Monday, 19 May 2025
เกาหลีใต้

รัฐสภาเตรียมถอดถอน-ครม.จ่อลาออกยกชุด เกาหลีลงถนนประท้วง "ยุนซอกยอล" ประกาศกฎอัยการศึก

(4 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดียุนซอกยอล ของเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง หลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้ว่าเขาจะยกเลิกคำสั่งในเช้าวันนี้ แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ยังคงรุนแรง  

ขณะที่ 4 ธ.ค. พรรคประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในเกาหลีใต้ได้ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนซอกยอล โดยมีสาเหตุมาจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกอย่างกะทันหันในคืนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งสร้างความตกตะลึงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ  

แม้กฎอัยการศึกดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เพียง 6 ชั่วโมงก่อนจะถูกรัฐสภาลงมติยกเลิกในเช้าวันถัดมา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ยุนเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากทั้งประชาชนและสมาชิกสภา อย่างไรก็ตาม ยุนยังคงปฏิเสธที่จะลาออกและเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ โดยในช่วงเช้าวันที่ 4 ธันวาคม เขาได้ยกเลิกภารกิจทางการทั้งหมด  

สำนักงานประธานาธิบดีเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาอาวุโสและเลขานุการส่วนตัวของยุนหลายคนได้เสนอขอลาออก ขณะที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายคิมยองฮยุน รัฐมนตรีกลาโหม ก็กำลังเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากกรณีสนับสนุนการใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งใหญ่

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้แสดงความตั้งใจจะลาออกจากตำแหน่งยกชุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้วิกฤตการเมืองของประเทศ

รายงานข่าวเผยว่าฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ แสดงความพร้อมที่จะ "รับใช้ประชาชนจนวินาทีสุดท้าย" โดยฮันมีกำหนดพบปะกับหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) และผู้ช่วยอาวุโสของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อลช่วงบ่ายวันพุธ (4 ธ.ค.)

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยการโพสต์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ ระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกระยะสั้นของยุนว่าเป็น "อาชญากรรมแห่งการก่อกบฏ" พร้อมทั้งเรียกร้องให้สมาชิกมากกว่า 1 ล้านคนมารวมตัวกันที่กรุงโซลและสถานที่อื่นๆ ในเช้าวันพุธ เพื่อต่อต้านการเคลื่อนไหวดังกล่าว

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภามีอำนาจยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยกระบวนการนี้ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีทั้งหมด 300 คน  

ในปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้าน รวมกับพรรคเล็ก มีเสียงรวม 192 เสียง เสียงเกินครึ่งนึง ขณะที่ขณะที่พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาล มี 108 เสียง แม้สมาชิกของพรรครัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยต่อการประกาศกฎอัยการศึก แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการถอดถอนหรือไม่

หากรัฐสภามีมติถอดถอน ประธานาธิบดีจะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยนายกรัฐมนตรีจะขึ้นรักษาการแทน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือนในการพิจารณาคำร้อง พร้อมตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ใน 9 เสียง  

ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีผู้พิพากษาไม่ครบองค์คณะ เนื่องจากว่างอยู่ 3 ตำแหน่ง ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการพิจารณาได้หรือไม่  

ที่ผ่านมา มีการถอดถอนประธานาธิบดีเกาหลีใต้แล้วหลายครั้ง ตัวอย่างสำคัญคือ นางปาร์กกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรก ถูกถอดถอนเมื่อปี 2017 ในข้อหาคบคิดกับคนสนิทและใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะที่นายโนห์มูฮยอน ถูกยื่นญัตติถอดถอนเมื่อปี 2004 แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่รับญัตติ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งจนครบวาระ  

หากยุนซอกยอนถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรือหากเขาลาออกเอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยในระหว่างนั้นนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการ  

‘คำผกา’ ทวีตข้อความแซะ!! ‘จอห์น วิญญู’ อวย!! ‘สส.เกาหลี’ แขวะ!! ‘สส.ไทย’

