Sunday, 19 May 2024
เมียนมา

‘เมียนมา’ ระอุ!! เดือนเมษาสภาพอากาศ ‘ร้อนสุดขั้ว’ หลังอุณหภูมิแตะ 48 องศา ทุบสถิติในรอบ 56 ปี

(30 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาของเมียนมา รายงานว่า เมือง 7 แห่งของเมียนมาเผชิญสภาพอากาศเดือนเมษายนที่ร้อนที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) ที่ผ่านมา

โดย เมืองเชาะ ในภูมิภาคมะกเวทางตอนกลาง มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 48.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) นับเป็นอุณหภูมิเดือนเมษายนที่สูงสุดในรอบ 56 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการบันทึก ขณะที่เมืองญองอู สะกาย ตะดาอู ตองวิงยี มัณฑะเลย์ และซวงตู เผชิญกับวันที่ร้อนที่สุดในเดือนเมษายนในวันอาทิตย์เช่นกัน

ทั้งนี้ หลายภูมิภาคของเมียนมามีรายงานอุณหภูมิสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ โดยอู ลา ตุน ผู้อำนวยการสำนักฯ ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าอุณหภูมิวันที่ 28-29 เม.ย. มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ทางตอนกลางของเมียนมาและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

อนึ่ง ปกติแล้วเดือนเมษายน-พฤษภาคมจะเป็นเดือนที่อากาศร้อนที่สุดในเมียนมา เนื่องจากอุณหภูมิจะพุ่งสูงขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูมรสุม

ผู้นำเบอร์ 2 รัฐบาลเมียนมา ปรากฏตัวเยี่ยมให้กำลังใจทหาร สยบข่าว ‘ถูกปลด-เจ็บสาหัส’ หลังหายตัวไป นานเกือบเดือน 

(1 พ.ค. 67) เว็บไซต์เมียนมา อินเตอร์เนชันแนล ทีวี หรือ MITV  ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลเมียนมาได้เผยแพร่ภาพของ พลเอก โซ วิน รองประธานสภาบริหารแห่งรัฐและรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะเข้าเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลที่ได้รับบาดเจ็บ และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทหารในเมืองมะละแหม่ง ของรัฐมอญ 

รายงานข่าวของเมียนมา อินเตอร์เนชันแนล ทีวี ระบุว่า การเดินทางไปยังโรงพยาบาลดังกล่าวของ พลเอก โซ วิน เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวลือว่า นายทหารผู้นี้อาจถูกปลด หรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการโจมตีด้วยโดรนของฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะนานเกือบ 1 เดือน  โดยพลเอก โซ วิน ถือเป็นแกนนำเบอร์ 2 ของรัฐบาลทหารเมียนมา รองจาก พลเอก มิน อ่อง หล่าย

ส่วนสถานการณ์สู้รบในเมียนมายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) เปิดเผยว่า สามารถยึดฐานกองพันทหารราบที่ 141 ของรัฐบาลทหารเมียนมาได้แล้ว หลังโจมตีมานานหลายเดือน ซึ่งฐานดังกล่าวควบคุมเส้นทางแม่น้ำอิรวดีไปยังเมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐคะฉิ่น

ก่อนหน้านี้ KIA และกองกำลังป้องกันประชาชนคะฉิ่น  หรือ KPDF ที่เป็นพันธมิตร เข้ายึดครองฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีในเมืองมิตจีนาได้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. และจากนั้นมา กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็พยายามยึดกองบัญชาการกองพันทหารราบที่ 141 ทางตะวันตกของเมืองมาโดยตลอด

แฉปมร้าวลึก!! PDF กับ KTLA ที่อาจถึงขั้น 'จุดแตกหัก' เมื่อกะเหรี่ยงยังมอง PDF เป็นคนพม่า และร่วมมือกันเพราะ 'เงิน'

ไม่นานมานี้มีข่าวมาเข้าหูเอย่ากลางดึก จนทำให้เอย่านอนไม่หลับถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาจับปากกาเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนได้รู้กัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้บังคับการกองกำลังคอมมานโดพิเศษ ของกองทัพกอทูเล หรือที่หลายคนรู้จักในนาม KTLA โดยกองพลนี้ขึ้นตรงกับ 'นายพลเนอดา เมียะ' ผู้เปิดศึกในเมืองเมียวดีนั่นเอง

