Friday, 4 July 2025
เมียนมา

เมียนมาลุยสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 11 แห่ง อัดกำลังผลิตทะลุ 1,026 เมกะวัตต์

(5 ก.พ.68) สื่อท้องถิ่นเมียนมารายงานว่าปัจจุบันเมียนมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมด 11 โครงการ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 1,026 เมกะวัตต์ โดยรัฐบาลเมียนมากำลังเร่งรัดโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นการผลิตไฟฟ้าอันจะตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

คณะกรรมาธิการพัฒนาไฟฟ้าและพลังงานของเมียนมาระบุว่า 4 โครงการอยู่ในเนปิดอว์ 3 โครงการอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ 1 โครงการอยู่ในภูมิภาคพะโค และ 1 โครงการอยู่ในรัฐฉาน คิดเป็นกำลังการผลิต 530 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าไฮบริด (เครื่องยนต์ก๊าซและพลังงานแสงอาทิตย์) ในภูมิภาคมัณฑะเลย์และภูมิภาคมาเกว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 496 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากการลงทุนของท้องถิ่นและต่างประเทศ

รายงานเสริมว่าเมียนมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 27 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 8 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,371 เมกะวัตต์

สื่อนอกเผยไทยตัดไฟเมียนมา ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ธุรกิจจีนเทายังลอยตัว

(5 ก.พ.68) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ไทยได้ดำเนินการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และเชื้อเพลิงในพื้นที่ชายแดน 5 จุดของเมียนมา เพื่อกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่สะท้อนถึงกลุ่มธุรกิจจีนเทา

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ไทยได้หยุดการส่งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาใน 5 จุด ได้แก่ เมืองพญาตองซู รัฐมอญ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน และเมืองเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยการตัดไฟฟ้านี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่กำลังเติบโตขึ้น

รอยเตอร์ยังกล่าวถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการนี้มีจุดประสงค์ที่จะหยุดการสนับสนุนแก๊งมิจฉาชีพ และขณะนี้ไม่มีใครสามารถกล่าวหาว่าไทยมีส่วนสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม สื่อของเมียนมาได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เมียนมามีการพึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศอื่น ซึ่งอาจมีการกล่าวถึงไทยอย่างไม่เป็นทางการ

หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยเริ่มตัดการจ่ายไฟฟ้าไปยัง 5 จุดที่กล่าวถึง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขาดไฟฟ้าในช่วงเช้าของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยชาวบ้านในเมืองพญาตองซูกล่าวว่ากับรอยเตอร์ว่า ธุรกิจของชาวจีนยังสามารถดำเนินการได้จากเครื่องปั่นไฟ ขณะที่ธุรกิจท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างหนัก

“ในช่วงสองวันที่ผ่านมา เราเห็นเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่มาถึงเมือง และตอนนี้เครื่องปั่นไฟเหล่านั้นกำลังทำงาน ธุรกิจของพวกเขา รวมถึงฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงดำเนินการได้ แต่ธุรกิจของชาวบ้านท้องถิ่นต้องหยุดลง” ชาวบ้านในเมืองพญาตองซูรายหนึ่งกล่าว

จีนแถลงชื่นชมไทยตัดไฟ-เน็ตเมียนมา เดินหน้าทุบขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์

(6 ก.พ.68) นายหลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวแสดงท่าทีสนับสนุนมาตรการของรัฐบาลไทยในการระงับการจ่ายไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และการส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานปฏิบัติการของขบวนการอาชญากรรมออนไลน์ในเมียนมา 

โดยในการแถลงข่าวประจำวันที่กระทรวงการต่างประเทศจีนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับมาตรการของไทยที่มีขึ้นก่อนการเยือนจีนของนางแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย  

นายหลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ข้ามพรมแดนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาเป็นเรื่องร้ายแรง ทางการจีนให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าจีนยินดีให้ความร่วมมือกับไทยและประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าว  

