Monday, 21 April 2025
เมียนมา

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

ลับ ลวง พลาง กับทฤษฎีสมคบคิดเรื่องเมียนมา สร้างสถานการณ์ขัดแย้ง หวังกอบโกยผลประโยชน์

(30 ธ.ค. 67) ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่แตกต่างกันแต่พอมานั่งขบคิดดีๆโดยฟังกับกลุ่มนักทฤษฎีสมคบคิดกลับทำให้น่าประหลาดใจว่าคนร้ายตัวจริงใน 2 เหตุการณ์นี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน  เอาว่าใกล้ๆปีใหม่แล้วเอย่าว่าเรามาอ่านอะไรสนุกๆไม่เครียดและคิดตามกันให้บันเทิงเริงใจกันบ้างดีกว่านะคะ

เรื่องที่ 1 คือเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับว้า 

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ณ จนถึงเวลานี้ไม่มีสงครามเกิดขึ้น  แต่ไม่ใช่ใน Tiktok ที่มีคนโพสต์ปั่นกระแสว่าสงครามเกิดขึ้นแล้ว  มีกองพลนั้น กองพันปิศาจ บลาๆเข้ามาช่วยรบบลาๆๆๆๆ  ถ้าคนไม่รู้อะไรก็คิดไปได้นะว่า โห….เหตุการณ์ขนาดนี้รัฐบาลไทยไม่มีนำเสนอข่าวเลยต้องมาเสพข่าวใน Tiktok  เอย่าก็อยากจะบอกนะคะ  คนไทยกูรูเยอะ  แต่กูรูที่เยอะก็เป็นเหยื่อของแกงคอลเซ็นเตอร์ไม่น้อยเช่นกัน  เพราะถ้าคนที่รู้เหตุการณ์ดีจะทราบดีว่าไม่มีสงครามใดๆเกิดขึ้น ทุกอย่างเงียบกริบ

แล้ว…..ทำไมมีการปล่อยข่าวพวกนี้ออกมาละ???

นักวิเคราะห์ทฤษฎีสมคบคิดของไทยหลายคนได้ให้ความเห็นตรงกันดังนี้

1. มีกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามนี้ในการขายอาวุธให้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายชาติพันธุ์อื่นๆโดยใช้สถานการณ์นี้เป็นตัวขับเคลื่อน

2. มีกลุ่มที่ใช้ไทยเป็นร่างทรงในการสร้างปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน  เฉกเช่นเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในยูเครนเพื่อที่จะให้ได้สิทธิ์ในการนำอาวุธและกองกำลังเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง  เพราะต้องการจะสร้างให้ไทยเกิดความขัดแย้งกับเมียนมาผ่านการตัวกลางอย่างว้า

3. มีกลุ่มที่ซื้อเหล่าผู้ทำคอนเทนต์คอยชี้นำให้คนในประเทศไทยด้อยค่ากองทัพเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง  และเมื่อกองทัพอ่อนแอ  การเมืองก็จะเข้าควบคุมกองทัพอีกทีเพื่อให้เป็นไปตามที่ผู้สนับสนุนของฝ่ายนั้นต้องการเพราะอย่าลืมว่ากองทัพไทยไม่ได้ต้องการให้เกิดสงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

เรื่องที่ 2 คือเหตุการณ์ของชาวเมียนมาในไทยที่ล่าสุดบีบข้าราชการให้ได้สัญชาติไทย ดังเคสล่าสุดที่เกิดขึ้นกับปลัดอำเภอในจังหวัดสมุทรสาคร  ต้องขอย้อนกลับไปเมื่อสัก 20-30 ปีก่อนเห็นจะได้ ช่วงนั้นเริ่มมีชาวเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างเรือประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อการงานดี  การเงินดี คนเมียนมาเริ่มหลั่งไหลเข้ามา  คนที่เข้ามาก่อนเริ่มพูดไทยได้อ่านไทยออกก็เริ่มตั้งตนเป็นหัวโจกหัวหน้า  สวมรอยเป็นประหนึ่งเจ้าหน้าที่ตั้งชมรม สมาคมช่วยเหลือคนต่างด้าวด้วยกันที่ถูกเอาเปรียบ ดูเผินๆก็เหมือนจะไม่มีอะไร  แต่มันไม่ใช่แค่นั้นลับหลังคนเหล่านี้วิ่งเต้นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ตำรวจเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยอ้างว่าตนเป็นชนกลุ่มน้อยเป็นชาติพันธุ์  แถมเมืองไทยก็ให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้ลืมตาอ้าปากง่ายๆเสียด้วย  สุดท้ายพวกเข้ามาก่อนก็อาศัยช่องโหว่ตรงนี้ในการได้มาซึ่งสัญชาติไทย โดยมีคนไทยขายชาติบางคนให้การสนับสนุน

