Friday, 4 July 2025
เมียนมา

สุดแปลกใจผ่านไป 6 ปี ‘ประชากรเมียนมา’ ยังเท่าเดิม สวนทางตัวเลขทะลักเข้าไทยกว่า 10 ล้านคน บางส่วนรอลุ้นโอนสัญชาติ

ไม่นานมานี้ พลเอก อาวุโส มินอ่องหล่าย ประกาศออกสื่อในที่ประชุมของ SAC ว่า ได้สำรวจสำมะโนประชากรเสร็จสิ้นแล้ว และประชากรทั้งหมดมีเพียง 51 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งก่อนของเมียนมาในปี 2019 พบว่าในปี 2019 ก็มีประชากรเพียง 51.4 ล้านคนเท่านั้น ที่น่าสนใจประการแรกคือ ประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้พอเข้าใจได้ เพราะจากข้อมูลที่เอย่ามีในมือตอนนี้นับได้ว่าน่าจะชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ทั้งเข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมถึงพวกที่มาแบบถูกกฎหมายครึ่งเดียวอย่างเช่น ทำวีซ่ามาเรียนแต่ความจริงคือหนีมาอะไรแบบนี้

คำถามคือ คนที่อยู่นอกประเทศเหล่านี้ยังถือว่าเป็นคนสัญชาติเมียนมาไหม

เอย่าได้คำตอบว่าสำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศอย่างถูกต้องไม่น่าเป็นห่วงเพราะคนเหล่านี้ได้มีการขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว แต่สำหรับคนที่หนีออกไปนอกประเทศนั้น ที่หลายกระแสอ้างว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะถูกยกเลิกสัญชาติ และกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด

สุดท้ายคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่พยายามที่จะดิ้นรนเพื่อให้ได้สัญชาติในไทย และกลายเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ต้องมาโอบอุ้มคนเหล่านี้ เอย่าก็ต้องถามว่ามันใช่เรื่องไหม  และประเทศไทยได้อะไรจากการให้สัญชาติคนเหล่านี้

ล่าสุดมีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ท่านทูตคนก่อนเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารที่ไทยก่อนจะไปใหญ่โตที่อเมริกาและกลับมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทูตครั้งนี้อาจจะมีนัยยะด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะท่านทูตคนเก่ารู้จักคุ้นเคยกับวิถีไทยเป็นอย่างดี ในขณะที่ท่านทูตคนใหม่นั้นดูทรงแล้วไม่เคยสัมผัสกับวิถีไทยมาก่อน 

เราคงต้องดูว่าการเปลี่ยนผ่านทูตครั้งนี้จะส่งผลอะไรกับเมืองไทยหรือไม่ แต่ดูแล้วเหมือนรัฐบาลไทยขณะนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะก็ตั้งหน้ารับคนต่างด้าวให้ได้สัญชาติไทยถึงขนาดที่คุณเต้ อาชีวะ แฉว่ามีต่างด้าวบางคนที่เคยโดนขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศมาแล้วแต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในไทยอย่างสะดวกสบายกับชื่อใหม่ จนน่าสงสัยว่าทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ดี ฝ่ายปกครองก็ดีไม่มีการตรวจคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศกันเลยหรือไง

จีนเรียกร้อง 'ไทย-เมียนมา' หยุดภัยคุกคามฉ้อโกงออนไลน์อย่างจริงจัง

(23 ม.ค. 68) หลิวจิ้นซง ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชีย สังกัดกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีนหวังว่าไทยและเมียนมาจะปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดนด้วยมาตรการที่เข้มงวด และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

หลิวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการพบปะหารือแยกกับฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำจีน และติน หม่อง ชเว เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำจีน โดยหลิวได้แสดงความกังวลและหารือถึงความร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หลิวกล่าวว่าเกิดเหตุฉ้อโกงทางโทรคมนาคมร้ายแรงหลายคดีในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์สำคัญของประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ

จีนหวังว่าทั้งไทยและเมียนมาจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ใช้มาตรการเข้มงวดปราบปรามการกระทำผิดลักษณะนี้ รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล

จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายทวิภาคีและพหุภาคีร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนในหมู่ประชาชน และรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมทั่วไป

ด้านเอกอัครราชทูตไทยและเมียนมาประจำจีนกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับข้อกังวลของจีนและรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อหลายเหตุการณ์ฉ้อฉลที่เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและเมียนมาในการปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาดผ่านมาตรการที่ครอบคลุมและความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกกักขัง กำหนดบทลงโทษรุนแรงต่อแก๊งอาชญากรอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย เสริมสร้างการควบคุมชายแดนและกำกับดูแลพื้นที่สำคัญ ตลอดจนจัดตั้งกลไกระยะยาวเพื่อกำจัดแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามพรมแดน

ทำไม?? ‘เมียนมา’ กล้าด่า!! ‘ไทย’ ออกสื่อขนาดนั้น ชำแหละมหากาพย์ ‘แดนสแกมเมอร์’ ริมชายแดน ตอนที่ 1

(26 ม.ค. 68) เรื่องที่เอย่าเขียนนี้เริ่มต้นมาจากไม่กี่วันที่ผ่านมานี้มีข่าวใหญ่ที่ลงในหน้าสื่อของเมียนมาและไทยที่กล่าวว่าผู้นำเมียนมาอ้างว่าไทยให้การสนับสนุนสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่ริมชายแดนเมียนมา  ดังนั้นวันนี้เอย่าจะมาเล่าให้ทุกคนรู้กันตั้งแต่ต้นว่าทำไมฝั่งเมียนมาถึงกล้าด่าไทยออกสื่อขนาดนั้น

เมืองโจร The Origin

ทุกท่านคงรู้จักกันว่าอาณาจกรสแกมเมอร์ตอนนั้ที่มีก็คือ ฉ่วยก๊กโก  เคเคปาร์ค หวันหยา บ้านช่องแคบและตรงบ้านวาเล่ย์  แต่ถ้าย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดเมืองโจรแห่งแรกนั่นก็คือ ฉ่วยก๊กโก

ฉ่วยก๊กโก ได้รับการอนุมัติครั้งแรกในยุคที่นางอองซานซูจียังรั้งตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐ   ซึ่งในขณะนั้นมีสัญญาชัดเจนว่ามีการตกลงกันว่าการพัฒนาเมืองมีขนาดแค่ไหน  แต่พอระยะเวลาผ่านไป ปรากฎว่ากลุ่มทุนจีนได้สร้างเกินพื้นที่ ทางกองทัพเมียนมาก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางเข้าไปควบคุมดูแล เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จนในยุคนั้นเจ้าหน้าที่ถูกจับติดคุกไปหลายคน  พอหลังจากรัฐประหาร มิน อ่อง หล่ายได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเรื่องให้ยกเลิกใบอนุญาตแต่หลังจากเกิดการคว่ำบาตรจากต่างประเทศ  ทำให้ทางกองทัพต้องยกเลิกประกาศนี้เพราะความข้าวยากหมากแพงของชาวบ้านในพื้นที่

ต่อมาคือ เคเคปาร์ค นี่คือพื้นที่ของชิตตู ทีนี่มีประเด็นตรงที่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น สงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเมียนมาได้ผลักดันทหารเมียนมาในพื้นที่ให้ออกไปจากจุดนี้ ภายหลัฃสงครามสงบ กองกำลัง BGF ของชิตตูจึงเข้ามาควบคุมตรงนี้และสร้างสัมพันธ์กับจีนเทาในที่สุด

ส่วนที่บ้านช่องแคบที่นายซิงซิงโดนจับไปเรียกค่าไถ่นั้นเป็นของ DKBA ร่วมกับจีนเทา เช่นเดียวกันกับตรงบ้านวาเลย์อันนั้นเป็นของกองกำลัง KNU  และที่เมืองหวันหยาก็เช่นเดียวกันที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของชนกลุ่มน้อยในตอนนี้เพราะทางรัฐบาลกลางเมียนมาไม่สามารถเข้าไปจัดการควบคุมได้นั่นเอง