เมื่อวานนี้ (4 ธ.ค. 67) คำ ผกา หรือ แขก พิธีกรชื่อดัง ทวีตข้อความผ่านแอปพลิเคชัน  X (ทวิตเตอร์) @kamphaka ระบุว่า...
อยากเห็นจอนลงถนนไม่ไหว พรุ่งนี้นำเลยนะ

‘ปธน.เกาหลีใต้’ รอด!! ถอดถอน ปม ‘ประกาศกฎอัยการศึก’ หลังสมาชิกสภาพรรครัฐบาล คว่ำบาตร!! การลงมติ

(8 ธ.ค. 67) สมาชิกรัฐสภาของพรรครัฐบาล คว่ำบาตรการลงมติถอดถอน นาย ยุน ซอกยอล จากตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ หลังจากตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าว ระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้ ล้มเหลวในการถอดถอนประธานาธิบดีของประเทศจากกรณีที่เขาพยายามประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาสั้น ๆ

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายเพื่อลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซุกยอล ล้มเหลว โดยขาดไปเพียงสามคะแนน จากเสียงทั้งหมดที่ต้องการ 200 คะแนนเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง ในการลงมติครั้งนี้ สมาชิกของพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรคของฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากไม่เข้าร่วมการลงมติ

กระทั่ง เวลาประมาณ 19.30 น. ของวันที่ 7 ธ.ค.67 (ตามเวลาประเทศไทย) นาย วู วอนชิก ประธานสภาฯ เกาหลีใต้ ประกาศยุติการลงมติถอดถอน ‘ยุน ซอกยอล’ พ้นตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นเวลากว่า 3 ชม. หลังการลงมติเริ่มต้นขึ้น

‘เกาหลีใต้’ เตรียม!! ถอนการลงทุน ‘โรงงานอีวี’ ในสหรัฐอเมริกา จากนโยบาย ยกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้า ของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’

(10 ธ.ค. 67) บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้อยู่ในช่วงพิจารณาแผนลงทุนเพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ มูลค่า 5.4 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.89 แสนล้านบาท) อีกครั้ง เนื่องจากกังวลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกเครดิตภาษียานยนต์ไฟฟ้า

มากไปกว่านั้น แหล่งข่าววงในของบลูมเบิร์ก เผยว่า บริษัทเกาหลีบางแห่งได้ชะลอหรือหยุดการก่อสร้างโรงงานบางแห่งเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่ลดลงรวมทั้งท่าทีด้านภาษีของทรัมป์ โดย Posco Future M ผู้ผลิตแคโทดให้กับ General Motors Co. ระบุในเอกสารเมื่อเดือนก.ย.ว่าอยู่ในช่วงเลื่อนการก่อสร้างโรงงานในนครควิเบก ประเทศแคนาดาออกไปเนื่องจาก ‘เหตุผลภายในท้องถิ่น’

เคนนี คิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ SNE Research บริษัทวิจัยในกรุงโซลที่มุ่งเน้นไปที่บริษัทผลิตแบตเตอรี่เกาหลี กล่าวว่า แม้บริษัทจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่ผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้จำนวนมากเริ่มกังวล "อย่างมาก" ว่าทรัมป์จะปรับลดเงินอุดหนุนสำหรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าลง

ก่อนหน้านี้ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเรื่องการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าผ่านพระราชบัญญัติพลังงานที่ชื่อว่า ‘Inflation Reduction Act’ มาโดยตลอด โดยรัฐบาลใหม่ของทรัมป์มีแผนลดข้อกำหนดในการประหยัดเชื้อเพลิง และตามรายงานของรอยเตอร์สเมื่อเดือนที่แล้ว คณะบริหารอาจจะยกเลิกเครดิตภาษีผู้บริโภครายละ 7,500 ดอลลาร์

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า การยกเลิกเงินอุดหนุน เครดิตภาษี และแรงจูงใจอื่นๆ จำนวนหลายร้อยพันล้านดอลลาร์มีผลเชิงลบต่อการจ้างงานในสหรัฐหลายหมื่นตำแหน่ง และทำลายความพยายามในการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าให้ห่างออกจากจีน นอกจากนี้ยังอาจกระทบรายได้ของบริษัทเกาหลีซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐ จากความพยายามลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากจีนท่ามกลางช่วงเวลาที่พวกเขากำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัว และราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง

"เราติดตามทุกคำพูดจากทรัมป์เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า" บยองฮุน คิม ซีอีโอของ Ecopro Materials Co. ผู้จัดหาวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของ Ford Motor Co. และ General Motors Co. กล่าว

"เราถือว่า Inflation Reduction Act เป็นประเด็นสำคัญมาตลอด" คิม กล่าว พร้อมเสริมว่า "หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เราอาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเราด้วย"

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไบเดนเสนอเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการร่วมทุนระหว่าง Samsung SDI Co. และ Stellantis NV ในการสร้างโรงงานผลิตเซลล์ในรัฐอินเดียนา อย่างไรก็ตาม คณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านของทรัมป์รีบตั้งคำถามกับข้อเสนอนี้ วิเวค รามาสวามี หนึ่งในสองรายนามที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานร่วมของกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (D.O.G.E) กล่าวในโพสต์บน X ว่าคณะกรรมการฯ จะตรวจสอบการช่วยเหลือของคณะทำงานของไบเดนอย่างละเอียด

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า หลังจาก Inflation Reduction Act มีผลบังคับใช้ในปี 2022 ทางการสหรัฐต่างประกาศอย่างโจ่งแจ้งต่อโรงงานในเกาหลีกว่า 50% ว่าจะมีการสร้างงานมากกว่า 20,000 ตำแหน่งบริเวณ Battery Belt’ ของสหรัฐซึ่งครอบคลุมพื้นที่จากมลรัฐมิชิแกน โอไฮโอ เคนทักกี ไปจนถึงจอร์เจีย

เกาหลีใต้ได้มีส่วนในการสร้างงาน และการลงทุนในพื้นที่ Rust Belt พัคแท ซอง รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกาหลี กล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่าการมีผู้ผลิตแบตเตอรี่จากเกาหลีจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐในการแข่งขันกับห่วงโซ่อุปทานที่จีนครองตลาดยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มของเขาอยู่ในช่วงเจรจากับเจ้าหน้าที่สหรัฐเพื่อเจรจาล็อบบี้เพื่อรักษานโยบายจูงใจด้านยานยนต์ไฟฟ้าไว้

ศูนย์วิจัย Reshoring Initiative เปิดเผยว่า แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการย้ายฐานการผลิตกลับมาในสหรัฐ ระหว่างปี 2021 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2024 นอกจากนี้ ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรง และการย้ายฐานการผลิตของเกาหลีในสหรัฐสร้างงานในอเมริกาเหนือ ได้ 20,360 ตำแหน่งในปี 2023 มากกว่าประเทศอื่นใดๆ

ดังนั้นการตัดเครดิตภาษีของทรัมป์จะกระทบกับบริษัทแบตเตอรี่ของเกาหลีอย่างหนัก ในช่วงที่บริษัทเหล่านี้กำลังประสบกับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่อ่อนตัวลง ราคาลิเทียม ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่เชื่อมโยงกับราคาขายของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ดิ่งลงเกือบ 90% จากจุดสูงสุดในปี 2022 เนื่องจากปริมาณการนำไปใช้ในรถไฟฟ้าน้อย และช้ากว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

LG Energy Solution พันธมิตรสำคัญของ GM ได้บันทึกเครดิต Inflation Reduction Act ประมาณ 1 ล้านล้านวอน (773 ล้านดอลลาร์) ในบัญชีของตัวเองในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขาดทุนสุทธิในปีงบประมาณ 2023 ด้าน SK On พันธมิตรของ Ford ได้รับเครดิตภาษีจากสหรัฐประมาณ 2.11 แสนล้านวอนในสามไตรมาสแรก แต่ยังคงเผชิญกับสภาวะขาดทุน

บริษัทสัญชาติเกาหลียังกังวลว่าทรัมป์อาจอนุญาตให้บริษัทแบตเตอรี่ของจีนเข้าสู่สหรัฐโดยรอยเตอร์สรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า Contemporary Amperex Technology Co. Ltd หรือ CATL ของจีนจะพิจารณาสร้างโรงงานในสหรัฐหากทรัมป์เปิดประตู

