Saturday, 5 July 2025
รวมไทยสร้างชาติ

‘รวมไทยสร้างชาติ’ เตรียมชง ‘กม.สุรารวมไทย’ เข้าสภาฯ ปลดล็อก ‘การผลิตสุราสี’ เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร

(17 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า

จากการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งนำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ  

การประชุมในครั้งนี้พรรครวมไทยสร้างชาติได้มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ 

โดยเฉพาะกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ คือ ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายมีสาระสำคัญคือการอนุญาตให้วิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตสุราสีได้ จากเดิมที่สามารถผลิตได้เพียงสุราขาวเท่านั้น 

การเพิ่มส่วนของการผลิตสุราสีเช่นนี้ จะทำให้สินค้าทางการเกษตรมีมูลค่าที่สูงยิ่งขึ้น และเชื่อได้ว่าในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนจะมีการนำผลผลิตในชุมชนมาผลิตเป็นสุราสีประเภทนี้ อาทิ สุราลำไย จาก จ.ลำพูน / สุราสับปะรด จาก จ.ราชบุรี และสุรามะยงชิด จาก จ.นครนายก 

นอกจากนี้การเสนอกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเพิ่มอุปทานในอุตสาหกรรมปลายน้ำให้แก่สินค้าทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย 

ท้ายที่สุดกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเพิ่มผู้ผลิตสุราสีในประเทศ เป็นการทำลายทุนผูกขาดในกลุ่มสุรา และพรรครวมไทยสร้างชาติหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการสนับสนุนหลังจากการเสนอร่างกฎหมาย

'ธนกร' หนุน!! 'สรวงศ์' ฟื้น 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน' ยุคลุงตู่ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สร้างเงินสะพัดช่วงปลายปี

(18 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่ทั้งจังหวัดสงขลาภูเก็ตและนครศรีธรรมราช รวมถึงจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศโดยเฉพาะมาเลเซียเดินทางเข้ามาพักผ่อนท่องเที่ยวในพื้นที่จำนวนมาก ส่วนพี่น้องประชาชนคนไทยต่างก็ฝากถึงรัฐบาล ให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น โดยเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งที่ประสบความสำเร็จ ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพี่น้องประชาชนต่างชื่นชอบ ให้การตอบรับและใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงอยากให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้กลับมาใช้ในรัฐบาลปัจจุบันอีก 

ทั้งนี้เมื่อตนได้ติดตามการมอบนโยบายของนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็พบว่ามีแนวทางที่จะใช้มาตรการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย โครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' หรือ 'คนละครึ่ง' กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งตนเห็นด้วยและขอสนับสนุนให้เป็นแคมเปญที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ร้านค้าขายขนาดเล็ก ร้านส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ร่วมโครงการ ก็จะรับอานิสงส์ไปด้วย จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่รากฐานชุมชนไปจนถึงภูมิภาคและระดับประเทศ 

“เมื่อรัฐบาลไฟเขียวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการจ่ายเงินสด 10,000 บาท ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคนในช่วงปลายเดือนนี้ เชื่อว่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจ เมื่อมาประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ที่รัฐบาลมีแนวคิดกำลังจะรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้ง มั่นใจว่า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีหรือไฮซีซั่นปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ จะมีเงินสะพัดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่คนไทยจะเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน“ นายธนกร กล่าว

‘อัครเดช-รวมไทยสร้างชาติ’ ค้าน ร่างกม.วินัยการเงินฯ จากฝ่ายค้าน ชี้!! ไม่รัดกุม-ขาดรายละเอียด หวั่นทำลายความคล่องตัวใช้จ่ายเงิน

(18 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า หนึ่งในนโยบายหลักของพรรครวมไทยสร้างชาติคือการจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยเด็ดขาด ดังนั้นทางพรรคจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการตรวจสอบเงินนอกงบประมาณเพื่อให้เกิดความโปร่งใส พร้อมทั้งใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และปราศจากการทุจริตตามนโยบายของทางพรรค 