รวบผู้ต้องสงสัยคดีหลอก 'ซิงซิง' ลั่นปราบเด็ดขาดค้ามนุษย์สแกมเมอร์

(27 ม.ค. 68) เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนสามารถจับกุมและนำตัวผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความอันเป็นที่สนใจของสาธารณชนกลับประเทศสำเร็จ โดยคดีความดังกล่าวเป็นกรณีนักแสดงชายชาวจีนถูกหลอกลวงและกักขังที่ชายแดนไทย-เมียนมาอย่างผิดกฎหมาย

เมื่อวันอาทิตย์ (26 ม.ค.) กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนระบุว่าผู้ต้องสงสัยแซ่เหยียนถูกนำตัวกลับถึงจีนเมื่อวันเสาร์ (25 ม.ค.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะทำงานเฉพาะกิจของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย รวมถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย

ทั้งนี้ หลายคดีความเกี่ยวกับกรณีพลเมืองจีนถูกหลอกลวงและกักขังที่ชายแดนไทย-เมียนมาอย่างผิดกฎหมาย ที่ซึ่งเหยื่อถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมขบวนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นวงกว้าง

หวังซิง นักแสดงชายชาวจีน เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. แต่ขาดการติดต่อบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ติดตามความเคลื่อนไหวและช่วยเหลือเขาสำเร็จ ซึ่งหวังถูกระบุว่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์

เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เสริมว่าตำรวจจะเพิ่มความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ดำเนินการปราบปรามขั้นเด็ดขาด และประสานงานช่วยเหลือเพื่อปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองจีนอย่างประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ชำแหละ!! มหากาพย์ ‘แดนสแกมเมอร์’ ริมชายแดน ตอนที่ 2 เผย!! มีสายลึกลับ เสนอ 20 ล้าน หลังเพิ่งตัดสัญญาณไปไม่นาน

จากตอนแรกที่เอย่า นำเสนอเรื่องของที่มาของเมืองสแกมเมอร์มาแล้วว่ามีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เอย่าจะมาเสนอตอนต่อในชื่อที่ว่า ‘ทำไมไทยคือจำเลย’

เอย่าได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลเมียนมามาว่าการที่ทางเมียนมามั่นใจมากถึงขั้นกล่าวหาว่าฝั่งไทยให้การสนับสนุนกลุ่มจีนเทาเหล่านี้ก็เพราะฝั่งไทยมีการส่งทั้งสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตลอดแม่น้ำข้ามไป มีทั้งตั้งเสาร์สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้สัญญาณข้ามไปฝั่งตรงข้าม และการดึงไฟข้ามจากฝั่งไทยไปใช้ และเรื่องบัญชีม้าในประเทศไทยนะที่หลายคนเปิดไว้ให้กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ใช้  ทั้งรู้ก็ดีและรู้เท่าไม่ถึงการก็ดีว่าแล้วเรามาขุดกันดีกว่า

เรื่องสายสัญญาณข้ามแม่น้ำ นี่เป็นวิธีการในอดีตที่กลุ่มมิจฉาชีพริมชายแดนทำกันโดยคนกลุ่มนี้จะจ้างคนในพื้นที่ให้มาลากสายจากตู้ชุมทางส่งสัญญาณสวมกับตัวส่งต่อสัญญาณที่ร้อยสายเข้าไปในท่อข้ามแม่น้ำเมยไป ถามว่าค่ายอินเทอร์เน็ตไม่มีการตรวจสอบเลยหรือว่าอยู่ดี ๆ บางจุดมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก และไม่คิดจะลงพื้นที่มาตรวจสอบบ้างหรือ

