Sunday, 5 May 2024
เกาหลีใต้

‘เกาหลีใต้’ สร้าง ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ได้สำเร็จ ร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 7 เท่า นาน 48 วินาที

(3 เม.ย. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Business Tomorrow’ โพสต์ข้อความ เกาหลีใต้สร้าง ‘ดวงอาทิตย์เทียม’ ร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 7 เท่า ระบุข้อความว่า…

“นับเป็นครั้งแรกที่เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันโทคามัค แอดวานซ์ รีเสิร์ซ (Tokamak Advanced Research หรือ KSTAR) หรือชื่อที่รู้จักในวงการเทคโนโลยีพลังงานว่า ดวงอาทิตย์เทียมของเกาหลีใต้ (Korean Artificial Sun) พัฒนาโดยสถาบัน Korea Institute of Fusion Energy (KFE) ในประเทศเกาหลีใต้ สามารถสร้างอุณหภูมิได้สูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส หรือก็คือร้อนกว่าแกนกลางดวงอาทิตย์ที่มีอุณหภูมิประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียสประมาณ 7 เท่า และสามารถคงอุณหภูมินี้ไว้ได้นาน 48 วินาที ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในการทดสอบระหว่างเดือนธันวาคม 2023 - กุมภาพันธ์ 2024”

และระบุเพิ่มเติมว่า “นอกจากจะสามารถสร้างอุณหภูมิได้มหาศาลแล้ว ยังสามารถอยู่ในโหมดการจำกัดสูง (High Confinement Mode) หรือโหมด H ซึ่งเป็นขั้นที่พลาสมาเสถียร ได้นานกว่า 100 วินาที ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของ KSTAR เพราะเมื่อในปี 2021 ศักยภาพของ KSTAR สามารถสร้างอุณหภูมิสูงเพียง 1 ล้านองศาเซลเซียส และอยู่ในโหมดการจำกัดสูงได้เป็นเวลา 30 วินาทีเท่านั้น”

แม้ว่าจะไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาและขนาดใหญ่เท่ากับดวงอาทิตย์ แต่ด้วยกระบวนการสร้างพลังงานภายในที่อาศัยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ออกมาได้ความร้อนในระดับเดียวกันกับดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะดวงนี้ เครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันนี้จึงเสมอเหมือนเป็นดวงอาทิตย์เทียมนั่งเอง
ดังนั้นผลลัพธ์ในการทดลองของ KSTAR ครั้งนี้ ก็จะถือเป็นข้อมูลล้ำค่าให้โครงการอื่น ๆ นำไปศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม เช่น โครงการเครื่องปฏิกรณ์ทดลองเทอร์โมนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ( International Thermonuclear Experimental Reactor หรือ ITER) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับนานาชาติมูลค่า 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.82 แสนล้านบาท โครงการนี้ตั้งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่มีหลายประเทศร่วมพัฒนา เช่น เกาหลีใต้ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และรัสเซีย

สังคมเกาหลีเดือด กระแส 4B Movement ลาม ทำอัตราเด็กแรกเกิดเกาหลีใต้ต่ำที่สุดในโลก

ขบวนการสตรีนิยม (กลุ่ม เฟมินิสต์) ในเกาหลีใต้ กำลังตกเป็นจำเลยสังคมเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราเด็กแรกเกิดน้อยที่สุดในโลก เนื่องจากจุดกระแส 4B Movement ที่ให้ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาปฏิเสธการแต่งงาน และการมีลูก 

กระแส 4B Movement ย่อมาจากแนวทางการปฏิเสธบรรทัดฐานของสังคมต่อผู้หญิง 4 ประการของเกาหลีใต้ได้แก่...

- Bihon (非婚) - ปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ชาย
- Bichulsan (非出産) - ปฏิเสธการมีลูก
- Biyeonae (非戀愛) - ปฏิเสธการดูตัวกับผู้ชาย
- Bisekseu ( 非sex) - ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย 

โดยกระแส 4B Movement เริ่มเกิดขึ้นราวๆ ปี 2019 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 'คิมจียอง เกิดปี 82' นิยายแนวเฟมินิสม์ เรื่องดังของเกาหลีใต้ ของ 'โช นัม-จู' ที่มียอดจำหน่ายสูงกว่า 1 ล้านเล่ม ต่อมาถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดยดาราชื่อดังระดับแถวหน้าของเกาหลีใต้อย่าง ช็อง ยู-มี และกงยู มาแล้ว 