จากข้อมูลล่าสุดเงินนอกงบประมาณมีประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือที่เรียกว่าเงินในงบประมาณ โดยเงินนอกงบประมาณนั้นมีที่มาจากเงินบริจาค เงินบำรุงหน่วยงานต่าง ๆ เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตรวจสอบเงินนอกงบประมาณ 

อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ถูกเสนอมามีทั้งหมด 7 มาตรา มีเนื้อหาที่สำคัญคือการดึงเงินนอกงบประมาณเข้าสู่กระทรวงการคลังต้องปฏิบัติตามขั้นตอนปกติ ผ่านการออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะสูญเสียความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ 

ดังนั้น เงินนอกงบประมาณจึงเป็นสิ่งที่พึงเก็บรักษาไว้ในการใช้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือมีเหตุฉุกเฉินที่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากหลายหน่วยงานภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียนขนาดเล็ก และอีกหลายหน่วยงาน โดยเงินนอกงบประมาณดังกล่าวในปัจจุบันจะต้องมีการใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชันก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมายรวมถึงถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินโดยปกติอยู่แล้ว

การแก้ไขกฎหมายตามร่างฉบับของพรรคฝ่ายค้านในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงานอย่างกว้างขวางเกิดผลกระทบอย่างมหาศาลต่อพี่น้องประชาชน โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์และผลกระทบแล้วตนมีความเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็น ‘การเผาป่าเพื่อหาหนู’

ขอย้ำว่า การใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณนั้นในปัจจุบัน มีการตรวจสอบผ่านพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อาทิ ปปช. สตง. เป็นต้น ดังนั้น ในวันนี้ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงมีมติไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ขาดรายละเอียดที่ดีในการจัดการเงินนอกงบประมาณในฉบับนี้ของพรรคฝ่ายค้าน

แต่อย่างไรก็ตาม พรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้เล็งเห็นปัญหาในส่วนของการตรวจสอบเงินนอกงบประมาณเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย และคาดว่าจะสำเร็จในเร็ววันนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับการตรวจสอบเงินนอกงบประมาณ โดยไม่ทำให้ความคล่องตัวในการใช้จ่ายของหน่วยงานสูญเสียไป 

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมีการเสนอกฎหมายโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน

‘ธนกร’ สะกิดรัฐสภา คิดถี่ถ้วนก่อน แก้ รธน. ด้าน ‘จริยธรรม’ ชี้!! ‘ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง’ เร่งด่วน-ต้องรีบทำมากกว่า

(20 ก.ย. 67) ที่จังหวัดราชบุรี นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางมาเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาเรื่อง ‘บทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน’ โดยมีนางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และนส.กุลวลี นพอมรบดี สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติให้การต้อนรับ

นายธนกร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและตระหนักถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มาเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร บทบาทของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งมีทั้งการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการเปิดเวทีอันเป็นช่องทางที่ประชาชนได้สะท้อนปัญหา เสนอข้อร้องเรียนต่าง ๆ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ได้ 

ทั้งนี้ นายธนกร ยังกล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกำลังเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ของสส. และรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชนก็เห็นพ้องด้วยนั้น ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้หรือทำให้เบาลงอาจจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้ 

“กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น เพราะหากแต่งตั้งให้คนที่มีความประพฤติผิดทางจริยธรรมเข้ามาบริหารบ้านเมือง อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชนได้ ตนจึงเห็นด้วยที่ควรยึดและยกมาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกงให้สูงเข้าไว้ก่อน ผมเชื่อว่า ท่านสส.ท่านรัฐมนตรีทุกคน ต่างก็หวังดีและตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ประชาชนต้องการ ผู้บริหารประเทศที่มีมาตรฐาน คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามาปกครองบ้านเมือง จึงขอฝากรัฐสภาให้มีการคิดทบทวนในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะถ้ารัฐสภา ทั้งสส.และสว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” นายธนกร ระบุ

‘อัครเดช’ ย้ำ!! ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ไม่แก้ รธน. ปมมาตรฐานจริยธรรม ชี้!! นักการเมือง ควร ‘ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย’