ส่วนค่ายมือถือนั้นแรกเริ่มก็แค่มีการซื้อซิมไปใช้งานพอมีการใช้งานมากขึ้น แทนที่ทางค่ายมือถือจะมาตรวจสอบว่าใครใช้ แต่กลับให้คนมาตั้งเสาสัญญาณชิดริมชายแดนแทน แบบนี้ก็หวานเจี๊ยบแก๊งคอลฯเลยสิ ถามว่าก่อนค่ายมือถือจะมาวางเสาสัญญาณต้นเป็นล้านไม่คิดจะลงมาสำรวจก่อนเหรอว่าใครเป็นผู้ใช้

กลุ่มที่ 3 เรื่องไฟฟ้า ล่าสุดเอย่าได้รับรายงานมาว่ากลุ่มมิจเหล่านี้เอาไฟฟ้าจากทางไทยไปโดยผ่านจากท่าข้ามแดนที่ตั้งอยู่ริมเมย ถามจริง ๆ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีการมาตรวจสอบและเอาผิดกันบ้างหรือยัง

สุดท้ายคือกลุ่มบัญชีม้าในไทยที่เป็นแหล่งพักเงินของกลุ่มคอลฯ ถามว่าทางธนาคารพาณิชย์ไทยไม่คิดจะตรวจสอบบ้างเลยเหรอ 

สุดท้ายที่เอย่าได้ทราบมาจากแหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทยว่าในวันที่ไปจับทำลายเสาส่งสัญญาณ พบว่าตัวส่งสัญญาณส่วนใหญ่ที่เคยตั้งอยู่กลับถูกถอดไปก่อนที่เจ้าหน้าที่ลงไม่กี่ชั่วโมง ถามว่าไทยเรามี ‘เกลือเป็นหนอน’ ใช่หรือไม่  และที่สำคัญคือหลังจากตัดสายสัญญาณไป มีสายลึกลับโทรข้ามฝั่งจากเมียวดีถึงข้าราชการในพื้นที่เสนอเงินถึง 20 ล้านบาทต่อต้นให้ต่อสายสัญญาณให้

ก็มันเป็นแบบนี้ไงละ มันถึงปราบกันไม่หมดเสียที ตราบใดที่ข้าราชการในพื้นที่ นายก อบต. เอย รวมถึงเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า หรือ บริษัทเอกชนที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตกับธนาคารพาณิชย์ไม่เดือดร้อน มันก็ปราบกันไม่จบเสียที

เอย่าบอกแล้วรัฐบาลทหารเมียนมาเขาเอาจริง และหลังจากที่ไทยเพิกเฉยกับคำขอร้องของฝั่งเมียนมา หลายต่อหลายครั้งก็หวังว่าเราคงจะไม่ต้องอายนะ หากวันใดวันหนึ่งทางรัฐบาลทหารเมียนมาจะเปิดหลักฐานที่เขามีถึงขั้นกล้าด่าฝั่งไทยออกสื่อแบบนี้ เชื่อว่าหลักฐานดังกล่าวน่าจะมัดตัวให้ฝั่งไทยเถียงไม่ออกกันเลยทีเดียว

‘สำนักข่าวอิศรา’ เผย!! ‘ทรัมป์’ ระงับทุนการศึกษา นศ.เมียนมา ลั่น!! ต้องการให้เงินให้ไหล ไปทำอย่างอื่น ที่เหมาะสมกว่า

(1 ก.พ. 68) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศถึงการระงับเงินทุนช่วยเหลือด้านการศึกษามูลค่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,518,884,289 บาท) สำหรับนักเรียน นักศึกษาชาวเมียนมา

โดยเงินทุนดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่มีการอนุมัติโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนนักเรียนในเมียนมาตามนโยบาย DEI (นโยบายสนับสนุนความหลากหลาย,ความเท่าเทียม และการเปิดรับคนทุกคน) ภายใต้ชื่อโครงการทุนการศึกษาความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก (DISP)

แนวคิดริเริ่มของทุนการศึกษานั้นเกิดขึ้นหลังกองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารในปี 2564 ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับแต่นั้น

ทั้งนี้ทุนการศึกษาดังกล่าวมีผู้ดูแลได้แก่ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) และสถานทูตสหรัฐฯในนครย่างกุ้ง ซึ่งได้มีการเริ่มเดินหน้าทุนการศึกษา DISP ที่กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.2567

