Monday, 6 May 2024
เกาหลีใต้

เมื่อการให้ ‘ทิป’ กลายเป็นเรื่องลำบากใจของชาวเกาหลีใต้ จนลูกค้าแห่เลี่ยงใช้บริการ ส่อฉุดยอดขายร่วง-ธุรกิจดิ่ง

‘ค่าทิป’ เรื่องลำบากใจชาวเกาหลีใต้ ผู้บริโภคแห่เลี่ยงใช้บริการ การทำให้วัฒนธรรมให้ทิปกลายเป็นเรื่องปกติ อาจฉุดยอดขายธุรกิจลง เนื่องจากลูกค้าบางคนอาจเข้าใจว่า ยิ่งรับประทานอาหารมากเท่าไร ยิ่งต้องจ่ายค่าทิปมากเท่านั้น

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า สังคมของชาวเกาหลีใต้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากสหรัฐฯ มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชื่นชอบชีสเบอร์เกอร์ของสหรัฐฯ ปาร์ตี้สละโสดแบบ bridal shower และละครซิตคอม แต่มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ ที่สังคมเกาหลีใต้รับไม่ได้ และออกแนวไม่ชอบใจเท่าที่ควร นั่นคือธรรมเนียม ‘การให้ทิป’

ชาวเกาหลีใต้ก็เหมือนประเทศอื่น ๆ นอกสหรัฐที่มักไม่ค่อยให้ทิปเพื่อเข้าไปซื้อบริการ แต่ก็กำลังเจอกับปัญหาท้าทายเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่ออูเบอร์ของเกาหลีใต้ เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้คนขับบางราย โดยสามารถรับทิปได้ 0.75 เซนต์-1.5 ดอลลาร์ ต่อการให้บริการ 1 ครั้ง หรือราว 26-53 บาทต่อการบริการ 1 ครั้ง ซึ่งการให้ทิปอูเบอร์ จะแตกต่างกันไปตามระดับความพรีเมียมของแท็กซี่

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต่อต้านการให้ทิป แม้แต่ 2 เซนต์ก็ไม่อยากให้

โพสต์ในโลกออนไลน์ที่เป็นกระแสมาแรง ระบุว่า “ตอนนี้ ธรรมเนียมการให้ทิปเริ่มต้นด้วยการให้ตามความพึงพอใจ แต่หลังจากนั้นจะกลายเป็นความกดดัน”

ขณะที่ชาวเน็ตคนอื่นๆ ร่วมกันล่าแม่มด ตามข่าวลือต่าง ๆ นานา เพื่อสืบหาและทำให้ธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม หรือการจ่ายค่าทิปเป็นเรื่องที่น่าอาย

กระแสให้ทิปกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมเกาหลีใต้ จนสำนักข่าวแห่งหนึ่งพาดหัวข่าวว่า “เดี๋ยวนะ ที่นี่คืออเมริกาเหรอ?”

‘ซอน อึนจี’ พนักงานการเงินวัย 34 ปี เล่าว่าเธอไม่เคยให้ทิปใครหรือร้านใดในเกาหลีใต้เลย ยกเว้นบริจาคเงินเพื่อการกุศล เมื่อเกิดกระแสว่า บางธุรกิจเปิดให้เพิ่มทิป เธออาจหลีกเลี่ยงไม่สนับสนุนธุรกิจที่ขอเงินเพิ่มแบบนี้

“การให้ทิปไม่ใช่เรื่องสำคัญในเกาหลีใต้ และไม่ควรเป็นเรื่องสำคัญในตอนนี้” ซอน กล่าว

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ไม่นิยมให้ทิป แต่มีข้อยกเว้นให้บางธุรกิจ เช่น แคดดี้ในสนามกอล์ฟ หรือคนเก็บลูกกอล์ฟ และพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารทะเลหรือบาร์บีคิว ที่สามารถขอทิปจากลูกค้าได้ และกฎหมายของเกาหลีใต้ กำหนดให้ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ต้องระบุค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งหมด รวมออกมาเป็นราคาเดียว

แม้แต่คนขับรถส่งของ ที่รับรายได้จากแอปพลิเคชันดิลิเวอร์รี ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับทิป ไม่ว่าจะให้บริการในวันฝนตกหรือแดดออกก็ตาม

ชาวเน็ตเกาหลีใต้บางคนบ่นว่า พวกเขาทุ่มเงินไม่กี่เหรียญให้กับพนักงานบริการส่วนใหญ่ แต่กลับไม่สนใจให้ทิปช่างทำกุญกับบุคลากรการแพทย์ ช่างเป็นอะไรที่ชวนให้สับสน

‘ฌอน จุง’ ศาสตราจารย์ด้านบริหารกิจการให้บริการ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่า “สหรัฐฯ เป็นประเทศให้ทิปมากกว่าปกติ เพราะการให้ทิปเป็นเรื่องที่ถูกตั้งความหวัง และเป็นวัฒนธรรมที่นิยมในร้านอาหารอย่างแพร่หลาย”

อย่างไรก็ตาม การให้ทิปในเกาหลีใต้เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ แม้แต่เจ้าของร้านอาหารต่าง ๆ ก็มองว่า วัฒนธรรมการให้ทิปเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

‘นัม ซุกจา’ เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับไฮเอ็นด์ในกรุงโซล ที่มีเมนูอาหารที่เป็นจุดขายคือซาชิมิทูน่า ภายในร้านอาหารเต็มไปด้วยห้องอาหารส่วนตัว และลูกค้าร้านนี้มักจะจ่ายเงิน 10,000 วอน หรือราว 268 บาท ให้กับพนักงานเสิร์ฟ เมื่อเริ่มสั่งอาหารชุดแรก ซึ่งการให้ทิปพนักงาน อาจทำให้ได้รับบริการที่เอาใจใส่มากขึ้น ได้รับอาหารชุดต่อไปไวขึ้น หรือได้รับการเสิร์ฟแบบพิเศษ

อย่างไรก็ตาม นัม คิดว่า การที่ลูกค้าของเธอรู้สึกว่าต้องให้ทิปเพื่อรับบริการที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ผิด และเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ

ด้าน ‘คิม มยองคยู’ เจ้าของบาร์แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้กังวลว่า การทำให้วัฒนธรรมให้ทิปกลายเป็นเรื่องปกติ อาจฉุดยอดขายธุรกิจให้ลดลง เนื่องจากลูกค้าบางคนอาจเข้าใจว่า ยิ่งรับประทานอาหารมากเท่าไร ยิ่งต้องจ่ายค่าทิปมากเท่านั้น

