เมื่อการให้ ‘ทิป’ กลายเป็นเรื่องลำบากใจของชาวเกาหลีใต้ จนลูกค้าแห่เลี่ยงใช้บริการ ส่อฉุดยอดขายร่วง-ธุรกิจดิ่ง

‘ค่าทิป’ เรื่องลำบากใจชาวเกาหลีใต้ ผู้บริโภคแห่เลี่ยงใช้บริการ การทำให้วัฒนธรรมให้ทิปกลายเป็นเรื่องปกติ อาจฉุดยอดขายธุรกิจลง เนื่องจากลูกค้าบางคนอาจเข้าใจว่า ยิ่งรับประทานอาหารมากเท่าไร ยิ่งต้องจ่ายค่าทิปมากเท่านั้น

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 66 อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานเรื่องนี้ โดยระบุว่า สังคมของชาวเกาหลีใต้ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากสหรัฐฯ มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชื่นชอบชีสเบอร์เกอร์ของสหรัฐฯ ปาร์ตี้สละโสดแบบ bridal shower และละครซิตคอม แต่มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ ที่สังคมเกาหลีใต้รับไม่ได้ และออกแนวไม่ชอบใจเท่าที่ควร นั่นคือธรรมเนียม ‘การให้ทิป’

ชาวเกาหลีใต้ก็เหมือนประเทศอื่น ๆ นอกสหรัฐที่มักไม่ค่อยให้ทิปเพื่อเข้าไปซื้อบริการ แต่ก็กำลังเจอกับปัญหาท้าทายเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่ออูเบอร์ของเกาหลีใต้ เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้คนขับบางราย โดยสามารถรับทิปได้ 0.75 เซนต์-1.5 ดอลลาร์ ต่อการให้บริการ 1 ครั้ง หรือราว 26-53 บาทต่อการบริการ 1 ครั้ง ซึ่งการให้ทิปอูเบอร์ จะแตกต่างกันไปตามระดับความพรีเมียมของแท็กซี่

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ชาวเกาหลีใต้ต่อต้านการให้ทิป แม้แต่ 2 เซนต์ก็ไม่อยากให้

โพสต์ในโลกออนไลน์ที่เป็นกระแสมาแรง ระบุว่า “ตอนนี้ ธรรมเนียมการให้ทิปเริ่มต้นด้วยการให้ตามความพึงพอใจ แต่หลังจากนั้นจะกลายเป็นความกดดัน”

ขณะที่ชาวเน็ตคนอื่นๆ ร่วมกันล่าแม่มด ตามข่าวลือต่าง ๆ นานา เพื่อสืบหาและทำให้ธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเพิ่ม หรือการจ่ายค่าทิปเป็นเรื่องที่น่าอาย

กระแสให้ทิปกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมเกาหลีใต้ จนสำนักข่าวแห่งหนึ่งพาดหัวข่าวว่า “เดี๋ยวนะ ที่นี่คืออเมริกาเหรอ?”

‘ซอน อึนจี’ พนักงานการเงินวัย 34 ปี เล่าว่าเธอไม่เคยให้ทิปใครหรือร้านใดในเกาหลีใต้เลย ยกเว้นบริจาคเงินเพื่อการกุศล เมื่อเกิดกระแสว่า บางธุรกิจเปิดให้เพิ่มทิป เธออาจหลีกเลี่ยงไม่สนับสนุนธุรกิจที่ขอเงินเพิ่มแบบนี้

“การให้ทิปไม่ใช่เรื่องสำคัญในเกาหลีใต้ และไม่ควรเป็นเรื่องสำคัญในตอนนี้” ซอน กล่าว

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่ไม่นิยมให้ทิป แต่มีข้อยกเว้นให้บางธุรกิจ เช่น แคดดี้ในสนามกอล์ฟ หรือคนเก็บลูกกอล์ฟ และพนักงานเสิร์ฟร้านอาหารทะเลหรือบาร์บีคิว ที่สามารถขอทิปจากลูกค้าได้ และกฎหมายของเกาหลีใต้ กำหนดให้ร้านอาหาร รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ต้องระบุค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งหมด รวมออกมาเป็นราคาเดียว

แม้แต่คนขับรถส่งของ ที่รับรายได้จากแอปพลิเคชันดิลิเวอร์รี ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับทิป ไม่ว่าจะให้บริการในวันฝนตกหรือแดดออกก็ตาม

ชาวเน็ตเกาหลีใต้บางคนบ่นว่า พวกเขาทุ่มเงินไม่กี่เหรียญให้กับพนักงานบริการส่วนใหญ่ แต่กลับไม่สนใจให้ทิปช่างทำกุญกับบุคลากรการแพทย์ ช่างเป็นอะไรที่ชวนให้สับสน