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Inflation Reduction Act ของไบเดนปิดกั้นการลงทุนจากจีนมาจนถึงปัจจุบัน โดยขอให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่อยๆ ลดการจัดหาแร่ธาตุสำคัญสำหรับแบตเตอรี่จาก ‘Foreign Entities of Concern’ หรือ FEOC ซึ่งหมายความถึงบริษัทต่างชาติที่ดำเนินกิจการแล้วอาจกระทบความมั่นคงของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วย จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

ด้าน ปาร์ค ชุลวาน ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยซอจอง กล่าวว่า "การเข้ามาของจีนในสหรัฐจะเป็นหายนะสำหรับเกาหลี" และ "บริษัทแบตเตอรี่ของจีนจะเสนอราคาที่ต่ำกว่ามาก"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมีความหวังว่าทรัมป์จะไม่ตัดเครดิตสำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในรัฐที่บริหารโดยพรรครีพับลิกัน

คิตาเอะ คิม ซีอีโอของ SungEel Recycling Park Indiana โรงรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเมือง ไวท์สทาวน์ รัฐอินเดียน่า กล่าวว่า  "ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่ [ทรัมป์] จะลดสิทธิประโยชน์จาก Inflation Refuction Act"

ทั้งนี้ หุ้นของ LG Energy ปรับตัวขึ้น 0.3% ในวันจันทร์ ขณะที่หุ้นของ Samsung SDI ร่วงลง 2.8%

ด้าน แพท วิลสัน คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน SK On สามแห่ง กล่าวในอีเมลถึงบลูมเบิร์ก นิวส์ ว่าจอร์เจียจะช่วยให้บริษัทเกาหลี "สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด"

"ตลาดสหรัฐยังคงเป็นตลาดผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในโลก" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า "บริษัทเกาหลีรู้เรื่องนี้มาก่อนยุคของรัฐบาลไบเดน และข้อเท็จจริงนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้มีรัฐบาลใหม่"

ตร.โสมใต้ค้นทำเนียบประธานาธิบดี หาหลักฐาน 'ยุนซอกยอล' ปมกฎอัยการศึก

(11 ธ.ค.67) สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ตำรวจเกาหลีใต้ได้บุกเข้าตรวจค้นทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาว่า ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ได้ก่อการกบฏด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามรายงานจากสำนักงานสืบสวนแห่งชาติ ซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะเจ้าหน้าที่สืบสวนจำนวน 18 นาย ได้เข้าค้นหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกาศกฎอัยการศึก รวมถึงบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จัดขึ้นไม่นานก่อนที่ประธานาธิบดียุนจะประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม

หมายค้นระบุว่า ประธานาธิบดียุนเป็นผู้ต้องสงสัย โดยมีสถานที่เป้าหมายในการตรวจค้น ได้แก่ ทำเนียบประธานาธิบดี ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และหน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดี

รายงานก่อนหน้านี้ระบุว่า ประธานาธิบดียุนไม่ได้อยู่ในอาคารขณะที่มีการตรวจค้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดียุนถูกระบุเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อการกบฏ และถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งนับเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรกที่ถูกห้ามเดินทางขณะยังดำรงตำแหน่ง

ตำรวจสงสัยว่าประธานาธิบดียุนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนก่อการกบฏ ซึ่งขณะนี้การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป

ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 แสนคน ชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรุงโซล เพื่อฟังผลมติ ยื่นถอดถอน!! ประธานาธิบดี ‘ยุน ซ็อก-ยอล’

(14 ธ.ค. 67) ชาวเกาหลีใต้กว่า 2 แสนคน ชุมนุมหน้ารัฐสภาในกรุงโซล เพื่อฟังผลมติยื่นถอดถอน ประธานาธิบดี ยุน ซ็อก-ยอล เป็นครั้งที่ 2 วันนี้ ที่มีทั้งฝ่ายต่อต้าน และ ฝ่ายสนับสนุน ประธานาธิบดี ยุน อย่างคับคั่ง

หัวหน้าพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ลาออก สวนทางฝ่ายค้านคะแนนนิยมพุ่ง