“การให้ทิปดูไม่เป็นเรื่องที่น่าพอใจสำหรับลูกค้า ถ้าจะให้วางกล่องใส่ทิปไว้เหรอ? ร้านไม่มีทางทำแน่นอน” คิม ย้ำ

ด้าน ‘กาเกา โมบิลลิตี’ ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เผยว่า ยอดให้ทิปของประเทศถึงจุดพลิกผันเมื่อเดือนก่อน

โดยบริษัทเริ่มโครงการนำร่อง เสนอช่องทางจ่ายเงินเพิ่มที่เรียกว่า ‘ทิปขอบคุณ’ 1.5 ดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่ให้บริการที่ดีขึ้น แต่โฆษกหญิงของบริษัทบอกว่า มีเพียงคนขับที่ให้บริการแท็กซี่ระดับสูงและได้รับคะแนนรีวิว 5 ดาวหลังให้บริการเท่านั้น ที่สามารถรับทิปจากลูกค้าได้

อย่างไรก็ตาม อนาคตของฟังก์ชันนี้จะเป็นอย่างไรนั้น บริษัทยังไม่ได้วางแผนใดๆ เพิ่มเติม

จากโพลสำรวจข้อมูลของโอเพนเซอร์เวย์ในกรุงโซล พบว่า ชาวเกาหลีใต้ 7 ใน 10 คน ไม่ชอบฟีเจอร์ให้ทิปแท็กซี่ ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น ที่เห็นด้วยกับฟีเจอร์ดังกล่าว

ข้อกังขาจากสาธารณชนเกี่ยวกับการให้ทิป จุดประกายให้กับโต๊ะข่าว ที่ทำข่าวเกี่ยวกับการให้ทิปลดลงส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ โดยผู้ประกาศข่าวหญิงคนหนึ่ง ถึงกับต้องทำประเด็นข่าวใหม่ เพื่ออธิบายว่า การให้ทิปปริมาณมากเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสหรัฐฯ ได้อย่างไร และถึงขั้นที่ลูกค้าต้องจ่ายทิปจำนวนมาก

นักข่าวกล่าวว่า โดยปกติแล้ว ผู้คนมักสงสัยกันว่า ทำไมโลกเราต้องมีวัฒนธรรมการให้ทิป เมื่อมองไปที่สหรัฐฯ ผู้คนในประเทศนี้ก็เริ่มซักถามและแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับสถานที่ที่อาจจะเก็บค่าทิป หรือไม่เก็บค่าทิปกันบ้างแล้ว

‘สส.เกาหลีใต้’ เล็งเสนอกฎหมายห้ามจำหน่าย-บริโภค 'เนื้อสุนัข' ขณะที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการแบน-กำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

(18 ก.ย. 66) บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเกาหลีใต้ กำลังมีแผนเสนอร่างกฎหมายซึ่งมีเป้าหมายห้ามจำหน่ายและบริโภคเนื้อสุนัข ประเพณีเก่าแก่อายุหลายร้อยปีอันเป็นที่ถกเถียง ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีการแบนหรือกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอโดยพรรคเดโมแครต ปาร์ตี พรรคฝ่ายค้านหลักเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) และเรียกเสียงสนับสนุนในทันทีจากพรรคพีเพิล พาวเวอร์ ปาร์ตี พรรครัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่าจะมีคะแนนเสียงมากพอสำหรับโหวตผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้

ปาร์ก แด-ชุล ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายของพรรครัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า "ประชาชนเกาหลีใต้ราว 10 ล้านครัวเรือน เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดรับประทานเนื้อสุนัข"

ทั้งนี้ ปาร์ก ยังให้คำจำกัดความร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น ‘ร่างกฎหมายคิม กอนฮี’ อ้างถึงสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้ ซึ่งรณรงค์ยุติกิจวัตรการรับประทานเนื้อสุนัขในประเทศ อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อดังกล่าว เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แม้กระทั่งจากสมาชิกภายในพรรคเอง ซึ่งกล่าวหา ปาร์ก ว่าประจบประแจงประธานาธิบดีจนเกินงาม

สุภาพสตรีหมายเลข 1 สนับสนุนการแบนซื้อขายและบริโภคเนื้อสุนัขทุกรูปแบบ และเมื่อเดือนที่แล้ว เธอได้เร่งเร้าสมัชชาแห่งชาติให้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งสำหรับยุติกิจวัตรดังกล่าว และสัญญาว่าจะเดินหน้ารณรงค์และใช้ความพยายามเพื่อนำมาซึ่งจุดจบของการบริโภคเนื้อสุนัขให้ได้

‘มนุษย์และสัตว์ควรอยู่ร่วมกัน’ เธอบอกระหว่างแถงข่าวที่มีกลุ่มประชาคมหนึ่งเป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม พร้อมระบุ "กิจกรรมเนื้อสุนัขอย่างถูกกฎหมายควรถึงจุดจบเสียที"

การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในคาบสมุทรเกาหลีมานานหลายร้อยปี แต่มันได้รับความนิยมลดน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนฟาร์มสุนัขทั่วเกาหลีใต้ลดลงกว่าครึ่ง แต่ยังมีสุนัขถูกฆ่าเป็นอาหารราว 700,000 ตัวต่อปี ลดลงจากระดับหลายล้านตัวเมื่อราว 1 ทศวรรษก่อน จากข้อมูลของสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุนัข

ความพยายามที่ผ่านมาของรัฐบาลในการกำหนดให้อุตสากรรมเนื้อสุนัขเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกคัดค้านจากทั้งเจ้าของฟาร์มสุนัขและร้านอาหาร เนื่องจากเกรงว่ามันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

‘นายกฯ เศรษฐา’ หารือทวิภาคี ‘ประธานาธิบดีเกาหลีใต้’ พร้อมเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ

(21 ก.ย.66) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายยุน ซ็อก ย็อล (Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้พบหารือทวิภาคี กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78)

นายกรัฐมนตรี กล่าวยินดีที่มีโอกาสได้พบกับประธานาธิบดีฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีมีความใกล้ชิดกันอย่างมาก โดยเฉพาะระดับประชาชน ความนิยมวัฒนธรรมระหว่างประชาชนไทยและประชาชนเกาหลี โดยในปีนี้จะครบครอบ 65 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีอีกด้วย

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ โดยด้านการเมือง ทั้งไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ต่างต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และได้เชิญประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและภริยาเดินทางเยือนไทย สำหรับด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเร่งรัดผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement: EPA) ระหว่างกัน และได้หารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ อาทิ ซอฟต์เพาเวอร์ อวกาศ พลังงานนิวเคลียร์ สตาร์ทอัป ยานยนต์ไฟฟ้า ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมช่วยอำนวยความสะดวกการลงทุนดังกล่าว รวมทั้งเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นอีกด้วย