(24 ก.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า…

การประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติในครั้งนี้นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการหารือในการประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติในวันนี้ที่สำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ในที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง จนสามารถสรุปเป็นมติของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ว่า ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว เพื่อให้ได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ไร้ประวัติด่างพร้อย 

ดังนั้นพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ ‘มาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง’ นั้นไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาก่อนแต่อย่างใด

'พีระพันธุ์' เผย!! 3 กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน คืบหน้าไปมาก แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผมและท่านผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงานได้มาประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 เพื่อตรวจทานร่างกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันและก๊าซ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในรายละเอียดไปมากพอสมควรแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ครับ

ผมได้ร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา หลังจากที่ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี โดยบทนิยามของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การคิดต้นทุนเฉลี่ยราคาน้ำมันว่าใช้วิธีคำนวณแบบไหน คำนวณอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการ ‘รื้อ’ ระบบกำหนดราคาน้ำมันให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งเป็นการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แท้จริง มาใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ โดยระบบนี้จะกําหนดราคามาตรฐานอ้างอิงเป็นราคากลางในแต่ละเดือนว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยแต่ละเดือนควรจะเป็นเท่าไร ถ้าหากผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงกว่าราคากลางที่กําหนด ก็ต้องมาพิสูจน์ว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงเพราะอะไร จึงจะปรับราคาได้ และให้ปรับได้เดือนละครั้ง ไม่ใช่ปรับรายวัน โดยคิดเป็นราคาเฉลี่ยในระยะเวลาที่กำหนดแทนการปรับราคารายวัน

ผมเชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย โดยประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ได้ใช้น้ำมันในราคาที่อิงจากต้นทุนน้ำมันที่แท้จริง ลดภาระการขึ้นลงของราคาน้ำมันรายวัน และหลุดพ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ด้านผู้ประกอบการก็ไม่ขาดทุน ขณะที่ภาครัฐก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลราคาน้ำมันได้  

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ตามหลักการค้าเสรี ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุนด้านน้ำมันของผู้ประกอบการ และสามารถส่งผลให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้จากต้นทุนด้านน้ำมันที่ลดลง

นอกจากนี้ ผมยังได้เตรียมร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ เพื่อสนับสนุนแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ระบบพลังงานไทย ให้มีความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนชาวไทย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop และ กฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) ที่จะมาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งผมจะเรียนความคืบหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่องครับ

'วรพล เพชรขุ้ม' โพสต์ขอบคุณ 'พีระพันธุ์-บิ๊กเล็ก-ผู้ใหญ่ใจดี' ช่วยตามติดจนสมหวัง ได้ประดับยศร้อยตรีที่รอคอย

หากย้อนไปเมื่อปีก่อน กรณี พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมากล่าวถึงประเด็นร้อน เรื่องการบรรจุและดำรงตำแหน่งของ ร.ต.อ.หญิง แคท อาทิติยา เบ็ญจะปัก อายุ 27 ปี ฝ่ายเลขานุการด้านประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ ที่ผ่านหลักสูตร กอส. สามารถเลื่อนตำแหน่งจากชั้นประทวน ถึง ร.ต.อ.หญิง โดยใช้เวลาแค่ 4 ปี โดยระบุว่า ร.ต.อ.หญิง ดังกล่าว ผ่านการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิ ใช้วิธีการคัดเลือกตามกฎ ก.ตร. อีกทั้งการเลื่อนยศเป็น ร.ต.อ.หญิง เป็นไปตามกฎ ก.ตร. ทุกประการนั้น

กลับกันในส่วนของอดีตฮีโร่กำปั้นทีมชาติไทย อย่าง ‘วรพจน์ เพชรขุ้ม’ เจ้าของเหรียญเงินจากโอลิมปิก ได้ออกมาพูดถึงกรณีดังกล่าว หลังจากตนได้เข้ารับราชการและทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ แต่แทบไม่ค่อยได้รับโอกาสเลื่อนยศเลย โดยในส่วนของ วรพจน์ ที่ตามประวัติแล้ว จบถึงปริญญาโท แต่ 25 ปีเต็ม ๆ ยศยังอยู่แค่ จ.ส.ต. ทั้งที่น่าจะเข้าข่ายตามกฎ ก.ตร. แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอะไร

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (25 ก.ย. 67) นายวรพจน์ เพชรขุ้ม ก็ได้รับการประดับยศเป็น 'ร้อยตรี' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้รับการติดตามและใส่ใจในเรื่องนี้จากผู้ใหญ่ใจดีของบ้านเมือง โดยงานนี้เจ้าตัวได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กขอบคุณทุกท่านด้วยว่า...

"ขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ (บิ๊กเล็ก) ได้ประดับยศให้, ท่านสามารถ มะลูลีม ที่ช่วยผลักดันให้ผมได้ติดดาว และ #เสธหิ หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ช่วยติดตามเรื่อง ขอขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ทุก ๆ ท่านที่เป็นกำลังใจให้ผมครับ"

ปัจจุบัน ร.ต.วรพจน์ เพชรขุ้ม เป็นครูฝึกกองการพลศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า/ผู้หมวด วรพจน์ ฮีโร่เหรียญเงิน โอลิมปิก เอเธนส์ 2004 สอนวิชามวยไทยให้กับนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนการสอนศิลปะแม่ไม้มวยไทย

‘เจือ ราชสีห์’ เผย!! ความคืบหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม เสียงคณะกรรมาธิการฯ เกินครึ่ง ไม่นิรโทษพวกล้มเจ้า

(26 ก.ย. 67) จากส่วนหนึ่งของรายการ ‘ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร’ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 67 ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ ‘นายเจือ ราชสีห์’ หนึ่งในคณะกรรมวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน / อดีต สส.สงขลาหลายสมัย ในประเด็น ‘ต้องไม่นิรโทษกรรม ม.112’ ได้สร้างความกระจ่างชัดเบื้องต้นในห้วงเวลานี้ว่า ความผิดใดที่เข้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมและความผิดใดไม่ควรนิรโทษกรรม โดยมีเนื้อหา ดังนี้...

เจือ กล่าวว่า หากสรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ใช้เวลากันอย่างเข้มข้นในช่วงประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ โดยมีเอกสารมากถึง 299 หน้า แล้วมีผนวกอีกสองเล่มใหญ่ พอจะผลสรุปว่าแบบไหนถึงเข้าข่ายการนิรโทษ และแบบไหนไม่เข้าข่ายการนิรโทษ...

โดย เจือ เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเยอะมาก จนนำไปสู่เหตุปะทะที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และก็มีหลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ช่วงพันธมิตรก็ดี เหตุการณ์ นปช.ก็ดี เหตุการณ์นักศึกษาออกมาเรียกร้องชุมนุมก็ดี รวมถึงกลุ่มเยาวชนสามนิ้วนั้น ก็นำมาสู่แนวคิดที่จะหาทางพาสังคมไทยไปสู่ความปรองดองร่วมกันแบบยั่งยืน

ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของ ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ จึงถูกผุดขึ้นภายหลังช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และเรื่องนี้กลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการยื่นหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกับแนวคิดนี้มาที่ ‘พรรครวมสร้างชาติ’ ซึ่ง สส.ของพรรครวมทั้งชาติต่างก็ได้รับฟังและมองว่า เราคงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยทางรวมไทยสร้างชาติได้เสนอเรื่องนี้เป็นกฎหมาย ที่เรียกว่า ‘พรบ.สันติสุข’ ขึ้นมาในนามของพรรคเข้าไปด้วย

“ย้อนไปเมื่อต้นปี (2567) เริ่มมีการพูดคุยกันว่า เราจะเริ่มต้นยังไงดี? เราจะเอาเหตุการณ์ไหนบ้าง? กี่เหตุการณ์? ความผิดไหนเราจะนิรโทษ? หรือความผิดไหนเราไม่นิรโทษ? มาพูดคุยกันในวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าคำถามเหล่านี้แม้จะค่อนข้างตรงประเด็นชัดเจน แต่เวลาตอบเราจะตอบให้มันละเอียดขนาดนั้นทันทีคงไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องร่วม 20 ปี ซึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”