(16 ธ.ค. 67) ฮันดงฮุน หัวหน้าพรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของเกาหลีใต้ ประกาศลาออกเมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม หลังจากที่รัฐสภาเกาหลีใต้ลงมติถอดถอนประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล การลาออกเกิดขึ้นไม่ถึงห้าเดือนหลังจากฮันได้รับเลือกให้เป็นผู้นำพรรค

ฮันเปิดเผยเหตุผลการลาออกว่า เนื่องจากสภาสูงสุดของพรรคฯ ได้ยุบตัวลงหลังจากสมาชิกพรรคลาออก ทำให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำพรรคได้ต่อไป พร้อมทั้งขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ยุนประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แม้ว่าภายหลังจะมีการยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

ก่อนหน้านี้ ฮันเคยผลักดันให้ยุน “ลาออกตามระเบียบ” และกล่าวว่าเขาพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ โดยไม่ต้องใช้มาตรการถอดถอนประธานาธิบดี

ในวันเดียวกัน รัฐสภาเกาหลีใต้ผ่านญัตติถอดถอนประธานาธิบดียุนเป็นครั้งที่สอง และส่งต่อเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการพิจารณาภายใน 180 วัน ซึ่งระหว่างนั้นยุนจะถูกระงับอำนาจประธานาธิบดี

การลาออกของฮันทำให้ควอน ซอง-ดอง ผู้นำสมาชิกพรรคในรัฐสภา กลายเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแทน

ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจจากบริษัทเรียลมิเตอร์ (Realmeter) เผยว่า คะแนนสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยเกาหลี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนการพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีในครั้งที่สอง ผลการสำรวจระบุว่า คะแนนความนิยมของพรรคประชาธิปไตยเกาหลีเพิ่มขึ้นเป็น 52.4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4.8% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ในขณะที่พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้รับคะแนนลดลงเหลือ 25.7% ความแตกต่างของคะแนนระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26.7% นับตั้งแต่ยุนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤษภาคม 2022

ก่อนหน้านี้ การลงมติถอดถอนครั้งแรกของรัฐสภาถูกยกเลิกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากสมาชิกพรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธการลงคะแนนเสียง

ทั้งนี้ ยุนได้ประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินในคืนวันที่ 3 ธันวาคม แต่ถูกเพิกถอนโดยรัฐสภาภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นเขากลายเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อกบฏ และกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ที่ถูกห้ามออกนอกประเทศระหว่างดำรงตำแหน่ง

กนอ. โชว์ศักยภาพ! ดึงดูดลงทุนเกาหลี 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปักหมุดนิคมฯ Smart Park เน้นพลังงาน และธุรกิจการแพทย์

(19 ธ.ค. 67) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนเกาหลี พร้อมชูแคมเปญ“Now Thailand - The Golden Era” ตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park

วันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 กนอ.ได้ให้การต้อนรับนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล พร้อมด้วยคณะนักลงทุนเกาหลีใต้กว่า 20 ราย ในการเข้าร่วมประชุมหารือและรับฟังข้อมูลภาพรวมการลงทุนในประเทศไทย สิทธิประโยชน์ และการให้บริการของ กนอ. โดยได้เน้นย้ำถึงแคมเปญ “Now Thailand - The Golden Era”เพื่อสื่อสารให้นักลงทุนเกาหลีใต้รับรู้ว่า “นี่คือยุคทอง โอกาสทองของการลงทุนในประเทศไทย ไม่มีเวลาใดที่ดีไปกว่านี้แล้ว” สร้างความเชื่อมั่นและพร้อมให้การสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีใต้ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมของไทย

การเยือนประเทศไทยของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนจริงในประเทศไทย โดนในการประชุมหารือ นักลงทุนเกาหลีใต้ได้แสดงความสนใจในหลากหลายธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ : แสดงความชื่นชมต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ กนอ. และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทย โดยต้องการให้ กนอ. ช่วยประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทราบกระบวนการและ แนวทางการดำเนินธุรกิจ ธุรกิจผลิตรถบรรทุก EV : มีความสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกในอาเซียน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ธุรกิจเหล็ก พลังงาน และอื่นๆ: บริษัทที่มีฐานการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีแผนการขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีการถ่ายโอนธุรกิจด้านพลังงานและอื่นๆ ในปี 2567 และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีการคาดการณ์มูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีนักลงทุนสัญชาติเกาหลีร่วมดำเนินการในธุรกิจต่างๆ เช่น พลังงาน และธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น