‘ฌอน จุง’ ศาสตราจารย์ด้านบริหารกิจการให้บริการ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน บอกว่า “สหรัฐฯ เป็นประเทศให้ทิปมากกว่าปกติ เพราะการให้ทิปเป็นเรื่องที่ถูกตั้งความหวัง และเป็นวัฒนธรรมที่นิยมในร้านอาหารอย่างแพร่หลาย”

อย่างไรก็ตาม การให้ทิปในเกาหลีใต้เป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับ แม้แต่เจ้าของร้านอาหารต่าง ๆ ก็มองว่า วัฒนธรรมการให้ทิปเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น

‘นัม ซุกจา’ เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับไฮเอ็นด์ในกรุงโซล ที่มีเมนูอาหารที่เป็นจุดขายคือซาชิมิทูน่า ภายในร้านอาหารเต็มไปด้วยห้องอาหารส่วนตัว และลูกค้าร้านนี้มักจะจ่ายเงิน 10,000 วอน หรือราว 268 บาท ให้กับพนักงานเสิร์ฟ เมื่อเริ่มสั่งอาหารชุดแรก ซึ่งการให้ทิปพนักงาน อาจทำให้ได้รับบริการที่เอาใจใส่มากขึ้น ได้รับอาหารชุดต่อไปไวขึ้น หรือได้รับการเสิร์ฟแบบพิเศษ

อย่างไรก็ตาม นัม คิดว่า การที่ลูกค้าของเธอรู้สึกว่าต้องให้ทิปเพื่อรับบริการที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ผิด และเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจ

ด้าน ‘คิม มยองคยู’ เจ้าของบาร์แห่งหนึ่งในเกาหลีใต้กังวลว่า การทำให้วัฒนธรรมให้ทิปกลายเป็นเรื่องปกติ อาจฉุดยอดขายธุรกิจให้ลดลง เนื่องจากลูกค้าบางคนอาจเข้าใจว่า ยิ่งรับประทานอาหารมากเท่าไร ยิ่งต้องจ่ายค่าทิปมากเท่านั้น

“การให้ทิปดูไม่เป็นเรื่องที่น่าพอใจสำหรับลูกค้า ถ้าจะให้วางกล่องใส่ทิปไว้เหรอ? ร้านไม่มีทางทำแน่นอน” คิม ย้ำ

ด้าน ‘กาเกา โมบิลลิตี’ ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เผยว่า ยอดให้ทิปของประเทศถึงจุดพลิกผันเมื่อเดือนก่อน

โดยบริษัทเริ่มโครงการนำร่อง เสนอช่องทางจ่ายเงินเพิ่มที่เรียกว่า ‘ทิปขอบคุณ’ 1.5 ดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ขับขี่ให้บริการที่ดีขึ้น แต่โฆษกหญิงของบริษัทบอกว่า มีเพียงคนขับที่ให้บริการแท็กซี่ระดับสูงและได้รับคะแนนรีวิว 5 ดาวหลังให้บริการเท่านั้น ที่สามารถรับทิปจากลูกค้าได้

อย่างไรก็ตาม อนาคตของฟังก์ชันนี้จะเป็นอย่างไรนั้น บริษัทยังไม่ได้วางแผนใดๆ เพิ่มเติม

จากโพลสำรวจข้อมูลของโอเพนเซอร์เวย์ในกรุงโซล พบว่า ชาวเกาหลีใต้ 7 ใน 10 คน ไม่ชอบฟีเจอร์ให้ทิปแท็กซี่ ขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น ที่เห็นด้วยกับฟีเจอร์ดังกล่าว

ข้อกังขาจากสาธารณชนเกี่ยวกับการให้ทิป จุดประกายให้กับโต๊ะข่าว ที่ทำข่าวเกี่ยวกับการให้ทิปลดลงส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ โดยผู้ประกาศข่าวหญิงคนหนึ่ง ถึงกับต้องทำประเด็นข่าวใหม่ เพื่ออธิบายว่า การให้ทิปปริมาณมากเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในสหรัฐฯ ได้อย่างไร และถึงขั้นที่ลูกค้าต้องจ่ายทิปจำนวนมาก

นักข่าวกล่าวว่า โดยปกติแล้ว ผู้คนมักสงสัยกันว่า ทำไมโลกเราต้องมีวัฒนธรรมการให้ทิป เมื่อมองไปที่สหรัฐฯ ผู้คนในประเทศนี้ก็เริ่มซักถามและแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับสถานที่ที่อาจจะเก็บค่าทิป หรือไม่เก็บค่าทิปกันบ้างแล้ว