Monday, 29 April 2024
รถไฟฟ้า

'สังคมออนไลน์' ยกนิ้ว!! 'BYD-CHANGAN-Tesla' แบรนด์รถยนต์ EV มาแรงที่สุดในโซเชียลไทย

(27 ธ.ค.66) ตลาดรถ EV มาแรง ดาต้าเซ็ต เจาะข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบคนไทยพูดถึงรถ EV คึกคักรับเทรนด์คนยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พบ 3 แบรนด์ดังได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ BYD, CHANGAN และ Tesla โดยมีการกล่าวถึง (Mention) และ เอ็นเกจเมนต์ (Engagement) มากที่สุด

ปัจจุบันความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ในไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากข้อมูลของรอยเตอร์พบว่าไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับงาน Motor Expo 2023 ครั้งที่ 20 พบว่ายอดจองรถยนต์ EV ถล่มทลายมาก โดยเฉพาะ BYD ที่เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนซึ่งมียอดจองสูงเป็นอันดับ 1 ในงาน

ทั้งนี้ บริษัท ดาต้าเซ็ต จึงได้ใช้เครื่องมือ DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) เก็บข้อมูลบน Social Media ระหว่างวันที่ 15 พ.ย.- 16 ธ.ค. 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการพูดถึงบนสังคมออนไลน์ว่าสอดคล้องกับแบรนด์รถที่มียอดจองสูงจากงาน Motor Expo 2023 หรือไม่

เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Social Media ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดใน 3 อันดับแรกจะมีความสอดคล้องกับยอด Engagement ที่ทางแบรนด์ได้รับ ซึ่งใน 3 อันดับ เป็นแบรนด์จากรถยนต์ EV ทั้งหมด โดยอันดับหนึ่ง คือแบรนด์ BYD มีการถูกกล่าวถึง (Mention) และมียอด Engagement มากที่สุด รองลงมาเป็นแบรนด์น้องใหม่ Changan และสุดท้าย คือแบรนด์ Tesla เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Mention)

1. BYD 19.6%
2. CHANGAN 14.7%
3. Tesla 11.6%
4. AION 10.3%
5. GWM 9.2%
6. MG 8.4%
7. NETA 7.8%
8. Hyundai 7.5%
9. Honda 3.0%
10. อื่น ๆ 7.9%

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Engagement)

1. BYD 22.3%
2. CHANGAN 17.3%
3. Tesla 12.8%
4. Honda 9.4%
5. AION 7.7%
6. NETA 6.1%
7. GWM 5.4%
8. MG 4.4%
9. Hyundai 3.7%
10. อื่น ๆ 10.9%

>> Top 3 แบรนด์รถไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด

BYD เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์หลังจาก แบรนด์ BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนได้ทำการปล่อยคลิปสาธิตโหมด ‘Emergency Float Mode’ ที่จะเป็นโหมดที่ตัวรถจะทำการขับบนผิวน้ำได้แบบอัตโนมัติ เมื่อรถตกน้ำ และจะพาผู้โดยสารในรถกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย โดยจะเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาในรถ SUV ไฟฟ้า ตัว Top ของทางแบรนด์อย่าง YangWang U8 ที่เปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมการพัฒนาเทคโนโลยี และตื่นเต้นกับฟีเจอร์ดังกล่าวพร้อมทั้งรอติดตามที่จะได้เห็นการเทสฟีเจอร์นี้จากประสบการณ์ผู้ใช้จริง

CHANGAN รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงไม่แพ้ BYD เห็นได้จากการเอ็นเกจกับคอนเทนต์ ‘รีวิวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใหม่จากฉางอัน’ ที่เปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา จาก YouTube Account Autilifethailand Official ที่ได้การเอ็นเกจสูงสุด และกวาดยอดวิวไปกว่า 340K แสดงให้เห็นความเป็นที่นิยม เนื่องจากโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและความแรงของรถที่ขับเคลื่อนกำลังสูงสุด 190 kW เทียบเท่า 258 แรงม้า นอกจากนั้นฉางอันยังตีตลาดไทยด้วยเรื่องของความคุ้มค่า โดยการมอบสิทธิพิเศษ มูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท เช่น ฟรีประกันภัยชั้น 1, รับประกันแบตเตอรี่และบำรุงรักษาฟรี นาน 8 ปี, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. นาน 8 ปี, ฟรีที่ชาร์จรถที่บ้าน และอื่น ๆ

Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายุโรปที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ คงไม่พ้น Tesla โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากโพสต์เด่นพบการเปิดตัว Cybertruck หรือ รถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของ Tesla สิ่งที่น่าสนใจในรถยนต์รุ่นนี้ก็คือฟีเจอร์ Powershare ที่ทำให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถคันอื่นหรือบ้านได้สูงสุด 9.6kW ความคิดเห็นต่างให้ความสนใจฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงได้รับฉายาในโซเชียลมีเดียว่า ‘พาวเวอร์แบงค์เคลื่อนที่’ โดยโพสต์ดังกล่าวได้รับ Engagement สูงกว่า 7,428 ครั้ง

>> ส่องความคิดเห็นใน Social Media

จากภาพรวมเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ EV และรถยนต์สันดาปนั้น พบว่าปัจจุบันเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเชิงบวกต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้พบว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อรถยนต์ EV ได้แก่

1. ความคุ้มค่าและความประหยัด
2. ดีไซน์ของรถที่มีความทันสมัย
3. เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ AI ของตัวรถ
4. ลดมลพิษทางอากาศ

แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางส่วนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรถยนต์ EV ในด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ได้แก่

1. ปัญหาแบตเตอรี่
2. ความเพียงพอของสถานีชาร์จ
3. คุณภาพการใช้งาน
4. ราคาของประกันรถที่อาจแพงกว่ารถยนต์สันดาป

จากแบรนด์รถยนต์ EV ของ BYD ที่มีการกล่าวถึง (Mention) และยอด Engagement มากที่สุดเป็นอันดับ 1 พบว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ BYD จะสอดคล้องกับเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ EV ทั้งในเรื่องของดีไซน์รถ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนวัตกรรมด้านความปลอดภัยและความบันเทิง และยังเพิ่มความสามารถที่ทำให้ผู้คนสามารถนอนหลับบนรถได้ สุดท้ายในเรื่องของราคาที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

>> ยักษ์ใหญ่ไอทีจีนลงเล่นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

รู้หรือไม่? แบรนด์เทคโนโลยี 2 เจ้าดังของจีน ก็ได้มาเล่นตลาดรถอีวีด้วย อย่าง Xiaomi ล่าสุดได้มีการเปิดตัวรถ รุ่น SU 7 และ Huawei ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ Chery Auto เปิดตัว S7 ภายใต้แบรนด์ Luxeed

ทั้งนี้ ความต้องการรถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคนั้นได้สร้างความสะเทือนให้กับผู้ผลิตรถยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากสถิติของ Forbes ที่เผยยอดการผลิตรถยนต์สันดาปในปี 2566 เทียบกับปี 2565 นั้นลดลงถึง 8% ผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตรถ EV กันมากขึ้น ล่าสุดทางแบรนด์รถยนต์จากค่ายใหญ่ เช่น Honda และ Toyota ก็ได้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ EV ออกมา โดยทาง Honda ได้ออกรถยนต์ EV คือ รุ่น e:N1 และ ทาง Toyota คือ รุ่น bZ4X ซึ่งจากทาง 2 ค่ายใหญ่ที่ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกซื้อรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค จึงคาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีการผลิตรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นจากทั้งหลายแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เองทางรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15 พ.ย. - 16 ธ.ค. 2566

เปิดใช้รถไฟฟ้า ‘เหลือง-ชมพู’ ส่วน ‘ม่วง-แดง’ ราคาเดียว 20 บาทตลอดสาย

‘รถไฟฟ้า’ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญสำหรับการเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีบริการหลากสาย หลากสี เชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสะดวกสบาย ทั้ง BTS MRT และ Airport Rail Link ซึ่งในปี 2566 นี้ มีรถไฟฟ้า 2 สายด้วยกันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการ

สายแรกคือ ‘สายสีเหลือง’ หรือที่มีชื่อน่ารัก ๆ ว่า ‘น้องเยลโล่’ ให้บริการช่วงสถานีลาดพร้าว-สถานีสำโรง จำนวน 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี 13 สถานี (แยกลำสาลี-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ทั้ง 23 สถานี (ลาดพร้าว-สำโรง) เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสำโรง / เชื่อมสายสีส้ม สถานีลำสาลี และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์ลิงก์ สถานีหัวหมาก

สายต่อมาคือ ‘สายสีชมพู’ หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘น้องนมเย็น’ ให้บริการช่วงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ได้ เช่น เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี / เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ / รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และในอนาคตเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี

นอกจากนี้ยังมี รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ส่วนตะวันออก ให้บริการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จำนวน 17 สถานี ระยะทาง 22.57 กม. ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากสัญญาเดินรถได้รวมอยู่กับสัญญาการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ

โดยปัจจุบันแม้จะมีการเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีสุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง กรณีที่มีเอกชนยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่คาดการณ์ว่าจะเปิดใช้เร็วที่สุดในปี 2569

และแน่นอนว่า นอกจากจะมีการเปิดใช้รถไฟฟ้าทั้งสีเหลืองและชมพู ที่ทำให้การเดินทางครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น เรื่องการเก็บค่าบริการที่ประชาชนเข้าถึงง่ายก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่รัฐบาลมุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้มากที่สุด

โดยเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีแดงและสีม่วงเป็นราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย โดยมีเงื่อนไขดังนี้

กรณีเดินทางข้ามสาย ระหว่าง ‘สายสีแดง-สายสีม่วง’ จะต้องแตะเข้า-ออก และจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless หรือบัตรเครดิต-บัตรเดบิตเท่านั้น โดยบัตรที่สามารถใช้งานได้ มีดังนี้

-บัตรเครดิต : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard)
-บัตรเดบิต : รองรับเฉพาะบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี
-บัตรพรีเพด : รองรับทุกธนาคาร ที่มีสัญลักษณ์ วีซ่า (Visa) และมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เช่น บัตร Travel Card บัตร Play ของเป๋าตังเปย์

ทั้งนี้ จะต้องใช้บัตรใบเดียวกันในการแตะเข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย

สำหรับรายละเอียดการคิดค่าโดยสาร และการใช้บัตรเครดิต-บัตรเดบิต เพื่อรับสิทธิค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กรณีเดินทางข้ามสาย มีดังนี้

1. อัตราค่าโดยสาร กรณีเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สูงสุดไม่เกิน 20 บาท เริ่มให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น.

2. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายผ่านระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ต้องใช้บัตรเครดิต Mastercard และ Visa ของทุกธนาคาร หรือบัตรเดบิต Mastercard และ Visa ของธนาคารกรุงไทย และธนาคารยูโอบี เข้า-ออกระบบรถไฟฟ้า ที่ทางเข้า-ออก (Gate) ระบบรถไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานระบบ EMV Contactless โดยไม่รับเงินสด หรือระบบตั๋วโดยสารของแต่ละผู้ให้บริการรถไฟฟ้า

3. การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะต้องเปลี่ยนสถานีที่ ‘สถานีบางซ่อน’ เท่านั้น

4. ผู้โดยสารที่เดินทางข้ามสายระหว่างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จะต้องเดินทางข้ามระบบภายใน 30 นาที และใช้บัตรใบเดียวกัน หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด จะคิดตามอัตราค่าโดยสารสูงสุดคือ 42 บาท

ทั้งนี้ ผู้โดยสารควรมีเงินสำรองภายในบัตร ไม่ต่ำกว่า 40 บาท เพื่อรองรับการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless จากทางธนาคาร โดยหากการเดินทางเข้าเงื่อนไขตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ธนาคารจะดำเนินการ Cash Back กลับเข้าบัตรให้ภายใน 3 วัน