“ถึงเวลาแห่งการลงทุนในประเทศไทยแล้ว Now Thailand”กนอ.พร้อมประสานงานในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการถือครองอาคารชุดและที่ดินในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า การเยือนของคณะนักลงทุนเกาหลีใต้ครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณบวกที่สำคัญต่อการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค โดย กนอ.พร้อมให้บริการที่เหนือระดับและมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับนักลงทุนด้วยบริการที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการให้ข้อมูลเชิงลึก การให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและภาษี การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ และการอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ เพื่อให้นักลงทุนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ รวมถึงการให้คำปรึกษา สนับสนุนด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับการประชุมหารือกับคณะนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ ณ สำนักงานใหญ่ กนอ. การประชุม ครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีผู้บริหาร กนอ. และนักลงทุนเกาหลีใต้เข้าร่วมประมาณ 20 คน

'ยุนซอกยอล' ปฏิเสธสอบปากคำ ปมประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉิน

(25 ธ.ค. 67) ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ผู้เผชิญการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ได้ปฏิเสธหมายเรียกตัวสอบปากคำกรณีประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินของหน่วยสอบสวนร่วมเป็นครั้งที่ 2 ในวันพุธ (25 ธ.ค.) หลังจากเขาไม่ได้ปฏิบัติตามหมายเรียกครั้งที่ 1 ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

หน่วยสอบสวนร่วมข้างต้นที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานใหญ่การสอบสวนของกระทรวงกลาโหม และสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง (CIO) ได้ส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 2 แก่ยุนเมื่อวันศุกร์ (20 ธ.ค.) ซึ่งกำหนดการสอบปากคำยุน ตอน 10.00 น. ของวันพุธ (25 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

ปัจจุบันสำนักงานสอบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งเป็นผู้ส่งหมายเรียกตัวครั้งแรก กำลังวางแผนรอยุนเข้ามาสอบปากคำภายในเวลาที่เหลือของวันพุธ (25 ธ.ค.) และจะตัดสินใจอีกครั้งภายในวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) ว่าจะส่งหมายเรียกตัวครั้งที่ 3 หรือไม่ หากยุนไม่มาปรากฏตัวในวันพุธ (25 ธ.ค.)

ทั้งนี้ กลุ่มหน่วยงานสอบสวนของเกาหลีใต้ระบุยุนเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อกล่าวหาก่อกบฏ หลังจากเขาประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซึงถูกยกเลิกในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาเพราะรัฐสภาเกาหลีใต้ลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบด้วย

‘Jeju Air’ ออกแถลงการณ์!! แสดงความเสียใจ เหตุเครื่องบินไถลรันเวย์ พร้อมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

(29 ธ.ค. 67)  คิมอีแบ ประธานผู้บริหาร Jeju Air ออกแถลงการณ์ ออกแถลงการณ์ กรณีเครื่องบินไถลรันเวย์ เกิดเพลิงไหม้ และเกิดระเบิดจนทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยแถลงการณ์ มีเนื้อหา ดังนี้

สายการบิน Jeju Air ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขออภัยเป็นอย่างสูงต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในสายการบินเจจูแอร์มาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 09 น.03 น.เที่ยวบินที่ 7C2216 เส้นทางกรุงเทพฯ-มูอัน ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขณะลงจอดที่สนามบินนานาชาติมูอัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง และเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิตทุกท่าน รวมถึงญาติพี่น้องผู้สูญเสีย ขณะนี้เรากำลังรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากอะไร ในฐานะประธานบริษัท ขอรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ และขอสัญญาว่า Jeju Air จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมถึงจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการสืบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ให้กระจ่างชัด ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อผู้เสียชีวิต และขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียทุกท่าน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top