เมื่อมีสัญชาติไทยคนกลุ่มนี้ก็เริ่มคิดการใหญ่ขึ้นยิ่งภายหลังเริ่มมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ต้องการให้มีคนสนับสนุนด้วยละก็  เขายิ่งจะผลักดันคนเหล่านี้โดยล่าสุดคนกลุ่มนี้ได้เข้าไปนั่งในสภาในตำแหน่งกรรมาธิการต่างๆเป็นหุ่นเชิดคอยรับงานนักการเมืองในการเขียนแผนงานหาผลประโยชน์ให้แก่นักการเมืองที่เขาสังกัดโดยได้ค่าตอบแทนเป็นเงินทอง  สัญชาติไทยแก่พวกพ้องและการคุ้มครองจากพวกนักการเมืองเหล่านี้ไม่ให้ตำรวจ ทหารเข้ามายุ่ง  ซึ่งพอเกิดเหตุวุ่นวายทีเราจะเห็นทันทีว่ามันจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่รับงานกลุ่มบางกลุ่มมาให้คนออกมาทำกิจกรรมสร้างความเดือดร้อนบ่อนทำลายประเทศไทยในยามที่ผู้นำประเทศไม่ได้ซูฮกหรือคล้อยตามกลุ่มคนกลุ่มนั้น

เอาเป็นว่ากลุ่มคนกลุ่มนั้นคือกลุ่มไหน  เอย่าให้ทุกคนไปลองคิดกันเล่นๆปีใหม่แล้วกันนะคะ  แต่แปลกตรงที่นักทฤษฎีสมคบคิดในไทยหลายท่านต่างบอกว่าคนกลุ่มนั้นใน 2 เหตุการณ์นี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน…..แหมมันช่างน่าประหลาดใจเสียจริงๆ

‘โฆษก ก.ต่างประเทศ’ แถลงไม่ทิ้ง!! ลูกเรือประมงไทย ย้ำ!! เดินหน้าประสาน ทางการเมียนมา เพื่อขอให้ปล่อยตัว

(5 ม.ค. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงการ เกี่ยวกับ ‘ลูกเรือประมงไทย’ โดยมีใจความว่า ...

ตามที่เกิดเหตุการณ์ลูกเรือประมงไทย 4 คนถูกจับโดยกองทัพเรือเมียนมา และถูกตัดสินคดีต้องโทษจำคุกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันผลักดันกับทางการเมียนมาเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คนโดยเร็ว นั้น

จากการประกาศของทางการเมียนมาในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขัง และนักโทษต่างชาติเมื่อวานนี้ (4 มค. 68) รวมนักโทษชาวไทยจำนวน 152 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้มีการดำเนินการก่อนหน้านี้ ในการนี้ กระทรวงกระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณฝ่ายเมียนมา อย่างไรก็ดี ขอเรียนว่า ในการประกาศครั้งนี้ ยังไม่พบรายชื่อลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่ถูกจับกุมล่าสุด รวมอยู่ด้วย จึงเป็นที่ผิดหวังที่กระบวนการปล่อยตัวกลุ่มดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จในครั้งนี้ โดยฝ่ายเมียนมายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง

ในทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอดและจะดำเนินการต่อไป ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พยายามผลักดันให้มีการปล่อยตัวโดยเร็ว บนพื้นฐานของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ที่จะต้องหารือข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งรวมถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกในอนาคต

ทั้งนี้ ในห้วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผลักดันและติดตามกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งขอการเข้าถึงทางกงสุล (consular access) ในหลายช่องทาง ทั้งการโทรศัพท์พูดคุยกับลูกเรือทั้ง 4 คน เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและให้กำลังใจ และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มค. 2568 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับอนุญาตให้นำผู้แทนญาติของลูกเรือไทยเข้าเยี่ยมลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี  ซึ่งพบว่าลูกเรือไทยทั้ง 4 คน มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจดี ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม  และได้รับอาหารครบ 3 มื้อ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำสิ่งของจำเป็นไปมอบให้แก่ลูกเรือทั้ง 4 คนด้วย รวมทั้งได้แจ้งกับลูกเรือเกี่ยวกับสถานะการดำเนินการล่าสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในการผลักดันกับฝ่ายเมียนมาเพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวโดยเร็ว

สุดท้ายนี้ ขอเรียนว่า กรณีนี้ มีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่เรื่องการปล่อยตัวลูกเรือชาวไทย ประเด็นปัญหาการทำประมงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งความสัมพันธ์ในภาพรวมของสองประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทนและช่องทางการเจรจาอย่างแนบเนียน โดยดำเนินการ ดังนี้ 

(1.) เร่งช่วยเหลือให้ลูกเรือได้รับการปล่อยตัว ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในต่างๆ ของเมียนมาด้วย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะผลักดันทางการทูตต่อไป 

(2.) แก้ไขปัญหาผ่านกลไก TBC ร่วมกันกับฝ่ายเมียนมาต่อไป 

ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและดำเนินการทุกอย่างในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ผ่านทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้คนไทยทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวต่อไป

ตำรวจแห่งชาติประสานเมียนมา บินด่วนรับ 151 คนไทยกลับประเทศ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เป็นเหยื่อ และขยายผลเพื่อจับกุมแก๊งพนันออนไลน์ รวมทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์

วันนี้ (4 ม.ค. 68) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) พร้อมด้วย พล.ต.ท.วีรชน บุญทวี ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. , พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท และ พล.ต.ต.ธนรัชต์ ชุ่มสวัสดิ์ รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.รรท รอง ผบช.ภ.5 นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ไปรอรับการปล่อยตัวคนไทยจากทางการเมียนมาจำนวน 151 คน เป็นชาย 74 คน และหญิง 77 คน ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาถึงในช่วงค่ำวันนี้

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มาติดตามและดำเนินการจากกรณีที่ทางการไทยได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา กระทรวงมหาดไทย และกองบัญชาการตำรวจเมียนมา ในการปราบปรามและจับกุมแก๊งพนันออนไลน์ ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้ถูกจับกุมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ข้อหาเรื่องการพนันออนไลน์ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่ว่าในส่วนของไทยนั้นมีข้อมูลเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะมีการขยายผลเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 154 คน ถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจท่าขี้เหล็ก และศาลเมียนมาได้ตัดสินจำคุกทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี ได้รับการลดโทษ คงเหลือจำคุก 10 เดือน แต่ในจำนวนนี้มีเยาวชน 2 คนถูกส่งกลับก่อนหน้านี้แล้ว และมีผู้เสียชีวิต 1 คน จึงเหลือ 151 คนดังกล่าว 