เรื่องราวมีอยู่ว่า 'พันโท ซอ ซา โลน' ผู้นี้ถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นคนยักยอกเงินในการจัดหาอาวุธและเสบียงสำหรับที่ใช้ในกองพล

แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่าเรื่องคอร์รัปชันคือ พันโทผู้นี้เป็นผู้สังหารนักรบฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยหรือ PDF (กองกำลังพิทักษ์ประชาชน) ไปกว่า 20 ราย และยังไม่พอ เขาและลูกน้องในสังกัดของเขายังร่วมกันข่มขืนภรรยาของทหารฝ่าย PDF ที่เขาสังหารอีกด้วย

นอกจากนี้ก็มีทหารหญิงฝั่ง PDF หลายรายที่ถูกพันโทผู้นี้ย่ำยีความบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่าพันโทรายนี้ติดสุราอย่างหนักและมีพฤติกรรมชอบใช้อาวุธข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประจำ และเขาตกเป็นผู้สงสัยในการเสียชีวิตของ 'เย หยิ่น' นายทหารคนสนิทของเขา

เหตุการณ์ทั้งหมดรับรู้กันเป็นวงกว้างในกองทัพของ PDF และ KTLA แต่นายพลเนอดา กลับเลือกจะนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ กับพันโท ซอ ซา โลน ผู้นี้

บางคนว่าเพราะนายพลเนอดามีความสนิทสนมกันเป็นการส่วนตัว แต่บ้างก็ว่าพันโทผู้นี้คือมือขวาฝีมือดีของกองทัพ KTLA ซึ่งถ้าหากขาดนายพันคนนี้ไป อาจจะทำให้กองทัพ KTLA ปราชัยก็เป็นได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กองกำลังผสมของ PDF และ KTLA อ่อนกำลังลงมีทหาร PDF ถอนตัวจาก KTLA ไปอยู่กับกลุ่มต่อต้านอื่น

อีกทั้งยิ่งมีข่าวไม่นานมานี้เรื่องดีลลับสงบศึกเมียวดีระหว่างนายพลชิตตู่และนายพลเนอดา ยิ่งทำให้ฝั่ง PDF ผิดหวัง เพราะมีข่าวว่ากองทัพเมียนมามีการจ่ายเงินจำนวนหลายล้านบาทแลกกับการให้ KTLA ถอนกำลังพร้อมชี้เป้าจุดหลบซ่อนของกองกำลัง PDF จนเกิดปฏิบัติการบอมบ์ที่ภูเขา แล็ตคัดต่องก์ จนฝั่ง PDF สูญเสียเป็นอันมาก

จากเหตุการณ์นี้เป็นไปได้ว่า กองกำลังผสม PDF กับ KTLA อาจจะถึงคราวแตกหักในไม่ช้า 

PDF ต้องไม่ลืมว่ากะเหรี่ยงก็ยังมอง PDF เป็นคนพม่าอยู่ดี ถ้าไม่ใช่เพราะเงินอัดฉีดมหาศาลที่มาจากฝั่ง PDF ก็ไม่มีทางที่นายพลเนอดาจะมาสนใจกลุ่ม PDF แน่นอน เพราะจากพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่ดำเนินการใด ๆ กับ พันโท ซอ ซา โลน ก็เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นละว่า กะเหรี่ยงไม่ได้อยากญาติดีกับชาติพันธุ์เมียนมา

‘รัฐบาลเมียนมา’ ห้ามผู้ชายออกไปทำงานต่างแดนชั่วคราว คาด!! รักษาจำนวนเพื่อเกณฑ์ทหาร ท่ามกลางสงครามระอุ

(3 พ.ค.67) รัฐบาลทหารเมียนมา สั่งห้ามผู้ชายเดินทางไปทำงานนอกประเทศ ในขณะที่สาธารณชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ท่ามกลางการต่อสู้ยืดเยื้อระหว่างฝ่ายกองทัพเมียนมาและฝ่ายต่อต้าน