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ วีรชนแห่งสมรภูมิรบเกาหลี จากนักเรียนธรรมดา สู่ทหารผู้ยืนหยัดปกป้องชาติด้วยความหาญกล้า

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี (Korea Student Volunteer Force)

สังคมปัจจุบัน เมื่อพูดถึง ‘ความรักชาติ’ แล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวที่พ้นสมัยของคนเฒ่าชะแรแก่ชราในยุคก่อน ทั้ง ๆ ที่เรื่องของ ‘ความรักชาติ’ นั้น เป็นปกติวิสัยทั่วไป เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามแต่ละประเทศที่เกิดและอาศัยอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของพลเมืองในทุกชาติบนโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ยังคงอยู่ในสภาวะสงคราม เช่น สาธารณรัฐเกาหลี หรือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงการหยุดยิงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี หรือ ‘เกาหลีเหนือ’ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 หรือ 70 ปีมาแล้ว และจนทุกวันนี้ ทั้งสองเกาหลียังไม่มีการทำสนธิสัญญาสงบศึก หรือสนธิสัญญาสันติภาพ อันเป็นการยุติสงครามระหว่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่อย่างใด

กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี กำลังขึ้นรถไฟเพื่อเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องเป็นทหารกองประจำการโดยไม่มีการยกเว้น ไม่มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ รวมทั้งแทบไม่มีการผ่อนผันเลย เว้นแต่บางกรณี เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งยังต้องฝึกซ้อมเพื่อเป็นตัวแทนของประเทศ ในการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ 

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 เกาหลีใต้ได้มีการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ประกอบด้วย นักเรียนที่เรียนอยู่ในเกาหลีใต้ และนักเรียนเกาหลีที่ไปเรียนในญี่ปุ่น (เกาหลีเคยเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) ในช่วงสงครามเกาหลี นักเรียนเกาหลีจำนวน 642 คน ได้รวมตัวกันเดินกลับมายังเกาหลีใต้ และอาสาสมัครเข้าร่วมสู้รบภายใต้กองทัพสาธารณรัฐเกาหลี และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีก็ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจในการรบมากมายหลายครั้งหลายหน

สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ต้องสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ โดยไม่มี ยศ สังกัด หรือแม้แต่หมายเลขประจำตัวทหาร

‘กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี’ (학서의용군 อ่านว่า Hak Do Ui Yong Gun) โดยนักเรียนอาสาสมัครเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 14–17 ปี ซึ่งอายุต่ำกว่าอายุครบเกณฑ์ทหาร 18 ปี (ในขณะนั้น การแจ้งเกิดมักจะล่าช้า ดังนั้น อายุที่แท้จริงของนักเรียนอาสาสมัครจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16–19 ปี) หลังจากสงครามสองเกาหลีปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1950 กองทัพเกาหลีใต้สามารถระดมกำลังนักเรียนอาสาสมัครได้ถึง 198,380 นาย จัดกำลังเป็น กองพลทหารราบ 10 กองพล, กองพลยานเกราะ 1 กองพล และหน่วยยานยนต์ 1 หน่วย และระหว่างสงครามจนถึงการหยุดยิงระหว่าง 2 เกาหลี มีนักเรียนประมาณ 275,200 คน เข้าร่วมรบในสงครามกับกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ทั้งทำการรบ ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือประชาชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

‘การจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในยามฉุกเฉิน’ (비상학 시단) โดยนักเรียน 200 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมนักเรียนอาสาปกป้องประเทศ (학 서호성단) จากทั่วกรุงโซลได้มารวมตัวกันที่ซูวอน นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนถูกเกณฑ์ให้ร่วมรบเช่นทหารประจำการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบหมายให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนส่วนใหญ่ รับผิดชอบภารกิจในพื้นที่ด้านหลังแนวรบ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย การแจ้งข่าว และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามท้องถนน แต่สมาชิกส่วนใหญ่ของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนไม่พอใจกับภารกิจในแนวหลัง ต่อมากองทัพเกาหลีใต้ได้มอบภารกิจในการสู้รบเพื่อรักษาแนวป้องกันแม่น้ำนักดงให้แก่กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ซึ่งถือเป็นป้อมปราการแห่งสุดท้ายในขณะนั้น และกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนก็ประสบความสำเร็จในการรักษาแนวป้องกันดังกล่าว แม้ไม่มีการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม ไม่มียศทางทหาร แต่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเข้าร่วมกับกองทัพเกาหลีใต้ และกองทัพสหประชาชาติ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปกป้องประเทศ ซึ่งกำลังตกอยู่ในอันตราย กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลีเข้าร่วมในปฏิบัติการยกพลขึ้นบกอินชอน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ, ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่วอนซันและอิวอน, ปฏิบัติการยึดคืนของกัปซันและฮเยซันจิน, ยุทธการที่อ่างเก็บน้ำจางจิน และยุทธการที่เนินเขาแบกมา ฯลฯ

ภาพวาดของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนเกาหลี ขณะเดินทางเข้าสู่สนามรบ

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1951 เมื่อกองทัพสาธารณรัฐเกาหลีและกองกำลังสหประชาชาติ สามารถตีโต้กองทัพเกาหลีเหนือและกองทัพจีน จนข้ามเส้นขนานที่ 38 กลับไปในเขตเกาหลีเหนือได้แล้ว ‘Syngman Rhee’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ออกประกาศให้กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนกลับไปโรงเรียนเพื่อเรียนต่อ และออกคำสั่งคืนสถานะ โดยตามคำสั่งคืนสถานะนี้ กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต้องถอดเครื่องแบบทหารและเปลี่ยนสถานะกลับมาเป็นนักเรียนตามเดิม โดย

1.) นักเรียนทุกคนจะต้องกลับคืนสู่หน้าที่เดิม ซึ่งก็คือการเรียนของตน
2.) การยอมรับการเป็นทหารของนักเรียนที่ถูกระงับการเรียน เนื่องจากการเป็นทหาร เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนจะต้องยอมรับการกลับมาที่โรงเรียนของนักเรียนเหล่านั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.) โรงเรียนในแต่ละระดับ จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนที่กลับมาจากการเป็นทหาร
4.) นักเรียนที่พลาดการเลื่อนระดับชั้นในขณะที่เป็นทหาร จะได้รับอนุญาตให้เลื่อนระดับชั้นได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่เป็นสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ต่างยืนกรานที่จะสู้รบจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด และได้รับยศ หมายเลขประจำตัวทหาร และเข้าร่วมในการสู้รบ โดยมีวีรกรรมสำคัญบางเหตุการณ์ ได้แก่