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำหน่วยงานต่างๆ คือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย , ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย และทีมสหวิชาชีพ เตรียมรับตัวเพื่อคัดกรองตามกลไก NRM ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยมีการเปิดศูนย์บูรณาการคัดแยกเอาไว้ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1 , มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ และมูลนิธิ Destiny Rescue ใช้เวลาคัดแยกไม่เกิน 15 วัน โดยเมื่อคนไทยทั้ง 151 คนกลับถึงประเทศไทยแล้วจะเข้าสู่กระบวนการคัดแยก จะต้องมีการคัดกรองว่าใครตกเป็นเหยื่อ หลังจากนั้นจะเป็นการสืบสวนขยายผล ซึ่งข้อมูลพยานหลักฐานที่เป็นเครื่องบ่งชี้ต่างๆ จะเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่จะใช้ประกอบในการดำเนินคดี โดยหากคัดกรองแล้วพบว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็จะให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน แต่หากใครที่คัดกรองแล้วเป็นกระทำความผิดใด ๆ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งได้สั่งการให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบว่าใครที่มีการเดินทางเข้าออกไปประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง ซึ่งเบื้องต้นในเรื่องของการข้ามแดน จาการตรวจสอบพบว่ามี 4 คน เดินทางโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการเข้าออกช่องทางธรรมชาติ ซึ่งทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็จะมีการดำเนินคดี 4 คนนี้เมื่อกลับมาถึงไทยด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสคุยกับ พล.ต.ท.วิน ส่อ โม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมียนมา ขณะเดินทางไปประชุมที่กรุงเนปิดอร์ เมื่อต้นปี 2567 ได้มีการพูดคุยในเรื่องของคนไทยทั้ง 151 คนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัว รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐาน การช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับ ประกอบกับเนื่องในโอกาสวันชาติของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา หรือวันประกาศอิสรภาพ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2568 จนเป็นที่มาในการส่งตัวคนไทยทั้งหมดกลับประเทศไทยในวันนี้ และในส่วนของปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ได้มีการพูดคุยกันและจะได้มีการร่วมมือกันต่อไป 

ผช.รมต.กต. ติง “วิโรจน์” ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง 4 ลูกเรือไทยยังไม่ได้รับการปล่อยตัว หวั่นถูกเมียนมามองกดดันแทรกแซง - เตือนอย่าเอาชีวิตคนมาเป็นเรื่องการเมือง 

(7 ม.ค. 68) นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร จะขอประธานสภาผู้แทนราษฎร อนุมัติการเดินทางไปศึกษา และตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเรือประมงไทย ถูกเรือรบของเมียนมายิง และมีลูกเรือชาวประมงไทย 4 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เกาะสอง และเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกเรือชาวประมงไทย จะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยในวันที่ 13 – 14 มกราคมนี้ว่า หากนายวิโรจน์ และกรรมาธิการการทหารฯ จะเดินทางไปในกรณีดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศคงไม่สามารถห้ามได้ แต่ก็จะต้องขออนุญาตผ่านช่องทางการทูต แต่การไปพบผู้คุมเรือนจำนั้น ก็ไม่มีอำนาจปล่อยตัว และอาจทำให้เมียนมามองว่า ไปกดดันและแทรกแซง ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น ดังนั้น จึงขอให้นายวิโรจน์ ควรใคร่ครวญดี ๆ นึกถึงผลที่ตามมาด้วย เพราะผู้ที่ถูกขังคือลูกเรือไทย ดังนั้น จึงอย่าเอาชีวิตคนมาเป็นเรื่องการเมือง

‘กองทัพเมียนมา’ มีแผนเตรียมปล่อยตัว!! ‘อองซาน ซูจี’ ชี้!! มีความเป็น ‘ชาตินิยม’ สูงกว่า ‘การรักชาติพันธุ์’

หลังจาก ‘เอย่า’ นั่งถกประเด็นศาสนามาในอาทิตย์ก่อน อาทิตย์ที่ผ่านมา ‘เอย่า’ ไปมีโอกาสเดินทางไปยัง ‘เนปิดอว์’ และเข้าพบกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน และนั่นก็อดไม่ได้ที่จะทำให้ได้ข่าวนี้ออกมา

ช่วงที่ผ่านมามีการโยกย้ายโผทหารในเมียนมาซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นปกติไม่มีอะไร  แต่หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าการโยกย้ายครั้งนี้มีการโยกย้ายทหารที่มีอาวุโสน้อยกว่าแต่มีศักยภาพเข้ามารับตำแหน่งใหญ่ ๆ ในกองทัพหลายคน

ในมุมของนักวิเคราะห์กลาโหมแล้วมองว่าเป็นไปได้ที่ ‘การผลัดใบของกองทัพเมียนมา’ครั้งนี้จะสอดคล้องกับการเลือกตั้งที่ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ หลังการสำรวจสำมะโนประชากรเสร็จสิ้น

