เหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึก (Martial law) ของ Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของสองเกาหลี นั่นก็คือ ‘Blue House raid’ (หรือที่เรียกในเกาหลีใต้ว่า เหตุการณ์วันที่ 21 มกราคม) เป็นปฏิบัติการบุกทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (Blue House) โดยหน่วยคอมมานโดของเกาหลีเหนือเพื่อสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ Blue House ในวันที่ 21 มกราคม 1968 ผลก็คือ หน่วยกล้าตายของกองทัพประชาชนเกาหลี (The Korean People's Army : KPA) ทั้ง 31 นาย ถูกสังหาร จับกุม หรือหลบหนี และตัวประธานาธิบดี Park Chung-hee เองไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด
พลตรี Park Chung-hee (บิดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้) ได้ยึดอำนาจรัฐของเกาหลีใต้ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 1961 และปกครองในฐานะเผด็จการทหารจนถึงการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ในปี 1963 Blue House raid เกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งในเขต DMZ (เขตปลอดทหาร) ของสองเกาหลี (ระหว่าง ปี 1966–69) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ในปี 1967 ผู้นำเกาหลีเหนือได้สรุปว่า การต่อต้านภายในประเทศของ Park Chung-hee ไม่ได้ถือเป็นการท้าทายต่อการปกครองของเขาอีกต่อไป ในวันที่ 28 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 1967 คณะกรรมการกลางแห่งพรรคแรงงานแห่งเกาหลีได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นจึงแจ้งให้คณะทำงาน "เตรียมให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในการต่อสู้ของพี่น้องชาวเกาหลีใต้ของเรา" ภายในเดือนกรกฎาคมนั้นเอง หน่วยปฏิบัติการพิเศษคือ หน่วย 124 ซึ่งพึ่งจัดตั้งขึ้นได้ไม่นานของกองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำการลอบสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้
การตัดสินใจครั้งนี้อาจเป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1967 กำลังทหารของสหรัฐฯเข้าสู่สงครามเวียดนาม ภายใต้สถานการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯต้องทุ่มเทกับสงครามในเวียดนามใต้ จึงน่าจะไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือได้โดยสะดวก ในปี 1965-68 ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ - เวียดนามเหนือใกล้ชิดมาก และเกาหลีเหนือยังให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่เวียดนามเหนืออีกด้วย การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงการจู่โจมของหน่วยกล้าตายในฐานะขบวนการกองโจรต่อต้านของเกาหลีใต้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองกำลังเวียดกงในเวียดนามใต้
เกาหลีเหนือเตรียมการด้วยการจัดชายหนุ่ม 31 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KPA ให้สังกัดในหน่วย 124 ซึ่งเป็นหน่วยคอมมานโดปฏิบัติการพิเศษ และได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาแรมปี และใช้เวลา 15 วันสุดท้ายในการฝึกซ้อมปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ด้วยการจำลอง Blue House เพื่อการฝึกแบบเต็มรูปแบบ ชายที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในการแทรกซึมและเทคนิคการขุดเจาะ อาวุธศึกษา การเดินเรือ การปฏิบัติการทางอากาศ การแทรกซึมแบบสะเทินน้ำสะเทินบก การต่อสู้ด้วยมือเปล่า (โดยเน้นการต่อสู้ด้วยมีด) และการปกปิดซ่อนพราง Kim Shin-jo หนึ่งในสองสมาชิกของหน่วย 124 ผู้รอดชีวิตกล่าวว่า "มันทำให้เราไม่กลัว เพราะไม่มีใครคิดจะมองหาศพเราในสุสาน" การฝึกของพวกเขาหนัก เข้มงวด และมักจะอยู่ในสภาพที่โหดร้าย เช่น การวิ่งด้วยความเร็ว 13 กม. / ชม. (8 ไมล์ต่อชั่วโมง) พร้อมกับสัมภาระหนัก 30 กก. (66 ปอนด์) บนพื้นที่ที่ขรุขระ ซึ่งบางครั้งการฝึกดังกล่าวทำให้เกิดการบาดเจ็บตามเท้าและนิ้วเท้า
