัญหาเมียนมาผ่านแนวทางการเจรจาได้ในท้ายที่สุด ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อมีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและจริงใจ รวมถึงการแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งการหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ก็ถือได้ว่าประสบผลสําเร็จอย่างดี เพราะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เมียนมาต่างแสดงความพร้อมสนับสนุนเมียนมาในการหาข้อยุติภายในประเทศ 

ส่วนการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนซึ่ง สปป.ลาวเป็นประธานนั้น นายมาริษ เปิดเผยว่า ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงยึดฉันทามติ 5 ข้อ หรือ 5 Point Consensus และหวังเห็นพัฒนาการ หรือมีสัญญาณเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาเมียนมา แต่ท้ายที่สุด การตัดสินใจจะเป็นไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับเมียนมา หรือหากพูดตรงๆ ก็คือ ''ไม่มีใครรู้จักประเทศเมียนมา ดีเท่ากับประเทศเมียนมาเอง'' 

เมียนมาแจกวัคซีน 2 ล้านโดส รับมืออหิวาตกโรคระบาด

(25 ธ.ค. 67) กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาเปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคมว่า ได้แจกจ่ายวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดรับประทานให้ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา  

รายงานจากสำนักข่าวซินหัวระบุว่า การระบาดของอหิวาตกโรคในภูมิภาคย่างกุ้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาต้องแจ้งสถานการณ์ต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) และเพิ่มความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด  

กระบวนการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคและรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top