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘อีบีเอ็ม’ แจงเหตุล้อ รฟฟ.สายสีเหลือง ‘หลุด’ ใส่รถแท็กซี่ คาด!! ‘เบ้าลูกปืนล้อแตก’ ยืนยันวิ่งให้บริการได้ปกติ

(3 ม.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทาน โครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 18.21 น.ได้รับแจ้งเหตุล้อประคองรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้หลุดร่วงลงมา ใส่รถแท็กซี่ บริเวณถนนเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่า เกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา โดยขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ ซึ่งมีการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ และขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด

อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กราบขออภัยผู้ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จะดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ และเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปหาสาเหตุ และแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เบื้องต้น ได้ประสานกับบริษัทประกัน เพื่อให้เข้าดูแลผู้ได้รับความเสียหายต่อไป

'สาวท้อง' โวย!! 'ที่นั่งบุคคลพิเศษ' ใน รฟฟ. แต่คนท้องไม่ได้นั่ง ชาวเน็ตเสียงแตก!! บ้างบอกควร 'เสียสละ' บ้างบอก 'สิทธิ์ส่วนบุคคล'

(4 ม.ค. 67) กลายเป็นเรื่องราวถกสนั่นร้อนระอุไปทั่วโลกโซเชียล เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาแชร์ประสบการณ์การเดินทางที่ ‘คนท้อง’ ต้องเผชิญ สะท้อนทัศนคติผู้คนในสังคมต่อ คนท้อง และทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ คนท้อง ในสังคมนั้นมีเพียงพอหรือยัง?

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้โพสต์ข้อความว่า “ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย ) ตั้งแต่ แบริ่ง – อโศก และเป็นวัน ที่ 3 ม.ค. 67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และ บนรถไฟฟ้า ผู้คนแน่นมาก ๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ กลับไม่ได้นั่ง”

“ส่วนคนที่แข็งแรง และ เป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือนึงจะเกาะเสา ไหนอีกมือ จะคว้านหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว)”

“แต่เขาก็ยังนั่งมองฉันเฉย ๆ แบบไม่มีจิตสำนึกอะไรเลย ผู้คนในรถไฟฟ้าต่างมองเขากัน แต่เขาก็ยังทำตัวนิ่งเฉย เริ่มไม่เข้าใจแล้วว่า ที่นั่งสำหรับ คนท้อง คนพิการ พระสงฆ์ ติดป้ายยังไม่ชัดเจนใช่ไหม? หรือ เข็มกลัดที่ท้องเรา มันเห็นไม่ชัดใช่ไหม (ทั้งๆที่มันอยู่ตรงหน้าคุณแท้ๆ)”

เมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็กลายเป็นไวรัลสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นในสังคม ความคิดเห็นจากโลกโซเชียลแตกออกหลายเสียง

ความคิดเห็นบางส่วนมองว่า การลุกให้ คนท้อง นั่งใน ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ เป็นเรื่องของ ‘การเสียสละ และมีน้ำใจ’ คอมเมนต์บางรายถึงขั้นมองเป็นหน้าที่ เพราะผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเดินทางอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถสาธารณะ

ยิ่งไปกว่านั้น ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ก็มีไว้เพื่อให้บุคคลพิเศษที่มีความจำเป็นนั่ง ทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ควรตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง

พร้อมกันนี้ยังมีเสียงจาก คนท้อง ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ความยากลำบากในการเดินทางเช่นเดียวกันจำนวนมาก

คอมเมนต์อีกด้านมองว่า แม้ว่าที่นั่งดังกล่าวจะเป็น ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ แต่ไม่ได้มีกฎระเบียบข้อบังคับ เพียงแค่ขอความร่วมมือเท่านั้น ดังนั้นการจะลุกหรือไม่ลุกให้นั่ง จึงไม่ใช่ความผิด แต่เป็นความสมัครใจส่วนบุคคล