• การรบที่โรงเรียนมัธยมสตรี P'ohang จังหวัด Gyeongsang-do เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1950 ซึ่งสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 71 นาย สู้รบกับทหารเกาหลีเหนือ หน่วยที่ 766 โดยฝ่ายเกาหลีเหนือมียานเกราะ 5 คันสนับสนุน การสู้รบกินเวลา 11 ชั่วโมง สมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียนเสียชีวิตไป 48 นาย เหลือรอดชีวิตเพียง 23 นาย วีรกรรมครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘71 : Into the Fire’

ภาพยนตร์เรื่อง 71 : Into the Fire

• การรบที่หาด Jangsari อำเภอ Yeongdeok จังหวัด Gyeongsang-do ระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน ค.ศ. 1950 โดยสมาชิกของกำลังอาสาสมัครนักเรียน 560 นาย ร่วมกับทหารของกองทัพเกาหลีใต้ ได้รับการจัดตั้งเป็น ‘กองพันกองโจรอิสระที่ 1’ รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจเพื่อลวงกองกำลังเกาหลีเหนือ ให้คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะเปิดฉากการรุกอย่างเด็ดขาดที่นั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกพลขึ้นบกที่ Inchon สมาชิกของกองพันกองโจรอิสระที่ 1 เสียชีวิตไป 139 นาย และการยกพลขึ้นบกที่ Inchon ประสบความสำเร็จด้วยดี และวีรกรรมนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘The Battle of Jangsari’

ภาพยนตร์เรื่อง The Battle of Jangsari

ตัวเลขสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี มีผู้เสียชีวิต 2,464 นาย และบาดเจ็บ 3,000 นาย ในจำนวนนี้มี 347 นาย ถูกฝังอยู่ในสุสานแห่งชาติ อีก 1,188 นาย ถูกจารึกไว้บนป้ายแห่งความทรงจำ และอีก 929 ราย ที่ไม่มีศพหรือแผ่นจารึกที่ระลึกเลย ส่วนสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนที่รอดชีวิตมักจะไม่กลับไปเรียนต่อ และยังคงอยู่ในกองทัพ แม้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี

‘อนุสาวรีย์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียนในสงครามเกาหลี’ ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมัธยมหญิง P'ohang ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน 71 นาย เพื่อเป็นเกียรติแก่การเสียสละอันสูงส่งของพวกเขา เมือง P'ohang จึงสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้ขึ้นในปี ค.ศ. 1977 และจัดพิธีรำลึกขึ้นทุกปี

หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang

‘หออนุสรณ์กองกำลังอาสาสมัครนักเรียน เมือง P'ohang’ เปิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 2002 ในสวนสาธารณะ Yongheung เพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ในการร่วมรบที่เขตเมือง P'ohang ในช่วงสงครามเกาหลี ในห้องนิทรรศการมีโบราณวัตถุประมาณ 200 ชิ้น เช่น ไดอารี่ ภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนใช้ในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีการฉายสารคดีเกี่ยวกับสงครามในห้องโสตทัศนูปกรณ์อีกด้วย

อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม

‘อนุสรณ์สถานกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนาม’ ตั้งอยู่ที่สุสานแห่งชาติ กรุงโซล ด้านหลังเป็นหลุมศพสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนนิรนามจำนวน 48 นาย ที่เสียชีวิตในเขตเมือง P'ohang ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลแก่สมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียน ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะได้รับ ซึ่งมีสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนจำนวน 317 นาย ที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ ในปี ค.ศ. 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มอบรางวัลดังกล่าว ให้กับสมาชิกของกองกำลังอาสาสมัครนักเรียนอีก 45 คน ที่ยังไม่เคยได้รับมาก่อน

ภาพจำลองแสดงเหตุการณ์ที่ยุวชนทหารสู้รบกับทหารญี่ปุ่น
ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

ย้อนกลับมาดูบ้านเรา เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตลอดอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดปัตตานีถึงจังหวัดสมุทรปราการ ขอเดินทัพผ่านไทยโดยไม่บอกล่วงหน้า คนไทยในที่เกิดเหตุแทนที่จะวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง แต่ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนต่างเข้ารักษาแผ่นดินไทยโดยไม่คิดชีวิต ทุกแห่งมียุวชนทหารเข้าร่วมด้วย และได้สร้างวีรกรรมไว้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ยุวชนทหาร 30 คน ได้ทำการสู้รบกับทหารญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งได้รับคำสั่งจาก ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้ยุติการต่อต้าน และปล่อยให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปได้ และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น จึงถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดไปทั่ว แต่ก็มียุวชนทหารเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด โดยไม่เกรงกลัวอันตรายแต่อย่างใด ยุวชนทหารในสมัยนั้นได้มีพัฒนาการต่อเนื่อง และกลายมาเป็นนักศึกษาวิชาทหารในสมัยนี้

อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร 
ริมทางหลวงหมายเลข 4001 สายชุมพร-ปากน้ำ
ตำบลบางหมาก เชิงสะพานท่านางสังข์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในขณะนี้ คือการเกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้ที่สงครามอาจจะเกิดขึ้นอีกในเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้ และไม่ได้หมายถึงสงครามที่ต้องรบกันด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสงครามที่ทุกคนในชาติจะต้องร่วมรบด้วยกัน ต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่น่าเป็นห่วงที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ที่หลงผิดคิดว่า ภยันตรายที่คุกคามความมั่นคงของชาตินั้นได้หมดไปแล้ว หากพินิจพิจารณาอย่างถ้วนถี่เยี่ยงปัญญาชนและวิญญูชนแล้วจะพบว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญที่สุดทางยุทธศาสตร์ ในการเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจ

วิธีเดียวที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชาติน้อยที่สุดคือ การรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและชัดเจน บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติ รวมทั้งกำลังทหารที่มีความพร้อมต่อการรุกรานของอริราชศัตรูตลอดเวลา ซึ่ง “พลังอำนาจทางการรบ” ตลอดจน “ศักย์สงคราม” จะทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงเข้มแข็ง และหากเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายใด ๆ ที่คุกคามแล้ว ชาติบ้านเมืองก็จะมีพร้อมต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเหตุการณ์สร่างซาสงบลงแล้ว ประเทศชาติก็จะมีความบอบช้ำที่น้อยที่สุด