“จีนสนับสนุนมาตรการที่เด็ดขาดของไทยและพร้อมขยายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปกป้องความปลอดภัยและสิทธิตามกฎหมายของพลเมืองจีนในต่างแดน รวมถึงรักษาความเป็นระเบียบในการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนจีนและประเทศต่าง ๆ” นายหลินเจี้ยนกล่าว

นายพลเร่งดันใช้โซลาร์เซลล์ ลดเสี่ยงอุตสาหกรรมสะดุด

(7 ก.พ.68) พลเอก โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSME) ของเมียนมา สนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในประเทศ

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะมิเรอร์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ MSME ในกรุงเนปิดอว์ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยพล.อ.โซ วิน เน้นย้ำถึงความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ในฐานะทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน

ปัจจุบัน เมียนมามีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมมากกว่า 6,300 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม โรงงานหลายแห่งต้องหยุดดำเนินการจากปัญหาต่าง ๆ ขณะที่กระทรวงพลังงานไฟฟ้ากำลังเร่งจัดหาไฟฟ้าทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

พล.อ.โซ วิน เปิดเผยว่า มีบริษัทบางแห่งเริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว และสามารถขยายกิจการได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจอื่น ๆ หันมาลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังชี้ว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง แต่ยังเปิดโอกาสให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนเข้าสู่โครงข่ายแห่งชาติ ทำให้สามารถคืนทุนจากการลงทุนในระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ในระยะเวลาไม่นาน

นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลเมียนมายังเดินหน้าผลิตพลังงานไฮบริดจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในหลายภูมิภาคและรัฐ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในระยะยาว

กต.เชื่อตัดไฟเมียนมา ไม่สะเทือนช่วย 4 ลูกเรือไทย

(7 ก.พ.68) กระทรวงการต่างประเทศมั่นใจว่าการตัดไฟฟ้าในเมียนมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทย 4 คน ที่ถูกควบคุมตัวบนเกาะสอง โดยย้ำว่าไทยยังคงเดินหน้าเจรจาเพื่อความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติอย่างเต็มที่ พร้อมหารือกับเมียนมาอย่างต่อเนื่อง

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าการตัดไฟฟ้าในเมียนมาเป็นผลจากการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีการพูดคุยกับหลายประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น จีน และเมียนมา ซึ่งการตัดไฟครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลต่อความพยายามในการช่วยเหลือลูกเรือไทย

สำหรับความคืบหน้าในการเจรจากับทางการเมียนมา นายนิกรเดช กล่าวว่า แม้ไม่สามารถประเมินผลได้เป็นเปอร์เซ็นต์ แต่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทั้งในด้านการเมืองและการกงสุล โดยได้มีการพบปะกับผู้แทนระดับต่าง ๆ ของเมียนมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยเหลือให้ญาติสามารถพบกับลูกเรือที่ถูกจับกุม และยืนยันการเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวลูกเรือไทยโดยเร็ว

‘ม็อบเมียวดี’ ปลุกปิด!! ‘สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา’ งดใช้!! สินค้าไทย หลังถูกตัด ‘ไฟฟ้า-น้ำมัน’ เข้าสู่วันที่ 4

(8 ก.พ. 68) หลังจากที่รัฐบาลไทย โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้หยุดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมา ตามมติของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในวันที่ 5 ก.พ. ทำให้มีประชาชนชาวเมียนมา เริ่มได้รับผลกระทบ จนทำให้มีกลุ่มประชาชนชาวเมียนมา และผู้ได้รับผลกระทบจากการตัดกระแสไฟฟ้าและการงดส่งน้ำมัน จะรวมตัวกันที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และ แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียนมา) 

สถานการณ์ล่าสุด การจัดการชุมนุม ของ ประชาชนชาวเมียนมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมา ประสานงานกับรัฐบาลไทย ให้ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการตัดไฟฟ้า และการงดส่งน้ำมัน 