ขณะที่คอมเมนต์อีกส่วน จวกแรง วิจารณ์พฤติกรรมของเจ้าของโพสต์ว่า ทำไมถึงไม่พูดกับชายที่นั่งตรง ๆ แทนที่จะถ่ายมาโพสต์ประจาน? และมีคอมเมนต์โจมตีมากมาย

โดยทางเจ้าของโพสต์เผยว่า เธอต้องการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ท้อง แต่ไม่ได้รับการซัพพอร์ตทางสังคมในที่สาธารณะ ทั้งยังยกกรณีคอมเมนต์จากคนท้องที่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ซึ่งเธอหวังว่า จะสร้างความตระหนักรู้ในสังคมได้

อย่างไรก็ดี ทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) เคยมีการชี้แจงถึง ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ไว้ดังนี้

ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ (Priority seat) คือ ที่นั่งสำรองให้แก่ เด็ก, สตรีมีครรภ์, คนพิการ, ผู้ป่วย, พระภิกษุสงฆ์ และผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ทางบีทีเอส ได้ออกแบบสัญลักษณ์ที่นั่งสำรอง เพื่อให้เห็นเด่นชัด สังเกตได้ง่าย พร้อมที่จะเอื้อเฟื้อที่นั่งสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งพิเศษนี้

ที่นั่งสำรองนี้ ผู้โดยสารทุกคนสามารถนั่งได้ แต่ต้องพร้อมที่จะเสียสละ เมื่อมีบุคคลพิเศษที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ร่วมสร้างสังคมมีน้ำใจในการเดินทาง มีน้ำใจให้แก่กัน ทำให้การเดินทางในแต่ละวันมีแต่รอยยิ้ม

กลายเป็นประเด็นดราม่าถกสนั่น สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ ผู้คนในสังคม มีต่อ คนท้อง ขณะที่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับภาวะเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงจนถึงขั้นวิกฤต ยิ่งทำให้เกิดคำถามต่อสังคมว่า สวัสดิการและสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ คนท้อง ในพื้นที่สาธารณะในสังคมไทยนั้นมีเพียงพอแล้วหรือยัง? โดยเรื่องราวจะจบลงอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป

เปิดสูตรค่าโดยสาร ‘ชมพู+BTS’ ตามแผนตั๋วร่วม  ปรับลดเพดาน 107 บาท ให้จบที่ไม่เกิน 65 บาท

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.67 เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘เข้าใจปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู ต่อ BTS 107 บาท มายังไง??? แล้วแก้อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้ประชาชนโดยสารได้ในราคาที่เหมาะสม!!’ ระบุว่า...

จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘รถไฟฟ้าสายสีชมพู’ ได้เก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเก็บค่าโดยสารใน BTS ส่วนต่อขยายสายเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่สามารถซื้อตั๋วโดยสารจากต้นทางสายสีชมพู เพื่อตรงเข้ากลางเมือง ด้วย BTS ได้ด้วยบัตรใบเดียว!!

ทำให้เกิดการช็อกกับค่าโดยสารต่อ Trip ของการเดินทางต่อเนื่องตลอดเส้นทาง จากสายสีชมพูต่อสายสีเขียว เพื่อเข้ากลางเมือง ซึ่งราคาสูงสุดกว่า 107 บาท!!

ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจ โครงสร้างราคาปัจจุบัน ของรถไฟฟ้าทั้ง 3 ส่วนนี้ก่อนนะครับ

1.) รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ผู้ให้สัมปทาน รฟม.) ค่าโดยสาร 15-45 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (จุดเชื่อมต่อ BTS) ซึ่งค่าโดยสารจะไปถึงค่าสูงสุด ตั้งแต่สถานีแยกปากเกร็ด และ สถานีนพรัตน์ ออกไป

2.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนต่อขยายเหนือ หมอชิต-คูคต (เป็นของ กทม. เอง) ซึ่งปัจจุบันเก็บค่าโดยสารอัตราเดียว 15 บาท ตลอดสาย

3.) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) ส่วนสัมปทานหลัก (ไข่แดง) ค่าโดยสาร 17-47 บาท ซึ่งถ้านับจากสถานีหมอชิต จะชนอัตราสูงสุด ที่สถานีสยาม

ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ แต่แตกต่างที่เจ้าของสัมปทานต่างๆ ทำให้ คนที่เดินทางจากมีนบุรี เข้าสยาม ต้องจ่ายค่าโดยสารที่อัตราสูงสุด 107 บาท!!