อีกเรื่องคือมีข่าวว่าทางกองทัพเมียนมามีแผนจะปล่อยตัว ‘นางอองซาน ซูจี’ ด้วยหากการเลือกตั้งเป็นไปตามแผนการ  ซึ่งล่าสุดตามที่เอย่าได้ข่าวมาสายข่าวระบุว่านางซูจียังสบายดีอยู่ในเรือนรับรองของที่กองทัพฯ จัดหาให้ มีอาหาร คนรับใช้และแพทย์ดูแลใกล้ชิด

แต่ดูเหมือนฝ่ายต่อต้านก็จะรู้ทันโดยเฉพาะเรื่องการสำรวจสำมะโนประชากรว่าหากทำสำเร็จ ทางกองทัพจะดำเนินแผนการเลือกตั้งตามที่วางไว้และเมื่อรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นรัฐบาลผสมที่มีทั้งพรรคใหญ่และพรรคของชาติพันธุ์ ซึ่งนั่นอาจจะไม่ถูกใจกลุ่มต่อต้านนัก

แม้กลุ่มต่อต้านจะถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่ม NLD แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันหัวโจกกลุ่มต่อต้านคือคนพม่าที่อยู่นอกประเทศและเป็นพวกที่ติดต่อกับชาติตะวันตกเพื่อนำเงินทุนมาสนับสนุนการก่อความไม่สงบในประเทศ 

คำถามสุดท้ายในใจ ‘เอย่า’ จึงเกิดขึ้นว่าหากมีการปล่อยตัว ‘นางอองซาน ซูจี’ จริงแล้วจะยังไงต่อ นายทหารท่านนั้นกล่าวกับทางเอย่าว่า ตลอดมาท่านซูจีเป็นคนที่มีชาตินิยมสูงมากเทียบไปก็ต้องบอกว่าสูงกว่าการรักชาติพันธุ์เสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่นางพยายามทำให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียวเพราะไม่ต้องการให้ชาติพันธุ์มามีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลกลางที่ชาวเมียนมาเป็นผู้ปกครอง แต่ทว่าทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปแล้วเพราะตลอดมาจะเห็นได้ว่าเมื่อกองกำลังหลายกองกำลังก็รบสร้างรายได้จากการสนับสนุนโดยตรงจากชาติตะวันตก ซึ่งนั่นเป็นโจทก์ใหญ่มากที่ทางกองทัพทุ่มเทดูแลท่านซูจีอย่างดีเพราะหากเกิดอะไรขึ้นกับท่านซูจีในช่วงที่อยู่ในการอารักขาของกองทัพอีกฝ่ายจะเอามาโจมตีได้  และต่อให้ปล่อยตัวท่านแล้วอาจจะมีการลอบสังหารท่านเพื่อป้ายสีมายังกองทัพเมียนมาเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เลวร้ายลงก็เป็นได้ ส่วนสถานการณ์คนเมียนมาในต่างแดนเช่นไทยจะเลิกระดมทุน เลิกรบ เดินทางกลับเมียนมาไหม นายทหารท่านนั้นเชื่อว่าไม่  เพราะทุกวันนี้กลุ่มต่อต้านไม่ได้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อยู่แล้ว คนเหล่านั้นทำเพราะได้เงินส่วนแบ่งต่างหาก ยกเว้นคนที่ไม่รับรู้เลยเท่านั้นที่ยังยินยอมพร้อมใจจะตกเป็นเหยื่อคนกลุ่มนี้ต่อไป

จีนให้คำมั่นลุยปราบแก๊งมิจฉาชีพข้ามชาติ หลังพบเหยื่อชาวจีนถูกขังในเมียนมา

กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (15 ม.ค.68) ระบุว่า จีนจะยกระดับความพยายามในการช่วยเหลือพลเมืองจีนที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งหลอกลวงพวกเขาไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงเมียนมา ตามรายงานจากสำนักข่าว CCTV ซึ่งเปิดเผยว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในต่างประเทศได้หลอกลวงชาวจีนด้วยข้อเสนอการทำงานที่มีรายได้สูง พร้อมที่พัก อาหาร และค่าโดยสารเครื่องบิน ก่อนที่ผู้ถูกหลอกจะถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมืองต่าง ๆ เช่น เมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายแดนเมียนมากับไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แถลงการณ์นี้ออกมาในช่วงที่เกิดกรณีการหายตัวไปของนักแสดงจีนในจังหวัดตากของไทย ซึ่งตำรวจไทยคาดว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