นายญุน วิน ปลัดกระทรวงแรงงานเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย เมียนมา (RFA Burmese) เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า คำสั่งห้ามประชากรชายเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปตามความจำเป็น

อย่างไรก็ดี นายญุน วิน ระบุว่า ผู้ชายที่ลงทะเบียนขอไปทำงานต่างประเทศภายในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. จะได้รับการยกเว้นจากคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากมีแรงงานจำนวนเล็กน้อยที่ได้เตรียมการผ่านกรมจัดหางานระหว่างรัฐ

โดม นายญุน วิน ไม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการออกคำสั่งห้ามประชากรชายออกไปทำงานในต่างประเทศ หรือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว

ด้านตัวแทนกรมจัดหางานในอำเภอทินกังยุน (Thingangyun) ของย่างกุ้ง เปิดเผยกับ เรดิโอ ฟรี เอเชีย เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า คำสั่งห้ามผู้ชายเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อาจเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรชายเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่มีการเกณฑ์ทหาร

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประมาณการว่า มีประชากรสัญชาติเมียนมากว่า 4 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ โดยชายเมียนมาประมาณ 2 ล้านคน ทำงานอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด แต่ไม่ชัดเจนว่ามีประชากรชายทำงานในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์

ขณะที่กลุ่มศึกษากิจการและความขัดแย้งเมียนมา (Burmese Affairs and Conflict Study) ตรวจพบในเดือนเม.ย.ว่า การกำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปีเข้ารับใช้กองทัพเมียนมาเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ประชาชนกว่า 100,000 รายหลบหนีออกจากบ้านเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

'มาริษ' ไม่รู้ 'ทักษิณ' คุยตัวแทนชนกลุ่มน้อย ชี้!! เป็นสิทธิของเขา ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย

(7 พ.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานว่า ในเรื่องการทำงานขอพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศก่อน เพื่อให้ทุกอย่างมันเดินไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่ต้องการอย่างเดียวคือ การรับโจทย์จากนายกรัฐมนตรีมาว่าอยากเห็นนโยบายการต่างประเทศและประชาชนในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

เมื่อถามถึงกรณีสื่อโซเชียลระบุว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ไปพูดคุยกับตัวแทนชนกลุ่มน้อยหลังเกิดปัญหาในเมียนมา ได้มีการตรวจสอบแล้วหรือยัง นายมาริษ กล่าวว่า ตนเองก็ได้ทราบข่าวมาเช่นกัน และต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นคนที่กว้างขวางและมีเพื่อนฝูงมาก ซึ่งทางเมียนมาก็คงเห็นว่านายทักษิณจะสามารถช่วยได้ คงเป็นเรื่องที่ทางเมียนมาคุยกับนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย อย่างที่ตนบอกไปว่าเพิ่งจะทราบเรื่องดังกล่าว 

เมื่อถามย้ำว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยคือ ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมาหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ถูกต้อง ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น และที่ผ่านมาไทยเองพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา อีกทั้งไทยก็ดำเนินการตามกรอบของอาเซียนด้วย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น บางอย่างกำลังดำเนินการอยู่ ขอยังไม่เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไทยต้องการเห็นความสมานฉันท์ปรองดองเกิดขึ้นในเมียนมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปอยู่อย่างนี้ประเทศไทยก็ลำบาก ในฐานะที่เรามีพรมแดนเชื่อมติดต่อกันกับเมียนมายาวมาก อะไรที่เกิดขึ้นก็จะกระทบกับไทย ฉะนั้น ใครที่ช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย และไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นทางการ อีกทั้งทางการเมียนมา รัฐบาล ชนกลุ่มน้อย ขอให้นายทักษิณมาช่วย ก็เป็นเรื่องของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่นายทักษิณไปช่วย ตรงกับแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งได้ยินจากข่าว จึงไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ทางการเมียนมาไปว่ากันเอง ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะไปปรึกษาหารือกับใคร ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ในส่วนของรัฐบาลก็ดำเนินการในส่วนของเรา ร่วมกับอาเซียน ขณะเดียวกัน ในการช่วยเหลือสิทธิมนุษยธรรมไทยก็ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน

เมื่อถามถึงคณะกรรมการฉุกเฉินด้านชายแดนไทยเมียนมา นายกฯ ได้มอบหมายให้นายมาริษเป็นหัวหน้าชุด หรือมอบหมายให้รองนายกฯ นายมาริษ กล่าวว่า เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ขอไปพูดคุยกับทางกระทรวงให้เกิดความเหมาะสมก่อนว่ารายละเอียดควรเป็นอย่างไร และยืนยันว่ายังไม่ได้พูดคุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่วนที่มีการพูดคุยกันก่อนหน้ากับหน่วยงานด้านความมั่นคงนั้น ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด เพียงแต่นายกฯ ได้ให้นโยบายกว้าง ๆ ย้ำว่าขอหารือในรายละเอียดกับทางกระทรวงการต่างประเทศก่อน ซึ่งวันนี้นายกฯ ได้มอบนโยบายลงมาเรียบร้อย แต่ตนขอไปพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติก่อนว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งกับหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยว่าจะแบ่งงานอย่างไร เป้าหมายชัดเจนแล้วว่าเราต้องกำหนดวัตถุประสงค์ก่อนว่าเราต้องการอะไร และค่อยกำหนดว่าใครควรจะมีหน้าที่และเล่นบทบาทอย่างไร

เมื่อถามว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายรัฐกันชนแล้วใช่หรือไม่ นายมาริษ กล่าวว่า เดี๋ยวขอกลับไปคุยในรายละเอียดก่อน 

ย้อนปูมหลัง 'ความขัดแย้ง-สงครามกลางเมืองพม่า' ที่ยาวนานที่สุดในโลก จากเงื่อนปมที่วางไว้โดย 'อังกฤษ' บ่ม 70 ปี จน 'เมียนมา' ไกลคำว่า 'สันติสุข'

ย้อนหลังไป 400-500 ปีก่อน สหภาพเมียนมาหรืออดีตสหภาพพม่าเป็นอดีตราชอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรด้วยกองทัพที่เข้มแข็ง กระทั่งสามารถเอาชนะไทยเราได้ถึง 2 ครั้ง 2 ครา คือ ปี พ.ศ. 2112 และ ปี พ.ศ. 2310 

โดยครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสียหายแก่กรุงศรีอยุธยาแบบยับเยิน จนไทยต้องมาสร้างกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ และย้ายข้ามมาสร้างกรุงเทพมหานครจวบจนถึงทุกวันนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างทำสงครามจนไทยพ่ายเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ระหว่าง ปี พ.ศ. 2308-2312 พม่าก็ทำสงครามชายแดนกับจีนด้วย ทั้งยังสามารถเอาชนะจีน ทำให้ราชวงศ์โก้นบอง (ราชวงศ์คองบอง) มีสิทธิในการปกครองพม่าโดยสมบูรณ์ 

หากได้เล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ก็จะรู้ว่าเป็น พ.ศ. 2328-2329 หรือต้นยุครัตนโกสินทร์ หลังการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงได้เพียง 3 ปี พม่าได้ส่งกองทัพมา 9 กองทัพ 5 สาย (สงครามเก้าทัพ) มารุกรานไทยเราอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับไปและไม่มีสงครามระหว่างกันอีกเลย 

ต่อมาในปลายสมัยของราชวงศ์โก้นบอง ซึ่งอยู่ในยุคการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกอย่าง อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นอังกฤษสามารถยึดครองอินเดียที่มีพรมแดนติดกับพม่า และสุดท้ายก็นำมาสู่สงครามระหว่างกันของ 'อังกฤษ-พม่า' ถึง 3 ครั้ง 

- สงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2367) พม่าต้องยก รัฐอัสสัม, รัฐมณีปุระ, รัฐยะไข่ และตะนาวศรี และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 1 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงแก่อังกฤษ

- สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2395) อังกฤษยึด เมาะตะมะ, ย่างกุ้ง, พะสิม, แปร, พะโค

- และสงครามครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2428) อันเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ทำให้พม่ากลายเป็นอาณานิคมภายใต้อังกฤษอย่างสมบูรณ์กลายเป็นมณฑลหนึ่งของบริติชอินเดีย