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง?

1.) ให้ BTS ทำส่วนลดค่าแรกเข้า ภายในระบบที่ BTS เป็นผู้ให้บริการ เช่น ระหว่าง ชมพู และ เขียว ซึ่งจะสามารถลดราคาได้ 15 บาท ก็จะเหลือ 92 บาท

2.) เคลียร์ปัญหาสัมปทาน BTS-กทม. และเพิ่มข้อบังคับด้านการรองรับตั๋วร่วม และมาตรฐาน EMV ของ ให้ใช้กับระบบ BTS ได้

3.) แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ผลักดัน พรบ. ตั๋วร่วม’ ซึ่งจะจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม เพื่อเป็นกองทุนที่จ่ายส่วนต่างที่เกิน จากสัมปทาน และผลักดัน ตั๋วโดยสารกลาง ซึ่งก็อาจจะได้เห็นตั๋ววัน หรือตั๋วเดือน ที่จะใช้ได้ทั้งกรุงเทพทุกระบบการเดินทาง!!

ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น ค่าโดยสารสูงสุดด้วยการใช้ระบบตั๋วร่วม อยู่ที่ 65 บาท/การเดินทาง!!

มาทำความเข้าใจ รายละเอียดการศึกษา การพัฒนาตั๋วร่วม ได้ที่เว็บไซต์ของโครงการ >> http://www.thaicommonticket.com

ซึ่งจากแผนการพัฒนาระบบตั๋ว ร่วมจำเป็นต้องมีการออก พรบ. ตั๋วร่วม โดยจะมีส่วนประกอบ คือ…

- จัดตั้งตั้งองค์กรกลางในการควบคุม และบริหารตั๋วร่วม
- จัดตั้งกองทุนส่งเสริมตั๋วร่วม ซึ่อจะมีที่มารายได้จากหลายด้าน เช่น การรับส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทาน ค่าธรรมเนียมต่างๆ และการบริหารจัดการบัตร

โดยประชาชนจะได้ประโยชน์ จากตั๋วร่วม จากหลายส่วน คือ…

- ใช้บัตรมาตรฐานเดียว ซึ่งเป็นระบบเปิด ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็ออกบัตรให้ได้ รวมถึงการใช้มาตรฐาน EMV ซึ่งติดอยู่ในบัตรเครดิต ทุกใบ

- รวมอัตราค่าโดยสารของทุกระบบ และทุกรูปแบบในบัตรเดียว 
ซึ่งในส่วนรถไฟฟ้ารวมทุกสาย สูงสุดไม่เกิน 65 บาท และลดค่าแรกเข้าระหว่างเปลี่ยนสาย

- มีส่วนลดค่าแรกเข้าเปลี่ยนระหว่างระบบขนส่ง เช่น รถเมล์ และ เรือ อย่างน้อย 10 บาท

ซึ่งถ้าสามารถผลักดัน พรบ.ตั๋วร่วมออกมาและถูกนำไปใช้ได้จริง จะช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าเดินทางไปอีกมหาศาล!!

คงต้องขอฝากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ - Surapong Piyachote กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และ สนข. ช่วยผลักดันเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนครับ

'สกลธี' เสียดาย!! กทม.โอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นคืนให้คมนาคม พร้อมวิเคราะห์ 4 ข้อ 'ถูก-ผิด' ที่อยากให้ กทม.ลองนำไปพิจารณาใหม่

(1 มี.ค.67) นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เห็นข่าวที่ผู้บริหาร กทม.จะโอนภารกิจลงทุนรถไฟฟ้าใหม่ 3 เส้นทางประกอบด้วย สายสีเทา ระยะที่ 1 (วัชรพล - ทองหล่อ) สายสีเงิน (บางนา - สุวรรณภูมิ) และสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) คืนกลับให้กระทรวงคมนาคมแล้วบอกตรงๆ ว่าเสียดายครับ