นายอูตู่เหร่งมินทุน อายุ 44 ปี และ นายอูจ่อจ่อ อายุ 45 ปี แกนนำจัดชุมนุมเดินขบวนแสดงความคิดเห็นอย่างสันติของประชาชนในตัวเมืองเมียวดี โดยได้ไปรวมตัวกันที่ สวนสาธารณะส่วยเมียะสั่นดี่ หมู่ 4 เมืองเมียวดี และเริ่มเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทางสะพานมิตรภาพไทย เมียนมาแห่งที่ 1 โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 30-40 คน ต่างตะโกนว่า

“จงปิดสะพานการค้าชายแดนไทย-เมียนมา 1 และ 2”

จงปิดท่าต่าง ๆ ผิดกฎหมายพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จงอย่าใช้สินค้าไทย” 

ทั้งสถานการณ์การชุมนุมฝนพื้นสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่ง ที่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

โดยมี นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาร่วมสังเกตการณ์

‘ชาวเมียวดี’ ชุมนุมต่อต้านไทย!! หลังมาตรการ ‘ตัดไฟ-ตัดน้ำมัน’ เตรียมรับมือปัญหาต่อไป ‘การลักลอบเข้าเมือง-การค้า-สาธารณสุข’

ตามที่รัฐบาลไทยใช้ปฏิบัติการปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยการเน้นไปที่การตัดไฟ ตัดน้ำมันและอินเทอร์เนตนั้น เอย่ากล่าวแล้วในบทความก่อนว่าการตัดไฟนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มสแกมเมอร์เลย เพราะพวกนั้นไม่ได้ซื้อขายผ่านระบบที่ถูกต้องอยู่แล้วทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านที่เมียวดีและชาวบ้านริมชายแดนที่ได้รับอานิสงส์จากการซื้อขายไฟต่างหากเป็นผู้ได้รับผลกระทบ

และนั่นก็ทำให้เหตุวันนี้เกิดขึ้น โดยวันนี้เวลา 9.00 น. ชาวเมียวดีมาชุมนุมเรียกร้องให้ปิดการค้าขายทั้งหมดทั้งสะพานและท่าข้ามต่าง ๆ จากไทยและแบนการใช้สินค้าไทยทั้งหมดเพื่อตอบโต้ที่ไทยปฏิบัติการที่ไทยจัดการสแกมเมอร์แต่ชาวบ้านเดือดร้อน

เอย่าได้กล่าวไปแล้วว่าการตัดไฟ ตัดน้ำมัน เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและจะสร้างผลเสียหายต่อไทยโดยเฉพาะการค้าชายแดน แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะลุกลามเป็นกระแสการแบนสินค้าไทยในเมียนมาด้วย 

การค้าชายแดนที่ผ่านมาหากนับแค่การค้าผ่านด่านการค้าชายแดนก็มีมูลค่านับพันล้านบาทต่อเดือน โดยหากดูมูลค่าส่งออกเดือนธันวาคม อยู่ที่ 6.6 พันล้านบาทไม่รวมการส่งออกตามท่าข้ามต่าง ๆ

แม้จนถึงตอนนี้จะมีรายงานว่ามีประชาชนมาชุมนุมยังไม่มากดังที่แผนที่เขาววางไว้ว่าจะมาชุมนุมถึง 3000 คนก็ตามแต่หากความเดือดร้อนนี้ยังคงอยู่ จะยิ่งสร้างความขัดแย้งอันนำผลมาสู่ปัญหาชายแดนนอกจากเรื่องการค้าแล้ว การลักลอบเข้าเมืองจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งปัญหาเรื่องสาธารณสุขที่จะกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นจะข้ามมารักษาตัวที่ไทย  แล้วใครคือผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ กลุ่มคอลเซนเตอร์หรือคนไทย...?

ผู้นำกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงประท้วง หลังรัฐบาลไทยขอหมายจับ คดีค้ามนุษย์และแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์

ซอ ชิต ตู่ (Saw Chit Thu) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า หม่อง ชิต ตู่  ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาคัดค้านแผนการของรัฐบาลไทยที่เตรียมจับกุมเขา เนื่องจากศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์จำนวนมากที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของเขาในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดนไทย

"ผมอยากถามว่า ผมทำอะไรให้ประเทศไทยถึงต้องมีการจับกุม?" ซอ ชิต ธู กล่าวกับบีบีซีภาษาพม่า "ผมก่อการกบฏต่อประเทศไทยหรือไม่?"