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘นักเทนนิสเกาหลี’ ฉุนขาด หลังเสียหน้าแพ้ไทย ไม่จับมือ-เขวี้ยงไม้ ด้านชาวเน็ตสวดยับ!! ไม่มีน้ำใจนักกีฬา-ไร้วุฒิภาวะ-สร้างความอับอาย

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 การแข่งขันเทนนิส กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่สนามโอลิมปิกเทนนิส เซ็นเตอร์ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 2

โดยประเภทชายเดี่ยว รอบสอง (32 คน) ‘บูม กษิดิศ’ สำเร็จ นักเทนนิสไทย วัย 22 ปี มือ 636 ของโลก พบงานหนักอย่าง ‘ควอน ซุนวู’ จากเกาหลีใต้ วัย 25 ปี ที่เคยขึ้นไปอยู่อันดับ 52 ของโลกแต่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 112 ของโลก

‘บูม กษิดิศ’ สามารถชนะ ‘ควอน ซุนวู’ และผ่านเข้ารอบสาม หรือ 16 คนสุดท้าย ไปพบ ‘คูโมยัน ซุลตานอฟ’ จากอุซเบกิสถาน

ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องราวที่น่ายินดี แต่ก็เกิดดรามาขึ้น เมื่อจบการแข่งขันเซตสุดท้ายและประกาศผลผู้ชนะ ตามธรรมเนียมก็ต้องมีการจับมือแสดงความยินดีระหว่างนักกีฬา

แต่ผู้แพ้อย่างควอน ซุนวู กลับเขวี้ยงไม้เทนนิส และฟาดลงกับพื้นซ้ำ ๆ จนไม้เทนนิสหัก และเมื่อ บูม กษิดิศก็เดินเข้าไปพยายามที่จับมือ แต่อีกฝ่ายกลับเมินไม่สนใจ

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นเดือด หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควอน ซุนวู ที่เป็นตัวเต็งของรายการนี้อาจรับไม่ได้ที่ตัวเองแพ้ และอาจเสียหน้าที่แพ้ไทยซึ่งอันดับต่ำกว่า

ยังมีกรณีหนึ่ง คือ คาดหวังจะได้เหรียญจะได้ไม่ต้องเข้ากรม เพราะเกาหลีใต้เพิ่งเปลี่ยนกฎใหม่เกี่ยวกับการบังคับเกณฑ์ทหาร

ทัวร์ไทยลงว่าหนักแล้ว ทัวร์เกาหลีลงหนักกว่า ชาวเน็ตหลายคนถึงกับไล่ให้ออกจากทีมชาติ เพราะมีพฤติกรรมไม่มีน้ำใจนักกีฬา สร้างความอับอายให้ประเทศ

ในส่วนของเรื่องราวนอกสนาม ควอน ซุนอู เปิดตัวคบหากับ ยูบิน สาวรุ่นพี่ที่อายุมากกว่า 9 ปี อดีตสมาชิกวง Wonder Girls (วันเดอร์ เกิร์ลส์) เกิร์ลกรุ๊ประดับตำนานจนเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

‘สาว’ แชร์ประสบการณ์แฟนติด ‘ตม.เกาหลีใต้’ ก่อนโดนส่งตัวกลับไทย เหตุภาษาไม่ได้-ไม่มีศักยภาพมาเที่ยว แนะ ใครจะมาต้องสื่อสารให้รู้เรื่อง

(30 ก.ย.66) เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนที่หลายคนพากันเข้าไปอ่านจำนวนมาก กับปัญหา ‘ตม.เกาหลี’ หรือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของสาธารณรัฐเกาหลี กับนักท่องเที่ยวชาวไทยแลนด์แดนสยามประเทศ ที่ล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์บินไปถึงสถานที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องตีตั๋วกลับโดยพลันชนิดฟ้าผ่า คล้ายทำนองเดียวกับที่ บิว วราภรณ์ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ไปติด ตม.เกาหลี ส่งตัวเข้าห้องเย็น ให้นอนหนาวทั้งคืน สุดท้ายถูกส่งกลับประเทศด้วยสภาพน้ำตานอง

โดยประสบการณ์ติด ตม.เกาหลีใต้ ที่กำลังเป็นไวรัลวิพากษ์วิจารณ์สนั่น เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) หลังจากมีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมารีวิวประสบการณ์ที่เธอกับคนรักได้โอกาสเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศดังกล่าว แต่ก็ต้องมาเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น

ซึ่งโพสต์ดังกล่าวได้ลงเนื้อหาทั้งหมดไว้ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่ม คนชอบตะลอนเที่ยวเกาหลี ซึ่งมีสมาชิกกว่า 200,000 ราย ข้อความว่า รีวิวการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีรีวิวตมเกาหลีกันค่ะ เราแต่งตัวแบบนี้ไปนะคะ แล้วก็มีกระเป๋าน้องเหลืองแบบนี้แหละไปเลย โหลดใต้เครื่อง ตม.ถามแป้งแค่ 2 ประโยคนะคะแล้วแป้งก็ผ่านเลย…

How long you stay here? ตอบ 4 days

This is your hotel, right? พร้อมกับหันแผ่น Arrival card มาที่เรา ตรงช่องที่อยู่ที่เราเขียน

ตอบ Yes…For the 2 first night and the second one is ibis ambassador Myeongdong.

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ติดแสตมป์ให้แล้วยื่น พาสปอร์ต ผ่านไปได้เลยค่า (เจ้าหน้าที่ผู้หญิงค่ะ)

แต่ของแฟนเราไม่ผ่าน เพราะตอบคำถามตม.ได้ไม่เคลียร์ โดนส่งกลับไทย ด้วยความที่เดินทางครั้งแรก นางเลยตื่นเต้น รู้ทั้งรู้ว่าจะตอบอะไร แต่ปากดันไปตอบไม่รู้ แฟนก็บ่นว่า งงตัวเองโมโหตัวเอง แต่ถือว่าได้เรียนรู้ ไว้มาแก้ตัวใหม่

เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ‘ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเที่ยวประเทศเขาค่ะ’ และ ‘ไม่สามารถระบุรายละเอียดแจกแจงได้อย่างชัดเจน’ เลยส่งกลับไทย

Additional** จน.บอกแฟนอีกว่า แฟนดูไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาท่องเที่ยวที่ประเทศเกาหลี การสื่อสารไม่สามารถเอาตัวรอดได้** ประมาณนี้เลย ที่จำ ๆ ได้

ย้ำว่ามันเป็น Case แล้วแต่บุคคล ไม่อยากให้คนอ่าน อ่านแล้วคิดว่าตัวเองจะเจอแบบนี้ แค่อยากเป็นอีกนึงประสบการณ์บอกเล่า ไม่ต้องเชื่อ 100% นะคะว่าทุกคนจะเจอเหมือนกัน เพราะคนละคน คนละกรณี