โครงการทุนการศึกษา DISP มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าว่าจะช่วยเหลือนักศึกษากว่า 1,000 คนจากเมียนมาเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้คำสั่งระงับการสนับสนุนทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ Department Of Government Efficiency (D.O.G.E.) ซึ่งมีนายอีลอน มัสก์ รับผิดชอบกระทรวงนี้

ทางด้านของนายทรัมป์กล่าวถึงการระงับทุนการศึกษา DISP ว่า “เงิน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นเงินที่มากสำหรับทุนการศึกษาเพื่อความหลากหลายในเมียนมา คุณสามารถจินตนาการได้ว่าเงินนั้นจะไปไหน นี่คือประเภทของการจ่ายเงิน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ผมสามารถยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันและบอกคุณถึงสิ่งที่เราได้พบมา และเราต้องหาเงินพวกนี้อย่างรวดเร็วเพราะเราต้องการให้เงินให้ไหลไปยังที่ๆเหมาะสมกว่า”

ขณะที่สำนักข่าว DVB ของเมียนมาได้มีการไปสัมภาษณ์นักศึกษาเมียนมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้ทุนจากโครงการนี้ โดยนักศึกษารายนี้กล่าวยอมรับว่าทุน DISP ให้การช่วยเหลือกับนักเรียนนักศึกษาให้มีความต่อเนื่อง ดังนั้นการสูญเสียทุน DISP ไปก็เท่ากับว่าเป็นการสูญเสียสิทธิพิเศษที่นักศึกษาจะได้รับ และการจ่ายเงินค่าเทอมในปีถัดๆไปก็จะยากขึ้น

"จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนไม่เคยพูด หรือมีคำพูดในลักษณะตำหนิทางการไทย จึงควรหยุดการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว"

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า การเยือนไทยของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนเป็นการประสานงานในกรอบความร่วมมือของหน่วยงานความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศไม่ใช่ผู้ประสานงานหลักของการเยือนดังกล่าว จึงไม่ทราบรายละเอียด และสำหรับกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อความว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีนตำหนิทางการไทยนั้น จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จีน ไม่เคยพูด หรือมีคำพูดในลักษณะดังกล่าว จึงควรหยุดการเผยแพร่ข้อความดังกล่าว

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเองได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือในเวทีระหว่างประเทศในทุกระดับมาโดยตลอด และพร้อมให้ความร่วมมือ รวมถึงการประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อร่วมกันจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

ท่าขี้เหล็กหันพึ่งไฟฟ้า สปป.ลาว เผยเตรียมต่อสายไฟไว้แล้ว

(5 ก.พ.68) เพจ Tachileik News Agency สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่า  หลังจากรัฐบาลไทยประกาศเตรียมตัดไฟที่ส่งไปยังเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี ทางแผนกพลังงานไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กได้เตรียมแผนสำรอง โดยจะใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ทดแทนในพื้นที่ดังกล่าว

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับระบบไฟฟ้าของเมืองท่าขี้เหล็กระบุว่า ทางคณะกรรมการได้วางแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินล่วงหน้าแล้ว โดยได้ดำเนินการสร้างสายส่งไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สามารถรับไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ทันทีหากไฟฟ้าจากไทยถูกตัดขาด

รัฐบาลไทยตัดสินใจระงับการจ่ายไฟฟ้าไปยังฝั่งเมียนมา รวมถึงเมืองท่าขี้เหล็กและเมียวดี โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการดำเนินการปราบปรามการฟอกเงินของกลุ่มอาชญากรรมชาวจีนในพื้นที่ชายแดน การตัดไฟดังกล่าวมีผลตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2025