ซอ ชิต ตู่ เป็นผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา เขาดูแลศูนย์กลางธุรกิจหลอกลวงทางออนไลน์ในพื้นที่ชเวก๊กโก (Shwe Kokko) เมืองเมียวดี ซึ่งดำเนินการร่วมกับบริษัท Yatai International ของเซ่อ จื้อเจียง (She Zhijiang) อาชญากรชาวจีนที่ปัจจุบันถูกคุมขังในกรุงเทพฯ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษของไทย (DSI) ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับ 3 ผู้นำ BGF ได้แก่ ซอ ชิต ตู่, พันโทโมท โทรน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และพันตรีทิน วิน (Major Tin Win) ในข้อหาค้ามนุษย์

พวกเขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวอินเดีย ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานในศูนย์หลอกลวงทางโทรศัพท์ (Call Center Scam)

ตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 ศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ที่มุ่งเป้าไปยังชาวจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในเมืองเมียวดี รายงานระบุว่ามีชาวต่างชาติจำนวนมากจากหลายประเทศ รวมถึงคนในท้องถิ่น ถูกบังคับให้ทำงานในขบวนการเหล่านี้หลังจากถูกค้ามนุษย์ผ่านทางภาคเหนือของไทย พร้อมกับมีการทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ซอ ชิต ตู่ ยืนยันกับบีบีซีภาษาพม่าว่า กลุ่มติดอาวุธของเขาได้พยายามอย่างมากในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือเหยื่อจำนวนมากให้รอดพ้นจากการค้ามนุษย์ "แต่ความพยายามของเราไม่เคยได้รับการรายงานในข่าว" เขากล่าว

"แผนการออกหมายจับเป็นอันตรายอย่างมากต่อพวกเรา ผมรู้สึกเสียใจอย่างแท้จริงกับการกระทำของฝ่ายไทย" เขากล่าวเสริม

พันโทนายเมียว ซอว์ (Naing Maung Zaw) โฆษกของ BGF กล่าวกับสื่อ The Irrawaddy ว่า "เราได้ทำผิดอะไรหรือไม่ถึงต้องถูกออกหมายจับ? เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ดังนั้นเราไม่มีความเห็นใดๆ"

BGF ยังอ้างว่ากำลังจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจพิเศษ นำโดยซอ ชิต ธู เพื่อกำจัดเครือข่ายหลอกลวงทางไซเบอร์ในพื้นที่ที่ BGF ควบคุมในเมืองเมียวดี

องค์กรสิทธิมนุษยชน Justice for Myanmar ได้เปิดโปงการมีส่วนร่วมของ BGF กับธุรกิจหลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยชาวจีน รวมถึงบ่อนการพนันผิดกฎหมายในเมียวดี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้คว่ำบาตรซอ ชิต ตู่ ในเดือนธันวาคม 2566 ฐานเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานบังคับ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้คว่ำบาตรโมท โทรน และทิน วิน ด้วยเช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว กองกำลัง BGF กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่ออีกครั้ง หลังจากมีรายงานว่าหวัง ซิง (Wang Xing) นักแสดงชื่อดังชาวจีน ถูกลักพาตัวไปยังเมืองเมียวดี ไทยถูกกดดันจากรัฐบาลจีนให้นำตัวเขากลับมา และตำรวจไทยได้ช่วยเหลือหวัง ซิง ออกจากศูนย์หลอกลวงได้สำเร็จ แม้ว่ารายละเอียดของปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่ได้รับการเปิดเผยทั้งหมด

ขณะที่จีนเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมา ทางการไทยจึงตอบโต้โดยการตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และการขนส่งเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่ห้าจุดในเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึงพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของซอ ชิต ธู และกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA (Democratic Karen Benevolent Army) ในเมืองเมียวดี