ส่วนตัวเราเข้าใจทั้งตัวแฟนแล้วก็เข้าใจทางเจ้าหน้าที่นะคะ ว่าทำไมเขาถึงส่งกลับแล้วก็เข้าใจแฟนมาก ๆ เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกของเขา แล้วก็เขาเป็นคนที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษขนาดนั้นแบบฟิลเหมือนว่าเราตื่นเต้นมาก ๆ แล้วพอเราทำอะไรผิดไปครั้งแรกปุ๊บทุกอย่างมันก็จะล้ม ๆ ไปหมดเลย

ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเราก็ซ้อมก็คุยกันมาค่อนข้างเยอะ เขาโอเคเขาเข้าใจหมดว่าเราจะไปไหนทำอะไรแต่พอไปอยู่หน้าตม.จริงๆ อ่ะ คือเหมือนเขาตื่นเต้นด้วยความที่แบบเพิ่งลงจากเครื่อง

อะไร ๆ ก็แล้วแต่มันเลยทำให้แบบพอได้ทำพลาดไป 1 ครั้ง มันก็คือแตกตื่นไปหมดเลย … ก็เลยคุยกันว่า ถือว่าเป็นบทเรียนอย่างน้อย เขาก็ไม่ได้ห้ามเราเข้าประเทศตลอดไป เขาก็บอกว่าเออเราไม่มีประสิทธิภาพพอเฉยๆ ก็ไว้ครั้งหน้าเราก็อุดรอยรั่วทำทุกอย่างใหม่ก็แค่นั้น ปลอบใจกันไป

ดังนั้นนะคะใครที่จะเข้าเกาหลีเนี่ย แต่งตัวดีอาจจะมีส่วนก็ได้แต่ว่าที่แน่ ๆ คือต้องสื่อสารให้รู้เรื่องค่ะให้ชัดเจนว่า จะไปไหน ทำอะไร มายังไงแบบไหน ซึ่งข้อมูลพวกนี้มันเป็นข้อมูลพื้นฐานเลยเพราะว่าเราไม่ได้อยู่ประเทศตัวเองอ่ะ

เพราะฉะนั้นเวลาเราไปเที่ยวต่างประเทศเราต้องรู้ว่าเราจะไปไหนทำอะไรเพื่อที่เราจะได้มีชีวิตรอดในเกาหลีค่ะ แล้วก็สกิลภาษาก็สำคัญ เพราะว่าภาษาอังกฤษของเราถ้ามันอ่อนมากๆ สื่อสารไม่รู้เรื่องเนี่ย มันก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เจ้าหน้าที่เริ่มคิดแล้วว่าเออควรส่งเขากลับไม่ควรให้เข้ามาในเกาหลี เพราะกลัวว่านักท่องเที่ยวคนนี้จะเอาตัวรอดไม่ได้

2. เนี่ยจำนวนเงินก็สำคัญค่ะ มากไปก็ไม่ดีน้อยไปก็ไม่ได้นะคะ ก็ต้องแบบพอดีพอกัน แจกแจงให้ชัดเจนว่า มีทั้งเงินสดมีทั้งเงินในการ์ดอะไรยังไง…

แต่ทั้งนี้สุดท้ายมันก็อาจจะขึ้นกับดวงก็ได้นะคะ เพราะว่าทุกอย่างที่เขียนมาเนี่ยมันก็เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัว จากประสบการณ์ของแป้งเองนะ ไม่ได้แบบรู้ลึกรู้จริงอะไร เล่าจากประสบการณ์ที่เจอมาแล้ว ก็เล่าจากความคิดเห็นของตัวเองนะคะ ขอย้ำว่าเป็นเพียงแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของเรา เพราะว่ามันก็มีรีวิวว่าแบบบางคนเขาทำทุกอย่างถูกต้องหมดเลยมีทุกอย่างแจกแจงได้หมดแต่ก็ยังโดนส่งกลับเราก็ไปเจอรีวิวนี้มาเหมือนกันเพราะฉะนั้นดวงก็อาจจะมีส่วนก็ได้ค่ะ #สู้ๆนะคะ”

นอกจากนี้ หญิงสาวเจ้าของเรื่องก็ยังเข้ามาอธิบายเพิ่มเติม ถึงกรณีถูกส่งตัวกลับนั้นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย โดยเธอให้คำตอบไว้ว่า “เคสส่งกลับ เจ้าหน้าที่ฯ จะไปหาตั๋วที่กลับไทยด่วนที่สุดให้เรา และดีลกับสายการบินราคาที่ถูกที่สุดให้ค่ะ และคนที่โดนส่งกลับจะอยู่ในสนามบินตลอด ออกไปไหนไม่ได้ ขากลับก็จะพาไปส่งโซนรอขึ้นเครื่องเลยค่ะ

ส่วนกระเป๋าเขาก็จะส่งกลับไปให้ด้วย และค่าตั๋วจ่ายเงินสด เงินไทยหรือเงินวอนเท่านั้น ไม่รับโอน รูด หรือเครดิตการ์ดใดๆ เงิน us, aud ก็ไม่รับค่ะ ค่าตั๋วที่จ่ายล่าสุดคือ 90,000 วอน”

'ชาวเน็ตไทย' ไม่ทน!! แห่ #แบนเที่ยวเกาหลี หลังไปเที่ยวแล้วถูก ตม.ส่งกลับ ขุดวีรกรรม 'เลือกปฏิบัติ-เหยียดคนไทย' หวังสะเทือนถึง รบ.โสมขาว

เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.66) หลังจากมีกระแสเรื่องด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มักใช้ดุลยพินิจแปลก ๆ ในการพิจารณานักท่องเที่ยวไทย ให้ผ่านเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งเคสมหากาพย์ นักท่องเที่ยวหญิงออกมาเล่าประสบการณ์ติด ตม.เกาหลี ถูกส่งตัวกลับไทย เจอถามมา 4 ครั้ง ยังเที่ยวไม่พอใจอีกเหรอ

ล่าสุดชาวไทยไม่ขอทน ลุกฮือเต็มโซเชียลฯ เริ่มตระหนักได้ว่า ปัญหาการติด ตม.เกาหลี ของคนไทยควรถูกนำไปพิจารณาในระดับชาติเสียที

เนื่องจากทำให้นักท่องเที่ยวไทย รู้สึกเหมือนถูกเหยียดหยาม และถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะเป็นคนเอเชียด้วยกันเองก็ตาม ทำให้เกิดแฮชแท็กร้อน #แบนเที่ยวเกาหลี ขึ้นมาแซงเป็นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ทันที