และเคยเป็นนิยายที่ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่ม 'ชายแท้' และ 'กลุ่มอนุรักษ์นิยม' ในเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ถึงกับประกาศบอยคอดนักแสดงหญิงทุกคนที่อ่านนิยายเล่มนี้ออกสื่อ หรือจะไม่ยอมแต่งงานกับผู้หญิงที่เคยอ่านนิยายเล่มนี้โดยเด็ดขาด 

แต่ในขณะเดียวกัน นิยายเล่มนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ชื่นชมอย่างถล่มทลายจากนักวิจารณ์วรรณกรรม และ กลุ่มนักอ่านผู้หญิง และเป็นต้นกำเนิดของกระแส 4B Movement ของกลุ่มสตรีนิยมสุดโต่งในเกาหลีใต้ในเวลาต่อมา ที่คาดว่าน่าจะสมาชิกราวๆ 5 พัน - 5 หมื่นคนทั่วประเทศ

แม้จะมีเคลื่อนไหวในกลุ่มสตรีนิยมของเกาหลีใต้มานานหลายปีแล้ว แต่อยู่ดีๆ ก็มีการพูดถึงกระแส 4B ขึ้นมาอีก เมื่อมียูทูปเบอร์ 2 สาวชื่อดัง จอง เซ-ยองและ แบ็ก ฮา-นา ได้แสดงความคิดเห็นของพวกเธอผ่านช่อง SOLOdarity ว่าการแต่งงานเป็น 'สาเหตุที่แท้จริงของระบบปิตาธิปไตย' หรือระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และ 2 สาวยูทูบเบอร์ยังสนับสนุนให้ผู้หญิงเกาหลีลุกขึ้นมาปฏิเสธค่านิยมที่ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของผู้หญิงที่ฝังรกลึกมาแต่โบราณ รวมถึง การต้องแต่งงาน หรือ ต้องมีลูกให้ได้

จึงทำให้มีการหยิบประเด็นเรื่อง 4B กลับมาถกเถียงกันอย่างร้อนแรงใน Tiktok ของเกาหลีใต้อีกครั้งโดยดาว TikTok สาวชื่อ Jeanie ได้ออกมาวิจารณ์ว่า การปฏิเสธผู้ชายนั่นต่างหากที่อาจทำให้ผู้หญิงสูญพันธุ์ และเกาหลีก็จะสิ้นชาติ แต่ประเด็นคือ กระแส 4B เกิดจากการที่สังคมเกาหลีมีแนวคิดเหยียด และรังเกียจผู้หญิงมาตลอด จึงทำให้ผู้หญิงเกาหลีใต้จำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง และ บรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงเกาหลี

ซึ่งตอนนี้กระแส 4B ก็เริ่มลุกลามออกไปนอกเกาหลีแล้ว จากการแชร์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และกำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาหลีใต้มีอัตราเด็กเกิดใหม่ต่ำที่สุดในโลกในปี 2023 ที่ผ่านมาด้วยอัตราเด็กแรกเกิดเพียง 0.78 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 2.3 และสอดคล้องกับผลสำรวจความเห็นของผู้หญิงเกาหลีใต้ล่าสุด กว่า 65% ระบุว่าไม่ต้องการมีลูก

สื่อเกาหลีใต้ชี้ว่า กระแส 4B ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการตอบโต้ของผู้หญิงเกาหลี ต่อความรุนแรงในสังคมที่ผู้หญิงมักเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำ อาทิ คดีฆาตกรรมหญิงสาวในห้องน้ำสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้ โดยชายหนุ่มที่อ้างว่าโกรธแค้นเพราะฝ่ายหญิงหมางเมิน ไม่สนใจเขา 

อย่างไรก็ตาม กระแส 4B Movement ก็ยังถือว่าเป็นเพียงกลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ ในเกาหลีใต้เท่านั้น ไม่อาจระบุว่าเป็นตัวแทนกลุ่มประชากรหญิงของเกาหลีใต้ทั้งหมดได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกาหลีใต้มีเด็กเกิดน้อย หรือ ผู้หญิงเกาหลีใต้ไม่อยากแต่งงาน หรือ ไม่อยากมีลูก ไม่ได้เกิดจากกระแสเรื่อง 4B Movement เพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาเรื่องปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการช่วยเหลือของรัฐบาล หรือค่านิยมโดยรวมที่เปลี่ยนไปของคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ด้วย 

เพราะเรื่องของหัวใจ และ ความรักระหว่างหญิง-ชาย กับ ความพร้อมในการดูแลลูกนั้น ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน 

 

‘เรือเซวอล’ อับปาง ขณะเดินทางไปเกาะเชจู โศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้กว่า 300 คน

ในวันนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้ นั่นก็คือโศกนาฏกรรม ‘เรือเซวอล’ อับปาง ที่คร่าชีวิตไปกว่า 300 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมทั้งสิ้น