จากนั้น อังกฤษปกครองพม่าในฐานะมณฑลหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ. 2429 โดยมีย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และกลายเป็นเมืองยุคใหม่ของพม่าที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐบาล โดยราชวงศ์โก้นบองถูกล้มล้าง พระเจ้าธีบออดีตกษัตริย์ถูกเนรเทศไปกักตัวไว้ที่เมืองรัตนบุรี อินเดีย แล้วแยกการเมืองและศาสนาออกจากกัน ซึ่งแต่เดิมพระสงฆ์จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากราชวงศ์ และราชวงศ์จะรับรองสถานะทางกฎหมายของพุทธศาสนา

นอกจากนั้นแล้ว อังกฤษยังเข้ามาจัดการระบบศึกษาให้แยกและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา ด้วยการจัดตั้งโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และสนับสนุนให้มิชชันนารีเข้ามาสร้างโรงเรียน โดยในโรงเรียนทั้งสองระบบนี้ไม่สอนเกี่ยวกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า เพื่อทำลายความเป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมของพม่าที่แตกต่างจากอังกฤษ 

จากเหตุการณ์นี้เอง ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านทั่วไปในพม่าตอนเหนือไปจนถึงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษเข้าไปปราบปรามด้วยการเผาทำลายทุกหมู่บ้านที่ต่อต้านอังกฤษ สั่งให้ผู้คนอพยพลงไปยังพม่าตอนใต้ และปลดเจ้าหน้าที่ทุกคนที่สนับสนุนฝ่ายกบฏออก พร้อมทั้งนำกลุ่มคนที่สนับสนุนอังกฤษเข้ามาทำหน้าที่แทน จึงทำให้การต่อต้านอังกฤษยุติลง

ข้ามมาในเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากในขณะนั้น 'ข้าว' เป็นที่ต้องการของยุโรปอย่างมาก จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี โดยมีการอพยพชาวพม่าจากที่สูงลงมายังที่ลุ่ม เพื่อปลูกข้าว และให้มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของประชากร, บริการสาธารณะ และสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้บริการชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษและชาวอินเดีย โดยมีอังกฤษเป็นเจ้าของ และชาวพม่าต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อใช้บริการเหล่านี้ 

ฉะนั้นเศรษฐกิจของพม่าในช่วงนั้นจึงเติบโตขึ้น แต่เป็นการเติบโตภายใต้อำนาจทั้งหมดที่อยู่ในมือหุ้นส่วนชาวอังกฤษและผู้อพยพจากอินเดีย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยอาณานิคม ส่งผลร้ายต่อพม่า เพราะได้ใช้ทรัพยากรของพม่าไปเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของอังกฤษเท่านั้น 

ด้านความมั่นคง ชาวพม่าถูกห้ามเป็นทหาร โดยทหารส่วนใหญ่จะเป็นชาวอินเดีย, ชาวพม่าเชื้อสายอังกฤษ, ชาวกะเหรี่ยง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในพม่า ทว่าด้วยการใช้อำนาจบังคับกดขี่ข่มเห่งชาวพม่าอย่างมากมายของอังกฤษ จึงทำเกิดขบวนการชาตินิยมพม่าต่อต้านอังกฤษขึ้น มีหลายหมู่บ้านที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกองโจรติดอาวุธ จนกลายเป็นหมู่บ้านนอกกฎหมาย

ในปี พ.ศ. 2480 อังกฤษได้แยกมณฑลพม่าออกจากบริติชอินเดีย และตั้งเป็นหน่วยการปกครองที่มีสภาเป็นของตนเอง จนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในพม่า จนมีการก่อตั้งรัฐพม่าใน พ.ศ. 2486 

ทว่า หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษก็ได้กลับเข้าไปในพม่า และสถาปนาการปกครองระบอบอาณานิคมอีกครั้งใน พ.ศ. 2488 

หลังจากที่อังกฤษกลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง ได้มีการเจรจาเกี่ยวกับเอกราชของพม่า คือ ความตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) เป็นความตกลงระหว่างพม่า, ไทใหญ่, ชีน และกะชีน ผ่านการประชุมปางหลวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

การประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 เมื่อกองทัพสัมพันธมิตรยึดรัฐชาน (สหรัฐไทยเดิม) คืนจากไทยแล้ว ได้มีการประชุมเพื่อตัดสินชะตากรรมของชาติตนเองเรียกว่า การประชุมปางหลวงจัดขึ้นที่เมืองปางหลวงในรัฐชานในวันที่ 20-28 มีนาคม พ.ศ. 2490 การประชุมครั้งนี้พม่านำโดยนายพลออง ซาน (บิดาของอองซานซูจี) ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชได้เรียกร้องให้รัฐชานรวมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ 

หลังจากการประชุมครั้งแรก พม่าได้ทำความตกลง 'อองซาน-แอตลี' กับ อังกฤษ เพื่อรวมอาณานิคมของอังกฤษทั้งหมดเข้ากับสหภาพพม่า ฝ่ายรัฐชานจึงจัดการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 ระหว่าง 3-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 เพื่อปฏิเสธการเข้ารวมตัวกับพม่า โดยตัวแทนฝ่ายกะชีนเข้าร่วมประชุมกับฝ่ายไทใหญ่เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ และตัวแทนจากรัฐชีนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ และตกลงจัดตั้งสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาเพื่อต่อรองกับฝ่ายพม่า ตัวแทนฝ่ายพม่า นำโดยอองซานพร้อมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลอังกฤษเข้าร่วมประชุมเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ เพื่อเจรจากับตัวแทนสภาสูงสุดแห่งประชาชนชาวเขาจนเป็นที่มาของการลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 อย่างไรก็ตาม ความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตาม (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : WHAT...IF อะไรจะเกิดขึ้น...ถ้าสัญญาปางหลวงสำเร็จ https://thestatestimes.com/post/2022072009)

ทว่า นายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ ได้แก่ รัฐมนตรี 6 คน และเจ้าหน้าที่รัฐบาล 2 คน ถูกลอบสังหารระหว่างการประชุมสภาก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ 6 เดือน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 จึงทำให้ความตกลงปางหลวงไม่บรรลุผล เพราะพม่าไม่ยอมปฏิบัติตาม จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพม่าซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 โดยกลุ่มติดอาวุธของแต่ละชาติพันธุ์หลายกลุ่มต่อสู้กับกองทัพพม่า 

แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงหลายครั้งและมีการสร้างเขตปกครองตนเองที่เป็นอิสระในปี พ.ศ. 2551 แต่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็ยังคงเรียกร้องเอกราช หรือ การรวมเป็นสหพันธรัฐเมียนมาเรื่อยมา

ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ ถือเป็นสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานที่สุดในโลก กินเวลานานกว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว และความขัดแย้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลของพรรค NLD ที่นำโดยอองซานซูจี จากพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 จนมีการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะงานนี้ประเทศตะวันตกเปิดหน้าออกตัวสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น จึงทำให้การสู้รบอย่างหนักในพื้นที่อิทธิพลของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนทุกวันนี้ 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในเมียนมา เกิดจากการที่อังกฤษไม่ได้ดำเนินการให้รัฐต่าง ๆ ในพม่า (ขณะนั้น) มีเสรีภาพ มีความเป็นรัฐอิสระ และรวมกันเป็นสหพันธรัฐหรือสหรัฐ แต่กลับปล่อยให้มีความคลุมเครือเกิดขึ้น ทั้งหลังจากการการลอบสังหารนายพล ออง ซาน และผู้นำในการเรียกร้องเอกราชคนอื่น ๆ 

อังกฤษควรต้องเลื่อนการให้เอกราชกับพม่าไปก่อนเพื่อให้การดำเนินการตามข้อตกลงมีความชัดเจนหรือมีหลักประกันที่เหมาะสมสำหรับรัฐต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่ติดตามข้าราชการอังกฤษที่มาทำงานในพม่า

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลอังกฤษไม่เคยสนใจหรือใส่ใจเลย ดังนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามปัญหาความขัดแย้งกว่า 70 ปีในเมียนมา อังกฤษจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ฉาว ‘ตม.-ข้าราชการไทย’ เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าชาติ ปูพรมแดงรับชาวเมียนมาเข้าไทยแบบ Elite ในราคาหลักพัน

ไม่นานมานี้เพจ Look Myanmar มีการเปิดข้อมูลเอเย่นต์พม่าโปรโมตการเดินทางเข้าไทยแบบ Exclusive ที่เรียกว่า VIP Pass โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 7,000 บาทเท่านั้น แบ่งเป็น...