นายเจือ ได้เผยต่ออีกด้วยว่า “ก่อนหน้าที่จะมีญัตติให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้ยื่นรายละเอียดเป็นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ ไปแล้ว (พรบ.สันติสุข) พร้อมด้วยร่างของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และของพรรคประชาชน ซึ่งเท่ากับมีอยู่ 3 ร่างคาสภาอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นทางรัฐบาล จึงมีความประสงค์ให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เลยมีคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า ‘คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พรบ.นิรโทษกรรม’ ซึ่งมีผมร่วมอยู่ด้วย”

เจือ เล่าต่อว่า คณะฯ ดังกล่าว ได้เริ่มต้นให้มีการกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพิจารณา ไว้ดังนี้…

1. กำหนดกรอบเวลา ว่าจะกำหนดเหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาถึงปัจจุบัน
2. กำหนดกรอบการนิรโทษกรรม ว่าจะให้มีอะไรบ้าง

จากนั้นกำหนดกรอบ ก็เริ่มมีการไล่ลำดับเหตุการณ์ โดยมีการเชิญกลุ่มต่าง ๆ (พันธมิตร / นปช. / กปปส. / นักศึกษา / เยาวชนสามนิ้วที่เคลื่อนไหวในห้วงเวลานั้น) มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการดังกล่าว 

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็มาลงลึกไปอีกว่า ถ้าจะนิรโทษ จะนิรโทษความผิดอะไร โดยยึดโยงเหตุการณ์ที่อิงข้อมูลหลักฐานจากหน่วยงาน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ตำรวจ, อัยการ และ ศาล ถึงจะมาสรุปเพื่อออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่าควรคลุมในฐานความผิดอะไรบ้าง

“อันที่จริงแล้ว ผมอยากเรียนกับทุกท่านแบบนี้ว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดหลายส่วน ต่างก็โดนบทลงโทษกันไปเกือบหมดแล้ว ประเมินก็เรียกว่าลงโทษกันไปเกินครึ่งแล้ว ทั้งพันธมิตร, นปช. และ กปปส. เพียงแต่ยังเหลือกรณีเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะได้อานิสงส์ผลพวงจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้” เจือ เสริมและกล่าวต่อว่า...

“ทีนี้ ถ้าจะมามองกันในแง่ของฐานความผิด จะครอบคลุมอย่างไร และเราจะหาผู้กระทำความผิดได้ด้วยเงื่อนไขไหน ซึ่งตรงนี้เราได้ข้อมูลมาเยอะมาก โดยมีทั้งฐานความผิดหลัก, ฐานความผิดรอง หรือคดีที่มีความอ่อนไหว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาแยกให้ออก ว่าแบบใดถึงจะเข้าข่ายกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ซึ่งเบื้องต้นต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ถ้าเกิดจากการกระทำโดยความแค้นส่วนตัว ก็ไม่เกี่ยว คิดจะโกงบ้านกินเมืองไม่เกี่ยว หรือก่อกบฏ ประทุษร้ายต่อประเทศ ก็ไม่เกี่ยว เป็นต้น…

“พูดง่าย ๆ ก็คือ กฎหมายนิรโทษกรรมจะครอบคลุมและเกี่ยวเนื่องต่อแรงจูงใจทางการเมืองเป็นหลัก ต้องเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นิยามหลักอยู่ตรงนี้”

>> กรอบเวลา และ กรอบการนิรโทษ
เจือ เผยว่า ในส่วนของเรื่องห้วงเวลา ช่วงเวลานิรโทษจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ต่อทั้ง คดีหลัก คดีรอง และ คดีอ่อนไหว โดย ‘คดีหลัก’ จะหมายถึง ความผิดฐานก่อกบฏ ก่อการร้าย ต่อมา ‘คดีรอง’ เช่น การปะทะกับเจ้าหน้าที่ การทำผิดกฎหมายจราจร เป็นต้น ซึ่ง คดีหลัก-คดีรอง ฟันธงให้ นิรโทษกรรม ได้