โดยเหตุการณ์นี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557 เรือเซวอลกำลังมุ่งหน้าจากเมืองอินชอนสู่เกาะเชจูตามตารางเวลาที่กำหนด โดยบนเรือส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนดันวอน ที่กำลังออกไปทัศนศึกษา

เมื่อรวมจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือแล้ว เรือลำนี้บรรจุผู้โดยสารกว่า 476 ชีวิต ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักผู้โดยสาร ที่เจ้าของเรืออ้างว่าเซวอลสามารถบรรทุกได้

ในวันเกิดเหตุ กัปตันอีจุนซอก วัย 69 ปี ผู้กุมชะตาชีวิตคนบนเรือเกือบ 500 คน กลับไม่ได้อยู่ในห้องควบคุมเรืออย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับสั่งให้ลูกเรือเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างแทน ซึ่งเมื่อเรือเข้าสู่ช่องแคบ ที่เต็มไปด้วยโขดหินและคลื่นแรงใต้ทะเล ลูกเรือที่ไม่มีประสบการณ์มากพอก็ตัดสินใจผิดพลาดได้หันหัวเรือกะทันหัน และกระปุกพวงมาลัยเรือที่ทำงานขัดข้อง จึงเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เซวอลศูนย์เสียการทรงตัว

นอกจากความหละหลวมในการทำหน้าที่ของเขาแล้ว เรือลำนี้ยังบรรทุกสินค้าที่ไม่สมดุลและเกินน้ำหนักมาตรฐาน คอนเทนเนอร์สินค้าที่จัดวางอย่างไม่รัดกุม รวมถึงน้ำอับเฉาที่มีน้อยกว่าที่ทางการกำหนด โดยเรือเซวอลนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรือมือสองที่ซื้อต่อมาจากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้ซื้อมาเพื่อใช้งานต่อเมื่อปี พ.ศ. 2555

หลังจากนั้น บริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้มีการปรับปรุงเรือและทำการต่อเติม เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะการต่อเติมเรือ ทำให้ศูนย์ถ่วงเรือมีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทฯ ยังได้ยื่นขอบรรทุกสินค้าเกือบ 2,000 ตัน ซึ่งต่อมากรมทะเบียนเรือ ได้ปรับลดน้ำหนักบรรทุกสินค้าของเซวอลลงเหลือครึ่งหนึ่ง และกำหนดให้ต้องบรรทุกน้ำอับเฉาถึง 2,000 ตัน เพื่อให้เรือสามารถทรงตัวอยู่ได้

และดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เกิดจากความประมาทของตัวกัปตันและความเห็นแก่ได้จากทางบริษัทเจ้าของเรือเซวอล ที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์บนเรือยิ่งสร้างความสลดใจ เพราะหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้แล้วแทนที่กัปตันอีจุนซอก จะลำเลียงผู้โดยสารไปยังเรือชูชีพ แต่กลับออกคำสั่งให้ทุกคนอยู่ประจำที่รอคำสั่งต่อไป ขณะที่เรือประมงและเรือพาณิชย์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงก็ทยอยเข้าให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารบริเวณดาดฟ้าเรือและผู้โดยสารที่กระโดดลงทะเลเพื่อเอาชีวิตรอด

ส่วนกัปตันอีจุนซอกและลูกเรืออีกจำนวนหนึ่ง ก็เลือกที่จะสละเรือและหลบหนีออกมา ทำให้คนที่ยังติดค้างอยู่ภายในตัวเรือชั้นต่าง ๆ รวมกว่า 300 รายเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 ที่กำลังจะไปทัศนศึกษา แต่กลับต้องมาพบจุดจบอันน่าเศร้า สร้างความสะเทือนใจให้กับชาวเกาหลีทั้งประเทศ รวมถึงคนที่ทราบข่าวทั่วโลก

ทั้งนี้ วันที่ 15 พฤษภาคม กัปตันอีจุนซอก หัวหน้าวิศวกรประจำเรือ และลูกเรืออีก 2 คนถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย ขณะที่ ลูกเรืออีก 11 คนถูกตั้งข้อหาละสละเรือละทิ้งหน้าที่ และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ศาลได้ตัดสินให้กัปตันอีจุนซอกรับโทษจำคุก 36 ปี หัวหน้าวิศวกรรับโทษจำคุก 30 ปี ส่วนลูกเรือที่เหลือรับโทษจำคุกระหว่าง 5 ถึง 20 ปี และในปี 2560 ทางการเกาหลีใต้ จึงได้กู้ซากเรือเซวอลขึ้นมาจากใต้ท้องทะเลได้จนสำเร็จ หลังจากที่จมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานกว่า 3 ปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top