Saturday, 5 July 2025
รวมไทยสร้างชาติ

‘พีระพันธุ์’ ย้ำชัดภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว ใช้พลังงานสะอาด สอดรับเทรนด์ของโลก

(17 ต.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในการจัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ความตอนหนึ่งว่า 

ในเรื่องการปรับตัวไม่ใช่แต่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ภาครัฐก็ต้องปรับตัว โดยการปรับตัวไม่ได้แค่ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เท่านั้น แต่ต้องปรับให้เข้ากับเทรนด์โลกด้วย เพราะทุกภาคมีส่วนในการปล่อยมลภาวะนำสู่ภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ

สิ่งที่ต้องทำให้เราปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากการใช้พลังงาน เพื่อสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และNet Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสหากรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล เพราะฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงวางไว้ให้การผลิตไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งไทยเน้นที่พลังงานจากแสงแดด แผน PDP ใหม่จึงต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงนั้นถูก แต่ระบบการผลิตแพง และมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดข้อยุ่งยากเป็นอุปสรรค 

ในฐานะเข้ามารับผิดชอบกระทรวงพลังงานจึงกำลังศึกษาร่างกฎหมาย เพื่อทำอย่างไรให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ได้ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ เพื่อลดต้นทุนให้กับทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรมด้วย

โดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องเหนื่อยมากหน่อย เพราะต้องเผชิญอุปสรรคทางการค้า หากสินค้าไม่ผลิตจากพลังงานสะอาดก็จะถูกข้อกีดกันจากประเทศนำเข้า อาจไม่รับซื้อ ผมถึงบอกว่าภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ปรับตัวให้เข้ากับแผนพลังงานใหม่ แต่ต้องปรับตัวเข้ากับโลกด้วย ซึ่งในภาคปฏิบัติ ภาคอุตสาหกรรมต้องช่วยคิดวิธีแก้ไขและนำเสนอมากับทางภาครัฐ

ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องไม่ใช่เป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน ซึ่งขณะนี้แผน PDP อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น หวังว่าท่านที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมจะได้ช่วยระดมความคิดช่วยมองให้สอดคล้องกัน

หรือพูดง่ายๆว่า ทำอย่างไรให้คาร์บอนลดลงจากภาคการผลิตและการใช้พลังงานก่อนจะเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่น ภาคอุตสาหกรรมทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน

ภาระหน้าที่ของผมคือต้องสร้างความคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิคจากก๊าซในอ่าวไทย นำเข้าจากเมียนมา และมั่นใจว่าวันนี้วิทยากรที่มาร่วมสัมมนามีองค์ความรู้เพื่อจะเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที

เชื้อเพลิงพลังงานที่ใช้กันมากที่สุด ในชีวิตประจำวันของคนไทย เหตุใดต้องมี ‘SPR’ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์

(19 ต.ค. 67) นับแต่มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในสำหรับรถยนต์และรถบรรทุกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเมื่อเครื่องยนต์น้ำมันดีเซลเข้ามาแทนที่เครื่องจักรไอน้ำในเรือรบ การควบคุมปริมาณน้ำมันจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทหาร และมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่ถ่านหินลดความนิยมลงในช่วงกลางทศวรรษ 1950 สำหรับบ้านเราแล้ว มีการนำเข้ารถสันดาปภายในตั้งแต่ พ.ศ. 2447 และคนไทยก็ใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายต่อเนื่องนับแต่นั้นมา 

ด้วยรถยนต์สันดาปภายในใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ซึ่งในอดีตไทยเรายังต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปกระทั่งมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมันเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรก ณ ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร (ในสมัยนั้น) และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2507 กิจการน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาลไทยได้กลายเป็นวิสาหกิจของรัฐ 2 แห่งในปัจจุบันคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทุกวันนี้คนไทยบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานเทียบเท่าน้ำมันดิบ 1,995,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง 44% ก๊าซธรรมชาติ 38% ถ่านหิน 12% พลังงานจากน้ำ แสงอาทิตย์ และพลังงานไฟฟ้านำเข้า ฯลฯ อีก 6% ดังนั้นคนไทยจึงบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานปริมาณมหาศาล โดยต้องนำเข้าถึง 80% และที่ต้องนำเข้ามากที่สุดคือ ‘ปิโตรเลียม’