นอกจากนี้ ทางการไทยยังมีคำสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ชายแดนเมียนมาด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ผลจากการตัดไฟฟ้าของไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองต่าแล และเมืองขอบเขต ซึ่งเดิมพึ่งพาไฟฟ้าจากไทย แม้ว่าเมืองท่าขี้เหล็กจะสามารถใช้ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้ แต่ปัญหาการขนส่งเชื้อเพลิงที่ถูกระงับอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการในพื้นที่จะสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร แต่คาดว่าการพึ่งพาพลังงานจาก สปป.ลาว จะเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

กต.แจงช่วยเหลือ 4 ลูกเรือไทยในเมียนมา ประสานเต็มที่ ทั้งทางการเมือง-ทางด้านกงสุล

ตามที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศกรณีลูกเรือประมงไทย 4 คน ที่ถูกจับกุมโดยทางการเมียนมา นั้น

เมื่อวันที่ (5 ก.พ. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงบทบาทของกระทรวงต่างประเทศในเรื่องนี้ 2 ด้าน ดังนี้

1. การดำเนินการทางการเมือง กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอด โดยได้เข้าพบผู้แทนฝ่ายเมียนมาในหลายระดับเพื่อผลักดันให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คนโดยเร็ว และได้นำส่งหนังสือของญาติที่ขอให้ปล่อยตัวลูกเรือให้กับทางการเมียนมา และติดตามในหลายโอกาส บนพื้นฐานของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน รวมถึงเป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกการเข้าเยี่ยมลูกเรือของคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทางการเมียนมาได้อนุมัติคำขอของไทย

2. การดำเนินการด้านกงสุล นับตั้งแต่ลูกเรือไทยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับทางการเมียนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกเรือไทย รวมทั้งได้ติดต่อญาติของลูกเรืออย่างสม่ำเสมอ โดยผู้แทนกรมการกงสุลประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เดินทางไปพบปะและอำนวยความสะดวกให้แก่ญาติของลูกเรือที่จังหวัดระนอง และผู้แทนญาติลูกเรือได้เดินทางมาพบผู้แทนกรมการกงสุลที่กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังคำแนะนำในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พร้อมญาติลูกเรือ ได้เข้าเยี่ยมลูกเรือที่จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี ตลอดจนได้ประสานงานฝ่ายเมียนมาให้มีการเข้าเยี่ยมของญาติลูกเรือเป็นระยะ

ขอให้มั่นใจว่า การคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์และสวัสดิภาพของคนไทยเป็นหัวใจหลักของนโยบายต่างประเทศ โดยกรณีนี้มีความละเอียดอ่อนในภาพรวมความสัมพันธ์ของสองประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทนและแนบเนียนตามแนวปฏิบัติทางการทูต โดยกระทรวงฯ จะดำเนินการอย่างเต็มที่ต่อไป

ยกโขยงคืนบัตรประชาชน หลังสละสัญชาติเป็นพลเมืองสิงคโปร์

(5 ก.พ. 68) สื่อพม่าตีข่าว ชาวเมียนมานับร้อยชีวิตแห่คืนบัตรประชาชนให้สถานทูตฯ หลังขอสละสัญชาติเปลี่ยนเป็นสิงคโปร์ โดยเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568  เฟซบุ๊กเพจ The Irrawaddy ได้เผยแพร่ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ประชาชนชาวเมียนมากว่า 100 ชีวิตในสิงคโปร์ ได้สละสัญชาติเมียนมา หลังจากได้รับสัญชาติสิงคโปร์

ตามรายงานจากสถานทูตเมียนมาในสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ชาวเมียนมาจำนวน 278 คน ได้มอบบัตรประชาชนเมียนมาให้กับสถานทูตฯ หลังจากที่ได้รับสัญชาติสิงคโปร์แล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวในหัวข้อ  Nearly 300 Myanmar nationals in Singapore naturalized in 2024 to avoid returning home ซึ่งอ้างการเปิดเผยของสถานทูตเมียนมาประจำประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีชาวเมียนมาเกือบ 300 คน แสดงความจำนงขอสละสัญชาติ เพื่อไปรับสัญชาติสิงคโปร์

ตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนากำลังคนของสิงคโปร์ พบว่ามีชาวเมียนมากว่า 200,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top