จีนกล่าวว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือพลเมืองที่ถูกกักขัง และจะดำเนินการอย่างจริงจังในการกวาดล้างศูนย์หลอกลวงด้านโทรคมนาคมและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ดำเนินการในต่างประเทศ

รายงานยังเผยถึงการร่วมมือกับทางการเมียนมาในปี 2566 เพื่อล้มล้างกลุ่มมาเฟียเชื้อสายจีน 'กลุ่มสี่ตระกูลโกก้าง' ที่มีการดำเนินการในบริเวณชายแดนเมียนมากับมณฑลยูนนานของจีน

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ให้ความช่วยเหลือในการส่งตัวชาวจีนกว่า 900 คน ที่ถูกกักขังในศูนย์หลอกลวงที่เมืองเมียวดีกลับประเทศ ขณะที่เมียนมาในปี 2566 ได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรคมนาคมมากกว่า 31,000 คนกลับจีน

ตามข้อมูลจากสื่อของรัฐบาลจีน ช่วงนั้นพบว่ามีศูนย์หลอกลวงทางโทรคมนาคมในเมียนมามากกว่า 1,000 แห่ง และมีผู้คนกว่า 100,000 คนที่ถูกหลอกลวงในแต่ละวัน

นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนได้พบปะกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้มีการร่วมมือกันในด้านการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน รวมถึงการพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางโทรคมนาคม

หวัง อี้ ลั่นจับมือชาติอาเซียน ปราบการพนันออนไลน์-แก๊งสแกมเมอร์

(17 ม.ค.68) นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวในตอนหนึ่งของการหารือกับคณะผู้แทนจาก 10 ชาติสมาชิกอาเซียนที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยให้คำมั่นว่ารัฐบาลปักกิ่งจะร่วมมืออย่างแข็งขันกับบรรดาชาติอาเซียนในการกวาดล้างการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน

หวัง อี้  ซึ่งยังดำรงตำแหน่งสมาชิกกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่ากรณีการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อไม่นานมานี้ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ได้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์สำคัญของพลเมืองจีนและประเทศอื่น ๆ ซึ่งสถานการณ์นี้จำเป็นต้องได้รับการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน  

นอกจากนี้ นายหวังยังเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบและดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมดังกล่าวให้สิ้นซาก รวมถึงปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยไม่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีการลงโทษ  

จีนยืนยันความพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและความร่วมมือที่เป็นระเบียบในภูมิภาค นายหวังกล่าวทิ้งท้าย

เมียนมาลงนามข้อตกลงหยุดยิงกลุ่มโกก้าง จีนรับบทตัวกลางเจรจาลดความรุนแรง

(20 ม.ค. 68) รอยเตอร์รายงานว่า นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า รัฐบาลเมียนมาและกองกำลังกบฏ MNDA (กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งเมียนมา) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาที่จัดขึ้นในนครคุนหมิง ประเทศจีน โดยจีนได้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานและส่งเสริมการเจรจา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณต่อจีนสำหรับความพยายามในการผลักดันกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้

“การลดความรุนแรงในภาคเหนือของเมียนมาเป็นผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ในเมียนมา แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาค ซึ่งช่วยส่งเสริมความมั่นคงและการพัฒนาบริเวณชายแดนระหว่างจีนและเมียนมา” นางเหมากล่าว พร้อมยืนยันว่าจีนจะยังคงให้การสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและการเจรจาต่อไป

MNDA ถือเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์มองว่าเป็นดินแดนของตนเอง โดย MNDA ยังเป็นสมาชิกกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งรวมถึงกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอ้าง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ที่เคยยึดพื้นที่สำคัญใกล้ชายแดนจีนได้ในช่วงปลายปี 2566