‘ปิโตรเลียม’ หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุเป็นองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยอาจมีธาตุอื่น เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน ปนอยู่ด้วย ปิโตรเลียมเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของปิโตรเลียมเอง พลังงานความร้อน และความกดดันตามสภาพแวดล้อมที่ปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่ ซึ่งแบ่งตามสถานะในธรรมชาติได้ 2 ชนิด ได้แก่ 
1. น้ำมันดิบ (Crude Oil)  มีสถานะตามธรรมชาติเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามคุณสมบัติ และชนิดของไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ คือ
1.1 น้ำมันดิบฐานพาราฟิน
1.2 น้ำมันดิบฐานแนฟทีน
1.3 น้ำมันดิบฐานผสม 

โดยน้ำมันดิบทั้ง 3 ชนิด เมื่อนํามากลั่นแล้ว จะให้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นปิโตรเลียมที่อยู่ในสถานะก๊าซที่สภาพแวดล้อมบรรยากาศ ซึ่งไทยเรานำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป (เบนซิน ดีเซล น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา) โดยกำลังการกลั่นเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และส่งออกในปริมาณที่ไม่มากนัก 

2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)  จะประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในปริมาณร้อยละ 95 ขึ้นไป ส่วนที่เหลือจะเป็น ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ปนอยู่เพียงเล็กน้อย ไฮโดรคาร์บอนในก๊าซธรรมชาติ จัดอยู่ในอนุกรมพาราฟิน มีคุณสมบัติอิ่มตัวและไม่เปลี่ยนแปลงทางเคมีในสภาวะปกติ ก๊าซธรรมชาติมีองค์ประกอบส่วนใหญ่คือ มีเทน (CH4) ซึ่งมีน้ำหนักเบาที่สุด และจุดเดือดต่ำที่สุดเป็นส่วนประกอบถึงประมาณร้อยละ 70 ขึ้นไป ปัจจุบันเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง

โดยที่ประเทศไทยนำเข้า ‘ปิโตรเลียม’ ปีละกว่าล้านล้านบาท ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกจึงส่งผลอย่างสำคัญต่อราคาเชื้อเพลิงพลังงานในประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจของไทยโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ซึ่ง ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ปัจจุบัน ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของไทยติดลบเกือบหนึ่งแสนล้านบาท ทำให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องศึกษาหาหนทางเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วนที่สุด จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดทำ ‘ระบบ SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ด้วยในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณสำรองเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

แต่ในยามที่เกิดวิกฤตน้ำมัน ‘เงิน’ จะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องใช้ ‘เงิน’ มากขึ้นในการซื้อน้ำมัน หรือในบางสถานการณ์แม้ จะมี ‘เงิน’ ก็ตาม แต่อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ ดังนั้น ด้วยการถือครอง ‘น้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 90 วัน) เพื่อรอเวลาที่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจะผ่านพ้นไป จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

‘เพื่อไทย’ มีมติหนุนข้อสังเกต-รายงานนิรโทษกรรม ด้าน ‘นพดล’ ย้ำ พท.ไม่มีความคิดล้างผิด ม.110 และ 112

(24 ต.ค. 67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส.พรรค ถึงการลงมติวาระพิจารณาการลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หรือไม่ ว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มีมาตรา 112 รายงานนี้เป็นเพียงผลการศึกษาว่าหากต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมต้องทำอย่างไร ซึ่งตนพยายามอธิบายมาหลายครั้งและนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ก็พูดชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จากการฟังในที่ประชุมทั้งหลายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ฉะนั้น จึงได้ย้ำว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพียงแค่ตอนนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย เพียงแค่เป็นวาระการศึกษากฎหมาย 