‘ฝั่งเมียนมา’ คุณจะได้อภิสิทธิ์เพียงแค่มีพาสปอร์ตและตั๋วโดยสารเข้าไทยเท่านั้น โดยไม่ต้องแสดงเงิน, ตั๋วขากลับและใบจองโรงแรม...ในราคานี้เจ้าหน้าที่ ตม. ฝั่งเมียนมา จะพาคนพม่าข้ามผ่านจุดเช็กอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน รวมถึงผ่านด่าน ตม. ที่สนามบินไปส่งยัง Border Gate

ในขณะที่ ‘ฝั่งไทย’ มีค่าใช้จ่าย 5,000 บาท ซึ่งคนเมียนมาที่จะเข้าไทยจะมีเจ้าหน้าที่มารับถึง Gate พาไปยัง ตม. ด้วยรถกอล์ฟ และทำเรื่องผ่าน ตม. ในช่องทางพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงตั๋วขากลับ, ใบจองโรงแรมและเงินติดตัว

และยังมีการระบุอีกว่า “ราคานี้สำหรับคนที่ไม่มีประวัติเสียในการเดินทางเข้าไทย หากใครมีประวัติที่ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้หรือติดแบล็กลิสต์ จะคิดอีกราคาหนึ่ง”

ประกาศนี้ไม่ได้มีเพียงประกาศเดียว ยังมีประกาศอีกหลายเอเจนซีที่ระบุว่าสามารถให้บริการ VIP Pass ได้ที่สนามบิน ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, เชียงใหม่ และภูเก็ตอีกด้วย

ในอดีตการมีอภิสิทธิ์ของฝั่งพม่านั้น มีการพบเห็นได้หลายครั้งในหมู่เศรษฐีพม่า หรือคนมีชื่อเสียงเพื่อให้ไม่ต้องต่อคิวผ่าน ตม. ยาวเหยียด และมีคนเข้ามารับตรงหลัง ตม. เลย ขณะที่ในส่วนของไทยเรามีการให้อภิสิทธิ์สำหรับคนที่ถือบัตร Elite card ซึ่งราคาบัตร Elite card ต่อปีก็ไม่ใช่ถูก ๆ

แต่จากเหตุการณ์นี้...นี่ถือเป็นหลักฐานอย่างโจ่งแจ้งของการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่การท่าร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยเลยก็ว่าได้

แน่นอนว่า หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาประกาศเกณฑ์ทหาร ก็ทำให้คนพม่าจำนวนมากพากันออกนอกประเทศมาทำธุรกิจ มาศึกษาในไทยทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้อง และมีคนจำนวนไม่น้อยหนีคดีความมั่นคงและก่อการร้ายในเมียนมา มาแฝงตัวในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้มาตลอดว่าการท่าอากาศยานมีบริการแบบนี้ อย่างที่ยูทูบเบอร์จีนรายหนึ่งเคยทำคอนเทนต์ลงในยูทูบและติ๊กต็อกมาแล้ว แต่การมาของชาวจีนกับชาวเมียนมานั้นต่างกัน...