แต่ที่สำคัญ คือ ‘คดีอ่อนไหว’ ซึ่งเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 110 (ประทุษร้ายพระราชินี, รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) กับ มาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ พระราชินีฯ) ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งช่วงระยะหลังคนไทยจะคุ้นเคยดีกับ มาตรา 112 

>> ‘คดีอ่อนไหว-หมิ่นเจ้าฯ’ ไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม 
ทั้งนี้ในส่วนของ ‘คดีอ่อนไหว’ เจือ เผยว่า มีการพูดคุยกันอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่…

1.ไม่นิรโทษกรรมให้เลย 
2. นิรโทษทั้งหมด
3. นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

“ในวงคณะกรรมาธิการที่มีการพูดคุยในเรื่องของคดีอ่อนไหว จะพบว่า ทางคนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน ซึ่งรวมผมด้วย และมติโดยรวมเกิน 55-60% เห็นว่า ‘ไม่ควรนิรโทษกรรม’ ให้ ส่วน 30% ก็คือต้องการนิรโทษ และเสียงที่เหลืออยากให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาที่มีอยู่ในมือตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ทันที ว่าจะให้นิรโทษกรรมหรือไม่? อย่างไร? ซึ่งแม้เสียงในวงประชุมจะมีมากกว่า 55% ที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมกับคดีอ่อนไหวนี้ แต่ก็ยังไม่นับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้นจึงต้องมีการไปให้ความเห็นจากแต่ละคนในเชิงของรายงานต่อที่ประชุมสภาต่อไป ในวันที่ 3 ตุลาคม ต่อไป”

>> ‘รวมไทยสร้างชาติ’ จุดยืนชัดเจน!!
แน่นอนว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีความชัดเจนอย่างมาก ที่ไม่เห็นด้วยในการนิรโทษกรรมประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง เพราะอะไร? โดย เจือ ย้ำหนักแน่นว่า “ก็เพราะเราได้มีการนิยามคำว่าการนิรโทษกรรมไว้ชัดเจนแล้ว คือ ต้องเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง แต่ในส่วนของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการนิรโทษกรรม หากแต่ผู้ที่ต้องการรับพระราชอภัยโทษ ต้องไปรับโทษเสียก่อนเท่านั้น นี่คือหลักของกฎหมาย ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยอย่างไม่มีเหตุผล กรอบนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง นี่คือความชัดเจน”

เจือ ทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีการทำงานร่วมกันนั้น ก็ยังมีบางเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเสนอไว้ในสาธารณะ นั่นก็คือเรื่องของ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ และ ‘กฎหมายอาญาร้ายแรง-ฆ่าคนตาย’ ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการระบุแนบเสริมไว้ โดยมองว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกระแสเสียงในวงประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ก็เป็นไปในทางเห็นด้วยค่อนข้างมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ ก็ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องมีการพูดคุยกันอย่างรอบคอบก่อนออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในการกำหนดกรอบการนิรโทษหรือไม่นิรโทษยังไงนั้น คงทำได้แค่รอดูผลจากการประชุมสภาวันที่ 3 ตุลาคมที่จะถึงนี้อีกรอบ...

'เอกนัฏ' ปลื้ม!! ความนิยม 'พีระพันธุ์-รวมไทยสร้างชาติ' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้คำมั่น!! มุ่งทำงานบริหาร-ขับเคลื่อนการเมืองเพื่อประเทศชาติต่อไป

(29 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงผลโพลล่าสุดของ NIDA Poll โดยระบุว่า...