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ประชุมจะลงมติกันในวันนี้ได้หรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานสส.พรรค พท. ได้ถามความเห็นอย่างรอบด้าน จึงมีข้อสรุปว่าร่างรายงานนี้ที่เป็นรายงานที่เสนอโดยพรรค พท. และได้มีการประชุมกมธ.มา 19 ครั้ง ซึ่งกมธ.ไม่มีใครคัดค้านในรายงานนี้ว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ในที่ประชุมพรรค พท.จึงมีความเห็นว่าเราจะรับทราบรายงาน รวมถึงเห็นชอบกับข้อสังเกต ส่วนพรรคอื่นจะไม่เห็นชอบ ก็แล้วแต่แต่ละพรรค แต่พรรค พท.ควรเห็นชอบเพราะเป็นรายงานของพรรค พท.ที่เสนอ แต่เมื่อถึงเวลาจะไม่เห็นชอบมันผิดข้อเท็จจริง แต่หากสมาชิกจะเห็นแตกต่างกันไป เราก็ไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลยพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักจะไปในแนวทางที่เห็นชอบ 

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลควรโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ การที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร ตนทราบ แต่ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เราไม่ได้ว่าอะไรกัน 

ด้านนายนพดล กล่าวว่า จากที่ตนเคยอภิปรายไปและพรรค พท. ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพรรค พท.ไม่มีนโยบายและไม่มีความคิดที่จะนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ฉะนั้น การที่มีบางสื่อนำเสนอไปว่าพรรค พท.จะดันนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงไม่ต้องกับข้อเท็จจริง ย้ำว่าพรรค พท.จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 

‘บิ๊กเล็ก’ เปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจอย่างเป็นทางการ ช่องทางใหม่สื่อสารระหว่างกระทรวง-ประชาชน

เมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ดำเนินการเปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อว่า ‘สนามไชย2’ พร้อมมีการโพสต์แนะนำเฟซบุ๊กแฟนเพจ ความว่า 

'สนามไชย๒' เป็นช่องทางสื่อสารที่สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะภารกิจที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้รับมอบหมายจากท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใต้แนวคิดการสื่อสารเพื่อ 'รวมไทยไปด้วยกัน'

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
28 ตุลาคม 2567

#สนามไชย2
#รวมไทยไปด้วยกัน

‘ต่อตระกูล ยมนาค’ ชม ‘พีระพันธุ์’ เปาะ นัก กม. สู้คดีโฮปเวลล์ สู่ภารกิจพลังงาน

(31 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตัวอย่างนักกฎหมายที่ดี เขาทำประโยชน์ให้ชาติ เป็นหมื่นล้าน ไม่เรียกร้องเปอร์เซ็นต์

ไม่เหมือน นักกฎหมายชื่อดัง ๆในหน้าข่าวทุกวันนี้ เรียกเงิน ทีละเป็นสิบล้าน 10 %ของจำนวนเงิน 100 ล้านที่จะเรียกคืนจากสามี ให้บริการแค่ให้คำปรึกษาสั้น ๆ ทางโทรศัพท์และเจอตัวกันแค่ 3 ครั้ง อ่านแล้วเศร้าใจ

ส่วน พีระพันธุ์ นักกฎหมายเพื่อประชาชนตัวจริง ต่อสู้ ค่าโง่โฮป เวลล์ ที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินแล้ว สั่งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินค่าเสียหาย25,000 ล้านบาท จนชนะความ รัฐบาลไทยไม่ต้องจ่ายสักบาทเดียว

ผมได้เคยเจอนั่งคุยกับคุณพีระพันธุ์ ในงานสวดครั้งหนึ่งที่วัดธาตุทอง ช่วงนั้น คุณพีระพันธุ์ อดีตสส. ปชป. 7 สมัย ว่างงาน ปชป.ไม่ได้เป็นรัฐบาล ผมรู้ได้จากการพูดคุยว่า คุณพีระพันธุ์ เป็นคนที่ลงมือค้นหาข้อมูลมาต่อสู้เรื่องทาง กฎหมายต่าง ๆ ด้วยตัวเองทุก ๆ เรื่อง และเป็นคนที่คิดแต่จะให้ พอรู้ว่าผมเป็นวิศวกร ก็เลยขอปรึกษาเรื่องการสร้างศาลา ใหม่มอบให้วัดธาตุทอง