ข้อตกลงหยุดยิงครั้งนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนแบบไม่เป็นทางการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม ณ เมืองลังกาวี ประเทศมาเลเซีย โดยนายโมฮัมหมัด ฮาซัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ระบุว่า อาเซียนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาหยุดยิงและเริ่มต้นการเจรจาโดยทันที พร้อมย้ำว่า การจัดการเลือกตั้งทั่วไปในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ควรเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แต่การยุติความรุนแรงควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

เมียนมาโบ้ยความผิด 'ชาติเพื่อนบ้าน' ปราบแก๊งสแกมเมอร์ไม่ได้ ทำชายแดนรุนแรงขึ้น

(22 ม.ค.68) สำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า ภายใต้แรงกดดันจากจีนที่ต้องการให้เมียนมาดำเนินการปราบปรามปัญหาแก๊งหลอกลวงออนไลน์ตามแนวชายแดน รัฐบาลทหารเมียนมาได้กล่าวหาว่าเป็นความผิดของประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ที่ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ

รัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ศูนย์ปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนได้รับการสนับสนุนด้านไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งกล่าวว่า มีองค์กรอาชญากรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังได้รับอาวุธ กระสุน และวัสดุก่อสร้างจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศโดยตรง แต่มีการคาดการณ์ว่าเป็นประเทศไทย

รัฐบาลเมียนมาขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ในแถลงการณ์ รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างว่า แก๊งหลอกลวงตามแนวชายแดนดำเนินการโดยชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือร่วมกันในการปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ โดยระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาได้จับกุมชาวต่างชาติ 55,711 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ฐานเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงออนไลน์และได้ส่งตัวกลับประเทศต้นทางแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมายอมรับว่าไม่สามารถควบคุมพื้นที่ที่แก๊งเหล่านั้นตั้งอยู่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่มั่นคง พร้อมกล่าวหากลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธต่างๆ ว่าพัวพันกับปฏิบัติการของแก๊งเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีการกล่าวถึงนายซอ ชิต ทู หัวหน้ากองกำลังพิทักษ์ชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (BGF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารเมียนมาและได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รับหน้าที่ดูแลบ่อนพนันและแก๊งฉ้อโกงออนไลน์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเมียนมา และหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อนายซอ

ในขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (NUG) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน โดยระบุว่า กองกำลัง BGF ที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร รวมถึงกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธเป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่แก๊งหลอกลวงออนไลน์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และได้ประกาศความตั้งใจที่จะดำเนินการป้องกันไม่ให้เมียนมากลายเป็นศูนย์กลางของการฉ้อโกงออนไลน์ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทย ร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

ที่เมืองเมียวดี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนสำคัญระหว่างเมียนมาและไทย ถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งรวมของแก๊งหลอกลวงออนไลน์ที่ดำเนินการโดยกลุ่มอาชญากรรมชาวจีน โดยมีจุดสำคัญในเมืองชเวก๊กโก่และ KK Park ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการหลอกลวงออนไลน์และการค้ามนุษย์ รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและการทรมาน

ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2021 ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ตามแนวชายแดนได้ผุดขึ้นมากมาย โดยหลายกลุ่มย้ายฐานจากรัฐฉานตอนเหนือมายังเมียวดี หลังจากที่รัฐบาลจีนและรัฐบาลทหารเมียนมาได้บุกปราบปรามแก๊งอาชญากรเหล่านี้

ชื่อของเมืองเมียวดีได้รับความสนใจอีกครั้งในเดือนที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานของกรณีซิงซิง ดาราจีนที่ถูกล่อลวงมายังประเทศไทยก่อนถูกแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชายแดนหลอกไปบังคับใช้แรงงานในศูนย์หลอกลวงออนไลน์ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวชาวจีนยกเลิกการจองทัวร์นมายังประเทศไทย และสถานทูตจีนได้ออกประกาศเตือนการเดินทาง ขณะที่หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือในการปราบปรามการฉ้อโกงข้ามชายแดน

ก่อนหน้านี้  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของรัฐบาลทหารเมียนมา นายเมีย ทุน อู ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีดิจิทัลอาเซียนในกรุงเทพฯ และให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติอย่างเต็มที่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top