พลเอกไซ จ่อ ลา (General Sai Kyaw Hla) ผู้บัญชาการเขตทหารที่ 1 ของ DKBA กล่าวกับ The Irrawaddy ว่ากองกำลังของเขาจะไม่อนุญาตให้มีศูนย์หลอกลวงออนไลน์อีกต่อไป ยกเว้นธุรกิจการพนันออนไลน์ในพื้นที่เกี๊ยวก๊าด (Kyauk Khat)

เขาอ้างว่ามีชาวต่างชาติกว่า 100 คนที่ถูกค้ามนุษย์มาทำงานในศูนย์เหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือ และจะถูกส่งตัวให้กับเจ้าหน้าที่ไทย "เร็วๆ นี้"

หลังจากไทยตัดเสบียง ทางการทหารเมียนมาและ BGF ได้ร่วมกันส่งตัวเหยื่อค้ามนุษย์ 61 คนจาก 7 ประเทศให้กับทางการไทย นอกจากนี้ รัฐบาลทหารเมียนมายังได้บุกตรวจค้นศูนย์การพนันและหลอกลวงออนไลน์ในเมืองม่องหย่าย (Mongyai) รัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร โดยสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้กว่า 100 คน รวมถึงชาวต่างชาติหลายสิบคน

ในขณะเดียวกัน ทางการไทยได้ปลดพล.ต.ต.เอกราษฎร์ อินต๊ะสืบ และ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ เอี่ยมกมล ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีส่วนพัวพันกับธุรกิจการพนันและศูนย์หลอกลวงออนไลน์ในเมียวดี รวมถึงความล้มเหลวในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์

'เชียงราย'ตม.จว.เชียงราย รับคนไทยพันโทษจากเมียนมาตรวจสอบพบหมายจับคดีสำคัญยาเสพติดและพยายามฆ่าของพื้นที่ภาคใต้ 4 ราย

(13 ก.พ.68) เวลาประมาณ 11.00 น. ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 อ.แม่สาย จว.เชียงราย โดยการอำนวยการของ พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม. , พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.สราวุธ คนใหญ่ ผบก.ตม.5 , พ.ต.อ.เอกกร บุษบาบดินทร์ รอง ผบก.ตม.5 สั่งการให้ พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เทียนทอง ผกก.ตม.จว.เชียงราย , พ.ต.ท.หญิง ธาราทิพย์ จำรัส รอง ผกก.ตม.จว.เชียงราย , พ.ต.ท.มนตรี อินเปรี้ยว รอง ผกก.ตม.จว.เชียงราย , พ.ต.ท.กฤษณ์ สมณาศักดิ์ สว.ตม.จว.เชียงราย, พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ ชูชื่น สว.ตม.จว.เชียงราย ร่วมกันรับตัวบุคคลสัญชาติไทย พ้นโทษตามคำพิพากษาศาลประเทศเมียนมา จากเจ้าหน้าที่ ตม.จว.ท่าขี้เหล็ก จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
1. นายผกาเพชร (นามสมมุติ)อายุ 30 ปี ภูมิลำเนา ต.ปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง จว.พัทลุง 
2. นายพินิจนัย (นามสมมุติอายุ 35 ปี ภูมิลำเนา ต.น้ำรึม อ.เมืองตาก จว.ตาก  
3. นายอรรถสิทธิ์ (นามสมมุติอายุ 31 ปี ภูมิลำเนา ต.กงรถ อ.ห้วยแถลง จว.นครราชสีมา     
4. นายคมสัน (นามสมมุติอายุ 22 ปี ภูมิลำเนา ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จว.พัทลุง

จากนั้น เจ้าหน้าที่งานสืบสวนปราบปราม และงานตรวจบุคคลและพาหนะ ตม.จว.เชียงราย ได้ร่วมกันนำตัวบุคคลสัญชาติไทยทั้ง 4 ราย เข้าสู่ขั้นตอนพิธีการคนเข้าเมือง ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 1 อ.แม่สาย จว.เชียงราย จากการตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ระบบสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(POLIS) ระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ(CRIMES) และระบบศูนย์ข้อมูลอาชญากรรม(PDC) พบว่า เป็นบุคคล  มีหมายจับ จำนวน 3 ราย ดังนี้ 