ซึ่งคุณพีระพันธุ์ ได้ออกแบบเองไม่เหมือนศาลาสวดศพทั่วไป บอกว่าจะใช้โครงสร้างเหล็กจะได้เสร็จเร็ว เสียดายที่งานได้เริ่มไปแล้ว ถ้าผมรู้เร็วกว่านี้ ผมจะแนะให้สร้างง่าย ๆ ด้วยโครงสร้างคอนกรีตธรรมดานี่แหละ ช่างที่ทำตามวัดเขาจะสร้างได้ชำนาญกว่า และผมจะร่วมทำบุญ ดูแลงานก่อสร้างให้ด้วย ตอนนี้ผ่านมากว่า 4 ปี ศาลาก็ยังไม่เสร็จ

มาถึงวันนี้ คุณพีระพันธุ์ มาเป็น รมต.พลังงาน ในรัฐบาลปัจจุบัน ตำแหน่งที่มีโอกาสหาเงินได้ ไม่ต้องเรียกก็จะมีบริษัทพลังงานต่าง ๆ ยินดีมามอบเงินให้เป็น 100 เป็น 1,000 ล้านสบาย ๆ 

แต่คุณพีระพันธุ์ กลับเลือกที่จะอยู่ข้างประชาชน ประกาศจะลดค่าน้ำมัน ให้ได้อย่างถาวร เลิกอ้างอิงต้นทุนจากราคาของสิงคโปร์ แล้วร่างระเบียบ กฎหมายใหม่ให้เป็นธรรมขึ้น

ผมจึงติดตามอยู่ ว่าจะคุณพีระพันธุ์ จะทำได้แค่ไหน เมื่อได้เห็นจดหมายรายงานการทำงานครบ 1 ปี ในเว็บไซต์ของคุณพีระพันธุ์ ได้อ่านแล้วรู้สึกดีใจ ว่าประเทศไทยยังมีนักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถและเป็นคนดีอยู่บ้าง

‘ดวงฤทธิ์’ นำทีมรวมไทยสร้างชาติ เสนอกฎหมาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ การศึกษาไทย

(31 ต.ค. 67) ที่ห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองประธานและโฆษกกรรมาธิการการศึกษา พร้อมคณะ ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ให้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาส่งเสริม ยกระดับคุณภาพการศึกษา และที่สำคัญคือ การสร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ ทั้งในระดับพื้นที่ ผู้ประกอบการและผู้เรียน เนื้อหาสาระสำคัญในร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่เพิ่มเติมเข้าไป คือการ 'รื้อ ลด ปลด สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์' ซึ่งเป็นนโยบาย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และมอบหมายให้ทำการยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ 

ซึ่งสาระสำคัญคือ 'รื้อ' คือ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 'ลด' คือ ลดภาระครูในการทำวิทยฐานะ ดูจากผลการทำงานเป็นหลัก ไม่เน้นทำเอกสารส่ง 'ปลด' คือ ปลดล็อกให้สามารถเพิ่มสกิลความเก่ง ความสามารถ ผลงานนอกห้องเรียน มาเป็นแต้มต่อในการประเมินผลการเรียนได้ 'สร้าง' คือ สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อสนับสนุนตอบสนองความต้องการในพื้นที่ ในเขตจังหวัด และความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความรู้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่เขตจังหวัดและความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน

"ตัวผมเอง ในฐานะ ครู อาจารย์ เล็งเห็นเรื่องการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศชาติ การศึกษาไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ควรมองให้ตรงไปตรงมา เน้นตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ อย่างเช่น การตอบโจทย์พื้นที่ ที่มีทั้งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้น หากเราจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ของพื้นที่ เช่นหากจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ จังหวัดท่องเที่ยว ทั้งรายด้านงานบริการ การเพิ่มความรู้ด้านภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 รวมทั้งความรู้เฉพาะทาง หากสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ผู้เรียน นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็งได้ด้วย" รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่ละภูมิภาคไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักสูตรเดียวกัน แต่สามารถกระจายหลักสูตรได้ สามารถปรับหลักสูตรได้ทุก ๆ 3-5 ปี สร้างหลักสูตร ที่ทันสมัย ตอบโจทย์แต่ละจังหวัด ให้กับ นักเรียน นักศึกษา รุ่นใหม่ เพื่อเข้าถึงความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดนั้น เชื่อว่าหากการศึกษาสามารถสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในพื้นที่ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองหลวง จนสร้างความแออัดของเมืองในหลวงได้ จะช่วยสามารถพัฒนาประเทศชาติ เริ่มตั้งแต่ เศรษฐกิจฐานราก สู่ความยั่งยืนของประเทศ 