ปฏิบัติการโจมตี เริ่มขึ้นด้วยการแทรกซึม วันที่ 16 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้ออกจากค่ายทหารที่ตั้งของหน่วย 124 ที่เมือง Yonsan ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 1968 เวลา 23.00 น. พวกเขาลักลอบเข้าไปในเขตปลอดทหารโดยตัดผ่านรั้วลวดหนามของกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ พอถึงเวลาตี 2 ของวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงได้ตั้งแคมป์ที่ Morae-dong และ Seokpo-ri ในวันที่ 19 มกราคมเวลา 5.00 น. หลังจากข้ามแม่น้ำ Imjin แล้วก็ตั้งแคมป์พักบนภูเขา Simbong เวลา 14.00 น. มีพี่น้อง Woo สี่คนจาก Beopwon-ri พากันมาตัดฟืนและเดินเข้ามาในที่ตั้งของหน่วย 124 หลังจากการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าจะฆ่าพี่น้องสี่คนหรือไม่ ที่สุดจึงตกลงใจที่จะทำการอบรมปลูกฝังลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แก้พี่น้องสี่คนนี้ และปล่อยตัวทั้งสี่ไปพร้อมคำเตือนอย่างหนักแน่นว่า ห้ามแจ้งตำรวจ อย่างไรก็ตามพี่น้องสี่คนเมื่อถูกปล่อยตัวก็ได้แจ้งการปรากฏตัวของหน่วย 124 ทันทีที่สถานีตำรวจ Changhyeon ในเมือง Beopwon-ri หลังจากหน่วย 124 ได้รื้อที่พักและเพิ่มความเร็วฝีเท้าเป็นมากกว่า 10 กม. / ชม. โดยแบกยุทโธปกรณ์คนละ 30 กก. ข้ามภูเขา Nogo และมาถึงภูเขา Bibong ในวันที่ 20 มกราคม เวลา 07.00 น. ทหาร 3 กองพันจากกองพลทหารราบที่ 25 ของเกาหลีใต้เริ่มค้นหาผู้แทรกซึมบนภูเขา Nogo แต่หน่วย 124 ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อหน่วย 124 เข้าสู่กรุงโซลในคืนวันที่ 20 มกราคมจึงได้แบ่งเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ชุดละ 2 - 3 นาย และมารวมกลุ่มกันใหม่ที่วัด Seungga-sa ที่ซึ่งพวกเขาได้เตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการโจมตี
ในขณะเดียวกันกองบัญชาการสูงสุดของเกาหลีใต้ได้เพิ่มกำลังทหารจากกองทหารพลราบที่ 30 และกองพลทหารพลร่มในการค้นหา และตำรวจเกาหลีใต้ก็เริ่มค้นหาตามเขต Hongje-dong, เขต Jeongreung และภูเขา Bukak ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้ทั่วกรุงโซล หัวหน้าหน่วย 124 จึงตระหนักว่า แผนเดิมของพวกเขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงได้มีการปรับแผนใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาสวมเครื่องแบบกองทัพบกเกาหลีใต้ (ROKA) ของกองพลทหารราบที่ 26 พร้อมด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ประจำหน่วยซึ่งพวกเขานำมาด้วยอย่างถูกต้อง พวกเขาจัดกำลังและเตรียมที่จะเดินขบวนในช่วงสุดท้ายไปยัง Blue House โดยสวมรอยเป็นทหารเกาหลีใต้ที่กลับมาจากการลาดตระเวนต่อต้านการแทรกซึม เมื่อหน่วย 124 เดินเท้าไปตามถนน Segeomjeong ใกล้กับเขต Jahamun มุ่งหน้าไปยัง Blue House ระหว่างทางได้ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่ตั้งทางทหารของ ROKA หลายหน่วย
เวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้เข้าใกล้จุดตรวจ Segeomjeong – Jahamun ห่างจาก Blue House เพียงไม่ถึง 100 เมตร ก็ถูกสารวัตร Jongro Choi Gyushik หัวหน้าตำรวจซึ่งเดินเข้ามายังจุดที่หน่วย 124 กำลังเดินเท้าอยู่ และเริ่มตั้งคำถามกับพวกเขา คำตอบของสมาชิกหน่วย 124 ทำให้สารวัตร Choi Gyushik สงสัยจึงชักปืนพกออกมา แต่ถูกสมาชิกของหน่วย 124 ยิงก่อน จากนั้นก็เริ่มทำการยิงและขว้างระเบิดใส่จุดตรวจ หลังจากยิงต่อสู้กันหลายนาที หน่วย 124 ก็ได้สลายตัวแยกย้ายกันไป โดยบางส่วนมุ่งหน้าไปที่ภูเขา Inwang ภูเขา Bibong และ ภูเขา Uijeongbu สารวัตร Choi Gyushik และ Jung Jong-su รองสารวัตรเสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะ สมาชิกหน่วย 124 นายหนึ่งถูกจับแต่พยายามฆ่าตัวตาย กว่าจะผ่านคืนนี้ไปมีชาวเกาหลีใต้ 92 คนต้องกลายเป็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุปะทะ ในจำนวนนี้มีพลเรือนราว 24 คนที่ติดอยู่บนรถบัสท่ามกลางห่ากระสุน วันที่ 22 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลที่ 6 กองทัพบกเกาหลีใต้ได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่เพื่อจับกุม/สังหารสมาชิกของหน่วย 124 โดยทหารจากกรมทหารที่ 92 กองพลทหารราบที่ 30 จับกุม Kim Shin-jo ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบ้านของชาวบ้านใกล้ภูเขา Inwang ทหารจากกองพันที่ 30 กองบัญชาการป้องกันเมืองหลวงได้สังหารหน่วยคอมมานโดอีก 4 นายในเขต Buam-dong และบนภูเขา Bukak
วันที่ 23 มกราคม 1968 ทหารจากกองพันทหารช่างสังกัดกองพลทหารราบที่ 26 ได้สังหารคอมมานโด 124 นายหนึ่งบนภูเขา Dobong และวันที่ 24 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลทหารราบที่ 26 และทหารกองพลที่ 1 ได้สังหารหน่วยคอมมานโด 124 อีก 12 นายใกล้เมือง Seongu-ri วันที่ 25 มกราคมหน่วยคอมมานโด 3 นายถูกสังหารใกล้เมือง Songchu วันที่ 29 มกราคม หน่วยคอมมานโดอีก 6 นายถูกสังหารใกล้ภูเขา Papyeong ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ประกอบด้วย ฝ่ายเกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บ 66 คน (พลเรือน 24 คน) ทหารอเมริกัน 4 นายถูกสังหารจากความพยายามที่จะสกัดกั้นผู้แทรกซึมที่พยายามหลบหนีด้วยการข้ามเขตปลอดทหาร สมาชิก 31 นายของหน่วย 124 ถูกสังหารไป 29 นาย Kim Shin-jo ถูกจับ ส่วนอีกคน Pak Jae-gyong สามารถหลบหนีกลับเกาหลีเหนือได้ ศพของสมาชิกหน่วย 124 ที่เสียชีวิตถูกฝังในสุสานทหารเกาหลีเหนือและจีนในเกาหลีใต้
วันที่ 22 มกราคม 1968 กองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC) ประจำเกาหลีใต้ ได้ขอให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร (MAC) เพื่อหารือเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ UNC ขอให้มีการประชุมในวันที่ 23 มกราคม แต่เกาหลีเหนือขอให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งวัน และในวันเดียวกันนั้นเอง เกาหลีเหนือก็ได้ยึดเรือ USS Pueblo (AGER-2) ของกองทัพเรือสหรัฐฯเอาไว้ ดังนั้นการประชุม MAC ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคมจึงไม่เพียงเป็นการพูดคุยหารือกับเรื่องของการโจมตี Blue House เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจับกุมเรือ USS Pueblo โดยเกาหลีเหนืออีกด้วย การยึดเรือ USS Pueblo ทำให้สหรัฐฯและนานาชาติต้องหันความสนใจจาก Blue House raid ไปในระดับหนึ่ง อีกทั้ง Blue House raid เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่การรบที่ Khe Sanh เริ่มต้นขึ้นในเวียดนามใต้ และวันที่ 31 มกราคมเกิดการโจมตีที่เรียกว่า ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน (Tet Offensive)’ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วเวียดนามใต้ ทำให้การสนับสนุนของสหรัฐฯเกาหลีใต้ในการตอบโต้เกาหลีเหนือจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในกรุงไซ่ง่อนกองกำลังเวียดกงได้พยายามลอบสังหาร NguyễnVệnThiệu ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ที่ Independence Palace (ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้) แต่ถูกตีโต้กลับอย่างรวดเร็ว
ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า ความคล้ายคลึงกันของการโจมตีทั้งสองจุด โดยหน่วยคอมมานโดในจำนวนใกล้เคียงกัน (31 นายในกรุงโซลและ 34 นายในกรุงไซง่อนตามลำดับ) ได้อนุมานว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความเข้าใจในการปฏิบัติการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ดังนั้นจึงอาจมีความเกี่ยวข้องและต้องการใช้ประโยชน์จากผลการรบในสงครามเวียดนามด้วย ประธานาธิบดี Johnson มองว่าการยึด USS Pueblo และกำหนดเวลาของ ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน’ น่าจะมีการประสานงานกันเพื่อเบี่ยงเบนทรัพยากรของสหรัฐฯไปจากเวียดนามใต้ และเป็นการบีบบังคับให้เกาหลีใต้ถอนทหารบกสองกองพลและทหารนาวิกโยธินอีกหนึ่งกรมออกจากเวียดนามใต้ นายพล Charles H. Bonesteel III ผบ. กองกำลังสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ในขณะนั้น กลับเห็นต่างจากประธานาธิบดี Johnson ด้วยว่า เขามองไม่เห็นความเกี่ยวข้องดังกล่าว เขามองว่า Blue House raid ได้รับการวางแผนไว้ในระดับลับสูงสุดในเกาหลีเหนือ ในขณะที่การยึด USS Pueblo ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ ด้วยเพราะเป็นจังหวะที่เกาหลีเหนือได้โอกาสจึงฉวยเอาไว้ได้พอดี
เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการ Blue House raid รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วย 684 โดยใช้กำลังจากบรรดานักโทษฉกรรจ์ เพื่อที่จะลอบสังหาร Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยแลกกับอิสรภาพ อย่างไรก็ตามหลังจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ภายในของสองเกาหลี ซึ่งเริ่มหันมาพูดคุยกันด้วยสันติวิธีมากขึ้น ภารกิจการลอบสังหารของหน่วยนี้ก็ถูกยกเลิก และในปี 1971 และพยายามกำจัดหน่วยนี้ทิ้ง เพื่อให้ภารกิจเป็นความลับ จึงทำให้สมาชิกของหน่วย 684 ส่วนใหญ่ถูกสังหาร ในเดือนพฤษภาคม ปี 1972 Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงความเสียใจต่อ Lee Hu-rak หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลี (KCIA) ระหว่างการประชุมร่วมกันในกรุงเปียงยาง โดยอ้างว่า “Blue House raid เป็นปฏิบัติการที่ถูกวางแผนโดยฝ่ายซ้ายสุดโต่งและไม่ได้สะท้อนถึงเจตนาของเขาหรือของพรรคเลย” หลังจากประธานาธิบดี Park Chung-hee รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารอื่น ๆ อีกหลายครั้ง และ Yuk Young-soo ภรรยาผู้เป็นมารดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้ก็เสียชีวิตจากความพยายามในการลอบสังหารเขาเมื่อ 15 สิงหาคม 1974 ในที่สุดประธานาธิบดี Park Chung-hee ก็ถูก Kim Jae-gyu ผู้อำนวยการ KCIA ยิงเสียชีวิตในปี 1979 ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ชัดเจนจนทุกวันนี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำรัฐประหารโดยหน่วยข่าวกรองหรือไม่
Kim Shin-jo หนึ่งในสองผู้รอดชีวิตสมาชิกของหน่วย 124 ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวของหน่วยฯที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับไว้ได้ ถูกทางการเกาหลีใต้สอบปากคำเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว และหลังจากที่เขาได้กลายเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ในปี 1970 พ่อแม่ของเขาก็ถูกประหารชีวิต และทางการเกาหลีเหนือได้ทำการกวาดล้างจับกุมญาติพี่น้องของเขาทั้งหมด ต่อมา Kim Shin-jo ได้กลายเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์ Sungrak Sambong ในจังหวัด Gyeonggi-do เขาแต่งงาน มีบุตรสองคน และยังคงใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในเกาหลีใต้จนทุกวันนี้