คนจีนที่มานั้น ส่วนใหญ่เน้นมาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย ต่างกับชาวพม่าที่เทครัวมาอาศัยระยะยาวและอาศัยช่องว่างของกฎหมายไทย มาทำมาหากินร่วมกับคนไทย หรือข้าราชการไทยบางคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประเทศชาติ

หวังว่าเสียงเล็ก ๆ ของ ‘เอย่า’ จะไปสะกิดหูท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนะคะ

ไทยเราคงต้องเรียนรู้จากชาติตะวันตกเมื่อต้อนรับผู้ลี้ภัยข้ามชาติเข้ามาพำนักในประเทศมาก ๆ แล้วจะเป็นอย่างไร ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ

‘สื่อเมียนมา’ เผย ‘ทักษิณ’ ล้มเหลว ไกล่เกลี่ยวิกฤตสงครามเมียนมา

(10 พ.ค. 67) สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานว่า การเดินทางเยือนเมียนมาของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อช่วยเจรจาหาทางยุติสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มต่อต้านและรัฐบาลทหารนั้น ไม่เพียงแต่จะถูกเมินจากรัฐบาลเมียนมา แต่ยังทำให้กลุ่มต่อต้านบางส่วนรู้สึกไม่สบายใจด้วย

ทักษิณและทีมงานได้พบกับตัวแทนของกลุ่มต่อต้าน ได้แก่ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNPP), องค์การแห่งชาติคะฉิ่น (KNO) และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ในเดือน มี.ค. และ เม.ย.

การพบปะดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทย มาริษ เสงี่ยมพงษ์ ว่าการเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ดำเนินการเป็นการส่วนตัว และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นทางการของไทย

“เราต้องยอมรับว่า คุณทักษิณเป็นที่รู้จักและมีความเชื่อมโยงกับเมียนมา เชื่อว่าเขาสามารถช่วยได้” รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่กล่าว

เชื่อกันว่า ทักษิณมีความใกล้ชิดกับ มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา เขาเคยไปเยี่ยม มิน อ่อง หล่าย ในปี 2013 และมีผลประโยชน์ทางธุรกิจที่นั่นภายใต้ระบอบการปกครองก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การหารือในเดือน มี.ค. และ เม.ย. รัฐบาลทหารเมียนมาก็นิ่งเงียบในประเด็นนี้ และไม่ตอบรับคำร้องขอเยือนของทักษิณ แหล่งข่าวในไทยซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องนี้บอกกับอิรวดีว่า การหารือดังกล่าวส่งผลย้อนกลับต่อทักษิณ

“ทักษิณกำลังถูกสื่อและฝ่ายค้านโจมตี เป็นการดีสำหรับเขาที่จะถอยออกมาแบบไม่เสียหน้า เนื่องจาก มิน อ่อง หล่าย ไม่ตอบสนองต่อคำขอของเขา” แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. คณะกรรมการสภาผู้แทนราษฎรด้านความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดน ซึ่งนำโดยพรรคก้าวไกล ประกาศว่า จะสอบสวนการหารือของทักษิณกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยกล่าวว่า การพบปะอาจทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทยในการฟื้นฟูความสงบสุขในประเทศเพื่อนบ้าน

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า กองทัพไทยกำลังจับตาดูผู้ที่ทักษิณพบปะอย่างใกล้ชิด รวมถึงกลุ่มต่อต้านเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ โดยบอกว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่แน่ใจว่ากองทัพไทยยินดีหรือไม่ที่ได้เห็นทักษิณมาพบปะกับกลุ่มดังกล่าว

แหล่งข่าวรายหนึ่งจากกลุ่มต่อต้านที่เข้าร่วมการหารือกล่าวว่า ทักษิณได้นำเอกสารอย่างเป็นทางการมาให้พวกเขาลงนาม เพื่อมอบอำนาจให้ทักษิณทำหน้าที่เป็นคนกลาง แต่ ‘ไม่มีกลุ่มใดลงนามในเอกสารที่ทักษิณนำเสนอ’ โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจ

ขณะที่การประชุมกับ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาก็ไม่เป็นไปตามที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคาดหวังไว้ เพราะเขาได้พบเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับกลางเท่านั้น

อู ออง ซาน มยินต์ เลขาธิการคนที่ 2 ของ KNPP บอกกับอิรวดีว่า ในระหว่างการพบปะหารือ ทักษิณกล่าวว่า เขาต้องการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ของเมียนมา

“เราไม่ได้ทำข้อตกลงใด ๆ กับเขา เราบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการเจรจา เราได้พูดคุยกันว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอย่างไรในขณะที่มีการต่อสู้กัน เราไม่ได้พูดคุยเรื่องอื่นใดอีก” เขากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top