ทั้ง 3 เส้นทางเป็นโครงการที่อยู่ในภารกิจของ กทม. และได้ทำการศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้ลงมือทำเพราะใช้งบประมาณเยอะพอสมควร ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทางผู้บริหาร กทม. ได้ให้ข่าวกับทางสื่อสารมวลชน ประกอบกับให้เหตุผลว่าการโอนภารกิจกลับคืนกระทรวงคมนาคมจะได้ประสานคิดค่าตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีอื่นภายใต้กระทรวงคมนาคมง่ายกว่าไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ประโยชน์จะได้เกิดกับประชาชนสูงสุด

อันนี้ผมว่ามีทั้งส่วนถูกและไม่ถูกครับ

1. เรื่องการลงทุนมีส่วนถูกคือถ้าให้ กทม. ลงทุนเพียงฝ่ายเดียวก็คงเกิดยากและกระทบกับงบประมาณในส่วนอื่นที่ต้องดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่โครงการใหญ่แบบนี้โดยเฉพาะทั้ง 3 เส้นทางที่มีผู้อยู่อาศัยและศักยภาพในการใช้บริการจำนวนมากย่อมดึงดูดเอกชนให้มาร่วมทุนได้อย่างแน่นอน รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์โดยรอบสถานีในรูปของการเช่า การโฆษณาหรือการเชื่อมต่อสถานีกับอาคารต่างๆ กลับคืนมาได้ไม่มากก็น้อย 

2. หรือถ้าหาเอกชนร่วมทุนไม่ได้จริงๆ (ซึ่งกรณีนี้ผมว่ามีโอกาส แต่ยากมาก เพราะทั้ง 3 เส้นทางมีศักยภาพในการดึงดูดเอกชนมาลงทุน) ด้วยสายสัมพันธ์ของท่านผู้ว่าฯ กับรัฐบาลน่าจะแบ่งงบประมาณ มาลงทุนในโครงการเหล่านี้ได้ไม่มากก็น้อย

3. เรื่องค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนอันนี้ถูกครับว่าไม่ควรเก็บ แต่การโอนทั้ง 3 เส้นทางไปให้กระทรวงคมนาคม สมมติว่าก่อสร้างเสร็จทั้ง 3 เส้นทาง ส่วนใหญ่ก็ต้องมาเชื่อมกับสายสีเขียว (ของ กทม.) ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของกรุงเทพฯ อยู่ดี ความซ้ำซ้อนก็ยังคงมีอยู่ ทางที่ถูกควรจะนั่งเจรจากันระหว่าง กทม. กับรัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนและใช้ตั๋วร่วมใบเดียวให้เกิดให้ได้ซักที เหมือน Octopus card ของฮ่องกง ที่ใช้ได้เกือบทุกการคมนาคมขนส่งและร้านสะดวกซื้อ

4. ถึงที่สุดถ้าเลือกโอนไปให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงคมนาคมรับขึ้นมา ก็ใช่ว่าโครงการจะเกิดได้เร็ว เนื่องจากในส่วนของทางกระทรวงคมนาคมก็มีโครงการอีกมากมายของตัวเองที่ต้องผลักดันทั่วประเทศ รวมถึงรถไฟในกรุงเทพฯ อีกหลายเส้นทางที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่เกิด ยิ่งโครงการเรือธงของกระทรวงอยากจะทำเรื่อง Land Bridge ซึ่งใช้งบประมาณเป็นล้านๆ บาท ความเร่งด่วนของรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายในกรุงเทพฯ น่าจะไม่อยู่ในสายตาของทางกระทรวงแน่นอนครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะหวังเห็นทีมผู้บริหาร  กทม. ชุดนี้ใช้ความพยายามสูงสุดทุกทางในการที่จะให้โครงการเกิดเสียก่อน ถ้าเดินแล้วมันไม่ได้หรือติดจริงๆ จะยกโอนให้กระทรวงคมนาคมผมว่าคนกรุงเทพฯ ก็คงไม่ติดใจครับ