'พลัฏฐ์' นำทีมคนรุ่นใหม่ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ร่วมงานเทศกาลดิวาลี 2567 สร้างสีสันให้ลิตเติ้ลอินเดีย

(3 พ.ย. 67) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตผู้สมัคร สส. กทม. เขต 1 นำทีมคนรุ่นใหม่ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาทิ ร.ต.อ.หญิงอัยรดา บำรุงรักษ์ รองผู้อำนวยการและรองโฆษกพรรค, นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์, นายกวิน ชาตะวนิช, นางสาวกาญจนา ภวัครานนท์, นางสาวชนกนันท์ ศุภศิริ, นายฤกษ์อารี นานา และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมงานเทศกาลดิวาลีประจำปี 2567 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2567 ณ ถนนพาหุรัด คลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานคร

นายพลัฏฐ์ กล่าวว่า ถนนพาหุรัดเป็นแหล่งชุมชนของคนเชื้อสายอินเดียจำนวนมาก หรือเรียกได้ว่าเป็นลิตเติ้ลอินเดีย การจัด 'งานเทศกาลดิวาลี' หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง นับเป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งตามความเชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งการฉลองชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืดมิด และความดีงามเหนือความชั่วร้ายต่างๆ 

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดง วัฒนธรรม จัดเต็ม แสง สี เสียงสไตล์บอลลีวูดตลอดทั้งวัน, ร้านอาหารจากภัตตาคารอินเดียชื่อดังของประเทศไทย พร้อมทั้งสินค้าสไตล์อินเดียจากร้านค้าชื่อดัง เครื่องประดับ ผ้าส่าหรี ของตกแต่ง และอีกกิจกรรมที่ห้ามพลาด ร่วมสักการะ ‘พระพิฆเนศ’ และ 'พระแม่ลักษมี' เสริมดวงชะตา ความสำเร็จ โชคลาภ ให้กับชีวิต 

‘เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้ รธน. แม้ไม่มีนโยบายหนุน แต่ย้ำชัด!! ห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง

’เอกนัฏ‘ เผย รทสช.ไม่ขัดแก้รธน. แม้ไม่มีนโยบาย แต่ขอห้ามแตะหมวด 1,2 – มาตรการปราบโกง เผย “พีระพันธุ์” ขอไปศึกษาข้อกฎหมาย-เอ็มโอยู 44 เพิ่มเติม ห่วงไทยเสียผลประโยชน์

(5 พ.ย. 67) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า ได้มีการพูดคุยกัน 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรมไม่สนับสนุนและพร้อมจะขัดขวางทุกวิถีทางในเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112 และตนได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรค รทสช. เรามีจุดยืนที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มหาเสียงว่า การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายหลักของพรรค แต่หากเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เราไม่ขัดข้อง แต่จะไม่ต้องแตะหมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรการการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ส่วนจุดยืนของพรรค รทสช.ต่อเรื่องการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น ภาพใหญ่ของพรรค รทสช. เรารักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งได้รับคำยืนยันในที่ประชุมพรรคร่วม ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ว่า ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ 

ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือ เรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน จะต้องเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยหรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีใครบ้างที่จะนั่งเป็นคณะกรรมการ ทราบเพียงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเดินหน้าต่อจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 และรัฐบาลทุกยุคก็ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา ส่วนผลการเจรจาเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

เลขาธิการพรรค รทสช. กล่าวว่า หลังประชุมพรรคร่วม ตนได้โทรศัพท์หานายพีระพันธุ์ สิ่งที่นายพีระพันธุ์ให้ความสำคัญคือ เรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมาย จึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัวเอ็มโอยู 2544 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเอ็มโอยู 2544 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง ในส่วนของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม ซึ่งนายพีระพันธุ์ระบุว่า ในส่วนนี้ต้องดูให้ดี คำว่าผลประโยชน์ร่วมทุกฝ่ายก็อยากได้ ทำอย่างไรจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด 