1. นายผกาเพชร (นามสมมุติอายุ 30 ปี สัญชาติ ไทย  เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุง ในความผิดฐาน “พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน    ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร และทำให้เสียทรัพย์” ได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปรับตัว นายผกาเพชร ช่วยบำรุง ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 จากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดจังหวัดพัทลุง ให้ นายผกาเพชร ช่วยบำรุง ดูและรับว่าตนเป็นบุคคลเดียวกันกับหมายจับนี้จริง และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงได้ควบคุมตัว เพื่อรอนำส่ง พงส.สภ.เมืองพัทลุง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

2. นายพินิจนัย (นามสมมุติอายุ 35 ปี สัญชาติ ไทย  เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุง ในความผิดฐาน “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย โดยกระทำเพื่อการค้าและก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนและพยายามจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) โดยไม่ได้รับอนุญาต” ได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่จังหวัด ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปรับตัว นายพินิจนัย คงเพชรนุ่น ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 จากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดจังหวัดพัทลุง ให้ นายพินิจนัย (นามสมมุติดูและรับว่าตนเป็นบุคคลเดียวกันกับหมายจับนี้จริง และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงได้ควบคุมตัว เพื่อรอนำส่ง พงส.สภ.ควนขนุน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

3. นายอรรถสิทธิ์ (นามสมมุติอายุ 31 ปี สัญชาติ ไทย  เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทลุง ในความผิดฐาน “จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า) โดยมีไว้ เพื่อการค้าและก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป” ได้หลบหนีไปอยู่ในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เดินทางไปรับตัว นายอรรถสิทธิ์ อุ้ยเกษมสุข ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 จากนั้น เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับศาลจังหวัดจังหวัดพัทลุง  ให้ นายอรรถสิทธิ์ อุ้ยเกษมสุข ดูและรับว่าตนเป็นบุคคลเดียวกันกับหมายจับนี้จริง และการรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงได้ควบคุมตัว เพื่อรอนำส่ง พงส.สภ.เขาชัยสน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ขณะนี้ทั้ง 3 คนอยู่ในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อรอนำส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ไต้หวันขึ้นบัญชีไทย ประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าลิสต์เดียวกับกัมพูชา-เมียนมา-ลาว

(17 ก.พ. 68) ไต้หวันเพิ่มไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ในรายชื่อจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูง หลังพบเป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการฉ้อโกงออนไลน์

กระทรวงมหาดไทยไต้หวันประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า นักเดินทางที่มุ่งหน้าไปยังประเทศเหล่านี้จะได้รับคำเตือนผ่านตั๋วเครื่องบิน พร้อมแนะนำให้ดาวน์โหลดแอป "คู่มือความปลอดภัยในการเดินทาง" เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง  

รายงานจากสื่อไต้หวัน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555 ชาวไต้หวันจำนวนมากถูกหลอกให้ทำงานในเครือข่ายฉ้อโกงในกัมพูชา ซึ่งภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ได้ย้ายฐานไปยังเมียนมา ลาว และประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อ ถูกกักขัง หรือบังคับให้ทำงานในขบวนการฉ้อโกง บางรายยังติดอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา  

รัฐบาลไต้หวันเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โดยร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เพื่อเพิ่มข้อความเตือนเกี่ยวกับการฉ้อโกงบนตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแจกจ่ายบัตรข้อมูลที่สนามบิน หวังลดจำนวนเหยื่อที่อาจตกเป็นเป้าหมาย  

นอกจากนี้ ไต้หวันยังเดินหน้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอาศัยพระราชบัญญัติต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมจับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และสมาคมธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อให้สามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย  

มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของไต้หวันในการปกป้องพลเมืองจากขบวนการฉ้อโกงที่แพร่ระบาดในภูมิภาค  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top