โดยหลายคนเสนอแนวคิดว่า หากร่วมใจกันไม่เที่ยวประเทศดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งไปถึงรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่มากก็น้อย

ขณะที่ ชาวเน็ต ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกัน ในหัวข้อนี้กันเพียบ พร้อมจับพิรุธการทำงานของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง

โดยอธิบายว่า ประเทศเกาหลีนั้นขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรอย่างมาก จึงเลือกที่จะปิดหูปิดตารับผีน้อยเข้าไปทำงาน และแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแทน ด้วยการพิจารณาคัดคนเข้าประเทศแบบไร้มาตรฐาน

“ขอพูดเรื่องการแก้ปัญหาผีน้อยในเกาหลีหน่อยเถอะ คือ เกาหลีเนี่ยขาดแคลนแรงงานมากแต่เลือกแก้ไขที่ปลายเหตุ เลือกที่จะคัดคนหนีวีซ่าจากการท่องเที่ยว แต่ไม่คิดจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์รับแรงงานเข้าประเทศ ถ้าเทียบกับฝั่งไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล ถือว่าเกาหลีจัดการระบบได้ห่วยแตกมาก”

“เกาหลีมันจงใจไม่เอาคนไทยจริงๆ ตาสว่างเถอะ อยากให้ไทยชนะด้านท่องเที่ยวมันตลอดไป เพราะมันมั่นเกิน โหมข่าวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวบ้านมันทุกวัน วันละหลายข่าว พยายามจะให้ท่องเที่ยวตัวเองติดท้อปโลกจะตาย ลงข่าวอวยทุกวี่วัน อยากได้ต่างชาติสุดๆ แต่เขาไม่เอาคนไทยค่า”

“นอกจากแบนเข้าเกาหลีแล้ว อยากให้รณรงค์หาผีน้อยเกาหลีในไทย ส่งผีน้อยกลับบ้านด้วยก็ดีนะ แบนร้านทำผม ร้านอาหารที่เกาหลีเข้ามาทำกิจการแบบผิดกม.อะ สักทีเถอะ (รวมถึงชาติอื่นๆด้วยนะ)”

“พูดได้เปล่านะ ยทบ.เกาหลีหลายช่องมาเที่ยวไทยลงคลิปฉ่ำ ไม่เซนเซอร์หน้าคนที่ถ่ายติดด้วย (ทั้งที่บ้านแกกฎเข้มมากไง) มีคนอวยน่ารักอย่างนั้นอย่างนี้ ไปเที่ยวตรงไหนก็เจอแต่คนไทยใจดี แต่ทำไมบ้านแกไม่ใจดีกับคนไทยที่ไปเที่ยวบ้างเลยอะ”

“คนที่ไม่ผ่าน ตม.เกาหลีควรคืนค่าจองโรงแรม ค่ามัดจำทุกอย่างในประเทศตัวเองคืน เพราะการพลาดทริปในครั้งนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่ประเทศตัวเอง ควรแสดงความรับผิดชอบ!!”

“ล่าสุดเรา คือ หนึ่งในผู้ติด #ตมเกาหลี และโดนส่งตัวกลับ บอกเลยว่าสุขภาพจิตเสียแบบสุดๆ จนต้องปรึกษาหมอจิตเวช (ปกติเราเป็นซึมเศร้า อยู่ในช่วงที่ลดยา แทบจะไม่ต้องกินแล้ว) แต่ต้องกลับมากินยารักษาตัวเองใหม่ รีวิวติดตม.เกาหลี”

‘เกาหลีใต้’ ร่วมไว้อาลัย ครบรอบ 1 ปี ‘โศกนาฏกรรมอิแทวอน’ ด้านห้าง-ร้าน ‘งดจัดฮาโลวีน’ เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ล่วงลับ

(29 ต.ค. 66) เทศกาลฮาโลวีนในเกาหลีใต้ปีนี้ เต็มไปด้วยความเงียบเหงา ในวันครบรอบ 1 ปีโศกนาฏกรรมอิแทวอน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 160 รายเมื่อปีที่ผ่านมา โดยห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร บาร์ รวมถึงสวนสนุกหลายๆ แห่งในเกาหลีใต้ เลี่ยงกิจกรรมในเทศกาลดังกล่าวในปีนี้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเหยื่อของโศกนาฏกรรมดังกล่าว

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้คนเพียงไม่กี่คนที่สวมใส่คอสตูมฮาโลวีนในย่านอิแทวอน ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวยอดนิยมในเทศกาลฮาโลวีนในปีก่อนๆ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากพากันไปวางดอกไม้ไว้อาลัย และแปะโพสต์อิทที่มีข้อความแสดงความเสียใจบนกำแพงที่ถูกจัดไว้ รวมถึงจุดธูปหน้ารูปถ่ายของเหยื่อ

ขณะที่ในย่านฮงแด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางคืนยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในกรุงโซล ก็มีผู้คนไม่มากนักเช่นกันที่สวมคอสตูมฮาโลวีน แต่ไม่มีรายงานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยใดๆ ทั่วเกาหลีใต้ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม

ทางการเกาหลีใต้ได้ระดมกำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ นับพันคนลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม เพื่อควบคุมฝูงชนและดูแลความปลอดภัยของผู้คนที่มาเดินอยู่บนท้องถนนในย่านอิแทวอน และย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่สำคัญๆ อีก 15 แห่งในกรุงโซล

โศกนาฏกรรมอิแทวอนสร้างความโศกเศร้าทั่วประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี นอกจากนี้ประชาชนยังโกรธแค้นที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อประเด็นด้านความปลอดภัยและกฎระเบียบต่างๆ แม้จะมีบทเรียนมาแล้วจากเหตุเรือเฟอร์รีเซวอลในปี 2557 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 304 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ไปทัศนศึกษา

‘โฮ เซฮุน’ นายกเทศมนตรีกรุงโซล ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้ง ด้วยการแบกรับความโศกเศร้าและความรับผิดชอบอันหนักหน่วงต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น วิธีเอาชนะความเจ็บปวดและความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ตำรวจประกาศผลการสอบสวนถึงเหตุโศกนาฏกรรมอิแทวอนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า กำลังมีการดำเนินคดีอาญา ซึ่งรวมถึงการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาและประมาทเลินเล่อต่อเจ้าหน้าที่ 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมอยู่ด้วย