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการสัมปทานไปก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์จึงกำลังศึกษาอยู่ว่า หากเป็นไปแบบนั้นจริง ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายยังหมายรวมถึงพื้นที่ในทะเล หรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย ซึ่งเป็นที่มาที่ไทยได้ประกาศพื้นที่ไหล่ทวีปเมื่อปี 2516 ไทยก็ต้องรักษาเขตแดนของเรา ส่วนการเจรจาผลประโยชน์ร่วมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน 

“ยังไม่ถึงกับว่า นายพีระพันธุ์ไม่สบายใจเรื่องนี้ เพียงแต่สไตล์การทำงานของท่านต้องศึกษาให้เกิดความละเอียดในทุกเรื่อง จนกว่าท่านจะมั่นใจ เพราะมันเป็นเรื่องข้อกฎหมาย มีกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำกันมา 20-30 ปีแล้ว ทุกอย่างมันอยู่ในใจของเราอยู่แล้ว ต้องทำให้รอบคอบ อย่าให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ ต้องไปดูว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่”นายเอกนัฏ กล่าว

‘เอกนัฏ’ นำทีม ‘ดีพร้อม’ จับคู่พันธมิตร ‘จังหวัดโทคุชิมะ’ ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุคใหม่หนุน ศก.ไทย – ญี่ปุ่น โตยั่งยืน

เมื่อวันที่ (31 ต.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในงานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 5 โรงแรม S31 กรุงเทพฯ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” มุ่งเซฟผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอด และแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันอุตสาหกรรมยุคใหม่ อีกทั้ง ยังได้จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทย–ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตได้ในตลาดสากล ผ่านการต่อยอดธุรกิจ และสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ตามนโยบายในการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตต่อไปได้ในตลาดสากลอย่างมั่นคง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

‘แฟนคลับ รทสช.’ ปลุกพลังแนวร่วม หนุน 'พีระพันธุ์' นั่งเก้าอี้นายกฯคนต่อไป

แฟนคลับพรรครวมไทยสร้างชาติ ขอพลังแนวร่วม ช่วยกันเผยแพร่ข่าว หนุน 'พีระพันธุ์' นายกฯคนต่อไป

เมื่อวันที่ (10 พ.ย. 67) นายทวนชัย ไหมสีทอง เจ้าของช่องติ๊กต๊อก ส้มฉุน ชาแนล V1 ซึ่งเป็นแฟนคลับของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ทำคลิปเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งมีการสัมภาษณ์สมาชิกของพรรค นอกจากนี้ นายทวนชัย ยังได้มีการลงคลิป เชิญชวนผู้ที่สนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ร่วมกันนำเสนอข่าวสารต่างๆ ที่เป็นผลงานของพรรค ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงการทำงาน เพราะที่ผ่านมาในการเลือกตั้ง 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนนเสียง 37 เสียง ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น จึงขอเป็นภาคประชาชนที่จะนำเสนอนโยบายและผลงานต่างๆ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ข่าวสารอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะนำเสนอให้ได้รับรู้ เปลี่ยนวิธีการจากการปิดทองหลังพระ มานำเสนอให้ได้รับรู้ 

นอกจากนี้ นายทวนชัย ยังได้อัดคลิปต่อเนื่องในประเด็นที่ สนับสนุนให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรคราวมไทยสร้างชาติ ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยนายทวนชัย อธิบายต่อไปว่า นายพีระพันธุ์ มีความเหมาะสม เป็นทั้งนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา เพราะกฎหมายเป็นพื้นฐานในการสร้างความเจริญของประเทศ และนายพีระพันธุ์ มีความสามารถในการตีกรอบกฎหมายได้ รวมทั้งมีความสามารถในด้านพลังงาน ต่อสู้ฝ่าฟันกลุ่มทุน ไม่มีธุรกิจหรือกลุ่มทุนมาอยู่รอบตัว ไม่มีหุ้นพร้อมเดินหน้าแก้ไขโครงสร้างด้านพลังงาน ด้วยนโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง และเชิญชวนผู้ที่มีแนวคิดเดียวกัน หากมีความฝันอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาและเจริญอย่างยั่งยืน ร่วมกันสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top