‘มิน อ่อง หล่าย’ อาจวางมือ…ปิดฉากยุคกองทัพคุมประเทศ วิเคราะห์เบื้องหลัง? คาดเจอแรงกดดันหนักจากแผ่นดินไหวและเกมของมหาอำนาจ

(1 พ.ค. 68) มีข่าวสะพัดออกมาในช่วงที่เอย่าเดินทางไปมัณฑะเลย์ เพื่อพบปะกับเจ้าหน้าที่คนไทยที่เข้าไปช่วยกู้ภัยในเมียนมา ซึ่งข่าวนี้ทำให้เอย่าต้องหูผึ่ง จนต้องเขียนบทความในครั้งนี้ เพราะเป็นข่าวลือที่ว่า 'นายพล มิน อ่อง หล่าย' จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำกองทัพเมียนมา

แต่ก่อนที่เราจะมาคุยเรื่องนี้ เอย่าขอเล่าให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจบริบทในเมียนมาก่อน เพราะมีสื่อโซเชียลบางส่วนพยายามโจมตีภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาว่าไม่เหลียวแลประชาชนเลย ซึ่งคนอ่านก็ด่าตามโดยไม่ไตร่ตรอง

เอาแบบนี้… มาตั้งสติแล้วคิดตามเอย่าสักนิดนะคะ

หลังเกิดแผ่นดินไหว ประเทศไทยที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเมียนมา ได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายเท่า ยังต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อซ่อมแซมบ้าน ดูแลผู้ประสบภัย และจัดการอาคารที่เสียหาย แล้วถามกลับว่า รัฐบาลเมียนมาชุดนี้ ที่ถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ และยังถูกบางกลุ่มในไทยใส่ร้าย สนับสนุนกลุ่มต่อต้าน ทั้งเรื่องที่พักพิง อาวุธ และแหล่งเงินทุน พวกเขาจะมีทรัพยากรพอแค่ไหน? ขนาดไทยยังแจกค่าซ่อมบ้านแค่หลักร้อยหลักพัน แล้วจะให้เมียนมาทำได้ขนาดไหน?

คนเมียนมาที่ให้ข้อมูลกับเอย่าบอกว่า เขาอยากทำแบบไทยมาก แต่ก็ทำได้เท่าที่งบประมาณมี ดังนั้น หากใครเป็นสื่อแต่ไม่เข้าใจคำว่า 'จรรยาบรรณ' แล้วอ้างคำว่า 'เสรีภาพสื่อ' เพื่อทำข่าวตามใจผู้จ่ายเงิน ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าสื่อ และควรเลิกอ้างว่ารักประเทศเมียนมา เพราะหากรักจริง ต้องช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่ซ้ำเติมประเทศของเขา

ว่าแล้ว… มาต่อเรื่องข่าวของเราดีกว่าค่ะ ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวลือหนาหูว่า 'มิน อ่อง หล่าย' อยากจะลาออก โดยแหล่งข่าวของเอย่าระบุว่า ครั้งนี้เขาเสียใจจริง ๆ จนสภาพจิตใจย่ำแย่ ส่งผลต่อสุขภาพที่แย่ลง และมีข่าวว่าอาจลาออกถาวรหลังการเลือกตั้ง และจะไม่รับตำแหน่งใด ๆ อีก

จริงๆ แล้วข่าวลือเรื่องลาออกนั้นมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว โดยมีรายงานว่าจีนเคยกดดันให้ 'มิน อ่อง หล่าย' ลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แลกกับการที่จีนจะช่วยคืนเมืองล่าเสี้ยวและอีก 2 เมืองที่ถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดไว้ แต่สุดท้าย แทนที่จะทำตาม จู่ ๆ ผู้นำเมียนมากลับไปร่วมมือกับปูติน ผู้นำรัสเซีย ทำให้จีนต้องหันกลับมาง้อ พร้อมอาสาจัดการคืนเมืองต่าง ๆ แทนแบบที่เมียนมาไม่ต้องออกแรงเลย

แต่ข่าวลาออกรอบนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์มาเป็นสามสาย

อันแรกคือเป็นไปได้ที่ผู้นำเมียนมาจะลาออกแล้วลงเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว

อันที่ 2 คือลาออกแล้วมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ SAC เดี่ยวๆเลย เพื่อควบคุมรัฐบาลที่เลือกตั้งมาอีกที

อันสุดท้ายที่มีคนพม่าจำนวนไม่มากเชื่อว่ารอบนี้อาจจะลาออกจริงเพื่อไปพักแล้ว เพราะจากสถานการณ์แผ่นดินไหวนี้ได้สร้างความบอบช้ำในจิตใจของนายพล มิน อ่อง หล่าย ไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่ลงจากตำแหน่ง

มีคนพม่าในไทยบางคนเปรียบเปรยว่า 'มิน อ่อง หล่าย' คล้ายกับ 'ลุงตู่' ที่ขณะดำรงตำแหน่งก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่หากวันหนึ่งไม่มีเขา คนอาจกลับมาคิดถึง และนั่นอาจเป็นบทเรียนของเมียนมาก็ได้... ดั่งเสียงเรียกร้องให้ลุงตู่กลับมาในโลกโซเชียลที่ดังขึ้นทุกวัน — แต่วันนั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะเราไม่เห็นค่าของเขาในวันที่เขายังอยู่


เรื่อง : AYA IRRAWADEE