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภาที่ฝ่ายค้านเป็นผู้ควบคุมได้ลงมติถอดถอนนายลี ซังมิน รัฐมนตรีกระทรวงความปลอดภัยเกาหลีใต้จากเหตุการณ์ที่อิแทวอน แต่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ก็กลับคำสั่งถอดถอนนายลีดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม

ครอบครัวของเหยื่อและผู้สนับสนุนเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ออกมาขอโทษอย่างจริงใจมากขึ้น และให้ยอมรับกระบวนการสอบสวนที่เป็นอิสระ โดยมีการออกแถลงการณ์ว่า ทัศนคติของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลได้สร้างบาดแผลที่ลึกและเจ็บปวดมากขึ้นให้กับพวกเขา สิ่งที่พวกเขาต้องการทราบมีเพียงสาเหตุว่าอะไรทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในวันที่ 29 ตุลาคม 2022 ขณะที่ผู้คนอีกหลายพันคนต้องใช้ชีวิตกับบาดแผลในจิตใจ

ครอบครัวของผู้สูญเสียจะจัดพิธีไว้อาลัยอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์นี้ โดยมีการเชิญประธานาธิบดียุนให้เข้าร่วมงานด้วย แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ผู้นำเกาหลีใต้ตัดสินใจที่จะไม่ไปร่วมงานดังกล่าว เพราะกลัวว่าคู่แข่งทางการเมืองจะนำประเด็นนี้ไปขยายผลทางการเมือง

‘เกาหลีใต้’ แจง!! ปมดรามา #แบนเที่ยวเกาหลี รับ ตม.บางคนอาจเข้มเกิน พร้อมเร่งหาทางแก้ปัญหาแรงงานผิด กม. ยัน!! ไม่ได้รังเกียจ ‘นทท.ไทย’

(4 พ.ย. 66) ตามที่มีข่าวกระแสแบนเที่ยวเกาหลีใต้ในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากกรณีคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ใช้โอกาสการประชุมประจำปี ระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 หารือกับฝ่ายเกาหลีใต้ในประเด็นคนไทยถูกปฏิเสธเข้าเมืองเกาหลีใต้ และมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดของ ตม.เกาหลีใต้

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อปัญหานี้ว่า ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก ที่ประสงค์ไปท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้อย่างบริสุทธิ์ใจ และกำลังกลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ของชาวไทยในภาพใหญ่ได้

ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ กล่าวแสดงความเสียใจที่ได้ทราบปัญหาดังกล่าว และไม่ประสงค์ให้ปัญหานี้มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงต่อมิตรภาพที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย และย้ำว่า เกาหลีใต้ไม่มีนโยบายที่จะปฏิเสธนักท่องเที่ยวไทยเข้าเมืองแต่อย่างใด โดยการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดอาจเป็นเรื่องความเข้มงวดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ ตม.บางคน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ยังชี้แจงด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคนไทยทำงานอย่างผิดกฎหมายซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และได้ออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการทำงานอย่างผิดกฎหมาย เช่น ‘Voluntary departure programme’ หรือ โครงการให้ผู้ทำงานอย่างผิดกฎหมายสมัครใจไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ เพื่อให้ส่งกลับประเทศต้นทาง โดยไม่ต้องรับโทษและไม่ถูกขึ้นบัญชีดำในการเข้าประเทศเกาหลีใต้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในปีนี้ เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS (Employment Permit System) จำนวน 4,800 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับแรงงานจากไทย

ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย อาทิ ตม.เกาหลีใต้และกระทรวงแรงงานไทย อย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาทั้งสองด้านคือ การปฏิเสธคนไทยเข้าเมืองเกาหลีใต้ และการทำงานผิดกฎหมายของคนไทยในเกาหลีใต้ โดยได้สั่งการให้เร่งจัดการประชุมกลไกหารือด้านการกงสุลไทย-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 6 ที่เกาหลีใต้ เพื่อให้อธิบดีกรมการกงสุลนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายร่วมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและโดยเร็วที่สุด

‘สเตฟาน’ แชร์ประสบการณ์ถูกคนเกาหลี ‘ถุยน้ำลาย’ ใส่ ยอมรับ!! โมโหมาก โบกสวนหัวทิ่มไปหนึ่งดอก

(5 พ.ย.66) ‘สเตฟาน ฐสิษฐ์ สินคณาวิวัฒน์’ อดีตพระเอกละครชื่อดัง แชร์ประสบการณ์ หลังไปเที่ยวเกาหลีครั้งแรก แล้วเจอแจ็กพ็อตถูกคนเกาหลีทำกิริยาไม่ดี โดยการถุยน้ำลายใส่ตน ในจังหวะที่กำลังข้ามถนน ว่า…

“ครั้งแรกที่ผมไปเกาหลี ผมก็ลงจากรถทัวร์ที่เป็นของกรุ๊ปเราเท่านั้น จากนั้นผมก็เอากระเป๋าเข้าไปเช็กอิน แต่ทางโรมแรมบอกว่าไม่ได้ต้องรอเช็กอิน 2 โมง แล้วตอนนั้นผมมาถึงเที่ยง มันก็ทำให้ต้องออกไปหาอะไรทำ ส่วนกระเป๋าก็ฝากไว้ที่โรงแรม พอฝากกระเป๋าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะออกไปหาอะไรกินข้างทาง แต่พอจังหวะที่ออกมาข้างถนนเพื่อข้ามไปอีกฝั่งนั้น ก็มีคนเกาหลีสองคนเดินผ่าน พร้อมกับทำกิริยาไม่ดีใส่ ก็คือการ ‘ถุยน้ำลาย’ ใส่กลางอกเต็ม ๆ

ซึ่งตอนนั้นผมคิดอะไรไม่แล้ว และยอมรับว่าหัวร้อนมาก หลังจากที่โดนกระทำแบบนี้ ถ้าคนที่รู้จักผมดี จะรู้ว่าผมเป็นคนที่ไม่ชอบอะไรที่มันอี๋ง่าย…และถึงจะไม่ได้เป็นคนที่อี๋ง่าย ก็รู้สึกว่าไม่ควรจะโดนกระทำใส่แบบนี้ ดังนั้นผมจึงหันกลับไปตบกระบาลอย่างแรงจนหัวทิ่ม แล้วหลังจากนั้นเขาก็ตะโกนใส่ผมเป็นภาษาเกาหลี และทำท่าเหมือนจะเตะ จากนั้นผมก็หนี สุดท้ายเขาก็เรียกเจ้าหน้าที่มาที่โรงแรม และโรงแรมก็พยายามบอกให้ว่ามันไม่ใช่นะ…คนเกาหลีสองคนนั้นเริ่มก่อน จนสุดท้ายก็เลยเคลียร์กัน…”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top