เอาไว้วันหลังมีโอกาสจะมาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่อยากให้เกิดในกรุงเทพฯ ของเราเพื่อให้เมืองของเราอยู่สบายและมีความสุขเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกครับ

ป.ล. อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เกิดมากและเยอะๆ คือขนส่งสาธารณะสายรองหรือ Feeder ที่จะพาคนเข้าขนส่งขนาดใหญ่ได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในระยะเดินถึงสถานีรถไฟฟ้าได้ครับ 

ผู้โดยสารสุดกลั้น อุจจาระในรถไฟฟ้า MRT ชาวเน็ต ยืนยัน ห้องน้ำมีทุกสถานี ไม่ควรทำแบบนี้

(6 เม.ย. 67) ผู้ใช้ TikTok @pee_chean420 โพสต์คลิปชวนอ้วก หลังพบผู้โดยสารรายหนึ่งทิ้งอุจจาระไว้บนรถไฟฟ้า MRT ทำส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ไปทั่วทั้งขบวน โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

“ข่าวด่วน ผู้โดยสารปล่อยวัตถุต้องสงสัย สงสัยจะไม่ไหวแล้ว 25 ปี มีครั้ง ขอสักหน่อย”

โดยภายในคลิปวิดีโอจะเห็นว่าแม่บ้านเข้ามาเก็บกวาดทำความสะอาดจุดเกิดเหตุอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นอย่างมาก มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 5 แสนครั้ง นอกจากนี้มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่มองว่า

“คือสถานีรถไฟฟ้า ควรมีห้องน้ำทุกสถานี” 

ผู้โพสต์ก็ได้เข้ามาตอบว่า 

“มีห้องน้ำครับ แต่ไม่มีสายชำระ ทิชชู่ต้องซื้อเอง หรือเตรียมมา ผมเคยสละถุงเท้ามาแล้ว”

ทั้งนี้ ชาวเน็ตส่วนใหญ่ยืนยันว่าสถานีรถไฟฟ้า มีห้องน้ำทุกสถานี สามารถใช้บริการได้

ฮือฮา!! 'ฮอนด้า' ผนึกพันธมิตร คลอด 3 รุ่น EV โชว์ 'ออโต้ไชน่า' พร้อมปรับโฉมโลโก้ H ใหม่โดยเฉพาะ หวังเจาะตลาด EV จีน

(21 เม.ย.67) งานออโต้ ไชน่า ที่จะเริ่มปลายเดือนเมษายนนี้ ที่เมืองปักกิ่ง ฮอนด้า ประกาศออกมาแล้วว่าจะเปิดตัวรถยนต์พลังไฟฟ้าใหม่ 3 รุ่นที่มาจากการทำงานร่วมกับพันธมิตรเหล่านี้ในฐานะที่เป็น Local Content นั่นคือ Ye Series ซึ่งจะประกอบด้วย S7 และ P7 Series ส่วนอีกรุ่นคือ GT Series และแน่นอนว่ารถยนต์เหล่านี้ไม่ได้ใช้โลโก้ดั้งเดิมของ H ที่เราคุ้นเคย แต่จะเป็นตัว H ที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับทำตลาดในจีนโดยเฉพาะ

รุ่นแรกที่จะถูกเปิดตัวขายก่อนคือ S7 และ P7 ซึ่งมีคิวลงขายในจีนช่วงปลายปี 2024 โดยทั้งคู่จะมีตัวถังเดียวกัน ต่างกันที่การขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เดี่ยวแบบล้อหลัง หรือว่าการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ในแบบทวินมอเตอร์ ส่วน GT Series ซึ่งมาในแบบรถยนต์ฟาสแบ็คขนาด D-Segment จะเริ่มลงตลาดในปลายปี 2025

นอกจากนั้น ฮอนด้า ยังวางแผนเปิดตัวรถยนต์ที่มาจาก Ye Series รวมทั้งสิ้นอีก 6 รุ่นภายในปี 2027 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหากเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top