"ดูจากผล NIDA Poll ที่ออกมาวันนี้ 

"คะแนนดีขึ้นทั้งท่านหัวหน้าพีระพันธุ์และพรรครวมไทยสร้างชาติ ตั้งแต่หลังเลือกตั้งจาก 3% เป็น 5% เป็น 8% จนกระทั่งวันนี้กลับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนใกล้แตะ 10% 

"ขอบคุณทุกท่านที่เชื่อมั่นหัวหน้าพีระพันธุ์ ที่เชื่อมั่นพรรคฯ พวกเรายังต้องทำงานกันอย่างหนัก ทั้งงานบริหารบ้านเมือง และขับเคลื่อนงานการเมือง เป็นกำลังใจให้ทีมงานและผู้สนับสนุนทุก ๆ คนครับ"

'ธนกร' ฉะ!! 'ปชน.' หมกมุ่นเสนอ 'แก้ไขรัฐธรรมนูญ-ปฏิรูปสถาบัน' ไม่สนใจปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้อง-ความเดือดร้อนของประชาชน

(29 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ หลังจากที่พรรคประชาชนเสนอ 7 แพ็กเกจในการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการแก้เป็นรายมาตรา ว่า...

ตนก็สงสัยการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนเหมือนที่หลายฝ่ายสงสัยเช่นกัน ว่า ที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นผู้แทนนั้น เพื่อเข้าสภาไปทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อน แก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจของประชาชนจริงหรือไม่ หรือหวังจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพรรคการเมืองของตัวเองเท่านั้นหรือไม่ 

เพราะจากที่ตนดูการเสนอกฎหมาย เสนอแนวทางต่าง ๆ ของพรรคประชาชน หลายเรื่องที่ผ่านมา ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนเรื่องความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตอย่างแท้จริง มุ่งแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญบ้าง จ้องปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพบ้าง อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระมีอำนาจมากเกินไป  และอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาจากการรัฐประหาร ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่องอยู่แค่ไม่กี่คำเท่านี้ จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามของหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและฝ่ายการเมืองก็ตาม ว่า แท้จริงแล้วพรรคประชาชนมีจุดมุ่งหมายการทำงานการเมืองเพื่ออะไรกันแน่  

ทั้งนี้ตน มองว่าอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ ควรมีอำนาจติดตามตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอำนาจฝ่ายตุลาการ ที่ควรจะต้องคงไว้เพื่อตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการที่ไร้คุณธรรม จริยธรรม คดโกง ทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้องแล้วตามรัฐธรรมนูญปราบโกงปี 2560 ที่ร่างป้องกันไว้ จึงขอคัดค้าน หากพรรคประชาชน หรือพรรคใดเสนอให้มีการปรับแก้ไข ลดอำนาจองค์กรอิสระลง เพราะจะทำให้เป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองที่ไม่ดีเข้ามาคดโกงงบประมาณแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้ 

เมื่อถามว่า แต่การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองพรรคประชาชนก็ยอม 'พัก' เรื่องนี้ไว้ก่อน  นายธนกร กล่าวว่า พักไว้ ไม่ได้แปลว่าจะล้มเลิกหรือถอดร่างที่เสนอต่อสภาออก แต่อาจเป็นเพราะถูกสังคมต่อว่าอย่างหนักว่า ต้องการแก้กฎหมายเพื่อตัวเอง  ไม่ก็อาจจะกลัวทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะการแก้ประเด็นจริยธรรมนักการเมืองจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าขอคัดค้านในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการสนับสนุนให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่ลดมาตรฐานจริยธรรมผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารราชการแผ่นดิน 

“สังคมตั้งคำถามว่า พรรคประชาชนมัวทำอะไรกัน วนเวียนคิดแต่จะแก้ปัญหาการเมือง แก้รัฐธรรมนูญ ติดกรอบความคิดเดิม ๆ เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหารของคสช. อ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ และภัยธรรมชาติที่พี่น้องประชาชน ประสบอยู่ตอนนี้ แต่ยังก้าวไม่พ้น คสช. ต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนวางกรอบไว้ให้การพัฒนาประเทศเกิดความยั่งยืน ซึ่งก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ดังนั้นการเสนอ 7 แพ็กเกจของพรรคประชาชน มองว่าเป็น 7 แพ็กเกจสุดซอย สุดโต่ง มุ่งทำเพื่อพรรคการเมือง ทำเพื่อตัวเอง ยังไม่ได้นึกถึงประชาชนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ" นายธนกร กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top